ความฝันของผู้คนในประเทศรัฐสวัสดิการ ความเท่าเทียมไม่เคยมากเกินไป - Decode
Reading Time: < 1 minute

ประกายไฟลามทุ่ง

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ไม่กี่สัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการรายงานข่าวว่าหน่วยงานหนึ่งของรัฐทำการศึกษาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุโดยเน้นไปที่การทบทวนปัญหาของระบบถ้วนหน้าที่ใช้อยู่ในไทย โดยมีข้อเสนอที่ถูกนำมาพูดถึงคือการใช้สวัสดิการแบบสงเคราะห์ เน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุยากจนโดยเหตุผลหลักก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุ การใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพเพราะงบประมาณมีจำกัด จนเมื่อเครือข่ายภาคประชาชนออกมาต่อต้านก็มีหน่วยงานรัฐอีกหน่วยงานมาบอกว่าประชาชนปล่อยเฟกนิวส์ว่าจะเลิกเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าเพราะแค่ศึกษาเท่านั้น ไม่ได้จะเลิกจริง ๆ จนในที่สุดหน่วยงานดังกล่าวก็ต้องล่าถอยไม่เดินหน้าการแปรสภาพ “ระบบถ้วนหน้า” เป็น “ระบบสงเคราะห์” สำหรับคนจน ซึ่งก็เป็นเงินที่ไม่ได้มากมายอะไร เริ่มต้นที่ 600 บาทต่อเดือนเท่านั้นเอง

หากจะว่าไปแล้วก็นับว่าเป็นเรื่องปกติมาก ชนชั้นนำไทยมักต่อต้านระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่ให้สวัสดิการทุกคนในฐานะสิทธิ์และมักนิยมระบบสงเคราะห์มากกว่า เท่าที่ประสบการณ์ส่วนตัวของผม ข้าราชการระดับสูง รัฐมนตรีแทบทุกกระทรวงหรือผู้มีบทบาทกับพรรคการเมืองส่วนใหญ่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีปัญหาอย่างมาก เวลามีผู้กล่าวว่า สวัสดิการต้องให้ทุกคน

พวกเขาจะอ้างถึงความเป็นธรรมต่าง ๆ การใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตลกไม่น้อยเพราะพวกเขามักจริงจังกับประสิทธิภาพและตัวชี้วัด ความคุ้มค่าจ้าง เวลาพูดถึงสวัสดิการของเด็ก คนแก่ นักศึกษา คนทำงาน แต่ความกล้าหาญและหลักการที่พวกเขาใช้กับเด็ก คนแก่ นักศึกษา คนว่างงานดูจะหายไปหมด เมื่อสังคมชวนให้ตั้งคำถามต่องบประมาณขนาดเดียวกันที่ใช้กับกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงต่าง ๆ ที่คนได้ประโยชน์ต่อเรื่องนี้มีเพียงน้อยนิด

หลัก ๆ แล้วพวกเขากลัวว่าหากสังคมที่เท่าเทียมมากเกินไปอาจนำผลเสียอะไรบางอย่าง ซึ่งก็แล้วแต่คำนิยามของพวกเขา แต่มันดูน่ากลัวมากในมุมมองของพวกเขาที่สังคมจะเสมอภาคมากขึ้น

คำถามสำคัญคือ เราจำเป็นต้องกังวลว่าคนในสังคมนี้จะเท่าเทียมกันมากขึ้นหรือไม่ ?

ถอดงานวิจัยเชิงทดลองเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้าในฟินแลนด์

ที่ฟินแลนด์ ได้มีหนังสือภาคภาษาอังกฤษออกใหม่ว่าด้วยเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้าซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์การทำวิจัยเมื่อสามปีที่แล้ว เงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) คือโมเดลการยกระดับรัฐสวัสดิการ ด้วยการให้ประชาชนทุกคนมีเงินเดือนพื้นฐานไม่ว่าจะทำงานหรือไม่ มีรายได้ การศึกษา ทรัพย์สินเท่าไหร่ ตัวเลขที่ทำการทดลองคือ ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน การทดลองสองปีสิ้นสุดไปเมื่อปี 2018 ซึ่งมีการตีความผลการศึกษานี้หลากหลาย แต่สำหรับวงการวิชาการในฟินแลนด์ การทดลองนี้ถือเป็นการยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับสวัสดิการหลายด้านอย่างมาก

มีข้อค้นพบที่น่าสนใจมากมายซึ่งผมจะนำเสนอต่อไป แต่ส่วนสำคัญอยู่ที่ช่วงต้น ศาสตราจารย์ Olli Kangas ผู้เขียนตอบคำถามว่า ทำไมเรายังต้องศึกษาเรื่อง UBI อีก ทั้ง ๆ ที่ระบบรัฐสวัสดิการที่ฟินแลนด์มันก็ดีมากอยู่แล้ว แม้แต่ช่วงโควิด – 19 รัฐสวัสดิการก็เป็นตัวช่วยให้ประเทศพวกเขาสามารถรักษาเศรษฐกิจ เสรีภาพ และสังคมไว้ด้วยกันได้

ประเทศที่ระบบการศึกษาก้าวหน้าที่สุด เสมอภาคที่สุด ระบบสวัสดิการครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตายจากแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย พวกเขาต้องการอะไรอีก ทำไมต้องมาทดลองสวัสดิการอะไรใหม่ ๆ

Olli Kangas บอกว่าในประเทศเราไม่ได้มีเพียงความสุขสมบูรณ์ ผู้คนที่ลำบากก็ยังมี แม้จะน้อยกว่าที่อื่นแต่ก็ยังมี คนที่ต้องคอยคิวรับการช่วยเหลือ มีผู้คนที่อาจสับสนกับการขอรับการช่วยเหลือจากรัฐ หรือหลงทางไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เมื่อมีปัญหาด้านสุขภาพหรือสังคม บางคนอาจรู้สึกไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับระบบสวัสดิการเพราะกลไกบางอย่างทำให้พวกเขาเลือกจะไม่ใช้สิทธิเหล่านี้

จึงนำสู่การทดลองขนานใหญ่ที่สุดในฟินแลนด์ระหว่างปี 2017 – 2018 เพื่อยกระดับสวัสดิการถ้วนหน้าให้ถ้วนหน้ามากขึ้นด้วยข้อสมมติว่าระบบนี้จะสามารถรักษาชีวิต ความฝันของผู้คนไม่ว่าจะเป็นคนส่วนน้อย พวกเขาก็ไม่สมควรที่จะตกหล่น

สรุปการทดลองนี้ คือการแจกเงินประชาชนซึ่งแม้ว่าจะมีสวัสดิการที่ดีอยู่แล้วเพื่อศึกษาพฤติกรรมต่าง ๆ ภายหลังได้รับสวัสดิการ การรับเงินเดือนถ้วนหน้า มีข้อค้นพบที่สำคัญดังนี้

1.การจ้างงาน เมื่อผู้คนได้รับเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาสามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ดีขึ้น สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ รวมถึงการทำงานรูปแบบใหม่ ๆ แม้ว่าการทดลองในสองปี ระยะเวลาอาจจะสั้นแต่เงินเดือนพื้นฐานก็แสดงให้เห็นว่าช่วยลดความเครียดระหว่างการหางาน แม้ในฟินแลนด์จะมีประกันการว่างงานที่สูงอยู่แล้ว แต่การได้รับเงินเดือนพื้นฐานช่วยลดความรู้สึกการถูกตีตราของปัจเจกชนต่อการว่างงานได้

2.สุขภาพ ผู้คนที่ได้รับเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้ามีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีความพอใจในชีวิตสูงขึ้นและรู้สึกยินดีที่จะพบกับกลุ่มคนใหม่ ๆ อันเป็นการขยายมิติทางสังคมมากขึ้น

3.การเงิน ความพอใจต่อสถานะทางการเงินของตนเองดีขึ้น เมื่อสวัสดิการขยายตัวความรู้สึกมั่นคงทางการเงินนี้ทำให้แต่ละคนวางแผนการเงินได้ดีมากขึ้น 

4.ความรู้สึก ภายใต้โครงการนี้ได้ทำให้ผู้คนมีความเชื่อใจต่อรัฐมากขึ้น ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของความมั่งคั่งของประเทศ ไม่รู้สึกเป็นอื่นแปลกแยกจากประเทศตัวเอง

แม้โครงการวิจัยจะสิ้นสุดในสองปี แต่ข้อค้นพบนี้เป็นหน่ออ่อนสำคัญอย่างมากต่อการทำความเข้าใจว่า “โลกนี้สามารถเสมอภาคได้มากขึ้น” ไม่มีใครตายจากโลกที่เสมอภาคมากเกินไป แม้แต่ประเทศที่มีความเสมอภาคมากอยู่แล้ว ก็ยังสามารถแสวงหาความเสมอภาคที่มากขึ้น และประเทศที่เหลื่อมล้ำมหาศาลอย่างประเทศไทย การพยายามบั่นทอนทั้งทางวิชาการ ทางการเมืองให้ “รัฐสวัสดิการเป็นไปไม่ได้” ล้วนเป็นความพยายามอย่างน่าละอายของเหล่าอภิสิทธิ์ชน

แม้เงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า – UBI จะถูกพูดถึงน้อยในฟินแลนด์ในช่วงโรคระบาดปี 2020 – 2021 เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่การถกเถียงเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ก็สามารถอธิบายด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือระบบรัฐสวัสดิการของฟินแลนด์ที่มีอยู่นั้น ผู้คนรู้สึกว่ามันเพียงพอในช่วงโรคระบาดและที่ฟินแลนด์ก็เป็นประเทศที่สามารถเก็บความฝัน เสรีภาพ สุขภาพ และเศรษฐกิจไว้ด้วยกัน โดยไม่ต้องทิ้งอย่างใดอย่างหนึ่ง

การสร้างสวัสดิการเพื่อประชาชนอย่างถ้วนหน้าในฐานะสิทธิ จึงไม่เกี่ยวกับงบประมาณหรือทรัพยากรไม่เกี่ยวกับปลาไม่เกี่ยวกับเบ็ด แต่เกี่ยวกับว่าเราเชื่อว่าคนเท่ากันหรือไม่

เราจะขยายความเป็นไปได้นั้นต่อไปได้ หากเราเชื่อว่าคนเท่ากัน ความพยายามในการต่อสู้ เพื่อสร้างสวัสดิการก็จะตามมา แต่หากเราเชื่อว่าคนไม่เท่ากันก็จะเห็นความพยายามในการแบ่งผู้คนเป็นชนชั้นตลอดเวลาผ่านระบบสวัสดิการแบบสงเคราะห์อนาถา

รายละเอียดหนังสือสรุปงานวิจัยสามารถเข้าอ่านได้ฟรีที่
Lessons from the Finnish BI Experiment 2017-2018
Edited by Olli Kangas, Signe Jauhiainen, Miska Simanainen and Minna Ylikanno
https://www.elgaronline.com/view/edcoll/9781839104848/9781839104848.xml