ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เมื่อมานานมานี้ผมได้มีโอกาสชมละครเวทีมนต์รักทรานซิสเตอร์ 2022 บทประพันธ์จากวัฒน์ วรรลยางกูร ส่วนตัวสำหรับผมแล้วถือว่าเป็นละครเวทีที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิตของผม มันถ่ายทอดชีวิตความฝันของ วัฒน์ วรรลยางกูร ผู้ต่อสู้เพื่อความเสมอภาค และเสรีภาพทั้งชีวิต ก่อนที่เขาจะจบชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง
บทละครชวนเศร้า ไม่ใช่เพราะว่า มนต์รักทรานซิสเตอร์เป็นวรรณกรรมที่งดงามหรือสูงส่ง แต่เพียงแค่ว่าความเหลื่อมล้ำ ความเศร้าที่เกิดขึ้น ที่เราเห็นในละครเวที ในบทประพันธ์ มันแทบเหมือนกับสิ่งที่เกิดเมื่อวานนี้ ความเหลื่อมล้ำที่เกาะกินในสังคมไทยมันแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย บางช่วงจังหวะของบทละครพาผมเสียน้ำตาเมื่อผมเทียบกับปรากฏการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา
“คนอย่างกูก็มีไว้ให้พวกมึงทำบุญเท่านั้น”
ประโยคนี้ปรากฏในการโต้เถียงถึงการที่คนรวยจำนวนมากในสังคมนี้พร่ำโฆษณาถึงความใจบุญ ความเมตตาของตัวเอง แต่พวกเขากลับเกลียดชังคนจน ต่อต้านการเรียกร้องสิทธิพื้นฐาน เราอาจเห็นคนรวยจำนวนมากมายที่โฆษณาเวลาพวกเค้า บริจาคข้าวกล่องสัก 100 กล่องเพื่อช่วยคนยากไร้ ผู้คนในสังคมอาจยกย่องเทิดทูนพวกเขาราวกับว่าเป็นนักบุญ แต่เกิดอะไรขึ้นเมื่อเราเรียกร้องให้คนทั้งประเทศได้เรียนมหาวิทยาลัยฟรี ไม่ช่วยเหลือคนที่หิวแค่ 100 คน แต่เรียกร้องให้ทำการล้างหนี้เพื่อการศึกษาให้คนหลักล้านคน ผู้ที่เรียกร้องสิทธิเหล่านี้กลับถูกกล่าวหาว่ากำลังทำลายประเทศด้วยการเรียกร้องสวัสดิการที่มากขึ้นสำหรับคนที่คนเหล่าชนชั้นนำ ทำบุญทำทานเป็นประจำ
“ความฝันบ้าบออะไร กูไม่มี”
ความฝันเป็นสิ่งที่ดูเหมือนสามัญ สิ่งที่หลายคนคิดว่าทุกคนสามารถที่จะมีได้ แต่เมื่อเราเติบโตขึ้นในสังคมที่เหลื่อมล้ำ ความฝันกลายเป็นสิ่งที่ราคาแพงมากขึ้น ความฝันในเบื้องต้นถูกสงวนไว้กับคนที่มีความตั้งใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความฝันก็กลายเป็นเรื่องของคนมีเวลา และท้ายที่สุดความฝันก็คือเรื่องของคนมีเงินเท่านั้น ความฝันไม่ใช่เรื่องของทุกคนในสังคมที่เหลื่อมล้ำมหาศาล ความฝันกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับคนส่วนใหญ่ และเฉพาะคนรวยเท่านั้นที่มีสิทธิที่จะพูดถึงฝันที่ไกลกว่าเรื่องปากท้อง และอาชีพได้
“คุณเป็นคนจนที่โคตรเหมือนคนจนเลย”
เป็นประโยคที่น่าสะเทือนใจมาก บ่อยครั้งสำหรับการรณรงค์เพื่อรัฐสวัสดิการ สิทธิพื้นฐานของผู้คนสำหรับการชีวิต มักมีข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นในสังคมว่า
“คนเหล่านี้ไม่ได้ลำบาก ไม่ได้น่าเห็นใจ ไม่ได้น่าสงสาร บางคนกินเหล้า สูบบุหรี่ ไม่ดูแลสุขภาพ เลยมาใช้บริการโรงพยาบาลตามสิทธิ บางคนไม่ตั้งใจเรียนพวกเขาจึงสอบชิงทุนไม่ได้ บางคนกู้ กยศ.ก็นำค่าครองชีพมากินข้าวดี ๆ มาซื้อมอเตอร์ไซค์”
คำกล่าวเหล่านี้ล้วนน่าเศร้า จินตนาการของคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน พวกเขาควรเป็นคนแบบไหน หน้าตาแบบไหน เราอยู่ในสังคมเดียวกันหรือไม่ จินตนาการเกี่ยวกับผู้ที่โชคร้ายในสังคมเรากลับมีจินตนาการเหมือนพวกเขาออกมาจากนิยาย เราคิดว่าพวกเขาควรต้องมีหน้าตาอย่างไร ทำงานอะไร มีชีวิตอย่างไร พวกเขาไม่สามารถมีความสุข ไม่สามารถมีจินตนาการความฝันถึงชีวิตที่ดี ไม่สามารถมีความฝัน ความสุข เวลาว่าง หรือความสุขสบายได้เลยหรือ ถึงต้องปรารถนาว่า “คนจน” ที่ได้รับ “สวัสดิการ” ต้องมีชีวิตตรงตามเกณฑ์ที่ชนชั้นนำปรารถนา เราเป็นคนหรือปศุสัตว์ในคอกของพวกเขา
สุรแผนตัวเอกของเรื่องคือภาพสะท้อน คน 99 % ของประเทศนี้ ผมแค่อยากบอกว่า “เราเคยเป็นแผนในช่วงหนึ่งของชีวิต และเจอคนแบบเขาอีกมากมาย สนิทกันบ้าง ไม่สนิทบ้าง แต่แผนไม่ใช่เรื่องที่ไกลจากความจริงเลย”
เราอาจมีคำถามว่า ทำไมแผนไม่เรียน รด. ทำไมแผนโง่หนีทหาร ทำไมแผนไม่หาทางสร้างมูลค่าตลาดของไร่นาตัวเอง ทำไมแผนไม่มีจินตนาการแบบอื่น ทำไมต้องอยากเป็นนักร้อง ทำไมต้องอยากเข้ากรุงเทพฯ หรือคิดไปไกล ว่าทำไมแผนไม่เรียนเสริมเพิ่มในคุก ฯลฯ เรามีทางเลือกมากมายเสนอกับแผน
แต่คำตอบง่าย ๆ ที่ละครเวทีได้ย้ำไว้ “ก็โลกนี้ไม่ใช่ของเรา”
เรื่องเล่าของบทละครจบลง ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำมหาศาลในสังคมไทยที่แทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย
เรื่องน่าคิดที่ได้จากบทละครนี้ ผู้กำกับบอกต่อผู้ชมว่าเขาคิดว่าเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคนที่คิดต่างได้ ยากมาก ใช้พลังเยอะ และได้ผลไม่คุ้มเลย จากที่เขาเคยทำสารคดีชีวิตคุณวัฒน์ วรรลยางกูร คนที่ไม่เห็นด้วยอย่างไรก็ไม่เห็นด้วย
แต่เขาทำละครเรื่องนี้ออกมา เพื่อทำให้คนที่ยังเห็นคล้อยว่าคนเหล่านี้ไม่ได้สู้คนเดียวไม่ได้เชื่อเรื่องนี้คนเดียว
มนต์รักทรานซิสเตอร์ยังเรียกน้ำตาจากคนดูได้ ไม่ใช่เพราะมันเป็นวรรณกรรมที่ดีงดงาม แต่เพราะความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมยังคงฝังอยู่หลายสิบปี วัฒน์ วรรลยางกูร คงดีใจกับละครเวทีเรื่องนี้ ในปี 2022 และเศร้าเสียใจที่ความเหลื่อมล้ำมหาศาลที่คงอยู่