กระแสยุบสภากลับมาอีกครั้ง (ซึ่งมักจะมีกระแสบ่อย ๆ ให้ตื่นเต้นเล่น ๆ อยู่เสมอ) ในห้วงยามที่พรรคจัดตั้งรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐเริ่มมีความสั่นคลอน แตกแถว ย้ายพรรค หลายเสียงสะท้อนออกมาว่า ถ้าเป็นสภาพแบบ “การเมืองในระบอบประชาธิปไตยตามปกติ” นายกรัฐมนตรีต้องสั่งยุบสภาไปแล้ว เพราะคุมเสียง ส.ส. ฝั่งรัฐบาลไม่ได้ แต่อย่างที่ทราบกันดี 7 กว่าปีที่ผ่านมา การเมืองไทยปกติเสียเมื่อไรกัน
เสียงที่ตามมากับกระแสยุบสภา เป็นอะไรไปไม่ได้เลยนอกจาก “เมื่อไรจะเลือกตั้ง” ไม่ว่าจะสนามท้องถิ่นอย่างการเลือกผู้ว่าฯ กทม. หรือสนามใหญ่ระดับชาติอย่างการเลือกรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 อันเป็นกฎระเบียบ (จาก คสช.) ที่ครอบจักรวาลประชาธิปไตยไทยอยู่ ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะชุมนุมมากครั้งขนาดไหน หรือลงชื่อเสนอ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เข้าสู่สภาด้วยจำนวนเสียงมากเพียงใด ต่างก็ถูกสภาตีตกหมด
เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงอยู่ตามเดิม ก็น่าคิดว่า หากมีการเลือกตั้งในเร็ววัน อำนาจของ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะยังคงเลือกนายกรัฐมนตรีคนเดิม (หรือขั้วเดิม) กลับมา…
รัฐธรรมนูญ 2560 จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการมุ่งตัดวงจรการรัฐประหาร เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ
จะหาทางออกจากวิกฤตนี้อย่างไร De/code ชวนอ่าน 2 มุมมองจากทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต 1 พรรคเพื่อไทย และณัชปกร นามเมือง หัวหน้าฝ่ายปฏิรูปโครงสร้างทางกฎหมายและการเมือง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ไทยเคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย
วิธีการดูว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหน “เป็น” ประชาธิปไตย ในมุมมองของณัชปกร จะต้องดูจาก “ที่มา” และ “เนื้อหา”
ถ้าย้อนไปในอดีต กล่าวเฉพาะถึงที่มา รัฐธรรมนูญ 2540 ใกล้นิยามของประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ “สสร. 40” ใช้วิธีการเลือกตั้งโดยอ้อม มีทั้งสัดส่วนการเลือกตั้งจากพื้นที่และจากบรรดานักวิชาการ ในส่วนของ สสร. ที่เป็น กมธ. ฝ่ายรับฟังความคิดเห็น ก็มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเป็นหมื่น ๆ ราย ถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 กับ 2560 ซึ่งมีการลงประชามติเหมือนกันแล้ว เรื่องกระบวนการจัดทำที่เป็นประชาธิปไตยไม่สามารถนำมาเทียบกันได้เลย
ในแง่เนื้อหา ณัชปกรหยิบยกมา 3 ฉบับ ฉบับแรก รัฐธรรมนูญ 2489 เกิดขึ้นในสมัยที่ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีหลักการประชาธิปไตยหลายอย่างเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่การกำหนดให้สมาชิกรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส. และพฤฒสภา (ส.ว. ในปัจจุบัน) ซึ่งทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง รวมถึงวางหลักการแยกการเมืองออกจากข้าราชการ โดยกำหนดให้บรรดาข้าราชการห้ามเข้ามาดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรี ประเด็นนี้เป็นรากฐานสำคัญที่ส่งผลมาถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา
ฉบับถัดมา รัฐธรรมนูญ 2517 เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่มีการขับไล่จอมพล ถนอม กิตติขจร สิ่งที่เป็นปัญหาในตอนนั้นคือ ความไม่โปร่งใสของผู้บริหาร รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงได้วางหลักการแสดงบัญชีทรัพย์สินเป็นครั้งแรก ส่วนนายกรัฐมนตรีก็กำหนดให้มาจากการเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ณัชปกรรู้สึกว่าน่าสนใจมากคือ การกำหนดว่าห้ามใช้กฎอัยการศึกตามอำเภอใจ ถ้าจะใช้ต้องไปขออำนาจจากรัฐสภา
“…รัฐธรรมนูญ 2517 พยายามจะถอดบทเรียนจากยุคจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอมว่า สุดท้ายมันมีการใช้อำนาจกฎหมายความมั่นคงอย่างกว้างขวาง แล้วนำไปสู่การยึดอำนาจ ทำรัฐประหารให้เป็นระบอบเผด็จการ ฉะนั้นรัฐธรรมนูญ 2517 ก็พยายามวางหลักการในการต่อสู้เรื่องนี้ว่า ต่อไปจะใช้อำนาจทหารแบบเข้มข้นไม่ได้แล้ว…”
ฉบับสุดท้ายกลับมาที่รัฐธรรมนูญ 2540 หลักการสำคัญเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่วางไว้ใน 2 ฉบับข้างต้นถูกนำมาใช้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย สิ่งที่น่าสนใจมี 3 เรื่อง เรื่องแรก พยายามจะทำให้ระบบเลือกตั้งสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ซึ่งการนำระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบเข้ามาใช้ทำให้เห็นว่า ความต้องการของประชาชนในแง่นโยบายระดับชาติได้รับการตอบสนอง
เรื่องถัดมาหมวดสิทธิเสรีภาพ มีการวางหลักการเทียบเท่ากับหลักสากล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสรีภาพสื่อ สิทธิในกระบวนการยุติธรรรม สิทธิในระบบสาธารณสุข สิ่งเหล่านี้ได้ขยายสิทธิเสรีภาพให้ทุกคนได้รับอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน
เรื่องสุดท้าย ความพยายามในการสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุล โดยการนำองค์กรอิสระเข้ามาเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่จะมีปัญหาที่สัมพันธ์กับที่มาของ ส.ว. ซึ่งพอมาจากการเลือกตั้ง ทำให้ไปซ้ำซ้อนกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน กลายเป็นว่า ส.ว. ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรอิสระสามารถถูกแทรกแซงจากอิทธิพลของ ส.ส. หรือพรรคการเมืองได้
นอกจากนี้ มีแนวคิดที่พยายามจะเพิ่มอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลให้มากขึ้น ผ่านการตั้งองค์กรอิสระต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นกลไกคุ้มครองสิทธิ ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองการตีความรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งให้โปรงใส สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องดี
“…ในเชิงเนื้อหา รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นการมัดรวมประวัติศาสตร์ ถอดบทเรียนหลังจากการรัฐประหารเกือบจะทุกครั้งเข้ามาด้วยกัน แล้วก็พยายามเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการมาสู่ประชาธิปไตย…”
ทางด้านทัศนีย์มีความเห็นคล้ายกัน โดยมองว่าที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญ 40 มีความใกล้เคียงกับประชาชนมากที่สุด กระบวนการจัดทำได้เปิดโอกาสให้มีการตั้ง สสร. 99 คน โดย 76 คนมาจากการเลือกจากแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน ส่วนอีก 23 คนมาจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ นั่นหมายความว่า มี สสร. อย่างน้อย 76 คนที่มาจากภาคประชาชน ซึ่งประชาชนทั้งประเทศมีโอกาสการเลือก สสร. ด้วยตัวเอง
สสร. ชุดนี้ยังได้ไปลงพื้นที่ในจังหวัดที่เลือกพวกเขามา รวบรวมความคิดเห็นประชาชนเข้ามาสู่กรรมาธิการของการร่างรัฐธรรมนูญในปี 2540 ผลลัพธ์หลังจากนั้น ทำให้ระบบรัฐสภามี ส.ส. และ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างแท้จริง
“…ไม่ได้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด แต่นับว่าดีที่สุดที่มีมา เพราะรัฐธรรมนูญฉบับอื่นที่ผ่านมาบางฉบับ ก็จะมาคณะรัฐประหารตั้งคนของตัวเองมาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะสืบทอดทั้งนั้น มุมมองส่วนตัวคิดว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากภาคประชาชนอย่างมากที่สุด…”
คสช. จำแลงกายกับรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมากว่า 16 ล้านเสียง!”
เรามักจะได้ยินประโยคทำนองนี้บ่อย ๆ เมื่อฝ่ายรัฐบาลหรือผู้สนับสนุนรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวอ้างถึงความชอบธรรมต่อการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่อีกมุมหนึ่ง ในช่วงที่มีการทำประชามติปี 2559 คนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกปิดปากไปหลายคน ทัศนีย์คือหนึ่งในนั้น โดยถูกตั้งข้อหาอั้งยี่ซ่องโจรและเข้าไปอยู่ในคุกถึง 21 วัน จนหมดโอกาสไปลงประชามติ
“…น่าจะเป็นประชามติที่ปิดหู ปิดตา ปิดปากประชาชนมากที่สุด ถ้าประชาชนลืมตา เปิดหู เปิดปากในสิ่งที่ไม่ตรงกับผู้มีอำนาจก็จะมีปัญหา แต่ถ้าประชาชนอีกฝั่งหนึ่งแสดงความคิดเห็นตรง พูดถึงแต่ความดีของร่างรัฐธรรมนูญ 59 ก็พูดไปเถอะ ถ้าเราจำกันได้ กกต. ยังส่งหนังสือไปตามบ้านให้กับประชาชน พูดถึงแต่ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้…”
จากการรวบรวมข้อมูลของ iLaw พบว่า ในระหว่างการทำประชามติปี 2559 มีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีจากการทำกิจกรรมโดยสงบเกี่ยวกับกระบวนการประชามติด้วยข้อหาต่าง ๆ อย่างน้อย 142 คน[1] การกระทำของรัฐบาล คสช. เช่นนี้ ทัศนีย์เปรียบเทียบเหมือนกับ “ทหารเอาปืนมาจี้ประชาชน” ให้ไปลงมติ แต่ไม่รับรู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีข้อเสียอย่างไร จนนำไปสู่ความเข้าใจผิดในหลายเรื่อง เช่น ถ้าไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะไม่มีการเลือกตั้ง การพร่ำบอกว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” ของพลเอก ประยุทธ์ ทำให้ประชาชนที่อยากเลือกตั้งเขามีความหวัง ยังไม่นับว่าคำถามพ่วงกำกวม ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจ
ในส่วนเนื้อหาก็มีข้อกังขาไม่แพ้ที่มา ทัศนีย์ให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเผด็จการที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช. อย่างแท้จริง โดยปัญหาหลักในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ การแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ที่มีอำนาจมากล้นทั้งเลือกนายกรัฐมนตรี สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการองค์กรอิสระ รวมถึงผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ
ทัศนีย์กล่าวต่อไปว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้ให้อำนาจ ส.ว. ขึ้นไป “ขี่คอ” ส.ส. จากภาคประชาชน เพราะเมื่อก่อน ส.ว. ไม่มีอำนาจในสภามากมายขนาดนี้ แต่ตอนนี้พอมีกฎหมายเข้าไปในสภา ถ้ารัฐบาลเกรงว่าตนจะมีปัญหาเรื่องเสียงในสภาหรือเป็นกฎหมายที่ประชาชนได้รับความเสียหาย ก็จะแปลความว่า กฎหมายนั้น ๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ทำให้ ส.ว. มีสิทธิ์มาโหวตรับกฎหมายนั้นด้วย
อีกเรื่องสำคัญคือ การให้ ส.ว. สามารถสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ เรื่องนี้ไปเกี่ยวพันกับการที่รัฐธรรมนูญ 2560 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไปจนก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ เพราะไม่ว่าเรื่องอะไรก็ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน เช่น คุณสมบัติ ส.ส. หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เสียง ส.ว. ถึง 1 ใน 3 สมมติว่าผ่านชั้นรัฐสภาไป ถ้ามีคนไม่เห็นด้วยก็สามารถยื่นโดยตรงกับศาลรัฐธรรมนูญได้เลย
“…สมมติว่าไม่ได้ให้อำนาจ ส.ว. ไว้ล้นฟ้าขนาดนี้ เราก็จะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้วิกฤตมันคลี่คลายลงบ้าง แต่เมื่อให้อำนาจ ส.ว. ไว้ล้นฟ้า และขัดขวางการทำงานของรัฐสภา วิกฤตมันเลยมาถึงทุกวันนี้…”
ในมุมของขบวนการภาคประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยเต็มใบ รัฐธรรมนูญ 2560 ถือเป็นอุปสรรคไม่ต่างจากในมุมของนักการเมือง ณัชปกรชำแหละรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อ โดยเริ่มจากให้พิจารณาที่อำนาจอธิปไตย 3 อย่าง คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จะเห็นว่าอำนาจนิติบัญญัติและบริหารถูกแทรกแซงด้วยกลไกของคณะรัฐประหาร
ประเด็นที่เคยต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2517, พฤษภาฯ 35 จนถึงรัฐธรรมนูญ 2540 สุดท้ายรัฐธรรมนูญ 2560 ดึงกลับมาทั้งหมด เช่น นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะพยายามใช้วิธีการจัดทำบัญชีรายชื่อนายกฯ แต่ถึงที่สุดแล้ว การที่ไม่บังคับให้นายกฯ ต้องสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่บังคับให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. กลายเป็นการเปิดช่องให้นายกฯ คนนอก แม้คนที่เชียร์รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะบอกว่า พลเอก ประยุทธ์เป็นนายกฯ ในบัญชี แต่โดยนัยก็คือนายกฯ คนนอก ทำให้เห็นได้ชัดว่า ในแง่อำนาจฝ่ายบริหารที่ควรจะยึดโยงกับประชาชนกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย
ณัชปกร ยังกล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่รัฐธรรมนูญ 2560 ผ่าน เขาและ iLaw ประมาทองค์กรอิสระมากเกินไป ไม่คาดคิดว่าจะแผลงฤทธิ์เดชได้ขนาดนี้ ถ้าย้อนดูที่มาขององค์กรอิสระชุดปัจจุบันจะเห็นว่า มีความสัมพันธ์ยึดโยงกับคณะรัฐประหารทั้งหมด เพราะคนที่แต่งตั้งล้วนเป็น ส.ว. และ สนช. ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. อีกที
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กกต. ซึ่งการจัดการเลือกตั้งในปี 2562 เต็มไปด้วยข้อครหาและการตั้งคำถามมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีทั้งเหตุการณ์บัตรเลือกตั้งมาไม่ทัน คะแนนไม่ตรง บัตรเขย่ง นับคะแนนผิด รวมถึงการแปลงสูตรคำนวณระบบที่นั่งแบบพิสดารที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลหรือ คสช. มีที่นั่งในสภามากกว่าฝ่ายค้าน
“…เราไม่คาดคิดมาก่อนว่า องค์กรอิสระจะทำงานตอบสนองต่อคณะรัฐประหารขนาดนี้ พูดอย่างตรงไปตรงมาภาษาชาวบ้านว่า ไม่คิดว่ามันจะน่าเกลียดขนาดนี้…”
อีกองค์กรหนึ่งคือศาลรัฐธรรมนูญ ณัชปกรมองว่าเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ทำลายฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามกับ คสช. และจะเห็นความเป็นสองมาตรฐานอย่างชัดเจน ตั้งแต่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ, การตัดสิทธิ์ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีถือหุ้นสื่อ, ยุบพรรคอนาคตใหม่, กรณีบ้านหลวงพลเอก ประยุทธ์, คุณสมบัติร้อยเอก ธรรมนัส จนถึงกรณีล่าสุดอย่างการปราศรัยของแกนนำราษฎร
“…การขยับเพดานด้านประชาธิปไตยภายใต้องค์กรอิสระที่เป็นอยู่มันเป็นปัญหามาก เพราะคุณขยับอะไรไม่ได้เลย แล้วคุณจะไปหวังการเปลี่ยนแปลงในสภามันก็ยาก เพราะด้วยระบบเลือกตั้งและการมี ส.ว. มานั่งขี่คอ ส.ส. อยู่ มันไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง…”
แลนด์สไลด์(?)ของฝ่ายประชาธิปไตย คือความหวังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
กระแสยุบสภาที่เริ่มกลับมาอีกครั้งในตอนนี้ ทัศนีย์มองว่ามาจากการที่พรรคร่วมรัฐบาลแตกคอกันเอง และความสั่นคลอนในพรรคพลังประชารัฐหลังจากที่ ส.ส. 21 คนลาออกจากพรรค
“…คุณประยุทธ์ไม่มีกะจิตกะใจทำอะไรแล้ว เขาจะต้องบริหารความขัดแย้งของพรรค ซึ่งเกิดรอยร้าวอย่างชัดเจนขึ้น…”
สภาวะเช่นนี้ พลเอกประยุทธ์จะต้องเร่งยุบสภา เพราะปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็ปิดสภา เปิดสมัยหน้าพรรคฝ่ายค้านก็จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ถึงเวลานั้นถ้าพลเอก ประยุทธ์เสียงไม่พอก็ต้องถูกคว่ำกลางสภา (ซึ่งยังไม่เคยเกิดขึ้น) พอหลังจากถูกคว่ำ พลเอกประยุทธ์ก็จะเป็นอดีตนายกฯ ทันที กระแสยุบสภาจึงมีโอกาสเป็นไปได้สูงภายในไม่นานนี้แล้ว
นอกจากปัจจัยภายในพรรครัฐบาลเอง ปัจจัยภายนอกอย่างเรื่องเศรษฐกิจที่ตอนนี้มีคนเรียกว่า “แพงทั้งแผ่นดิน!” ก็อาจทำให้พลเอก ประยุทธ์ ไม่ได้กลับมา ทัศนีย์ชวนให้สังเกตว่า เดือนมกราคม 2565 เพียงเดือนเดียว น้ำมันขึ้น 7-8 ครั้ง สิ่งของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคขึ้นทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่เกลือ
“…ใครก็ตามที่เคยสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ เขาก็เริ่มรู้แล้วว่า เมื่อสนับสนุนให้คณะรัฐประหารเข้ามาสืบทอดอำนาจต่อ แล้วบริหารราชการประเทศไม่เป็น ผลกระทบก็ตกอยู่กับพี่น้องประชาชน อะไรก็ไม่สำคัญเท่าความลำบากทุกหย่อมหญ้าที่เกิดกับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน และที่สำคัญที่สุด พลเอกประยุทธ์บริหารจนคนรวยก็รวยขึ้นมโหฬาร คนจนก็จนลงอย่างไม่เคยจนมาก่อน…”
กระแสของการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ย่อมเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้จะมีการชุมนุมบนท้องถนนที่ดำเนินมาร่วม 2 ปี แต่ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้เริ่มมีข้อเสนอว่า หนทางที่จะแก้วิกฤตการเมืองไทยและแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ พรรคการเมืองฝ่ายค้านในปัจจุบันต้องได้รับชัยชนะและมีเสียงในสภามากกว่าพรรคฝ่ายรัฐบาลในปัจจุบันในการเลือกตั้งที่จะมาถึง…
พรรคเพื่อไทยมักจะประกาศเสมอว่า จะต้องชนะการเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” ซึ่งทัศนีย์กล่าวว่า “แลนด์สไลด์” ในที่นี้ คือการที่ต้องเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเข้ามาให้ได้มากที่สุดเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน ถ้าไม่ได้เสียงฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนมาก ส.ว. ก็โหวตพลเอก ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีก และการที่ใช้คำว่า “แลนด์สไลด์” เพราะหวังว่าประชาชนที่ผิดหวังกับการบริหารงานของรัฐบาล ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจหรือด้านสิทธิเสรีภาพจะเลือกฝ่ายประชาธิปไตย
แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ จำเป็นที่จะต้องตัดอำนาจ ส.ว. ก่อน ซึ่งเป็นประเด็นอันดับหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยยังยืนยันที่จะเสนอให้ตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ
“…อย่าลืมนะว่า ประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยมาได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง แต่พรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งกลับไม่มีโอกาสได้บริหารรัฐบาลนี้ เพราะฉะนั้นเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาชน เพราะฉะนั้นการตัดวงจรการสืบทอดอำนาจนี้ต้องเริ่มจากการตัดอำนาจของ ส.ว. ก่อน พรรคเพื่อไทยยังยืนยันจุดนี้แน่นอน…”
นอกจากการแก้ไขรายประเด็น/รายมาตรา การแก้ไขทั้งฉบับยังเป็นสิ่งจำเป็น ทัศนีย์ให้ความเห็นว่า ถ้าจะให้ย้อนจัดทำรัฐธรรมนูญเหมือนฉบับ 2475 ก็คงยาก อย่างเร็วที่สุดต้องนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาแก้ไขและให้ประชาชนทำประชามติ แต่ถ้าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาจริง ๆ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญควรจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญต้องคำนึงว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และต้องมีกฎระเบียบหรือกฎหมายที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่เอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ลดทอนสิทธิเสรีภาพของคนอีกกลุ่มหนึ่งเหมือนในตอนนี้
“…ลำดับแรกต้องมองประชาชนเป็นคนเท่าเทียมกันถึงจะเริ่มเดินหน้าเข้าไปได้ ตราบใดที่ยังจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ช่าง การเมืองจะวิกฤตต่อไป เพราะฉะนั้นหวังว่าในอนาคต คนแก้ไขที่มาจากภาคประชาชนจะนำการเมืองพ้นวิกฤตไปได้… มันคงจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ดีที่สุด ถูกใจประชาชนที่สุด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะต้องมาจากฉันทามติของประชาชน…”
ทัศนีย์ขอประชาชนทุกคนว่าอย่าเพิ่งสิ้นหวัง แม้สมัยนี้จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่สมัยหน้าก็จะเสนอต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะยุบสภา การเคลื่อนไหวรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้ 2 ขาเดินไปด้วยกันคือ ขาสภาและขาภาคประชาชน ถ้าหยุดเดินหรือขาใดขาหนึ่งท้อแท้ไป ประเทศก็จะออกจากวิกฤตไม่ได้
“…เชื่อเถอะว่า สักวันหนึ่งเราจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ เพราะเวลาของประชาชน เยาวชน เหมือนพระอาทิตย์กำลังขึ้น แต่ผู้มีอำนาจเหมือนพระอาทิตย์กำลังตก จึงอยากฝากไปยังผู้มีอำนาจ คุณจะเลือกพระอาทิตย์ตกแบบไหน ถ้าตกอย่างสวยงามก็จะเป็นภาพที่ดี แต่ถ้าคุณตกหลุมอุกกาบาต คนเขาจะเอาไว้โจษจันว่าเป็นคนที่ทำให้มีความวุ่นวายทางการเมืองด้วยซ้ำ ก็อย่าท้อแท้ มาร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป”
เบนเข็มจากเกมบนท้องถนนสู่คูหาเลือกตั้ง
ในรอบปีกว่าที่ผ่านมา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต่างถูกสภาตีตกหมดทั้งฉบับ iLaw ในเดือนพฤศจิกายน 2563 และฉบับ Re-Solution ในเดือนพฤศจิกายน 2564 นั่นนำพาความรู้สึกสิ้นหวังมาสู่ประชาชน
ในมุมมองของณัชปกรที่มีส่วนในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าไปในสภา กล่าวถึงทางออกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตว่า ถึงที่สุดแล้วข้อเรียกร้องข้อที่ 2 ของราษฎรเป็นข้อเสนอที่เมคเซนส์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน ประเด็นนี้ยังเป็นธงของ iLaw เหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน แต่รูปแบบในการไปถึงเป้าหมายนั้นยังไม่ได้คุยกันอย่างชัดเจน
ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญบอกไว้ว่า การจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องไปทำประชามติก่อน สมมติถ้าเราตีความว่า จะแก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ร่างใหม่ทั้งฉบับ หรือจะตั้ง สสร. ต้องทำประชามติก่อน พอไปดู พ.ร.บ. ประชามติก็จะพบว่า ช่องทางที่จะนำไปสู่การทำประชามติมี 3 แนวทางด้วยกัน
แนวทางแรกให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจ
แนวทางที่สองให้รัฐสภาทั้ง ส.ส. กับ ส.ว. ลงมติเห็นชอบการทำประชามติ แล้วส่งเรื่องไปให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจอีกทีหนึ่ง
แนวทางสุดท้าย เข้าชื่อ 50,000 ชื่อเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ทำประชามติ
นั่นหมายความว่าในทางปฏิบัติ การทำประชามติเพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำได้อีก 2 แนวทาง แนวทางแรกคือการต่อสู้บนท้องถนน แต่ณัชปกรไม่แน่ใจนักว่าการเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ และการกดดันรัฐสภาและคณะรัฐมนตรียุคปัจจุบันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริง ๆ
“…อำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติถูกกลืนกินโดยระบอบ คสช. ไปแล้ว เพราะฉะนั้นการต่อสู้บนท้องถนนภายใต้บริบทแบบเดิม ๆ ก็ไม่แน่ใจว่าจะเวิร์คหรือเปล่า ยอมรับว่าก็กลัวเหมือนกัน สมมติรวมรายชื่อได้ 50,000 ชื่อจริงแล้วไปยื่น ครม. เราจะโดนปัดตกแบบร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนอีกหรือเปล่า ในแง่ยุทธวิธีก็เลยไม่ชัดเจนว่า เราจะสู้แบบไหน…”
ส่วนอีกแนวทาง ถ้าสู้บนท้องถนนไม่ได้ก็ต้องไปสู้ในคูหาเลือกตั้งแทนการล่ารายชื่อหรือไปชุมนุมบนท้องถนน พอมีการยุบสภา ประชาชนก็ร่วมกันส่งเสียงและรณรงค์ให้เลือกพรรคการเมืองที่จะเสนอให้ทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าพรรคที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ สุดท้ายการทำประชามติอาจจะไม่เกิด
“…ถ้าเห็นว่าอาจจะสู้บนท้องถนนไม่ได้ เพราะตอนนี้ คสช. คุมอำนาจอยู่ เราก็ต้องเปลี่ยนอำนาจที่เขาคุมอยู่นั้นให้มาเป็นของประชาชนผ่านการเลือกตั้งให้ได้ เมื่อนั้นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถึงจะเกิดขึ้น…”
ท้ายที่สุดแล้ว การเมืองไทยจะออกจากวิกฤตได้หรือไม่ เสียงของประชาชนภายใต้กติกาที่เป็นธรรมจะเป็นคำตอบ ว่าแต่เวลานั้นคือเมื่อไรกัน
อ้างอิง
[1] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน iLaw. (2563). 10 เหตุผล ประชามติ’ 59 ไม่อาจใช้อ้างความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญ, จาก https://ilaw.or.th/node/5771?fbclid=IwAR1pcr77j_5knKo3hsbkTkJeUq_nSeSrHoHzx7jIh_xH0hvKyaYqIMZ5p0U