ความเสียหายที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ในช่วงปลายเดือนมกราคมกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่จังหวัดระยอง นับสัปดาห์ที่ตัวเลขของปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมายังคงไม่ชัดเจน จากความไม่แน่นอนของตัวเลขทำให้มูลค่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนที่ได้ใช้ประโยชน์จากทะเลระยอง ยิ่งทวีคูณด้วยวันและเวลาที่ผ่านไป
De/code ได้ต่อสายพูดคุยกับอาจารย์เขียว – สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภาคตะวันออก ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการที่ดินธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงความน่าจะเป็นของมูลค่าความเสียหายจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ผ่านมุมมองของเศรษฐศาสตร์นิเวศบริการ ว่าต้นทุนใดบ้างที่รัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องคำนวณลงไปในสมการครั้งนี้ และความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงกับสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นความเสียหาย
จากตัวเลขที่ไม่ชัดเจน ถึงความเป็นอยู่ของผู้คนที่ไม่แน่นอน
“ด้วยตัวเลขของปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมา หลายวันแล้วที่ตัวเลขยังคงไม่ชัดเจน จึงเป็นไปได้ยากที่จะมองมูลค่าออกความเสียหายออกมาเป็นจำนวนได้ชัดเจน” อาจารย์สมนึก กล่าว
จากความไม่รู้ข้อมูลในจุดนี้ส่งผลกระทบให้ความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้น เพราะสิ่งที่หดหายไปไม่ใช่แค่รายได้ของประชาชนในช่วงนี้ แต่ยังส่งผลถึงพื้นที่ที่ใช้ทำมาหากินของประชาชน ที่ล่าช้าไปเพียงหนึ่งวันก็อาจส่งผลต่อเวลาการฟื้นฟูเพิ่มถึงหนึ่งปี
อีกทั้งการประกาศเขตภัยพิบัติจากรัฐในจังหวัดระยอง ก็ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ปัจจุบันรัฐได้ประกาศเพียงหาดแม่รำพึงเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ แต่บริเวณโดยรอบที่กระแสน้ำจากทะเลสามารถพัดไปถึง ยังไม่ได้ถูกนับเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ยิ่งทำให้น่าเป็นห่วงว่า รัฐมองพื้นที่ ที่เห็นคราบน้ำมันผ่านสายตาเป็นพื้นที่ภัยพิบัติเท่านั้น แต่บริเวณโดยรอบที่น้ำทะเลสามารถไปถึง กลับไม่ได้ถูกนับ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยหลายด้านที่รัฐไม่ได้ใส่ลงไปในสมการครั้งนี้ ทำให้ต้นทุนของความเสียหายหลายชิ้นส่วนถูกทิ้งไว้กลางทาง ซึ่งถ้าหากเราต้องการจะคำนวณหาต้นทุนที่แท้จริงจากน้ำมันรั่วในครั้งนี้ คงต้องมองผ่านแว่นที่มีชื่อว่า “เศรษฐศาสตร์นิเวศบริการ”
เศรษฐศาสตร์นิเวศบริการ ต้นทุนที่มากกว่าน้ำมันและกำไรที่หายไป
หากเราพูดถึงมูลค่าความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว มักจะประกอบไปด้วยภาพของเครื่องจักรหรือความเสียหายต่อโรงงาน แต่นั่นไม่ได้เพียงพอต่อการประเมินความเสียหายรอบด้านที่เกิดขึ้นจริง
อาจารย์สมนึก ได้พูดถึง มูลค่าความเสียหายในมุมมองของนิเวศบริการ (Ecological services) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญ ที่จะตั้งคำถามให้กับทุกคนว่าทำไมทั้งรัฐและเอกชนจึงต้องมีมุมมองนี้ ในการแก้ไขปัญหาที่ไม่ควรเกิด แต่กลับเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในพื้นที่
แนวคิดของเศรษฐศาสตร์แบบนิเวศบริการ คือการมองต้นทุนที่จะต้องเสียไปในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งความสำคัญ 4 ด้าน ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องคำนึงถึงในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
บริการด้านการเป็นแหล่งผลิต (Provisioning services) หรือประโยชน์ทางตรงที่ได้รับจากธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นอาหารทะเลที่จับขึ้นมา สภาพแวดล้อม ภูเขา น้ำทะเล
บริการด้านการควบคุม (Regulating services) หรือการให้ประโยชน์ของระบบนิเวศน์ ที่พื้นที่ ๆ หนึ่งเสียหายนั่นหมายถึงพื้นที่อื่นด้วยเช่นกัน
บริการด้านสนับสนุน (Supporting services) ที่ว่าด้วยภาพรวมของห่วงโซ่อาหาร
และบริการด้านวัฒนธรรม (Cultural services) คือการที่สภาพแวดล้อมจะส่งผลต่อวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งความเสียหายเหล่านี้ มีผลต่อวิถีชีวิต รายได้ และภาพลักษณ์ของพื้นที่นั้น
อาจารย์สมนึก ได้เล่าความเชื่อมโยงมิติทั้ง 4 ด้านของนิเวศบริการกับสถานการณ์ครั้งนี้ไว้เบื้องต้นว่า “เวลาที่สารเคมีลงไปนอกจากคราบน้ำมันที่จะตกลงไปเกาะบนทรายแล้ว มันยังคงเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำที่ไม่ใช่เพราะโลกร้อน อย่างในอดีตก็มีให้เห็นแล้วว่าเคย (กุ้งขนาดเล็ก) ก็เหลือจำนวนน้อยมาก ๆ สัตว์จะเปลี่ยนถิ่นฐานอาศัย หรือถ้าหากว่าทะเลระยองเสียหายและปะการังในทะเลระยองไม่สามารถผลิตแพลงก์ตอนได้ ทะเลแถบสมุทรปราการก็จะเสียหายเช่นเดียวกัน เพราะถ้าหากปะการังในเขตนี้ไม่สามารถผลิตแพลงก์ตอนได้ นอกจากสัตว์ทะเลในแถบนี้จะไม่มีอาหารแล้ว สิ่งมีชีวิตทางทะเลในเขตสมุทรปราการก็จะไม่มีอาหารด้วยเช่นกัน
“หลังจากนั้นชาวบ้านที่หากินกับทะเล ทั้งชาวประมงหรือพ่อค้าแม่ขายก็จะหากินไม่ได้ การท่องเที่ยวก็ซบเซาลง ความเชื่อมั่นในพื้นที่ก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งมันอาจจะนำไปสู่การที่ผู้คนแถบนั้นย้ายที่อยู่และวัฒนธรรมในพื้นที่ก็จะหายไปด้วยเช่นกัน”
หากมองในมิติทั้ง 4 ด้านของระบบนิเวศบริการ จะเห็นได้ชัดว่า ความสำคัญด้านใดด้านหนึ่งก็จะอาศัยและส่งผลต่อความสำคัญอีกด้านด้วยเสมอ
แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาคำนวณในฐานะต้นทุนของสมการความเสียหายครั้งนี้ เรื่องของนิเวศบริการกลับดูเหมือน เศรษฐศาสตร์ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ทำให้เรื่องเหล่านี้จึงถูกมองข้ามไปอย่างง่ายดาย
“ที่จริงแล้วก็มีการแจกหนังสือคู่มือการทบทวนบริการของระบบนิเวศสำหรับภาคธุรกิจ ให้กับมหาชนทั้งหลายอยู่และมีการขอความร่วมมือ แต่ผมไม่รู้ว่าเขาอ่านกันหรือเปล่า”
จากความหละหลวมของรัฐต่อธุรกิจเอกชนเหล่านี้ ก็ยิ่งต้องกลับไปมองว่า จริง ๆ แล้วเรื่องนิเวศบริการเป็นเศรษฐศาสตร์ที่มองไม่เห็นหรือรัฐไม่อยากมองมันมากกว่า
กำจัดน้ำมันทำไม่ยาก จำกัดข้อมูลทำไม่ง่าย
การสลายคราบน้ำมันที่ทะเลระยองในครั้งนี้ สิ่งที่ยากที่สุดในการจัดการปัญหา ยังคงเป็นข้อมูลที่ออกมาน้อยนิดและไม่ชัดเจน อาจารย์สมนึกกล่าวว่า ทิศทางที่รัฐและเอกชนจัดการในครั้งนี้มีลับลมคมในมากเกินไป
“มันจะไม่น่าเอะใจได้ยังไง รูรั่วของบริษัทเองแต่กลับคาดการณ์หรือบอกตัวเลขไม่ได้”
การคาดการณ์ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกมาที่ทำได้ล่าช้า ทั้ง ๆ ที่มีหลายภาคส่วนได้เข้าไปให้ความร่วมมือกับปัญหาในครั้งนี้ ความสำคัญของข้อมูลเพื่อที่จะเตรียมแผนรับมือได้ทันท่วงทีกลับต้องเลื่อนระยะเวลาไปเรื่อย ๆ และความเสียหายที่แลกมาด้วยรายได้และธรรมชาติที่หดหายของคนในพื้นที่ หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้มองเห็นตัวเลขของเศรษฐศาสตร์แบบนิเวศบริการเป็นหลัก แล้วเศรษฐศาสตร์แบบไหนที่รัฐและเอกชนต้องการให้มอง
ความเป็นจริงที่ปรากฏให้เห็น คือการที่รัฐอ่อนแอและไม่ยอมใช้มาตรการต่าง ๆ กับผู้ลงทุน จากการประคับประคองคนตัวใหญ่ตลอดมา ทำให้รายได้ของคนตัวเล็กที่หมุนเวียนในประเทศด้านอื่นอย่าง การท่องเที่ยวหรือการค้าขายในพื้นที่ได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น หรือเพราะการเปิดเผยข้อมูลในส่วนหนึ่งอาจจะจำเป็นต้องเผยข้อมูลอีกหลาย ๆ ส่วน จะสร้างความเสียหายให้กับรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
อาจารย์สมนึก พูดถึงเรื่องของการมีช่องทาง social media ในปัจจุบันว่า อย่างน้อยข้อดีของมันคือการที่ข่าวสารสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเร็วกว่าอดีต หากเทียบกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนในครั้งนี้จึงไม่ได้เป็นข่าวที่ไม่มีเรื่องให้พูดถึงของสังคม แต่กลับสร้างเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่มากกว่า ว่าความไม่ชัดเจนนี้หมายความว่าอย่างไร
หรือข้อมูลที่จะปรากฏออกมา สามารถที่จะสร้างความเสียหายให้กับรัฐและเอกชน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงเลือกการจำกัดข้อมูล ซึ่งความเสียหายอาจจะน้อยกว่าปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลออกไป
เรื่องของการคำนวณมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์แบบนิเวศบริการ จึงดูเหมือนจะไม่ได้ถูกนับรวมลงไปในสมการนี้
Dispersant ลิควิดที่ลบคำว่า น้ำมันในทะเล
การแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ อาจารย์สมนึก ได้ยกตัวอย่างของการใช้สาร Dispersant ในการกำจัดคราบน้ำมันเปรียบเหมือน ยาสามัญประจำน้ำมันรั่ว ในประเทศนี้ ว่าการใช้สารนี้อยู่บ่อยครั้งในการกำจัดน้ำมันเป็นเพียงแค่ม่านพรางตาทำให้ไม่เห็นน้ำมันที่ลอยบนผิวน้ำ การที่น้ำมันตกลงไปใต้ทะเลก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในบริเวณนั้นอยู่ดี ทั้งไปเกาะบนผิวทราย ปะการัง หรือไปเคลือบเหงือกสิ่งมีชีวิต ท้ายที่สุดการแก้ปัญหาแบบนี้ก็จะทำให้ความเสียหายระยะสั้นและความเสียหายระยะยาวยังมีอยู่ในพื้นที่
ทั้งที่ความเป็นจริง การกำจัดคราบน้ำมันออกไปจากทะเลนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ทั้งการเผา การใช้บูมล้อม รวมถึงการใช้สารเคมีสลายน้ำมันเช่นกัน ซึ่งถ้าหากพิจารณาความเสี่ยงและประสิทธิภาพในการกำจัดน้ำมันในทะเล การใช้สาร Dispersant ก็ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องหรือเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่เราสามารถทำได้ เพราะนอกจากการเทสารเคมีปริมาณหลายสิบตันลงในทะเลซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบ การใช้สารนี้ก็ไม่ได้ทำให้คราบน้ำมันหายไปเพียงแต่มันตกลงสู่ใต้ทะเลเท่านั้น
นำมาสู่คำถามที่ว่า สาร Dispersant ที่รัฐและเอกชนใช้ในการแก้ไขน้ำมันรั่วตลอดมา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใช้เพื่อ แก้ไขปัญหา หรือเพื่อปกปิดปัญหากันแน่
เมื่อรัฐรับบทเป็นผู้อนุมัติ แต่ไม่อยากแสดงในบทของผู้ตรวจสอบ
ในวันที่สถานการณ์ต้องแก้ไขกันที่ปลายเหตุ อย่างการนำน้ำมันออกจากทะเลโดยเร็ว เพื่อที่จะส่งผลกระทบกับพี่น้องชาวระยองให้น้อยและสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงต้องหันกลับมามองที่ต้นเหตุของเรื่อง ว่ารัฐได้มีการลงไปตรวจสอบบริษัทเอกชนเหล่านี้บ่อยครั้งแค่ไหนหลังจากอนุมัติการใช้พื้นที่เหล่านี้ เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดการรั่วไหลของน้ำมันจากการชำรุดของอุปกรณ์ที่มีอายุการใช้งานนาน
“ปัญหาหลัก ๆ คือรัฐกลัวเรื่องการไม่ลงทุน การตรวจสอบบ่อย ๆ มักจะทำให้ผู้ลงทุนต้องประเมินการซ่อมแซมแทบทุกปีซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของเส้นสาย กลัวจะไปเหยียบขาใครเข้า” อาจารย์สมนึกกล่าว
“นอกจากนี้มันยังมีปัญหาในเรื่องของการฟ้องร้อง หากคดียืดเยื้อรัฐเขาก็ไม่อยากจะเสียเวลานาน”
หากพูดถึงมาตรการหรือกฎหมายที่รับรองกับสถานการณ์นี้ อาจารย์สมนึกให้ข้อมูลว่า “ก็มีเพียงพอที่จะใช้อยู่แล้ว” คำถามถัดไปที่โผล่มาอย่างรวดเร็ว คือเพราะเหตุใดรัฐถึงไม่ยอมใช้ข้อกฎหมายต่าง ๆ และสร้างมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกันเหตุเหล่านี้
ภาพเหตุการณ์น้ำมันรั่ว จ.ระยอง เมื่อปี 2556 ถูกบันทึกโดยชาวประมงเรือเล็ก
ในหลายครั้ง นอกจากรัฐจะไม่ได้แสดงในฐานะของผู้ตรวจสอบ รัฐยังคงลงมาในฐานะผู้เล่นและยังคงที่จะลงมารับผิดชอบร่วมในส่วนของเอกชนด้วย ถ้าหากว่ารัฐได้จัดมาตรการให้กับโรงงานเหล่านี้ไว้ตั้งแต่แรก รัฐคงไม่ต้องลงมาเป็นผู้เล่น ที่ใช้ภาษีประชาชนเพื่อมาเยียวยาประชาชนและทำให้แนวคิดของ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” มีประสิทธิภาพมากขึ้นในประเทศไทย
จากการประคับประคองผู้ลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่เขต EEC ที่เปลี่ยนพื้นที่ธรรมชาติให้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม จากผลกระทบของเหตุการณ์เมื่อ 9 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน รัฐยังคงไม่ได้มอบเส้นทางของการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและอุตสาหกรรมให้กับผู้คนในพื้นที่ระยอง รัฐจึงจำเป็นที่จะต้องเพิ่มบทบาทของผู้ตรวจสอบมากกว่าการเป็นผู้อนุมัติการลงทุนต่าง ๆที่เข้ามาใช้พื้นที่ เพื่อไม่ให้ชาวระยองต้องเป็นผู้เสียสละในเหตุการณ์แบบนี้
สมการน้ำมันรั่วของรัฐไทย ประชาชนอยู่ตรงไหน?
ถ้า X คือทรัพยากรธรรมชาติ Y คือผู้ลงทุน
จากการกระทำที่เอื้อต่อผู้ลงทุน ทั้งการที่รัฐลงมาอยู่ในฐานะผู้รับผิดชอบด้วย ทั้งการไม่ได้ใช้กฎหมายอย่างรัดกุม แล้วปัญหาน้ำมันรั่วในไทยครั้งแล้วครั้งเล่า ประชาชนยืนอยู่ที่จุดไหนในสมการนี้
อาจารย์สมนึก ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ทั้ง ๆ ที่รัฐมีกฎหมายอยู่ในมือ และสามารถสร้างมาตรการที่จะควบคุมโรงงานต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่และผู้คน หรือการรับเรื่องร้องเรียนไม่ครอบคลุมพื้นที่หลายส่วน สิ่งที่รัฐเป็นห่วงยังคงเป็นชื่อเสียงของประเทศและการเข้ามาของนักลงทุน ทำให้ผู้ได้รับความเสียหายที่สมควรจะได้รับการเยียวยาที่เหมาะสมและรวดเร็วอย่างประชาชน กลับไม่ได้ถูกไฮไลต์และไม่ได้มีพื้นที่ให้คำตอบของปัญหานี้เท่าที่ควร
“มันไม่ใช่แค่เรื่องของการที่ผู้คนไม่มีกินแค่เพราะหาปลาไม่ได้จนกว่าน้ำมันจะหมดไป แต่พื้นที่บริเวณนั้นจะไม่สามารถให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ มันส่งผลกระทบต่อคนแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก”
อีกกี่ครั้งที่ทะเลภาคตะวันออกต้องถูกทำร้าย
“ผมว่าครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แล้วหลังจากนี้ผมว่ามันจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย”
คำตอบของอาจารย์กับคำถามที่ว่า นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายหรือเปล่าที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้และรัฐจะจัดการอย่างไรกับโรงงานในอนาคต
ทางออกที่อาจารย์มองเห็นได้อย่างหนึ่ง คือการสร้างกองทุนน้ำมันรั่วภายใต้บริษัทเอกชนในพื้นที่ซึ่งเป็นข้อเสนอที่แต่ละบริษัทที่มาใช้พื้นที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน คือนำเงินส่วนกลางของเอกชนที่จะมาจ่ายรักษาเยียวยาในขั้นต้นเพื่อที่จะสามารถแก้ไขสถานการณ์และเยียวยาผู้ที่ได้รับกระทบให้เร็วที่สุด พร้อมยกตัวอย่างของโรงงานในเขตศรีราชา-บางละมุง ซึ่งเป็นพื้นที่ของอาจารย์ เกี่ยวกับมาตรการการป้องกันน้ำมันรั่ว ทุ่นลอยแต่ละแห่งจะมีบูมเพื่อจะเชื่อมกันได้เมื่อเกิดเหตุ โรงงานเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันในการป้องกัน ไม่ใช่ความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง และยังเป็นเงื่อนไขในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและอยู่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่
ซึ่งการกำจัดน้ำมันในแต่ละรอบก็ไม่ได้ทำให้ทะเลกลับมามีสภาพสมบูรณ์เท่าเดิมได้ ที่สามารถทำได้ก็มีเพียงการฟื้นฟูในระดับหนึ่ง พอที่จะให้ผู้คนสามารถใช้ธรรมชาติในการเลี้ยงชีพและหาประโยชน์จากมันได้ หากลองประมาณตัวเลข อาจารย์ได้ประเมินไว้ว่า อาจจะอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ทว่าการคำนวณถึงความเสียหายในครั้งนี้ใช้แค่สิ่งที่เห็นในปัจจุบันไม่ได้ หากจะคำนวณมูลค่าของมันจริง ๆ ยังต้องรวมถึงระยะเวลาที่พื้นที่จะกลับมาเท่าเดิม
“ชาวประมงหาปลาไม่ได้คุณก็ต้องเยียวยา หาปลาได้แล้วแต่ขายไม่ได้คุณก็ต้องเยียวยา ทั้งความเชื่อมั่นความมั่นใจของนักท่องเที่ยว คุณก็ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ด้วย” อาจารย์กล่าวถึงการประเมินความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนี้ที่จะต้องใช้ระยะเวลาในการประเมินนับจากนี้ด้วย
คราบน้ำมันรั่วที่ติดมากับทุ่นของชาวประมง
จากข้อมูลที่ไม่โปร่งใสจนถึงการเยียวยาที่ยังไม่แน่นอนว่าจะจัดการอย่างไร ยิ่งย้ำว่ารัฐยังไม่ได้รวมประชาชนลงไปในสมการครั้งนี้ อีกทั้งแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์แบบนิเวศบริการที่ผู้ลงทุนไม่ได้นำไปปฏิบัติตาม
9 ปีที่แล้ว ที่เราหวังว่ามันจะเป็นครั้งสุดท้าย แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น ในวันนี้สังคมยังต้องจับตามองต่อไปว่า ในอนาคตอีก 9 ปีข้างหน้าหรือเร็วกว่านั้น พี่น้องชาวระยองยังต้องเป็นผู้เสียสละอยู่หรือไม่และรัฐจะใส่คำว่า ประชาชน ลงไปในสมการของเศรษฐศาสตร์น้ำมันรั่วนี้ได้หรือยัง
เครดิตภาพหน้าปกจาก: ช่างภาพข่าว ThaiPBS