มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ - จริง ๆ ใช่ไหม? - Decode
Reading Time: 2 minutes

พลังทลายจินตนาการ(ก่อน)อ่าน

สำหรับผมหนังสือ ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ ของ กอฟ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง เป็นเล่มที่เห็นผ่านตาบ่อยครั้ง เหมือนยังกับหนังสือบนชั้น Best Seller ในร้านหนังสือชื่อดังตามห้างสรรพสินค้า ที่เห็นจนชินตา แต่ไม่มีโอกาสได้อ่านสักที (ใช่! ยิ่งมัน mass เท่าไหร่ ความน่าสนใจมันยิ่งน้อยตามลงมา)

หนังสือเล่มหนาเตอะ ปกของมันมีตัวหนังสือคลับคล้ายกับคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ให้ความรู้สึกขึงขังน่าเกรงขาม ผสมกับเรื่องราวผ่านหูผ่านตาว่า เป็นหนังสือบันทึกเรื่องราวของผู้ต้องหาคดี 112 ที่อยู่ในเรือนจำ 

มันต้องเป็นเรื่องราวของความโกรธ ความทุกข์ และความอยุติธรรมที่คนคนหนึ่งต้องพบเจอแน่ ๆ หลายองค์ประกอบที่ผ่านเข้ามาในจินตนาการ ทำให้ผมคิดไปก่อนว่า ต้องเป็นหนังสือที่เนื้อหาหนักแน่น ซึมซับเอาความรู้สึกของผู้เขียน มาเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกตัวเอง…

แต่เปล่าเลย ทุกหน้ากระดาษที่เคลื่อนผ่านไป หนังสือเล่มนี้ค่อย ๆ กลายร่างจากหนังสือบันทึกคดีนักโทษทางการเมือง กลายเป็นหนังสือบันทึกการเดินทางเล่มหนึ่ง การเดินทางในโลกอีกใบที่ชื่อว่า ‘คุก’ มันมีทั้งเรื่องเศร้า เรื่องสนุก การเอาตัวรอด การหักหลัง และเรื่องระหว่างแก๊ง

“จู่ ๆ ก็มีผ้าห่มผืนใหญ่มาคลุมหัวเราไว้ ก่อนจะระดมใส่หมัดมาที่ท้องของเรา และเปลี่ยนเป้ามาที่หัว” 

“มันมาข่มขู่คุกคามเพื่อนของเรา เป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้ พวกมันมีกำลังมากกว่าและเป็นคนบ้าที่พร้อมจะใช้กำลัง เมื่อเรารู้เรื่อง เราจึงรู้ว่าเราต้องใช้กำลังโต้ตอบ”

โดยรวมแล้วก็คือเรื่องราวของชีวิตคน คนข้างนอกมีชีวิตจิตใจเป็นอย่างไร คนข้างในเรือนจำ ก็มีชีวิตจิตใจเป็นแบบนั้น เพียงแค่ว่าพวกเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทุกอย่างมีจำกัด ธาตุแท้ของมนุษย์จึงเผยออกมา

สิ่งที่กอฟถ่ายทอดออกมา ก็เป็นเพียงมุมมองจากนักโทษหญิงคนหนึ่ง เธอไม่ใช่นางเอก ไม่ใช่เหยื่อ เธอเป็นผู้ต้องขังคนหนึ่ง เหมือนอีกหลายคน ที่ทั้งถูกกระทำและเป็นผู้กระทำ  ดังนั้นจินตนาการที่วาดไว้ก่อนอ่านของเรา ก็ค่อย ๆ พังทลายลง พร้อมกับการเติบโตของความอยากรู้อยากเห็น ว่าชีวิตคนในเรือนจำนั้นเป็นอย่างไร

พวกเขามองเห็นคน เป็นคนไม่เท่ากัน

ถ้าเขาเห็นคนเท่ากัน คนทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะคิด พูด แสดงออกได้อย่างเสรี และมันคงจะไม่ต้องเกิดเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ ยิ่งแล้วใหญ่กับชีวิตในเรือนจำ เรื่องราวในหนังสือบ่งบอกในตัวมันอย่างชัดเจนว่า ผู้ต้องขังเหมือนไม่ใช่คน หรือถ้าเป็นคนก็เป็นคนที่อยู่คนระดับชั้นกับคนข้างนอก

‘ต้องนั่งพื้นเวลาคุยกับเจ้าหน้าที่’
‘สวัสดิการพื้นฐาน เช่น ยารักษาโรค น้ำอุปโภค บริโภค ไม่เคยได้รับอย่างเพียงพอ’
‘ผู้มาดูงานเรือนจำ ที่ทำอย่างกับนักโทษคือสัตว์ในสวนสัตว์’

ปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่ระบบโครงสร้างที่มีมาอย่างยาวนาน และไม่เคยเปลี่ยนแปลงได้ทันยุคสมัย  มันไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน เรื่องราวพาเราไปเห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่าง กอฟกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ มันทำให้เราเข้าใจเจ้าหน้าที่เหล่านั้นมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาก็พยายามช่วยเหลือผู้ต้องขัง เท่าที่พวกเขาจะช่วยเหลือได้ แต่พวกเขาตัวเล็กเกินไป ที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงระบบ และพัฒนาความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ ของผู้ต้องขังในเรือนจำ 

กำลังใจต้องเกิดขึ้นให้ได้เสมอ

สิ่งหนึ่งที่หนังสือเล่มนี้ทำได้อย่างงดงามคือ ในช่วงเวลาที่อ่านเหมือนผมและกอฟ กำลังได้ผจญภัยไปด้วยกันตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย เริ่มตั้งแต่กอฟโดนจับ ความรู้สึกตอนอ่านของผมก็จินตนาการไปตาม ๆ กับกอฟว่า การโดนจับในวัยที่ชีวิตกำลังจะเดินหน้าต่อไป มันจะรู้สึกแย่เพียงใด การต้องเข้าไปอยู่ในโลกที่เราต่างมีภาพจำว่า เป็นโลกที่ไม่น่าอยู่นั้น เราจะสามารถมีชีวิต กำลังใจ อยู่รอดไปตลอดรอดฝั่งได้อย่างไร…แต่กอฟก็ค่อย ๆ ทำให้เห็นว่า เธอทำได้และทำได้ดี หยดน้ำตาที่พร่างพรายไม่หลุดหย่อน อยู่เกือบทุกหน้ากระดาษแรกๆ แปรเปลี่ยนเป็น เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม ความหวัง กำลังใจของเธอ 

“และต่อให้แสงหิ่งห้อยเป็นแสงเดียวที่เรามองเห็นในตอนกลางคืน เราก็ต้องมองมัน ต่อให้แสงหิ่งห้อยไม่ใช่แสงที่เราคาดหวัง ไม่ใช่ดวงตะวันฉายฉาน ไม่ใช่แท้แต่แสงจันทร์หรือแสงดาว แต่มันก็เป็นแสงเดียวที่เราจะมองได้ เราจึงต้องมองมันเพื่อให้ดวงตาไม่บอดสนิท”

ผมว่าแสงนั้น ที่ทำให้ชีวิตในเรือนจำของหนังสือเล่มนี้ มันไม่มืดบอดสนิท มันคือแสงของเพื่อนร่วมเรือนจำ แสงของญาติที่มาเยี่ยม แสงของเจ้าหน้าที่เรือนจำ(บางคน) แสงของจดหมายที่หลั่งไหลเข้ามาหากอฟจากทั่วทุกมุมโลก เป็นแสงเล็ก ๆ  ที่พอรวมกันมันใหญ่พอ ให้ดวงตาและจิตใจไม่หลงทาง 

และเมื่อมองย้อนกลับมาในปัจจุบัน สังคมเราก็ยังคงอยู่ที่เดิม ยังคงมีคนโดนจับด้วยข้อหาเดิม และเขาเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ในเรือนจำเหมือนดังที่กอฟเคยเผชิญ พวกเขาล้วนเป็นคนหนุ่มสาวที่ควรจะได้ผลิบานและเติบโต อยู่ในโลกภายนอก

เรื่องวุ่น ๆ ของคนในเรือนจำ

“สองคนนั้นกำลังร่วมเพศกันตรงแนวราวตากผ้า ที่มีหลาย ๆ คนกำลังอาบน้ำอยู่”
“พวกแก๊งเวียดนามวางแผนจะขโมยผักจากสูทกรรม มันไม่ใช่แค่การขโมย แต่มันคือการแก้แค้นเจ้าหน้าที่”
“เปิดฝาน้ำโค้กใส่ยาแก้แพ้ ตามด้วยยาแก้ไอ เพียงเท่านี้กลุ่มคนในเรือนจำ ก็ได้มีความสุขกับความเมา”

ตลอดความยาวของหนังสือ 800 หน้า สอดแทรกด้วยเรื่องราววุ่น ๆ วีรกรรมของผู้ต้องขังในเรือนจำ ไว้แทบทุกบท มันเป็นสีสัน แต่งแต้มเรื่องราวในหนังสือให้มีชีวิตชีวา บางมุมก็ทำให้คิดว่า เรือนจำก็ไม่ต่างอะไรกับโรงเรียนมัธยม ที่กฎระเบียบมักจะมาพร้อม กับการแหกกฎระเบียบเสมอ

แต่สำหรับคนในเรือนจำ มันอาจจะไม่ได้ทำเพียงเพื่อความคึกคะนอง หรือต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน แต่มันคือความอยู่รอด ความสุข ความผ่อนคลาย เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาจะเสพได้ เพราะภายใต้กำแพงสูงใหญ่ เรื่องราวหลังกำแพงยิ่งทำให้ได้รู้ว่า การมองหาความสุขนั้นทำได้ยาก และความสุขอาจจะต้องแลกมากับการถูกลงโทษ

และเรื่องวุ่น ๆ ของกอฟจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าหากไม่มีตัวละครอย่าง อูเรีย แรม มะเดื่อ สะอิ้ง น้าซี พี่หวาน เจ๊หลังบ้าน พลอย พี่น้ำปิง อ่วมหมี คุณฮัม ป๊ะป๋า  น่าแปลกที่ผมจำจดตัวละครต่าง ๆ ในเรื่องได้เยอะขนาดนี้ ถ้าเทียบกับหนังสืออื่น ๆ ที่มักจะลืมชื่อตัวละคร คงเป็นเพราะเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ดังนั้นผมคิดว่าความหนาของมันไม่เป็นอุปสรรคสำหรับนักอ่านเลย มันเปรียบเสมือนหมีตัวโตที่ดูน่ากลัวเมื่อแรกเห็น แต่พอรู้จักคุณจะรู้ว่ามันเป็นหมีพูห์ตัวกลม ง่ายที่เราจะทำความรู้จัก

มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ – จริง ๆ ใช่ไหม

ระหว่างที่เขียนงานชิ้นนี้ อยู่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2564 เป็นช่วงเวลาที่ซึมซับเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ มากมาย ที่เหล่าคนผู้ถามถึงสังคมที่ดีกว่าเดิม กลับถูกผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ พยายามปิดปากไม่ให้พูด มัดแขนมัดขาไม่ให้ทำ แต่พวกเขาไม่อาจหยุดความคิดผู้คนลงได้

ตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม หลากหลายเรื่องราวได้ผ่านเข้ามา ตอกย้ำความโหดร้าย ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จนมาถึงเรื่องราวทั้งหมดในหนังสือ ‘มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ’ ที่เข้ามาให้ได้อ่านในช่วงเวลาเดียวกัน แม้จะต่างช่วงเวลา ต่างวิธีการที่ประสบกับความไม่ยุติธรรม แต่เหมือนเรื่องราวทั้ง 2 ก็มีจุดร่วมอยู่ที่เดียวกัน คือการอยากเห็นสังคมที่ดีกว่านี้ แค่อยากมีสิทธิเสรีภาพ ที่จะคิด พูด ทำ และไม่มีใครอยากได้รับความรุนแรงไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่ง

มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ…จริง ๆ ใช่ไหม เป็นคำถามที่ยากจะหาคำตอบ เพราะพวกเขาต่างเป็นประชาชนที่ถูกทำร้าย ผ่านเหตุการณ์แล้วเหตุการณ์เล่า ใครกันจะการันตีว่ามันจะจบลงเมื่อใด เมื่อมีคนที่อยากเอาเปรียบ และมีอีกคนที่อยากให้การเอาเปรียบหมดไป และคงไม่มีคำใดจากหนังสือ จะให้กำลังใจได้ดีเท่ากับคำนี้

“ต่อให้แสงหิ่งห้อยเป็นแสงเดียวที่เรามองเห็นในตอนกลางคืน เราก็ต้องมองมัน ต่อให้แสงหิ่งห้อยไม่ใช่แสงที่เราคาดหวัง ไม่ใช่ดวงตะวันฉายฉาน ไม่ใช่แท้แต่แสงจันทร์หรือแสงดาว แต่มันก็เป็นแสงเดียวที่เราจะมองได้ เราจึงต้องมองมันเพื่อให้ดวงตาไม่บอดสนิท”

แม้จะต้องกล่าวซ้ำ แต่ถ้าการกล่าวซ้ำจะทำให้เราจดจำ และเคลื่อนผ่านเดือนตุลาคมนี้ไปได้ มันก็มีความจำเป็นที่จะต้องกล่าว 

ตอนต้นผมนิยามว่าหนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกการเดินทางในเรือนจำ แต่สุดท้ายมันก็วนกลับมาที่เรื่องการเมืองจนได้ เมื่อทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังสือ ล้วนเชื่อมโยงกลับมาที่การมองชีวิตของพวกเขา และของเราทุกคน และทุกชีวิตก็ไม่มีวันหลีกพ้นจากการเมือง

“นอนหลับให้มาก กินยาเท่าที่กินได้ เอาเยี่ยวล้างตาบ่อยๆ กินน้ำเยอะ ๆ แม้ว่าจะต้องกินน้ำในห้องน้ำ เพราะน้ำที่กรอกมาดันหมด” คือคำแนะนำของกอฟตอนที่เธอป่วยเป็นตาแดง

หนังสือ: มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ
ผู้เขียน: ภรทิพย์ มั่นคง
สำนักพิมพ์: อ่าน Read Journal

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี