ไม่มีมนุษย์คนไหนออกแบบได้ว่าจะรักหรือไม่รักใครตอนไหน เราเลือกไม่ได้ว่าจะตกหลุมรักหรือไม่ เมื่อรักมาถึงเราอาจตกหลุมนั้นโดยที่เราไม่รู้ตัว
หนังสือทำไมต้องตกหลุมรัก โดยสรวิช ชัยนาม บอกกับผู้อ่านอย่างฉันเช่นนั้น ว่าเราเลือกไม่ได้ว่าจะรักใครตอนไหน ออกแบบไม่ได้ว่าความรักตรงหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะความรักคือสิ่งใหม่เสมอเมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับมัน
ทำไมต้องตกหลุมรัก เป็นหนังสือที่ผู้เขียนอธิบายความรักผ่านหลักปรัชญาของ Alain Badiou เล่าโดยยกตัวอย่างสถานการณ์เมื่อคนคนหนึ่งกำลังมีความรัก วิพากษ์และเปรียบเทียบกับทฤษฎีของนักปรัชญา เหมือนฟังแฟนคลับอธิบายงานของศิลปินที่ชอบ และในช่วงท้าย ๆ ผู้เขียนได้นำวิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง Lobster ผ่านทฤษฎีรักของ Badiou ด้วย
สารภาพตามตรงว่าฉันไม่ใช่นักอ่านที่นิยมหนังสือรัก ค่อยไปทางผู้อ่านวรรณกรรมเสียดสีและรักความเศร้าในโศกนาฏกรรม มากกว่าอ่านนิยามรักในรูปแบบต่าง ๆ แต่หนังสือเล่มนี้พี่บก.และใครหลายคนแนะนำให้อ่านทุกครั้งที่ฉันพูดถึงทุนนิยม ความเหงา และตัวตนในโลกยุคนี้ ทำไมต้องตกหลุมรักไม่ใช่หนังสือฮาวทู ไม่ได้สอนเราว่าทำอย่างไรถึงจะมีแฟน ทำอย่างไรถึงจะเป็นคนรักที่ดี แต่ผู้เขียนกำลังบอกเราว่าภาวะใดบ้างจะเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มเจอความรัก และหน้าตาของความรักที่พวกเราเข้าใจอาจไม่ใช่รักที่นักปรัชญานิยาม อุปสรรคตัวใหญ่ที่ทำลายความรักคือทุนนิยมที่เราคุ้นชินกันนั่นเอง
หนังสือเล่มนี้เขียนโดยสรวิศ ชัยนาม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นักเขียนขวัญใจคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องทุนนิยมและความสัมพันธ์กับชีวิต เจ้าของเดียวกับผลงาน เมื่อโลกซึมเศร้า เกร็ดความรู้สำหรับแฟนหนังสือคือ อ.สรวิศเขียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษและแปลเป็นไทยอีกที ฉันรู้เรื่องนี้จากพี่คนขายร้านก็องดิด ก็สงสัยว่าหนังสือเขียนโดยคนไทยทำไมหน้าปกมีชื่อนักแปลด้วย
ส่วนตัวฉันรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้เขียนเหมือนหนังสือวิชาการ มีการอ้างอิงและใช้สำนวนเหมือนอ่านเพเปอร์รายงานที่อาจารย์ให้ค้นคว้าสมัยทำธีสิส แต่เป็นภาษาที่เรียบเรียงดี เข้าใจง่ายและมีตัวอย่างระหว่างคำอธิบายเสมอ
ทำไมต้องตกหลุมรักมีเนื้อหาสองส่วนสำคัญ ส่วนแรกคือพานักอ่านไปรู้จักกับหลักปรัชญาความรักในมุมมองของ Badiou เชื่อมโยงกับหนังและตัวอย่างสถานการณ์ที่สอดคล้องกับทฤษฎี ส่วนที่สองคือการวิพากษ์หนังเรื่อง Lobster เกี่ยวกับความรักที่ถูกทำลายและแปรเปลี่ยนให้เป็นเพียงโรแมนซ์ ในสังคมดิสโทเปียที่ยากจะเกิดขึ้นได้ในสังคมเช่นนั้น ฉบับที่ฉันอ่านเป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับนี้มีความพิเศษที่มีเรื่องราวความรักที่เพิ่งจบลงของผู้เขียนด้วย ฉันได้ฟังประสบการณ์ความรักที่จบลงของนักเขียนที่สอนฉันมองความรัก ถือเป็นสัมมนาคุณพิเศษแก่นักอ่านขี้สอดอย่างฉัน
อ.สรวิศเริ่มแนะนำ Badiou นักปรัชญาลัทธิคอมมิวนิสต์ และอธิบายความหมายพื้นฐานของความรักในนิยามของ Badiou ว่า
ความรักคือสิ่งใหม่ที่ทำลายตัวตนเก่าของพวกเรา เป็นขบถที่ทำลายขนบเดิม ทำให้ผู้ประสบภัยความรักรู้สึกสั่นคลอน ไม่ปลอดภัย และไม่สามารถควบคุมได้ในขั้นเริ่มต้น
พวกเขาต้องใช้ความกล้าหาญที่จะตกลงไปในหลุมของความรักระหว่างกัน ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอะไรอยู่ในหลุมนั้น ความกล้าหาญคือประตูบานแรกที่เราอนุญาตให้ตัวเองรู้จักกับความรัก เพราะโลกทุนนิยมสั่งสอนให้เราออกแบบควบคุมทุกอย่างในชีวิตให้ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ไม่พลาดหรือขาดทุนอะไรเมื่อตัดสินใจกระทำการทุกอย่างในชีวิต หากแต่ความรักไม่ใช่การลงทุนที่คาดเดาได้ เราอาจสูญเสียหรือได้กำไรจากความเสี่ยงที่เราไม่รู้จัก ความรักจึงเป็นความกล้าหาญอย่างที่หนังสือเล่มนี้กล่าว
“ความรักจำเป็นต้องมีความอดทนเป็นอย่างมากต่อความไม่แน่นอน และโอกาสที่จะพบกับความผิดหวัง เราไม่มีทางที่จะรู้ล่วงหน้าได้เลยว่ามันจะเดินไปทิศทางไหน หรือพัฒนาไปอย่างไรในวันข้างหน้า ไม่มีการรับประกันว่าจะไม่เกิดความเจ็บปวด ไม่มีใครมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้คุณได้ และรับความเสี่ยงแทนคุณได้ ไม่มีใครมาตกหลุมรักแทนตัวคุณเองได้”
คำอธิบายเรื่องความกล้าหาญของมนุษย์ที่กล้าตกหลุมรัก โดยเปรียบเทียบกับความเสี่ยงในการลงทุน เป็นการอธิบายนิยามความรักกับหลักเศรษฐศาสตร์อย่างฉลาดเห็นภาพง่าย จริงด้วย! เพราะชีวิตฉันและใครหลายคนในโลกตอนนี้เปราะบางเกินกว่าที่จะขาดทุน หรือสูญเสียตัวตนในโลกทุนนิยมที่กำลังขูดรีดเราอย่างสาหัส ถ้าความรักจะเข้าหาและคาดการณ์ไม่ได้ ใครหลายคนคงไม่อยากเสี่ยงลงทุนในพอร์ตหุ้นที่เราไม่คุ้นชิน
ทำไมต้องตกหลุมรัก บอกเราว่ารักต้องเกิดด้วยความบังเอิญ ไม่ใช่การประเมิน คาดการณ์ หรือจัดวางว่า เอาล่ะ เช้าวันนี้ฉันจะรักใครสักคน เราสั่งความรักแบบนั้นไม่ได้ Badiou กล่าวว่าความรักเริ่มต้นจากการพบกันโดยบังเอิญเสมอ อาจจะเป็นรักแรกพบหรือรักระหว่างที่ทั้งสองไม่รู้ตัว ในคำอธิบายนี้บอกว่าความบังเอิญเป็นสถานการณ์ที่เดาไม่ได้ ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และเมื่อใดเราจะรักใครสักคน
ความรักในมุมของ Badiou มีความสับสน ความไม่สบายใจและความวาบไหวในความไม่รู้อยู่ในนั้น ความรักเป็นอันตรายกับคนตกหลุม เพราะพวกเขาจะเจอกับตัวตนใหม่ที่ไม่รู้จัก ความรักทำให้เราทำอะไรงี่เง่าไม่สมเหตุสมผล และเราควบคุมตัวตนใหม่นั้นไม่ได้
ความรักที่ปลอดภัย คาดเดาและจัดวางว่าจะรักใครสักคน ไม่ใช่ความรักในนิยามของหนังสือเล่มนี้ นั่นเป็นเพียงโรแมนซ์ (Romance) เป็นเพียงความรู้สึกดีที่พวกเขาอยากได้รับจากฝ่ายตรงข้าม ความรู้สึกเติมเต็ม มีอีกคนเป็นส่วนหนึ่งให้ตัวตนเขาดีขึ้น เป็นเพียงความสัมพันธ์ตามขนบที่ควบคุมและออกแบบได้ เป็นความสัมพันธ์แบบปลอดภัย ไม่อยากเจ็บปวด ไม่แม้แต่จะกล้าเสี่ยง
การหาแฟนผ่านแอปฯ หาคู่ออนไลน์เป็นเพียงโรแมนซ์และไม่ใช่รักจริงในนิยามของ Badiou เรามองหาคนที่เราสนใจและคิดว่าเธอหรือเขาคนนั้นจะเข้ากับเราได้ ไม่น่าจะทำให้เราผิดหวัง เราคัดเลือก ประเมินและดำเนินความสัมพันธ์ที่เราออกแบบไว้ ราวกับเลือกซื้อสินค้าในชั้นวางของตลาดทุนนิยม ความสัมพันธ์นั้นไม่ใช่ความรักหากแต่เป็นเพียงโรแมนซ์ที่ปลอดภัยในนิยามของหนังสือเล่มนี้
ฉันสนใจคำอธิบายข้างต้นนี้มากเพราะมีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ประการแรกฉันเห็นด้วยกับความรักคือความกล้าหาญที่เราต้องเสี่ยง เราต้องกล้ารู้จักตัวตนใหม่ของเราและเขา (Them) กล้ายอมรับความผิดหวังหรือสมหวังที่เราเดาไม่ได้ สิ่งนี้ฉันเห็นด้วยและเคยประสบกับตัว
ความบังเอิญและรักออนไลน์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากกกมากกก ในโลกปัจจุบันโดยเฉพาะประเทศย่านนี้ที่มีชื่อเดิมว่าสยาม เพราะความบังเอิญที่ Badiou และผู้เขียนกล่าวจะเกิดได้อย่างไรในประชากรที่ต้องทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ในเมืองที่ไม่มีพื้นที่สร้างสรรค์ให้ตัวตนได้แสดงออก และเจอคนโดยบังเอิญในพื้นที่สาธารณะ มากที่สุดคงเป็นรถขนส่งที่ไม่เอื้อให้สบตาหรืออารมณ์ดีใส่คนจนตกหลุมรักในแรกเจอ ความบังเอิญในสภาพสังคมเช่นนี้ดูจะเกิดขึ้นยากสำหรับฉันและคนร่วมสมัยเดียวกัน นั่นทำให้เราขอเลือกสร้างความบังเอิญขึ้นเองผ่านแอปฯ หาคู่ ขอปัดเจอใครสักคนโดยบังเอิญก็แล้วกัน นั่นอาจเป็นความหวังเดียวที่เราจะพบรักได้ในประเทศแร้งรักเช่นนี้
“ในอีกฟากหนึ่งของสังคมคือแรงงานซึ่งอยู่ในสภาวะหมิ่นเหม่ ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วไม่ได้วิ่งตามความสำเร็จ แต่ดิ้นรนเพื่ออยู่รอดไปวัน ๆ พวกเขาอาจมองว่าความรักและการผูกมัดเป็นภาวะทางอารมณ์และทางการเงิน ที่หนักหนาเกินไปสำหรับการดำรงชีวิตที่ตึงเครียดและง่อนแง่นมากพออยู่แล้ว เช่นกันความรักก็เป็นความเสี่ยงที่ไม่คุ้มจะลอง” (หน้า 69)
ทำไมต้องตกหลุมรักบอกเราว่าความรักทำลายตัวตนที่เราเคยเชื่อ ทำลายความหลงตัวเองที่ทุนนิยมประกอบสร้างในตัวเรา ความรักไม่ใช่การตามหาสิ่งเติมเต็มใหม่ ๆ ที่จะมาเสริมตัวตนเดิมของเรา หากแต่ความรักคือการทำลายล้างตัวตนและความหลงตัวเองที่ทุนนิยมบอก กลายเป็นตัวตนใหม่กับตัวตนที่สร้างขึ้นพร้อมกันกับคนรักของเขา หนังสือเล่มนี้บอกเราว่า ความรักคือการต่อต้านทุนนิยม
“ความหลงตัวเองไม่ใช่เพียงการรักตัวเองแบบธรรมดา ๆ ในภาวะความหลงตัวเอง เราจะจมลงไปในตัวเราเอง เรามองไม่เห็นคนอื่น คนหลงตัวเองจะเห็นและเชื่อมโยงคนอื่นในแบบที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางเท่านั้น …กล่าวสั้น ๆ คือ คนที่หลงตัวเองมองคนอื่นเป็นกระจกสะท้อนตัวเอง” (หน้า 76)
นักอ่านอย่างฉันเห็นด้วยกับข้อนี้ที่ว่าทุนนิยมสร้างความหลงตัวเองและความเชื่อว่าเราดีที่สุด เราต้องมองหาสิ่งดีที่สุดเข้ามาเติมเต็มตัวตนที่โลกทุนนิยมหล่อหลอมให้ฉันเชื่อ การมองหาความสัมพันธ์เพียงเพื่อยืนยันตัวตนเดิม เติมเต็มความหลงตัวเอง และเป็นกระจกสะท้อนตัวตนที่ทุนนิยมหลอกให้เราเชื่อ จึงเป็นเพียงโรแมนซ์หรือไม่ใช่ความรักอย่างที่หนังสือนิยาม เราเหนื่อยล้าและอ่อนแอเกินจะเสี่ยงทำลายตัวตนเดิมที่เคยสร้าง ไปหาความรักที่เราไม่คุ้นชิน เราส่วนใหญ่ในทุนนิยมยุคปลายจึงเริ่มกลัวที่จะตกหลุมรักกันมากขึ้น
เนื้อหาส่วนที่สองเป็นการอธิบายทฤษฎีรักของ Badiou ในภาพยนตร์เรื่อง The Lobster (2015) กำกับโดย Yorgos Lanthimos หนังสือบอกเราว่าหนังรักเรื่องนี้ไม่ใช่รักแท้ (True Love) แต่คือการเอาตัวรอดของมนุษย์ที่ถูกบังคับให้หาคู่ในสังคมดิสโทเปีย และความรักถูกกีดขวางไม่ให้เกิดขึ้นและไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในหนังเรื่องนี้
*** Spoil Alert
เรื่องย่อของ The Lobster เริ่มจากพระเอกถูกจับมาอยู่ในโรงแรมที่คล้ายกับเรือนจำ จองจำบุคคลไร้คู่ทั้งหลายรวมกันไว้ที่นั่น ทุกคนไม่มีสิทธิออกจากโรงแรมจนกว่าจะหาคู่ใหม่ได้ภายใน 45 วัน ถ้าสำเร็จเขาจะได้กลับไปอยู่ในเมือง ถ้าไม่สำเร็จจะถูกทำให้กลายเป็นสัตว์และปล่อยเข้าป่าไป เงื่อนไขของการหาคู่คือมองหาคนที่มีลักษณะเหมือนกันอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้กลายเป็นสัตว์ไปแล้วถ้าสามารถจับคู่สิ่งมีชีวิตที่เหมือนกัน ก็สามารถคืนชีวิตมนุษย์กลับสู่เมืองได้เช่นกัน กุ้งล็อบสเตอร์คือสัตว์ที่พระเอกเลือกเป็นหากทำไม่สำเร็จ ฉันเล่าย่อเพียงเท่านี้จะได้ไม่เสียอรรถรสก่อนที่ทุกคนจะไปหาหนังสืออ่าน เปิดหนังเรื่องนี้ดู
ผู้เขียนวิพากษ์ว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องน่าหดหู่ ที่สังคมกำหนดกฎเกณฑ์ความรักให้กับปัจเจก กลายเป็นทางรอด และหน้าที่ที่ต้องมองหาปัจเจกที่เหมือนกัน ประเมินความปลอดภัยในความสัมพันธ์และลดทอนความรักเป็นเพียงภาระทางสังคมที่ต้องเอาตัวรอด อีกทั้งความสัมพันธ์ที่มองหาในโรงแรมแห่งนั้น เต็มไปด้วยคนหลงตัวเองที่ตามหาสิ่งเหมือน สิ่งควรค่ามาเติมเต็มและสะท้อนตัวตนเดิมของตัวเอง มากกว่าจะเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่จะตกหลุมรักในความสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ความรักในโรงแรมนั้นบังคับให้เราหลอมรวมสิ่งที่เหมือนและคาดการณ์ได้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นตัวตนเดิมที่พวกเขาเคยเป็น ไม่ใช่ตัวตนใหม่ที่ทั้งสองไม่คุ้นชิน และร่วมสร้างขึ้นในห้วงภวังค์รักที่ Badiou บอกเราในช่วงต้นของหนังสือ
เมื่ออ่านมาถึงบทนี้กว่าจะรู้ตัวอีกทีคุณอาจกลายเป็นคนเบียวรักแท้ไม่ใช่แค่โรแมนซ์เหมือนที่ฉันเป็นไปแล้วก็ได้ การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนได้นั่งฟังอาจารย์สอนความใจร้ายของทุนนิยมที่เข้าแทรกแซงปัจเจกตัวจิ๋วอย่างเราในทุกอณูรูขุมขน แม้แต่ความรักที่ควรสงวนไว้เป็นเรื่องของมนุษย์สองคนกลับถูกทุนนิยมเข้ามาจัดการ
ฉันอาจทนได้กับความเหนื่อยล้าทางกายในฐานะแรงงานในโลกทุนนิยม ยอมอ่อนโอนให้ฟันเฟืองนี้หมุนไป แต่เมื่อปิดหนังสือเล่มนี้ลง
ฉันคงทนไม่ได้ให้มันมาทำร้ายความรักซึ่งพิศวง และน่าลองเสี่ยงตกหลุมรักอีกหลาย ๆ ครั้งก่อนตาย