เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การเปิดตัวของอัลบั้ม ‘เพื่อชีวิตกู’ จากวงไททศมิตร กลิ่นอายของเพื่อชีวิตยุคเก่า ผสมกับจังหวะของยุคสมัยใหม่ เนื้อหาที่ปรับไปตามยุคสมัย คงจะกล่าวไม่ผิด ถ้าเรียกการมีอยู่ของอัลบั้มนี้ ในปี 2565 ว่าแนวดนตรีเพื่อชีวิต ได้กลับมาเป็นอีกหนึ่งดนตรีในกระแสหลัก หรือกลายเป็น Popculture สำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน ได้เต็มปากเต็มคำ
ทว่า การที่ดนตรีเพื่อชีวิต กลับเข้าสู่วงโคจรของดนตรีกระแสหลัก ที่ผู้คนบริโภคกันมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับในยุคก่อนหน้า ที่ดนตรีแนวป๊อป ร็อก และอื่น ๆ ได้เข้ามามีพื้นที่มากขึ้น การที่ดนตรีเพื่อชีวิตกลับมาทำงานกับบริบทในสังคม กำลังบอกเล่าอะไรกับสังคมไทย
De/code นำความสนใจนี้ ไปพูดคุยกับ กลุ่มคน 3 อาชีพ ทั้งอาชีพรับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) Sex Worker และนักดนตรี เพราะเหตุใดเพลงเพื่อชีวิต ถึงได้หยิบยกเรื่องราวของคนเหล่านี้มาใส่ในบทเพลงอยู่เสมอ และในยุคที่ทุกคนต้อง ‘สู้ชีวิต’ แต่ชีวิตมัก ’สู้กลับ’ เพลงเพื่อชีวิตกลับมามีบทบาทอย่างไรในสังคมไทย ผ่านเรื่องราว มุมมอง และข้อคิดจาก สามอาชีพสามัญประจำเพลงเพื่อชีวิต
หาเช้า (ถ้าหาได้ก็) กินค่ำ
เรียบจบปริญญาตรี มหาวิท’ลัยก็อย่างดี ใช้ชีวิตสุขี ตามสบาย ตามสไตล์ ใส่กางเกงต้อง Levi’s
เพียงท่อนแรกของเพลง เสื้อกั๊ก ในอัลบั้มเพื่อชีวิตกู เราก็เห็นหลายมิติที่ทับซ้อนกันในอาชีพของวินมอเตอร์ไซค์ ทั้งมิติจากสายตาของคนในอาชีพ คนแต่งเพลง และคนทั่วไป
วินัย ภูมิสุวรรณ เล่าจุดเริ่มต้นในการมาประกอบอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือที่เราเรียกกันอย่างสั้น ๆ ว่า วินมอ’ไซค์ วินัยเล่าว่า ตนได้เริ่มมาประกอบอาชีพนี้ตั้งแต่อายุ 17 ปี ตั้งแต่ที่แม่เสียชีวิตไป พื้นเพของวินัยเกิดและโตที่จังหวัดชุมพร โดยประกอบอาชีพนี้อยู่ที่ชุมพรเป็นเวลา 30 กว่าปี และได้เข้ากรุงเทพฯ และอาศัยอยู่จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบัน วินัย ก็ยังประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่หน้าวัดประดู่ทรงธรรม ย่านเกียกกาย-เตาปูน
“อาชีพนี้มันถ้าล้อไม่หมุน เราก็ไม่มีตังค์” วินัย นิยามอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผ่านประสบการณ์ 50 กว่าปี ตั้งแต่อายุ 17 จนถึง 62 ปี นอกจากจะรับงานในฐานะวินมอเตอร์ไซค์แล้ว วินัยยังรับจ้างส่งของต่าง ๆ ตามแต่คนจ้าง ทั้งรับส่งดอกไม้จากปากคลองตลาด รวมไปถึงงานส่งของอื่น ๆ ไม่ต่างจากใน MV ที่นอกจากจะรับส่งผู้คนแล้ว ยังต้องรับจ้างขนของ รับจ้างขัดรองเท้า และอื่น ๆ
วินัยเล่าว่า หากรับงานอย่างขยัน รายได้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000-2,000 บาทต่อวัน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดรายได้ก็หดหายลงอย่างมาก “ซึ่งอาชีพเหล่านี้ รัฐเขาก็ไม่ค่อยได้ลงมาดูแลอยู่แล้ว” ทั้งผลกระทบทางตรงที่เกิดขึ้นกับเหล่าคนรับจ้าง หรือปัญหาที่กระทบทุก ๆ คนอย่างราคาน้ำมัน รวมถึงข้าวของอุปโภค บริโภคที่แพงขึ้น อาชีพเหล่านี้ต้องแบกรับไว้อย่างลำพัง จึงไม่แปลก ที่อาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จะถูกหยิบยกมาใส่ไว้เป็นหนึ่งในอาชีพของเพลงเพื่อชีวิตอยู่เสมอ
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ เราจะเห็นอาชีพไรเดอร์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ สามารถทำเงินได้มากกว่าพนักงานประจำหลาย ๆ แห่ง แต่สถานะที่คลุมเครือกับคำว่า ‘พาร์ตเนอร์’ ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ได้ต่างอะไรกับแรงงานในแพลตฟอร์มอยู่ดี ในขณะเดียวกัน อาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือวินมอ’ไซค์ ที่ดูเหมือนจะเป็นนายตัวเอง ถึงอย่างนั้น ต้นทุนค่าใช้จ่ายในชีวิตหลาย ๆ อย่าง ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเทอมลูก ก็ดูจะเข้าเนื้อโดยตรงมากยิ่งขึ้น
การไม่มีสวัสดิการทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนมารองรับ ทำให้อาชีพ ’ขับขี่รับจ้าง’ ในสังคมไทย ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากมายเหล่านี้ ที่ยังไม่ได้นับเงิน ที่ไว้เหลือเก็บเหลือออม เพื่อไว้ลงทุนหรือใช้สอยด้านอื่น ๆ ในชีวิต
อาชีพนี้จึงดูเป็นอาชีพที่ไม่ได้มีความมั่นคงในชีวิต และอคติในอาชีพก็ยังคงมีอยู่ ยิ่งถ้าเป็นอย่างในเนื้อเพลงข้างต้น หากจบมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่มาประกอบอาชีพวินมอ’ไซค์แล้วล่ะก็ คงไม่พ้นต้องโดนสังคมและคนรอบข้างตั้งคำถาม
ทว่า วินัย ยังคงภูมิใจกับอาชีพของตน วินัยให้เหตุผลว่า นอกจากความผูกพันที่มีต่ออาชีพ คือความอิสระ อคติที่สังคมมอบให้กับอาชีพรับจ้างนี้ วินัยมองว่า ไม่ว่าจะอาชีพใด ต่างก็มีคนดีและคนแย่อยู่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเรามองอาชีพที่เราประกอบไว้ว่าอย่างไร และเราให้ความจริงใจต่ออาชีพของเรามากแค่ไหน
“ทุกอาชีพมันต้องใช้ความสามารถเหมือนกันหมด แต่อย่างอาชีพของผม คือต้องมีใจบริการ อยู่ให้ได้ อยู่ให้เป็น เพราะเราทำงานกับทุกคน” วินัย ยังกล่าวเสริมว่า จริง ๆ ทุกอาชีพควรจะถูกพูดถึงในฐานะอาชีพเพื่อชีวิตเหมือนกันหมด เพราะทุกอาชีพก็มีหน้าที่แตกต่างกันออกไป และควรจะได้รับการส่งเสริมเช่นเดียวกัน
ความเป็น ‘เสื้อกั๊ก’ ที่เป็นสัญลักษณ์และความหมายของอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง อย่างที่วงไททศมิตรต้องการจะบอกเล่า จึงไม่ได้ต่างอะไรกับสิ่งที่วินัยนึกคิด ภายใต้สังคมไทยที่ว่าด้วยชุดความคิดของ ’เจ้าคนนายคน’ พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงมักจะ
อยากให้ลูกชายเป็นใหญ่เป็นโต ใส่สูทโก้ๆ มากกว่าจะใส่ เสื้อกั๊กเปื้อนเหงื่อ อย่างที่บทเพลงว่าไว้
การต่อสู้ภายใต้บทเพลงที่วงไททศมิตรนำเสนอ จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องปลอบประโยน ในการสู้หาเงินวันต่อวันของอาชีพรับจ้าง แต่กลับตั้งคำถามต่อ ความคิดเชิงโครงสร้างของบริบทในสังคมไทย ว่าเรายอมรับอาชีพทุกอาชีพจริงหรือไม่ ถ้าหากคน ๆ นั้นชอบและสามารถเลี้ยงชีพโดยอาชีพเหล่านั้นได้ อคติของสังคมจะลดลงหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดแล้วเราทุกคนต่างก็เป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนสังคมเหมือน ๆ กัน
ลงจากเนินเผชิญเมืองใหญ่ ใช้ความใคร่เป็นเงินแลกมา
2527/1984, คาราบาว – นางงามตู้กระจก
2535/1992, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ – ไถ่เธอคืนมา
2562/2019, ไววิทย์ – กระดังงาเกรียมไฟ
2565/2022, ไททศมิตร – ดวงดารา
คอมเมนท์หนึ่งใต้คลิปเพลง ‘ดวงดารา’ ในยูทูบ ชวนให้พินิจถึงอาชีพ Sex worker ในยุคที่เราสามารถเป็น Sex creator กันได้อย่างแพร่หลายในแพลตฟอร์มออนไลน์
จากคาราบาว จนถึงไททศมิตร อาชีพ Sex worker มันเพื่อชีวิตอย่างไร ทำไมถึงมีการกล่าวถึงอาชีพนี้ในทุกยุคทุกสมัย
เนย(นามสมมติ) ประกอบอาชีพสาวเอนเทอร์เทนหรือ ‘เด็กเอนฯ’ ‘เด็กดริ้ง’ ตามแต่ที่คนจะเรียก เนยเป็นสาวเชียงใหม่ ห่างออกไปจากตัวเมือง เนยเริ่มออกจากบ้านและเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 17 จนปัจจุบันอายุได้ 23 ปีแล้ว ถึงแม้ว่าเนยจะนิยามอาชีพตัวเองว่า สาวเอนเทอร์เทน แต่เนื้องานที่เนยทำนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่การนั่งดริ้งตามร้านประจำเพียงอย่างเดียว เนยยังต้องรับงานจ้างข้างนอก วันหนึ่งอาจจะถึง 2-3 งานเป็นอย่างต่ำ เนยเล่าให้ฟังว่า เนยยังเคยเป็น ‘เด็กเสี่ย’ และรับงานเป็น ‘ไซด์ไลน์’ เช่นเดียวกัน
เนยเล่าถึงสาเหตุที่ออกจากบ้าน “เรามีปัญหากับที่บ้าน เรามีน้องชายอีกหนึ่งคนที่ยังเด็กอยู่ เราเป็นห่วงน้องนะ แต่เราก็ทนคนแก่ที่อยู่ที่บ้านไม่ไหวเหมือนกัน” ระหว่างบทสนทนา ที่เราไม่ได้รู้สึกยินดีที่ได้พบเจอชีวิตหนึ่งเหมือนในบทเพลง เนยเล่าว่า เนยอยากลองมาแสวงหาชีวิตที่ดีในเมืองกรุง ทว่าชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว อย่างคำโฆษณาที่คุ้นหูคุ้นตากันนั้น คงเป็นเพียงคำสวยหรูที่ติดอยู่ใต้รางรถไฟฟ้าใจกลางเมือง
ชีวิตดี ๆ ที่เนยใฝ่หา ไม่ใช่การร่ำรวยมากมาย จากวัยเด็กจนถึงก่อนจะออกมา เนยกล่าวว่า ตนไม่ได้อยากมีชีวิตอย่างผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้าน ที่เป็นภาระให้กับลูกหลานมาคอยดูแล ถ้าเลือกได้เธออยากจะมีชีวิตจนถึงสัก 40 ก็พอ
“ถ้าอายุมากกว่านั้น ร่างกายเราคงทำอะไรมากไม่ไหว เราไม่อยากอยู่ให้เป็นภาระใคร อายุเท่านี้น่าจะพอให้ดูแลตัวเองได้ด้วยตัวคนเดียว เราก็เลยใช้ชีวิตให้สุดในทุกวัน” เนยกล่าวถึงสาเหตุของการที่รับงานจำนวนมากต่อวัน บางวันก็ 10 ชั่วโมง บางวันก็ 15 ชั่วโมง ระหว่างบทสนทนาเลยก้ำกึ่งอยู่ที่เนย รับงานเพื่อได้เงินเยอะ ๆ หรือเพียงแค่ตัวเอง ไม่ได้อยากจะมีชีวิตยืนยาวขนาดนั้น
เนยยังเล่าให้ฟังอีกว่า ตนเคยคิดอยากจะมีความรักจากงานที่ทำเหมือนกัน ไม่ใช่ในฐานะของเงิน แต่ในฐานะของการมีใครสักคนมาร่วมใช้ชีวิตด้วยกัน “แต่มันเป็นไปไม่ได้หรอก เรื่องพวกนี้สำหรับอาชีพอย่างเรา ทั้งในความจริง หรือในความฝันก็ตาม”
ในอัลบั้มเพื่อชีวิตกู มีเพลงที่พูดถึงอาชีพ Sex worker อยู่ 2 เพลง คือเพลง ‘ดวงดารา’ และเพลง ‘โคโยตี้’ บริบทที่ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิมนัก แต่ไททศมิตรยังเน้นย้ำถึงปมปัญหาเดิม ๆ ของความยากลำบากและการต่อสู้กับอคติในอาชีพเหล่านี้ต่อสังคมไทย ทั้งอาชีพขายบริการทางเพศ และอาชีพโคโยตี้
คำถามคือ คุณภาพชีวิตดี ๆ ที่เนยตามหา มีอยู่จริงไหม การมีเงินทองมากมายหากปราศจากรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมกับประชาชนทุกอาชีพ สามารถที่จะพาเนยไปถึง ชีวิตดี ๆ ได้หรือไม่ วันที่เรื่องราวของ Sex worker จะถูกปฏิบัติให้เป็นเรื่องปกติ จะเกิดขึ้นได้จริงไหมในสังคมไทย
เพราะการที่เรื่องราวความขมขื่นในบทเพลง กลายเป็นคนจริง ๆ ปรากฎอยู่ตรงหน้า ทำให้เราต้องกลับมาคิดอีกทีว่า ชีวิตที่ต้องสู้ในทุกวัน เพื่อ ‘ชีวิต’ นั้นเป็นชีวิตแบบไหนกันแน่
จากเพื่อชีวิต จนถึง มีชีวิตอยู่เพื่อ
De/code ได้พูดคุยกับจ๋ายและโมส นักร้องนำวงไททศมิตร ทั้งในฐานะนักดนตรี อีกหนึ่งอาชีพที่ถูกหยิบยกมาเป็นเรื่องราวของเพลงเพื่อชีวิต รวมถึงทุกวันนี้ ที่เป็นอีกกลุ่มคน ที่จุดให้ดนตรีเพื่อชีวิตกลับมาทำงานกับสังคมมากขึ้น จนสามารถกลายเป็นดนตรีหรือวงในกระแสหลักได้
ทั้งคู่ ให้ความเห็นว่า จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่พวกตนที่ทำให้ดนตรีเพื่อชีวิตสามารถเป็น Pop culture แต่คนเพื่อชีวิตอีกหลายกลุ่มที่สร้างมันมาเรื่อย ๆ และในปัจจุบันที่กระแสสังคมก็ได้ตอบรับกับเพลงเพื่อชีวิตพอดี การเป็นเรื่องราวกระแสหลักของวงไททศมิตร จึงไม่ได้เป็นการทำงานของคนแค่กลุ่มเดียว
เพื่อชีวิต ในสายตาของจ๋ายและโมส ไม่ใช่แค่แนวดนตรีเพียงอย่างเดียว ทว่าเพื่อชีวิต คือแนวคิดและวิธีใช้ชีวิตต่างหาก “ในมุมมองผม ถ้าเพื่อชีวิตเป็นแนวดนตรี มันคงเป็นอะไรที่เล่าเรื่องอย่างธรรมดามาก ๆ ” สิ่งที่ครอบคลุมเนื้อหาเหล่านั้นไว้ คือแนวดนตรีอื่น ๆ อย่างร็อก อัลเทอร์เนทีฟ เป็นต้น เพราะฉะนั้นการจำกัดความ เพลงเพื่อชีวิตด้วยเสียงดนตรีเพียงอย่างเดียว คงจะทำได้ยากหากไม่ได้พิจารณาถึงเนื้อหาที่เล่าถึง
ดนตรีเพื่อชีวิตแทบจะอยู่ในทุกช่วงเวลาของสังคมไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ละยุคก็จะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน จนเพื่อชีวิตแบบที่เราคุ้นหูคุ้นตา คือเพื่อชีวิตในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน ราว ๆ พ.ศ. 2514 ในช่วงต้นที่เนื้อหาว่าด้วยการเรียกร้องอิสรภาพในสังคม จนเนื้อหาก็ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลง อย่างการบอกเล่าสภาพสังคม การเล่าเรื่องคนข้างล่าง รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ อย่างการเป็นเพลงปลุกใจ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
จ๋ายกล่าวด้วยว่า ในยุคแรก ๆ นั้น เพื่อชีวิตมันเกิดจากการแต่งเพลงโดยเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น เช่น กีตาร์ 1 ตัว ก็สามารถแต่งเป็นเพลงได้แล้ว แนวดนตรีของเพลงเพื่อชีวิตในยุคปัจจุบันอย่างที่เราเห็น ก็ได้รับอิทธิพลจากยุคก่อนหน้าด้วยเช่นกัน
หลังจากนี้เพื่อชีวิตในอนาคตจะเป็นอย่างไร จ๋ายตอบสั้น ๆ เพียงว่า “ถ้าผมรู้ ค่ายที่ผมกำลังทำ คงดังแน่ ๆ ” นอกเหนือจากการเป็นนักร้องนำวงไททศมิตร จ๋ายกำลังทำค่ายเพลงเพื่อชีวิตอย่าง ‘เก้าอัคคัญญ์’ ด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับโมส ก็เชื่อว่า อนาคตข้างหน้ายังเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดเดาได้ “เราไม่รู้เลยว่า อนาคตคนจนจะจนกว่านี้มั้ย และคนรวยจะรวยสุด ๆ กว่านี้รึเปล่า แต่เชื่อว่ายังไง ความเพื่อชีวิตมันจะยังมีต่อไปในสังคม เพียงแต่ว่าเรื่องราวในอนาคตจะถูกเล่าแบบไหนมากกว่า”
หลังเสียงหัวเราะของจ๋าย จ๋ายกล่าวเสริมว่า จริง ๆ แล้วมันไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่า ดนตรีเพื่อชีวิตต้องเป็นลักษณะแบบนั้นแบบนี้ เพียงแต่มันถูกเล่าโดยใครมากกว่า อย่างไททศมิตรก็เล่าเพลงเพื่อชีวิต ภายใต้ความเป็นวัยรุ่นที่ฟังคาราบาวมาก่อน ศิลปินเพลงป๊อปอีกหลายคน ก็ทำหน้าที่ในการเล่าเรื่องเพื่อชีวิตเช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้ว ดนตรีเพื่อชีวิต จึงไม่ใช่แค่ภาพจำแบบเดิม ๆ ในอนาคต เราอาจจะเห็นเพลงแจ๊ซ ทำหน้าที่เป็นดนตรีเพื่อชีวิตก็ได้
เพื่อชีวิตที่แตกต่างกันออกไป การมีชีวิตอยู่ของแต่ละคน ก็ย่อมไม่เหมือนกัน
ทุกวันนี้ตนมีชีวิตอยู่เพื่อลูก เพื่อหลาน “ครอบครัวเป็นทุกอย่างสำหรับผม” การทำงานรับจ้างซึ่งเป็นงานที่รัก และมีชีวิตอยู่เพื่อคนในครอบครัว นั่นคือความหมายในการมีชีวิตอยู่ของวินัย โมสก็เช่นกัน โมสมีชีวิตอยู่เพื่อลูกและครอบครัว โมสกล่าวว่า การมีชีวิตอยู่ของเขา ก็เพื่อรอดูลูกเติบโต เป็นที่พักพิงให้กับเขา
ชีวิตที่มีอยู่ในทุกวันนี้ คือการดำรงอยู่เพื่อตัวเอง ชีวิตคงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนสำหรับเนย การมีชีวิตอยู่ในทุก ๆ วันก่อนจะถึงวันจากไป คือการหาคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ให้เพียงพอสำหรับตัวเอง – เนย
ชีวิตที่มีอยู่ของตน คือการสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น อย่างน้อย ๆ คือทำให้มันน่าอยู่ขึ้น ทั้งในฐานะศิลปินและในฐานะคน ๆ หนึ่ง ไม่ว่าจะจากการรังสรรค์บทเพลง หรือกระทั่งการใช้ชีวิตต่อคนรอบข้าง เช่นเดียวกันกับโมส ทั้งคู่ในฐานะของศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ก็อยากให้บทเพลงเพื่อชีวิตของวงไททศมิตร ได้ทำหน้าที่เหล่านี้กับสังคมและคนฟัง – จ๋าย
เพื่อชีวิต ที่แต่ละคนแตกต่างกันออกไป กลับกัน เป้าหมายที่แต่ละคนมีชีวิตอยู่มีจุดร่วมเหมือนกัน คือการใฝ่หาชีวิตที่ดี ให้กับตัวเอง คนรอบข้าง รวมถึงถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมกลับคืน
สิ่งที่น่าคิดต่อคือ อุดมการณ์ใด ๆ คงไม่สามารถที่จะดำเนินต่อไปได้ ถ้าหากคนเพื่อชีวิตเหล่านี้ ยังไม่สามารถมีชีวิตอยู่เพื่อที่จะทำมัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องตามหากันต่อไป คือสังคมที่จะทำให้ทุกชีวิต สามารถที่จะทำตามอุดมการณ์ของตนได้
เพื่อชีวิต ‘กู’
ดนตรีมักจะสอดคล้องกับสังคมในทุกช่วงขณะ ดนตรีแนวหนึ่งที่ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย หนึ่งในนั้นคือดนตรีเพื่อชีวิต การมีอยู่ของดนตรีเพื่อชีวิต อาจจะเป็นทั้งการปลอบประโยนให้สู้ชีวิตไปได้ในแต่ละวัน รวมถึงกึ่ง ๆ จะเป็นหอจดหมายเหตุ สำหรับสังคมในบางประเด็น
ฉะนั้นแล้ว การเป็นหอจดหมายเหตุสำหรับคนทั่วไปของเพลงเพื่อชีวิต คือการบันทึกเรื่องราว ความหมาย ของแต่ละสิ่ง ที่สังคมแต่ละยุคสมัยให้นิยามไว้ เช่นเดียวกันกับเพื่อชีวิตกู ที่เรื่องราวในเพลงเพื่อชีวิต ก็มีการตีความหมายที่กว้างขึ้น หลากหลายอาชีพ ความแตกต่างของผู้คนที่ยังต้องสู้กับสังคม ถูกหยิบยกขึ้นมาชูให้เห็นถึงความสำคัญต่อผู้ฟัง
เพื่อชีวิตที่แตกต่างและความหลากหลายของชีวิตไม่เหมือนกัน เหล่าผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกคน ให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันที่ว่า มันไม่ใช่แค่อาชีพเหล่านี้ ที่สมควรถูกหยิบยกมาใส่ในเพลงเพื่อชีวิต อาชีพทุกอาชีพ คนทุกคน ต่างก็เป็นเรื่องราวที่ควรค่าแก่การจะถูกหยิบยกในเพลงเพื่อชีวิตเหมือนกัน
เพลงเพื่อชีวิตไม่เคยหายไปจากสังคมไทย สังคมไทยยังมอบการสู้ชีวิตให้กับคนหลายกลุ่มอยู่เสมอ ตั้งแต่อาชีพรับจ้างหาบเร่ ไปจนถึงพนักงานออฟฟิศเงินเดือนครึ่งแสนก็เป็นได้
ในยุคนี้ ที่แนวคิดของความเป็นปัจเจกบุคคลได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ‘เพื่อชีวิตกู’ ก็ดูสมกับที่จะเป็นตัวแทนของดนตรีเพื่อชีวิตในปี 2565
ในแง่หนึ่ง คือการพูดถึงความหลากหลายในสังคมของแต่ละกลุ่ม แต่ละบุคคล ได้ถูกหยิบยกมาพูดถึง
ในอีกแง่หนึ่งคือ ‘กู’ ที่ว่า ได้รวมตัวกันเป็น ‘พวกกู’ ในสังคมใหญ่ ที่ปรากฏอยู่ในบทเพลงต่าง ๆ ของอัลบั้ม ทั้งที่กล่าวถึงและไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ ทำให้เรื่องราวของปัจเจกฯ นำมาสู่ปัญหาเชิงโครงสร้าง ตั้งแต่ยุคที่เรายังขี่ม้าขี่วัวกันในกรุงเทพฯ จนทุกวันนี้ที่ตึกสูงขึ้นเต็มไปหมดในใจกลางกรุง และเราสามารถพบเห็นได้ เพียงแค่เดินออกไปหน้าปากซอย
‘เพื่อชีวิตกู’ แล้ว ‘กู’ ที่ว่ามันคือชีวิตใคร? สุดท้ายแล้วมันอาจจะไม่ใช่คำถามสุดท้าย มันอาจจะเป็นคำตอบ ที่ซ่อนอยู่ในอัลบั้มเพื่อชีวิตกู ของวงไททศมิตร ที่เราจะใช้มัน เพื่อตั้งคำถามต่อไป ในการที่จะหาสังคมที่ยอมรับความหลากหลาย ความแตกต่าง และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเราในสักวัน