ทำสงครามกับแสงฟ้า ฟอนต์หนา คำโต
โค้งสุดท้ายลดหย่อนภาษีได้เต็มสตรีม!
รับเพิ่ม 3 ต่อ มีสิทธิอย่าเสียสิทธิ
วรรคทองของโฆษณาประกันส่งท้ายปีที่ทรงอิทธิพลต่อมนุษย์เงินเดือนอย่างฉัน เพราะเราต่างอ่อนไหวกับตัวเลข “เพิ่ม” มากกว่า “ลด” และมักจะเข่าอ่อนกับคำว่า “ยินดีด้วยคุณต้องเสียภาษีเพิ่ม” ก่อนสิ้นปีจึงเหมือนสิ้นใจสำหรับใครหลายคนที่ต้องเสียเงินเป็นหมื่น ๆ ไปกับตัวช่วยลดหย่อนภาษี โดยไม่มีทางเลี่ยงได้ เรื่องจริงกับตลกร้ายจึงมีอยู่ว่า ภาษีและความตายมักเป็นสองอย่างที่มนุษย์เงินเดือนเราหนีไม่พ้น บางคนก้มหน้ารับชะตากรรมในอัตราก้าวหน้าสูงสุด 35%
คงจะดีกว่านี้ถ้าเงินภาษีที่เราจ่ายแฟร์กับคนทุกกลุ่ม หรือย้อนกลับมาหาเราในรูปแบบรัฐสวัสดิการที่ดีได้ใครจะไม่ยินดีกับจ่ายภาษีเงินได้ฯ เพื่อนฉันคนหนึ่งล่ะที่คิดแบบนั้น ฉันจึงเป็นบุคคลที่สองของบทสนทนานี้
A: เพราะไม่อยากจ่ายเงินให้รัฐบาลที่บริหารจัดการไม่ได้ดั่งใจ ฤดูกาลภาษีมาทีไรเราจะมารู้สึกกับมันแค่ตอนที่จะต้องยื่นภาษี มันไม่ได้คุ้นเคยหรือเป็นหน้าที่ของพลเมือง แค่รู้สึกว่าต้องทำ
B: อย่างน้อยปีนี้ก็เสมอตัว ไม่ได้จ่ายเพิ่ม แต่เราจะมองการยื่นภาษีเงินได้ฯ เป็นอะไร
A: เรามองภาษีเงินได้ฯ เป็นการเอารัดเอาเปรียบอย่างหนึ่ง ทำไมถึงคิดแบบนี้ก็ไม่รู้ว่า เราต้องปิดทุกจุดเลยไม่ให้มีจุดที่ต้องจ่ายภาษีฯ เพิ่ม ทั้งที่จริง ๆ มันก็ไม่ได้เยอะ ถ้าเราเต็มใจจะให้ก็ได้ แต่เราทำงานของเรามาเวลาเราเจ็บป่วย รัฐก็ไม่ได้ดูแลเรา เวลาเราขึ้นรถไฟฟ้าเราก็เสียเงินไปกับค่าเดินทางโดยที่รัฐไม่ได้จ่าย เรียนหนังสือเรากู้กยศ.เราก็จ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ย ทุกบาททุกสตางค์งั้นก็ไม่มีอะไรที่บอกว่า เราควรจ่าย
B: ในต่างประเทศอาจจะมองว่าเงินภาษีเป็นรัฐสวัสดิการ เคยมีความคิดนี้แวบขึ้นมาในความคิดบ้างไหมล่ะ
A: เราเห็นภาพตัวเองตอนเกษียณคือเงินที่เราลงทุนด้วยเองไว้แล้วต่างหาก จะให้มาหวังแค่เบี้ยคนชรางั้นเหรอ คิดว่าไม่
B: มนุษย์เงินเดือนต้องจ่ายภาษี 5-35 % แต่มนุษย์ทรัพย์สิน จ่ายภาษีในอัตราสูงสุด 15% เลยไม่แน่ใจว่าเป็นมนุษย์เงินเดือนมันเป็นโชคดีหรือโชคร้ายของการมีงานทำ
“แบบนี้ก็มีด้วย” เสียงหมาป่าในภาพตัวแทน“มนุษย์เงินเดือน” ที่ยื่นภาษีทุกปีแต่ไม่รู้ และเพิ่งรู้ว่าภาษีของเราไม่เท่ากัน ถ้าเราจะต้องเพิ่มรายรับรัฐบาลในระบบภาษีปัจจุบันก็จะยิ่งไม่แฟร์ หนังสือปกสีฟ้า ล้อมกรอบดำ “We the People ปฏิวัติภาษีเงินได้ให้เท่าเทียม” ชี้ให้เราเห็นความไม่เป็นธรรมด้วยรูปธรรมของตัวเลข และตัวฐานของข้อเท็จจริงที่มาจากงานวิจัยล้วน ๆ ยิ่งทำให้เห็นชัดว่าการทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยเป็นแบบแยกส่วน โดยมีการกำหนดอัตราการหักค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันตามประเภทเงินได้ แถมเงินได้บางประเภทก็กำหนดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่เท่ากัน คนที่มีเงินได้หลายประเภทสามารถเลือกไม่นำมารวมเป็นเงินได้ประจำปีได้ ทำให้คนที่มีรายได้รวมเท่ากันมีโอกาสจ่ายภาษีเงินได้ฯ ไม่เท่ากัน
ถ้าเราแบ่งคนเสียภาษีในประเทศไทยเป็น 2 กลุ่มใหญ่อย่าง กลุ่ม มนุษย์เงินเดือน ที่มีรายได้หลักเพียงเงินเดือน ไม่มีทรัพย์สินอะไรมากมาย ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นอัตราก้าวหน้า ต่ำสุดที่ร้อยละ 5 สูงสุดร้อยละ 35 ตามค่าเงินได้ที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องถูกนายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายบางส่วนไว้ก่อน และจะต้องกรอกแบบภาษีประจำปี เพื่อเสียภาษีให้ครบถ้วน
อีกกลุ่ม มนุษย์ทรัพย์สิน บางคนไม่จำเป็นต้องทำงานกินเงินเดือน มีรายได้หลายรูปแบบ อาจเป็นค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรจากการเล่นหุ้น ลงทุนต่างประเทศ ทำธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น แต่ให้สังเกตว่า กลุ่มมนุษย์ทรัพย์สิน จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราคงที่ ตามกฎหมายกำหนด ตามประเภทรายได้ เริ่มที่ 0 และสูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 เสียครั้งเดียวจบ ตรงนี้ก็ไม่แฟร์แล้ว!! แถมยังไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มภาษีอีกหากไม่มีธุรกรรมด้านนิติบุคคลอื่นใดที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แม้จะต้องกรอกแบบภาษีก็ไม่ต้องรายงานเงินได้ที่ได้จากการใช้ทรัพย์สินลงทุน เว้นเสียแต่ว่าจะมีสิทธิ์ได้คืนภาษีการหักค่าลดหย่อนสำหรับกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ซึ่งมีขอบเขตจำกัด ขณะที่กลุ่มมนุษย์ทรัพย์สิน ถ้าทำธุรกิจ ช่องทางที่จะหักลดหย่อนมีมากกว่าทั้งยังมีขอบเขตที่ไม่แน่นอนด้วย
ต่อให้มีเงินได้เป็นล้านเท่ากัน ไม่ว่าใครจะเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือมนุษย์ทรัพย์สิน ก็ต้องจ่ายภาษีเงินได้ฯ ในอัตราที่เท่า ๆ กัน จะเก็บในอัตราสูงสุดที่ร้อยละ 35 หรือไม่ก็แล้วแต่ กลางดึกของวันนั้นฉันมีนัดอย่างไม่เป็นการกับ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์เป็นนักวิชาการที่ศึกษาสังคมการเมืองไทย งานของอาจารย์ผาสุกหลายชิ้นมีการเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษจนกลายเป็นหนังสืออ้างอิงเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองไทยในระดับสากล เช่น เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ และประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ตลอดปี 2560 อาจารย์ผาสุกและนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันทำงานวิจัยชุดใหม่ภายใต้โครงการ “แนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน” แม้งานวิจัยเรื่องการปฏิรูปภาษีจะมีอยู่ไม่น้อยในไทย แต่ความต่างที่แหลมคมของงานวิจัยชุดนี้คือหยิบจับส่วนผสมของเรื่องภาษี ความเหลื่อมล้ำ และเศรษฐศาสตร์การเมือง เข้าไว้ด้วยกัน
บทสนทนาของกลางดึกวันหนึ่งจึงเริ่มต้นจากเบื้องหลังของระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายิ่งตอกย้ำความไม่แฟร์ให้เรารู้สึกใกล้ชิดกับรูปธรรมที่สัมพันธ์กับระบอบการเมืองอย่างแนบแน่น จนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน
“ประเทศอื่นที่พัฒนาแล้ว ไม่มีระบบนี้ หรือถ้ามี ก็ยกเลิกไปแล้ว โดยจะมีภาษีระบบเดียวที่ใช้กับทุกคนเหมือนกันหมด ขณะที่ประเทศไทยใช้ระบบภาษีแบบแยกส่วนของเงินได้แต่ละประเภทที่มีการรายงานต่างกัน และเสียภาษีในอัตราต่างกัน” อาจารย์ผาสุก ยกตัวอย่าง ประเทศแถบ OECD จะใช้ระบบภาษีแบบบูรณาการ คือคนที่ถึงเกณฑ์ภาษีจะต้องกรอกแบบภาษีลงรายการรายได้ทุกประเภทในแบบฟอร์มเดียวกัน แม้จะมีรายได้ประเภทใดก็จะต้องกรอกแบบภาษีทั้งหมด แล้วก็เสียภาษีในอัตราตามขั้นเงินเดือนหรือตามขั้นเงินได้ตามที่กฎหมายกำหนดในระบบเดียวกันหมด ไม่มีการแยกส่วนว่าเงินได้ประเภทนี้ไม่ต้องกรอกแล้วก็ไปจ่ายภาษีที่หน่วยงานนี้ถือว่าถูกหัก ณ ที่จ่ายก็ถือว่าจบกันแล้ว ในอัตรา 5% หรือ 10% ซึ่งต่ำกว่าอัตราสูงสุดของคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน
ระบบแยกส่วนนี้จึงไม่แฟร์ในแง่ของทุกคนทำงานต้องเสียภาษี แต่รายได้บางประเภทเสียภาษีในอัตราต่ำกว่า (หัวเราะ) เป็นความไม่แฟร์แล้วหนึ่ง คุณว่าไหมล่ะ
ส่วนกรณีที่มีการยกเว้นหรือลดหย่อนสำหรับบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นมนุษย์เงินเดือน อาจารย์ผาสุกได้ศึกษาแล้วพบว่า ระบบการยกเว้นหรือลดหย่อนแบบนี้ให้ประโยชน์สูงสุดกับคนที่มีรายได้สูง ๆ ผู้ที่มีรายได้น้อยจะไม่มีโอกาสได้ประโยชน์เพราะรายได้ไม่ถึง จึงเป็นความไม่แฟร์อีกหนึ่ง
มากไปกว่านั้นคือ คนที่ไม่ได้ทำงานกินเงินเดือนแต่มีรายได้จากทรัพย์สินอย่างเดียวในรูปแบบต่าง ๆ มีโอกาสหรือช่องโหว่ที่จะหลีกเลี่ยงภาษี ไม่รายงานรายได้เลยแต่ไม่เสียภาษีเลยก็มีสูง ยกตัวอย่างเรื่องค่าเช่า “คุณปล่อยเช่าอย่างไม่เป็นทางการไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท มันก็ยากที่สรรพากรจะตรวจพบ นอกจากจะเดินไปเคาะตามบ้านเช่าต่าง ๆ” ดังนั้นจึงพบว่า ยังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งไม่ต้องกรอกใบภาษี แล้วมีรายได้จากทรัพย์สิน ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่าทรัพย์สิน เงินได้จากอาชีพอิสระ ฯลฯ
ความไม่แฟร์อีกอย่างคือ เงินได้หลายประเภทได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมาย เช่น รายได้จากขายหลักทรัพย์ หรือแม้แต่การลงทุนในต่างประเทศที่ไม่ได้มีแหล่งพำนักอาศัยในประเทศนั้นและไม่ได้นำรายได้กลับมาในปีเดียวกัน ก็ไม่ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย จริง ๆ แล้วมันไม่ควรจะเกิดขึ้น ทำให้ประเทศเสียประโยชน์มหาศาล
การจัดเก็บภาษีตามถิ่นที่อยู่(Tax Residency) รายได้ไม่ว่าจะอาศัยในประเทศไทยรวมถึงรายได้ที่ได้รับในต่างประเทศควรถูกแสดงในรายการเสียภาษีประจำปี หรือพูดอีกนัยก็คือ เงินได้ที่ได้รับในประเทศไทยของคนที่มีแหล่งพำนักในประเทศอื่นก็ควรถูกรายงานต่อหน่วยงานภาษีของประเทศที่คนนั้นอาศัยอยู่ด้วย
จึงไม่มีเหตุผลให้เรายกเว้นให้กับคนที่เอาเงินไปลงทุนในต่างประเทศ ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แล้วไม่ต้องเสียภาษี แต่ใครล่ะคือตัวการเบื้องหลังของความไม่เป็นแฟร์สุดขั้วนี้ บทสนทนาจึงดำเนินมาถึงจุดที่หาความสัมพันธ์ของตัวละครที่ไม่ต้องการให้เปลี่ยนระบบภาษีเงินได้ฯ อาจารย์ผาสุก พูดเป็นนัยว่า คนไม่ต้องการเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความยุ่งยากสำหรับผู้ที่ต้องจัดระบบใหม่และศึกษาเรื่องนี้ใหม่ มันไม่ควรเป็นเหตุผลหลัก เพราะเหตุหลักเป็นเพราะมีคนที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น
เหมือน ๆ กับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ออกมามีผลบังคับใช้แล้วมันก็ไม่เกิดผลอย่างที่ต้องการและอาจจะเลวลงไปอีก เพราะยังมีช่องโหว่อยู่มาก และการมีข้อยกเว้นเรื่องเงินได้ผู้ลงทุนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ต้องเสียภาษีก็จะมีคนเสียผลประโยชน์ ในต่างประเทศใช้วิธีว่า ถ้าเป็นการลงทุนระยะสั้น ซื้อมาขายไปในปีเดียวกันถือเป็นการเก็งกำไร ก็ให้มารวมจ่ายภาษีเงินได้ตามปกติ แต่ถ้าถือนานเกินหนึ่งปีก็จะเสียภาษีในอีกอัตราหนึ่ง หรือเสียภาษีจากกำไรสุทธิ แต่ประเทศไทยไม่ทำ!
เพราะ…กลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ในเรื่องนี้แข็งแรงและแน่นหนา
หรือพูดให้ชัดกว่านี้ การเก็บภาษีจากธุรกิจและรายได้จากทรัพย์สินสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเป็นเรื่องที่ยาก เพราะเป็นเรื่องของการเมืองและโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
ประเทศไทยก็ยิ่งยาก เสียงของประชาชนส่วนมากที่ต้องการระบบภาษีที่เป็นธรรมก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างที่ควรจะเป็น ไม่เฉพาะเรื่องความเป็นธรรมด้านภาษีเท่านั้น เรื่องอื่น ๆ ก็มักจะออกมาในลักษณะเดียวกันลองสังเกตสิ ก่อนอาจารย์ผาสุก จะย้ำว่า “การจะมีระบบรัฐสภาประชาธิปไตยที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก ถ้าแก้ตรงนี้ไม่ได้เราก็ไม่สามารถแก้เรื่องอื่นได้ เพราะมันคือเรื่องเดียวกัน”
เป็นเรื่องเดียวกับ ‘The top 1%’ บนยอดของพีระมิด จำนวนแค่หยิบมือแต่ครอบครองความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของทั้งประเทศ การกระจุกตัวของความมั่งคั่งมักบ่งบอกสถานะของกระจุกตัวของอำนาจ สองสิ่งนี้เมื่อรวมกันแล้วกลายเป็นปัจจัยด้านโครงสร้างที่อยู่เบื้องหลังความคับข้องใจของผู้คนไม่ใช่แค่มนุษย์เงินเดือน เพียงแต่ในมุมมองของอาจารย์ผาสุก มีข้อสังเกตที่ต่างออกไป นอกจากคนที่มีรายได้สูงสุดของประเทศจะไม่อยู่ในกลุ่มที่เสียภาษีเงินได้ฯ ในอัตราสูงสุดแล้ว กลุ่ม‘The top 1%’ ยังมีรายได้อื่น ๆ มากมนุษย์เงินเดือนหลายเท่าและไม่ได้อยู่ในระบบภาษี
“เราจึงไม่รู้ว่าคน 1% ของประเทศที่ไม่ได้อยู่สารบบของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าไร มีรายได้มหาศาลขนาดไหนบางทีข้อมูลที่มีอยู่อาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง”
ถ้าดูสัดส่วนผู้เสียภาษีเงินได้ฯ ตอนนี้อยู่ที่ 3 ล้านคน เป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้มีเงินหัก 40 ล้านคน เพราะไม่ได้ครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ อาจารย์ผาสุก จึงเสนอว่า เราควรขยายฐานภาษีไปให้ครบทุกสาขาเศรษฐกิจรวมถึงภาคเกษตรกรรม และควรร่วมมือกับต่างประเทศให้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่บนฐานรายได้ที่ได้รับจากทั่วโลกป้องกันการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย โดยเฉพาะการย้ายเงินลงทุน ซึ่งไม่ทำให้ประเทศต้นทางไม่มีโอกาสได้เก็บภาษี
ยิ่งชั่วโมงนี้ในสถานการณ์โควิดคนส่วนใหญ่ของประเทศจนลง และในขณะที่ทุกคนลำบากยังมีคนกลุ่มหนึ่งจำนวนน้อยมากในโลกที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำและมีทรัพย์สินเยอะก็ทำกำไรอย่างมโหฬารอาศัยช่องโหว่ของระบบหลีกเลี่ยงภาษี แน่นอนว่าชั่วโมงนี้ได้สร้างความตื่นตัวแล้วว่า ประเทศไหนมีความเข้มแข็งของระบอบการเมืองก็จะมีความเป็นธรรมทางภาษีมากขึ้น
นักข่าว : แต่ไม่ว่ายังไงเงินได้ก็คือเงินได้
ผาสุก : ใช่ (หัวเราะ)เงินได้ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ต้องเสียภาษีหมด เพื่อความเป็นธรรมในอัตราภาษีเดียวกัน แต่ของประเทศไทยยังเป็นเรื่องของผลประโยชน์และเป็นเรื่องของผู้ทรงอิทธิพลและชนชั้นนำ จึงถึงเวลาที่จะต้องทบทวน เพราะไม่แฟร์ที่จะเสียภาษีที่ไม่เท่ากัน
บางทีผู้ที่มีเงินได้จากทรัพย์สินก็อาจจะมีมากกว่ามนุษย์เงินเดือนด้วยซ้ำ
สงครามสิ้นปีจบลงที่ความพ่ายแพ้ให้กับแสงฟ้า ฟอนต์หนา คำโตในจอมือถือ 4.7 นิ้ว
ลดหย่อนภาษีได้เต็มสตรีม!
รับเพิ่ม 3 ต่อ มีสิทธิอย่าเสียสิทธิ
ตลกร้ายกว่านั้น เป็นไปได้สูงว่าจะได้เงินคืนเท่าเงินทอนเช่นปีก่อน
หนังสือ: We the people ปฏิวัติภาษีเงินได้ฯให้เท่าเทียม
สำนักพิมพ์: มติชน
บรรณาธิการ : ผาสุก พงษ์ไพจิตร,นวลน้อย ตรีรัตน์
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี