ไม่มีประเทศไหนล้มละลายเพราะดูแลประชาชน: จากฟินแลนด์ถึงไทย - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในช่วงเวลาสามเดือนที่ผมได้รับโอกาสปฏิบัติงานในฐานะอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัย Turku ประเทศฟินแลนด์ โดยงานวิจัยที่ทางมหาวิทยาลัยที่นี่สนใจอย่างมาก คือกระบวนการแสดงให้เห็นว่าสวัสดิการแบบต่าง ๆ ที่ใช้ในไทยนำสู่ความล้มเหลวและสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างไรเพื่อถอดบทเรียนว่าแม้แต่ประเทศที่มีระบบสวัสดิการพื้นฐานดีมาก ๆ อย่างฟินแลนด์ก็สามารถเรียนรู้ความล้มเหลวจากประเทศที่ระบบสวัสดิการไม่ดีนักจากไทยได้เช่นกัน

เมื่อได้มาทำงานในประเทศรัฐสวัสดิการ นอกจากการทำงานวิจัยให้มหาวิทยาลัยแล้ว ผมเริ่มสังเกตเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันและลองเก็บคำถามจากผู้คนที่สงสัยต่อการสร้างรัฐสวัสดิการในไทย ซึ่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา คำถามต่อการสร้างรัฐสวัสดิการในไทยดูจะน้อยลงด้วยเหตุสำคัญคือ การต่อสู้ของประชาชนในทางการเมืองที่มากขึ้นย่อมทำให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิพึงได้ของตัวเองในภาพใหญ่มากขึ้น แต่ปัญหาข้อสงสัยสำคัญก็ยังคงปรากฏในหมู่ชนชั้นนำ

และเรื่องที่น่ากังวลมากที่สุดสำหรับประเทศไทย คือบุคคลยิ่งมีตำแหน่งสูง เป็นปลัดกระทรวง เป็นรัฐมนตรี ยิ่งตั้งข้อสงสัยต่อการสร้างรัฐสวัสดิการมากขึ้น และดูไม่เข้าใจต่อความจำเป็นของการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และดูพอใจกับการช่วยเหลือแบบพิสูจน์ความจน สงเคราะห์ เก็บตกตามระบบอนาถา

คำพูดที่ดูจะแปลกประหลาด เมื่อเหล่าชนชั้นนำบนยอดพีระมิดบอกว่า ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่พอทนได้และ “รัฐสวัสดิการ” จะทำให้ประเทศล้มละลาย

เมื่อผมกลับมามองที่สังคมฟินแลนด์ หรือกลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการเพื่อนบ้าน ห่างไกลนักหนาต่อคำว่าล้มละลาย ทั้ง ๆ ที่ประเทศเหล่านี้ก็เคยเป็นประเทศยากจน เคยเป็นประเทศที่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ เคยเป็นประเทศที่ระบบการศึกษาไม่ดี เคยเป็นประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมือง เคยเป็นประเทศที่เคยใช้แรงงานเด็ก แต่สิ่งเหล่านี้กลายเป็นอดีตไป ไม่ใช่ว่าพวกเขาคิดนวัตกรรมอะไรที่ซับซ้อน ไม่ใช่เพราะมีระบบบิ๊กเดต้าจัดการข้อมูลที่ดี พวกเขาเริ่มต้นง่าย ๆ จากการที่ประชาชนต่อสู้และรัฐบาลฟังเสียงประชาชน

แน่นอนที่สุดประเทศเหล่านี้ห่างไกลจากคำว่า “ล้มละลาย” แม้ในยามวิกฤติโควิด – 19 รัฐสวัสดิการก็ไม่ปล่อยให้ใครตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตายจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

รัฐสวัสดิการคือเรื่อง “การเมือง” อย่างแน่นอน เพราะมันสัมพันธ์ระหว่างอำนาจของรัฐและประชาชน ชนชั้นนำอาจท่องคาถามาเป็นสูตรว่า “จะเอาเงินจากที่ไหน พร้อมจ่ายภาษีมากขนาดเขาหรือไม่”

เป็นคำถามที่ผิดฝาผิดตัว เพราะการสร้างรัฐสวัสดิการ ไม่ได้เกิดจากการกดเครื่องคิดเลข หากแต่เกิดจากการยืนยันว่าคุณเชื่อในเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมกันหรือไม่ “ประชาชนต้องเป็นผู้รับก่อน” พวกเขาถึงจะเป็นผู้ให้ต่อไปได้ในอนาคต

เมื่อเราได้รับสวัสดิการที่ดี ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีประกันการว่างงาน สิทธิลาคลอดที่เพียงพอ บำนาญเมื่อเราถึงวัยเกษียณ หากเราได้รับสิ่งนี้ มันถึงจะทำให้เราสามารถมีอาชีพที่มั่นคง มีอำนาจต่อรอง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความฝัน มีความสามารถในการสร้างสรรค์ต่อไป

การตั้งคำถามว่า “เอาเงินมาจากไหน” เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศที่ยากจน เหลื่อมล้ำอย่างสาหัสอย่างไทย จึงเป็นคำถามของการไม่อยากให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น

ผมได้รับเอกสารแจ้งรายละเอียดการหักภาษีที่บ้านพักในมหาวิทยาลัยและสอบถามทางธุรการมหาวิทยาลัย เพื่อข้อมูลเพิ่มเติม จึงได้คำตอบที่ชัดเจนมากขึ้น ตามที่ทุกท่านทราบว่าภาษีประเทศรัฐสวัสดิการ ดูน่าตกใจสำหรับคนไทยจริง ๆ

ผมแม้มาเป็นอาจารย์ชั่วคราว ภาษีหัก ณ ที่จ่ายก็คือเริ่มต้น 35% โดยสวัสดิการที่พักที่มหาวิทยาลัยให้รัฐบาลฟินแลนด์ก็คำนวณเป็นรายได้ด้วย

สำหรับพลเมืองฟินแลนด์ ภาษีเริ่ม 25% สำหรับคนมีรายได้เริ่มต้นประมาณ 500,000 บาทต่อปี และส่วนที่เกิน 4 ล้านบาทต่อปี ก็เสียสูงสุดที่ร้อยละ 67

รายได้เฉลี่ยของคนฟินแลนด์ประมาณ 1.4 แสนบาทต่อเดือน  ตามค่าเฉลี่ยจ้างงานภาครัฐ – เอกชน หากเทียบแล้ว คนฟินแลนด์โดยมากก็จะเหลือเงินหลังหักภาษีต่าง ๆ เฉลี่ยประมาณ 1 แสนบาท/เดือน ดังนั้นคนที่จะมีรายได้ส่วนเกินปีละ 4 ล้านบาท ที่จะเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ร้อยละ 67 คือส่วนน้อยมาก ๆ รายได้ 1 แสนบาทต่อเดือนต่อคน ดูเพียงพอต่อการจับจ่ายเพิ่มเติมในชีวิตประจำวัน

เมื่อคิดว่าคุณไม่ต้องจ่ายค่าเทอมลูก เรียนมหาวิทยาลัยฟรี ขนส่งสาธารณะราคาถูกมีคุณภาพ เมืองที่เดินได้ อากาศที่สะอาด รวมถึงการที่ประชาชนสามารถตรวจสอบการใช้เงินของรัฐได้อย่างเต็มที่

ฟินแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนยินยอมการเสียภาษีมาก และระบบภาษีง่ายที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ซึ่งหัวใจสำคัญของความง่ายนี้มาจากฐานวิธีคิดเรื่องภาษี เช่นรัฐบาลไทยไม่เชื่อเรื่องสวัสดิการผ่านภาษี แต่เชื่อเรื่องสวัสดิการผ่านการลดหย่อนภาษี ประชาชนจึงวุ่นวายกับการซื้อประกัน การออม หรือแม้กระทั่งลดหย่อนดูแลพ่อแม่ ก็ต้องแบ่งกันว่าลูกคนไหนใช้ได้ ออมเงินระยะสั้นหรือระยะยาวที่ลดได้ ซื้อหนังสือเพื่อลดหย่อนภาษีเพราะได้ความรู้ ฯลฯ

แต่ถ้าเราเชื่อเรื่องสวัสดิการผ่านภาษี ก็คือเสียภาษีเต็ม ๆ ไม่ต้องวุ่นวายเรื่องการลดหย่อน แต่รับสวัสดิการเต็มที่ ไม่ว่าจะบำนาญ เลี้ยงบุตร หรือแม้กระทั่งการศึกษา ไม่ต้องคิดว่าตัวเองซื้ออะไรบ้างเพื่อลดหย่อนภาษี

ผู้ปฏิเสธรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าอาจบอกว่าภาษีทำให้ชนชั้นกลางจนลง ซึ่งขัดกับความจริงที่ว่า ภาษีและรัฐสวัสดิการต่างหากที่ทำให้ คนจนได้กลายเป็นชนชั้นกลาง ผู้อพยพใหม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับพลเมือง และชนชั้นกลางก็สามารถรักษาระดับชีวิตของตนได้ ไม่จนสิ้นเนื้อประดาตัวจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ในชีวิต

ฟินแลนด์ในอดีตก็เหมือนประเทศไทย แรงงานนอกระบบเยอะ คนรายได้น้อย ไม่เข้าถึงการศึกษา การสร้างรัฐสวัสดิการเริ่มแรก ถ้าต้องกดเครื่องคิดเลขหาว่าเงินมาจากไหน พัฒนาฐานข้อมูล ฯลฯ เราคงไม่มีโอกาสเห็นฟินแลนด์ได้เป็นรัฐสวัสดิการ

รัฐบาลฝ่ายซ้ายผลักดันโดยให้คนได้เติบโตในฐานะผู้รับ ได้การศึกษาที่ดีและฟรี ได้ขนส่งสาธารณะที่ดี ได้บำนาญให้พ่อแม่ ได้ประกันว่างงานให้ผู้เหนื่อยล้า ได้เมืองที่ปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ

เมื่อคนได้รับแล้วก็เติบโตและมีรายได้มากพอที่จะเสียภาษีบำรุงรัฐสวัสดิการต่อไป ไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนอะไร

แต่ในไทยเราไม่มีสวัสดิการมากพอที่จะโอบอุ้มผู้คน ชีวิตจึงต้องแบกเอง เหลื่อมล้ำ ติดลบตั้งแต่เกิดไปจนตาย