“เสี้ยวนาทีก่อนเช้ามืด วันที่ 6 ตุลา 2519 ความใฝ่ฝันของวัยวันนั้นช่างยิ่งใหญ่ ฉันจะช่วยคนจน ฉันจะสร้างสังคมที่ดีกว่า ความใฝ่ฝันของฉัน พังทลายชั่วพริบตา ทันทีที่การฆ่าเริ่มต้น ฉันไม่ได้นึกถึงความตายในห้วงเวลาที่เลือดของผู้คนไหลนอง ความรู้สึกที่เยือกจับขั้วหัวใจ คือความพลัดพรากครั้งแรกของชีวิต ต้องจากพ่อแม่พี่น้องเผชิญหน้ากับฆาตกรรมกลางเมือง โดยยังไม่ได้บอกลา เป็นความพลัดพรากที่ถูกกระทำโดยไม่ยินดี ถูกบังคับให้พรากจากความใฝ่ฝันที่งดงาม เท่าที่ชีวิตเล็ก ๆ ชีวิตหนึ่งพึงมี”
บทบันทึกข้างต้นจากใหญ่ – พันธ์สิริ วินิจจะกูล วันนี้เมื่อ 45 ปีก่อน เธอเป็นนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระดับชั้นมัธยมปลาย ในวันที่เธอมีความฝันอยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น โดยได้รับอิทธิพลมาจากพี่ชาย และรุ่นพี่รุ่นน้องกลุ่มห้อง 60 ในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สองมือเล็กๆ แต่ฝันของหนุ่มสาวในวัยวันนั้นช่างยิ่งใหญ่ ผลตอบแทนของความฝันเหล่านั้น โดยรัฐไทยคือเลือดเนื้อ ห่ากระสุน และความตาย พันธ์สิริคือหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากทุ่งสังหารกลางเมือง 6 ตุลา 2519 ในวันที่ขบวนการนักศึกษาพ่ายแพ้ในวิธีการ แต่ความคิด ความฝัน และชีวิตยังคงดำเนินต่อไป
เรายังไม่ยอมแพ้ และวันนี้พวกเขาก็ยังไม่แพ้
“เราไม่เคยพูดเหตุการณ์ในวันนั้นออกมาได้ ทั้งที่เราก็อยากถ่ายทอด คำถามที่ถามว่าภาวะปกติหลัง 6 ตุลามันเป็นอย่างไร เราอยากจะบอกว่ามันไม่เคยมีภาวะปกติ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลา มันไม่เคยหายไปไหน มันอยู่กับเราตลอด 6 ตุลา มันกำหนดชีวิตที่เหลืออยู่ของเราไว้ทั้งหมด”
6 ตุลา 2519 ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองครั้งแรกสำหรับ พันธ์สิริ วินิจจะกูล แต่สำหรับเธอมันคือวันสุดท้าย โดยเธอกล่าวว่าก่อนหน้านั้นมีสัญญาณเตือน ด้วยความรุนแรงจากภาครัฐมาโดยตลอด แต่ความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาฯ มันอยู่เหนือความคาดฝัน ว่าเขาจะสามารถทำกับประชาชน นักเรียน นักศึกษา ได้ถึงเพียงนี้
“เช้ามืดวันที่ 6 ตุลา 2519 ปฏิบัติการล้อมฆ่าเริ่มขึ้นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ผู้คนจำนวนหนึ่งยืนล้อมวงดูการสังหาร ทารุณกรรมชีวิตแล้วชีวิตเล่า ด้วยแววตาวิปริตและริมฝีปากที่เหยียดยิ้มกระทั่งหัวเราะแบบสะใจ ภาพที่ปรากฏกลับกลายเป็นว่า บรรดาอมนุษย์ได้มีชัยเหนือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี” -จากบทบันทึกของ พันธ์สิริ วินิจจะกูล
ในวันที่ไม่สามารถฝากความหวังไว้กับใครได้อีกต่อไป พันธ์สิริเลือกเข้าไปอยู่ในป่า สำหรับเธอมันคือช่วงเวลาที่มีคุณค่า ในการให้เธอสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้
“ถ้ามองย้อนกลับไป เรารู้สึกว่าในชีวิตไม่เคยมีครั้งไหน ที่หัวใจจะใหญ่ขนาดนั้นได้ หลัง 6 ตุลาที่เข้าป่า เราจะรู้เลยว่าเป้าหมายของชีวิตมันเบสิคมาก ๆ มันคือการกินอิ่มนอนอุ่น มีความรัก มีความสงบสุข สามารถมีเสรีภาพในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มันไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้นเลย”
แต่ชีวิตเธอก็ไม่สามารถอยู่ในป่าได้ตลอดไป เมื่อมีคำสั่ง 66/2523 และเกิดความขัดแย้งระหว่างนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์ พันธ์สิริจึงตัดสินใจกลับบ้านในช่วงปี 2524 – 2525
“หลังออกจากป่า กลับออกมาเราร้องไห้ทุกวัน เพราะคนในสังคมลืมเลือนเหตุการณ์ 6 ตุลา เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นจริง รู้สึกว่าแพ้ไหมก็แพ้นะ แต่ก็ยังยืนยันว่าเราแพ้ในวิธีการที่เราทุ่มเทกับมัน แต่ยังคิดว่าความมุ่งมั่นบางอย่าง ของคนส่วนใหญ่ในช่วงนั้นมันยังอยู่ แต่เขาจะดำรงมันไว้ในรูปแบบวิธีไหน แค่นั้นเอง”
แต่แล้วพันธ์สิริก็กลับมารู้สึกเหมือนได้คลี่คลายปม ที่สังคมแห่งนี้พยายามซุกซ่อนเอาไว้ เมื่อวันนี้ผู้คนกลับมาพูดถึงเรื่องราว 6 ตุลาฯ เป็นสิ่งที่เธอเองก็รอคอยอยู่ลึก ๆ แต่ไม่คิดว่าจะได้เห็นปรากฏการณ์ ที่คนกลับมาพูดกันขนาดนี้ รวมถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนหนุ่มสาว
“คนรุ่นใหม่เขากลับมาพูดถึงเรื่องราวของพวกเรา มันตื้นตันใจทำให้เรารู้สึกว่า พี่ ๆ เพื่อน ๆ 6 ตุลา เขากลับมาเกิดใหม่กันแล้วใช่ไหม คนหนุ่มสาวในวันนี้ มีความเหมือนกับพวกเราในยุค 6 ตุลา แต่พวกเขาคือฝนเม็ดใหม่ที่มีคุณภาพ และเราเข้าใจสิ่งที่พวกเขาออกมาเรียกร้อง มันคือความบริสุทธิ์ ความหวังดี ความอยากรู้ค้นคว้า ที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้ดีขึ้น”
ภาพจาก: โครงการบันทึก 6 ตุลา
พันธ์สิริเปรียบว่า ข้อเรียกร้องของคนหนุ่มสาวในวันนี้ มันทะลุฟ้าจริง ๆ เมื่อเทียบกับสิ่งที่พวกเธอเคยเรียกร้องในวันนั้น ที่เป็นแค่เรื่องพื้นฐาน โดยไม่ได้นึกถึงรากเหง้าของปัญหา อย่างที่คนรุ่นนี้เรียกร้องกัน
“ถึงแม้ในวันนั้นถ้าเรารู้รากเหง้าของปัญหาแล้ว ยังนึกไม่ออกว่าเราจะใช้วิธีใด ที่จะลุกขึ้นมาพูดสิ่งเหล่านั้น มันคือความกล้าหาญของคนในรุ่นนี้”
จุดเริ่มต้นของงานเขียนชิ้นนี้เอง ก็เริ่มตั้งต้นจากความเชื่อมโยงของคนทั้ง 2 รุ่น ที่ตั้งสมมุติฐานว่า แม้คนทั้ง 2 รุ่น จากต่างกรรมต่างวาระ แต่พวกเขาทั้งสอง ในวัยใกล้เคียงกันก็ต่างสิ้นหวัง สูญเสียภาพอนาคต ไปจากผู้มีอำนาจไม่ต่างกัน
บทสนทนากับพันธ์สิริ ใช้เวลาไม่นานนัก ภายใต้บรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อเราต้องสนทนาแข่งกับบรรยากาศเมฆฝนทะมึน ที่กำลังจะตกลงมา เป็นฝนเม็ดใหม่ ที่สุดท้ายแล้วมันก็คือฝนเม็ดเดิม ที่ผ่านกระบวนการระเหยลอยขึ้นไปในอากาศ และจะตกลงมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าวนเวียนเป็นวัฏจักร ชีวิตหนึ่งอาจถูกทำลาย แต่ความคิดและอุดมการณ์กลับถูกส่งต่อ จากช่วงชีวิตหนึ่งสู่อีกช่วงชีวิตหนึ่ง
“ช่วงชีวิตที่เคยเป็นนักเรียนทำกิจกรรม และเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา มันกำหนดชีวิตที่เหลืออยู่ของเราทั้งหมดให้เป็นแบบนี้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ถ้ามองยาว ๆ มันพาเรามาถึงตรงนี้ได้ ต้องขอบคุณสารพัดสิ่งที่ทำให้ตรงนี้มันเกิดขึ้น และทำให้เราสามารถอยู่กับมัน โดยที่ยังคงความตั้งใจเดิมที่มีอยู่ และได้เห็นความเปลี่ยนแปลง จากสมัยที่เราเป็นนักเรียนจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นกำลังใจ และคิดว่าถ้าเราไม่ได้ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำสิ่งนี้ นึกไม่ออกว่าชีวิตเราจะมีความหมายได้เท่านี้รึเปล่า ยังคงคิดว่าประสบการณ์ 6 ตุลา ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอยู่เสมอ”
ความผิดเดียวที่มี คือเรามองโลกในแง่ดีเกินไป
“ทุกคนในขบวนการเคลื่อนไหวพยายามจะบอกว่า ฉันเป็นคน 14 ตุลา เพราะ 14 ตุลามันจบด้วยชัยชนะ แต่ 6 ตุลา จบด้วยความตาย ถือว่าเป็นความพ่ายแพ้พร้อมกับตราบาป แล้วคุณตุลาไหนล่ะ ? ”
พรสรวง โพธิ์ทอง เป็นอีกหนึ่งคนที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับเขา ในวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ พรสรวงคือหนึ่งในบุคคลที่ผ่านทั้ง 2 เหตุการณ์สำคัญคือ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 โดยใน 14 ตุลาฯ เขาคือนักเรียนจาก รร.สวนกุหลาบวิทยา ผู้ร่วมเดินขบวนไปที่ ม.ธรรมศาสตร์ และเข้าสู่เหตุการณ์จลาจล และใน 6 ตุลาฯ เขาคือนักเรียนช่างกลพระราม 6 ผู้ดูแลฝ่ายแสงเสียง และในวันล้อมปราบ เขาคือผู้ประกาศให้คนที่อยู่บนสนามหญ้า เข้ามาหลบในอาคารที่เขาประจำการอยู่
“14 ตุลา เราเป็นพระเอก แต่อย่าลืมว่ามันมีตอนที่พระเอกถูกฆ่า และฆ่าจริงเผาจริง แต่ก่อนไม่มีจินตภาพเลย สิ่งที่ผมเห็นตอนรุ่งสางของวันที่ 6 ตุลา เด็ก ๆ ที่มีความไร้เดียงสา ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเขาจะเอาปืนกลยิงมา มันฉีกเลือดฉีกเนื้อ มันฆ่าคนตายได้นะ เราไม่รู้กันว่าเขาจะทำขนาดนั้น”
พรสรวงเริ่มต้นเล่าเรื่องราว ที่ถูกพยายามทำให้ลืมหายไปจากสังคมไทยเป็นเวลานาน เขาเหมือนต้องตกอยู่ในภวังค์เมื่อเริ่มเล่า เรื่องราวต่าง ๆ ความทรงจำทั้งที่อยากลืม ทั้งที่พยายามจดจำ พรั่งพรูออกมาจากน้ำเสียงของเขา
“6 ตุลา คือความพ่ายแพ้ และหนีไปพร้อมกับตราบาป ผมไม่เคยสามารถดูคลิปวิดีโอ ในวัน 6 ตุลาได้ เสียงปืนที่ดังขึ้นตั้งแต่เวลา 7.05 น. มันยิงจนกระทั่งจับพวกเราได้หมด ไปนอนที่พื้นกลางสนามธรรมศาสตร์ ตอน 9.30 น. ผมว่ากระสุนวันนั้นเขายิงเป็นแสนนัด”
พรสรวง โพธิ์ทอง
สำหรับพรสรวง ความผิดพลาดเดียวที่นักศึกษามีในตอนนั้น คือพวกเขามองโลกในแง่ดีเกินไป และต่อให้ไม่เกิดเหตุการณ์ในรุ่งสางของวันที่ 6 ตุลา ก็ใช่ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นในวันต่อ ๆ มา
“ถ้ามันไม่มีวันที่ 6 ตุลา มันก็ต้องวันที่ 7 8 9 ตุลา อย่างไรก็ตาม คือพวกเขาต้องทำลายพวกเราให้ได้ ไม่งั้นมันจะเสียประโยชน์เขาไปมากกว่านั้น”
ครั้งหนึ่งพรสรวงเคยมองว่า 6 ตุลา ต่างความคิดผิดถึงตาย แต่มาวันนี้เมื่อเขามองย้อนกลับไป ชนวนเหตุแห่งความตาย อาจไม่ใช่แค่ต่างความคิดเพียงอย่างเดียว เมื่อมันคือเรื่องของผลประโยชน์ ที่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา นักศึกษากลายเป็นฮีโร่ ที่คอยเข้าไปแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคม ทั้งการประท้วงที่อเมริกาใช้ไทยเป็นฐานทัพ ปัญหาสลัม การบุกรุกที่ทำกินชาวนา ความขัดแย้งกับเจ้าของที่นา
การต่อสู้ของปัญหาที่ถูกทับถมมานาน ขยายวงกว้างไปในทุกภาคส่วน และมันไปกระทบกับผลประโยชน์ของผู้คนมากขึ้น เมื่อมีกลุ่มคนที่เสียประโยชน์จากขบวนการนักศึกษา เมื่อนักศึกษากำลังจะกลายเป็นฮีโร่ของคนชั้นล่างในสังคม ทางแก้ไขปัญหาสำหรับพวกเขาก็คือ การป้ายสีและฆ่าทิ้ง
“ประวัติศาสตร์ของชนชั้นปกครอง เขียนด้วยปืน แต่ประวัติศาสตร์ของประชาชนนั้น เขียนด้วยเลือด เพราะฉะนั้นมันก็เลยเกิดความพยายามที่จะกวาดล้างขบวนการนักศึกษา”
ดูเหมือนคำถามที่เราเตรียมมา จะแทบไม่ได้ใช้ถามออกไป เมื่อพรสรวงร้อยเรียงเหตุการณ์ ตั้งแต่หลัง 14 ตุลา ช่วง 3 ปีทองของฝ่ายซ้าย และมาบรรจบในวันที่เขาถูกล้อมปราบ ได้ทุกฉากทุกตอน เสียงห่ากระสุน บาทาที่กระทบใบหน้า คำโห่ร้องตะโกน “ฆ่ามันให้หมด ไอ้พวกคอมมิวนิสต์ ไอ้พวกขายชาติ” ยังคงอยู่ในความทรงจำของพรสรวง จนกระทั่งเขาตัดสินใจหนีเข้าป่า
“หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา มันมีอยู่ 2 ทางเลือก ถ้าเราสู้ตรงนี้แล้วแพ้แต่เรายังจะสู้ต่อ เราก็ต้องไปหาป้อมค่ายอื่น เพราะเรายังเชื่อมั่นในสิ่งที่เราคิดและทำ จึงเข้าป่าหวังที่จะสู้ต่อ แต่ก็มีบางคนที่เลิกไปเลยชีวิตนี้ไม่สู้แล้ว”
ภาพจาก: โครงการบันทึก 6 ตุลา
โดยพรสรวงเลือกเข้าป่าที่ จ.สุราษฎร์ธานี รับหน้าที่เป็นหน่วยพยาบาล บทเรียนจากมหาลัยชีวิตกลางป่า พรสรวงเล่าให้ฟังว่า
“บทเรียนจากป่าทำให้ผมรู้ว่า คนเรามันไม่ได้อดหรอกแต่มันอยาก เพราะตอนอดมันกินอะไรก็อิ่ม ชีวิตมันอยู่ในจุดลำบากจนถึงที่สุดตอนเข้าป่า ข้าวบูดเราก็ต้องกิน อยู่ในสนามรบ ข้าวหุงตอนเช้า ตอนเที่ยงเรายังรบกันอยู่ เปิดห่อข้าวมาบูด ก็ต้องกิน พอคุณลงไปถึงจุดลำบากสุด ที่เหลือกว่านั้นมันมีแต่ดีกว่า”
หลังจากผ่านช่วงเวลาในป่า พรสรวงกลับเข้าเมืองมาพร้อมการนับหนึ่งใหม่ของชีวิต ทั้งความคิดของเหล่านักศึกษาที่เข้าป่าและกลับออกมาก็แตกต่างกันไป บ้างผิดหวังกับการต่อสู้ บางคนก็ทำงานเคลื่อนไหวสู้ต่อ บางคนก็ไปอิงอยู่กับผู้อำนาจ
“กลับมาชีวิตคนเรามันก็ต้องเลือกว่า คุณจะขึ้นข้างบนหรือว่าลงข้างล่าง ถ้าขึ้นข้างบนผลประโยชน์รอคุณอยู่ แต่ลงข้างล่างคุณต้องเป็นผู้ให้ ถ้าขึ้นไปข้างบนคุณเป็นผู้รับ กลายเป็นว่าคุณต้องเลือกจะไปอยู่กับชนชั้นเอาเปรียบ หรืออยู่กับชนชั้นผู้เสียเปรียบ”
โดยในปัจจุบันพรสรวง ยังคงออกไปร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง กับคนหนุ่มสาวในฐานะผู้ชุมนุม เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเมืองต่อไป
เราต่างเป็นผู้เจ็บปวด
แม้ไม่อาจเข้าใจได้อย่างแท้จริงว่า คนหนุ่มสาวในวันหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้น ประสบกับความรู้สึกที่เจ็บปวดเพียงใด แต่ในฐานะคนหนุ่มสาวในวันนี้ เราต่างเจ็บปวดจากการถูกปล้นอนาคต จากการเอาเปรียบอย่างหน้าเลือดของคนบางกลุ่ม จากการไม่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม ความเจ็บปวดของคนทั้ง 2 รุ่นอาจมีไม่เท่ากัน แต่เราต่างเจ็บปวด จากระบบสังคมที่กดขี่ผู้คนไม่ต่างกัน ถ้าพวกเขาคน 6 ตุลาฯ คือคนที่ผ่านความเจ็บปวดมาก่อนหน้า เสียงของพวกเขาคงเหมือนถ้อยคำจากพี่ถึงน้อง
“การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในวันนี้ ถามว่ามีโอกาสจะเกิดความรุนแรงขึ้นเหมือนเดิมไหม ผมว่ามีโอกาส ต้องไม่ลืมประเมินสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด อย่าประเมินความโหดเหี้ยมของพวกเขาต่ำ อย่าประเมินต่ำ เขาโหดกว่าที่คุณคิด และสุดท้ายก็คือฆ่า คือความตายที่เขาจะหยิบยื่นให้พวกคุณ ประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำเขียนด้วยปืน ของประชาชนเขียนด้วยเลือด เพราะว่าประชาชนไม่มีปืน” – พรสรวง โพธิ์ทอง
“คนรุ่นนี้เขาไม่ได้สิ้นหวัง เขาไม่ได้อยู่ในวัยที่จะสิ้นหวัง สักวันเขาจะค่อย ๆ เข้าใจ ว่าเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องยาว ๆ เป้าหมายเราตั้งไว้ที่ 10 วันนี้เราขยับไปจาก 1 และมันจะเดินหน้าไปเรื่อย ๆ
“พี่ไม่เคยคิดว่าเขาแพ้ เขามีความฉลาดมากกว่าคนรุ่นพี่ สิ่งที่พูดได้มากที่สุดคือให้กำลังใจ เข้าใจ และจะพยายามทำทุกทางที่ตัวเองจะทำได้ จริง ๆ แล้วคนหนุ่มสาวในวันนี้ มันคล้ายเป็นสิ่งที่เรารออยู่ และวันนี้…เขายังไม่แพ้นะ วันนี้เขายังไม่แพ้” – พันธ์สิริ วินิจจะกูล
ขอบคุณข้อมูลและการช่วยประสานงานจาก: ทีมจัดงาน 5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง
อ่านเรื่องราวบทบันทึกเหตุการณ์ของ พันธ์สิริ วินิจจะกูล ได้ที่
ตอนที่ 1 บันทึกจากนร.เตรียมอุดมฯ 3 ปีทองของฝ่ายซ้าย หลัง ’14 ตุลา’
ตอนที่ 2 บันทึกจาก นร.เตรียมอุดมฯ การมาถึงทุ่งสังหาร ‘6 ตุลา’