400,000 หรือ 40,000 'สนธิ คชวัฒน์' คำนวณตัวเลขที่หายไปจาก 9 ปีที่รั่วไหล 100 ปีที่รอฟื้นฟูน้ำมันรั่วระยอง - Decode
Reading Time: 3 minutes

หลังเหตุการณ์น้ำมันดิบ 50,000 ลิตร ของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) รั่วไหลจากท่อส่งกลางทะเลอ่าวไทย กระจายตัวครอบคลุมพื้นที่ 9 ตร.กม. ก่อนเคลื่อนตัวเข้าพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม-หมู่เกาะเสม็ด ซึ่งอ่าวพร้าว เป็นจุดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด

ความเจ็บปวดได้ครบรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565

และเป็นอีกครั้งที่กรมควบคุมมลพิษ ได้รับแจ้งจากบริษัท สตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด(มหาชน) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ว่าได้เกิดเหตุน้ำมันดิบจากท่อใต้ทะเลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ซึ่งเป็นของบริษัทฯ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง รั่วไหลลงทะเลจำนวน 400,000 ลิตร

ความเจ็บปวดที่สลับเลขพ.ศ.สองตัวหลัง ถูกถาโถมเข้ามาอีกครั้ง เมื่อระยองเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบของน้ำมันรั่วครั้งใหม่ ที่บาดแผลครั้งเก่ายังรักษาไม่หายดี

จากเหตุการณ์ระเบิดของโรงงานหมิงตี้เคมิคอล ร่างกฎหมายเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีหรือ PRTR ถูกหยิบยกขึ้นมา เพื่อพูดถึงความสำคัญในการที่โรงงานเหล่านี้ จะต้องแจ้งข้อมูลของการใช้สารเคมี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรอบ การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลถึงแผนรับมือต่าง ๆ ได้ทันท่วงที

De/code ชวนตั้งคำถามกับการเปิดเผยข้อมูลของการใช้สารเคมีจากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำมัน ในวันที่การรั่วไหลของน้ำมันหลุดออกมา แต่ข้อมูลกลับไม่แน่ชัด และตัวละครที่สำคัญอย่าง ภาครัฐ พึงจะมีบทบาทอย่างไร เพื่อไม่ให้ประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุ ต้องเป็นคนรับกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ไม่สามารถจะสำเร็จได้เพราะเป็นการเปิดเผยข้อมูลทางการค้า หรือจริง ๆ ในต้นทางของการอนุมัติอย่างภาครัฐ ปล่อยปละละเลย จนไม่อยากให้ตรวจสอบกันแน่

Open data = คำตอบ

“นับตั้งแต่น้ำมันรั่วไหลที่ระยองรอบนี้ของ SPRC ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 ตอนแรกก็บอกรั่วออกมา 400,000 ลิตร สักพักบอก 40,000 ลิตร แต่หลัง ๆ บอก 10,000 ลิตร จนถึงทุกวันนี้เรายังไม่รู้ว่าน้ำมันที่รั่วไหลออกมามีปริมาณเท่าไหร่ เรารู้แค่จำนวนของสารละลาย Dispersant ที่ใช้กำจัดน้ำมันให้ตกอยู่ใต้ทะเล ซึ่งเป็นประกาศจากกรมควบคุมมลพิษ”

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บอกเล่าถึงความผิดปกติของตัวเลขที่รั่วไหลออกมา การคำนวณเหล่านี้มีข้อน่าสังเกต ทั้งที่จุดที่รั่วไหลน้ำมันเป็นของภาคเอกชน แต่ทำไมถึงไม่สามารถระบุการรั่วไหลอย่างแน่นอนไม่ได้

การคำนวณในระยะที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ด้านอาจารย์ในฐานะที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์สถานการณ์ ในฐานะนักวิชาการทางด้านสิ่งแวดล้อม การคาดการณ์ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล มาจากการกะปริมาณของสารช่วยกระจายตัว(Dispersant) 85,400 ลิตร ในอัตราส่วนน้ำทะเล 1:10 และน้ำจืด 1:20

“ตัวเลขที่ไม่ระบุชัดเจน จะมากหรือน้อยก็ตาม แต่สารช่วยกระจายตัวที่ใส่ลงไปในท้องทะเลมันมากเกินผิดปกติ มันเกิดจากการวางแผนของภาครัฐ ที่ไม่อยากให้ซ้ำรอยในปี 2556 ที่สุดท้ายน้ำมันขึ้นไปที่หาดพร้าว แต่พวกเขาละเลยในการใช้บูมล้อม เพื่อที่จะต้อนปริมาณน้ำมัน จึงใช้สกิมเมอร์(เครื่องดูดคราบน้ำมัน) หรือใช้สารช่วยกระจายตัวกำจัดอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงละกระบวนการนี้”

การใช้สารช่วยกระจายตัวเหล่านี้ เป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้กำจัดน้ำมันได้จริงตามแผนรับมือ กลับกัน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งกรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ รวมถึงเอกชนที่เข้ามาร่วมรับผิดชอบในครั้งนี้ กังวลถึงสถานการณ์ที่น้ำมันจะขึ้นชายหาด การใช้สารเหล่านี้ในการกำจัดคราบน้ำมันเพื่อให้ลงไปก้นทะเล ท้ายที่สุด คราบน้ำมันจะไม่ปรากฎให้เราเห็นด้วยตาเปล่า แต่จะเด่นชัดขึ้น เมื่อท้องทะเล ทั้งปะการังและสัตว์ทะเลต่าง ๆ ถูกคราบน้ำมันเหล่านี้ถมทับและไม่สามารถมีชีวิตอยู่ดี

ความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลเมื่อเผชิญเหตุ คือทำให้เราสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที แล้วประเทศไทย เรามีกฎหมายตัวไหนบ้าง ที่สามารถเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลได้

การวางแผนรับมือ ควรแก้ที่ต้นทาง

“สิ่งที่เรามองเป็นอย่างแรก คือการซ่อมบำรุง จนถึงการทำ EIA  ภาคเอกชนเขาทำครบหรือเปล่า”

EIA(Environmental Impact Assessment) หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หมายถึง การประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะมีผลต่อสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง

การประเมินคือข้อบังคับหลักในการที่จะเปิดโรงงานหรือทำอุตสาหกรรมใด ๆ เพื่อที่จะประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบริเวณโดยรอบ ทั้งธรรมชาติและมนุษย์ 

แต่อาจารย์สนธิกล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุน้ำมันรั่ว อาจารย์ได้เข้าไปค้นหาข้อมูลการทำ EIA ของบริษัท SPRC(บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด) ในศูนย์ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นระบบออนไลน์และสามารถเข้าไปเช็คได้ แต่สิ่งที่พบคือข้อมูลแผนประเมิน EIA ของบริษัท SPRC กลับหายไปในช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะพบกลับเข้าสู่ระบบ แต่แบบประเมินนี้ก็ไม่ได้ครบถ้วนนัก

“และในครั้งนี้ส่วนราชการกลับเงียบ ไม่มีใครมาบอกว่าครบไม่ครบอย่างไร”

แต่เดิมที่บริษัท SPRC จะต้องยื่น EIA อีกครั้งในปี 2568 รวมถึงต้องการที่เปลี่ยนท่อระบบเปิด-ปิดวาล์วน้ำมัน เป็นระบบสั่งการจากบนบก แต่น้ำมันรั่วในครั้งนี้เสียก่อน นั่นทำให้อาจารย์ตั้งข้อสงสัยเพิ่มว่า แล้วท่อวาล์วแต่เดิมนั้นได้มาตรฐานหรือไม่ และหากการซ่อมบำรุงที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 ปี ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทเข้มงวดขนาดไหน

ในเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เคมิคอล ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วทั้งกรุงเทพฯ โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณบางนา ซึ่งเป็นพื้นที่หลัก ในช่วงเวลานั้นภาคประชาชนหลายกลุ่ม ได้มีการหยิบยกที่จะผลักดันกฎหมาย PRTR(Pollutant Release and Transfer Register) หรือการเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมี 

ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่เผยแพร่สู่สาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของมลพิษ(เป้าหมาย) ที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิด(เป้าหมาย) ประเภทต่าง ๆ สู่ตัวกลางสิ่งแวดล้อมทั้งอากาศ ดิน น้ำ รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียและของเสียออกจากแหล่งกำเนิดไปบำบัดหรือกำจัด 

เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว เราทราบกันน้อยมาก ว่าสารเคมีที่รั่วไหลออกมาผ่านทางอากาศ จากการเผาไหม้และแรงระเบิดนั้น คือสารชนิดใด รวมถึงแผนควบคุม อพยพ ผู้คนอย่างไร

อาจารย์สนธิให้ความเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะผลักดันได้ยาก หลังจากสถานการณ์ครั้งนั้น กฎหมายฉบับนี้ก็ถูกพูดถึงอีกน้อยมาก แต่สิ่งที่อาจารย์กล่าวว่าสำคัญกว่า คือการวางผังเมือง การจำกัดพื้นที่ ที่จะเป็นเขตที่อยู่อาศัยและเขตอุตสาหกรรม ทำไมหมู่บ้านจัดสรรเหล่านั้นและโรงงานถึงอยู่ใกล้กันขนาดนี้

แล้วถ้าเราไม่สามารถมีกฎหมายเปิดเผยข้อมูลสารเคมี รวมถึงการทำ EIA ซึ่งไม่ชัดเจน แล้วที่ผ่านมา ประเทศไทยเราใช้กฎหมายตัวใดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้าง

“ซึ่งจริง ๆ บ้านเราก็มีตัวกฎหมายที่ว่าด้วยผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้วนะ ทั้ง ม.96 และ ม.97 ใน พรบ.สิ่งแวดล้อม ปัญหาของเราไม่ใช่ว่าเราต้องมีกฎหมายตัวไหนเพิ่ม แต่กฎหมายที่เรามีอยู่ รัฐใช้มันอย่างไรและเข้มงวดขนาดไหน กับเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมา”

กฎหมายที่อาจารย์กล่าวมา คือมาตรา 96 และ มาตรา 97 ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2535

มาตรา 96 เป็นบทสันนิษฐานเบื้องต้น ว่าผู้ครอบครองแหล่งมลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นการนำหลักความรับผิดโดยเคร่งครัด มาปรับใช้ในคดีสิ่งแวดล้อม และมาตรา 97 คือข้อบัญญัติถึงความรับผิดของผู้ทำให้ทรัพยากรของรัฐหรือเป็นสาธารณะสมบัติเสียหาย ว่าต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าของธรรมชาติที่ถูกทำลายไป

“คือภาครัฐเรามีการหละหลวมในจุดนี้ ตั้งแต่การยื่นแบบประเมิน EIA ภาคเอกชนเขาพูดอะไรมาเราเชื่อไปหมด กลับกันถ้ามันซ่อมบำรุงดีแล้วจริง มันจะเสียหายได้ยังไง มันก็เลยมาตอบคำถามที่ว่า กฎหมายของผู้สร้างมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบ หรือตัว PRTR เอง เราสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้วด้วยสิ่งที่เรามีอยู่ แต่คำถามคือ เราได้ใช้มันบ้างหรือเปล่า”

ยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม

การครบรอบ 9 ปีและการเริ่มนับหนึ่งใหม่เกิดขึ้นพร้อมกัน จากงานเสวนาน้ำมันรั่วระยอง 9 ปี การเยียวยายังไม่แล้วเสร็จ ความยุติธรรมที่พวกเขาพึงจะได้รับ และการผลักดันที่ผ่านมาในพื้นที่ระยองจนถึงปัจจุบัน มีความคืบหน้าอย่างไร

“เหมือนเราไม่ได้รับความยุติธรรม และเขาเลือกปฎิบัติ เราเป็นแม่ค้าหาบเร่ที่หาดแม่รำพึง เราก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ อย่างนามสกุลใหญ่โตเขาก็รีบจ่าย อย่างแม่ค้าจากที่อื่นเขาก็ไม่สนใจ เขามีรายชื่อเราในระบบการเยียวยา แต่เราก็ไม่ได้” เสียงจากแม่ค้าหาบเร่คนหนึ่งในงานเสวนา ถึงการเยียวยาที่ยังไม่ได้รับ

หลังเหตุการณ์ผ่านมาร่วม 7 เดือนแล้ว การเจรจาไม่มีความคืบหน้า บริษัทฯ มีการถ่วงเวลาออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งล่าสุดแจ้งมาว่า จะไม่มีการเจรจาแล้ว จะทำหนังสือถึงผู้ได้รับผลกระทบให้ยอมรับเงื่อนไขของทางบริษัทฯ หากใครไม่พอใจก็ให้ไปฟ้องร้องเอา 

ซึ่งทางผู้ประกอบการฯ เห็นว่าบริษัทฯ ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หลอกลวงกลุ่มผู้ประกอบการฯ มาตลอด ทั้งที่มีการพูดคุยก่อนหน้าแล้วว่าจะมีการเจรจากันเกิดขึ้นในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และในเดือน ส.ค.นี้จะมีการดำเนินการเจรจาเยียวยาได้ แต่ผลสรุปบริษัทฯ ล้มการเจรจา

“ถึงอย่างนั้น เสาที่ 1 ที่ต้องลงมาจัดการดูแลให้เรา คือหน่วยงานภาครัฐ คนกลุ่มนี้เขาต้องเป็นผู้จัดการ แต่เขากลับให้ผู้ที่ทำผิดละเมิด เป็นคนกำหนดเอง” บรรเจิด ล้วงพ้น รองนายกสมาคมประมงพื้นบ้านท้องถิ่นระยอง กล่าว

บรรเจิด เสนอความคิดเห็นที่ว่า นอกเหนือจากการให้หน่วยงานเอกชนที่สร้างมลพิษเป็นผู้เยียวยาแล้ว สิ่งที่พี่น้องชาวระยอง จะต้องพึงจับตามองไม่ต่างกัน คือหน่วยงานภาครัฐ ต้องเป็นผู้เข้ามาจัดการและใช้กฎหมายเหล่านี้ ในการสร้างความยุติธรรมให้เกิดกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

“ที่ผ่านมาเขาก็ทำกับเราแบบนั้น คนนี้ได้ คนนี้ไม่ได้ สร้างความแตกแยกมาจนถึงปัจจุบัน และสิ่งที่เขาไม่ควรทำ คือภาครัฐไปสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ทำผิด ให้เขามาจำกัดเราว่าคนนี้มีสิทธิ์ คนนี้ไม่มีสิทธิ์ ทั้ง ๆ ที่เราเป็นผู้ได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งนั้น”

ส่วนหนึ่งจากวงเสวนาของพี่น้องชาวระยอง ชี้ชัดให้เห็นว่า นี่เป็นอีกครั้งที่ประชาชนสูญเสียความมั่นใจต่อภาครัฐและกระบวนการยุติธรรม ที่พวกเขาพึงจะได้รับ ใจความสำคัญในการเสวนาครั้งนี้ จึงว่าด้วยการเยียวยาที่พวกเขาได้รับกับการเยียวยาที่พวกเขาพึงจะได้ รวมถึงการยื่นมือมาของภาครัฐ ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขามองประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในทิศทางไหน 

แล้วการเยียวยาแบบไหน ที่ประชาชนพึงจะได้รับจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการรั่วไหลของสารเคมีในอุตสาหกรรมเหล่านี้

ราคาความเจ็บปวดของธรรมชาติและผู้คน

อาจารย์ให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วในปี 2556 มีการชดเชยให้ผู้ที่เข้าระบบการเยียวยา 30,000-50,000 บาท ซึ่งจำนวนดังกล่าวไม่ได้เพียงพอต่อความสูญเสียของพี่น้องชาวระยอง นั่นทำให้เกิดการฟ้องร้องกันต่อและทำให้บริษัทต้องจ่ายค่าเสียหายต่อชาวประมงรายละ 150,000 บาท และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ 120,000 บาท แต่ใชัเวลาถึง 6-7 ปี

การฟ้องร้องในครั้งนั้นยังส่งผลในอีก 9 ปีถัดมา ชาวบ้านหลายส่วนไม่อยากที่จะต้องเสียเวลาและอาจไม่ได้รับการเยียวยาจากการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม นั่นทำให้ชาวบ้านหลายส่วนเลิกล้มในการที่จะเรียกร้องค่าเสียหายที่แท้จริงและก้มหน้ารับการเยียวยาที่ได้มา

เหตุการณ์น้ำมันรั่วจากโรงกลั่นน้ำมัน SPRC มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดจำนวน14,310 ราย ซึ่งในครั้งแรกทางเอกชนได้เรียกชาวบ้านเข้าไปเจรจาและตัดสินใจจ่ายรายละ 40,000 บาท แต่ชาวบ้านเรียกร้องให้จ่าย 30,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี ท้ายที่สุด SPRC ตัดสินใจจ่าย 45,000 บาท ถึงแม้ทางบริษัทจะจ่ายไปแล้ว แต่นั่นยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวบ้านหลายส่วนออกมาเรียกร้องจนถึงปัจจุบัน

“พูดให้เข้าใจง่ายมากขึ้นอีก มาตรา 96 คือการจ่ายให้กลุ่มชาวประมงและแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบ ส่วนมาตรา 97 คือการที่ผู้ปล่อยมลพิษ ต้องเยียวยาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น 2 มาตรานี้คุณต้องจ่ายหมด”

อาจารย์สนธิ ได้ระบุไว้ว่าเมื่อเกิดเหตุเหล่านี้ บริษัทเอกชนพึงจะต้องจ่ายค่าอะไรและให้กับใครบ้าง

1.ชดเชยรายได้ของประชาชน นั่นหมายถึงประชาชนทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ชาวประมง การท่องเที่ยว หรือแม่ค้าหาบเร่

2.ค่าสำรวจความเสียหายสิ่งแวดล้อม จะต้องมีการสำรวจเพื่อประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะคำนวณถึงค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟู

3.ค่าฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติเหล่านี้ ผู้ปล่อยมลพิษจะโดยตั้งใจหรือประมาท จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ตั้งแต่น้ำทะเล ปะการัง ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และรวมถึงเมื่อน้ำมันได้สร้างผลกระทบขึ้นมาบนชายหาดหรือบนบก

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ยังคงเน้นย้ำว่า ภาครัฐคือส่วนที่ต้องเข้าไปจัดการ ในการสร้างมาตรการที่ชัดเจนเมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวบ้านต้องไปสู้กันถึงที่สุด

“กฎหมายเราก็มีอยู่แล้ว เราสามารถใช้ได้ รวมถึงการขอใบอนุญาต คุณตรวจสอบได้อยู่แล้ว ถ้าให้เสริมภาครัฐควรออกมาตรการมาชัดเจน เมื่อน้ำมันรั่วไหลเท่านี้ ควรเยียวยาอย่างไร แบบไหน เท่าไหร่ ให้ชัดเจนไปเลย”

“ที่อยากเสนอเพิ่มเติม คือให้หาคนกลางมาจัดการตั้งแต่การทำแบบประเมินในรอบนั้น ๆ หรือการตรวจเช็คสภาพการซ่อมบำรุง ทุกวันนี้ภาครัฐเองก็ไม่กล้ายุ่งกับเอกชน หาคนกลางที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย นั่นจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางจริง ๆ คือเราต้องตรวจสอบแต่แรกเลยว่าได้มาตรฐานหรือไม่”

นอกจากนี้อาจารย์ยังคงเสนอให้ภาคีน้ำมันร่วมมือในการจัดตั้งกองทุนน้ำมัน เพื่อรับมือกับเหตุการณ์รั่วไหล และเยียวยาทั้งสิ่งแวดล้อม ผู้คน ให้รวดเร็วและเป็นธรรมที่สุด การจัดการปัญหาตรงนี้ ควรเป็นการร่วมมือกันและสร้างกฎระหว่างบริษัทเกี่ยวกับน้ำมันในการเยียวยา

สถานการณ์ที่ชาวระยองต้องพบเจอ รวมไปถึงประชาชนอีกหลายภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ ยังคงมีปรากฎให้เราเห็นอยู่เรื่อย ๆ และไม่มีท่าทีว่าทางออกของเรื่องนี้จะจบลงเมื่อไร

ภาครัฐ จึงเป็นหน่วยงานที่ต้องยื่นมือเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ทั้งในแง่ของกฎหมาย มาตรการ รวมถึงการมอบความยุติธรรมให้กับประชาชน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่สร้างผลกระทบในชั่วอายุคนเดียว แต่อาจจะมากถึง 2-3 ชั่วอายุคน หากธรรมชาติเหล่านี้ ไม่สามารถเป็นแหล่งทำมาหากินของผู้คนในพื้นที่ได้

“ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่ของนายทุนคนเดียว แต่เป็นของนายทุนหลาย ๆ คน” ประโยคดังกล่าวถึงจะเจ็บปวดเพียงใด แต่เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ คือประโยคนี้มีส่วนจริงไม่มากก็น้อย

อย่าให้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งที่ทะเลสีคราม หาดทรายขาว และอากาศดี ๆ เราทุกคนต่างมีสิทธิ์เข้าถึงมัน ไม่ว่าเราจะเป็น 1% ของประเทศนี้ หรือจะเป็นที่เหลืออีก 99% ก็ตาม

รับชมงานเสวนาย้อนหลัง 9 ปี น้ำมันรั่วระยองยังไม่แล้วเสร็จ

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันรั่วระยอง

เศรษฐศาสตร์น้ำมันรั่วระยอง มองไม่เห็นหรือ(รัฐ)ไม่อยากมอง

เหตุน้ำมันรั่วระยอง โศกนาฏกรรมตอนอวสานของประมงเรือเล็ก ถูก(ทิ้ง)ให้ต่อสู้โดยลำพัง