‘มีพ่อแม่เมื่อพร้อม’
ประโยคนี้มักจะขึ้นมาบ่อย ๆ บนโลกโซเชียลเมื่อในสังคมมีกรณีอะไรซักอย่างที่เกี่ยวกับพ่อแม่กระทำต่อลูกขึ้นมา
จริงอยู่ว่า ตอนที่ลูกเกิดมา ลูกไม่มีสิทธิ์เลือกเลยว่าจะได้เกิดมาเจอพ่อแม่แบบไหน จะปฏิบัติกับเรายังไง และในหลาย ๆ กรณีที่พ่อแม่แก้ปัญหาของตัวเองไม่ได้ และไม่รู้จะเอาอารมณ์ไปลงกับใคร ท้ายที่สุดเป้านิ่งที่เป็น ‘ลูก’ ก็มักจะกลายเป็นเหยื่ออารมณ์ในที่สุด
หนังสือชื่อ ‘Toxic Parent มูฟออนชีวิต ถอนพิษพ่อแม่เผด็จการ’ จากสำนักพิมพ์ SandClock Books เจ้าของงานเขียน ดร.ซูซาน ฟอร์เวิร์ด เป็นนักจิตบำบัดที่จะพาเราไปพบกับเคสอาการ Toxic ของพ่อแม่ที่กระทำต่อลูกในรูปแบบต่าง ๆ ไล่ตั้งแต่ระดับเบา ๆ ไปจนถึงระดับที่เราอ่านไปแล้วยังไม่อยากจินตนาการถึงเลยก็มี โดยหนังสือจะแบ่งออกเป็นสองพาร์ท พาร์ทแรกคืออาการ Toxic ของพ่อแม่ที่ส่งผลต่อลูกในรูปแบบต่าง ๆ ส่วนพาร์ทที่สอง เป็นพาร์ทของการถอนพิษ
เราต่างพอจะทราบกันว่าการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ส่งผลต่อพฤติกรรมตอนโต และหากว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงดูนั้น เป็นพ่อแม่ที่เป็นพิษแล้วละก็…ลูกจะโตขึ้นมาด้วยความเจ็บปวด โดยที่คนเลี้ยงดูอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่าเป็นผู้สร้างบาดแผลนั้น เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ลักษณะแบบไหนที่เรียกว่า พ่อแม่เป็นพิษ…
พ่อแม่ต่างก็ล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกับตัวเราเองนี่แหละ ย่อมมีข้อบกพร่องต่าง ๆ อยู่บ้าง เพียงแต่พ่อแม่หลายคนมีรูปแบบพฤติกรรมทางลบต่อเนื่องจนครอบงำชีวิตลูก มันก็เหมือนเป็นการฉีดสารพิษเข้าสู่ตัวลูกทำให้สารพิษนั้นแทรกซึมเข้ามาจนส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกตั้งแต่เด็ก จนถึงตอนโตเป็นผู้ใหญ่
ทำไมเด็กต้องแบกรับความบกพร่องของผู้ใหญ่ด้วยล่ะ ?
ทำไมผู้ใหญ่ไม่รับผิดชอบความรู้สึกของตัวเองนะ ?
ผู้เขียนรู้สึกว่าผู้เข้ารับการบำบัดในแต่ละเคสเป็นผู้กล้าหาญมากที่เข้ามาทำการรักษากับคุณซูซาน เพราะต้องระลึกถึงเรื่องราวในวัยเด็กที่มีคนทำร้ายตัวเอง ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ จนไปถึงเคสใหญ่ ๆ อย่างเรื่องที่โดนคนในครอบครัวล่วงละเมิดทางเพศ (ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวไปข้างต้นว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงที่ไม่อยากจินตนาการถึง) การบำบัดของคุณซูซานเป็นการเปิดแผลของผู้ป่วยแต่ละคน เพื่อให้เข้าใจสาเหตุที่มาที่ไปของอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งมันคือการเผชิญหน้าเข้ากับปัญหานั่นเอง…
แน่นอนว่าสำหรับบางคน อาจจินตนาการไม่ถึงหรอกว่าพ่อแม่เป็นพิษกับเราอย่างไรบ้าง แต่ในหนังสือเล่มนี้จะพาเราไปพบกับเคสต่าง ๆ ที่เผชิญกับพ่อแม่เป็นพิษ ยกตัวอย่างพ่อแม่เป็นพิษจากเคสของวิกกี อายุ 34 ปี หนึ่งในผู้เข้ารับการบำบัดกับคุณซูซาน จริง ๆ แล้ววิกกีเป็นคนสวย มีหน้าที่การงานที่ดี แต่กลับเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองเอาซะเลย เมื่อวิกกีเข้าการบำบัดกับคุณซูซาน จึงทำให้ทราบว่าความไม่มั่นใจตัวเองแบบนี้มีต้นตอของสาเหตุมาจากคนในครอบครัวของเธอนี่เองที่มักพูดจาที่ทำให้วิกกีรู้สึกบกพร่องในตัวเอง แล้วอะไรกันแน่ที่ทำให้พ่อแม่มาพูดจากับลูกแบบนี้ จริงอยู่ว่าคำพูดอาจไม่ได้ทำร้ายผู้ฟังให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมเท่ากับการทำร้ายร่างกาย แต่บาดแผลที่ฝังอยู่ในจิตใจมันก็สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ฟังได้ไม่ต่างกัน แถมยังใช้ระยะเวลาในการรักษานานอีกด้วย
นี่เป็นเพียงบางส่วนของเคสที่เข้าทำการบำบัดกับคุณซูซานเท่านั้น ยังมีอีกหลายเคส อีกหลายบท บางบทเมื่ออ่าน ๆ ไปก็ทำงานกับเรามาก บางบทก็ทำงานกับเราน้อย… หรือว่าจริง ๆ แล้วในบางครั้ง เราก็โดนเลี้ยงดูแบบที่คนเลี้ยงดูไม่ได้ตั้งใจทำแบบนั้นกับเราเหมือนกัน
เคยรู้สึกไหม… ว่าเมื่อเราโตขึ้น ๆ แต่ทำไมกลับไม่รู้สึกเหมือนเป็นผู้ใหญ่เลยนะ…
โห… บทนี้ทำงานกับเรามากกกกกกกกกกก
อาจจะด้วยความที่เราเป็นลูกผู้หญิงคนสุดท้องของบ้าน และบวกกับคนเลี้ยงดูมีนิสัยเหมือนจะเป็นห่วง ขี้กังวล กลัวนั่นกลัวนี่ตลอดเวลา(?) ทำให้การเลี้ยงดูบางอย่าง มันมากเกินไป และบางครั้งก็ไม่ค่อยจะยอมให้เราทำอะไรเองซักที
อย่าทำเลย… ทำไม่ได้หรอก…
ดูเหมือนเป็นคำที่ไม่มีอะไร แต่ถ้าคำพูดเหล่านั้นเป็นคำพูดของคนในบ้านที่พูดขึ้นมาเมื่อเราทำอะไรไม่ได้ซักอย่าง หรืออยากลองทำอะไรซักอย่างล่ะ ไม่มีคำพูดส่งเสริมรึให้กำลังใจ และเมื่อได้ยินบ่อย ๆ กลายเป็นว่าทำให้เรารู้สึกว่าเราทำสิ่งนั้นไม่ได้จริง ๆ มันบั่นทอนกำลังใจ จนสุดท้ายเราก็ไม่ได้ทำสิ่งที่เราอยากทำ
ตกลงเป็นชีวิตของใครกันแน่เนี่ย?
ฉันมักจะโมโห.. ตัวเอง ที่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำตามเสียงใจของตัวเอง เพราะมักมีเสียงคนอื่นแทรกขึ้นมาเสมอ.. บางทีไม่ต้องพูด ไม่ต้องบอก… แค่คิดว่าจะพูด เสียงคำพูดพวกนั้นมันก็ดังเข้ามาในหัวเราแล้ว
ทำไมเสียงคนอื่นมันดังกว่าเสียงตัวเองได้ มันน่าหงุดหงิดจริง ๆ …
อาจจะเป็นเพราะคำพูดพวกนั้น หล่อหลอมมาตั้งแต่เด็ก… จนถึงโตขึ้นเลยถึงสลัดไม่ออกซักที
สำหรับบางคน มาเห็นคำพูดพวกนี้อาจจะรู้สึกว่า
ไม่เห็นมีอะไรเลย…
เขาเป็นห่วงแหละ เขาถึงพูดแบบนั้น…
แต่อยากจะบอกว่า กรุณาหยุดถ้าคุณไม่ได้มาอยู่ในบริบทเดียวกัน
เอาเข้าจริง มานึก ๆ ดูแล้ว ไม่ใช่ว่าไม่เคยพูด ไม่เคยบอก ว่าไม่ชอบให้ท่านพูดแบบนั้น แต่ฉันคิดว่าเขาไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้เท่าไหร่ เขาหยุดพูดแค่เพียงช่วงนั้นแหละ แต่ก็จะกลับมาพูดแนว ๆ นั้นอีก
ดูเหมือนว่าคำพูดเหล่านั้น เหมือนเป็นกฎเป็นความเชื่อของคนพูดที่ไม่ได้สื่อสารออกมาตรง ๆ อาจมีนัยยะอะไรบางอย่างซ่อนเร้นในคำพูดนั้นที่เอาคำพูดสวยหรูอย่างคำว่า ‘ความห่วงใย” มาแอบอ้าง อะไรทำนองนั้น ซึ่งฉันก็พอเข้าใจ… แต่ฉันคิดว่าเขาเองนั่นแหละ ที่ไม่เข้าใจ และไม่พยายามเข้าใจอะไรซะเลย
การที่พูดบอกออกไป แทนที่จะเหมือนได้ยกหินออก แต่เปล่าเลย… ฉันก็กลับมาด้วยความรู้สึกที่หนักอึ้งอยู่ดี…. แปลกดีนะดูเหมือนพอพูดออกไปกลายเป็นฉันมานั่งรู้สึกผิดเองอีก ที่ดูเหมือนว่าใช้คำพูดรุนแรงไปหรือเปล่า.. ทั้ง ๆ ที่ใจความที่ต้องการสื่อสารนั้นล้วนเป็นเรื่องจริง
เราคิดว่า เราพอรู้แหละ ว่าเราคงเปลี่ยนความคิด ความเชื่ออะไรของท่านไม่ได้ แต่เราก็ถือว่าเรากล้าหาญประมาณนึงที่ได้กล้าบอกไปแล้ว
การที่เราพอจะเข้าใจต้นตอสาเหตุนี่มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงก็ได้นะ
การที่พ่อแม่รู้สึกกับเราแบบนั้น
อย่าทำเลย… ทำไม่ได้หรอก…
มันเป็นความรู้สึกของเขา ที่เขาต้องจัดการความรู้สึกของตัวเอง มันไม่ใช่หน้าที่ของลูกด้วยซ้ำที่จะต้องมาทำหรือไม่ทำอะไรให้เขารู้สึกดีขึ้น หากเราเก็บมาใส่ใจ กลายเป็นว่าคำพูดพวกนั้น มันก็ดูฉุดรั้งเราเหมือนกันนะ
การที่เราจมดิ่งกับการกระทำ หรือคำพูดของพ่อแม่ที่เป็นพิษ หากเราไม่ได้กลับไปแก้กลับไปเผชิญหน้าที่ต้นตอ สุดท้ายแล้วเราจะกลายเป็นคนที่ทำหน้าที่ส่งต่อสิ่งเหล่านั้นให้กับคนใกล้ตัวคุณนั่นเอง แต่การที่คุณจะกล้าเผชิญหน้ากับพ่อแม่ได้คุณต้องรู้สึกเข้มแข็งมากพอที่จะรับมือกับพ่อแม่ เพราะเชื่อว่าไม่ง่ายเลยที่พ่อแม่จะยอมรับกับสิ่งที่คุณพูดออกมา คุณซูซานแนะนำวิธีการเผชิญหน้าในหนังสือทั้งการเผชิญหน้าโดยตรง หรือโดยอ้อมอย่างการเขียนจดหมาย โดยในใจความของเนื้อหาที่จะสื่อสารมีประมาณนี้
- นี่คือเรื่องที่พ่อแม่ทำกับเรา
- นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนั้น ในตอนนั้น
- นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา
- นี่คือสิ่งที่ตอนนี้เราต้องการจากพ่อแม่
ขนาดผู้เขียนยังรู้สึกเลยว่ามันไม่ง่ายเลยที่จะสื่อสารเรื่องพวกนี้ให้พวกเขาได้รู้ แต่หากเราอยากปลดปล่อยชีวิตให้โบยบินได้ต่อไป เราก็ต้องกล้าเผชิญหน้ากับมัน สุดท้ายแล้วผู้รับสารจะรู้สึกอย่างไร ก็คงต้องปล่อยให้เขาจัดการความรู้สึกของเขาเอง
เราก็ถือว่า เราทำหน้าที่ของเราได้ดีที่สุดแล้วล่ะ
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี
หนังสือ: Toxic Parent มูฟออนชีวิต ถอนพิษพ่อแม่เผด็จการ
นักเขียน: ดร.ซูซาน ฟอร์เวิร์ด, เครก บัก
สำนักพิมพ์: SandClocks Books