ปราสาททราย 'ลำไย' พังทลายในรอบ 10 ปี - Decode
Reading Time: 3 minutes

มรสุมใหญ่ที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2563 ทั้งโรคระบาด ภัยธรรมชาติ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของคนไทยพุ่งสูงขึ้นไปแตะ 89.3% หมายรวมทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบ (ผลการสำรวจจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สิงหาคม 2565) ในวิกฤตการณ์หนักหนาขนาดนี้ แต่ชาวสวนลำไยที่จังหวัดลำพูน กลับตัดสินใจปล่อยให้ลำไยทั้งสวนแห้งตายคาต้น หรือหนักกว่านั้นคือโค่นทิ้งแล้วทำเป็นฟืน เพราะการเก็บเกี่ยวผลผลิตมีต้นทุนค่าแรงงานสูง ไม่คุ้มค่ากับราคาที่ตกต่ำของลำไยที่เหลือเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท

ในขณะที่นักวิชาการเกษตรและกระแสการส่งเสริมเกษตรแบบยั่งยืน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปัญหานี้แก้ได้นะ แต่ชาวนาชาวไร่ต้องเลิกทำเกษตรเชิงเดี่ยว หมายถึงการปลูกพืชชนิดเดียวกันติดต่อกันในพื้นที่เดียวกัน แต่หันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน เลือกใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงแบบสารชีวภัณฑ์ (Microbial Pesticide) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกอย่างไม่ลองปรับใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลแบบ Smart Farmer กันดูล่ะ นี่มันจะเข้าสู่ยุคปฏิรูปอุตสาหกรรม 5.0 แล้ว 

อุดมคติเหล่านี้ดูสวนทางกับสถานการณ์จริงของชาวสวนที่นั่งมองต้นลำไยที่เหลือแต่ตอ และยังไม่เห็นทางออกจากหนี้ครัวเรือนสูงลิ่วในปีนี้ ลองมาฟังความเป็นจริงจาก “เลียบ” หญิงชาวสวนที่โตมากลางสวนลำไยที่จังหวัดลำพูน เธอจะเล่าถึงความเปราะบางของอาชีพเกษตรกรไทยให้ฟังตั้งแต่ต้น  

ทุนนิยมในสวนลำไย

“แต่ก่อนตาหนานบอกว่า ลูก ๆ คงไม่ได้เรียนจนจบปริญญาตรีหรอก ถ้าไม่มีรายได้จากสวนลำใย 20 กว่าปีก่อนขายลำไยได้กิโลละร้อยเลยนะ ลูกใหญ่พวกพันธุ์อีดอ เบี้ยวเขียว แห้ว สีชมพู ส่วนพันธุ์พื้นเมืองลูกเล็ก จะเอาไว้กินกันเอง หรือมัดปุ๊ก (มัดเป็นพวง) มาขายในงานวัด พวกพันธุ์อีดอนี่เราได้มาจากในเมือง เขาจะปลูกกันเยอะแถว อ.จอมทอง อ.ริมปิง ทางเชียงใหม่”

พี่เลียบ เกษตรกรในอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูนวัยห้าสิบกว่าปี เล่าถึงยุครุ่งเรืองของการทำสวนลำไย เธอไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง งานหลักจึงเป็นการรับจ้างลงแรงในสวนลำไย จำพวกการเก็บและคัดแยก ย้อนไปยี่สิบกว่าปีก่อน ได้ค่าแรงวันละ 40 บาท ก็ไม่ถือว่าแย่สำหรับคนชนบท เมื่อลำไยขายได้ราคา เจ้าของสวนลำไยที่มีฐานะมักจะซื้อที่ดินเพิ่มเรื่อย ๆ อาจถึง 20 – 30 ไร่ ลงต้นลำไยเต็มพื้นที่ ส่วนชาวบ้านทั่วไปซึ่งไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ได้อาศัยรับจ้างเก็บและคัดลำไยในช่วงเก็บเกี่ยว ราคาผลผลิตสร้างกำไรอย่างงามให้เจ้าของสวน สูงถึงราว ๆ 100 บาทต่อกิโลกรัม พี่เลียบขยี้ให้เห็นภาพว่า

“ถ้าลูกไปเรียนกรุงเทพ พ่อแม่ต้องส่งลำไยไปให้ทุกปี เพราะลำไยมันเป็นสัญลักษณ์ของลำพูน”

ข้อมูลจากพี่เลียบ สอดคล้องกับสถิติจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาลำไยหริภุญชัย ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2540 โดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนอีกหลายฝ่าย  ข้อมูลชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวอย่างเต็มที่ในการปลูกลำไยแบบเกษตรเชิงเดี่ยวในช่วงปี 2539-2540 โดยมีพื้นที่ในการปลูกลำไยในจังหวัดลำพูนโดยรวมสูงถึง 71% หรือประมาณ 328,329 ไร่ และเป็นปีที่ให้ผลผลิตสูงสุดถึง 135,922 ตัน สร้างมูลค่าให้เกษตรกรถึง 5,030 ล้านบาท ทั้งในรูปของผลิตภัณฑ์ที่เป็นผลลำไยสด และการแปรรูปแบบต่างๆ โดยมีตลาดใหญ่ที่รับซื้อคือประเทศจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมทั้งตลาดในประเทศ

“เริ่มมีการใส่สารเร่งลำไย พอได้ผลดีก็ใส่สารฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเร่งให้มันออกดอก ถ้าไม่ใส่สารเร่งลำไยมันไม่โต ชาวสวนก็ไม่ได้เงิน แล้วก็ต้องมาดูขนาดของลำไยอีก เพราะลูกใหญ่จัมโบ้ขนาด AA ราคามันต่างจากลูกเล็กขนาด A ลิบลิ่ว”

พี่เลียบเล่าถึงการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความต้องการของตลาด สารเร่งลำไยในที่นี้ หมายถึงสารโพแทสเซียมคลอเรท (Potassium chlorate) ที่ชาวสวนลำไยใช้บำรุงต้นเพื่อช่วยกระตุ้นให้ลำไยติดดอกออกผลโดยไม่ต้องพึ่งอุณหภูมิที่ต่ำในช่วงฤดูหนาว ปัจจัยในการมีสารเร่งที่ช่วยให้ลำไยติดดอกในช่วงนอกฤดูกาล เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การทำสวนลำไยสามารถปลูกได้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศนอกจากภาคเหนือ จากสถิติล่าสุดของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าในปี 2564 ทั่วประเทศมีเกษตรกรใช้พื้นที่ในการปลูกลำไยทั้งหมดถึง 1,737,906 ไร่ ใน 71 จังหวัด โดยอันดับหนึ่งยังคงเป็นจังหวัดเชียงใหม่คือ 455,291 ไร่ และลำพูนเป็นอันดับสองด้วยพื้นที่ 351,167 ไร่

แต่ในที่สุดพืชเศรษฐกิจที่เป็นดาวเด่นประจำภูมิภาคอย่างลำไยได้เริ่มราคาตกต่ำลง ส่วนหนึ่งเกิดจากผลผลิตที่ล้นตลาด หากเช็คข้อมูลย้อนหลังจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพบว่าราคาลำไยลดลงเรื่อย ๆ ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตการณ์โควิดที่ราคาลำไยลดฮวบลงอย่างน่าใจหาย เพราะซ้ำเติมทั้งการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการผลิตสูง บวกกับปัญหาเก่าที่ราคาต่ำลงทุกปีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

โดยในปี 2561 ราคาสูงสุดของลำไยไซส์จัมโบ้เกรด AA อยู่ที่กิโลกรัมละ 30.74 บาท ต่อกิโลกรัม ถัดมาในปี 2562 ลดลงมาเหลือกิโลกรัมละ 28.82 บาท และลดลงไปอีกในปี 2563 เหลือกิโลกรัมละประมาณ 26-28 บาท แต่กราฟยังคงปักหัวดิ่งลงไปอีกในปี 2564 ที่ว่ากันคือวิกฤติราคาลำไยที่ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปี คือขายได้เพียงกิโลกรัมละ 10-14 บาท เป็นสถานการณ์ปวดใจที่เรื้อรังต่อเนื่องมาจนถึงปี 2565 โดยราคาตกลงไปเหลือเพียงกิโลกรัมละ 9-11 บาท สำหรับขนาด AA ที่เป็นไซส์ใหญ่สุด รองลงมาคือไซส์ A ราคา 2-3 บาท และไซส์เล็กกว่านั้นต้องคัดทิ้งเพราะไม่มีใครรับซื้อ

“ปีนี้ยับเยินกันหมด สู้ค่าต้นทุนไม่ไหว ปุ๋ยขนาดห้าสิบกิโลกระสอบละ 1,000 กว่าบาท ไหนจะยาฆ่าแมลง ฆ่าวัชพืช ทุกอย่างแพงหมด ค่าจ้างคนงานก็แพง วันละ 300-500 บาท พอไปขายแล้วไม่ได้ราคาอีก ขนาดเจ้าของที่ดิน 20-30 ไร่ เคยขายลำไยได้ปีนึงเป็นล้าน ๆ แต่ตอนนี้พอมาหักค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าคนงาน แทบไม่เหลือเงินเลย เลยตัดสินใจไม่เก็บเลย เพราะค่าใช้จ่ายในการเก็บมันทำให้แทบไม่เหลือต้นทุน เลยปล่อยแห้งตายคาต้น มันหลายอย่างจริง ๆ ปีนี้ เพราะโควิดด้วย ธรรมชาติก็โหด ขายก็ยาก ทางจีนไม่รับซื้อลำไยจากไทยด้วย เพราะลำไยเราสารเคมีมันเยอะเกินไป”

ในเดือนสิงหาคมถึงกันยายนที่ชาวสวนลำไยเคยได้เก็บเกี่ยวผลผลิต พอจะมีรายได้ตอบแทนความเหนื่อยยากที่ลงแรงไปตลอดทั้งปี แต่สถานการณ์ใน พ.ศ.2565 กลับต่างออกไปโดยสิ้นเชิง เจ้าของสวนลำไยหลายแห่งตัดสินใจโค่นต้นลำไยทิ้ง หั่นเป็นฟืนขายพอให้ได้อะไรกลับมาบ้าง บางรายหมดหวังถึงขนาดขายที่ดินทิ้ง หากพูดให้เจ็บปวดกว่านั้นคือดีแล้วที่ขายได้ เพราะเกษตรกรที่อยู่หัวไร่ปลายนา ห่างไกลจากทำเลทองในเขตเมือง ขนาดจะขายที่ดินยังไม่มีนายทุนที่ไหนจะแล ทำได้แค่เพียงนั่งมองลำไยที่ค่อย ๆ แห้งตายคาต้น และไม่รู้เลยว่าชะตากรรมต่อจากนี้จะเป็นยังไงต่อไป

เจ็บซ้ำเจ็บซาก ทำไมยังทำเกษตรเชิงเดี่ยวอยู่ได้

บาดแผลของชาวสวนลำไยไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้ ในยุคทองที่ราคาลำไยเคยทะยานไปแตะกิโลกรัมละร้อยบาทราวช่วงปี 2540 พวกเขาเผชิญกับปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุบัติเหตุที่เกิดจากสารโพแทสเซียมคลอเรท ที่เป็นสารเร่งดอกลำไยเกิดระเบิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง โดยครั้งที่ร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นในโรงอบลำไยที่อำเภอสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ในปี 2542 เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้มีคนเสียชีวิต 45 คน บาดเจ็บกว่าร้อยคน และบ้านเรือนได้รับความเสียหายมากกว่า 500 หลังคาเรือน การระเบิดเกิดขึ้นในขั้นตอนการผสมโพแทสเซียมคลอเรทกับกำมะถันลงไปในปุ๋ยจนอาจเกิดประกายไฟ ส่งผลให้สารเร่งฯ ที่เก็บไว้ถึง 4 ล้านตัน เกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง (ข้อมูล: วันนี้ในอดีต, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม)

สายพานการผลิตที่หมุนเร็วจี๋เพื่อสร้างเม็ดเงินคือสาเหตุทั้งหมดของเรื่องนี้ ชาวสวนต้องโหมใช้สารเร่งฯ และเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ  เพื่อแข่งขันการสร้างผลผลิต จนกระทั่งได้รับผลข้างเคียงจากสารเคมีเหล่านั้นทั้งในแง่ของอุบัติเหตุที่ทำลายชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนั้นยังตกค้างเป็นพิษสะสมจนไม่ผ่านเกณฑ์การส่งออก รวมทั้งผลกระทบที่ทำให้ต้นลำไยเสื่อมโทรมลง พี่เลียบสะท้อนจากประสบการณ์ให้ฟังว่า

“พอใส่สารเร่งมาก ๆ รากมันจะพังทลายไปเลย ทำให้ต้นลำไยต้นเล็ก ใบเล็ก อาจจะดีช่วงแรก ๆ พอเก็บผลได้แค่รุ่นสองรุ่น แล้วดินก็เสียไปเลย เหมือนเราเอาเกลือสาดลงดินนั่นแหละ ชาวบ้านก็ไม่รู้ แต่ถ้าไม่ใส่สารเร่งก็ไม่โต ไม่ได้เงินอีก”

ปัญหาต่าง ๆ ของชาวสวนลำไยก่อตัวสะสมมาเรื่อย ๆ เหมือนปราสาททรายที่เปราะบาง จนกระทั่งเมื่อคลื่นระลอกสุดท้ายจากวิกฤตการณ์โควิดซัดสาดเข้ามา ทุกอย่างจึงพังทลายลง ถามว่าความเดือดร้อนเหล่านี้สะท้อนไปถึงภาครัฐหรือไม่ และได้รับการช่วยเหลืออย่างไร ที่ผ่านมาในปี 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีมาตรการเยียวยาชาวสวนลำไยที่ได้รับผลกระทบ โดยให้เงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 200,000 ครัวเรือน เป็นจำนวนเงิน ไร่ละ 2,000 บาท โดยมีเงื่อนไขในการช่วยเหลือไม่เกิน 25 ไร่ ต่อครัวเรือน ส่วนในปี 2565 นี้ ได้มีข้อเรียกร้องจากตัวแทนเกษตรกรและ สส.ในภูมิภาค ให้มีการประกันราคาลำไยควบคู่ไปกับการจ่ายเงินเยียวยาด้วย       

โศกนาฎกรรมในสวนลำไยทั้งหมดจากจุดเริ่มต้นจนถึงตอนนี้ ไม่น่าจะแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้จากการประกันราคาพืชผล หรือการจ่ายเงินเยียวยาที่เป็นการปะผุที่ปลายเหตุ เห็นอยู่แล้วว่าการวิ่งอยู่บนสายพานเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อสร้างเม็ดเงินที่เกษตรกรไม่ได้เป็นคนกำหนดมันเจ็บปวดเพียงใด เมื่อลองถามพี่เลียบว่าทำไมไม่เปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ เห็นหลวงท่านประกาศครึกโครมว่าจะขับเคลื่อนให้

“ประเทศไทยเป็นผู้นำเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซียน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ภายในปี 2565”

“ทำอะไรมันก็ต้องใช้เงินทั้งนั้น อย่างพี่นาที่เขาเคยทำงานอยู่กรุงเทพ กลับบ้านมาทำเศรษฐกิจพอเพียงอยู่สามไร่กว่า พวกพี่เคยพากันไปเที่ยวดู เห็นเขาเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ปลูกพืชสวนครัวก็ดูมีความสุขดี แต่พอน้ำท่วมปีก่อนก็พัดปลาหายไปทั้งหนองเลย ทำพวกนี้ทำได้ แต่ต้องหอบเงินจากกรุงเทพมาทำ ชาวบ้านทำมันยาก เพราะต้องใช้เงิน แล้วสมัยนี้ขโมยมันเยอะ เราต้องไปเฝ้าสวนถึงจะได้กิน เหมือนเราปลูกหน่อไม้ไว้ พอถึงเวลาก็มีคนมาเอาไปกินซะแล้ว ขนาดสายไฟมันยังตัดไปขาย ไม่ต้องดูอะไรมาก ตอนนี้ชาวบ้านแห่กันไปทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกันทั้งหมู่บ้าน เงินมันเขียมจริง ๆ ”

เรื่องเล่าจากพี่เลียบอาจฉีกกระชากภาพชนบทในฝันของคนชั้นกลางในเมือง ภาพของชาวนาชาวไร่ที่นุ่งผ้าทอลายพื้นเมือง ตกปลาเก็บผักอย่างสมถะ ลูกหลานชาวนาที่พ่อมันขายงัวส่งให้เรียนได้กลับบ้านมาพัฒนาท้องถิ่น ว่าง ๆ ยังได้พาคณะทัวร์จากในเมืองเที่ยวชมวิถีเกษตรอันแสนน่ารัก แต่โอ้…บุดดา ทั้งหมดนี้ต้องใช้เงินทั้งนั้น ปลาในหนองจะเอามาทอดแกงก็ต้องใช้น้ำมัน ไหนจะค่าแก๊สหุงต้ม ค่าน้ำค่าไฟ ไหนจะหนี้ ธ.ก.ส.และหนี้ กยศ.ที่ต้องช่วยลูกชายผ่อนจ่าย ไม่มีเงินแล้วจะทำอย่างไร จะมีทางออกไหนให้พวกเขาได้สางหนี้ที่ทับถม และนับหนึ่งจากต้นทุนที่ติดลบ นอกจากต้องไหลตามสายพานนี้ต่อไป

“พอลำไยราคาไม่ดี เลยเปลี่ยนมาปลูกมะม่วง จนตอนนี้ทุ่งนามีแต่สวนมะม่วง ก็ขายไม่ได้อีก เคยมีบริษัทขายต้นโกโก้มาโฆษณาที่วัด เอาต้นกล้ามาขาย เขาแนะนำว่าให้ปลูกโกโก้ดีกว่า พอเราปลูกจนถึงเวลาเก็บเกี่ยว เขาก็บอกว่าไม่รับซื้อเพราะคุณภาพมันไม่ได้”

“คือเขามาหลอกขายใช่มั๊ย” หลุดคำถามโง่ ๆ ออกไป

พี่เลียบไม่ได้ตอบคำถามนี้ ปล่อยให้ความเงียบแผดเสียงอยู่อย่างสิ้นหวัง

เครดิตภาพจาก

ThaiPBS North