ควันดำลอยปกคลุมเหนือท้องฟ้ายูเครน จากปฏิบัติการจู่โจมของกองทัพรัสเซียที่นิยามตัวเองว่าเป็น “การปลดปล่อยยูเครนออกจากลัทธินาซี” (de-Nazification) ซึ่ง “พวกนาซี” ที่ วลาดิมีร์ ปูติน พาดพิงถึงน่าจะหมายความถึงกองกำลังอาวุธท้องถิ่นขวาจัดที่สู้รบกับพวกแบ่งแยกดินแดนนิยมรัสเซียในดินแดนดอนบาส บางคนประดับเครื่องหมายและสัญลักษณ์ของพวกนาซีและหน่วยเอสเอส แต่ถ้าสายตายาวหน่อย แล้วมองไกลออกไป การที่ ปูติน พาดพิงถึงนาซี อาจต้องการให้ชาวรัสเซียสามัคคีกันเพื่อสนับสนุนการทำสงครามของเขา
เพียงแต่ สิ่งที่ปูตินกล่าวอ้าง ยังฟังไม่ขึ้น เพราะไม่มีหลักฐานว่ารัฐบาลยูเครนสนับสนุนแนวคิดนาซีและที่สำคัญ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ก็เป็นชาวยิว หนำซ้ำเขายังสูญเสียคนในครอบครัวในเหตุการณ์ปราบปรามชาวยิวในฮอโลคอสต์อีกด้วย
ยิ่งนานวัน นับชั่วโมงสุดท้ายของกรุงเคียฟ ยิ่งชัดเจนว่า เดิมพันของปูตินล้มเหลวในสายตาประชาคมโลก เพราะประชาชนยูเครนออกมาสู้สุดใจ แม้ในวันนึงที่รัสเซียจะสามารถยึดครองยูเครนก็ไม่อาจครอบครองได้ การตายจากสงครามครั้งนี้ไม่ได้พรากอิสรภาพไปจากพวกเขา แต่กลับชุบชูจิตใจชาวยูเครนให้ฮึกเหิมต่อต้าน แถมเกลียดชังฝังแน่น สงครามในตัวมันเองจึงมืดมน ซ่อนตัว และซึมลึกแม้จะต่างเวลาต่างบริบทกัน
โลกสีฟ้าสงครามสีดำ
สงครามที่ไม่มีสีและเป็นศัตรูคู่ตรงข้ามกับสีฟ้า ปกหน้าของ Yes to life ที่ตั้งใจให้เป็นมิตรไม่ใช่ศัตรูกับผู้อ่าน บรรจงปรัชญาแห่งการดำรงอยู่ที่เป็นมิตรกับเสรีภาพ เมื่อเข็มสั้นบอกเวลาแห่งสงครามยูเครน-รัสเซีย หนังสือเล่มนี้จึงมาได้ถูกที่ถูกเวลาและพาเราย้อนกลับไป ค.ศ.1946 เก้าเดือนหลังได้รับการปล่อยตัวจากค่ายกักกันนาซี ที่ซึ่งชีวิตได้เฉียดใกล้ความตายมากที่สุดและต้องเผชิญกับความโหดร้ายอย่างที่มนุษย์ไม่ควรได้พบ วิกเตอร์.อี.ฟรังเคิล จิตแพทย์ชาวออสเตรเลีย ได้แสดงปาฐกถาครั้งสำคัญว่าด้วยความหมายและคุณค่าของชีวิต ขณะนั้นเป็นช่วงสงครามครั้งใหญ่ ในโมงยามที่ผู้คนต่างเสียสูญสิ้นความหวัง และโหยหาสิ่งกระตุ้นเร้าทางศีลธรรมและปัญญาที่สูญหายไปในช่วงเวลาอันมืดมิด ถ้าถอด ‘แว่น’ ของผู้นำและความบ้าคลั่ง หนังสือเล่มนี้ก็น่าจะเหมาะกับชั่วโมงนี้ที่โลกปกคลุมไปด้วยความโกลาหล สับสน หดหู่ สิ้นหวัง เกลียดชัง และแบ่งแยก ผู้คนกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาปากท้อง เจ็บป่วย และเจ็บปวดไม่ต่างกัน ไม่ว่าใครจะพยายามผลักไสให้เราอยู่ตรงกลางของเรื่องนี้
สงคราม ‘ของแพง’ กับการช่วงชิงความหมาย
สงครามไม่ทันหาย ความแพงก็เข้ามาแทรก ฉันบรรจงพิมพ์คำว่า แพง ลงในพจนานุกรมออนไลน์ เพียงเสี้ยววินาทีคอมพิวเตอร์ก็ประมวลผลให้ความหมาย “มีราคาสูง ตรงข้ามกับ ถูก” เชื่อมโยงปรากฏการณ์เงินเฟ้อ “ของแพง” “หมูแพง” “น้ำมันแพง” จนทำให้คำว่า “แพงทั้งแผ่นดิน” กลับมาใช้ทั้งในและนอกสภาฯ อีกครั้งทั้งที่เป็นคำที่พรรคประชาธิปัตย์เคยใช้สมัยที่ยังเป็นฝ่ายค้านในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2555 กลับมาหลอกหลอนในสมัยที่คนในพรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้ากระทรวงพาณิชย์ เพียงแต่ปฏิเสธและเปลี่ยนนิยามเป็นคำอธิบายใหม่ว่ามันไม่ได้แพงทั้งแผ่นดิน แพงแค่บางตัว บางช่วงเวลาเท่านั้น
เราจึงต่างอยู่ในโลกแห่งสงครามและปรากฏการณ์เงินเฟ้อ ‘ของแพงค่าแรงไม่ขึ้น’ คู่ขนานไปกับการช่วงชิงความหมายไปจากเรา ไม่ว่าคุณ ฉัน หรือเขาจะถูกยัดเยียดให้รับรู้ความหมายใด ก็มีแค่ตัวเราเองเท่านั้นที่จะหาความหมายจาก “ความจริง” ที่ปรากฏ
Yes to Life อนุญาตให้ฉันสร้างความหมายและมีความหวังจากส่วนเสี้ยวในส่วนใหญ่ที่แม้จะถูกลิดรอนไปจนหมดสิ้นเหลือเพียงกายหยาบที่เปลือยเปล่าก็ตาม การย้อนกลับไปมอง 70 กว่าปีก่อนตอนที่โลกยังบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ความทรงจำอันเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แท้จริงมิได้ลบคุณค่าและความหมายไปจากเราเลย
ติดคุกแห่งสงคราม ความผิด(หวัง)มักมีรสขม
ความเปราะบางของสันติภาพในยุโรปชั่วโมงนี้ฉุดดึงเราเข้าสู่ชะตากรรมของความไม่แน่นอน โดยไม่มีวันรู้ได้เลยว่าจะถึงจุดสิ้นสุดของสงครามเมื่อใด เราเองก็ไม่ต่างจากนักโทษในค่ายกักกัน แม้นักโทษที่ต้องชดใช้ความผิดสิบปี ก็ยังคำนวณได้ว่าจะต้องผ่านไปอีกกี่วันกว่าจะถึงวันพ้นโทษ
แต่สำหรับนักโทษในค่ายกักกันไม่มีอะไรดีไปกว่าการรู้จุดสิ้นสุดของการถูกจองจำ แย่กว่าก็ตรงที่พวกเขาไม่รู้ชะตากรรมตัวเองเลยว่า จะติดคุกไปอีกนานไหน “ไม่มีการกำหนดโทษ และวันปล่อยตัว” คงเป็นความจริงในทางจิตวิญญาณที่น่าหดหู่ที่สุดในค่ายกักกันที่ได้อ่านมา ยิ่งบรรดาข่าวลือซ้ำ ๆว่าสงครามใกล้ยุติแล้ว ยิ่งเพิ่มความทรมานกับการรอคอยอย่างเลือดเย็น จนไม่มีใครเชื่อข่าวลือนี้อีกต่อไป ในหนังสือเปรียบรสของความผิดหวังซ้ำซากเป็นความขมขื่นที่สุดในชีวิต “ที่ผมได้ยินมันซ้ำ ๆว่า ในอีกหกสัปดาห์สงครามจะยุติลงบ้างล่ะ ความผิดหวังนั้นยิ่งกลายเป็นขมและยิ่งจมดิ่ง” ภายใต้รสขมของความผิดหวังทุกอณูกลับเต็มไปด้วยความกลัว…กลัวว่าที่สุดจะผิดหวัง
ความไม่แยแสต่อชะตากรรมของตัวเองลุกลามไปมากกว่านั้น ภายในไม่กี่วันที่ตกเป็นนักโทษก็จะมีความมึนชาทางอารมณ์ยิ่งขึ้น สิ่งต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่รอบตัวเขาเข้ามากระทบตัวเขาน้อยลง ต่างจากสองสามวันแรก ประสบการณ์ที่ท่วมท้นเข้ามาเต็มไปด้วยความอัปลักษณ์ มีความเกลียดชังในทุกสัมผัส กระตุ้นให้รู้สึกสยดสยอง คั่งแค้น และสะอิดสะเอียน แต่ในที่สุดความรู้สึกเหล่านี้เริ่มดิ่งจมลงไป ชีวิตภายในถูกลดทอนจนเล็กที่สุด ความคิดและการดิ้นรนถูกจำกัดลง จนเหลือแค่ เอาชีวิตให้รอดไปวันนึง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนนอกอย่างเราจะจินตนาการถึง เพราะแม้แต่ชีวิตในทางจิตวิญญาณก็ถูกลดทอนให้รับใช้เพียงเรื่องเอาชีวิตให้รอดเถอะ!
เสรีภาพที่ไม่มีวันพรากจาก
ลองเดาสิคะว่า ผู้คนในค่ายกักกันจะฝันถึงอะไร
ก.บุหรี่
ข.กาแฟดี ๆ
ค.ขนมปัง
ผิดทุกข้อ! มันไม่จริงเลยที่ประสบการณ์ในค่ายกักกันจะผลักไสให้ผู้คนถอยห่างจากชะตากรรมอันยากแค้น ความตอนหนึ่งในหนังสือระบุว่าพวกเขาค้นพบว่า นักโทษในค่ายกักกันไม่ได้ถดถอยเข้าสู่โลกภายในแต่อย่างใด ในทางกลับกันคือ ทำให้เขามีความก้าวหน้าอยู่ภายใน เติบโตไปเหนือกว่าตัวตน และบรรลุถึงความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ แต่ตอนนี้ ในแวดวงสาขาอื่นที่ไม่ใช่นักจิตวิเคราะห์มีการตีความที่ต่างกันออกไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจและชีวิตทางจิตวิญญาณของผู้คนในค่ายกักกัน ศาสตราจารย์เอมิล อูทิตซ์ เขาเป็นนักลักษณะวิทยา ซึ่งเคยอยู่ในค่ายกักกันนานหลายปี เขาสังเกตเห็นลักษณะของนักโทษในค่ายกักกันว่า มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพชนิดแยกตัว เขาอธิบายว่าเป็นอาการของการเหวี่ยงไปมาระหว่างความไม่ยินดียินร้าย กับความหงุดหงิดฉุนเฉียว ขณะที่ความผิดปกติที่สำคัญอีกแบบหนึ่งคือ อารมณ์มูฟออนเป็นวงกลม “ปิติยินดีราวกับขึ้นสวรรค์” อยู่สักนาทีแล้วก็ “ดิ่งไปในความสิ้นหวัง” ในนาทีถัดมา แต่ฟรังเคิล เห็นต่างจากอูทิตซ์ ก็ตรงที่ นักโทษในค่ายกักกันไม่ได้ตกอยู่ภายใต้แรงบีบบังคับทางจิตใจใด ๆ จากภายนอกที่มากำกับให้พัฒนาของภายในของเขาเป็นไปในแบบสูตรสำเร็จที่มีแนวโน้มว่าจะมีความผิดปกติแยกตัวอย่างชัดเจน
แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เขายังรักษาเสรีภาพไว้อย่างเหนียวแน่น
มีผู้คนในค่ายกักกันสามารถเอาชนะความไม่ยินดียินร้ายและการกดข่มของเขาเอาไว้ได้ ทำให้คำว่า ‘เสรีภาพ’ กินความถึงการดำรงอยู่ที่พวกนาซีไม่สามารถพรากจากนักโทษไปได้ หนำซ้ำเขายังคงครอบครองเสรีภาพนั้นต่อไป โดยไม่ยกให้ใครอื่นโดยง่าย แม้ว่าภายในค่ายกักกัน พวกนาซีจะสามารถพรากทุกสิ่งทุกอย่างนอกจากนั้นไปได้หมด แต่เสรีภาพยังอยู่กับตัวนักโทษ แม้ในวันที่ต้องจำใจต้องเอาเข็มขัดไปแลกกับขนมปังสักก้อน หรือสุดท้ายที่มีข้าวของเพียงน้อยนิดอยู่แล้ว ก็ไม่เหลืออะไรติดตัวอยู่เลย เสรีภาพก็ยังอยู่ในตัวเขา
เสรีภาพจะคงอยู่กับเขาจนลมหายใจสุดท้าย ฟรังเคิลย้ำ
ถึงแม้พวกเขาจะจมดิ่งไปตามสภาพจิตวิทยาของค่ายกักกัน แต่เขาก็มีเสรีภาพที่เหวี่ยงออกจากอำนาจและอิทธิพลของสภาพแวดล้อมนั้น ต่อต้านมัน ถอนตัวจากมัน แทนที่จะศิโรราบไปอย่างมืดบอด
หน่ออ่อนของความหวัง สงครามกำลังถูกแทนที่…
อ่านจบจึงเข้าใจว่า เมล็ดพันธุ์ที่ติดมากับหนังสือเล่มนี้ มันไม่ใช่ของแถมหรือกิมมิก แต่เป็นความหวังที่ถูกยกมาให้เรารับผิดชอบทั้งชีวิต เพราะชีวิตไม่ใช่แค่สิ่งที่กำหนดไว้ แต่ถูกยกมาให้เรารับผิดชอบ เหมือนนักปีนเขาที่แสวงหาภาระหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ เหมือนเทียนหอมบรรลุนิพานเมื่อถูกใช้และจัดวางให้ถูกที่ถูกเวลา
เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ความหวังหน้าตาเป็นเช่นไรเช่นเดียวกับเมล็ดพันธุ์ในหนึ่งหยิบมือจะรู้ได้อย่างไรว่าเมล็ดใดจะงอกงาม จะเป็นเมล็ดนี้หรือเมล็ดนั้นก็ต่อเมื่อลงมือปลูก ลงแรงรดน้ำจนเติบโตและเบ่งบาน
สงครามและการรุกรานก็กำลังถูกแทนที่ด้วยเมล็ดทานตะวันเพียงหยิบมือเช่นกัน ฉันยังจำเหตุการณ์ที่สื่อท้องถิ่นรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองเฮนิเชสก์ทางตอนใต้ของยูเครน มีเรื่องราวของผู้หญิงยูเครนคนนึงเธอเดินเข้าไปเผชิญหน้ากับทหารรัสเซียที่ถืออาวุธครบมือ
“พวกคุณกำลังทำอะไรกับประเทศของเรา” เธอตะโกนถาม ก่อนจะหยิบเมล็ดทานตะวันให้ทหารรัสเซียเก็บใส่กระเป๋าเสื้อไว้ พลางพูดไปว่า “คุณเอาเมล็ดทานตะวันใส่ไว้ในกระเป๋าไว้นะ มันจะได้เติบโตและเบ่งบานในยูเครนหลังจากที่คุณได้ตายไปแล้ว” ดูเหมือนว่า ความเกลียดชังได้ถูกเปิดเผยจากการซ่อนตัวในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด คนที่เสียเปรียบและอ่อนแอที่สุดไม่จำเป็นต้องสูญเสียความหมายของการดำรงอยู่ ไม่ว่าคุณ ฉันหรือเขาจะมีความหวังหน้าตาคล้ายกับเธอหรือไม่ก็ตาม
หนังสือ: Yes to Life Inspite of Everything
นักเขียน: Victor E. Frankl
นักแปล: วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
สำนักพิมพ์: Be(ing)
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี