สีผม สงครามและคำสาป ใน Howl’s Moving Castle - Decode
Reading Time: 3 minutes

ยังดูการ์ตูนอยู่อีกเหรอ

“อ้วนขึ้นนะ” “ผอมไปหรือเปล่า” “ตีนกาขึ้นเต็มหน้าหมดแล้ว” “ไม่เห็นสวย/หล่อ เลย”

เชื่อว่าคำพูดเหล่านี้ คือคำที่แทงใจดำหลายต่อหลายคน ยิ่งไปกว่านั้น คำพูดไม่กี่วินาทีนี้ กลับทำให้ใครบางคนจดจำ และทำลายความมั่นใจในตัวเองไปอีกแสนนาน และยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีกเมื่อคำพูดเหล่านี้ กลับกลายเป็นตัวเรา ที่พูดใส่ตัวเอง

ไม่ต่างจาก โซฟี สาวแรกรุ่น ผู้ซึ่งไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองใน แอนิเมชั่นชื่อดังจากสตูดิโอจิบลิอย่าง Howl’s Moving Castle คำสาปของแม่มดแห่งทุ่งร้าง ทำให้ส่วนลึกในจิตใจของเธอ ปรากฎชัดให้เห็นด้วยกายภาพที่เปลี่ยนไป

ในช่วงเดือนแห่ง Pride Month De/code ชวนดูการ์ตูนไร้กาลเวลาเรื่องนี้ ที่ว่าด้วยการยอมรับตัวตน ในโลกที่มีพ่อมดและแม่มด ปราสาทเคลื่อนที่หรือเปลวไฟที่พูดได้ ทว่า คำสาปที่ทรงอาณุภาพและร้ายแรงที่สุด ยังไม่พ้นพลังของจิตใจมนุษย์ ที่สามารถสรรสร้างสิ่งดี ๆ ในขณะเดียวกันก็สามารถทำลายโลกได้เช่นกัน

โดยเฉพาะแง่มุมในจิตใจของตัวเอง ผ่านรายละเอียดหลายส่วนที่ปรากฎในเรื่อง ในวันที่โลกเรียกร้องการยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย ทั้งภายนอกและภายใน ปราสาทเวทย์มนต์ของฮาวล์ ต้องการจะบอกเราว่า “อย่ารอให้ใครสักคนต้องมาชี้วัดคุณค่าของเธอ ทุกคนมีความสวยงามในแบบของตัวเองเสมอ”

สีผม: สั่นคลอนและส่งผล

เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เป็นแฟนคลับของสตูดิโอที่มีโลโก้เป็นเจ้าตัวโตสีเทาที่มีชื่อว่า โทโทโร่ อย่างสตูดิโอจิบลิแล้วละก็ คงคาดเดาได้ไม่ยาก ว่าสตูดิโอนี้ ขึ้นชื่อในเรื่องของการแฝงสัญญะต่าง ๆ มาใส่เป็นรายละเอียดเพื่อสร้างความรู้สึกร่วมและให้เหล่าผู้ชม ได้ตีความกันต่อ

เช่นเดียวกัน ในเรื่อง Howl’s Moving Castle แอนิเมชั่นชื่อดังของสตูดิโอจิบลิ กำกับโดย ฮายาโอะ มิยาซากิ ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชน เขียนโดยชาวอังกฤษชื่อ ไดอาน่า วินน์ โจนส์ 

ข้อสังเกตหลักที่เราพบเห็นได้ในเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้น สีของผมโซฟี หญิงสาว Introvert ผู้เก็บตัวอยู่หลังร้านทำหมวกของแม่เลี้ยง หลังจากที่ได้พบกับพ่อมดหนุ่ม ฮาวล์ โดย(ไม่)บังเอิญ จนแม่มดแห่งทุ่งร้าง พบเห็นเข้า ด้วยความอิจฉา เธอจึงถูกสาปและระหกระเหินไปหาฮาว์ลที่ดินแดน Unknown หวังให้พ่อมดหนุ่มคนนี้ ช่วยแก้ไขคำสาปให้

ตลอดระยะเวลาทั้งเรื่อง เราจะพบเห็นโซฟี กลายร่างเป็นหญิงชราและกลับร่างเดิม ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยน คือสีผมของเธอ ก่อนที่เธอโดนสาปสีผมของเธอเป็นสีน้ำตาล แต่หลังจากนั้นไม่ว่าเธอจะกลายเป็นหญิงชราหรือสาวแรกรุ่น สีผมของเธอกลับกลายเป็นสีดอกเลาอยู่ตลอด

สาเหตุนั้นเป็นเพราะว่า คำสาปที่เธอโดนแม่มดแห่งทุ่งร้างสาปไว้ คือทุกครั้งที่เธอไม่มั่นใจในตัวเอง ร่างกายของเธอจะกลายเป็นหญิงชรา และหากเธอภูมิใจหรือมั่นใจในตัวเองเมื่อไหร่ ร่างกายนั้นจะกลับมาเป็นหญิงสาวดังเดิม

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของโซฟี ไม่ได้บอกไว้ชัดเจนเหมือนการ์ตูนเรื่องอื่น ๆ หากแต่เงื่อนไขแต่ละครั้งนั้น แสดงออกผ่านการกระทำ สีหน้า หรือบางครั้งก็ไม่ได้บอกเราเลย คล้ายกับว่า ลักษณะนิสัยโดยแท้จริงของโซฟีนั้น เป็นคนที่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองอยู่เสมอ ในบางครั้งที่เธอกลับมาเป็นหญิงสาวได้ คือตอนที่เธอต้องเผชิญอุปสรรคบางอย่างและเธอใช้ความกล้าในการก้าวผ่านไป

เช่นเดียวกันกับฮาวล์ พ่อมดหนุ่มพราวเสน่ห์ กิตติศัพท์ความหล่อเหลาของฮาวล์นั้น ถึงกับมีคำบอกเล่าต่อกันในเมืองว่า “ระวังฮาวล์จะมากินหัวใจ” ซึ่งความหมายที่แท้จริงแล้ว คือการที่ฮาวล์หล่อและใช้เวทย์มนต์ให้คนหลงใหล คล้ายกับว่าโดนขโมยหัวใจเอาไปกินนั่นเอง

ถึงแม้ว่าฮาวล์จะหล่อเพียงใด หรือมีความสามารถทางด้านเวทย์มนต์ขนาดไหน ทว่า ฮาวล์ก็ไม่ใช่คนที่มั่นใจในตัวเองขนาดนั้น สีผมที่แท้จริงของฮาวล์นั้นเป็นสีดำ ซึ่งในเรื่อง ฮาวล์นิยามสีผมของตัวเองว่าเป็นสีโคลน ซึ่งเป็นสีจากสิ่งที่ไม่สวยงาม ผมสีบลอนด์หรือสีทองที่ผู้คนพบเห็น คือการต้องย้อมผมอยู่บ่อยครั้ง

ถึงอย่างนั้น ทั้งฮาวล์และโซฟีเอง ที่เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ว่า ลักษณะทางกายภาพนอกของทั้งคู่ก็ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปเสียทั้งหมด คล้ายกับแสดงให้เราเห็นว่า ทั้งคู่ยังคงถูกคำสาป ซึ่งเกิดจากภายในจิตใจของตัวเองอยู่ดี

ที่สำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับโลกความเป็นจริง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในเรื่องนี้ได้ใส่อิทธิพลของ Eurocentrism หรือการตั้งค่านิยมตามแบบของโลกตะวันตก ราว ๆ สมัยยุคล่าอาณานิคมลงไปด้วย ตาสีฟ้า ผมบลอนด์/ทอง

ลักษณะเหล่านี้อาจจะไม่ได้สื่อถึงความสูงส่งกว่า กลับกันลักษณะที่ตัวเอกเป็นในเรื่อง ไม่ว่าจะทั้งโซฟีหรือฮาวล์เอง ต่างไม่ได้ชื่นชอบและยอมรับความเป็นตัวเองอย่าง ‘สีผม’ ดั้งเดิมของตน ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะของคนเอเชีย

ทั้งการที่โซฟีก็รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองจากการที่แม่เลี้ยง พี่สาว น้องสาว ต่างมีตาสีฟ้า/เทา ผมสีบลอนด์ ในขณะที่ตนเอง มีผมสีน้ำตาล แต่งตัวเรียบง่าย และฮาวล์เอง ก็ย้อมผมสีบลอนด์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดี ปิดทับผมสีดำของตนเช่นกัน

สัญญะที่สื่อถึงตัวตนในเรื่องนี้ จึงมักจะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ผู้ชมสังเกตเห็น รวมถึงเป็นสิ่งที่ทางสตูดิโอจิบลิต้องการจะสื่อเป็นอันดับแรก ๆ เช่นกัน

เรามักจะได้ยินนิยามที่ว่า ‘ความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ส่งผลถึงร่างกายเสมอ’ ใน Howl’s Moving Castle เช่นกัน ได้หยิบยกชุดความคิดนี้ มาแปรเปลี่ยนให้เข้าใจได้ง่ายและเห็นชัดมากขึ้น หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินเรื่องเล่าอย่าง ยาแก้ปวดที่เรากิน จริง ๆ แล้วเป็นเพียงแค่แป้งเท่านั้น สมองเราเชื่อไปเองจึงสั่งการและร่างกายก็เริ่มรักษาตัวเองจนหายดี หรือคนไข้ที่ป่วยหนักก็กลับมาพลิกฟื้นได้จากกำลังใจที่ดี

ไม่ว่าเรื่องนี้จะจริงหรือไม่ ในการ์ตูนเรื่องนี้ กำลังบอกเราอย่างชัดเจนว่า พลังจิตใจของมนุษย์นั้น กล้าแกร่งไม่แพ้เวทย์มนต์ใด ๆ เลย คำสาปในเรื่อง ถูกปูมาให้สามารถแก้ไขได้โดยตัวคนที่โดนคำสาปนั้น หรือก็คือ ไม่ได้มีการสร้างพลังงานด้านลบขึ้นมาใหม่ คำสาปในเรื่องคือสิ่งที่เป็นด้านลบในจิตใจมนุษย์ตั้งแต่แรกนั่นเอง

สงคราม: ปีศาจนกและเงามืดในใจ

ด้วยลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ จากผู้กำกับมือทองของสตูดิโอจิบลิ ฮายาโอะ มิยาซากิ เรื่องนี้จึงไม่พลาดที่จะใส่ความโหดร้ายของสงครามและเครื่องบิน ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ทั้งหลงใหลและเกลียดชังมันในเวลาเดียวกัน

สงครามและเครื่องบินในเรื่องนี้ ใส่ความแฟนตาซีผสมกับเนื้อเรื่องเดิม ซึ่งมาจากนิยายนั้น สงครามที่ว่าจึงเป็นสัญญะของการต่อสู้กับความชั่วร้ายในจิตใจฮาวล์ และเครื่องบิน มาในการแปลงร่างของฮาวล์ ที่กลายเป็นนกยักษ์ ที่เอาไว้ใช้ทั้งสอดแนมและโจมตีศัตรูเช่นกัน

ในเนื้อเรื่องหลัก มีการก่อสงครามกันแทบทุกเวลา บริเวณริมชายแดนของอาณาจักร เนื้อเรื่องปูให้อยู่ในช่วงยุคกลางผสมกับโลกของพ่อมดแม่มดนั้น ทำให้ดาบ โล่ เป็นอาวุธที่ไม่อาจสู้เวทย์มนตร์ของเหล่าพ่อมดแม่มดได้

ทว่า หลังกลับมาจากสงครามทีไร ฮาวล์ มักจะมาในสภาพที่ดูไม่จืดทุกที ประการที่หนึ่ง คือคู่ต่อสู้ที่เก่งขึ้นเรื่อย ๆ และสอง ในการแปลงร่างเป็นนกยักษ์ของฮาวล์นั้น ส่งผลให้เขา ต้องเสี่ยงที่จะเสียการควบคุมตัวตนของเขาไปเรื่อย ๆ และจะไม่สามารถคืนร่างเดิมได้ เช่นกัน

ฮาวล์ไม่ใช่ผู้ที่ปรารถนาจะทำสงคราม แต่ที่เขาเข้าร่วมสงครามก็เพื่อที่จะหยุดยั้ง โดยการใช้พลังของตัวเองในการทำให้ฝั่งตนชนะ ถึงอย่างนั้นความโหดร้ายของสงคราม ที่ อ. ฮายาโอะ ใส่เข้าไป คือท้ายที่สุด หากเรายืนหยัดที่จะทำสงคราม เช่นนั้น ก็ไม่มีวันที่เราจะหาสันติภาพเจอ ไม่ต่างจากการต่อสู้กับพลังงานด้านลบในจิตใจ หากเรานำเอาพลังงานด้านลบมาสู้ เราก็จะไม่พบกับพลังงานด้านบวกอยู่ดี

ความคมคายในการย่อยตรรกะความโหดร้ายของสงคราม และกลไกการทำงานของสมอง(จิตใจ) สิ่งที่การ์ตูนเรื่องนี้อยากบอกเรามากที่สุด คือการค้นพบความปรารถนาของตัวเองให้เจอ ภายใต้ความสับสนวุ่นวายที่เราเจอในทุก ๆ วัน

การยอมรับ: คำสาปและคำอวยพร

มีคำกล่าวที่ว่า ‘หากเรายังรักตัวเองไม่เป็น เราก็ไม่สามารถที่จะไปรักคนอื่นได้’ คำกล่าวนี้ก็ดูจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง เพราะการรักตัวเอง อาจจะเป็นการเรียนรู้ความรักได้ง่ายและใกล้ตัวมากที่สุด ในขณะเดียวกัน การรักตัวเองยังคงทำได้ยาก บางครั้งบางครา การมีใครสักคนให้รัก เป้าหมายนั้น อาจจะทำให้เรายอมกลับมารักตัวเองเสียบ้าง เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ทำตามเป้าหมายนั้นต่อไป

ตอนที่โซฟีโดนสาปโดยแม่มดแห่งทุ่งร้างตอนแรกนั้น ในเรื่องไม่ได้มีบอกไว้ชัดเจนมากนัก ว่าเธอโดนสาปอย่างไร รู้ตัวอีกที เธอก็กลายเป็นหญิงชราไปเสียแล้ว แต่เมื่อเนื้อเรื่องได้ดำเนินไปเรื่อย ๆ คำสาปที่ว่าของโซฟีนั้น คือการทำให้ความคิดด้านลบของเธอ กลายเป็นลักษณะทางกายภาพ อย่างที่เราเห็น

สิ่งหนึ่งที่โซฟีได้เรียนรู้จากคำสาปของตน ราวกับว่าเมื่อเธอได้อยู่ในร่างของหญิงชราวัย 60 ปี ประสบการณ์และความเข้าใจโลกของเธอก็เพิ่มขึ้น หลาย ๆ ครั้งที่เธอกล่าวถึงการยอมรับความเป็นไปในชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงการที่เธอยอมช่วยเหลือแม่มดแห่งทุ่งร้าง ที่กลายเป็นหญิงชราและไร้ซึ่งพลัง หลังจากที่โดน มาดามซัลลิมาน ที่ปรึกษาของราชาและอาจารย์ของฮาวล์ ดูดซับพลังด้วยเหตุผลว่า เธออาจจะเป็นภัยต่ออาณาจักร

การเติบโตของโซฟี ที่กลับไปกลับมาระหว่างหญิงชราและหญิงสาว ในนัยหนึ่ง สิ่งที่การ์ตูนเรื่องนี้อยากบอก อาจจะเป็นการยอมรับ คือเงื่อนไขหนึ่งในการเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และนั่นสามารถทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในทุกปัจจุบันที่เป็น และป้องกันคำสาปด้วย

ในขณะเดียวกัน การมีอยู่ของโซฟี ก็ช่วยให้ฮาวล์ เริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองของตัวเอง จากการที่เป็นพ่อมดสองหน้า มีหลายชื่อ หลายภาพจำ ฮาวล์ค่อย ๆ ยอมรับตัวเองไปทีละนิด จากการที่ชอบแต่ของสวย ๆ งาม ๆ การเติมเต็มตัวเองด้วยการใส่เครื่องประดับหรูหรา แต่งตัวโก้ เขากลับละทิ้งสิ่งเหล่านั้น และโอบรับสิ่งที่มีอยู่ของตัวเองมากขึ้น

เช่นเดียวกันกับ แคลซิเฟอร์ กองไฟที่ขับเคลื่อนปราสาทให้เดินได้ รวมถึงยังมีชีวิตจากการทำข้อตกลงกับฮาวล์ ที่มอบหัวใจให้กับมันตั้งแต่สมัยยังเด็ก 

หลังจากที่เขาเอามันออกจากร่าง แคลซิเฟอร์จึงเป็นเหมือนด้านที่เป็นเด็กของฮาวล์ ความเอาแต่ใจ ความรุ่มร้อน ซุกซน  ด้วยความที่แคลซิเฟอร์โดนกักตัวอยู่ในปราสาทตลอดเวลา ทั้งความปลอดภัยของตัวฮาล์วเองและตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้ คล้ายกับว่า หัวใจที่ร้อนรุ่มของฮาวล์ไม่ได้เติบโตขึ้นเลย

ในมุมหนึ่ง การที่กองไฟที่สามารถขับเคลื่อนปราสาททั้งหลัง ซึ่งมาจากหัวใจของฮาวล์ ยังสื่อถึงพลังของจิตใจ ที่มีน้ำหนักแต่เจ้าตัวกลับไม่อยากถือหรือไม่สามารถควบคุมได้ การถอดหัวใจออกจากตัวหรือกลายเป็น มนุษย์ไร้หัวใจ จึงเคยเป็นทางออกที่ฮาวล์ใช้จัดการความรู้สึกต่าง ๆ ที่ผ่านมา

และช่วงท้ายที่ฮาวล์ ปลดปล่อยแคลซิเฟอร์ให้เป็นอิสระ 

ทำไมมันหนักจังเลย? เขาถาม

หัวใจเป็นภาระที่หนัก โซฟีตอบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้ามนุษย์เราไร้ความรู้สึก การตัดสินใจ การใช้ชีวิตหลาย ๆ เรื่อง คงไม่ยากเย็นนัก อาจจะไม่ต้องเรื่องไกลตัวยิ่งใหญ่ แค่ตัดสินใจว่าวันนี้ฉันจะกินอะไรดี เราคงไม่ต้องเสียเวลานานเป็นชั่วโมง เพื่อที่สุดท้ายก็ไปกินก๋วยเตี๋ยวหน้าปากซอยตอน 5 ทุ่ม เพราะเหลืออยู่เพียงร้านเดียว

ในเวลาเดียวกัน ความหนักอึ้งของหัวใจ ที่ไม่ได้เบาหวิวและเป็นอิสระเหมือนตัวฮาวล์ในสมัยก่อนนั้น ได้สร้างความมั่นคง ความมั่นใจ และหนักแน่นให้กับชีวิตของเขามากขึ้น ทั้งการยอมรับในความเป็นตัวเอง และการได้รักใครสักคนอย่าง โซฟี หญิงสาวที่เขารอคอยมานานแสนนาน

ถึงผมของโซฟีจะไม่กลับมาเป็นสีน้ำตาลดังเดิม การคงสีผมดอกเลาไว้ คล้ายว่าเธอก็ยังเป็นคนไม่เชื่อมั่นในตัวเองอยู่ดี ทว่า ความรักและการยอมรับ ทำให้ฮาวล์ มองผมสีดอกเลานั้น กลายเป็นสีที่คล้ายกับแสงดาว กลายที่สิ่งที่สวยงาม ในแบบที่โซฟีเป็น

หากใครได้ดูการ์ตูนเรื่องนี้แล้วละก็ จะพบว่าตัวละครแต่ละตัวไม่ได้รักและยอมรับตัวเองกันตั้งแต่แรก ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองต่างขาดบางสิ่งบางอย่างในชีวิตเสมอ การถมเทความพึงพอใจในชีวิตด้วยของนอกกาย ทำให้ทุกคนยอมรับในตัวตนของพวกเขา แต่ภายในนั้นยังกลวงเปล่าอยู่เสมอ

เสน่ห์อย่างหนึ่งของการ์ตูนจิบลิ คือมันสามารถทำงานกับคนดูได้ใหม่ทุกครั้งที่เราดูในแต่ละช่วงวัย คำตอบในตอนที่ End Credit ขึ้นท้ายเรื่องของแต่ละคน ก็แตกต่างกันไปตามการใช้ชีวิตที่ได้ใช้กันมา 

บทความนี้ อาจไม่ได้หยิบยกประเด็นของทุกตัวละครมาพูดทั้งหมด และเป็นเพียงการวิเคราะห์ของผู้เขียนเท่านั้น เพราะเราเชื่อว่าความหลากหลายในการตีความผ่านการ์ตูนเรื่องนี้และเรื่องอื่น ๆ อาจแตกต่างกันไป และนั่นคือสิ่งสวยงามที่ผู้ชมพอจะมอบคืนให้กับความสุขที่ตัวละครเหล่านี้มอบให้กับเราได้

ในวันที่ความหลากหลายและแตกต่าง ถูกเรียกร้องให้ยอมรับมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยทางเพศ ชาติพันธุ์ สีผิว ความคิดและหน้าตา 

ตั้งแต่ปี 1986 ที่การ์ตูนเรื่องนี้ฉายในโรง จนถึง ปี 2022 ที่เราได้มี Pride parade ใจกลางเมืองหลวงประเทศไทย ‘สีผม’ และข้อคิดอีกหลายอย่างจากการ์ตูนเรื่องนี้ คำสาปที่ร้ายแรงที่สุด คงเป็นตัวเราที่ไม่ยอมรับและมองตัวเราเองไม่ดีต่างหาก 

ไม่ว่าเราจะเป็นเพศอะไร ผิวสีอะไร ขอให้เรายังคงพลังนี้ไว้ เพื่อที่จะไปต่อสู้กับคำสาปของพ่อมดแห่งแม่น้ำร้าง และยังคงต้องสู้ต่อไป เพื่อที่จะได้หัวใจ ซึ่งมีสิทธิตามกฎหมาย และนับ ‘เรา’ ในฐานะพลเมืองเช่นกัน

ขอบคุณภาพประกอบ : สตูดิโอจิบลิ