ศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. เกม (กระดาน) ที่เราต่างเป็นผู้เล่น - Decode
Reading Time: 3 minutes

ในยุคสมัยที่การกระจายอำนาจเป็นวลีติดปาก ในช่วงเวลาที่สายตาของประชาชน หรี่ตามองไปที่รัฐบาลอย่างเต็มไปด้วยคำถามและความสงสัย จะมีอะไรสะท้อนภาพอำนาจของประชาชน ซึ่งเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเองได้เท่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะมาถึง

แน่นอนว่าทั้งประเทศกำลังจับตามองว่าเราจะได้ใคร และภายใต้สังกัดใดมาแก้ปัญหาตั้งแต่รถติดยันโควิด แต่สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้นคือประชาชน เจ้าของอำนาจตัวจริง จะมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สำคัญนี้มากไปกว่ากาบัตรเลือกตั้งไม่กี่นาทีได้อย่างไร

De/code พร้อมแล้วที่จะพาคุณไปหาคำตอบ ไม่ใช่ในฐานะผู้อ่าน แต่ในฐานะ ‘ผู้เล่น’ ผ่านบอร์ดเกม “LOCAL ELECTION” จากสถาบันพระปกเกล้า และมูลนิธิ Fredrich Naumann ประเทศไทย

ผู้เล่นของเราวันนี้ทั้ง 3 คน คือ วริษา สุขกำเนิด นักศึกษาคณะสังคมวิทยา และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิธิกร บุญยกุลเจริญ ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพฯ เขตบางบอน พรรคก้าวไกลซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ Emergency Alert แจ้งเตือนอันตรายจากเหตุการณ์สะเทือนไฟไหม้กิ่งแก้ว และ อ.เดชรัต สุขกำเนิด อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต Think Forward Center 

ก่อนเริ่มเกม : เราต้องการอะไรจากเกมเลือกตั้ง

วันนี้ผู้ร่วมเล่นบอร์ดเกมของเรามีเพศ วัย อาชีพ ที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง ตัวเกมมาถึงจังหวะการโหวตนักการเมืองในคูหา ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องกากบาทเลือกผู้แทน ที่จะเข้าไปผลักดันนโยบายที่พวกเขาชื่นชอบ 

เหตุผลที่ อ.เดชรัต ไปเลือกตั้ง เพราะการมีตัวแทนในสภาฯ เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้พัฒนาคุณภาพชีวิต แน่นอนว่าในภาพกว้างควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องจัดสรรสวัสดิการต่าง ๆ ให้เรา เป็นคนที่ทำหน้าที่การบริการขั้นพื้นฐานอย่างครอบคลุม  (Universal Basic Service ) แต่การเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้แทนคือคนที่จะลงรายละเอียดเหล่านี้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ของทุกคน

ดังนั้นนโยบายระดับท้องถิ่นที่ดี จะต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่า คล่อง ว่องไว ตรงใจ และ ใกล้ชิด ให้ได้ แน่นอนว่าคนในท้องถิ่นย่อมรู้ดีที่สุดว่าท้องถิ่นของตนเองต้องพัฒนาด้านไหน แต่ทุกวันนี้แม้แต่โครงการอย่างการจัดบริการขนส่งสาธารณะส่วนกลางก็ต้องเข้ามาจัดแจง นี่เป็นภาพสะท้อนชัดเจนมากถึงความไม่ไว้ใจให้ท้องถิ่นจัดสรรทรัพยากรของตนเอง

ในขณะที่วริษามองถึงปัญหาที่ชัดและฉุกเฉินกว่านั้น เธอโฟกัสไปที่การฟื้นตัวหลังโควิด-19 ไม่ใช่เพียงแค่ภาคธุรกิจ แต่ยังกังวลถึงภาคการศึกษา นอกจากนี้วริษายังหยิบยกตัวอย่างจากนานาประเทศที่มีการจัดการในท้องถิ่นขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ

ยกตัวอย่างเช่นในประเทศเดนมาร์ก ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบสถาบันการเมืองของพวกเขาอย่างชัดเจน หรือ Rojava (ฝ่ายปกครองตนเองซีเรียเหนือและตะวันออก) ที่มีการตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นอย่างเข้มข้น ซึ่งการจะเกิดกระบวนการเหล่านั้นได้ ผู้คนในท้องถิ่นจะต้องมี Sense of Belonging หรือความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเองเสียก่อน ซึ่งแน่นอนว่าการที่ประชากรต้องโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ ย่อมทำให้ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของทรัพยากรในจุดที่พวกเขาอาศัยอยู่ไปด้วย

นิธิกร ชวนให้เรามองถึงเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่ประชาชนต้องไปเลือกตั้ง โดยเฉพาะเลือกตั้งในท้องถิ่น นั่นก็เพราะเราจะต้องผลักดันไม่ให้ท้องถิ่นของเรากลายเป็น “เมืองเสียโอกาส” และสิ่งที่ทำให้ประชาชนเสียโอกาสมากที่สุดอย่างหนึ่งนั่นก็คือ การขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ โดยที่เราส่วนใหญ่ไม่ทันได้สังเกตเห็น เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร ไม่ได้เลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพฯ มา 11 ปีแล้ว

การเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วกรุงเทพฯ ในเร็ววันนี้ จึงจะคึกคักและเป็นที่จับตามองมากที่สุดในรอบสิบปีอย่างแน่นอน

ระหว่างเล่น : ‘สะดุดตอ’ การเมืองแบบไทย ๆ

ขณะที่ผู้เล่นทั้งสามของเรากำลังจดจ่ออยู่กับกระดานการเลือกตั้งท้องถิ่นในเกม อ.เดชรัต กำลังประสบปัญหากระจายทรัพยากรระหว่างท้องถิ่นขนาดใหญ่และเล็กไม่ทั่วถึง วริษาเจอปัญหาคลาสสิกอย่างส่วนกลางมีขนาดใหญ่เทอะทะ และคุณนิธิกรกำลังจนแต้มกับปัญหาทรัพยากรที่มีในมือไม่เพียงพอ เราจึงอยากชวนพวกเขาพูดคุยต่อถึงเกมเลือกตั้งในชีวิตจริง มีอะไรบ้างที่กำลังกีดขวางการพัฒนาท้องถิ่นในกระดานของประชาชนอยู่

บ้านใหญ่ ตระกูลดังตัวเปลี่ยนเกม แต่ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด

แม้ไม่มีคำเรียกที่เป็นทางการ แต่หากไปถามคนในท้องถิ่นย่อมรู้ดี ว่าในย่านนี้ครอบครัวไหนที่มีอิทธิพลสูงสุด นามสกุลอะไรที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น (หรืออีกในหนึ่ง หัวคะแนนให้กับพรรคการเมืองใหญ่) ในพื้นที่นี้ นี่คือการยึดกุมทรัพยากร ผูกขาดอำนาจอย่างเป็นธรรมชาติ และทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจยากเย็นอย่างไม่น่าเชื่อ

อีกนัยหนึ่งที่น่าสนใจที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่น คือในหลาย ๆ ครั้งผู้คนต่างเลือกผู้สมัครที่ชัดเจนที่สุดว่ามีพรรคจากฟากฝั่งรัฐบาลหนุนหลัง ไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุดที่จะรับประกันได้ว่า จะมีงบผันลงมาสู่ท้องถิ่นของพวกเขาบ้างสักนิดก็ยังดี

ตัวอย่างหนึ่งที่ อ.เดชรัต ยกขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจคือประเทศญี่ปุ่น แคมเปญกระตุ้นการจ่ายภาษีให้กับท้องถิ่น (Furusato Nozei) เร็ว ๆ นี้ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ทันทีที่คุณเลือกจ่ายภาษีให้กับฮอกไกโด คุณจะได้รับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นสดใหม่ส่งตรงจากฮอกไกโด โดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนฮอกไกโดด้วยซ้ำ การสามารถเลือกจ่ายภาษีให้ท้องถิ่นไหนก็ได้แม้ไม่ได้อยู่ในทะเบียนบ้าน จะสามารถช่วยแก้ปัญหาท้องถิ่นขนาดเล็กให้มีภาษีส่งตรงไปถึงมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และช่วยให้ประชาชนสามารถดูแลบ้านเกิดของพวกเขาได้ แม้ว่าตัวไม่ได้อยู่ที่นั่นก็ตาม

พอกันทีกับการแบ่งงานกันทำ เหมือนอยู่คนละประเทศ

นิธิกร ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อก่อนไม่มีเวที ไม่มีสื่อ Social media รูปแบบการทำงานสื่อสารระหว่างนักการเมืองท้องถิ่นกับประชาชนเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่ใช่เพียงแค่สื่อประชาสัมพันธ์ที่ประชาชนสามารถมองเห็นได้ตลอดเวลา ว่าผู้แทนของพวกเขากำลังทำอะไรเพื่อพัฒนาท้องถิ่น แต่ยังสามารถช่วยกันตรวจได้ระดับ real time แบบ HD อีกด้วย

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือการทำงานร่วมกันของท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ หมดยุคสมัยของการทำงานพื้นที่ใครพื้นที่มัน หมดเวลาของถนนลาดยางครึ่งหนึ่งลูกรังครึ่งหนึ่งอีกต่อไป ระหว่างท้องถิ่นด้วยกันเองก็ต้องสามารถแบ่งปันข้อมูลและทำงานร่วมกันได้มากกว่าที่ผ่านมา 

ธุรกิจมาเฟีย ความเหลื่อมล้ำ กับดักความจนที่เราต่างทำเป็น “มองไม่เห็น”

เมื่อไร้การตรวจสอบ เมื่องบประมาณมหาศาลกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ครอบครัวใหญ่ จึงไม่แปลกที่การเมืองท้องถิ่นจะเป็นบ่อเกิดขนาดใหญ่มหึมา ให้แก่การผูกขาดธุรกิจและการกินรวบของกลุ่มทุน เพียงแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในท้องถิ่นนั้น วริษาชี้ให้เห็นถึงภาพงูกินหางวัฏจักรที่ไม่มีวันสิ้นสุด หากประชาชนยังเลือกผู้แทนท้องถิ่นเพียงเพราะเป็นผู้มีอิทธิพล เอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้องได้อย่างไร้การตรวจสอบ คุณภาพน้ำประปาก็ยังคงรสฝาดเฝื่อนแบบนี้ต่อไป ไฟฟ้าถนนหนทางยังคงเข้าไม่ถึงไม่ว่าผ่านรัฐบาลไปกี่ยุคสมัย

เพราะไม่ใช่เพียงการเมืองที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพของประชากรเท่านั้น ในทางกลับกัน พฤติกรรมการเลือกของประชาชน ก็เป็นตัวกำหนดนักการเมืองที่พวกเขาจะได้เช่นเดียวกัน

เกมจบ : อำนาจอยู่ในมือคนเลือก

ถึงแม้ว่าบอร์ดเกมของทั้งสามจะจบลงไปแล้ว แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นที่น่าจับตามองของกรุงเทพฯ กำลังจะเริ่มต้นในไม่ช้า กรุงเทพฯ พื้นที่ที่มีประชากรแฝงเกือบเท่า ๆ กันกับประชากรที่มีสิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่า น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) ร่วมกันในมหานครนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ผู้แทนที่พวกเขาเลือกจะยังคงมาจากบ้านใหญ่ หรือต้องมีคุณสมบัติที่พรรคการเมืองฝั่งรัฐบาลหนุนหลังเท่านั้นหรือไม่ และที่สำคัญที่สุด ความต้องการของประชาชนจะถูกตั้งใจฟังเท่ากับช่วงหาเสียงใช่ไหม และเราจะยังสามารถตรวจสอบการทำงานหลังออกจากคูหาได้มากน้อยแค่ไหน เป็นคำถามที่ยังรอคำตอบ เป็นข้อสอบที่จะวัดใจทุกฝ่าย ทั้งพรรคการเมือง และตัวประชาชนเอง เพราะอย่าลืมว่า voters นั่นเอง ที่เป็นคนออกแบบท้องถิ่น ของพวกเขาเอง