ในยุคสมัยแห่งการตั้งคำถาม เราเห็นถึงความพยายามในการปลุกเร้า ให้มีการปฏิรูปในทุกองคาพยพอย่างพร้อมเพรียง ไม่เว้นแวดวงการศึกษา
แต่แปลกอย่างยิ่งที่กระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ กลับพัดพาไปไม่ถึงแวดวงวิชาการ หรือที่เรายังไม่มีคำตอบเป็นไปได้หรือไม่ว่า เพราะแวดวงวิชาการก็กำลังมีปัญหา แวดวงวิชาการเองก็ต้องการการปฏิรูป
De/code ชวน อาจารย์มหาวิทยาลัยในกรุงเทพ (ไม่ประสงค์ออกนาม) ร่วมหาคำตอบ ที่ไม่ใช่เพียงทางออกให้กับแวดวงนี้เท่านั้น แต่อาจสามารถตอบโจทย์สำคัญของยุคสมัยได้เลยทีเดียว
การสร้างพีระมิดอำนาจ ของกลุ่มคนที่หวังทลายพีระมิด
ชนชั้น ศักดินา มีอยู่ในทุกอณูของสังคม ‘แบบเก่า’ และไม่มีที่ไหนจะสะท้อนคำพูดนี้ได้ดีไปกว่าในรั้วสถานศึกษา แหล่งกำเนิดองค์ความรู้ ‘สมัยใหม่’ อีกแล้ว
ฐานชั้นล่างสุดของระบบคือกลุ่มผู้ช่วยวิจัย การจะได้เจออาจารย์ที่ดี มีสัญญาจ้างงานชัดเจนต้องอาศัยแต้มบุญทั้งหมดที่สั่งสมมา เพราะส่วนใหญ่หลักฐานการแลกเปลี่ยนระหว่างอาจารย์ และผู้ช่วยวิจัยจะไม่ใช่สัญญาจ้าง มีแค่เพียงสัญญาใจ หากไม่จ่าย ก็ไม่ทวง เพราะกลัวไม่จบ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันนี้หากเกิดปัญหาขึ้น อาจจบไปด้วยการตัดปัญหาง่าย ๆ อย่างการเปลี่ยนที่ปรึกษา ซึ่งที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่อย่างใด
ลำดับชั้นต่อมาคือเจ้าหน้าที่ ซึ่งขนาดของมหาวิทยาลัย มีผลอย่างยิ่งต่อสภาพแวดล้อมในการทำงาน และสถานะของพวกเขา หากเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ อยู่ในสปอตไลท์ เจ้าหน้าที่จะเป็นเหมือนเครื่องมือของอาจารย์ แต่หากเป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ที่มีอัตราการเปลี่ยนอาจารย์ค่อนข้างสูงกว่า เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจต่อรอง กับหน่วย ๆ อื่นในรั้วสถานศึกษากว่ามาก
ถัดขึ้นไปอีกคือนักวิจัย ที่ถูกมองว่าเป็นสายสนับสนุน (ยกเว้นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่บางแห่ง) เราพบความเหลื่อมล้ำนี้ในจุดที่ต้องขอทุนวิจัย หลายครั้งพบว่านักวิจัยขอทุนยากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยมาก ทั้ง ๆ ที่มีความรู้ความสามารถไม่ต่างกัน
และกลุ่มสุดท้ายที่เกือบจะเป็นยอดพีระมิด แต่ยังคงพบปัญหาของระบบอำนาจรวมศูนย์นี้ ก็คืออาจารย์มหาวิทยาลัยที่ยังมีคุณวุฒิ หรือวัยวุฒิไม่สูงนัก โดยพวกเขาได้รับผลกระทบ จากความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของประเทศนี้อย่างชัดเจน
ความเหลื่อมล้ำของการศึกษา ไม่ได้มีเพียงเด็กที่เจ็บปวด
มหาวิทยาลัยทั่วประเทศของเรานั้นใช้เกณฑ์วัดคุณภาพ (KPI) มาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะที่บึงกาฬ หรือกทม. ทั้ง ๆ ที่ภาระหน้าที่และการอำนวยความช่วยเหลือทางวิชาการนั้น แตกต่างกันอย่างชัดเจนในระดับมหาวิทยาลัยส่วนกลาง และระดับส่วนภูมิภาค ยิ่งมหาวิทยาลัยมีขนาดเล็กเท่าไหร่ อาจารย์ยิ่งต้องจัดการงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนโดยตรงมากขึ้นเท่านั้น
แต่ยังคงต้องรับประเมินการสอนให้ผ่านตัวชี้วัดเดียวกับมหาวิทยาลัยส่วนกลาง ต้องมีผลงานวิจัยเพื่อให้เส้นทางอาชีพของตัวเองมั่นคงปลอดภัย เมื่องานล้นมือจนไม่ได้ทำงานวิจัย การขอตำแหน่งย่อมแทบเป็นไปไม่ได้ และอย่าลืมว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ไม่ใช่ข้าราชการอีกต่อไป แต่คือพนักงานสัญญาจ้างระยะสั้น ที่ไม่มีเครดิตพอแม้แต่จะกู้เงินมาผ่อนบ้าน
นี่ยังไม่ได้พูดถึงว่าหน้าที่หลักของอาจารย์ทุกคน คือการสอน
กระบวนการวัดคุณภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะสายสังคม หรือสายวิทย์กลับใช้มาตรฐานและระบบวัดแบบเดียวกัน ซึ่งอาจไม่สามารถสะท้อนผลลัพธ์ที่แท้จริงได้ โดยเฉพาะการวัดคุณภาพในฟากฝั่งของสายสังคม ทางออกอย่างหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระตุ้นให้สายสังคม เข้าไปสู่กระบวนการสร้างกติกา เพื่อลดอคติที่มีต่อสายสังคมและร่วมออกแบบเครื่องมือ ที่สามารถชี้วัดคุณภาพอาจารย์สายสังคมได้อย่างยุติธรรม และมีประสิทธิภาพที่สุด
ในจุดที่เราเริ่มเห็นภาพความเหลื่อมล้ำชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อขยายตอกย้ำกันในประเด็นนี้ ยังมีมุมมองความเหลื่อมล้ำในเรื่องของเพศมาเกี่ยวข้องอีกชั้นหนึ่ง อัตราส่วนของอาจารย์ผู้หญิงที่ขึ้นตำแหน่งระดับสูงในทางวิชาการ มีสัดส่วนที่น้อยกว่าอาจารย์ผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด ทั้ง ๆ ที่จุดเริ่มต้นมีอัตราส่วนที่ไม่ต่างกัน เพดานล่องหนนี้ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน ปัญหานี้ทุกคนรับรู้ได้ แต่แทบไม่มีใครพูดถึงมัน
เราพูดคุยกันต่อกับอาจารย์ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ถึงความเป็นไปได้ในการมองหาทางออกร่วมกัน ในวันที่สังคมมองหาก้าวต่อไป ในวันที่เสียงแห่งยุคสมัยเรียกหาความเปลี่ยนแปลง
ตราบใดที่ยังมีชนชั้นอภิสิทธิ์ชน เราต่างถูกขูดรีดไม่ต่างกัน
คนทำงานในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะตำแหน่งไหน เราต่างเป็นแรงงานที่ถูกระบบขูดรีดอย่างไม่เป็นธรรม สิ่งที่
อ.ภิญญพันธุ์ และ เครือข่ายคนงานมหา’ลัย กำลังทำในเวลานี้ คือการสร้างเครือข่ายเพื่อทำให้เกิดสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยทั้งประเทศเกิดขึ้นให้ได้
การก่อตั้งสหภาพแรงงาน คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานทุกคนพึงมี และสหภาพแรงงานนี้จะไม่ได้สร้างประโยชน์เพียงแต่ในสถานศึกษาเท่านั้น แต่นี่คือการสร้างรากฐานให้กับระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย เราจะต้องยืนยันอย่างหนักแน่นในการปฏิเสธรัฐประหาร ที่ผ่านมาในอดีตมีสหภาพแรงงานบางส่วน ที่กลายเป็นเครื่องมือในการล้มระบอบประชาธิปไตย ที่เป็นหลักในปกป้องสิทธิแรงงานเสียเอง
ได้เวลาแล้วที่รัฐธรรมนูญต้องรับรองสิทธิ ให้คนทำงานในรั้วมหาวิทยาลัยสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้
นี่คือเครื่องมือที่จะช่วยให้คนทำงาน มีอำนาจคัดง้างกับอำนาจที่เหนือกว่า คือกลไกที่สามารถใช้ต่อรองและสร้างพื้นที่เจรจาที่เท่าเทียม นี่คือรากของประชาธิปไตย หากสถานศึกษาที่เป็นเหมือนสังคมจำลอง ไม่สามารถใช้เครื่องมือนี้ได้ ก็ยากอย่างยิ่งที่จะแสดงให้สังคมภายนอก มองเห็นความเป็นไปได้ของสังคมที่ดีกว่าเช่นนี้
คนในมหาวิทยาลัยถูกทำให้ไม่มีปากเสียง ถูกแบ่งแยกด้วยอาชีพ สาขาวิชา ความถนัด ทั้ง ๆ ที่เป็นแรงงานอยู่ในระบบเดียวกัน สิ่งที่เชื่อมโยงเราได้มากที่สุด กลับเป็นงานเลี้ยงปีใหม่หรือกีฬาสีเท่านั้น นี่คือการทำลายความสามารถในการร่วมมือเพื่อต่อรองหรือเจรจากับผู้มีอำนาจที่เราเองก็คาดไม่ถึง
แก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เส้นทางระยะใกล้
สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจในการออกกฎหมายข้อบังคับ และยังเป็นหน่วยงานที่เลือกอธิการบดีขึ้นมาในแต่ละวาระ แต่ตัวอธิการบดีนั่นแหละ ที่เป็นผู้เลือกคนให้มาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในสภามหาวิทยาลัย จึงไม่แปลกใจ ที่สภามหาวิทยาลัยจะมีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า ‘สภาเกาหลัง’ ผลัดกันเกาหลังสลับไปมา ผลัดกันได้ ผลัดกันรับผลประโยชน์
การเลือกตั้งอธิการบดีโดยประชาคมทั้งหมดของมหาวิทยาลัย จึงจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่รับประกันว่าการตัดสินใจต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารจะยึดโยงกับคนในรั้วสถานศึกษา ตั้งแต่นักศึกษาไปถึงนักวิจัย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ไปถึงคณบดี นี่จะเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยในประเทศได้เป็นอย่างดี
สัญญาจ้างเปราะบาง ทุนวิจัยผูกขาด ปัญหาร่วมของทุก “มหาวิทยาลัย”
สัญญาจ้างระยะสั้นที่คนทำงานมหาวิทยาลัยต้องเผชิญอยู่ขณะนี้ ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน (ทั้ง ๆ ที่คู่สัญญาหลายคน อาจกำลังสอนวิชากฎหมายแรงงานอยู่) อีกทั้งความก้าวหน้าในอาชีพ ยังยึดโยงกับการขอทุนวิจัยอย่างมาก แต่การจะได้มาซึ่งทุนวิจัยนั้นอาจถูกตัดตอนไปตั้งแต่หัวข้อ หากไม่เกี่ยวเนื่องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นงานวิจัยที่มีคำว่าเผด็จการ หรือเป็นการทดลองหาคำตอบด้วยการตั้งคำถามกับรัฐโดยตรง
ที่ผ่านมาเราอาจรู้สึกโดดเดี่ยว รู้สึกราวกับว่าเป็นปัญหาของเราคนเดียว แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มกันของ “เครือข่ายคนงานมหา’ลัย” ทำให้เห็นว่านี่คือปัญหาที่เรามีร่วมกัน เราไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว กระบวนการนี้จะสร้างให้เกิดการสื่อสารหลายทาง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยไม่ได้มีเพียงแค่ในระดับคนทำงานในองค์กรเท่านั้น แต่ยังมีความร่วมมือกับสโมสรของนักศึกษาที่เป็นแนวร่วมสำคัญ ในการรับและผลักดันประเด็นปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดนโยบายที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาคม ในรั้วสถานศึกษานั้นด้วย
สหภาพแรงงาน ความฝันสุดท้ายของคนเท่ากัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเมื่อเปรียบกับหน่วยอื่นในสังคม ย่อมเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับอภิสิทธิ์ (privilege) มาโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่เราต่างก็อยู่ในฐานะแรงงานและถูกขูดรีดจากระบบไม่ต่างกัน อาจารย์จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องขยายขอบเขตของตน เข้าไปทำงานร่วมกับแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงของตนเอง ไม่ใช่เพียงในฐานะร่วมสู้ แต่ควรเป็นหลังพิงให้กับแรงงานในต่างจังหวัดด้วยเช่นกัน
การที่ทุกกลุ่มอาชีพ ทุกพื้นที่ มีสหภาพแรงงานของตัวเอง ต้องทำให้เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย ความตั้งใจในการตั้งสหภาพแรงงานคนทำงานในมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ภาพสะท้อนของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ที่อยากมีสิทธิต่าง ๆ เหนือกว่าคนอื่น เพราะยิ่งมีอำนาจน้อย คุณยิ่งต้องตั้งสหภาพแรงงานให้ได้ นี่คือวิถีทางเพิ่มอำนาจต่อรองให้คนตัวเล็กตัวน้อย ให้เสียงที่เบาที่สุดในสังคม
พอกันทีกับสหภาพแรงงานที่สอดรับกับเสียงเผด็จการ สหภาพแรงงานจะต้องขีดเส้นตัวเองว่าจะอยู่ในกระบวนการของประชาธิปไตย นี่คือพื้นฐาน ของการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นให้ได้ในประเทศนี้อย่างแท้จริง
ขณะที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่นี้ พรมแดนของการเคลื่อนไหว ได้ขยายไปถึงระดับคนทำงานในโรงเรียน ควบคู่ไปกับการนัด strike หยุดเรียนออนไลน์ของกลุ่มนักเรียนเลว โดยมีข้อเรียกร้องให้ปรับปรุงการเรียนออนไลน์ที่ไร้ประสิทธิภาพ และเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเห็นถึงความเสี่ยง ของการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กไทยที่มีจำนวนมากถึง 1.8 ล้านคนทั่วประเทศ น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อเพดานการต่อสู้ ให้ได้มาซึ่งสิทธิในแวดวงวิชาการถูกขยับขึ้น การตอบรับของผู้มีอำนาจจะเป็นเช่นไรต่อไป
สามารถติดตามอ่าน ปฏิรูปแวดวงวิชาการ ตอน 1 : มหาวิทยาลัยประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายรู้ เรากำลังดื่มอะไรเข้าไป ?