Arrange marriage รักซึมเศร้า พันธะซึมลึกของหญิงอินเดีย - Decode
Reading Time: 3 minutes

HumanIndian-คนอินเดียมีหัวใจ

ณฐาภพ  สังเกตุ

เย็นวันหยุดสุดสัปดาห์หนึ่ง…เพื่อนคนอินเดียชวนผมไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนของเขา 

บทสนทนาวันนั้นเราคุยกันหลายเรื่องไล่ตั้งแต่เรื่องอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และวัฒนธรรมต่างๆ ของทั้งไทยและอินเดีย จนกระทั่งบทสนทนาเข้าสู่เรื่องความรัก เริ่มจากคำถามง่ายๆ ว่าแต่ละคนมีแฟนกันแล้วหรือยัง?

คำตอบมีหลากหลาย บางคนบอกว่าตัวเองมีภรรยาแล้ว 1 คนที่เกิดจากวัฒนธรรม arrange marriage แต่ก็แอบมีกิ๊กอีก 1 คน เพราะไม่ได้รู้สึกรักคู่แต่งงาน

แต่โดยส่วนใหญ่แล้วหลายคนต่างบอกว่าตัวเองโสด ไม่มีแฟน ผมเลยถามกลับไปว่าทำไมคนรุ่นคุณ อายุ 20 ต้น ๆ ส่วนใหญ่ถึงไม่มีแฟน 

โพจา (Pooja) หญิงสาวคนหนึ่งในวงสนทนาได้เล่าเรื่องราวของเธอให้กับผมฟังว่า

“คุณรู้จักวัฒนธรรม arrange marriage ไหม? คือการที่พ่อแม่จะเป็นคนเลือกผู้ชายที่เหมาะสมมาให้เป็นสามี ฉันไม่สามารถเลือกคนที่รักได้ด้วยตัวเอง”

“อย่างนี้แสดงว่าตอนนี้คุณมีคู่หมั้น ที่พ่อแม่คุณจัดหาไว้ให้แล้ว” ผมถาม 

“ยังไม่มี พ่อแม่จะจัดหาคู่ครองให้ฉันเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม”

โพจาเล่าให้ผมฟังต่อว่า พ่อแม่ของเธอจะเลือกคนที่มีการศึกษา มีหน้าที่การงานดีให้เธอ และผู้ชายคนนั้นต้องมีฐานะ มีทรัพย์สินเช่นที่ดิน บ้าน และอื่น ๆ ที่พ่อแม่เธอคิดว่าเหมาะสม 

“ครั้งหนึ่งฉันเคยมีคนที่ฉันรัก เขาการศึกษาดีหน้าที่การงานดี แต่ไม่ได้ทำให้พ่อแม่ของฉันอนุญาตให้เราได้คบกัน”

โพจามีสีหน้าเคร่งเครียดเมื่อคุยถึงเรื่องนี้ เธอกล่าวว่า ณ ปัจจุบันในเมืองใหญ่ที่การศึกษาเข้าถึงเช่น เมืองมุมไบ (Mumbai) เมืองปูเน่ (Pune) เมืองนิวเดลี (New Delhi) วัฒนธรรมเช่นนี้ค่อยๆ หายไป แต่บ้านเกิดของโพจาอยู่ในเมืองชนบทในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra)

“ถ้าคนที่พ่อแม่หามาให้ คุณไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันจะทำอย่างไร” ผมถาม

“ก็แค่ใช้ชีวิตที่เหลือต่อไปวันต่อวัน เพราะฉันไม่ได้อยู่ในสถานะที่สามารถเลือกอะไรได้”

วัฒนธรรมเช่นนี้ไม่ได้มีแค่เฉพาะผู้หญิง แต่ในผู้ชายเอง อังคิต (Ankit) ก็บอกผมว่าเขาก็มีคนที่พ่อแม่จัดหาไว้ให้ แต่เขามีสิทธิเลือกได้ว่าจะรักหรือไม่รักผู้หญิงคนนั้น กล่าวคือถ้าเขาไม่ชอบ เขาสามารถหาคู่ครองได้ด้วยตนเอง

ความรักควรเป็นสิ่งที่มนุษย์มีสิทธิที่จะออกแบบได้ด้วยตนเอง แต่เมื่อเกิดมาในวัฒนธรรมและความเชื่อที่ปลูกฝังกันมารุ่นสู่รุ่น ความรักของคนอินเดียจึงเป็นเรื่องที่ออกแบบไม่ได้

การแต่งงานไม่ใช่การทำสัญญา แต่เป็นพันธะของการเกิด

“ฉันไปที่บ้านเธอ เธอเสิร์ฟน้ำชาให้ฉันและหายไป 10-20 วินาที เธออาจจะกลับมาหรือไม่กลับมาก็ได้ ถ้าฉันโชคดีเธอจะกลับมาอีกครั้ง และหายไปอีก 10-20 วินาที ไม่มีการพูดคุยแค่เพียงสบตา ถ้าคุณชอบเธอและเธอชอบคุณ หลังจากนั้นคุณและเธอจะแต่งงานกัน”

อายูส ชอดาริ (Aayush Chaudhari) ชายหนุ่มจากเมืองมุมไบ ที่มีความสนใจเรื่องสังคมและวัฒนธรรมเอเชียใต้  ได้ยกตัวอย่างการแต่งงานแบบ arrange marriage ที่เขาเคยได้เห็นได้ยินมา พร้อมทั้งอธิบายความเป็นมา สิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับวัฒนธรรม arrange marriage ในมุมมองของเขาให้ผมฟัง 

“มันขึ้นอยู่กับบุคคลยากที่จะพูดว่าวัฒนธรรม arrange marriage ดีหรือแย่ รักที่เกิดขึ้นเองและการจับคู่แต่งงานดีทั้งคู่ แต่จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับธรรมชาติและพฤติกรรมของทั้งคู่ในอนาคต”

อายูสไม่ได้มองว่าวัฒนธรรมนี้เลวร้ายไปซะทั้งหมด เขาอธิบายให้ผมฟังต่อว่า arrange marriage คือแนวคิดที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมของอินเดีย มันยังไม่มีทางหมดไปตอนนี้ แต่วัฒนธรรมนี้จะค่อย ๆ จางหายไป จากการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก คนรุ่นใหม่เริ่มไม่ทำตามกฎนี้ และตอนนี้การที่คนสองคนรักกันและอยากแต่งงานกัน ไม่ใช่เรื่องผิดในเมืองใหญ่ของอินเดีย แต่ในบางเมืองนั้น…

“ถ้าคุณไปในบางรัฐเช่น พิหาร(Bihar), อุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) ผู้คนจำนวนมาก ยังมีแนวคิดแบบเก่า พวกเขายังไม่อนุญาตให้มีการแต่งงานจากความรัก ตามหลักของศาสนาฮินดู การแต่งงานไม่ใช่แค่การทำสัญญา แต่เป็นพันธะของการเกิด

การแต่งงานแบบ arrange marriage อายูสเล่าให้ฟังว่า บางกรณีจะมีการดูดวงของคู่แต่งงาน และพยากรณ์ว่าการแต่งงานครั้งนี้จะสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ที่ผ่านมาก็พบปัญหาว่าหมอดูบางคนเข้ามาทำอาชีพนี้ เพียงเพราะต้องการรายได้ ทั้งที่พวกเขาไม่ได้มีประสบการณ์ทางโหราศาสตร์ แต่ในบางกรณีการแต่งงานก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งหมอดู เมื่อพวกเขาพร้อมที่จะแต่งงานและปรับตัวเข้าหากัน

“การที่คนสองคนรักกันโดยธรรมชาติและแต่งงานกัน ไม่ใช่สิ่งที่แย่ในศาสนาฮินดู เทพเจ้าในศาสนาฮินดูพวกเขาก็ล้วนแต่งงานกันจากความรัก และเมื่อที่ไหนมีความรักสิ่งอื่นก็ไม่มีความจำเป็น” อายูสกล่าวทิ้งท้าย

ครอบครัวสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของชาวอินเดีย

“arrange marriage มันเหมือนกับการไว้ใจครอบครัว”

ชีวานี จาฮาป (Shivani  Jadhav) หญิงอินเดียวัย 26 ปี ผู้เป็นเพื่อนสนิทกับผม เธอไม่ได้ต่อต้านวัฒนธรรมดังกล่าวเพราะเธอมองว่า arrange marriage มีทั้งด้านที่ดีและไม่ดี

“ทุกสิ่งมี 2 ด้านเสมอ arrange marriage เกิดจากการยินยอมของพ่อแม่ ดังนั้นพวกเขาพร้อมสนับสนุนความรักครั้งนี้ของคุณอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณไม่สามารถตกหลุมรักคนที่พ่อแม่คุณจัดหามาให้หลังแต่งงาน คุณจำเป็นต้องปรับตัวอย่างมากหรือไม่ก็มีโอกาสนอกใจกันสูง”

 ชีวานีอธิบายด้านที่ดีของวัฒนธรรม arrange marriage ให้ผมฟังต่อว่า หลังจากการแต่งงานคุณเริ่มต้นที่จะรู้จักคู่สมรส สิ่งนี้ช่วยรักษาชีวิตการแต่งงานให้ยาวนานยิ่งขึ้น เพราะครึ่งหนึ่งของชีวิตแต่งงาน คุณจะได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน

“เหมือนการตกหลุมรักคนแปลกหน้าที่เขาจะอยู่กับคุณไปชั่วชีวิต”

ในขณะเดียวกัน arrange marriage ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการหลอกลวงกัน เพราะเราไม่ได้รู้จักคู่แต่งงานดีพอ แต่ชีวานีบอกว่ากรณีแบบนี้เกิดขึ้นได้ยาก พ่อแม่มักจะตรวจสอบประวัติคนที่จะมาแต่งงานอย่างถี่ถ้วน และเมื่อเป็นความรักที่เกิดขึ้นจากพ่อแม่ ผลที่ตามมาคือ…

“การหย่าร้างเกิดขึ้นได้ยากเพราะพ่อแม่ของคุณจะพยายามเกลี้ยกล่อมคุณ ว่าคุณต้องพยายามปรับตัวและใช้ชีวิตร่วมกับคู่แต่งงานของคุณ”

ผมถามชีวานีต่อว่า เธอรู้สึกอย่างไรกับการที่พ่อแม่จะจัดหาคู่แต่งงานให้เธอในอนาคต 

“บางครั้งสิ่งที่พ่อแม่เลือกมาให้ ก็ดีกว่าสิ่งที่เราหามาเอง มันไม่ง่ายเมื่อคุณหาผู้ชายสักคนให้ผู้หญิง พวกเขาจำเป็นต้องหาคนที่คุณสมบัติเหมือนกัน อย่างฉันพ่อแม่ไม่สามารถหาผู้ชายที่เหมาะสมให้ได้ เพราะว่าฉันมีคุณสมบัติสูงเกินไปในวรรณะของพวกเรา และฉันมีรายได้มากกว่าผู้ชายในวรรณะ อีกหนึ่งประเด็นคือผู้ชายส่วนใหญ่เตี้ยกว่าฉัน”

ชีวานีบอกผมว่าการที่ความรักในอินเดียเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน เป็นเพราะระบบวรรณะ arranged marriage จะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้งสองฝ่ายอยู่ในวรรณะเดียวกัน

แต่ปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งการันตีว่าชีวิตหลังแต่งงานจะอยู่รอด ชีวานีบอกว่ามันมีความซับซ้อนเกิดขึ้นหลังการแต่งงานแบบจับคู่ ทั้งเรื่องของวิถีชีวิต อุปนิสัย ลักษณะของครอบครัวทั้งสองฝ่าย  

แต่เธอมั่นใจว่าการที่คนสองคนอยู่ด้วยกันเป็นเวลานาน พวกเขามีแนวโน้มที่จะตกหลุมรักกัน แต่ถ้าไม่เกิดขึ้น พวกเขาก็มีทางเลือกที่จะแอบไปมีคนอื่นหรือหย่าร้าง 

“คุณนิยามความรักของคุณเป็นอย่างไรชีวานี” ผมถามเธอเป็นคำถามสุดท้าย

“รักเหมือนรากฐานชีวิต แต่ในอินเดียความรักไม่เกิดขึ้นเพราะศาสนาและระบบวรรณะ แต่วันนี้ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไป พ่อแม่หลายคนยินยอมการแต่งงานระหว่างวรรณะ และการแต่งงานด้วยความสมัครใจ ฉันเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าระบบวรรณะจะหายไป…แค่ต้องใช้เวลา

“มันจะไม่จบลงในวันนี้จะต้องใช้เวลาหลายปี และ arrange marriage สำหรับฉันไม่ใช่การบังคับแต่งงาน เรามีสิทธิที่จะตอบรับหรือปฏิเสธ  พ่อแม่จะยอมรับจากความรู้สึกของเรา และจากนั้นพวกเขาจะปรับการแต่งงานให้เหมาะสม สิ่งที่แตกต่างจากการแต่งงานทั่วไปคือ เราจะเลือกคู่ชีวิตจากการเจอกันไม่กี่ครั้ง เหมือนกับการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันจากการออดิชั่น”

สำหรับชีวานีเธอมีสิทธิที่จะตอบรับหรือปฏิเสธคู่แต่งงานที่พ่อแม่เธอจัดหามาให้ แต่สำหรับโพจานั้นเธอไม่มีสิทธิเลือก

“ฉันมีคนที่ฉันรักมากแต่พ่อแม่ของฉันไม่อนุญาตให้ฉันเลือกคนรักด้วยตัวเอง ฉันรักอามิท(Amin) มาก เขาคือชีวิตคือโลกทั้งใบของฉัน เมื่ออยู่กับเขาฉันรู้สึกว่าเป็นผู้หญิงที่โชคดีที่สุดในโลก แต่ฉันรู้ดีว่าไม่สามารถเปลี่ยนความคิดพ่อแม่ได้ พวกเขาอยู่ในครอบครัวชนบท ที่แคร์สายตาของคนอื่น ๆ มากกว่าความรู้สึกของฉัน ฉันไม่ต้องการ arrange marriage แต่ฉันไม่มีทางเลือก”

“คุณนิยามความรักของคุณเป็นอย่างไร” ผมถามเธอ

“ความรักหมายถึงการรักษาใครสักคน และทำให้เขามีความสุข โดยปราศจากความคาดหวังทั้งปวงจากเขาและเธอ”

“แต่ความรักของคุณกับมุกตาร์ ดูเหมือนจะไม่มีทางไปรอดเลย”

“อืม…คุณพูดถูก” เธอกล่าวทิ้งท้าย

วันนี้ในอินเดียคนรุ่นใหม่ต่างมั่นใจว่าในสักวัน วัฒนธรรม arrange marriage จะหายไป บางทีมันอาจจะหายไปในวันที่พวกเขาเติบโตเป็นพ่อแม่คน

เมื่อวัฒนธรรมจากโลกตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาในอินเดีย พวกเขาต่างต้องการมีความรักที่ออกแบบได้เอง แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมความเชื่อที่ถูกปลูกฝังกันมา และคงไม่ใช่แค่ในอินเดีย เมื่อโลกทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ล้วนต้องต่างต่อสู้เพื่อสร้างโลกใบนี้ของพวกเขา 

Thailand Talks พื้นที่พูดคุยสำหรับคนแปลกหน้าที่มีความเห็นแตกต่างกัน

เปิดลงทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม – 14 กันยายน 2565