“ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มทางสังคม เพื่อร่วมกำหนดอนาคตของตนเองในการพัฒนาประเทศ”
ประโยคจั่วหัวแถลงการณ์ของเครือข่ายคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่เอ็นจีโอและภาคประชาสังคมในฐานะกระบอกเสียงและหูตาให้แก่ประชาชนอย่างน้อย 1,867 องค์กร ร่วมกันลงนามภายหลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. ข้างต้น และไฟเขียวให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับเรื่องไปดำเนินการขั้นตอนต่อไป
การเห็นชอบและเดินหน้าผลักดันดังกล่าวยิ่งเพิ่มความกังวลกดลงบนบ่าขององค์กรเอ็นจีโอและภาคประชาสังคม ก่อให้ผุดคำถามขึ้นในใจของคนเหล่านั้นว่ารัฐบาลพยายามกีดกันพวกเขาออกไปอยู่นอกวงกรอบของการพัฒนาหรือไม่
เฉพาะตัวแทนภาคประชาสังคมสามคนซึ่ง De/code จับเข่าพูดคุยกับ สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และ เอกนัฐ บุญยัง ประธานคณะกรรมการดำเนินการสภาองค์กรชุมชน และธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง ต่างให้เหตุผลไปในทิศทางเดียวกันว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะสร้างภาระอันไม่จำเป็นและปิดกั้นการเคลื่อนไหว การแสดงความเห็นอย่างอิสระขององค์กรเอ็นจีโอและภาคประชาสังคม ทำให้คนทำงานด้านนี้รู้สึกว่าตนถูกปฏิบัติให้เป็น “ศัตรู” มากกว่า “หุ้นส่วนการพัฒนาประเทศ” อย่างที่ควรจะเป็น
ภาระซ้ำซ้อน อำนาจรัฐล้นเกินปิดกั้นการตรวจสอบรัฐ
เรื่องแรกสร้างภาระอันไม่จำเป็น สุนทรี ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายนี้บังคับให้องค์กรแบบเราจดแจ้งทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นระดับไหน ถ้าคุณไม่ใช่พรรคการเมืองหรือองค์กรแสวงหากำไรหรือหน่วยงานที่ตั้งมาเฉพาะกิจ คุณก็ต้องจดแจ้ง ถ้าไม่จดแจ้งก็จะมีความผิดตามกฎหมาย หลังจากจดแจ้งก็ต้องเปิดเผยข้อมูลให้รัฐเข้าถึงง่าย มากไปกว่านั้นสำหรับองค์กรที่รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ ก็ต้องชี้แจงว่ารับเงินจากใคร นำมาดำเนินอะไร และหากตรวจพบว่าการดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการรับเงิน สามารถปิดองค์กรหรือมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินงานได้
เช่นเดียวกับ ธนวดี ให้ความเห็นว่า ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องร่างขึ้นมา เนื่องจากสมาคมต่าง ๆ หรือองค์กรภาคประชาสังคมต่างอยู่ภายใต้กฎหมายที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว เราต้องรายงานการดำเนินงานให้กับสำนักงานเขตอยู่แล้ว เช่นสำนักงานเพื่อนหญิงที่ดิฉันทำอยู่ ก็ทำการรายงานการดำเนินงานประจำปีไปยังเขตจตุจักร รวมถึงรายงานงบดุลที่แจกแจงว่ามีแหล่งทุนจากที่ใดบ้าง นอกจากนี้ก็ยังต้องเสียภาษีรายได้ตัวบุคคลของเจ้าหน้าที่ในองค์กรทุกคน กล่าวคือองค์กรปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกอย่างและทำด้วยความโปร่งใส เลยมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาให้เราต้องไปจดแจ้งและเปิดเผยข้อมูลซ้ำซ้อนอีก
เสียงสะท้อนดังกล่าวเผยให้เห็นว่า ทั้งสองหนักใจไม่น้อยที่ต้องรับภาระซ้ำซ้อนและเข้าสู่กระบวนการที่ยุ่งยากมากขึ้น ส่วนอีกเรื่องซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการปิดกั้นการเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ เนื่องจากมาตรา 20 ของร่าง พ.ร.บ. ระบุห้ามองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทำกิจกรรมที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม อย่างไรก็ดีมิได้ระบุชัดว่ากิจกรรมใดบ้างที่จะอยู่ในขอบเขตของข้อห้ามดังกล่าว แต่ให้อำนาจปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตีความชี้ขาดตามเห็นชอบ ก่อให้เกิดคำถามใหญ่ภายใต้ความกังวลว่าเสรีภาพในการคิดการพูดในฐานะเครื่องไม้เครื่องมือที่ภาคประชาสังคมใช้เปิดทางตรวจสอบรัฐและส่งเสียงของประชาชนขึ้นไปนั้นจะถูกริบเก็บมากขึ้นหรือไม่
เช่นที่สุนทรี ระบุว่า จุดสำคัญของร่าง พ.ร.บ. คือห้ามไม่เอ็นจีโอและภาคประชาสังคมรวมตัวกันทำกิจกรรมที่กระทบต่อความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความสงบสุขเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของสังคม ซึ่งกลุ่มคำเหล่านี้ค่อนข้างตีความได้กว้างมาก จึงมองว่าเป็นการออกกฎหมายที่ให้อำนาจล้นเกินแก่หน่วยงานของรัฐ และจำกัดการทำงานของภาคประชาชน ทำให้เราต้องระแวดระวังในการทำงานมากขึ้น
ขณะที่เอกนัฐ มองว่าร่าง พ.ร.บ. ใช้บทลงโทษมาขีดกรอบให้เอ็นจีโอและภาคประชาสังคมเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่าย อยู่ในโอวาทที่รัฐบาลอยากให้เป็น
“สิทธิที่เราเคยทำที่เป็นสิทธิพื้นฐานในการปกป้องฐานทรัพยากรชุมชน หลังจากนี้ก็จะถูกใครไม่รู้เป็นคนตัดสินว่าคุณทำได้หรือไม่ได้ ในขณะเดียวกันถ้าเขาตัดสินว่ามีข้อสงสัยว่า กิจกรรมของเราจะนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งในพื้นที่ ขัดต่อศีลธรรมอันดี แล้วสั่งให้ระงับ หยุด หรือยุติการดำเนินการ ถ้าไม่ทำตามก็จะมีบทลงโทษอย่างรุนแรงด้วยคือ ถูกปรับ 500,000 บาท ถ้ายังดำเนินการต่อเขาก็จะปรับอีกวันละ 10,000 บาท แต่กิจกรรมแบบไหนล่ะที่จะสร้างความขัดแย้ง ตรงนี้ผู้มีอำนาจจะนิยามเอง คนตัวเล็กตัวน้อยแบบเราก็เดือดร้อน ต้องระแวดระวัง ขยับอะไรคงยากไปหมด”
จุดร่วมในความเห็นของสุนทรีและเอกนัฐคือปัญหาเรื่องการนำเอาความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของสังคมมาเป็นกรอบกำหนดกิจกรรมและการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ด้วยว่าเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างจะนามธรรมและตีความได้กว้าง เป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้ผู้มีอำนาจกดปุ่มเขียว ปุ่มแดงได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากเทียบเคียงกับร่างกฎหมายหรือข้อบังคับที่มีความเคลื่อนไหวในเวลาไล่เลี่ยกัน จะพบจุดร่วมของการใช้ถ้อยคำเหล่านี้มาขีดวงจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้กว้าง ๆ แล้วโยนอำนาจชี้ถูกผิด ใช่หรือไม่ใช่ให้เจ้าหน้าที่รัฐอย่างล้นหน้าตัก เช่นร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนซึ่งระบุให้การใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนนั้น ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงน่าสนใจว่าการเขียนกฎหมายเช่นนี้กลายเป็นกลวิธีควบคุมเสรีภาพประจำรัฐบาลไปแล้วหรือเปล่า
แรงกระแทกถึงประชาชน
เมื่ออำนาจจากความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งประชาชนให้แก่รัฐบาลถูกเหวี่ยงกลับมาควบคุมประชาชนจนอาจไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างที่ควรจะเป็น แรงกระทบระลอกแรกอาจกระแทกใส่องค์กรภาคประชาสังคม แต่ระลอกสอง ระลอกสาม ถ้า พ.ร.บ.ประกาศใช้เป็นกฎหมายจริง แน่นอนว่าจะกระทบถึงประชาชน ตั้งแต่ชาวบ้านรากหญ้าไปถึงคนในเมือง เพราะกระบอกเสียงอาจถูกสั่งปิด เวทีที่จะเรียกร้องสิทธิ์อาจถูกรื้อหนักขึ้นด้วยข้ออ้างจากกฎหมายเพียงฉบับเดียว
สุนทรี ประเมินถึงผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับว่า “จริง ๆ การรวมตัวของชุมชนหรือภาคประชาสังคม ด้านหนึ่งมันคือการปกป้องสิทธิ์ จะเห็นว่าระดับชุมชน เมื่อชุมชนของเขา ทรัพยากรของเขาถูกคุกคาม อย่างกรณีบางกลอย กรณีจะนะนี้ชัดเจน เขาออกมาแสดงความคิดเห็นเพราะผลกระทบนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเขาโดยตรง ซึ่งต่อไปกิจกรรมทำนองนี้ถ้ามี ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นมา ก็เป็นไปได้ที่จะถูกตีความต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของสังคมได้ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นชัด ๆ ว่าเสียงของประชาชนที่เคยสามารถปกป้องสิทธิ์หรือปกป้องชุมชนของเขามันจะยากขึ้นที่จะแสดงความคิดเห็น ยากขึ้นที่จะเคลื่อนไหว ไม่ใช่เฉพาะองค์กรระดับภาคประชาชาสังคมและเอ็นจีโอเท่านั้น แต่ไล่มาตั้งแต่ระดับชุมชนเลย”
สุนทรียังเสริมในมุมที่น่ากังวลอีกว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะทำให้เชือกที่ขึงภาครัฐและประชาชนไว้ด้วยกันตึงมากขึ้น “ที่ไหนมีแรงกด ที่นั้นก็จะมีแรงต้าน ถ้าคนจำนวนหนึ่งถูกสั่งห้ามไม่ให้พูดไม่ให้ทำ แรงกดดันนี้ก็จะมีมาก เราไม่รู้ว่าข้างหน้ามันจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อไม่มีทางออก เมื่อไม่สามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้มันจะกลายไปเป็นความรุนแรงรึเปล่า จริง ๆ ตอนนี้สังคมไทยก็หมิ่นเหม่ต่อสิ่งนี้อยู่แล้ว รัฐบาลน่าจะศึกษาบทเรียนของการพยายามตีกรอบให้ทุกคนอยู่ในกรอบในช่วงสองสามปีมานี้ มากกว่าจะทำให้สถานการณ์แย่ลง”
ด้านเอกนัฐ เผยในมุมขององค์กรชุมชนว่า “ร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่ ครม. ไฟเขียว เราเห็นผลกระทบซ่อนเร้น อาทิ มาตรา 15 เรื่องของการประสานหาเงินมาสนับสนุนที่ทางรัฐจะจัดการให้ ตรงส่วนนี้เราไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ เพราะเพียงแค่ตัว พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลในปัจจุบัน เราก็รู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง แล้วเป็นไปได้หรือที่เขาจะมาประสานหาแหล่งทุนมาให้ในกระบวนการของการสนับสนุนให้ เราไม่อาจมั่นใจได้เลย”
“อีกเรื่องคือเราพยายามพุ่งเป้าการทำงานไปที่เรื่องของการกระจายอำนาจทำให้คนในชุมชนมีสิทธิ์ในการลุกมาดูแลตนเอง แต่พอดูสาระโดยรวมของร่าง พ.ร.บ. มันคือการเข้าไปกำกับควบคุมการทำกิจกรรม ซึ่งเป็นวิธีคิดในการรวบอำนาจตรงนี้จึงสวนทางกันโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่องค์กรชุมชนของเราขับเคลื่อน หรือเป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจจะมีโจทย์สำคัญที่จะกำกับการทำงานของเครือข่ายองค์กรชุมชน นั่นจะทำให้การเคลื่อนไหวขององค์กรชุมชนซึ่งตื่นตัวอยู่ขณะนี้ชะงักงันไปหรือเปล่า”
ขณะที่ธนวดี เผยในมุมขององค์กรที่ขับเคลื่อนเพื่อสตรีว่า “ผลกระทบแรกคือต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเอง ดำเนินการจดทะเบียนจากเดิมที่ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย เขตจตุจักร ต้องเปลี่ยนไปขึ้นทะเบียนใหม่กับกระทรวงพัฒนาสังคมเเละความมั่งคงของมนุษย์ ซึ่งคือความยากลำบากเพราะทำให้ชีวิตต้องมาทำอะไรที่มากเกินความจำเป็น”
“จะมีบางมาตราที่ทำให้การขอเงินทุนจากต่างประเทศเป็นเรื่องยากมากขึ้น เพราะการตีความที่ว่าส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ศีลธรรม อันดี ทำให้มีข้อจำกัดในการขอทุน หรือการรวมกลุ่มที่ เราอยากจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์เสนอนโยบายต่อรัฐ ส่วนมิติของผู้หญิงซึ่งเราขับเคลื่อนเป็นหลัก ณ ตอนนี้ อาจไม่ส่งผลมาก ยังสามารถมีอิสระในการทำงานได้ ถ้าจะมีผลกระทบก็อาจจะเป็นการที่ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ หากรัฐมองว่าประเด็นนั่นคือปัญหาความมั่นคงของรัฐเเน่นอนผู้หญิงที่อาจเป็นแกนนำหรืออยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวย่อมได้รับผลกระทบแน่ ๆ ”
ผลกระทบเพียงสองสามข้อที่สะท้อนจากตัวแทนภาคประชาสังคมทั้งสาม ก็เพียงพอแล้วที่ฉายภาพให้เห็นว่าประชาชนจะได้รับแรงกระแทกจาก ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างไร จุดสำคัญที่สุดคือการควบคุมไม่ให้พูดหรือให้พูดน้อยลงย่อมไม่ใช่วิถีทางอันเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านหรือกลุ่มคนที่มีสารพัดข้อเรียกร้องหรือคัดค้านต่อรัฐบาลแน่ ๆ
พุ่งเป้า”ตัดแข้งตัดขา” สู่นัยทางการเมือง
อย่างไรก็ดี นอกจากเสียงร้องค้านเพราะไม่เห็นด้วยกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เขียนร่ายไว้ในร่าง พ.ร.บ. แล้ว เหล่าคนทำงานภาคประชาสังคมยังเกิดข้อคำถามถึงนัยในการคลอดร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกมาในจังหวะที่พลังของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเคลื่อนขยับต่อเนื่องและมีความเข้มแข็งมากขึ้น ชี้ชวนให้คิดต่อว่า รัฐบาลมีพยายามตัดแข้งตัดขาภาคประชาสังคมให้ชะงักงันหรือไม่
“เราจะเห็นว่าช่วงเวลาของการออกกฎหมายที่เริ่มมาเมื่อมีนาคม 2564 มีนัยทางการเมือง เพราะเป็นจังหวะที่มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนหลายอย่างเช่นการชุมนุมของกะเหรี่ยงบางกลอยเพื่อท้วงสิทธิอาศัยและทำกินในผืนดินของบรรพบุรุษ อีกทั้งเกิดขึ้นภายหลังจากการรวบรวมรายชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญไม่กี่สัปดาห์ มันก็เลยทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าเพราะมีคนที่คิดต่าง คนที่จะตรวจสอบอำนาจใช่หรือไม่ รัฐบาลจึงออกกฎหมายนี้มา” คือความเห็นของสุนทรี ขณะที่เอกนัฐแสดงความกังวลว่า “นอกจากเรื่องตัดแข้งตัดขาแล้ว ผมมองเห็นถึงอีกมิติคืออีกไม่นานนี้น่าจะมีการเลือกตั้ง ร่าง พ.ร.บ. อาจเป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้ฝั่งรัฐบาลสามารถกำกับการแสดงความเห็น การร้องถามให้อยู่หมัด โดยเฉพาะหากมีความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้ง องค์กรที่จะลุกขึ้นมาคัดค้านก็คือองค์กรชุมชนหรือภาคประชาสังคมนั่นเอง”
ทั้งข้อสังเกตของสุนทรีและข้อคาดการณ์ของเอกนัฐล้วนแต่มีเค้าความให้คิดตาม เฉพาะประเด็นการตัดแข้งตัดขาพลังประชาชนที่กำลังเติบโตมีความสำคัญไม่น้อยต่อรัฐบาลที่ขาดเสถียรภาพ เพราะถูกรุกหนักทั้งจากศึกในและนอกสภา ตลอดปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงปีนี้เรายังคงเห็นกลุ่มองค์กรภาคประชาชน ประชาสังคม วนเวียนกันมาเรียกร้องความเป็นธรรม ทวงถามสัญญาจากรัฐบาลที่หน้าทำเนียบบ้าง หน้ากระทรวงต่าง ๆ บ้าง การควบคุมภาคประชาสังคมให้ได้จึงสำคัญไม่น้อยสำหรับการผ่อนแรงรัฐบาล
ภาคประชาสังคมคือ “หุ้นส่วนการพัฒนา” ไม่ใช่ “ศัตรู”
“การควบคุมเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมสะท้อนว่ารัฐบาลไม่ได้มองเราเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนา”
สุนทรี เผยด้วยน้ำเสียงที่ผิดหวัง ก่อนเอ่ยอธิบายเพิ่มว่า “จริง ๆ แล้วทัศนะที่รัฐกับภาคประชาชนจะต้องอยู่ร่วมกันมันเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับทัศนะของรัฐบาลว่ามององค์กรของพวกเราในแง่ที่ว่ามันคือความเบ่งบานของเสรีประชาธิปไตย แล้วสนับสนุน หรือมองคนที่เห็นต่าง อยากตรวจสอบรัฐ เป็นภัยแล้วรัฐต้องควบคุม”
“อย่างตอนนี้เรื่องใหญ่ ๆ ที่ขับเคลื่อนกันคือเรื่องรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีภาคประชาสังคม มีแต่ภาคการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะหดลงมาเหลือแค่เรื่องระบบการเลือกตั้งและการนับคะแนน ในขณะที่ภาคประชาสังคมเสนอสิ่งที่ไปไกลกว่านั้น เสนอว่า เราต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เราต้องมีมิติเรื่องสวัสดิการ แนวคิดทำนองนี้หลายครั้งภาครัฐไม่ได้นำเสนอ แต่ภาคประชาสังคมทำให้เกิดถกเถียงขึ้นมา และถึงที่สุดมันคือประโยชน์ของสังคมนะ ทำให้สังคมได้ถกเถียงกันด้วยปัญญา นำพาสู่การตัดสินใจ”
“อยากฝากว่ารัฐต้องมีทัศนะที่ถูกต้องต่อองค์กรภาคประชาสังคม เพราะแท้จริงแล้วเราเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าของประเทศ เราเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ประเทศนี้จะไปทางซ้ายหรือไปทางขวา ประชาชนก็ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นรัฐต้องมองว่าองค์กรแบบเราซึ่งเป็นปากเสียงของประชาชน แม้จะไม่ใช่ตัวแทนประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นตัวแทนของประชาชนจำนวนมาก ถ้ารัฐมีทัศนคติว่าเราเป็นภาคีหุ้นส่วนการพัฒนาและเสียงของเราคือเสียงที่จะตรวจสอบว่ารัฐกำลังดำเนินนโยบายหรือพัฒนาประเทศไปในแบบที่ประชาชนต้องการหรือไม่ ก็จะไม่มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ ๆ มาควบคุมเลย กฎหมาย ณ ปัจจุบันที่มีอยู่ก็เพียงพอ เช่น กฎหมายการจดทะเบียน การฟอกเงิน”
สอดคล้องกับความเห็นของธนวดี ที่เสนอว่า “รัฐบาลควรมีภารกิจที่จะสร้างโอกาส เกื้อหนุน สนับสนุน ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนในการช่วยการทำงานของรัฐ ควรที่จะเปิดเวทีประชุมระหว่างภาครัฐเเละภาคประชาสังคม มีความเห็นร่วมกันอย่างไร รับฟังความคิดเห็นที่เเตกต่างจากหลาย ๆ เครือข่าย เช่น มิติทางการเมือง มิติของสิ่งเเวดล้อม มิติเรื่องเด็ก เรา ๆ ทั้งหลายเข้ามาทำงานส่วนนี้ก็ตั้งใจจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาไปกับหน่วยงานของภาครัฐ”
ถึงที่สุด ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร จะยังคงอยู่ในขั้นตอนการผ่านร่างกฎหมายไปอีกหนึ่งถึงสองปี ประชาชนซึ่งข้องเกี่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อมจึงอาจต้องร่วมกันจับตาว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะขยับต่ออย่างไร สำคัญที่สุดคือการศึกษาข้อรายละเอียดเพื่อร่วมพิจารณาว่ากระทบต่อเสรีภาพการเคลื่อนไหวและแสดงความคิดเห็นของเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน หากเห็นถึงปัญหาเช่นเดียวกับที่ สุนทรี , เอกนัฐ และธนวดี สะท้อน ว่าร่าง พ.ร.บ. นี้จะกีดกันองค์กรของพวกเขาออกจากการเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาและควบคุมไว้ไม่ให้แข็งข้อกับรัฐบาล ประชาชนก็อาจต้องก้าวมายืนเคียงข้างต่อสู้ไปกับพวกเขาหรือไม่ เพราะภาคประชาสังคมเป็นกระบอกเสียง เป็นหูตาให้ประชาชน หากถูกกระแทกแรงกระแทกนั้นย่อมกระทบถึงประชาชนอย่างแน่นอน ซึ่งการเคลื่อนไหวจากเวทีเสวนา “ตีเเผ่ร่างกฎหมายควบคุมกลุ่มภาคประชาสังคมต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนเเละผลกระทบ” เมื่อ 10 ก.พ. 65 ที่ กลุ่มภาคประชาสังคมจะขยับทิศทางไปหานักการเมืองให้มาร่วมขบวนคัดค้าน เเละหากสำเร็จ เราก็คงเห็นการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. อย่างมีพลังมากขึ้น