หลายเดือนที่ผ่านมาหลาย ๆ คนคงเคยผ่านตา กับข่าวการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นอย่างถี่ ๆ วันต่อวัน
โดยในช่วงเดือนมิถุนายน – ต้นเดือนสิงหาคม 2564 มีข่าวการฆ่าตัวตายจากสื่อสำนักเดียวอย่างไทยรัฐ ก็มีข่าวอย่างน้อยประมาณ 30 ข่าว แต่หากนับข่าวจากหลาย ๆ สื่อรวม ๆ กันจะมีจำนวนการฆ่าตัวตายมากกว่านั้น ทั้งนี้ ยังมีกรณีที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จอีกจำนวนนับไม่ถ้วน ไม่เพียงแค่นั้นหลายกรณีเมื่อมีการสาวไปถึงต้นสายปลายเหตุ ชัดเจนว่ามาจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม บางคนเป็นผู้ป่วยไร้เตียงแล้วตัดสินใจฆ่าตัวตายก็มี ล่าสุดกรมสุขภาพจิตประเมินแนวโน้มอัตราฆ่าตัวตายเพิ่มจากวิกฤติ COVID-19 ตัวเลขอาจแตะ 10 คนต่อแสนประชากร
ทั้งหมดเป็นภาพสะท้อนความเครียดที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ในสังคมที่ตามมากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาและกลายเป็นหน้าที่ของคนทำงานสุขภาพจิตที่ต้องรับมือกับปัญหาเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน ซึ่งหนึ่งในบริการเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่คนเข้าถึงเร็วที่สุด คงหนีไม่พ้นสายด่วนสุขภาพจิตซึ่งสามารถติดต่อพูดคุยได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง หากแต่สายด่วนสุขภาพจิตก็เผชิญปัญหาเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหายอดฮิตก็คือ โทรยังไงก็โทรไม่ติด
“ทุกวันนี้เรารับสายได้ประมาณ 3 ใน 10 ของคนที่โทรเข้ามาเพราะว่ามันเยอะมาก มันรับไม่ได้ทุกคน”
จากการพูดคุยกับ พอล (นามสมมติ) ซึ่งเป็นหนึ่งในสายด่วนสุขภาพจิต เขาได้ตอบคำถามนี่ไว้อย่างชัดเจน
“จำนวนผู้ให้บริการสุขภาพจิตของเรามันน้อย ไม่ใช่แค่สายด่วน นักจิตวิทยา จิตแพทย์ เคสล้นหมด สายด่วนนี่ยิ่งไม่พอเข้าไปใหญ่”
แล้วทั้งหมดเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ปัญหาเหล่านี้ก็อาจจะเพิ่มขึ้นไปตามตัว
เด็กนักเรียนเครียดเพิ่ม ซึมเศร้าพุ่ง
แม้จะผ่านมากว่าหนึ่งปีแล้ว ที่นักเรียน นักศึกษาเริ่มที่จะต้องเข้าเรียนผ่านทางออนไลน์ ซึ่งก็สร้างเสียงบ่นให้กับผู้สอนซึ่งหลายคนไม่คุ้นชินกับระบบการทำงานดังกล่าว หากแต่ไม่ใช่แค่ครูผู้สอนที่เครียดกับปัญหาการเรียนออนไลน์ แม้แต่เด็กนักเรียนเองก็เครียดไม่ต่างกัน
“หลังจากที่มีโควิด ที่เห็นเยอะ ๆ เลยจะเป็นเคสเด็กที่เรียนออนไลน์ จากประสบการณ์ตรงคือ โทรเข้ามาเยอะขึ้นมาก ๆ มันมีความเครียดที่ต้องเจอในครอบครัว ความเครียดที่ไม่ได้เจอเพื่อน มันเลยส่งผลทำให้เด็กมีความเครียด หรือมีโอกาสเกิดอาการซึมเศร้าเพิ่มขึ้น”
จากคำที่พอลกล่าว ก็สอดคล้องกับข่าวจากหลาย ๆ สำนัก พร้อมทั้งสอดคล้องกับผลสำรวจของยูนิเซฟที่พบว่า 7 ใน 10 ของเด็กไทยมีความเครียดมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาทั้งด้านการเงินของครอบครัว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครัวเรือน จนไปถึงเรื่องอย่างเพศสภาพ ในกรณีที่เด็กคนนั้นมีความหลากหลายทางเพศ
หากแต่กรณีนี้อาจจะไม่ใช่เฉพาะกับที่ไทย
หลายปีมานี้ในสหรัฐอเมริกา ได้มีการสำรวจความเครียดอยู่หลายต่อหลายครั้ง แล้วพบว่าวัยรุ่นมีแนวโน้มเสี่ยงต่ออาการซึมเศร้ามากขึ้น โดยในปี 2562 Pew Research Center ได้เผยแพร่ข้อมูลว่าวัยรุ่นชาวอเมริกันมีแนวโน้มมีอาการซึมเศร้ามากขึ้นโดยเฉพาะเพศหญิง
ซึ่งในปี 2563 ทาง APA หรือ American Psychological Association ได้ตีพิมพ์รายงานว่าการแพร่ระบาดของโควิด -19 โดยจุดที่ APA พยายามเน้นย้ำที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องความเครียดของคนรุ่นใหม่ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 โดย APA ได้กล่าวว่าคนรุ่นเจเนอเรชัน Z ดูจะมีความเครียดมากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ อย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งเพราะอนาคตที่ยังไม่ทันได้ลงหลักปักฐาน ก็ต้องผจญกับความไม่แน่นอนในชีวิตแล้ว
เครียดถ้วนหน้า จากประชาชนถึงบุคลากรด่านหน้า
เป็นที่ทราบกันว่าโควิดมีผลต่อเรื่องความเครียดในระดับโลก บนหน้าเว็บไซต์ของ WHO หัวข้อ Mental health & COVID – 19 ก็มีการพูดถึงความเครียดที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในบุคลากรทางการแพทย์และคนทั่วไป ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการออกข้อมูลที่แสดงถึงความเชื่อมโยงของโควิด – 19 กับความเครียดในปัจจุบัน
ทาง APA ได้อธิบายว่าโควิดมีผลต่อความเครียดของประชาชนชาวสหรัฐ ฯ โดย 8 ใน 10 หรือคิดเป็น 72% ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันมีความเห็นว่าการแพร่ระบาดของโควิด – 19 มีผลสำคัญต่อความเครียดในชีวิต ขณะที่ 7 ใน 10 หรือ 67% พบว่าความเครียดในชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโควิด – 19
เช่นกันในกรณีไทยก็ต้องผจญกับความเครียดนับไม่ถ้วน
หนึ่งในปัญหาที่พอลพบ จากการทำสายด่วนสุขภาพจิตในตอนนี้ก็คือ ความเครียดโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หากแต่พอลยังอธิบายอีกว่า มีอีกกรณีที่กำลังจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็คือ กรณีของคนที่ญาติเสียชีวิตไปแล้ว
“เคสช่วงหลังจะเริ่มเจอมากขึ้นก็คือ เคสที่ญาติเสียชีวิตจากโควิดจนอยู่ในภาวะสูญเสีย พอคนเสียชีวิตมากขึ้น เคสแบบนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเป็นความเครียดที่ค่อนข้างหนัก เป็นเรื่องที่ใหม่พอสมควรสำหรับวงการสุขภาพจิตเพราะไม่เคยมีเหตุการณ์คนสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมากขนาดนี้”
การตายในยุคของโรคระบาดหนึ่งชีวิต จึงไม่ได้หมายถึงแค่การสูญเสียชีวิตของคน หากแต่หมายถึงปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นไม่รู้อีกกี่เท่า หากแต่ไม่รวมเพียงแค่นั้นแม้แต่ตัวบุคลากรด่านหน้า ก็ยังผจญความเครียดอีกสารพัด ซึ่งก็กลายเป็นหน้าที่ของจิตแพทย์ไป
“จริง ๆ มันจะมีนักจิตวิทยาต้องไปประจำที่โรงพยาบาลสนามด้วย มันมีบุคลากรที่เครียดในโรงพยาบาลสนาม ต้องมีคนไปดูแลสภาพจิตใจ ก็จะมีเรื่องผลตอบแทนที่ไม่ค่อยคุ้มกับความเสี่ยงเท่าไหร่ บางทีก็เรียกไปโดยที่ไม่บอกกันก่อนก็มี”
ความเครียดเป็นเรื่องที่รัฐบาลช่วยได้
การจะดูความเครียดของคนในสังคมที่ง่ายที่สุด คือการดูจากข่าวฆ่าตัวตาย ซึ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วงหลายเดือนมานี้ แล้วจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีก หากอิงจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เผยแพร่ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 แสดงให้เห็นชัดว่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของไทยได้ทะยานขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ก่อนที่จะไปสู่จุดสูงสุดในช่วงสองปีหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว
หากแต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น เราก็จะพบข่าวการฆ่าตัวตายอีกเป็นจำนวนมาก และไม่จำกัดแค่เป็นคนธรรมดา หากรวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งก็มีข่าวจบชีวิตตัวเองด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลักษณะการทำงานในช่วงโควิดที่ทำให้เครียดได้ง่าย และพอลก็ยืนยันข้อนี้ว่า
“เราเคยคุยกับพี่ ๆ ที่ทำงาน เขาก็บอกว่าคนทำงานในโรงพยาบาลสนามเครียดมาก ต้องอยู่ในศูนย์ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เจอคนป่วยคนตายทุกวัน มันเลยไม่ใช่แค่คนทั่วไปที่ป่วย แต่บุคลากรการแพทย์ก็ป่วยไปด้วย”
พอลชี้ว่าปัญหาเหล่านี้สามารถช่วยบรรเทาลงได้โดยรัฐบาล สิ่งที่รัฐบาลควรทำและทำได้ ไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นการให้กำลังใจและแสดงความจริงใจ ต่อการแก้ปัญหาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำที่สุด ไม่ใช่ออกมาแก้ตัว แต่เป็นการให้กำลังใจคนด่านหน้า คนพวกนี้เป็นคนที่ต้องรับความเสี่ยงที่สุด แล้วเขาเครียดมาก แล้วไม่ใช่แค่ออกมาประกาศ คุณต้องช่วยสนับสนุนเขา ทั้งด้านจิตใจและร่างกาย ความจริงแค่พยายามเอาวัคซีนมาให้เร็ว ๆ ก็ดีมากแล้ว ยิ่งเจอแบบนี้คนที่ทำงานเขายิ่งรู้สึกแย่ แบบฉันทำงานหนักขนาดนี้ แต่กลับไม่ได้อะไรเลย” – พอล กล่าวทิ้งท้าย
อ้างอิงข้อมูลจาก:
https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=8453
https://www.bangkokhospital.com/en/content/keep-strong-during-covid-19
https://uni.cf/3DOTpjk