ก้อนอิฐในมือสามัญชน
ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
ถ้าหากวันหนึ่ง ผู้คนที่เคยทำอาหารให้เราทาน ทำความสะอาดบ้านที่เราอยู่ รวมทั้งเก็บกวาดดูแลอาคารสถานที่ที่เราทำงานหรือใช้สอย พร้อมใจกันนัดหยุดงานขึ้นมาสักสัปดาห์ จะเกิดอะไรขึ้น ?
คงไม่ต้องบอก ทุกคนก็พอนึกออกว่าหายนะมาเยือน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาระการทำงานบ้าน หรือ “งานด้านการดูแล” นั้นสำคัญ แต่กลับมีเพียงงานด้านการดูแลที่เกิดขึ้นนอกรั้วบ้านของแรงงานเท่านั้นที่จะได้รับค่าตอบแทน ตลอดเวลาที่ผมและทีมวิจัยศึกษาเรื่องแรงงานหญิงด้านการดูแล สิ่งที่มักได้ยินบ่อยครั้งจากเสียงของแม่บ้านทำความสะอาด (และแรงงานหญิงอาชีพอื่น ๆ) ที่โอดว่า
“วัน ๆ พี่ทำงานเช็ดถูบ้านลูกค้าแล้ว พอกลับบ้านแฟนก็กดดันให้เราเช็ดถูบ้านตัวเองอีก บอกว่าเรายังทำบ้านคนอื่นได้ ทำไมจะทำบ้านตัวเองด้วยไม่ได้”
ในระหว่างที่คนงานด้านการดูแล ยังไม่พร้อมถึงวันสไตรก์หยุดงาน หายนะจึงตกอยู่กับคนทำงานในรูปแบบของภารกิจที่ปฏิเสธได้ยาก ทั้งงานได้เงินก็กดขี่ งานทำฟรีก็ต้องทำฟรีไปไม่จบสิ้น
และในวันที่หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าโลกเรานั้น “มีความเท่าเทียม” ทั้งทางเพศและเศรษฐกิจมากขึ้นแล้ว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสวม “เลนส์เจนเดอร์” (gender lens) เป็นแว่นตาอันโตเพื่อให้เราสังเกตเห็นชัดถึงภาระสามัญประจำวันที่หลายคนมองข้าม
มาดูกันว่าคนงานหญิงที่ยังชีพจากการทำงานด้านการดูแลผู้คนบนตลาดงานแบบใหม่บนโลกออนไลน์ เขาใช้สองมือสองเท้าที่เข้มแข็งอ่อนโยนประคับประคองพวกเราเอาไว้อย่างไร และนั่นแลกมาด้วยอะไรบ้าง
งานด้านการดูแล งานฟรีที่แท้จริงมีมูลค่า
งานปรุงอาหาร ปัดกวาดเช็ดถู รวมถึงดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจของเรา เรียก ๆ รวมกันว่า “งานด้านการดูแล” (care work) เป็นรายละเอียดสำคัญของชีวิตเราทุกคนเพราะเอื้อให้เราสามารถตื่นเช้าขึ้นมาในแต่ละวันได้ตามเดิมและพร้อมที่จะกลับไปประกอบอาชีพได้โดยไม่เหนื่อยล้าหรือเจ็บป่วยลงก่อน
พูดอีกอย่างงานด้านการดูแลทำให้เราสามารถกลับไปทำหน้าที่สมาชิกที่ดีของระบอบทุนนิยมได้อย่างดีเยี่ยมในระยะยาว
ในเชิงมหภาค งานด้านการดูแลจึงเป็นสาธารณูปโภคที่ทำให้สังคมทุนนิยมขับเคลื่อนและเติบโตโดยไม่หยุดชะงัก นักวิชาการแรงงานสายมาร์กซิสต์เฟมินิสต์ยังเชื่อถึงขนาดว่างานด้านการดูแลนั้นเป็นต้นกำเนิดของมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล งานด้านการดูแลจึงเป็นที่มาของ “ทุน”
งานดูแลในบ้านเป็นงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ไม่จบสิ้น ความสำคัญของงานด้านการดูแลที่ทำในบ้านจึงมีมากกว่าการผลิตซ้ำกำลังแรงงาน (reproduction of labor force) ในระดับชีวิตประจำวัน แต่ยังรวมถึงการสร้างแรงงานรุ่นใหม่ (generational reproduction) ให้เติบโตเข้าสู่ตลาดแรงงาน แทนที่แรงงานที่ปลดระวางไปด้วย นั่นคืองานเลี้ยงดูเด็กอ่อนและการดูแลเด็กให้เติบโตจนถึงวัยทำงาน
แรงงานด้านการดูแลสำคัญถึงขนาดที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประกาศว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของโลกแห่งการทำงาน แต่ด้วยความไม่เสมอภาคระหว่างเพศสภาพ (gender inequality) ผู้หญิงจำนวนมากกลับได้รับการจัดสรรให้รับผิดชอบภาระหนักอึ้งด้านการดูแล (care responsibility) ในบ้านอย่างไม่เป็นธรรม
UN Women รายงานในปี 2561 ว่า ผู้หญิงส่วนมากใช้เวลาทำงานมากกว่าผู้ชายเพราะต้องรวมเอาชั่วโมงในการทำ “งานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง” เช่น การหุงหาอาหาร การทำความสะอาด การเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัวเอาไว้ด้วย สอดคล้องกับบทความของนักวิชาการจาก TDRI ที่อ้างอิงสถิติว่า ผู้หญิงไทยต้องแบกรับหน้าที่ทำงานในบ้านมากกว่าผู้ชายมาตลอด 3 ทศวรรษ
ปัญหาก็คือ การดูแลในบ้านถูกทำให้กลายเป็นภาระและความรับผิดชอบทางสังคมของผู้หญิงที่ “ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้” เมื่อกว่าสามในสี่ของงานด้านการดูแลในโลกเป็นงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง (unpaid care work) ที่ทำในครัวเรือน ที่สำคัญทำโดยผู้หญิงเป็นหลัก
การที่ผู้หญิงถูกคาดหวังจากสังคมและโดยเฉพาะจากผู้ชาย ให้ต้องใช้เวลากับงานดูแลในบ้านเป็นเวลาวันละหลายชั่วโมง ทำให้ในหลายกรณี เด็กผู้หญิงต้องออกจากการเรียนมาดูแลครอบครัว หรือผู้หญิงต้องสูญเสียโอกาสในแง่ของอาชีพ ต้องแบ่งเวลาส่วนตัวให้กับงานบ้าน หรือสูญเสียโอกาสและเวลาที่จะทำงานที่ได้รับค่าตอบแทนของตนเอง ผลที่เกิดขึ้นคือ อำนาจทางเศรษฐกิจของผู้หญิง ทั้งในสังคมและในบ้านของตัวเองจึงลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ นักวิชาการสายสตรีนิยมเห็นพ้องกันว่าบทบาทของผู้หญิงในการทำงานด้านการดูแลส่งผลถึงความเท่าเทียมทางเพศ แต่งานด้านการดูแลมักไม่ถูกพิจารณาว่าเป็น “งาน” ในความหมายของการทำงานโดยทั่วไป นักเคลื่อนไหวในตะวันตกเรียกร้องกันมานานว่างานด้านการดูแลเป็นสาธารณูปโภค ในแง่ของความเป็นธรรม สังคมจึงควรมีบทบาทในการอุดหนุนต้นทุนของแรงงานที่มักถูกละเลยนี้ในรูปของการจัดหาสวัสดิการที่เหมาะสม
ในทศวรรษ 1970s ขบวนการสิทธิสตรีฝ่ายซ้ายในตะวันตก ถึงขนาดกับรณรงค์ให้มีการจ่ายค่าจ้างค่าแรงสำหรับแม่บ้าน (housewife) ในทำนองเดียวกัน เราอาจตีความรูปแบบสวัสดิการที่ก้าวหน้าอย่าง UBI (Universal Basic Income) ว่าเป็นการจ่ายสวัสดิการหรือค่าแรงให้กับแรงงานด้านการดูแลในบ้านก็ได้
การเลือกปฏิบัติที่เกิดจากค่านิยมในสังคมและข้อจำกัดของระบบสวัสดิการนี้ทำให้ผู้หญิงโดยเฉพาะในประเทศโลกที่สามกลายเป็นกำลังแรงงานสำคัญในเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (informal economy) เข้าไม่ถึงสวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคม
เปิดข้อค้นพบวิจัย – วัดใจ “โอกาสทางอาชีพใหม่” บนแพลตฟอร์ม
เศรษฐกิจแบบกิ๊ก (gig economy) ที่มีแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนมาพร้อมกับคำมั่นสัญญาของ “งานที่ยืดหยุ่น” ว่าสามารถเปิดโอกาสให้ผู้หญิงและแรงงานที่เคยถูกกีดกันออกจากตลาดแรงงาน เช่น ภรรยาที่ต้องรับหน้าที่ดูแลบ้าน แม่เลี้ยงเดี่ยว นักเรียนนักศึกษาที่ไม่สามารถทำงานเต็มเวลา ฯลฯ ได้เข้าถึงงานและรายได้ง่ายขึ้นโดยชูความสามารถที่จะเลือกทำงานได้ในเวลาที่ต้องการเป็นจุดขายสำคัญของงานประเภทนี้
ผมและนักวิจัยจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมร่วมกับองค์กรภาคีที่เป็นองค์กรสิทธิแรงงานข้ามชาติและองค์กรสิทธิของแรงงานภาคบริการใช้เวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาในการศึกษาประเด็นนี้ โดยทำการศึกษาการเข้าถึงงาน สภาพการทำงานและประสบการณ์ของคนงานทำความสะอาดบ้านและนวดที่รับงานผ่านนายหน้าบริษัทแบบดั้งเดิม เปรียบเทียบกับกลุ่มที่รับงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
ในโครงการวิจัยของพวกเรา ยังเน้นบทบาทและอำนาจต่อรองของผู้หญิง เราทำการสำรวจเชิงลึกคนงานกว่าสามร้อยคนในสองอาชีพดังกล่าว นอกจากนี้ เรายังมุ่งเน้นที่นโยบายและแนวปฏิบัติของแพลตฟอร์มแรงงาน ในงานด้านการดูแลมิติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีและเพศสภาพ (gender) ตั้งแต่การรับสมัคร การฝึกอบรม กระบวนการจ่ายงาน ไปจนถึงการทำงาน การลงโทษ และกลไกปกป้องคนงานหญิงจากการถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานกับคนงานหญิงสองกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะรับผ่านนายหน้าแบบออนไลน์หรือออฟไลน์
คำถามว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ช่วย “ปกป้อง” คนงานหรือ “ปกปิด” ปัญหาที่เกิดกับคนงานหญิง จึงเป็นหนึ่งคำถามสำคัญท่ามกลางคำถามใหม่อีกมากมายของงานวิจัยชุดนี้ นอกจากการสัมภาษณ์ที่มุ่งเน้นทัศนคติและประสบการณ์ของคนงานแล้ว พวกเรายังทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารแพลตฟอร์มหรือผู้จัดการเพื่อนำมาประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจสัมภาษณ์เชิงลึกและสัมภาษณ์กลุ่มคนงานหญิงทั้งหมด
ในบทความนี้ผมจึงอยากนำเสนอภาพกว้างของผลการศึกษาเบื้องต้น ก่อนที่จะลงรายละเอียดในประเด็นต่าง ๆ ในเชิงลึกในบทความชิ้นต่อ ๆ ไปในอนาคต
เพื่อให้เห็นภาพว่าผู้ให้ข้อมูลที่จะเป็นตัวแทนสะท้อนภาพ “แรงงานหญิงด้านการดูแล” ในประเทศไทยเป็นอย่างไร มาจากไหน มีพื้นเพภูมิหลังเป็นอย่างไร จากการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าผู้หญิงในสองกลุ่มอาชีพที่ผ่านการสำรวจส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 35 ถึง 54 ปี โดยแม่บ้านออนไลน์มีอายุเฉลี่ยมากกว่าพนักงานนวดออนไลน์เล็กน้อย
กล่าวคือ เกือบครึ่งหนึ่งของแม่บ้านอยู่ในกลุ่มอายุ 45 – 54 ปี และอีกประมาณหนึ่งในสามมีอายุระหว่าง 35 – 44 ปี ขณะที่ 40 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานนวดในกลุ่มออนไลน์ที่เราสัมภาษณ์มีอายุอยู่ในช่วง 35 – 44 ปี อีก 40 เปอร์เซ็นต์หรือในสัดส่วนเท่ากันอยู่ในช่วงอายุ 45 – 54 ปี
ในด้านของวุฒิการศึกษานั้น แม่บ้านออนไลน์ประมาณ 6 ใน 10 คนจบการศึกษาต่ำกว่าหรือเทียบเท่าระดับมัธยมศึกษา ขณะที่พนักงานนวด 7 ใน 10 คนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
อย่างไรก็ดี แม้แรงงานกลุ่มนี้จะมีอายุเฉลี่ยปานกลางค่อนข้างไปทางสูง รวมทั้งมีระดับการศึกษาที่ค่อนข้างต่ำ แต่ก็ต้องถือว่าแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่เข้าถึงแพลตฟอร์มแรงงานในรูปแบบแอปพลิเคชันและออนไลน์เพราะความสามารถในการเชื่อมต่อกับโลกดิจิทัลที่มีมากกว่าคนงานกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคนงานอาชีพเดียวกันที่เป็นแรงงานข้ามชาติ
การเปรียบเทียบข้อมูลข้ามกลุ่มทำให้เกิดข้อสังเกตว่าคนงานหญิงกลุ่มหลังนี้มีโอกาสในการเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์น้อยกว่า อาจเพราะอุปสรรคด้านสัญชาติที่ทำให้ขาดเอกสารประจำตัวซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งของการลงทะเบียนทำงานกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ยกระดับให้งานประเภทนี้มีความรู้สึกเป็นทางการ (formalization) มากขึ้น
ข้อสังเกตนี้สอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศอีกหลายชิ้นที่ค้นพบว่าแพลตฟอร์มแรงงานด้านการดูแลมีผลทำให้คนงานหญิงที่ลงทะเบียนรับงานกับแพลตฟอร์มถูกมองเห็น (visible) มากขึ้น
การถูกมองเห็น (invisibility) ในที่นี้หมายถึงผู้รับบริการสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวที่แพลตฟอร์มเป็นฝ่ายรวบรวมและนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายหรือรายละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานของคนงานซึ่งจะละเอียดมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับนโยบายและแนวปฏิบัติที่ต่างกันไปของแต่ละแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ การถูกมองเห็นยังรวมถึงข้อมูลดังกล่าวปรากฏอยู่ในพื้นที่ออนไลน์ให้ภาครัฐสามารถตรวจสอบเพื่อเก็บภาษีรายได้จากคนงานกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ความย้อนแย้งในประเด็นนี้ก็คือ การที่คนงานเหล่านี้ “ถูกมองเห็น” มากขึ้นกลับไม่ได้ทำให้ผู้มีอำนาจ “เข้าใจ” ปัญหาที่แฝงเร้นในข้อมูลที่ถูกวางแบต่อสาธารณะตามไปด้วย คนงานหญิงด้านการดูแลบนแพลตฟอร์มยังคงอยู่ในพื้นที่หลีกเร้นจากการมองเห็นของกฎหมาย ไม่ได้รับความคุ้มครอง ไม่ได้รับสิทธิประกันสังคมในฐานะแรงงาน
หนีเสือปะจระเข้ อนาคตที่ถูกทอดทิ้งของแรงงานหญิงบนแพลตฟอร์ม
อาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเปิดโอกาสให้คนงานหญิงสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้นและสามารถมองเห็นโอกาสในการทำงานที่หลากหลายขึ้นก็จริง แต่ผลการสัมภาษณ์เชิงลึกคนงานหญิงกลุ่มนี้กลับชี้ว่าคนงานต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงในรายได้และความไม่แน่นอนในอาชีพเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ที่น่าสนใจคือ คนงานหญิงผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ มากกว่าร้อยละ 90 ของแม่บ้านและร้อยละ 70 ของพนักงานนวด แทบไม่เคยเห็นหรือไม่แน่ใจว่าพวกเธอมีสัญญาจ้างงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยเหตุนี้คนงานหญิงจึงมักขาดข้อมูลที่จำเป็นในการทำงานตั้งแต่เงื่อนไขการทำงาน
ยิ่งไปกว่านั้น คนงานส่วนใหญ่แสดงความกังวลว่าแพลตฟอร์มมักเปลี่ยนข้อกำหนดและกฎระเบียบ เช่น ค่าบริการ ค่าบริการเสริม และค่าปรับโดยไม่ต้องแจ้งให้พวกเธอทราบล่วงหน้าแต่อย่างใด ทั้งที่แพลตฟอร์มด้านการดูแล นิยามคนทำงานกลุ่มนี้เป็น “พาร์ทเนอร์” หรือ “หุ้นส่วน” ในแบบเดียวกับแพลตฟอร์มส่งอาหารแต่คนงานกลับไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขการทำงานร่วมกัน มิหนำซ้ำยังถูกควบคุมและลงโทษอย่างเข้มงวดมากยิ่งกว่าเป็นพนักงานในร้านเสียอีก
งานวิจัยนี้พบว่าแพลตฟอร์มกำหนดบทลงโทษต่าง ๆ ตั้งแต่ค่าปรับสำหรับการไปถึงบ้านของผู้รับบริการล่าช้า หรือการลาป่วยโดยไม่มีใบรับรองแพทย์ แพลตฟอร์มจึงมีอำนาจเด็ดขาดที่จะลงโทษคนทำงาน เช่น ปิดระบบงานหรือระงับบัญชีของพนักงานเป็นระยะเวลาหนึ่งจากเหตุผลเพียงเพราะว่าคนงานถูกลูกค้าประเมิน (complain) ในแง่ลบโดยที่คนงานเองก็ไม่มีสิทธิชี้แจงและไม่มีช่องทางการอุทธรณ์
งานวิจัยนี้ยังพบว่าคนงานหญิงจำนวนมากปรารถนาที่จะทำงานแบบไม่ประจำที่มีความยืดหยุ่นเพราะพวกเธอมีหน้าที่และภาระรับผิดชอบงานด้านการดูแลที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนในบ้านของตัวเองอยู่แล้ว ข้อมูลนี้จึงตอกย้ำปัญหาภาระความรับผิดชอบในบ้านที่ตกกับผู้หญิงอย่างไม่เท่าเทียมซึ่งส่งผลให้อำนาจทางเศรษฐกิจและศักยภาพในการพึ่งพาตนเองของคนงานหญิงกลุ่มนี้ลดลง
อาจกล่าวได้ว่าแพลตฟอร์มไม่ได้แค่ผลิตซ้ำค่านิยมและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงแต่ยังซ้ำเติมปัญหาให้รุนแรงขึ้น
ข้อค้นพบจากโครงการวิจัยนี้อีกเรื่องก็คือ แพลตฟอร์มแรงงานด้านการดูแลทั้งหมดที่เราสำรวจพบในตลาดมีนโยบายที่ชัดเจนในการรับสมัคร “เฉพาะผู้หญิง” สำหรับงานบ้าน ดูแลเด็ก และรับ “เฉพาะผู้ชาย” ทำงานขับรถ ซ่อมประปา ช่างไฟฟ้า และช่างเทคนิค จึงถือว่าแพลตฟอร์มช่วยผลิตซ้ำค่านิยมทางเพศสภาพทำให้เกิดลักษณะการแบ่งงานกันทำระหว่างชายหญิงที่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศที่ผู้หญิงมักได้รับค่าแรงต่ำกว่าและงานที่ผู้หญิงทำก็ถูกสังคมจัดให้เป็นงานที่ไร้ฝีมือ
ในทางกลับกัน แพลตฟอร์มทั้งหมดกลับไม่มีนโยบายเฉพาะสำหรับผู้หญิงและไม่มีนโยบายที่อ่อนไหวต่อความเปราะบางของการทำงานเป็นแม่บ้านและพนักงานนวด ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราทราบดีว่า มักถูกเอาเปรียบในการทำงานด้วยเงื่อนไขหลายประการ
นอกจากแพลตฟอร์มไม่มีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปกป้องคนงานหญิงจากความเสี่ยงในการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศแล้ว แพลตฟอร์มจำนวนไม่น้อยมีกลไกการทำงานที่ขยายความเสี่ยงให้คนงานถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดง่ายมากขึ้นด้วย ตั้งแต่การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่จำเป็นของคนงาน หรือนโยบายของบางแพลตฟอร์มที่กระตุ้นให้คนงานหญิงแต่งภาพโปรไฟล์ให้ดึงดูดลูกค้า หรืออบรมให้คนงานขับเน้นลักษณะความเป็นหญิงที่อ่อนหวาน อ่อนน้อมออกมามากกว่าปกติในเวลาทำงาน เป็นต้น
ในลักษณะเดียวกับปัญหาของแพลตฟอร์มส่งอาหาร กลไกการสนับสนุนคนงานของแพลตฟอร์มที่มีอยู่กลับไม่สามารถใช้งานได้จริง โดยเฉพาะ “แอดมิน” ที่ทำหน้าที่คล้ายกับคอลเซ็นเตอร์ของแพลตฟอร์มส่งอาหารที่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งในยามฉุกเฉินที่คนงานเสี่ยงจะถูกล่วงละเมิดทางเพศ
คนงานจึงถูกทอดทิ้งให้ต้องเอาตัวรอดจากปัญหาด้วยตัวเองโดยไม่มีระบบสนับสนุนและช่วยเหลือที่เหมาะสม ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา พิษของเศรษฐกิจถดถอย ผลกระทบของโควิด-19 และความล้มเหลวของรัฐในการออกมาตรการช่วยเหลือแรงงานภาคบริการเร่งรัดและผลักดันให้แรงงานหญิงกลุ่มหนึ่งเคลื่อนจากภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการแบบดั้งเดิมเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจแบบกิ๊กอย่างไม่มีทางเลือก
ถ้าถามผมว่าอนาคตของคนงานหญิงในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มของงานด้านการดูแลจะเป็นอย่างไร
ความเห็นเชิงวิชาการของผมก็คือ พวกเธอกำลังหนีเสือมาปะกับจระเข้