ขอให้รู้ว่า “ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว” - Decode
Reading Time: 2 minutes

คุณเคยอ่านหนังสือเล่มไหนแล้วน้ำตาอาบหน้าไหม?

สารภาพว่า ฉันเสียน้ำตาให้หนังสือเล่มนี้ “ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว” หลายบรรทัดเมื่ออ่านจบ ก็รู้สึกจุกที่หน้าอกแปลก ๆ มันอัดอั้นตันใจ หลายความรู้สึกพรั่งพรูออกมา พร้อมอาการกลั้นน้ำตาไม่อยู่

และหาก “ประเทศไทย” ที่คนจีนเรียกว่า 泰国 ( Tàiguó , ไท่กว๋อ) แปลว่า ประเทศแห่งความสงบสุข หากคุณอ่าน “ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว” เล่มนี้จบ ประเทศไทยก็อาจจะไม่สามารถมีความหมายว่า ‘ประเทศแห่งความสงบสุข’ ตามภาษาจีนได้อีก

ถึง ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย ผู้เขียน จะพยายามถ่ายทอดให้เห็นความหวังของชีวิตมนุษย์ผ่าน 13 เรื่องราว และด้วยความที่เล่าแบบสารคดี อาจไม่คมคายหรือเปิดโลกจินตนาการให้ตีความลึกได้มากนัก แต่ปฏิเสธได้ยากว่า อ่านแล้วจะไม่เห็นภาพ ‘ความหวังที่กำลังถูกผูกขาด’

ทุกเรื่องผู้เขียนสามารถกางชีวิตของคนธรรมดา ให้โยงใยและสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความเหลื่อมล้ำอยู่แทบทุกมิติได้ชัดเจน อย่าง เปิดตา ‘ตีหม้อ’ สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด ที่ทำให้เห็นว่าคำที่มีความหมายไม่ต่างจาก “ความจนส่งต่อ” ก็คือคำว่า ‘โสเภณีข้ามรุ่น’

ไม่ใช่ทุกคนที่อยากเป็นโสเภณี

“นี่ ๆ เอาให้หลาน ยายขายไม่ไหวแล้ว”

ยายวัย 70 พูดกับปาณิสผู้เขียน ขณะลงพื้นที่แจกถุงยางอนามัยย่านคลองหลอดที่เธอติดสอยห้อยตามไปกับมูลนิธิอิสรชน ถึงแม้ประโยคจะขึ้นมาสั้นๆ ก่อนที่ปาณิสจะบรรยายถึงบริบทอื่น แต่มันกลับหยุดเราไว้ให้ครุ่นคิดว่าตอนอายุ 15-16 ปี ตอนนั้นเราทำอะไรอยู่ เรากำลังรีบไปโรงเรียนตอนเพลงเข้าแถวดังขึ้น เรากำลังขี้เกียจเรียนวิชาเคมี และเรากำลังคุยสนุกกันเพื่อนช่วงเวลาว่าง แน่นอนว่าไม่มีใครรู้ว่าเด็กคนหนึ่งโตมาแล้วจะเป็นอะไร ความฝันของเธอเป็นแบบไหน แต่คำพูดของยายตอบชัดเจนแล้วว่า หลานวัย 15-16 ปี ของเธอเข้าสู่วงการนี้แล้ว

น่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่ได้เจาะลึกที่มาที่ไปของชีวิต 2 ยายหลานต่อ เลยไม่รู้ว่าเป็นความต้องการของเธอกับเส้นทางนี้ หรือเป็นเพียงไม้ต่อจากยาย แต่ก็พอเห็นบริบทเพิ่มเติมได้จากประโยคที่ตามมา

“ไม่มีใครหรอกที่ใฝ่ฝันอยากเป็นหญิงขายบริการมาตั้งแต่เด็ก” จ๋า เลขาธิการมูลนิธิอิสรชนพูดขึ้นกับปาณิส “จุดเริ่มต้นอยู่ที่ครอบครัว ถ้าเขาเจอปัญหาพ่อแม่แยกทาง บ้านยากจน ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ แล้วอยู่ในสังคมไม่ดี เขาอาจเลือกเดินทางนี้ได้ เป็นปัญหาสังคมที่รู้กันมานาน แต่ไม่เคยแก้ได้”

คำว่า ‘เป็นปัญหาที่รู้กันมานาน’ หนึ่งประโยคสั้นๆ แต่กินใจความ หลายความหมาย ไม่ว่าจะความอ่อนแอในสถาบันครอบครัว สถานะทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อต่อการมีทางเลือกอื่นมากกว่านี้ โอกาสและความหวังที่ถูกปิดรอบด้าน

แต่ถึงอย่างนั้นปัจจุบันอาชีพค้าบริการทางเพศถูกพูดถึงมากขึ้นและดังขึ้น Sex Worker ถูกเรียกร้องให้เป็นอาชีพหนึ่งที่ถูกกฎหมาย และสามารถเข้าถึงสวัสดิการ ไปจนถึงได้รับการคุ้มครอง ซึ่งเราเองก็เห็นด้วยว่า ถ้าสิ่งไหนสามารถเลี้ยงชีพได้ และเกิดความเต็มใจทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการ นั่นก็คือ อาชีพบริการอย่างหนึ่ง

เราจะอยู่ในเมืองพุทธ เมืองที่มีวัฒนธรรมดีงาม ในขณะที่มีคนต้องถูกฆ่าตาย ถูกข่มขืน ถูกขโมยเงิน ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกเอาเปรียบ และถูกขืนใจไม่ใส่ถุงยางแล้วเอาโรคมาติด แต่ไม่สามารถเรียกร้อง หรือทำอะไรได้จากการถูกกดทับความเป็นคนได้จริงเหรอ?

ปาณิสบอกว่า สังคมไทยซึ่งถูกเรียกว่า ‘ซ่อง’ ของโลก เรากล้าที่จะยอมรับความจริงไหม? เราจะยอมรับได้ไหมว่ามีอาชีพขายบริการ เพื่อให้ปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมถูกปัดกวาดและแก้ไข

แก้ไขเพื่อให้คนไทยกว่าพันคนในย่านคลองหลอด กว่าหมื่นคนในกรุงเทพมหานคร และไม่รู้อีกกี่คนในประเทศไม่เสี่ยงต่ออาชญากรรม โรคติดต่อและการถูกเอาเปรียบทางการค้าเพียงเพราะประกอบอาชีพขายบริการเลี้ยงปากท้อง และเพื่อให้…ไทยเป็นประเทศที่ดูแลทุกคนได้อย่างจริงๆ อย่างที่ เลขาธิการมูลนิธิอิสรชนพูดกับปาณิส ถึง ‘ความหวัง’ ของเธอก่อนแยกย้ายว่า…

“เราปฎิเสธไม่ได้ว่าไม่มีของพวกนี้อยู่ ความต้องการของมนุษย์กินขี้ปี้นอน เรามีความฝันของสวัสดิการที่ทั่วถึง เราอยากเห็นสังคมที่ตระหนักถึงการสร้างการเจริญเติบโตที่มีคุณภาพของมนุษย์มากกว่านี้” (เรื่องจาก : เปิดตา ‘ตีหม้อ’ สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด)

ถ้าบ้านของคุณสร้างจากฝาโลงศพที่บริจาคจากวัด ถ้าคุณอยู่ในเพลิงสังกะสีริมถนน ข้างรั้วบ้านจัดสรรหรู และพื้นบ้านเต็มไปด้วยน้ำจากท่อน้ำเสียที่ถูกปล่อยมา ถ้าคุณปวดท้องเข้าห้องน้ำแต่ต้องเคาะไล่ตะขาบและงูก่อนทุกครั้ง คุณจะให้คะแนนความสุขในชีวิตนี้เท่าไร?

เด็กเอ๋ยเด็กดี

ที่เรายกตัวอย่างนั้นเป็นเพียงชีวิตส่วนหนึ่งของเด็กๆ ที่ปาณิสไปเจอจากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนกับคุณครูโรงเรียนวัดมูลจินดาราม คลองห้า จังหวัดปทุมธานี โรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ม.3

เริ่มกันที่บ้านหลังแรกของเต้ย นักเรียนชั้น ป.4 เด็กชายเดินนำทางครูและปาณิสมุ่งหน้าสู่ตัวบ้าน ผ่านทางเดินเล็กแคบที่รถไม่สามารถผ่านได้ จนมาถึงบ้านที่ เด็ก ป.4 อาศัยอยู่กับย่าและป้า เพราะพ่อติดคุกด้วยคดียาเสพติด และแม่ทิ้งเขาไว้ที่นี่ บ้านที่ไม่มีห้องส่วนตัว และพื้นบ้านปูด้วยฝาโลงศพ แต่การมีมุมให้นอนกับตุ๊กตาโปรดตัวเล็ก ๆ ก็พอจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวได้ คุณครูเล่าว่า ย่าวัยใกล้เกษียณทำงานเลี้ยงทุกชีวิตคนเดียว ในวันนี้ไม่มีงานเด็กชายก็จะไม่ได้กินข้าว แต่ก็ยังพอโชคดีที่โรงเรียนพอมีข้าวให้หลังจากเคารพธงชาติเสร็จ

เรากล้ายืนยันว่า สิ่งที่ปาณิสเจอมีอยู่จริงและไม่ใช่แค่ชีวิตของเต้ยเท่านั้น มีเด็กไทยวัยเดียวกับเต้ยอีกจำนวนมากที่มีชีวิตความเป็นอยู่แบบนี้

เด็กที่โตมาได้ด้วยข้าววัด เด็กที่อาศัยน้ำวัดทั้งอาบและกิน เด็กที่ซ้ำชั้นเพราะเรียนไม่ทันเพื่อน และเด็กที่มีความรู้สึกว่าไม่อยากเรียน ทุกหมดนี้ย่อมมีที่มาที่ไปและมีโครงสร้างที่กดทับอยู่

บ้านไม่มีข้าวกินเท่ากับหิว ส่งผลให้เรียนไม่รู้เรื่อง และระยะยาวก็เท่ากับการขาดสารอาหาร ส่งผลต่อพัฒนาการสมองและเรียนไม่ทันเพื่อน ตามมาด้วยกำลังใจที่แผ่วลงจนหลุดออกจากระบบไป สมการเหล่านี้ฟังดูเป็นเหตุเป็นผลได้โดยที่ไม่ต้องแนบงานวิจัยมาด้วย

และที่บอกว่า การศึกษาจะช่วยยกระดับฐานะทางสังคม ช่วยปลดความจนส่งต่อก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากหากยังมี เด็กในระดับประถมศึกษาและมัธยมต้นอีกกว่า 1.1 แสนคน ที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าร้อย กว่า 670,000 คน คือ จำนวนเด็กไทยอายุ 3-17 ปีที่อยู่นอกระบบการศึกษา และกว่า 22% คือสัดส่วนค่าใช่จ่ายทางการศึกษาของครอบครัวยากจนต่อรายได้ทั้งหมดนั่นหมายความว่าเรียนฟรี 15 ปีของคนฐานล่างสุดสิ่งนี้ไม่เคยมีอยู่จริง และ เด็กเอ๋ยเด็กดี จะเป็นคนดีของประเทศชาติได้อย่างไรเมื่อความหวังถูกทิ้งไว้เล็กน้อยเพียงนี้

(จากเรื่อง : 50 ปีหลังมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยยังอยู่ที่เดิม)

เราพยายามตามหาว่าเนื้อหาในหน้าไหนตรงกับชื่อหนังสือมากที่สุด เปิดอ่านเกือบจนใกล้หน้าสุดท้าย พบว่า มีหลายหน้าเหมือนกันที่มี ‘ความหวัง’ ซ่อนอยู่ แต่บทสุดท้ายน่าจะมีบริบท เรื่องราว และความหมายตรงกับ ‘ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว’ มากที่สุด

การเผชิญหน้าของเด็กเมื่อวานซืน ในยุคกาลแห่งความซวย

“มนุษย์หาความเป็นไปได้อยู่เสมอ” ประโยคที่ ทีม เด็กหนุ่มจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตอบปาณิส เธอนั่งคุยกับเด็กหนุ่มจากครอบครัวชนชั้นกลางในสงขลาและหนึ่งในนักศึกษาที่ขึ้นปราศัยประท้วงรัฐบาลประยุทธ์ในมหาวิทยาลัย ทั้งคู่แลกเปลี่ยนกันอยู่หลายประเด็น

ทีม มีจุดเริ่มต้นเหมือนเด็กทั่วไป และเคยอาศัยอยู่ในโลกเดียวกัน ขนาดเท่ากันกับคนอื่นๆ
‘เหมือนหนูถีบจักร’ คือคำอธิบายชีวิตที่ผ่านมาของเขา เลิกโรงเรียนแล้วต่อด้วยเรียนพิเศษ ส่วนเวลาว่างก็อ่านการ์ตูน และตั้งใจเรียนเพื่อให้ทำคะแนนได้ดี ก่อนที่เขาจะค้นพบโลกใหม่ตอนที่ได้ไปเรียนแลกเปลี่ยนที่เช็ก และพบกับโลกที่เปลี่ยนแปลงเขา

‘ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสเจอโลกใบใหม่’ ถ้าอ่านบทความนี้ตั้งแต่บรรทัดแรกทุกคนก็จะเข้าใจว่า ทำไมเราถึงเห็นด้วยกับปาณิสอีกแล้ว…ชีวิตทีมเหมือนถูกกระเทาะใหม่อีกครั้ง หลังจากที่เขาอ่านมากขึ้นและขยับมาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ก่อนที่จี้จุดให้เราทบทวนตัวเองเหมือนกันว่า บนไทม์ไลน์ชีวิตเรากับประวัติศาสตร์เชื่อมโยงและควบขนานกันแค่ไหน

ทีม เกิดปี 2541 หนึ่งปีหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ทีมอายุไม่ห่างจากเรามากทำให้ยิ่งเข้าใจได้ว่าเขาผ่านช่วงกาลเวลามาอย่างไร สำหรับรัฐประหาร 2549 ที่พวกเรายังเด็กและอ่อนเยาว์สำหรับการเมืองมาก และ 2553 ที่เราและทีมเองก็ห่างไกลจากศูนย์กลางเกินกว่าจะเข้าใจเช่นกัน (ทีม สงขลา และเรา เชียงใหม่) 2556 การชุมนุม กปปส. ทีมร่วมเป่านกหวีดเพราะครูชวน ส่วนเราที่ยังไม่รู้จะฝักใฝ่ฝ่ายใด จนมาถึงปี 2557 ที่อยู่ในช่วงกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ต่อด้วยโควิด-19 กับรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ในวัยใกล้เรียนจบเหมือนกัน

“ในสายธารประวัติศาสตร์ เวลาหกปีใต้รัฐบาลทหารอาจเป็นแค่จุดเล็กๆ ในเส้นยาวไกลสุดลูกตา แต่สำหรับชีวิตของคนคนหนึ่งก็มากพอที่เด็กจะอ่านออกเขียนได้”

ไม่ว่าจะเป็นไทม์ไลน์ที่ไล่เรียงกันมา หรือเป็น 2 บรรทัดที่เราหยิบยกมาจากย่อหน้าหนึ่งในหนังสือของปาณิส คุณเห็นเหมือนเราไหมว่ามีเด็กเมื่อวานซืนอีกหลายคนกำลังเติบโตไปพร้อมกัน เราต่างใช้เวลาชีวิต และกำลังถูกบางสิ่งแผดเผาอยู่ อาจเป็นไปได้ว่าความรู้สึกเหล่านี้ ประทุออกมาจากด้วยพลังของคนหนุ่มสาวที่กำลังเติบโตในโลกนี้ไปด้วยกัน ความอัดอั้นก่อเกิดเป็นการประท้วงใหญ่ชนิดที่ปาณิส บอกว่า “ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่หลังรัฐประหาร ปี 2557” และมีต่อมาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ที่เรากำลังพิมพ์บทความนี้อยู่

จึงอยากชวนอ่านหนังสือเล่มนี้ แด่วันที่ทุกคนควรได้เจิดจ้า….ในวันที่สถานการณ์โควิด-19มีตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ทำสถิติหลักหมื่นและหลักร้อย ทำ New High เกือบทุกวันติดต่อกันเป็นสัปดาห์ ในวันที่คน 20 ล้านคนที่ไม่จัดอยู่ในระบบไร้ซึ่งการเยียวยา ในวันที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2564 เหลือพียง 2.0% ต่ำที่สุดของประเทศอาเซียน ในวันที่คนรุ่นใหม่ตั้งกลุ่ม “โยกย้าย ส่ายสะโพก” ขึ้นมาเพื่อมองหาความหวังใหม่ แค่ความหวังของคนรุ่นใหม่ที่มีอยู่หลายล้านในไทยก็พิสูจน์ชัดเจนว่า ไม่มีใครควรได้เป็นเจ้าของความหวังแต่เพียงผู้เดียว

และ ชีวิตเหี้ยมเกรียมแบบนี้แหละ – ปาณิส (จากเรื่อง : เด็กเมื่อวานซืน)

หนังสือ: ไม่มีใครเป็นเจ้าของความหวังเพียงผู้เดียว
ผู้เขียน: ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
สำนักพิมพ์: SALMON

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี