ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
ปลายเดือน พฤศจิกายน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานสถานะความยากจนในปี 2563 โดยมีสำนักข่าวหลายสำนักพาดหัวข่าวตรงกันในลักษณะว่า “คนจนเพิ่มน้อยกว่าที่คาด เพราะได้รับเงินเยียวยา” อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าคิดคือ จากสถิติมีคนจนเพิ่มขึ้น ถึง 500,000 คน หรือราว 0.7 % ของประชากร ตัวเลขนี้อาจดูไม่น่ากังวลเพราะเศรษฐกิจที่หดตัวถึงกว่าร้อยละ 6 แต่มีคนจนเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 1 ก็ดูจะเป็นความสำเร็จ แต่ภายในตัวเลขนั้นคือชีวิตคนกว่าครึ่งล้านที่ยังอยู่ในสภาวะที่ยากจน สิ่งที่ไม่ควรคงอยู่แล้วในศตวรรษที่ 21 บทความนี้ผมอยากนำทุกท่านขบคิดว่าเหตุใดงบประมาณมหาศาล ถึงล้มเหลวในการประคองชีวิตของคนไทยไม่ว่าในสภาวะวิกฤติ และไม่วิกฤติ
ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาผมมีโอกาสบรรยายในงานประชุมวิชาการที่ Hanken School of Economics คณะเศรษฐศาสตร์เก่าแก่ของฟินแลนด์ โดยประเด็นในการประชุมคือ Humanitarian Supply Chain หรือวิธีที่จะสามารถนำส่งสวัสดิการต่างๆสู่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งมีงานวิจัยจากหลายประเทศที่พูดถึงตั้งแต่เรื่องวิธีการขนของ กระจายวัคซีน รวมถึงการจัดอาสาสมัคร สำหรับผมได้นำเสนอถึง “ปัญหาของวิธีการคิดแบบสงเคราะห์” ของรัฐไทยในการจัดสวัสดิการช่วงวิกฤติโควิด-19 กับงบประมาณมหาศาลที่ใช้
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศที่ระบบสวัสดิการพื้นฐานดีกว่า ก็ย่อมสามารถเก็บรักษาชีวิตของประชาชนได้ดีกว่าประเทศที่ระบบสวัสดิการพื้นฐานไม่ดี ซึ่งนอกจากตัวเงินที่ลงไปแล้วสิ่งสำคัญคือระบบการคิดเกี่ยวกับเรื่องการกระจายสวัสดิการก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อพิจารณารายงานสถานะความยากจนของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่าประเทศไทยใช้งบประมาณการเยียวยา กว่า 4 แสนล้านบาท ส่งตรงสู่คนกว่า 40 ล้านคน เฉลี่ยทั้งปี 13,473 บาทต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ย 1,123 บาทต่อคนต่อเดือน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของเส้นความยากจน งบประมาณนี้นับว่าเป็นงบประมาณที่สูงกว่างบประมาณสวัสดิการปกติกว่า 100% หรือราวร้อยละ 8 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ความล้มเหลวที่ว่านี้คือนอกจากคนจนที่เพิ่มขึ้นกว่า 5 แสนคน ครัวเรือนยากจนก็ยังมีอยู่กว่า 1.4 ล้าน เพิ่มขึ้นกว่า แสนครัวเรือน คนที่อยู่ใต้เส้นความยากจนสัมบูรณ์เพิ่มสูงขึ้นราว 25%จากปีก่อน ละอัตราการพึ่งพิงของกลุ่มคนยากจนก็สูงมากขึ้นหรือมีภาระในการดูแลผู้อื่นเยอะมากขึ้นในกลุ่มคนยากจน ซึ่งสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ยากจนถึงร้อยละ 50โดยเปรียบเทียบ
โดยรวมแล้วเหมือนว่างบประมาณมหาศาลล้มเหลวและไม่สามารถรักษาชีวิตผู้คนได้
ผมเปรียบเทียบกับนโยบายในอดีต หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ลดค่าใช้จ่ายสุขภาพของคนจนได้มากกว่า 70% เบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าที่ส่งตรงถึงกลุ่มคนจนที่สุดได้เพิ่มขึ้น เกิน 90% หรือการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อสิบปีก่อนที่กลุ่มคนกว่า 4 ล้านคนได้รับผลประโยชน์โดยตรง
หัวใหญ่ของการดำเนินนโยบายสวัสดิการ อาจสั้นๆง่ายๆคือ ปริมาณมากพอ – โครงการเยียวยาค่อนข้างล้มเหลวเพราะระยะเวลาสั้นและเงินน้อยเมื่อเทียบกับการรอคอย ทันเวลาไม่มีระบราชการที่ยุ่งเหยิงวไม่ต้องพิสูจน์ซ้ำซ้อนเพื่อรับ และสำคัญที่สุดคือคาดเดาได้ว่า ระบบสวัสดิการนี้จะอยู่กับเรายาวนานแค่ไหน
ปัญหาของระบบเยียวยาไทยจึงไม่ใช่แค่ปริมาณเงินแต่คือวิธีการคิด ความเชื่อว่าสวัสดิการควรเป็นสิทธิพื้นฐานสำหรับทุกคนหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ขอความเมตตา เป็นเรื่องถาวรหรือชั่วครู่ชั่วยาม
สิ่งที่ผมทิ้งท้ายสำหรับการนำเสนอคือการแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญในการประชุมถึงประสบการณ์ในประเทศไทย
น่าแปลกมากเมืองไทย ไม่มีปัญหากับการให้เงินคนจน ถ้าเป็นคนจนคนเดียว บริจาคให้เป็นล้านก็ได้ แต่ต้องแสดงว่ายังคงจนและเจียมตัว แต่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายมากถ้าจะให้เงินหรือสวัสดิการแก่ทุกคน และเงินหรือสวัสดิการนั้นจะมากพอที่ทำให้ชีวิตพวกเขาดีหรือหรูหราขึ้น
พวกเขาเดือดร้อนถ้า “ชีวิตคนส่วนใหญ่จะดีขึ้น” เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย และยอมที่จะให้มีนโยบายล้มเหลวซ้ำกับฐานความคิดแบบเดิม ๆ