แม้จะมีชื่ออยู่ในฐานะหนังสือดิสโทเปียขึ้นหิ้งควบคู่กับ 1984 และ Brave New World แต่ We ของ เยฟกีนี ซามียาติน (Yevgeny Zamyatin) กลับมีชื่อเสียงที่ห่างชั้นกับนวนิยายทั้งสองเล่มราวฟ้ากับเหว กระทั่งเมื่อกับนวนิยายดิสโทเปียรุ่นที่ถูกเขียนหลังจากนั้น ตั้งแต่ Fahrenheit 451 จนไปถึง The Hunger Game We ก็ยังเป็นที่รู้จักน้อยกว่า
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า We นั้นไม่ใช่วรรณกรรมในโลกภาษาอังกฤษแต่กำเนิด มันเป็นวรรณกรรมที่ถูกผลิตขึ้นในสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษที่ 1920 ทว่าด้วยเนื้อหาที่แม้จะไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงโซเวียตโดยตรง แต่ในสายตาของผู้มีอำนาจกลับไม่ชอบเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ทำให้ We ต้องระหกระเหินไปตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ.1924 และกว่าจะได้ตีพิมพ์เป็นภาษารัสเซียก็ต้องรอไปจนถึงปี ค.ศ.1988 ที่โซเวียตได้เริ่มนโยบายปฏิรูปทางการเมืองเป็นที่เรียบร้อย
แม้ประวัติของหนังสือเล่มนี้อาจจะดูมีความรันทนอยู่สักหน่อย และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าที่ควร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ต่อนวนิยายดิสโทเปีย ที่ลีลาเสียดสีทางการเมืองนั้นมีมากที่สุดเล่มหนึ่งในประวัติศาสตร์ เผลอ ๆ อาจจะมากกว่า 1984 เสียด้วย เพราะว่าตัว 1984 เองก็ได้อิทธิพลมาจากนวนิยายเล่มนี้อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะพล็อต ตัวละคร หรือบทสรุป
แล้วทำไมหนังสือที่คนรู้จักค่อนข้างจะน้อยมากเล่มนี้ จึงมีอิทธิพลต่อหนังสือที่กลายเป็นตำนานไม่ใช่แค่ในฐานะนวนิยายดิสโทเปีย แต่เป็นในฐานะของวรรณกรรมในโลกภาษาอังกฤษอย่าง 1984 อะไรกันคือจุดเด่นของ We ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับงานเขียนจำนวนมากหลังจากนั้น
เชิดชูสังคม ต่อต้านปัจเจก – ต้นกำเนิดวรรณกรรมดิสโทเปีย
แม้จะไม่ใช่นวนิยายยูโทเปีย/ดิสโทเปียเรื่องแรก แต่ We ก็มักจะถูกกล่าวถึงว่าเป็นนวนิยายดิสโทเปียสมัยใหม่เรื่องแรก และมีลักษณะร่วมกับนิยายดิสโทเปียคลาสสิกหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งระหว่างปัจเจกกับสังคม
โดย We นั้นเป็นนวนิยายที่ใช้ฉากหลังเป็นสังคมในโลกอนาคตที่ชื่อว่าเอกรัฐ โดยดำเนินเรื่องในลักษณะบันทึกส่วนตัว ด้วยการช่วงเวลาที่ We ถูกเขียนขึ้น การส่งคนไปยังอวกาศยังคงเป็นเรื่องเพ้อฝัน ทำให้ช่วงเวลาที่จะเกิดเรื่อง เอกรัฐกำลังจะยิงจรวดเพื่อเริ่มการติดต่อกับอารยธรรมนอกโลก เพื่อที่จะสื่อสารกับอารยธรรมอื่น เอกรัฐได้ประกาศที่จะให้ประชาชนเขียนเรียงความสรรเสริญเอกรัฐ เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความสุขมากขนาดไหน
ซามียาตินพยายามทำให้ We เปรียบเสมือนบันทึกจากโลกอนาคตของตัวละครที่ชื่อว่า D-503 แค่ชื่อเราก็รู้สึกได้ถึงความประหลาด ทำไมชื่อของตัวละครในเรื่องจึงมีลักษณะเป็นรหัส ไม่เป็นชื่อ ที่เป็นเช่นนี้นั้นได้เฉลยในเวลาต่อมาว่าเป็นเพราะเอกรัฐประสบความสำเร็จในการทำลายความเป็นปัจเจกลงอย่างสิ้นเชิง จนแม้แต่ชื่อก็ยังไม่จำเป็นที่จะต้องมี
ทรงผมของตัวละครในเรื่องก็ถูกบรรยายในลักษณะเดียวกัน เพื่อที่จะไม่ให้มีความแตกต่างเกิดขึ้น ขณะเดียวกันบ้านเรือนก็กลายเป็นกระจกใส เพื่อให้ทุกคนสามารถมองทะลุทะลวงได้ถึงกันหมด ทว่าสิ่งที่ซามียาตินพยายามแสดงให้เห็นถึงความสลายตัวไปของความเป็นปัจเจกที่สุด ไม่ใช่เพียงแต่ในประเด็นเรื่องกายภาพ สิ่งสำคัญที่สุดของการล่มสลายของความเป็นปัจเจกนั้น คือการจัดสิ่งที่เรียกว่าเวลาของแต่ละบุคคล
“ทุก ๆ เช้าด้วยความเที่ยงตรงของหกล้อ ณ ชั่วโมงเดิม นาทีเดิม เราหลายล้านคนลุกขึ้นโดยพร้อมเพรียงกัน”
สำหรับเอกรัฐพื้นที่ของความเป็นปัจเจกนั้นต้องเป็นสิ่งที่ถูกทำลายและควบคุม โดยมีวิธีการเข้าแทรกแซงพฤติกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะการควบคุมเวลา แต่แม้ว่าคอนเซปต์ของเอกรัฐและสังคมที่ปราศจากปัจเจกนั้นดูยากจะโค่นล้ม แต่ซามียาตินก็ได้เปิดช่องให้สามารถดำเนินเรื่องได้ เพราะแม้เอกรัฐจะพยายามทำลายความเป็นปัจเจกลง แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ โดยเวลาส่วนตัวของมนุษย์ ในสังคมที่ความเป็นปัจเจกและอิสรภาพเป็นเรื่องหวงห้ามนั้น มีเพียงแค่เวลาส่วนตัวประมาณสามชั่วโมง ซึ่งกลายเป็นช่องว่างให้เกิดความคิดต่อต้านขึ้น
ความขัดแย้งในเรื่อง We จึงไม่ใช่เพียงความขัดแย้งของปัจเจกกับสังคม ไม่ใช่เพียงเรื่องของเผด็จการกับประชาธิปไตย หากแต่เป็นความขัดแย้งที่เลยไปถึงเรื่องนามธรรมอย่างการปะทะกันของเหตุผลและอารมณ์ เอกรัฐเป็นภาพแทนของเหตุผลและวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ขณะที่กลุ่มต่อต้านกลายเป็นภาพแทนของอารมณ์ ไปจนถึงความโกลาหล
ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่าหากพิจารณาถึงเหตุผลของการคงอยู่ของมนุษย์แล้ว สิ่งสำคัญพื้นฐานในฐานะสิ่งมีชีวิตก็คือ การมีชีวิตรอด ซึ่งซามียาตินเลือกที่จะให้เป็นภาพแทนของความสุข การมีชีวิตในสังคมแม้จะไม่มีความเป็นปัจเจก ก็รับประกันการมีชีวิตรอดลงได้ (ซึ่งเป็นข้ออ้างของสังคมเผด็จการในทุกที่)
ขณะเดียวกันซามียาตินก็ได้แสดงภาพของอิสรภาพในฐานะการแสดงออกของอารมณ์ และอะไรก็ตามที่ไม่ใช่ความเป็นปัจเจก ในสังคมเช่นเอกรัฐการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของเพียงเล็กน้อยก็มีความหมายเป็นการกบฏ ด้วยการที่รัฐเข้ามาจัดการกับชีวิตของคนเป็นอย่างมากทำให้การแต่งตัวนอกคอกไม่เคารพกฎเกณฑ์ ก็มีสิทธิ์ที่จะกลายเป็นการกบฏครั้งใหญ่ได้ ซึ่งตามหลักการแล้วสำหรับกรณีของ We เพียงการไม่ทำตามตารางเวลาก็สามารถกลายเป็นการกบฎได้แล้ว
และด้วยการที่เอกรัฐเป็นสังคมที่เชิดชูเหตุผลอย่างล้นเกิน กลุ่มขั้วตรงข้ามที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพในเรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นกลุ่มที่ดูมีเหตุมีผลเสียเท่าไหร่ การพูดคุยกันหรือปฏิบัติของตัวละครที่มีแนวโน้มจะต่อต้านเอกรัฐหลายครั้งก็ดูจะเป็นไปเพื่อสำเร็จความใคร่ทางอารมณ์ โดยที่ไม่ได้มีแผนที่เป็นที่จะสร้างสังคมแบบอื่นที่เป็นมิตรต่อตัวปัจเจกมากขึ้นแต่อย่างใด จนดูแล้วกลุ่มต่อต้านก็มีความป่วงไม่แพ้กับผู้กดขี่อย่างเอกรัฐ จนน่าสงสัยว่าหากกลุ่มต่อต้านชนะเอกรัฐขึ้นมาสังคมผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นเช่นไรกันแน่
ลักษณะความขัดแย้งเช่นนี้นั้นอาจสะท้อนไปถึงรากฐานของศาสนาคริสต์ในสังคมยุโรป สวนอีเดนในพระคัมภีร์นั้นเป็นสถานที่แห่งความสุข แต่ไม่ได้มีอิสรภาพ และเต็มไปด้วยกฎมากมาย ซึ่งกลายเป็นต้นเหตุให้อดัมกับอีฟนั้นถูกล่อลวงโดยอสรพิษ จนต้องระหกระเหินเร่ร่อนมาใช้ชีวิตที่มีอิสระแต่ทุกข์ทรมานในโลกมนุษย์
We ก็เช่นเดียวกัน แต่เปลี่ยนจากการเลือกอยู่ในสวนของพระเจ้ากับปัญญา และอิสรภาพที่แลกมาด้วยการโดนอัปเปหิไปบนโลกมนุษย์ กลายเป็นสังคมที่ไร้อิสรภาพ และถูกบังคับให้มีความสุข (ตามที่รัฐบอกว่าให้มี) กับอิสรภาพและความโกลาหลวุ่นวายแทน
ซึ่งด้วยประเด็นดังกล่าวทำให้แม้ We จะไม่ได้วิพากษ์การปกครองของโซเวียตโดยตรง แต่ก็ไม่ยากที่ We จะกลายเป็นหนังสือต้องห้ามขอสหภาพโซเวียต และส่งให้ซามียาตินกลายเป็นผู้ลี้ภัย ระหกระเหินต้องไปพิมพ์หนังสือเล่มนี้ที่นอกประเทศบ้านเกิด
หากแต่ด้วยการที่หนังสือเล่มนี้มีประเด็นที่นามธรรมมากกว่าหนังสือดิสโทเปียรุ่นน้องอย่าง 1984 และ Brave New World ทำให้เราอาจจะอ่านได้อีกแบบ และการวิพากษ์สังคมในเรื่องอาจจะไม่ใช่การวิพากษ์สังคมคอมมิวนิสต์อย่างที่โซเวียตร้อนตัวไปก่อนหน้า
สังคมอุตสาหกรรมและจุดจบความเป็นมนุษย์
“ซามียาตินไม่ได้พุ่งเป้าไปที่สังคมใดเป็นพิเศษ แต่พุ่งเป้าไปที่อารยธรรมอุตสาหกรรมต่างหาก”
เอริก แบลร์ได้เขียนข้อความดังกล่าวในบทความรีวิวหนังสือเรื่องนี้เมื่อปี 1946 ก่อนที่เขาจะเริ่มลงมือเขียน 1984 ได้ไม่นาน ไม่เป็นที่ปฏิเสธว่าสำหรับแบลร์หรือที่ชาวโลกรู้จักกันในนามปากกาว่าจอร์จ ออร์เวลล์ มีความชื่นชอบกับประเด็นในนวนิยายเรื่องนี้ และกลายเป็นในเขียน 1984 ในเวลาต่อมา
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะออร์เวลล์มองว่าเนื้อหาของ We นั้นมีความใกล้เคียงกับสถานการณ์ของสังคมในขณะนั้น ซึ่งเมื่ออ่าน 1984 เทียบกับ We ผู้อ่านย่อมเห็นความใกล้เคียงของพล็อตเรื่องอยู่ค่อนข้างมาก หากแต่จุดที่ทำให้ 1984 แตกต่างจาก We อย่างชัดเจนนั้นก็คือสาร 1984 นั้นมีลักษณะพุ่งตรงไปที่การวิพากษ์สังคมเผด็จการอย่างชัดเจนมากกว่า ขณะที่ We นั้นดูจะมีเป้าหมายในการวิพากษ์เป็นอีกอย่าง
โดยหลายคนรวมถึงออร์เวลล์มองว่า We มีลักษณะวิพากษ์สังคมอุตสาหกรรม มากกว่าสังคมเผด็จการของโซเวียตนั้นเป็นเพราะช่วงเวลาในการเขียน ซึ่งไม่สอดคล้องกับเวลาที่สตาลินได้ไต่เต้าขึ้นมามีอำนาจ ซึ่งไม่ว่าเราจะเชื่อในข้อเสนอของออร์เวลล์หรือเปล่า แต่จากเนื้อหาก็สามารถเข้าใจได้ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสังคมเผด็จการแต่เพียงอย่างเดียวจริง ๆ เห็นได้จากการทำตารางเวลา การเข้างาน การแต่งกายเหมือน ๆ กันและบั่นทอนความเป็นปัจเจก ลักษณะแบบนี้ตรงกับข้อวิพากษ์สังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมในเวลานั้น แม้แต่ภาพยนตร์อย่าง Modern Time ของชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin) ก็ยังมีโทนเสียงในการวิพากษ์การผลิตแบบอุตสาหกรรมคล้ายกับหนังสือเล่มนี้
หากเป็นเช่นนี้ปัญหาของสังคมในเรื่องจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่รูปแบบการเมืองของรัฐ แต่เป็นไปในมุมเศรษฐกิจด้วย
แน่นอนประเด็นนี้อาจจะไม่เข้ากับทุนนิยมสมัยนี้ซึ่งมีความซับซ้อนกว่าในสมัยที่ซามียาตินเขียนอย่างมหาศาล จนกระทั่งประเด็นที่ถูกวิพากษ์หลายประเด็นก็เปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะอ่านเอกรัฐเป็นสังคมอำนาจนิยมที่เข้าแทรกแซงชีวิตของคนตั้งแต่เกิดยันตาย หรือสังคมอุตสาหกรรมขั้นสุดที่ไม่คำนึงถึงชีวิตของมนุษย์ เอกรัฐก็เป็นสังคมที่โดนกดขี่ และมีที่ว่างให้อิสรภาพน้อยเกินไป เพื่อที่จะปลดปล่อยสังคมนี้แม้แต่ในระดับมูลฐาน ซามียาตินก็ได้เสนอประเด็นบางอย่างขึ้นมา และกลายเป็นสูตรสำเร็จของนวนิยายดิสโทเปียในช่วงหนึ่งเลยทีเดียว
นั้นก็คือความรักกับสังคมเผด็จการ
เมื่อความรักเป็นการปลดปล่อย
แม้จะดูน้ำเน่าไปเสียหน่อย แต่ความรักใน We นั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการกบฏ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเอกรัฐเป็นสังคมที่บูชาเหตุผลจนล้นเกิน และหากมีเหตุผลมาก ๆ สิ่งสำคัญมากกว่าอารมณ์ความรู้สึกก็คือการอยู่รอด มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลกว่า ที่จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม
ความรักจึงเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผล เพราะเป็นการทำร้ายตัวเอง เช่นเดียวกับสำนวนที่ไหนมีรักที่นั่นมีทุกข์ ความรักเป็นการที่มนุษย์ทิ้งเหตุผล และเป้าหมายของการมีชีวิตรอด เอาตัวไปผูกพันกับคนอื่น ซึ่งไม่รู้ว่าจะรักเราตอบไหม หลายครั้งความรักก็เป็นการทำร้ายตัวเอง ถึงตายก็มีมาแล้ว
ความไร้เหตุผลตรงนี้นี่เองที่ชกใต้เข็มขัดของเอกรัฐอย่างจัง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ D-503 ได้เริ่มที่จะมีความคิดแปลกแยกจากสังคม
ถึงในปัจจุบันประเด็นเรื่องความรักและความใคร่ใน We อาจจะไม่ตอบโจทย์สังคมขนาดนั้นอีกแล้ว และแน่นอนเราอาจจะเถียงได้ว่าความรู้สึกที่ D-503 มีต่อผู้นำการกบฏอย่าง I-330 อาจจะเป็นความใคร่แต่เพียงอย่างเดียว แต่การที่ We ดึงประเด็นเรื่องความรัก และตัณหาของมนุษย์ออกมานี่เองทำให้นวนิยายดิสโทเปียรุ่นหลังจำนวนมาก การกบฏจึงต้องเริ่มที่ความรักเสมอ จนหลายครั้งความรักชนะทุกสิ่ง เพราะความรักเป็นสิ่งเดียวที่จะต่อสู้กับสังคมที่แอบอ้างเหตุผลของการอยู่รอดได้
น่าเศร้าที่สุดท้ายความรักใน We ไม่ได้ทรงอานุภาพขนาดที่ก้าวข้ามอุปสรรคได้ทุกอย่าง ราวกับเป็นส่วนเกินของพัฒนาการของมนุษย์
หนังสือ: WE
ผู้เขียน: Yevgeny Zamyatin
ผู้แปล: ประสิทธิ์ ตั้งมหาสถิตกุล
สำนักพิมพ์: สมมติ
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.orwellfoundation.com/the-orwell-foundation/orwell/essays-and-other-works/freedom-and-happiness-review-of-we-by-yevgeny-zamyatin/