การเป็นอื่นในรัฐที่พยายามผูกขาดความเป็นหนึ่ง คงถูกนับว่าเป็นเรื่องแปลกอย่างมหันต์ เพราะรัฐไทยพยายามผูกขาดทางประวัติศาสตร์มาโดยตลอดว่ามีแค่ไทย จะไทยพุทธหรือไทยมุสลิม จะไทยเหนือ ไทยใต้หรืออีสาน แต่ไม่มีอื่นบนความเป็นไทย อย่างน้อยที่สุดคือบนเขตแดนของประเทศไทย ไม่มีมีลาว ไม่มีม้ง ไม่มีปกากะญอ ไม่มีมลายู มีแค่ไทยกับไทยเท่านั้น นโยบายผสมกลมกลืนหรือยัดเยียดความเป็นไทย จึงดำรงมาเกือบศตวรรษ
หากบอกว่าเป็นมลายู ในวันที่รัฐไทยมองคนมลายูด้วยสายตาที่ตั้งแง่เรื่องความมั่นคง ทำให้การเป็นมลายูรู้สึกไม่มั่นคงในรัฐแบบนี้ อย่างน้อยที่สุดก็กังวลหรือหวาดผวา ว่าการเป็นมลายูเป็นภัยต่อความมั่นคง พูดให้ชัดจากภาพที่ปรากฏในพื้นที่ชายแดนใต้ คือคนมลายูจะโดนสุ่มตรวจตามด่านตรวจมากกว่าคนที่ไม่ใช่มลายู (ในที่นี้รวมถึงคนที่นับถือศาสนาอิสลามที่มาจากส่วนอื่นของประเทศไทยด้วย)
หนังสือ “กลายเป็นมลายู” ของศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ผู้เขียนได้ทำงานอย่างหนักทั้งศึกษา ค้นคว้า ลงพื้นที่สัมภาษณ์ และรีวิวจากบทความวิชาการ งานวิจัย และวิทยานิพนธ์ มากกว่าร้อยชิ้น เพื่อชวนสำรวจทำความรู้จักการเป็นอื่น หรือการเป็นมลายู บนดินแดนของรัฐไทย
เมื่อพูดถึงความเป็นมลายู หรือที่เรียกโดยภาษาพื้นถิ่นว่า “นายู” (โอแรนายู=คนมลายู) ที่รู้สึกเป็นอื่นในสายตาของการเป็นไทย หากพูดให้ชัดกว่านี้โดยการเปรียบเทียบกับคนมาเลย์(มาเลเซีย) ที่มีฐานรากทางชาติพันธุ์ร่วมกัน โดย Patrick jory นำเสนอความเป็นมลายูของคนชายแดนใต้ไว้อย่างน่าสนใจว่า
คนมลายูมีแนวโน้มต่อการเป็นปฏิปักษ์กับรัฐไทย ซึ่งต่างจากคนมาเลย์ที่ความเป็นมาเลย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งหรือส่วนผสมกลมเกลียวกับอำนาจรัฐ(มาเลเซีย) เห็นชัดจากการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด (ค.ศ.1981) แห่งพรรคการเมืองอัมโนในขณะนั้น และงานวิชาการในภายหลังให้ข้อสรุปในลักษณะคล้าย ๆ กัน
อย่างงานของสุรินทร์ พิศสุวรรณ (นโยบายประสมประสานชาวมาเลย์มุสลิมในประเทศไทย, 1985) ที่ให้ความสำคัญกับพลวัตระหว่างสำนึกทางชาติพันธ์ุและความสมานฉันท์ทางศาสนา ซึ่งสุรินทร์เรียกพลวัตเหล่านี้ว่า “กระบวนการเกิดขึ้นของชาตินิยมแบบมาเลย์และอิสลาม”
แม้อาจจะกล่าวได้ในบางส่วน เมื่อพูดถึงการเป็นมลายู มักถูกนับรวมถึงการเป็นมุสลิมไปด้วย แต่นี่คงไม่ใช่ความจริงทั้งหมด หลายครั้งเราเห็นว่าการถูกนับรวมเป็นมลายู ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นมุสลิมเท่านั้น แต่ยังมีจีนมลายู (จีนที่อยู่และเติบโตในถิ่นมลายูดั้งเดิม) พูดได้ว่าสำนึกถึงการเป็นมลายู คือสำนึกทางชาติพันธ์ุ และในบางครั้งมีการกล่าวด้วยว่าเพียงแค่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่คนมลายูโดนปฏิบัติ แค่นี้ก็เพียงพอที่จะถูกนับเป็นมลายู
สำนึกทางชาติพันธุ์จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับรัฐไทย แน่นอนที่สุดรัฐไทยต้องการให้เหลือเพียงแค่สำนึกทางประวัติศาสตร์แบบเดียว คือสำนึกถึงความเป็นไทย คนมลายูใช้ชีวิตแบบมลายูพูดมลายู เลยกลายเป็นอื่นในสายตารัฐไทยมาจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าจะยังมีการต่อสู้เพื่อสร้างสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าเราไม่สามารถบังคับให้ใครเป็นเรา หรือบังคับให้เราเป็นอื่น อย่างที่รัฐไทยพยายามให้คนมลายูเป็นไทยมาโดยตลอด
เมื่อสำนึกร่วมทางชาติพันธุ์ไม่สอดประสานกัน การต่อสู้และต่อรองผ่านอำนาจรัฐจึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง อย่างการต่อสู้โดยกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น BRN (Berisan Revolusi Nasional Melayu Patani) หรือพูโล (Patani United Liberation Organisation)
และการยื่น 7 ข้อเสนอของหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์โต๊ะมีนา (เสนอต่อรัฐบาล พลเรือตรีหลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ปี พ.ศ.2490) ซึ่งท้ายที่สุดก็ถูกกล่าวหานี่คือความต้องการแบ่งแยกดินแดนและหะยีสุหลงก็ถูกบังคับสูญหาย ทั้ง ๆ ที่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว ข้อเสนอของหะยีสุหลง ยังอยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐสมัยใหม่ที่เราเรียกว่ารัฐเดี่ยว
7 ข้อเรียกร้องของฮัจยีสุหลง
1. ขอให้แต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มมาปกครองใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ให้มีอำนาจที่จะปลด ระงับ หรือโยกย้ายข้าราชการได้ บุคคลผู้นี้จักต้องถือกำเนิดในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของ 4 จังหวัด และจักต้องได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนใน 4 จังหวัดนั้น
2. ข้าราชการใน 4 จังหวัดจักต้องเป็นมุสลิมจำนวน 80 %
3. ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการของ 4 จังหวัด
4. ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา
5. ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนา แยกออกไปจากศาลจังหวัด โดยมีผู้พิพากษามุสลิม (KATH) นั่งพิจารณาร่วมด้วย
6. ภาษีเงินได้และภาษีทั้งปวงที่เก็บจากประชาชนใน 4 จังหวัดจักต้องใช้จ่ายเฉพาะใน 4 จังหวัดเท่านั้น
7. ให้จัดตั้งคณะกรรมการมุสลิมมีอำนาจเต็มในการดำเนินการเกี่ยวกับคนมุสลิมทุกเรื่อง โดยให้อยู่ในอำนาจสูงสุดของผู้นำตามข้อ 1
เมื่อถึงจุดนี้ทั้งต่อความเป็นอื่น ชาติพันธุ์หรือการเป็นชนกลุ่มน้อย ที่สร้างความหวาดกลัวต่อรัฐ จนนำไปสู่วิธีคิดและแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีการทางความมั่นคงมากกว่าจะใช้วิธีทางทางการเมือง ทำให้ปัญหาความรุนแรงในชายแดนใต้ที่สร้างความเสียหายต่ออัตภาพของชีวิตมนุษย์ ที่ไม่อาจถูกนับในฐานะมนุษย์เท่ากัน กล่าวคือชนกลุ่มน้อยไม่ถูกนับรวมว่าเป็นมนุษย์ในฐานะเดียวกับชนกลุ่มใหญ่
ยกตัวอย่างเช่น หลังจากเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและอิรัก ซึ่งการตายของทหารอเมริกันถูกแยแสมากกว่าการตายของพลเมืองอัฟกันและอิรัก ขณะเดียวกันการตายของเจ้าหน้าที่รัฐไทยในชายแดนใต้ก็ถูกแยแสมากกว่าการตายของพลเมืองมลายู ทำให้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่นั้นซับซ้อนกว่าที่จะกล่าวโดยง่ายว่านี่คือความขัดแย้งเพราะศาสนา
แน่นอนว่าบาดแผลจากความรุนแรงในอดีต ทั้งต่อการอุ้มหายหะยีสุหลง (2497) การวิสามัญพลเมือง 5 ศพที่สะพานกอตอจนนำไปสู่การประท้วงใหญ่และยาวนานที่สุด (2518-2519) รวมถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยอย่างกรือเซะ และตากใบ (2547) เหตุการณ์เหล่านี้คือบาดแผลที่เจ็บปวด กลายเป็นสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ของคนมลายู ซึ่งความรุนแรงจากบาดแผลเหล่านี้นั้น รัฐไทยไม่ต้องการให้พวกเราได้รับทราบ
อย่างน้อยที่สุดในห้วงเวลานี้ เราต่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าความรุนแรงจะลดน้อยถอยลง จนไปสู่วันที่ไร้ความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย สิ่งที่คืบหน้าที่สุดและจับต้องได้ในเวลานี้ คือ “ข้อตกลงรอมาฎอนสันติ” (รอมาฎอนคือเดือนอันประเสริฐของคนที่นับถือศาสนาอิสลาม จะมีการอดอาหารตั้งแต่แสงตะวันโผล่ จนดวงตะวันลับขอบฟ้า)
จากทั้งฝ่าย BRN และตัวแทนรัฐบาลไทยที่ตกลงร่วมกันบนโต๊ะเจรจา เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา แน่นอนว่านี่คือความเปราะบางที่ทั้งสองฝ่ายต้องแบกรับร่วมกัน แต่อย่างน้อยที่สุดนี่คือการประกันหลักความมั่นคงให้กับประชาชนที่จะใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย
สิ่งที่เป็นจริงที่สุดในวันนี้ เราต่างมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งต่อความเชื่อทางศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง หรือชาติพันธุ์ต้นกำเนิด แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือเราต่างยืนอยู่ในฐานะเฉกเช่นมนุษย์เหมือนกันน เท่ากัน ไม่มีความเป็นอื่นต่ำตมกว่าความเป็นเรา
เป็นมลายูไม่ได้ด้อยค่ากว่าเป็นไทย จะเป็นอะไรก็แล้วแต่นั้นคือสิ่งที่ทุกคนมีสิทธิ์เป็น เพียงแค่ยึดมั่นบนฐานคิดของความเป็นมนุษย์ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหลากหลายร่วมกัน สันติแด่ประชาชาติไม่ไกลเกินเอื้อม