’ฟอกเขียว’ ในตลาดคาร์บอนเครดิต ควักเงินจ่ายเพื่อมีสิทธิ์สร้างมลภาวะเพิ่ม? - Decode
Reading Time: 3 minutes

โลกร้อน คำที่ทุกคนต้องผ่านหูมาไม่มากก็น้อย ตลอดช่วงระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ปัญหาภาวะโลกร้อน ถูกให้ความสำคัญ จนเกิดเป็นนโยบายและการร่วมมือ ที่จะเข้ามาแก้ไขและควบคุมปัญหา ในการควบคุมการปล่อยก๊าซจำพวกตระกูลคาร์บอน อย่าง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ดูจะเป็นตัวร้ายในปัญหาโลกร้อนนี้

จึงได้เกิดแนวคิดของ คาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ รับผิดชอบต่อมลพิษที่สร้างขึ้น

ทว่า แนวคิดของคาร์บอนเครดิต แท้จริงแล้ว คือการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทเหล่านี้ รับผิดชอบต่อการใช้สอยประโยชน์ทรัพยากรของสาธารณะ หรือเป็นเพียงแค่ช่องโหว่ทางเศรษฐศาสตร์ ที่จะให้นายทุนสามารถปล่อยของเสียต่อไปได้ เพียงแค่ให้ตัวเลขของการทำกิจกรรม รักษ์โลก ในแต่ละบริษัทเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการประเมินปัญหารอบด้านที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่นั้น ๆ ด้วย

ทำความเข้าใจกับคาร์บอนเครดิตทั้งในประเทศและทั่วโลก ปัญหาใกล้ตัวที่หลายคนมอง (ไม่) เห็น

กับ กฤษฎา บุญชัย ผู้ประสานงาน Thai Climate Justice for All เพราะธรรมชาติที่แปรปรวนขึ้นทุกวัน มีมนุษย์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ไม่ใช่เหตุการณ์ทางธรรมชาติ ที่สิ่งแวดล้อมตั้งใจให้เกิดขึ้น

เมื่อตัวเลขในคาร์บอนเครดิต ไม่เท่ากับความเสียหายรอบด้านที่เกิดขึ้นจริง

“การใช้คาร์บอนเครดิต มันจะไม่สามารถบรรลุผลได้จริงเลย ถ้าการมีอยู่ของคาร์บอนเครดิต ไม่ได้ลดการปล่อยของเสียจากภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ” คาร์บอนเครดิตในสายตาของ กฤษฎา รวมถึงนักอนุรักษ์และผู้ที่ทำงานในด้านนี้ จึงมีความย้อนแย้ง และดูเหมือนจะเป็นการใช้เงินแก้ปัญหามากกว่าการแก้ไขที่ต้นเหตุ และสามารถใช้ได้ในทางทฤษฎีเท่านั้น

แต่ในโลกของทุนนิยม ภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมหาศาล อย่าง อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล อุตสาหกรรมถ่านหิน รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมเหล่านี้ ยังคงมีแนวโน้มที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น ทำให้ตลาดคาร์บอนเครดิต ไม่สามารถที่จะพาไปถึงเป้าหมาย อย่างการลดก๊าซคาร์บอนได้จริงนัก

“ปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมเหล่านี้จะต้องพึงพิจารณาคือการประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยมองจากสภาพความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น”

กฤษฎาเล่าว่า สิ่งที่บริษัทในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ทำอยู่ในปัจจุบัน เป็นเพียงแค่การสะสมคาร์บอนเครดิต ผ่านการปลูกป่า การทำพลังงานสะอาด และกิจกรรมรักษ์โลกอื่น ๆ เพื่อที่จะได้คาร์บอนเครดิตที่มากขึ้น ทว่า การทำกิจกรรมรักษ์โลก แต่ไม่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเหล่านี้ รวมถึงไม่ได้คำนึง สภาพแวดล้อมโดยรวม ทั้งดิน อากาศ น้ำ สัตว์ รวมถึงชุมชนที่เกี่ยวข้อง

“คาร์บอนเครดิต จึงเป็นเหมือนช่องโหว่ทางเศรษฐศาสตร์ ที่มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมถือตัวเลขของคาร์บอนเครดิต จากการปลูกป่า การสร้างพลังงานสะอาด รวมถึงการใช้เงินในการซื้อขายเครดิตเหล่านี้ โดยไม่ได้คิดในแง่ของนิเวศวิทยาสังคม แรงจูงใจที่จะทำให้บริษัทเหล่านี้หันมารับผิดชอบต่อสาธารณะ เป็นไปในแง่ของโอกาสทางธุรกิจเสียมากกว่า โดยไม่จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้”

กฤษฎาและนักกิจกรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก จึงมองการมีอยู่ของเครดิตคาร์บอนและตลาดคาร์บอนว่า ไม่ต่างกับการ ฟอกเขียว ที่จะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือมลพิษเหล่านี้ มีความชอบธรรมมากขึ้น ตราบใดที่ทุนใหญ่เหล่านั้น ยังเหลือโควตาในคาร์บอนเครดิต

เริ่มต้นการ ’ฟอกเขียว’ ในตลาดคาร์บอนเครดิต

คาร์บอนเครดิต เริ่มต้นจากการที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเรื่อง ภาวะโลกร้อน อุณหภูมิของโลกอาจสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 องศา ซึ่งจะสร้างผลกระทบตั้งแต่สภาพอากาศและธรรมชาติที่แปรปรวน ตั้งแต่ ไฟป่า น้ำท่วม แผ่นดินแห้งแล้ง อย่างที่เราเห็นจนเกือบจะเป็นเรื่องปกติ ที่ภัยธรรมชาติเหล่านี้เกิดถี่ขึ้นทั่วโลก จนไปถึงผลกระทบของวงจรการเกษตร ที่จะส่งผลให้อาหารการกินของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่อุดมสมบูรณ์อย่างเคย

การนั้น Technocrat ต่าง ๆ จึงได้คิดวิธีที่จะให้บริษัทในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ด้วยการใช้กลไกทางการตลาดของผู้บริโภคมากำหนด หากสินค้าใดมีป้ายกำกับหรือโฆษณาว่าลดโลกร้อน คนซื้อจะยินยอมที่จะควักกระเป๋ามากยิ่งขึ้น รวมถึงกดดันนักการเมืองและรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มประเทศฝั่งยุโรป ให้การสนับสนุนธุรกิจสีเขียวเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

จากแนวคิดมาสู่มาตรการ ที่จะให้บริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมาก อย่าง อุตสาหกรรมภาคพลังงานและอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ จึงได้เกิดเป็นคาร์บอนเครดิต ที่จะให้อุตสาหกรรมในแต่ละประเทศ รับผิดชอบในส่วนของคาร์บอนที่ตัวเองปล่อยไปในแต่ละปี

จึงได้เกิดการชักชวนกึ่งบังคับ ที่จะให้ประเทศต่าง ๆ เช่น สหภาพยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันตก ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เข้ามาทำสัญญาที่เรียกว่า “ข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต” (Kyoto Protocal) ที่จะให้ประเทศใหญ่ ๆ ลดคาร์บอนให้ได้ตามที่กำหนด และเป็นที่มาของตลาดคาร์บอนเครดิต

ซึ่งตลาดคาร์บอนมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทคือ

1.ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ เป็นการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ที่อุตสาหกรรมต้องจ่ายภาษีจากการปล่อยคาร์บอนให้กับรัฐบาล และมีรัฐบาลเป็นผู้ออกกฎหมาย

2.ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ คือตลาดคาร์บอนที่ไม่ได้มีกฎหมายมาควบคุม เกิดจากความร่วมมือของผู้ประกอบการหรือองค์กร เพื่อเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิต

โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สามารถทำได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มซื้อขาย ที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างเป็นทางการ และ 2.ซื้อขายในระบบทวิภาค เป็นการตกลงความต้องการระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย

คาร์บอนเครดิต ยังมีฐานแนวคิดจาก Net zero คือการนำตัวเลขของก๊าซคาร์บอนที่จะปล่อยได้ในแต่ละปี มาหักลบกับกิจกรรมในการรักษ์โลก อย่างเช่นการปลูกป่า หรือเรียกได้ว่า สร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อที่จะดูดซับคาร์บอนเหล่านั้น เพื่อที่จะมาทดแทนกับส่วนที่ตัวเองได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไป

ขนาดความเชื่อตามศาสนา ยังไม่สามารถหักลบระหว่างความดีกับความชั่ว ที่เป็นเรื่องนามธรรม ในการตัดสินว่าใครควรจะได้ขึ้นสวรรค์หรือลงนรก เช่นเดียวกับการหักลบหรือการชดเชยคาร์บอนเหล่านี้ ที่เห็นได้ชัดว่ามันค่อนข้างไม่สัมฤทธิผล ซ้ำร้าย บริษัทเหล่านี้ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

คำว่า ฟอกเขียว ที่กฤษฎา กล่าวถึง จึงไม่ได้ต่างกับแนวทางของการฟอกเงิน เพื่อที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวขึ้นมาจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงพื้นที่สีเขียวเหล่านั้นใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน บริษัทเหล่านี้ได้ประเมินสภาพแวดล้อมจริงหรือไม่

รวมไปถึงป่าที่ปลูกขึ้นมา ทำให้กลุ่มคนอีกกลุ่ม ที่เป็นปัจจัยต้องประเมิน อย่าง คนในพื้นที่ ถูกไล่ออกจากบ้านหรือไม่ได้ผลประโยชน์จากพื้นที่ที่ดูแลมาโดยตลอด และดูเหมือนจะถูกทำให้เป็นเครื่องมือในการรักษ์โลกของทุนใหญ่อีกชิ้นหนึ่ง

พี่ไทยอยู่ตรงไหน ในโลกของคาร์บอนเครดิต

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ ในการที่จะยกระดับดำเนินการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศ เป็นแนวทางที่ว่า “จากวันนี้ถึงปี 2030 จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ร้อยละ 40 และจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050”

ทว่า ในไทยเองก็มีบริษัทยักษ์ใหญ่ เป็นภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมหาศาลอย่าง อุตสาหกรรมพลังงาน และ อุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ รัฐไทยสามารถที่จะควบคุมการปล่อยคาร์บอนจากบริษัททุนใหญ่ในประเทศได้จริงหรือไม่ ในขณะที่ไทยเอง ยังใช้ระบบ ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ อยู่

ถึงแม้บริษัทเหล่านี้ จะมีหน่วยเฉพาะสำหรับการตรวจสอบและคำนวณการดูดซับของป่าไม้ที่ปลูก เพื่อนำไปเป็นคาร์บอนเครดิต แต่กฤษฎากลับให้ความเห็นว่า ในเรื่องของธรรมชาติ มันไม่สามารถที่จะคำนวณได้แม่นยำขนาดนั้น

“มันไม่ใช่ว่า ปลูกป่า 10 ไร่ สามารถดูดซับคาร์บอนได้ 1 ตัน ธรรมชาติมันไม่ใช่เรื่องของตัวเลขเพียงอย่างเดียว มันเป็นสิ่งที่มีความไม่แน่นอนเยอะ ปัจจัยของการดูดซับ ยังคงมีเรื่องของประเภทต้นไม้ ชนิดของดิน สภาพแวดล้อมโดยรวม”

กฤษฎา ให้ข้อมูลว่าปัจจุบัน ไทยกำลังเริ่มโครงการคาร์บอนเครดิต แต่มีแนวโน้มที่ชุมชนจะไม่ได้รับการรับรองสิทธิต่อทรัพยากร และผลตอบแทนที่คุ้มค่า

การปลูกป่าในรูปแบบของการสร้างพื้นที่สีเขียวในคาร์บอนเครดิต คือการที่เอกชนไปเสนอรัฐ ในการที่จะลงทุนกับการปลูกป่าเพื่อที่จะได้คาร์บอนเครดิตมา ซึ่งองค์กรที่ควบคุมและสนับสนุนเรื่องคาร์บอนเครดิตในบ้านเราคือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)

พื้นที่ป่าเหล่านั้น ส่วนมากมักจะเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน ที่เอกชนมาร่วมลงทุนกับชุมชน ต้องเป็นการลงทุนใหม่ไม่เกิน 3 ปี และปลูกป่าระยะยาวไม่เกิน 10 ปี

ถ้าหากมองการปลูกป่าระยะยาวภายในช่วงเวลา 10 ปี มีแต่พืชเชิงเดี่ยวเท่านั้นที่โตพอจะวัดผลต่อการดูดซับคาร์บอนที่อุตสาหกรรมเหล่านี้ผลิตออกมาได้ “ซึ่งที่เขาปลูกกันเป็นส่วนใหญ่เพื่อที่จะให้มันโตเร็วคือพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งป่าเชิงเดี่ยว ก็จะไปทำลายหน้าดิน ท้ายที่สุด พื้นที่นั้นก็ต้องกลับมาฟื้นฟูกันอีก”

ปัญหาที่ตามมาคือผลประโยชน์ของคาร์บอนเครดิตที่ชาวบ้านพึงจะได้รับ กลับน้อยกว่าที่เอกชนได้ สิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนถูกลดลง และกลายเป็น ลูกจ้างปลูกป่า แทน

กฤษฎา ยกกรณีศึกษาของประเทศยูกันดา ที่องค์กรจากแถบสแกนดิเนเวีย เข้ามาเพื่อร่วมลงทุนในการปลูกป่าในยูกันดา ซึ่งรัฐบาลยูกันดาเองก็จะได้คาร์บอนเครดิตไว้ใช้งานด้วย แต่พื้นที่ที่ถูกใช้เป็นที่ปลูกป่าสำหรับคาร์บอนเครดิต คือพื้นที่ชุมชน ทำให้ชุมชนเหล่านั้นต้องย้ายออกจากพื้นที่ กลายเป็นว่า จากที่คนอยู่กับป่า กลับถูกไล่ออกจากป่าที่ตนดูแลแทน

กฤษฎา ยังเสริมด้วยว่า ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ถูกส่งต่อมาในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่

1.รัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว – รัฐบาลประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ถูกกดดันให้นำพื้นที่มาเป็นป่าคาร์บอนเครดิต

2.ภาคธุรกิจ – สาธารณะ ที่ธุรกิจมักจะนำทรัพยากรสาธารณะอย่างป่า ไปใช้เป็นประโยชน์ของตนเองมากกว่า

3.ธุรกิจรายใหญ่ – ธุรกิจรายย่อย ของการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต รวมถึงการที่ต้องไปเป็นลูกจ้างปลูกป่าแทน ทำให้ธุรกิจรายใหญ่ ได้เปรียบธุรกิจรายย่อยตรงที่สามารถลงทุน เก็งกำไรในคาร์บอนเครดิตได้มากกว่ารายย่อย ทำให้มีแรงกดดันในการปรับตัวลดก๊าซน้อยกว่า

4.ธุรกิจ – ประชาชน ท้ายที่สุดปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนคือผู้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หรือธรรมชาติที่แปรปรวนอันเกิดมาจาก การปล่อยมลพิษเหล่านี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ คน ไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ แต่ยังรวมถึงคนในเมืองและทุก ๆ สิ่งมีชีวิต รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่จะเปลี่ยนไป กฤษฎากล่าวว่า 

“นี่จึงเป็นอีกครั้ง ที่เราต้องตั้งคำถามกันว่า การมีอยู่ของตลาดคาร์บอนเครดิต มีไว้เพื่อแก้ไขภาวะโลกร้อนให้กับคนทุกคน หรือเป็นแค่การที่อุตสาหกรรมเหล่านี้ ควักเงินในกระเป๋าเพื่อมีสิทธิ์ที่จะสร้างมลภาวะเพิ่มขึ้นหรือไม่

รักษ์โลก หรือเพียงแค่ ลักโลภ

ปัญหาของตลาดคาร์บอนเครดิต ยังมีในเรื่องของการนิยามพลังงานสะอาด โครงการอะไรก็ตามที่ถูกนับว่าเป็นคาร์บอนเครดิต เช่น เขื่อน หรือ โรงงานนิวเคลียร์ ต่างก็ถูกนับเป็นพลังงานสะอาดหมด ทั้งที่พลังงานสะอาดเหล่านี้ก็สร้างความเสียหายรอบด้านต่อสิ่งแวดล้อมไม่แพ้กัน ซ้ำร้ายยังส่งผลต่อพื้นที่มากกว่า

คาร์บอนเครดิตยังมีช่องโหว่ในการนับเฉพาะการปล่อยก๊าซจำพวกตระกูลคาร์บอนเท่านั้น แต่ก๊าซที่ส่งผลเสียชนิดอื่นอย่าง มีเทน กลับไม่ได้ถูกนับรวม ทำให้อุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซมีเทนจำนวนมาก อย่างอุตสาหกรรมการเกษตรหรือเขื่อน ไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ อีกทั้งยังได้คาร์บอนเครดิตอีกด้วย

ในปัญหาของคาร์บอนเครดิต ทั้งแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่หละหลวม รวมถึงช่องว่างทั้งตัวเลขคาร์บอนเครดิต ที่สวนทางกับความเป็นจริงและช่องโหว่ของการรักษ์โลกที่ถูกทำให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ ขณะเดียวกัน กฤษฎา ก็มองเห็นมาตรการที่จะทำให้กลไกของตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นไปได้จริง และได้เสนอเงื่อนไขที่จะอุดรูรั่วในตลาดคาร์บอนเครดิตไว้อยู่ 2 ข้อ

1.ตัดเรื่องการหักลบ นี่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของกลไกในตลาดคาร์บอน ที่เป็นโอกาสให้นายทุนใช้ทำธุรกิจ การนับผลกระทบและความเสียหายของตัวเลขที่เกิดขึ้นมาจริง ๆ ซึ่งการตัดเรื่องหักลบคือ การลงทุนเพื่อดูดซับ ลดปล่อยก๊าซของตนเองต้องเป็นเป้าหมายแรก รัฐควรสร้างแรงใจแก่ธุรกิจรายย่อยหรือกระทั่งการลงทุนในที่อื่นๆ กิจกรรอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่ดี ควรได้รับการสนับสนุนแต่ไม่สามารถเอาผลการลงทุนเพื่อให้ได้เครดิตจากกิจกรรมอื่น มาเปลี่ยนแปลงเป้าหมายการลดก๊าซในกิจกรรมของตน ข้อเสนอนี้ จะทำให้แต่ละบริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องระมัดระวังและตระหนักถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากยิ่งขึ้น

2.การประเมินรอบด้าน ด้วยกลไกของตลาดคาร์บอนเครดิต มีลักษณะของการฟอกเขียว ที่จะเพิ่มแค่สัดส่วนพื้นที่ป่าเท่านั้น แต่ไม่ได้ประเมินถึงผลกระทบหลังจากการปลูกป่า ทั้งการดูดซับคาร์บอนได้จริงหรือไม่ ความเปลี่ยนแปลงของดิน น้ำ อากาศ รวมถึงความเป็นอยู่ของชุมชนในพื้นที่ ดังนั้นประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมในระดับยุทธศาสตร์และโครงการ โดยชุมชน ประชาชนมีส่วนร่วม จะทำให้กลไกของตลาดคาร์บอนเครดิตถึงจะสามารถทำงานได้จริง

ภาวะโลกร้อนและปัญหาทางสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ดูจะเป็นเรื่องไกลตัว ทั้ง ๆ ที่จริงปัญหาเหล่านี้เป็นเหมือน ระเบิดเวลา ที่มีมนุษย์พยายามจะทำให้มันระเบิดเร็วขึ้น ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว

กฤษฎาคิดว่า ปัญหาของคาร์บอนเครดิตยังคงเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ที่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกันหลายฝ่ายและทับซ้อนกันในเรื่องผลประโยชน์ในเชิงลึก การอุดช่องโหว่เหล่านี้ ยังคงต้องรณรงค์และทำกันอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติอาจจะไม่ได้คร่าชีวิตผู้คนส่วนมาก แต่สิ่งที่จะเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษย์ คือสิ่งที่ผู้คนในวันนี้เรียกว่าผลกระทบโดยอ้อม จนวันหนึ่งอาจกลายเป็นผลกระทบโดยตรง อย่างปัญหาเรื่องอาหาร ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และอื่น ๆ

เพราะหากเรายังติดอยู่ในมายาคติของตัวเลขเหล่านี้ วันหนึ่ง ภาวะโลกร้อนอาจจะกลายเป็นหัวข้อใหญ่ของสังคมอีกครั้ง ถึงวันนั้นเรื่องที่พวกเราต้องกังวล คงไม่ได้มีแค่เรื่องของตัวเลข ทั้งคาร์บอนเครดิต อุณหภูมิโลก หรือจำนวนผู้เสียชีวิต ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ภาพปกโดย: AFP