ระหว่างบทสนทนากับ คำ นายนวล ก่อนจะว่าด้วยเรื่องบทบาทในการแสดงเดี่ยวของเธอในเรื่อง “เพียงเบิ่น” ละครที่พูดเรื่อง Gender และความไม่เท่าเทียมในมิติอื่น ๆ ที่เธอร่วมงานกับกลุ่มละครมะขามป้อม เราคุยกันเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ที่อพยพลี้ภัยจากความรุนแรงของสงครามที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารระลอกแล้วระลอกเล่า
แม้ว่าปัจจุบันหมู่บ้านของเธอซึ่งเป็นชุมชนชาวดาราอั้งที่บ้านปางแดงนอก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จะไม่ได้อยู่ใกล้กับชายแดนบริเวณที่เกิดเหตุ แต่คำสะเทือนใจกับความรุนแรงนั้นเหมือนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะหญิงวัยกลางคนชาวดาราอั้งผู้นี้มีประสบการณ์หนีตายมาจากบ้านเกิดเช่นเดียวกัน
“เรามองไม่เห็นเลยว่ามันจะดีขึ้น ยิ่งจะโหดร้ายกว่าเดิม บางครอบครัวเหลือแต่พ่อแม่ ลูกหลานหนีไปหมดแล้ว เขาบอกว่าทหารจะจับพ่อแม่มาทำร้าย ยิ่งปัจจุบันยิ่งง่ายขึ้นเพราะมีโทรศัพท์ เขาจะทำให้พ่อแม่ทุกข์ทรมานให้ลูกได้ยิน เพื่อให้กลับมา มันเหมือนเป็นกฎอัยการศึก ไม่มีกฎหมายที่จะคุ้มครองคนในหมู่บ้าน เพราะเขาอยากยึดครองแผ่นดิน ทหารมันมีหลายกลุ่ม คนในหมู่บ้านเล็ก ๆ ยิ่งอันตรายมาก ยิ่งเป็นผู้หญิงยิ่งอันตราย”
เพียงเบิ่น: มีปีกแต่บินไม่ได้ เป็นคนแต่ไม่เคยถูกมองเห็น
ราวกับว่าเหตุการณ์ที่ถูกทำให้ไร้รัฐจนต้องอพยพเข้ามาในเขตไทย ในปี 2565 ซ้อนทับกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับคำและพี่น้องร่วมชนเผ่าเมื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมา ในการแสดงชุด “เพียงเบิ่น” คำได้ถ่ายทอดสถานการณ์ความลำบากในช่วงเวลานั้นออกมาอย่างชัดเจน
แนวคิดของเพียงเบิ่นเกิดจากเรื่องเล่าที่เป็นตำนานของชาวดาราอั้งชื่อ “นางดอยเงิน” เรื่องราวความรักต่างชนชั้นระหว่างนางปักษาครึ่งคนครึ่งนกและเจ้าชาย การพรากจากและหวนคืน เรื่องรักพล็อตเก่า ๆ ที่มีกันทุกชาติพันธุ์ แต่เมื่อถูกนำมาสวมทับกับประวัติศาสตร์ของดาราอั้งที่หนีตายมาจากสงครามในพม่า และต้องมาถูกจับกุมโดยไม่เป็นธรรมในฝั่งไทย “เพียงเบิ่น” ที่มีความหมายว่า “ปีกบิน” จึงซ่อนสัญญะของความรุนแรงที่กดทับลงไปหลายชั้น
เพียงเบิ่นถูกเล่าผ่านช่วงชีวิตของคำตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงที่ระหกระเหินหนีสงครามจากประเทศพม่า จนเติบโตผ่านวัยสาวสู่วัยกลางคนที่ยังคงไร้สถานะในประเทศไทย คำสวมชุดผ้าทอของชาวดาราอั้งที่ทออย่างงดงาม เธอร้องเพลงและพูดด้วยภาษาดาราอั้งในบางช่วง สวมบทบาทของชีวิตตัวเองทาบทับไปกับโศกนาฎกรรมของนางดอยเงิน
คำทำการแสดงและประคองเส้นเรื่องไว้ตั้งแต่ต้นจนจบในฐานะ Solo Performance แต่ตัวละครที่มองไม่เห็นจำนวนมากกลับโลดแล่นอยู่บนเวทีกับเธอ ทหารถืออาวุธที่ไล่ล่าเอาชีวิต เจ้าหน้าที่รัฐไทยที่เข้าจับกุมด้วยข้อหาบุกรุกป่าสงวน พัศดีที่ยืนคุมอยู่นอกกรงขัง หรือแม้แต่โครงสร้างแบบปิตาธิปไตยที่ครอบคลุมมวลอำนาจทั้งหมด และทำหน้าที่กุมบังเหียนชะตากรรมของผู้หญิง
“เหมือนกับว่าเพียงเบิ่นเป็นแค่เรื่องคนลี้ภัยมาอยู่ต่างแดน แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากชีวิตของพี่คำมีความซับซ้อนมาก โดยเฉพาะประเด็นความเป็นผู้หญิงของเขา ซึ่งสร้างความท้าทายในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้หญิงที่ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองซึ่งลำบากมาก แล้วยิ่งเป็นผู้หญิงที่ต้องหนีไฟสงครามมา ระหว่างการเดินทางในป่า ความเป็นผู้หญิงทำให้มีความเสี่ยงทุกวินาที ทั้งจากคนใกล้ตัวและจากคนไม่รู้จักในสงคราม ซึ่งมันไม่ใช่แค่ความลำบากทางกายที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะต้องแบกรับ แต่มันเป็นเรื่องของมายาคติที่ปิตาธิปไตยไม่ให้พื้นที่กับผู้หญิงในการเข้ามาแก้ไขปัญหาในความขัดแย้งเหล่านั้นได้เลย”
ธนุพล ยินดี หัวหน้าฝ่ายละครแห่งกลุ่มละครมะขามป้อม ขยายประเด็นของเพียงเบิ่นในมุมของความไม่เท่าเทียมและพื้นที่ทางความคิดที่ถูกจำกัดของผู้หญิงชาติพันธุ์ ในฐานะผู้ปฏิบัติการทางการละครโดยใช้กิจกรรมนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม
ธนุพลอธิบายว่าเพียงเบิ่นพูดถึงประเด็นเรื่องเพศ(Gender) ในมุมมองที่กว้างขึ้น เพื่อให้เห็นว่าเรื่องเจนเดอร์สามารถเชื่อมโยงให้เห็นปัญหาความไม่เท่าเทียมในมิติอื่น ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะปัญหาที่กดทับผู้คนกลุ่มเปราะบาง
“เราพยายามสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ ผ่านหญิงชาติพันธุ์อย่างพี่คำ ฝ่ายการแสดงของกลุ่มละครมะขามป้อมพยายามผลักดันในเรื่องของความเท่าเทียมในทุกมิติที่ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่เป็นเรื่องพื้นที่ของอัตลักษณ์ ตัวตน การเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือการเรียกร้องสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน อย่างประเด็นความเป็นเพศหญิงในเพียงเบิ่น การลี้ภัยมาอยู่ในประเทศอื่นแล้วถูกปฏิบัติเป็นชนชั้นล่างสุดของสังคม
ทำให้เห็นความกดทับในหลายมิติซ้อนไปอีกจากประเด็นเรื่องเพศ มีประเด็นการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมด้วย ดังนั้นเราจะเห็นว่าประเด็นเรื่องเพศในความเป็นผู้หญิง มันเปิดประตูไปสู่ความไม่เท่าเทียมอีกเยอะมาก แม้กระทั่งทุกวันนี้ต่อให้พี่คำมีที่อยู่ที่ยืน ได้ทำมาหากิน แต่ไม่ได้หมายความว่าความเหลื่อมล้ำจะหายไป ในทางตรงข้ามประเด็นเหล่านี้ถ้าไม่มีการทำความเข้าใจร่วมกัน จะนำไปสู่ปัญหามุมใหม่ พื้นที่ใหม่ และอาจจะขยายความรุนแรงได้มากขึ้น”
เพียงเบิ่น ทำการแสดงครั้งแรกใน พ.ศ.2562 ที่ชุมชนศิลปะมะขามป้อม (Makhampom Art Space) ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาทางมะขามป้อมมีแผนจะจัดแสดงเพียงเบิ่นในกรุงเทพ แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จึงปรับให้เป็นคลิปวิดีโอเพื่อนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในเทศกาลศิลปะการแสดงร่วมสมัยนานาชาติ Bipam 2021 ทำให้ละครเผยแพร่ออกไปสู่วงกว้างมากขึ้น
เมื่อถามความรู้สึกของคำต่อเสียงสะท้อนต่าง ๆหลังจากเพียงเบิ่นถูกนำเสนอออกไปในหลายช่องทาง คำตอบด้วยท่าทีเจียมเนื้อเจียมตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ การ “มีอยู่” ของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกกดข่มมายาวนาน จนพวกเขาเรียนรู้มาตลอดว่าต้องก้มหน้าเข้าไว้จึงจะปลอดภัย
“ตอนนี้เราสังเกตว่าคนจะไม่ค่อยเรียกเราว่าปะหล่อง ซึ่งเป็นคำที่คนพม่าใช้เรียกเรา หมายถึงไม่มีที่มาที่ไป ล่องลอยไปเรื่อย ๆ แต่เราเรียกตัวเองว่าดาราอั้ง คำภูมิใจที่ได้แสดงละคร คือคนเราไม่มีใครอยู่ค้ำดินค้ำฟ้า แต่ละครที่เราเล่นมันจะอยู่ตลอดไป
อย่างน้อยเด็ก ๆ ก็จะได้กลับมาเรียนรู้ต่อ ละครเรื่องหนึ่งจะได้ไปเยียวยาจิตใจคนให้เขาเปลี่ยนคำร้ายให้มาเป็นคำดี บางคนอยากทำ แต่เขาไม่มีโอกาสทำ เราเป็นแค่ชนเผ่าแต่มีโอกาสได้เล่นละคร มีโอกาสได้เผยแพร่วัฒนธรรมของเรา เขาก็เห็นคุณค่าเรามากขึ้น”
Metamorphosis: The story of Trans อย่าขอโทษใคร ในการ “มีอยู่” ของเธอ
ธนุพลพูดถึงอีกหนึ่งผลงานของมะขามป้อม ที่ตั้งใจสะท้อนมุมมองเรื่องเจนเดอร์ในมิติที่กว้างขึ้น นั่นคือการแสดงเดี่ยวของเขาในเรื่อง Metamorphosis: The story of Trans งานนี้เป็นการแสดงแนวบุโต(Butoh) ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงของญี่ปุ่น
เดิมทีเรียกการแสดงแนวนี้ว่า Ankoku Butoh ที่แปลว่านาฎยกรรมแห่งความมืด (Dance of Darkness) เกิดขึ้นในญี่ปุ่นราวปลายยุค 50’s ถึงต้นยุค 60’s เสน่ห์ของศิลปะการแสดงแนวบุโตไม่ได้มีเพียงความแปลกตาของนักแสดงที่ทาหน้าตาเนื้อตัวด้วยสีขาว แต่ยังเป็นความหมายของสุข เศร้า และสภาวะการเปลี่ยนผ่านที่สะท้อนผ่านร่างกายและจิตใจของมนุษย์ (อ้างอิง : ButohOUT! 2022 , butohout.com)
“ประเด็นเรื่องเพศ เป็นประเด็นที่เรามี passion ส่วนตัว อยากขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นพิเศษ ทั้งจากแบ็คกราวด์ของชีวิต และแรงขับในปัจจุบัน ที่ใฝ่ฝันอยากเห็นความหวังความฝันในอนาคต ไม่อยากให้เรื่อง Gender เป็นเรื่องที่ถูกมองในมิติแคบ แต่สามารถสะท้อนไปสู่เรื่องอื่น ๆ ได้
Metamorphosis: The story of Trans เป็นเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องของคุณพอลลีน งามพริ้ง ที่เคยเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้งช่วงปี 2562 เป็นแคนดิเดตคนแรกที่เป็นทรานส์เจนเดอร์ แต่ความน่าสนใจของเค้าไม่ได้อยู่ที่การเป็นผู้สมัครทางการเมือง หรือการขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย แต่เป็นเรื่องที่เราอยากปรับมุมมองของทรานส์เจนเดอร์ที่สังคมเข้าใจ ให้เห็นความลื่นไหลมากขึ้นของประเด็นนี้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเพศที่ต้องช่วงชิงและต่อรองกับสังคมอย่างไร”
อาจพูดให้ชัดขึ้นไปอีกว่า ละครที่นำเสนอเรื่องเจนเดอร์เป็นเรื่องของการต่อรองช่วงชิงกับโครงสร้างอำนาจโดยตรง ยังไม่นับว่าในชีวิตจริงของพอลลีน งามพริ้ง ที่เธอเคยลงสนามการเมืองเพื่อสมัครเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งเป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ที่ชัดเจนมาก
การต่อรองช่วงชิงยังซับซ้อนอีกหลายชั้นในระดับปัจเจก เพราะตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา ก่อนที่พอลลีนจะ Come out เพื่อเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง เธอสวมบทบาทความเป็นชายมาโดยตลอด และทำได้ดีตาม Stereotypes ของสังคม
“ในช่วงชีวิตก่อนที่จะเป็นคุณพอลลีนในวัย 40 กว่าปี จนถึงขั้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นทรานส์เจนเดอร์ เขาชื่อพินิจ งามพริ้ง ซึ่งเป็นประธานเชียร์ไทย ชมรมฟุตบอลของประเทศไทย เป็นสุภาพบุรุษที่ทำกิจกรรมเรื่องการกีฬา การท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่พื้นที่ซึ่งคุณพินิจแบ่งให้ผู้หญิงที่ชื่อพอลลีน เป็นพื้นที่เล็ก ๆ อยู่ในห้องนอนของเค้า ไม่กี่นาทีต่อวัน ทำอย่างนี้มาเป็นสิบปี แล้วเวลาเหล่านั้นก็เริ่มขยับมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีพื้นที่ของการต่อรองกัน ระหว่างคุณพินิจกับคุณพอลลีน สุดท้ายแล้วคุณพอลลีนจึงเริ่มที่จะมีตัวตน”
พอลลีนค่อย ๆ ฟักตัวอยู่ในเงาของพินิจมาหลายสิบปี ช่วงชิงต่อรองอัตลักษณ์ระหว่างชายกับหญิง จนถึงวันที่เธอตัดสินใจที่จะกลายเป็นโฮสท์เพียงหนึ่งเดียวของร่างกาย ตัดสินใจเทคฮอร์โมนและทำหน้าอกเพื่อคืนสู่ความเป็นหญิงโดยสมบูรณ์ ระหว่างกระบวนการ Metamorphosis หรือในทางชีววิทยาหมายถึงกระบวนการเติบโตและเปลี่ยนรูปทีละขั้นทีละตอน จากตัวอ่อนไปจนโตเต็มวัย ขั้นตอนเหล่านั้นย่อมมีเดิมพันที่เจ็บปวด
แบบแผนความเป็นชายที่เธอสวมบทบาทมาชั่วชีวิต ย่อมสร้างภาพจำและสร้างคำถามจากผู้คนเมื่อเธอกลายเป็นพอลลีน โดยเฉพาะคนวงในใกล้ชิดที่สุดอย่างครอบครัว ความเป็นสามี ความเป็นพ่อ และแม้แต่ความเป็นลูกชาย การคลี่คลายปมเหล่านี้อาจต้องใช้ความกล้าหาญเสียยิ่งกว่าที่พินิจเคยใช้มาชั่วชีวิต ดังนั้นการกลายมาเป็นพอลลีนในวันนี้ จึงเป็นเรื่องของการช่วงชิงพื้นที่และความหมายในทุกระดับ เจ็บปวดแต่งดงาม ราวกับผีเสื้อที่สั่นเทาอยู่บนเปลือกของดักแด้ ก่อนจะสยายปีกบิน
เช่นเดียวกับนัยสำคัญที่ซ่อนอยู่ใน “เพียงเบิ่น” การแสดงทั้งสองเรื่องไม่ได้ต้องการสะท้อนแค่เพียงเรื่องราวเกี่ยวกับเจนเดอร์ที่ปรากฎบนเวที คำ นายนวล ถ่ายทอดชีวิตที่กระเสือกกระสนหนีสงครามมาจากต่างแดน แต่สิ่งที่เธอต้องต่อรองและช่วงชิงอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งบัดนี้ คือการ “มีอยู่” ของหญิงชาติพันธุ์ที่แอบอิงอยู่ในเงาของสังคมปิตาธิปไตย เช่นเดียวกับการเปลี่ยนผ่านมาสู่ความเป็น พอลลีน งามพริ้ง ที่เป็นมากกว่าความลื่นไหลทางเพศ
ธนุพลตีความเรื่องนี้ให้เห็นถึงมายาคติเกี่ยวกับความเป็นชาย โดยอธิบายว่าการที่พอลลีนซ่อนตัวเงียบงันอยู่เป็นสิบ ๆ ปี เพราะเธอเอง “หลงรัก” บทบาทของความเป็นชายที่อีกร่างหนึ่งของเธอกำลังทำหน้าที่อยู่ เธอจึงปกป้องตัวตนนั้นมาได้อย่างยาวนาน และยอมจำนนที่จะไม่เผยนามอันแท้จริงของตัวเองออกมา
“ดังนั้นความลื่นไหลนี้ จึงไม่ใช่แค่จากเพศหนึ่งไปเพศหนึ่ง แต่ความลื่นไหลนั้นอยู่ในพื้นที่อิสระทางความคิดของเรา ว่าเราจะจัดสรรพื้นที่ตรงนี้ยังไง จุดนี้เองที่ทำให้เห็นว่าขนาดพื้นที่ในระดับปัจเจกยังต่อรองกันขนาดนี้ แล้วในพื้นที่สังคมจริง ๆ จะต้องคุยและสร้างความเข้าใจกันขนาดไหน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราหยิบยกขึ้นมาทำการแสดง”
ถึงที่สุดแล้ว ละครทั้งสองเรื่องของกลุ่มละครมะขามป้อมมีเป้าหมายที่ไกลกว่าเรื่องเจนเดอร์ ในฐานะนักการละครและคนทำกิจกรรมเพื่อสังคม เป้าหมายของกลุ่มมะขามป้อมต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ขยายวงกว้างยิ่งขึ้นไปอีก
นั่นคือปลุกความตื่นรู้ของผู้คนให้ตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง โอบรับตัวตนและอัตลักษณ์ของตัวเองได้อย่างภาคภูมิ และตั้งคำถามไปยังปัญหาความไม่เท่าเทียมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่เกิดกับคนในกลุ่มเปราะบาง หรือขยายไปสู่คนชั้นกลางในเมือง ช่วยให้เกิดการปลดล็อคความคิดผ่านกระบวนการศิลปะ เพื่อดึง Calling หรือจิตวิญญาณภายในออกมา ลุกขึ้นมาประกาศนามของตน โดยไม่ต้องอยู่กันอย่างหงอ ๆ สั่นกลัวในประเทศของตัวเอง
ขอบคุณ ภาพประกอบจาก ชุมชนศิลปะมะขามป้อม (Makhampom Art Space)