“เราต่างเป็นผู้กระทำ ถูกกระทำ และเยียวยาซึ่งกันและกัน” คือประโยคแรก ที่ผุดขึ้นมาในหัวหลังจากที่อ่าน เศษหนึ่งส่วนเศร้า ผลงานจากปลายปากกาของนักเขียน Marry D. Minor
ย้อนนึกถึงตลอดเวลาที่ผ่านมา ว่าเราได้เคยทำร้ายใครสักคนไหม เราได้ช่วงชิงบางสิ่งจากใครไปหรือเปล่า และแน่นอนเราต่างโดนทำร้าย ไม่ว่าจากคนอื่น คนใกล้ตัว หรือกระทั่งอะไรสักอย่างที่เราไม่รู้ ที่เรามักจะสบถกันติดปากกันในยุคนี้ว่า “ทำไมโลกใจร้ายกับกูจังวะ” ท่ามกลางห่าฝนของความสับสน ก็มักจะมีใครสักคน อะไรสักอย่าง ที่จะคอยประคับประคองให้เราผ่านช่วงเวลาเหล่านั้น คุ้น ๆ ว่าสังคมเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ความรัก’
อัตชีวประวัติ? วรรณกรรมร่วมสมัย? ไดอารี?
การจะนิยามหนังสือเล่มนี้ ว่าจัดอยู่ในหมวดหมู่ประเภทไหนคงไม่ง่ายนัก แต่หากกล่าวให้เข้าใจง่ายที่สุด หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกของผู้หญิงที่เติบโตมาพร้อมบาดแผลทางใจ ชีวิตที่เต็มไปด้วยสมการ ที่ยกกำลังด้วยการตามหาความหมายในการมีอยู่ของชีวิต ความรู้สึกผิดคือรถที่เบรกพัง พร้อมจะพุ่งลงเหวได้ทุกเมื่อ
ถึงอย่างนั้น ความหวังในการหายใจต่อจะริบหรี่เพียงใด เพียงกะพริบแห่งแววหวัง เธอในหนังสือเล่มนี้ คงกำลังบอกว่า “มีชีวิตอยู่ต่อเถอะ อยู่พอจะให้เจอเรื่องดี ๆ ก่อนจากไป”
คำตอบนั้นคลีเช่เหลือเกิน
คุณจะสบถว่าน้ำเน่าฉิบหาย
จะกลอกตามองบน หรือจะถ่มถุยน้ำลายอีกสักกี่หน
แต่คุณรู้ดี คุณจำเป็นต้องฟังมัน
บางช่วงตอน จากคำนำสำนักพิมพ์ P.S. publishing ในหนังสือ Bitter Blended เศษหนึ่งส่วนเศร้า จากนักเขียน Marry D. Minor
Trigger Warnings
มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย การทำร้ายตัวเอง การบูลลี่ การทำร้ายร่างกายและจิตใจ มีการบรรยายถึงความป่วยทางด้านจิตเวช ซึมเศร้า วิตกกังวล ทรอม่า และอาการแพนิก
ฟังเพลงจากช่วง Playlist(en) ระหว่างอ่านบทความ เมื่อหนังสือเล่มนี้กลายเป็นบทเพลง
เหยาะน้ำตาในขวดโหล
ผัวะ!
ฉันต่อยหน้าเขาจนมือแดงน่วมไปหมด
ต่อยเสยจมูกเลย ต่อยเสย มันจะได้เจ็บ ๆ
ผัวะ!
หน้าฉันหันขวับไปทางซ้ายตามแรงผลัก เขาต่อยฉันกลับ
เจ็บ… แต่ทนไหว
ช่วงแรกของหนังสือเล่มนี้ อยากให้เรารู้ที่มาที่ไป เพื่อที่จะได้เข้าใจสิ่งที่ ภิม กำลังจะต้องเผชิญในวัยเด็ก ภิมมีฝาแฝดชื่อว่า ภาม ฝาแฝดชายหญิง กิจกรรมความสะใจในห้องฟิตเนสเก่า ๆ ที่เด็กรอบตัวอยากให้ฝาแฝดคู่นี้สร้างความบันเทิงให้กับพวกเขา ท่ามกลางจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ป่วยจิตเวชของทั้งคู่
จิตเวชไม่ได้แพร่พันธุ์ทางอากาศเหมือนไข้หวัดหรือโควิด น่าแปลกใจเมื่อมันไปสู่อีกคนแล้ว กลับอยู่ยาวนาน บางทีการรักษาไม่เคยจะหายขาดจากร่างกายผู้ป่วยได้เลย
ครอบครัวคือสถาบันแรกที่สำคัญที่สุด คือคำรณรงค์ในวัยเด็กเมื่อราว ๆ ช่วงปี 2545 น่าเสียดายที่เด็กหลายคน รวมถึงภิมและภาม ถูกช่วงชิงจากวัยเด็กไปจนหมดสิ้น ครอบครัวนี้ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ภิม ภาม และภิณ เมื่อครอบครัวไม่ได้เป็นเซฟโซน ระเบิดเวลาที่มาพร้อมอาการเหล่านี้เริ่มกัดกินทีละนิด แต่ยังไม่รู้ตัว และเมื่อเข้าสู่วัยมัธยม โรงเรียนสำหรับฝาแฝดคู่นี้ เป็นได้ทั้งสวรรค์และนรกในคราวเดียวกันของทั้งคู่
กิจกรรมล้างสมองที่ภิมต้องเจอ อย่างคำก่นด่าในทุก ๆ วัน จากผู้เป็นพ่อ นั้นคือเชื้อไฟ จากริบหรี่กลายเป็นโชติช่วง รู้ตัวอีกที เรื่องเหล่านี้ได้กัดกินในใจภิมและภามอย่างไม่เหลือซากเสียแล้ว
นอกจากการทำร้ายจิตใจแล้ว ภิมยังต้องพบเจอการ “แก้ทอม ซ่อมดี้” จากเนื้อเรื่องแล้ว ภิมน่าจะยังอยู่ในยุคที่หากครอบครัวใด ลูกหลานไม่ได้ตัดสินใจที่เป็นชายหรือหญิงแล้วละก็ การพาไปหาจิตแพทย์ คือทางออกสำหรับหลายครอบครัว ทั้งคำด่า ทั้งการกระทำ ทั้งจิตใจและร่างกาย
“มันก็ดูยินยอมจะให้กูทำนะ” “มึงมันโง่” ระเบิดเวลาที่คนรอบตัวของภิมติดตั้งไว้ พร้อมกับไม่ได้สนใจไงดีว่ามันจะระเบิดเมื่อไหร่ เขาจากไปแสนไกลแต่ระเบิดนี้กลับนับถอยหลังไปเรื่อย ๆ
ติ๊ด … ติ๊ด … ติ๊ด… ไม่มีเสียงระเบิดตู้มต้ามเหมือนอย่างในหนังแอ็กชัน ชีวิตจริง มีแต่เสียงเครื่องวัดชีพจร จากการแอดมิตเข้าโรงพยาบาล เพราะกินยาเกินขนาดกับกรีดแขนตัวเองเท่านั้นแหละ
กาแฟผสมน้ำส้ม เครื่องดื่มที่ทำให้ดูคูล
ความคาดเดาไม่ได้ในหนังสือเล่มนี้ พอ ๆ กับเวลาเล่นเครื่องเล่นหวาดเสียวทั้งหลาย หลังจากนั้นเครื่องเล่นจะพาเราลอดอุโมงค์เจอลวดลายสวย ๆ หลังจากพบกับความน่ากลัวของมันแล้ว
นอกจากบาดแผลทางใจ ความรักในแต่ละช่วงวัยของภิม คือสิ่งที่ทั้งเยียวยาและกัดกินตัวเธอเอง และเป็นอีกส่วนที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้เช่นกัน
ความรักของภิมแต่ละช่วงวัย คือความสวยงาม ความอ่อนหวาน กลับกัน ความรักไม่ได้มีแค่นั้น ความรักยังเต็มไปด้วยแรงปรารถนาต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องทางเพศ แต่คือการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ และการได้รับความรักอย่างที่ต้องการ
เปียกปอนในหน้าฝน
แต่ก็ยังไม่บอกตัวเองให้พกร่ม
ยับยั้งใจตัวเองไม่เป็นสักครั้งกับความรัก
เจ็บกว่ารองเท้ากัดก็รักคุณนี่แหละ
มีคนกล่าวไว้ว่า ความรัก ถ้าไม่ได้เป็นฝันหวานที่แสนดี ก็คงเป็นฝันร้ายที่ทำให้หลับต่อไม่ลง คำนิยามนี้น่าจะใกล้เคียงกับความรักที่ภิมพบเจอมากที่สุด ในวันที่เราทุกคนต่างคาดหวังความรักไม่ต่างจากพระเอก-นางเอกในจอสี่เหลี่ยมเล็กใหญ่ จูบแรก ความขัดเขิน ความสัมพันธ์ลึกซึ้งที่สลัดออกจากหัวไม่ได้
น่าเสียดายที่ความรักแบบในสื่อ มักจะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนในโลกความเป็นจริง ความต้องการที่จะเป็นเจ้าข้าวเจ้าของซึ่งกันและกัน บางครั้งก็ไม่ต่างจากการแย่งชิงอะไรกันสักอย่าง ท้ายที่สุด สิ่งที่ความรักได้ทิ้งไว้ เหลือแต่เพียงร่องรอยของความเจ็บปวด สำหรับใครที่ยังรู้สึกมากกว่า สำหรับใครที่ทุ่มเทมากกว่า ก็เท่านั้น
การรอคอย คุ้มค่าสำหรับคนที่สมหวังเท่านั้นแหละ อาจจะไม่จริงเสมอไป
ถ้าการรอคอย อาจหมายถึงการที่เขามีอีกคนรออยู่ และเราก็เป็นหนึ่งในคนที่รอเขาเช่นกัน
สิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือความเศร้าเกินขนาด อาจถึงตายได้เลย
แด่ชีวิตฉัน ที่ฉันยังเป็นคนต้องใช้มัน
‘ชีวิตไม่เคยเป็นของเรา ชีวิตเป็นของมันเสมอ’ เธอกล่าวอย่างนั้น
หลังจากที่ครอบครัวของภิม ประคับประคองภามในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ท้ายที่สุด คนที่ต้องเข้าการรับรักษา ในสถานที่คนทั่วไปเรียกว่า ‘โรงพยาบาลบ้า’ ก็คือภิม สิ่งที่กัดกินภิมไม่ใช่แค่โรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว หลังจากที่เธอเข้ารับการรักษาหลายครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาวะที่ร่างกายที่ซับซ้อนขึ้นไปอีก หมอยื่นมือมาส่งกระดาษและกระดาษใบนั้นเขียนว่า เธอเป็นโรคอารมณ์สองขั้วหรือไบโพลาร์
การเข้ารับการรักษา เป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กำเริบบ้าง หายบ้าง จนเหมือนที่สุด หมอจะสั่งให้เธอลดยาและหยุดยาได้แล้ว
หลังจากที่ผ่านมรสุมของฝนห่าใหญ่ เพียงกะพริบของแววหวัง ก็โผล่ขึ้นมาเรื่อย ๆ เรียกว่าฟ้าหลังฝนก็คงไม่ผิด การได้พบคนรักที่จะรับคนใจร้อนอย่างเธอได้ ครอบครัวที่สร้างความเข้าใจกับสิ่งที่เธอเป็น เรียบง่ายแต่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่เธอตามหามานาน ได้รับการค้นพบ โดยใครสักคนที่เธอรอคอยมาตลอด
ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้เรื่องหนึ่ง คือบันทึกเล่มนี้ กลับมีจุดพล็อตทวิสต์ที่เราคาดไม่ได้ตลอด กลับกัน อินโทร ปม ไคลแมกซ์ มีจุดเชื่อมโยงและร้อยเรียงได้อย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนกับหนังเรื่องหนึ่ง ที่เราคาดหวังว่าพออ่านมาถึงตรงนี้ ตอนจบจะจบอย่างบริบูรณ์และทุกคนมีความสุข
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกต่อว่าภิณและคนรอบตัวเกิดอะไรขึ้นต่อ ทุกคนยังใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไหม ชีวิตของภิณเป็นอย่างไรบ้าง บทสุดท้ายของเล่ม ว่าด้วยบทกวีที่ชื่อ ‘กาลครั้งหนึ่งอีกครั้ง’ ราวกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็เริ่มต้นด้วย กาลครั้งหนึ่ง และจบลงด้วย อีกครั้ง ซ้ำวนไปมา
ในวันที่สังคมทั่วโลก พบอัตราของผู้ป่วยทางจิตเวชต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว อาจจะเพราะการเข้ารับการตรวจที่มากขึ้น หรือสังคมที่บิดเบี้ยวและกดดันมากขึ้นก็ตาม อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นของบทความนี้ โรคทางจิตเวช ไม่ได้แพร่กันทางอากาศ เหมือนกับโรคไข้หวัดหรือไวรัสโควิด 19 ทว่า โรคเหล่านี้ กลับกลืนกินจิตใจผู้คน ทั้งจากการบ่มจนได้ที่ หรือใครเผลอไปกดปุ่มสั่งระเบิดเข้าสักวัน
นั่นอาจจะเป็นความหมายของ ‘เพียงกะพริบแห่งแววหวัง’ ที่ผู้เขียนอยากสื่อให้กับผู้อ่านทุกคน
ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องคาดเดาไม่ได้ และคาดหวังอะไรมากมายไม่ได้ด้วยซ้ำ ถึงอย่างนั้น การมีชีวิตอยู่เพื่อเจอเรื่องดี ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นสักวัน ก็ดูจะเป็นทางออกที่ไม่เลวเช่นกัน
เราคงไม่มีทางเลือก หากเราต้องการจะมีชีวิตอยู่ต่อ ทางเดียวคือเราต้องใช้ชีวิตต่อไป พูดง่ายแต่ทำยาก และความจริงคงมีเพียงทางนั้น ที่พอประคับประคองรอวันที่เราจะได้เจอเรื่องดี ๆ
ถึงโลกจะใจร้ายกับภิณเหลือเกิน หรือภิณอาจจะเคยใจร้ายกับใครสักคน เราคงไม่อาจตัดสินได้ สิ่งเดียวที่เราพอจะมอบให้ได้ คือคำอวยพร ที่ขอให้ทางคอร์ด D minor ที่เป็นชื่อต่อท้ายคล้ายสกุลของผู้เขียน สว่างสดใส ไม่ต้องโชติช่วง แต่ขออย่าให้มืดหม่นเหมือนกับทางคอร์ดที่หม่นที่สุดในทางดนตรีก็พอ
เธอไม่จำเป็นต้องเป็นสีเหลือง ที่สดใสตามหลักการสี หรือสีขาว ที่บริสุทธิ์อย่างที่สังคมนิยาม เป็นสีอะไรก็ได้ที่เธอเลือกที่จะเป็น และขอให้เธอภูมิใจกับทุกสีที่เธอเป็น แด่ทุกเฉดสีบนโลกที่แตกต่างกันออกไป
ขอให้การหมุนรอบตัวตัวเองของดาวเคราะห์สีน้ำเงิน ที่โคจรวนให้แสงอาทิตย์เพียรกลับมาในเช้าวันใหม่ ส่องแสงสว่างขึ้นอีกครั้ง
ในวันนั้น หวังว่าเราจะได้อ่านผลงานเล่นใหม่ จากปลายปากกาของนักเขียนคนนี้ อีกครั้ง…
ภาพถ่ายประกอบบทความโดย ภานุพันธ์ อรุณวรณ์
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี
หนังสือ: Bitter Blended เศษหนึ่งส่วนเศร้า
นักเขียน: Marry D. Minor
สำนักพิมพ์: P.S. Publishing