ผู้ประกอบการตายผ่อนส่ง เมื่อรัฐพายเรือวนในอ่างล็อกดาวน์ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ถ้าเขายังล็อกดาวน์ต่อไปเรื่อย ๆ ชีวิตคุณจะเป็นอย่างไร”
“มีอยู่สามคำค่ะ ตาย ตาย แล้วก็ตาย”
“ครอบครัวแตกแยก ต่างคนต่างเครียด  ไม่มีเงินไม่มีงาน ชีวิตคู่ชีวิตส่วนตัวก็ล้ม ถ้าเศรษฐกิจมันพัง”
“ถ้ายังล็อกดาวน์ต่อไป อาจจะเห็นเราไปร่วมประท้วงกับเขาก็ได้จริง ๆ นะ”

เสียงจาก 3 ผู้ประกอบการ ที่อาจกลายเป็นเสียงสุดท้าย ถ้าหากรัฐเลือกการล็อกดาวน์ต่อในเดือนกันยายนนี้โดยที่ยังมองไม่เห็นปลายทาง มันอาจกลายเป็นจุดสิ้นสุดของธุรกิจพวกเขา ในวันนี้คำว่า ‘ปิดกิจการ’ ดูเป็นเรื่องไม่ไกลตัว และมันจะยิ่งใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ หากรัฐเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์ต่อไป

วิกฤตสอนให้พวกเขาปรับตัว แต่งัดทุกกลยุทธ์มาปรับแล้ว ยังไม่เห็นวี่แวว ความชัดเจนจากรัฐบาลว่า จะจัดการให้อยู่หมัดได้อย่างไรกับวิกฤตครั้งนี้

‘เปลี่ยนจากร้านคาราโอเกะ มาขายข้าวแกงเพื่อความอยู่รอดก็แล้ว เปลี่ยนจากร้านนั่งสังสรรค์มาขายผ่านดิลิเวอรี ก็ไม่มีทางดีเหมือนเดิม หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนจากครูสอนโยคะในสตูดิโอ มาสอนออนไลน์ อย่างไรมันก็ไม่สามารถทดแทนกันได้’ 

เมื่อผู้ประกอบการทุกคน ปรับตัว จนหมดตัว แต่ถ้ารัฐยังฝืนล็อกดาวน์ต่อไป โดยไม่เร่งทำอะไรควบคู่ ทั้งการตรวจเชิงรุก หรือแม้กระทั่งเรื่องวัคซีน เรื่องราวของทั้ง 3 คน และธุรกิจที่พวกเขาสร้างมันมากับมือ คงพังทลายลงในไม่ช้า ด้วยน้ำมือนโยบายรัฐ ที่ไม่เคยฟังเสียงประชาชน  

ล็อกดาวน์สอนให้เธอเป็นคนมีค่า

“ควัก จนจะไม่มีจะควักแล้ว ถ้ายังเลือกล็อกดาวน์ต่อไป เราคงกลายเป็นคนมีค่า ทั้งค่าเช่าร้าน ค่าเช่าบ้าน ค่าจ้างเงินเดือนลูกน้อง”

เสียงจาก จอย ศศิภิดา  แสวงผล เจ้าของร้านอาหารอีสาน ‘แซ่บไฉไล’ ตั้งอยู่บริเวณ ถ.เจริญราษฎร์ เขตบางคอแหลม จากรายได้หลักหมื่นในช่วงก่อนโควิด เหลือเพียงรายได้หลักพันต่อวัน รายรับหายเกลี้ยง  แต่รายจ่ายไม่เคยลดลงตามมา

“เราผิดหวังกับการทำงานของรัฐบาลที่สุด และคงไม่ใช่ร้านเราร้านเดียวที่คิดแบบนี้ คนทำร้านอาหารหัวอกเดียวกัน รายได้ไม่มี แต่ต้องแบกภาระ ค่าเช่า ค่าพนักงาน ควักเนื้อตัวเอง เอาเงินเก็บที่มีมาใช้ ถ้าต้องควักไปทุกเดือน ๆ แบบนี้ คงหมดตัว”

ศศิภิดา กล่าวกับเราภายใต้บรรยากาศร้านที่เงียบเหงา โต๊ะ  เก้าอี้ นับสิบตัว อยู่ในสภาพไม่ต่างจากในโกดังร้าง หลังจากพวกมันไม่ถูกใช้งานมาแล้วอย่างน้อย 2 เดือน พร้อม ๆ กับคำสั่งล็อกดาวน์จากรัฐบาล ศศิภิดาเองอยากให้รัฐบาลวิเคราะห์ให้ดี ก่อนที่จะมีคำสั่งขยายล็อกดาวน์ต่อไปในเดือนกันยายน

“คุณต้องประเมินแล้วว่า การล็อกดาวน์มันได้ผลไหม สภาพอย่างที่เห็นตอนนี้คุณว่ามันได้ผลไหมล่ะ? เพราะฉะนั้นหยุดล็อกดาวน์ได้แล้ว เมื่อไม่สามารถควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ลดลงได้ ก็ปล่อยให้ประชาชนทำมาหากินเถอะ” 

ศศิภิดาในฐานะแม่ค้าคนหนึ่ง เธอคิดว่าการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ล้มเหลว ทั้งที่ประเทศมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง เธอกล่าวว่า รัฐบาลควรปรับวิธีการทำงานใหม่ มาวิเคราะห์ว่าทำไมการล็อกดาวน์ถึงไม่ได้ผล  และที่สำคัญนโยบายที่ออกมา ควรคำนึงถึงผลกระทบที่ประชาชนได้รับด้วย

“การเยียวยามันไม่เป็นระบบ เหมือนโยนขนมให้ ใครหยิบได้ก็กิน ใครหยิบไม่ทันก็ไม่ได้กิน

นอกจากเรื่องการหยุดล็อกดาวน์ความหวังของผู้ประกอบการอย่างศศิภิดา คืออยากให้รัฐบาลเปิดใจฟังเสียงประชาชน และเร่งทำงานช่วยเหลือให้เร็วกว่านี้ทั้งเรื่องวัคซีน และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชน

“ความหวังน้อยมาก อยู่มาไม่รู้กี่ปี เขาไม่เคยเปิดใจฟังประชาชน มองเพียงว่าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ การ์ดตก ถ้าเป็นผู้นำและอยากรู้ว่าปัญหาของประชาชนคืออะไร เขาต้องเดินลงมาฟังเสียงสะท้อน คุณถึงจะได้รับรู้ปัญหาที่แท้จริง  แต่ทุกวันนี้เวลาประชาชนสะท้อนปัญหาขึ้นไป ก็โต้แย้งกลับมาเหมือนทะเลาะกับประชาชน  เปิดใจ เปิดหูเปิดตา ฟังบ้าง เหมือนประชาชนเดินไปทาง รัฐบาลเดินไปอีกทาง ไม่เคยได้เอื้อเฟื้อกันเลย”

ศศิภิดายอมรับว่าการคลายล็อกดาวน์มีความเสี่ยง แต่ถ้าไม่ยอมเสี่ยงผู้ประกอบการอย่างเธอ คงไม่สามารถแบกรับภาระทั้งหมดได้อีกต่อไปในระยะยาว เธออยากให้รัฐบาลเลิกล็อกดาวน์ ก่อนที่ตัวเธอเองนั้นจะน็อกไปเสียก่อน

“หยุดเถอะค่ะ ล็อกดาวน์ตอนนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน แสดงว่าที่คุณล็อกดาวน์มันไม่ได้ผล ควรหาวิธีการใหม่ ที่จะทำให้การแพร่กระจายเชื้อมันลดลง”  ศศิภิดา กล่าวทิ้งท้ายก่อนที่เธอจะเดินไปรับออเดอร์ จากลูกค้าคนแรกในรอบเกือบหนึ่ง ชม. ที่หน้าร้าน

ล็อกดาวน์ = งานหมด ร้านพัง ตังค์ไม่มี ครอบครัวแตกแยก

“ตอนนี้ที่ทำได้คือพยายามช่วยลูกน้อง ทำข้าวแกงออกมาขายหน้าร้าน”

สถานการณ์ของ ‘ร้านผึ้งหลวง’ ฝั่งตรงข้ามกับร้านแซ่บไฉไล ดูจะแย่ยิ่งกว่า เดิมทีร้านผึ้งหลวงเป็นร้านอาหารที่เปิดให้บริการคาราโอเกะ ลูกค้าส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุที่มาใช้บริการ ในการพบปะสังสรรค์ เต้นลีลาศ ร้องเพลง ทุกอย่างหายไปหมดสิ้นนับตั้งแต่ 10 เม.ย. 64

“รอบนี้หนัก ลูกค้าไม่กล้าออกจากบ้าน ช่วงแรกเราพยายามคิดว่าเดี๋ยวสถานการณ์จะดีขึ้น  ได้แต่รอจนสุดท้ายร้านไปไม่ไหว จึงตัดสินใจพาพนักงานมาขายข้าวแกงอยู่หน้าร้าน แต่ถามว่ามันพอค่าใช้จ่ายไหม มันไม่พอ เพียงแค่ให้ลูกน้องเรายังมีกิน”

เสียงจากศรีนะภา วะนานาม เจ้าของร้านผึ้งหลวง เธอนั่งอยู่บนเก้าอี้ ภายใต้แสงสลัวในร้าน แสงไฟร้านเธอที่เคยส่องสว่างมากกว่านี้ แต่วันนี้กลับมืดดับลง เมื่อไม่มีใครเข้ามาใช้บริการ  

“สิ่งที่เราสูญเสียเยอะจนเป็นคำพูดไม่ได้ พยายามอดทนตั้งสติ ผ่านมาถึงวันนี้ ยังรู้สึกว่าผ่านมาได้อย่างไร ตอนแรกคือแย่มาก ตื่นขึ้นมาไม่มีอะไรทำ กลางคืนนอนไม่หลับ ชีวิตเหมือนกับกำลังรออะไรก็ไม่รู้ไปวัน ๆไม่มีจุดหมาย”

นอกจากสภาพคล่องในหลายธุรกิจที่ถูกสั่งปิดจะน่าห่วงแล้ว สภาพจิตใจของผู้ประกอบการก็ไม่ต่างกัน  ศรีนะภากล่าวว่า ถ้ารัฐยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เธอคงยื้อไหวถึงแค่สิ้นปีนี้

ศรีนะภาเองอยากให้รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ แต่เธอทำใจว่า ต่อให้เลิกล็อกดาวน์ แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดลง สุดท้ายก็ไม่มีลูกค้ากล้ามาใช้บริการที่ร้านเธอ 

“ถ้าเดือนหน้าเขาปลดล็อกดาวน์ มันคงช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายมันอยู่ที่ความมั่นใจของประชาชนด้วยว่า เขากล้าที่จะออกมาใช้ชีวิต  ดังนั้นวัคซีนคือเรื่องแรกที่อยากให้รัฐบาลทำ คนเราถ้ามั่นใจเขาถึงออกมา เขาออกมาพวกเราถึงมีงานทำ”

สำหรับศรีนะภา โควิดและผลลัพธ์จากการจัดการโรคระบาดของรัฐบาล ไม่ได้ส่งผลกระทบ เพียงแค่ธุรกิจหรือสภาพร่างกาย แต่ยังส่งผลกระทบในด้านอื่นด้วย

“เห็นข่าวตอนนี้ไหม ครอบครัวแตกแยกต่างคนต่างเครียด  ไม่มีเงินไม่มีงาน ชีวิตคู่ ชีวิตส่วนตัวของเรา ก็ล้มตามไปด้วยถ้าเศรษฐกิจมันล้ม”

ศรีนะภากล่าวทิ้งท้าย ก่อนที่เธอจะหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา และเปิดคลิปวิดีโอบรรยากาศร้านที่คึกคักไปด้วยผู้คน เธอมองมันด้วยรอยยิ้ม และคงอยากให้บรรยากาศเหล่านั้น กลับมาถึงในเร็ววัน

โยคะสอนให้เธอผ่อนคลาย แต่ล็อกดาวน์สอนให้เธอเจ็บจริง

“ล็อกดาวน์ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา คุณล็อกมาพอแล้ว เราโดนหยุดมา 4 เดือน ตั้งแต่เมษายน มันไม่เห็นความหวัง อยากให้คุณเชื่อมั่นประชาชน ในฐานะที่เราเป็นครูฝึกโยคะ เราก็กลัวโรคเหมือนคุณ เราจะทำทุกวิถีทางให้ผู้ฝึกเชื่อมั่น แต่ถ้าคุณล็อกหมดแบบนี้ จะทำอะไรกิน”

ถ้าธุรกิจร้านอาหารคือฟันเฟืองหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจสตูดิโอโยคะ คงเป็นอีกฟันเฟืองที่เล็กมาก ๆ มันคงเล็กจนรัฐบาลมองไม่เห็น แต่กับเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทุกรอบ ตั้งแต่การเข้ามาของโควิด เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ เคส เขมณัฏฐ์  พุฒพันธพงศ์  ครูสอนโยคะ เจ้าของสตูดิโอ ‘เขมณัฏฐ์ โยคะ’

“น้อยใจนะ ว่าทำไมไม่มีมาตรการช่วยเหลือ เสียใจกับการทำงานของรัฐบาล ที่ออกนโยบายมาไม่ได้คิดถึงทุกคน เราไม่เถียงว่ามีอาชีพอื่นได้รับผลกระทบมากกว่า แต่ตรงนี้กระทบเหมือนกัน สภาพจิตใจ ครอบครัว รายได้”

ในมุมมองของเขมณัฏฐ์ เธออยากให้รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ ไม่ต่างจากผู้ประกอบการรายอื่น แม้เธอจะกลัว แต่ในฐานะที่เป็นครูฝึก เธอมองว่ามันเป็นหน้าที่ ในการสร้างความมั่นใจให้ผู้ฝึก เธอกล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า

“กลับมาอยู่กับความเป็นจริง เชื้อโรคนี้อย่างไรมันก็ต้องอยู่กับเรา แล้วถ้ามันอยู่กับเราตลอด เราไม่ต้องทำมาหากินกันเลยเหรอ อยากให้เลิกล็อกดาวน์ สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือสร้างความมั่นใจ ตอนนี้คนไม่ได้กลัวโควิด แต่เขากลัวว่าถ้าเขาติดแล้วจะมีที่รักษาไหม”

หากยังล็อกดาวน์ไร้จุดหมายต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้ เขมณัฏฐ์ก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตการงานของเธอต่อไปได้ 

“คนเรามันต้องมีงานทำ หากคลายล็อกดาวน์ ทุกอย่างมันก็จะค่อย ๆ ขับเคลื่อน ดีกว่าอยู่นิ่ง ๆ เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ แต่ถ้าคุณเปิด เรายังสามารถค่อย ๆ ก้าวไปทีละก้าว” 

เธอกล่าวกับเราพร้อมรอยยิ้ม ภายในสตูดิโอโยคะ ที่ครั้งหนึ่งเคยคับคั่ง ไปด้วยเหล่ามนุษย์เงินเดือน ที่มายืดเส้นยืดสายหลังเลิกงาน

“ถ้ายังล็อกดาวน์ต่อไป อาจจะเห็นครูไปประท้วงกับเขาก็ได้ ตอนนี้มีหลายคนเขาออกมาแสดงออกแล้ว หรือรัฐบาลต้องการให้ประชาชนออกมาประท้วงเพิ่มขึ้นหรืออย่างไร ครูคิดว่าตอนนี้ คนที่เริ่มคิดแบบครูยังมีอีกเยอะ ถ้ารัฐบาลไม่อยากให้คนที่กำลังเกิดความคิด ในการออกมาแสดงออก คุณก็อย่าไปจุดไฟใส่เขา รีบแก้ปัญหาสิ ตอนนี้ทุกคนให้ความร่วมมือกับคุณหมด คุณสั่งปิดก็ปิด คุณให้เราไม่ออกไปข้างนอกก็ไม่ไป การ์ดอย่าตกเราก็ตั้งไว้สูงมาก เราทำแล้ว ก็เลยอยากฝากรัฐบาลว่า รีบทำอะไรเพื่อประชาชนรากหญ้า หาเช้ากินค่ำได้แล้ว  อย่าให้มันเหลื่อมล้ำกันจนแย่ขนาดนี้”

ล็อกดาวน์ไม่ช่วย สร้างความหวาดกลัวไม่ได้ผล เราเหลืออะไรให้รอดบ้าง

“ถ้าเดือนกันยายน เขาเลือกล็อกดาวน์ต่อ ผมไม่คิดว่าจะหยุดการติดเชื้อได้ คุณล็อกดาวน์อย่างเดียว แต่ไม่ทำอะไรเสริม  ตรวจเชิงรุกก็ทำได้น้อย คนติดเชื้ออยู่ในวังวนครอบครัว ชุมชน ถ้าล็อกดาวน์ต่อ คนอาจไม่ได้ป่วยและตายด้วยโควิด แต่จะป่วยและตายด้วยซึมเศร้า การล้มละลายทางเศรษฐกิจ ตอนนี้สังคมจนกันถ้วนหน้า ถ้าการจ้างงานหยุดชะงัก ทุกคนถูกลดเงินเดือน  ธุรกิจดำเนินต่อไปไม่ได้ มันเป็นโดมิโน่ที่ล้มไปหมด ถ้าเลือกล็อกดาวน์ และไม่ทำอะไรให้ดีไปกว่านี้” 

นิมิตร์ เทียนอุดม จากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ตัวแทนภาคประชาสังคม ที่ออกมาโพสต์ผ่านหน้า Facebook อยากให้รัฐบาลทบทวน นโยบายการล็อกดาวน์ที่กำลังสิ้นสุดลงวันที่ 31 ส.ค. นี้ โดยนิมิตรได้ให้ข้อมูลจากประสบการณ์ของตนเอง ในการลงตรวจเชิงรุกกับทีมแพทย์ชนบท ถึงวิธีที่เจ็บน้อยกว่า แต่ป้องกันการแพร่ระบาดได้

“ลดความกลัว สร้างความเข้าใจ ทำให้คนสามารถคิดวิเคราะห์ให้ได้ว่า ความเสี่ยงของตัวเองอยู่ตรงไหน ถ้าเรามีองค์ความรู้ว่าตัวไวรัสมันมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย  ทุกคนป้องกันตัวเอง ต่างคนต่างปิดทางเข้า-ออกของเชื้อไวรัส ถ้าทุกคนทำอย่างนี้ เราไม่จำเป็นต้องปิดเมือง”

ประเด็นสำคัญของนิมิตรตอนนี้คือ สื่อและภาครัฐต้องหยุดขู่ให้คนกลัว หันมาสร้างความเข้าใจ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน สร้างความมั่นใจว่าถ้าประชาชนติดเชื้อ จะได้รับการรักษาที่ดี และที่สำคัญคือคุณต้องมีมาตรการอื่น เพราะล็อกดาวน์อย่างเดียวแก้ปัญหาไม่ได้

“ที่ผ่านมาล็อกดาวน์ แล้วคุณตรวจเชิงรุกให้ทุกคนรู้ว่าติดเชื้อไหม? การตรวจเชิงรุกที่ผ่านมาน้อยมาก ถ้าชมรมแพทย์ชนบทไม่ออกไปตรวจเชิงรุก มันก็เกือบจะไม่มีใครทำเรื่องการตรวจเชิงรุกเลย”

นอกจากนี้นิมิตรยังกล่าวว่า การล็อกดาวน์ไม่สัมพันธ์กับการลดการติดเชื้อ “คุณเคอร์ฟิว สามทุ่มถึงตีห้า กลางวันประชาชนยังออกจากบ้าน แต่ธุรกิจบางแห่งถูกสั่งปิด 24 ชม.  มันไม่ได้ช่วยเรื่องการแพร่กระจายเชื้อ  ดังนั้นปล่อยให้ธุรกิจเขาเดินต่อไปดีกว่า”

โดยการคลายล็อกดาวน์นั้น นิมิตรคิดว่าต้องมาพร้อมกับมาตรการ ที่รัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมเช่น ประชาชนมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง ชุดตรวจโควิดต้องเข้าถึงได้ง่าย และเข้าถึงได้ทุกคน มีการให้ข้อมูลข่าวสารเรื่ององค์ความรู้ การติดต่อของโควิด ว่ามันสามารถเข้ามาในร่างกายได้ทางไหน และออกจากร่างกายของเราทางไหนได้บ้าง ที่สำคัญนิมิตรกล่าวว่า

หยุดการขู่ หยุดการตำหนิประชาชน ถ้ารัฐยังเน้นสื่อสารเรื่องอัตราการติด อัตราการตาย โควิดติดต่อง่ายมาก มันกลายพันธุ์ สื่อทุกอย่างโหมกระพือพูดเรื่องนี้ เราเน้นความกลัวและเมื่อคนกลัว  คนจะแสวงหาทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองปลอดภัย โดยที่อาจจะไม่มีข้อเท็จจริงมาประกอบ”

แต่ในท้ายที่สุด นิมิตรเข้าใจดีว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ทุกคน มาเห็นด้วยกับการคลายล็อกดาวน์ แต่นิมิตรก็อยากชวนให้ทุกคนได้คิดและวิเคราะห์ไปด้วยกันว่า

“เราจะอยู่กันอย่างไรต่อ หากยังมองว่า มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่รับผิดชอบ ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ไอ จาม ในที่สาธารณะ ผมคิดว่ามุมมองที่มองแบบตำหนิ และเรียกร้องคนอื่นมันไม่แก้ปัญหา มันไม่ช่วยให้ปัญหาดีขึ้น  อยากให้มองว่าคนทุกคน ถ้าเขาได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม ให้ได้รับอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม ทุกคนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ”