ถูกแอบถ่ายในห้องน้ำ ถูกบังคับแต่งกายให้ตรงเพศกำเนิดขณะฝึกงาน โดนล้อเลียนเพศสภาพในโรงอาหาร เจอการคุกคามทางเพศระหว่างรับน้อง ถูกแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากอาจารย์ที่สอน จนถึงการข่มขืนระหว่างช่วยงานรุ่นพี่ เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย พื้นที่ทดลองทางสังคมขนาดใหญ่ ที่ถูกคาดหวังให้เป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ปลอดภัยและเต็มไปด้วยปัญญาชน
เกิดอะไรขึ้นหลังรั้วมหาวิทยาลัย อะไรแอบซ่อนอยู่เบื้องหลังใบปริญญา ทำไมเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศจึงเกิดขึ้นซ้ำซาก De/code ชวนถอดรหัสคำถามกับปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม พร้อมกับหาทางออกจากยุคมืดแห่งความรุนแรงทางเพศไปด้วยกัน
ในปี 2562 มีข่าวที่น่ายินดีเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาไทย เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จับมือกับ UN WOMEN และภาคีในประเทศ ร่วมกันก่อตั้ง ‘คณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศ’ เครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศและการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศหลากหลายรูปแบบ เราได้ยินเสียงชื่นชมยินดีจากไอเดียที่ทันท่วงทีกับยุคสมัยแล้วหลายต่อหลายครั้ง
คราวนี้ เราจะไปฟังเสียงจากผู้ใช้งานจริง และคำแนะนำจาก อ.เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้รับเสียงสะท้อนจากผู้ถูกกระทำ และอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนประเด็นด้าน gender ในสถาบันการศึกษา ผู้ที่บอกกับเราว่าวันนี้ เราต้องการกลไกภายใน มากกว่ากลไกภายนอกด้วยซ้ำไป
หนึ่งในกลไกนั้นคือ คณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศ ซึ่งคณะกรรมการฯชุดนี้มีความหลากหลายและความชำนาญในประเด็นที่ละเอียดอ่อน ลืมภาพห้องสอบสวนแบบในหนังฆาตกรรมไปได้เลย คุณกำลังอยู่กับทีมที่มีทั้งนักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ และบุคลากรจากแวดวงสาธารณสุข นี่คือการทำงานร่วมกับสหวิชาชีพที่พร้อมรับฟังคุณ แต่ในมุมของผู้ใช้บริการ ทีมที่เปรียบเหมือน AVENGERS นี้สมบูรณ์แบบแล้วจริง ๆ หรือไม่ ?
ผู้ใช้บริการให้สัมภาษณ์กับเราว่า ตัวคณะทำงานเองไม่ได้มีท่าทีซักไซ้ หรือตั้งคำถามที่ชวนอึดอัด นี่คือบรรยากาศที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของผู้ใช้บริการ แต่สิ่งที่ยังขาด คือคนที่ทำงานด้าน GENDER STUDY นี่คือข้อเสนอหนึ่ง ที่ผู้ร้องเรียนอยากให้มีในคณะกรรมการชุดนี้
หลังจากผ่านกระบวนการเขียนคำร้องไปแล้ว กระบวนการสอบข้อเท็จจริงจะเริ่มต้นขึ้น
ถ้าวันนี้เราตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำที่มาร้องเรียนแล้วล่ะก็ การต่อสู้ ต้องสู้กันด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช่อารมณ์ นี่คือคำพูดแรกที่ผู้ร้องเรียนแนะนำกับเรา
เมื่อเราเข้าสู่ขั้นตอนการให้ข้อมูล จงลดอารมณ์ให้เหลือน้อยที่สุด เจาะจงไปที่ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไรให้ชัดเจนที่สุด
บาดเจ็บทางใจ ยังไปไม่ถึงไหนจากกรอบคิด “ชาย-หญิง”
ทางคณะกรรมการเองควรที่จะมีบริการจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาปรึกษาให้กับผู้ร้องเรียนก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการทั้งหมด เพราะการพบจิตแพทย์ ไม่ใช่เพียงการประเมินสภาพจิตใจของผู้ร้องเรียนเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ในการฟ้องร้องให้เห็นถึงความเสียหายเกิดจากการกระทำความรุนแรงทางเพศได้อีกด้วย
ในมุมมองของอ.เคท ดูเหมือนว่าคณะกรรมการที่ทำงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศนี้ จะเน้นความเสมอภาคไปที่ “ชาย-หญิง” มากเกินไปหน่อย ทำให้บางครั้ง บางกรณี ดูขาดมิติในความเข้าใจเพศสภาพและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายไปบ้าง
เมื่อพูดถึงมิติของความละเอียดอ่อนทางเพศ อ.เคทได้ให้คำแนะนำสำหรับการนำโมเดลนี้ไปใช้ในสถาบันทางการศึกษาอื่น ๆไว้ได้อย่างน่าสนใจ
คณะกรรมการชุดที่ทำงานในประเด็นนี้ จะต้องเข้าใจว่าผู้ร้องเรียนมีความบาดเจ็บทางด้านจิตใจ คนที่ลุกขึ้นมาส่งเสียง คือคนที่ทนเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว มันอาจจะตามหลอกหลอนเขาหรือเธอทั้งในเวลาหลับและตื่น คณะกรรมการที่ทำงานกับปัญหานี้ต้องไม่สวมบทเป็นพนักงานสอบสวน ที่คอยแต่จะเรียกร้องหาหลักฐาน ชุดผู้บริหารเอง ก็ต้องมองว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
เหมือนเวลาน้ำประปาท่อแตก น้ำไม่ไหล เราก็ต้องมีทีมช่างมาคอยซ่อมแซม เมื่อปัญหาความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้น การมีทีมที่คอยดูแล มีกลไกระบบภายในที่คอยแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จึงเป็นสิ่งที่ต้องมีให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาเช่นเดียวกัน
การสอบสวนที่ไม่ควรตั้งคำถามว่า “ทำไม”
เราสามารถเรียกร้องให้คณะกรรมการฯ เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ถูกกระทำและผู้กระทำความผิดได้ กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่ใช้กับคนในประชาคมมหาวิทยาลัย แต่ยังเปิดช่องทางให้คนนอกร้องเรียนกับคณะกรรมการได้อีกด้วย
หากผู้ถูกร้องเรียนเป็นอาจารย์ อาจถูกระงับสอน ถูกกันออกไปจากสถานการณ์ที่สามารถให้คุณให้โทษผู้ร้องเรียนได้
เพราะการสร้างพื้นที่ปลอดภัยตลอดการร้องเรียน ถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ
และจำไว้เสมอ ระหว่างการสอบสวนหากผู้ร้องเรียนรู้สึกไม่ปลอดภัย หรือไม่ต้องการที่จะให้ดำเนินกระบวนการต่อ ผู้ร้องเรียนสามารถหยุดได้ทันที ไม่ต้องคิดว่าเป็นเรื่องเสียเวลาของผู้ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพราะตลอดการร้องเรียนที่ผ่านมานั้นมีราคาที่ต้องจ่ายมากเกินพออยู่แล้ว
ในส่วนของผู้ที่ทำการสอบสวน ไม่ควรตั้งคำถามด้วยคำว่า “ทำไม” และไม่ควรมีกรอบความคิดว่าเหยื่อจะต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องจึงจะได้รับความช่วยเหลือ
อ.เคทได้เสนอแนวทางเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศควรได้รับ โดยจัดลำดับความสำคัญไว้ได้อย่างน่าสนใจ เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงาน หรือสถานศึกษาใดก็ตามที่ต้องการเริ่มสร้างเครื่องมือในพื้นที่ของตนเอง
- เข้าถึง และช่วยเหลือความเจ็บปวดทางด้านร่างกาย สิ่งแรกที่ผู้ถูกกระทำต้องเข้าถึงได้ทันที คือเข้ารับการรักษา ปัญหาคือคนไม่นึกถึงระบบกลไก กลับนึกถึงตัวบุคคลที่จะให้ความช่วยเหลือได้แทน เราต้องผลักดัน ต้องสร้างกลไกที่รองรับปัญหานี้ขึ้นมาให้ได้
- เข้าถึง และช่วยเหลือความเจ็บปวดทางด้านจิตใจ จะต้องมีจิตแพทย์ นักจิตวิทยาปรึกษาที่พร้อมตรวจสภาพจิตใจและออกใบรับรองแพทย์เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินการต่อไปได้
ในช่วงหลังมานี้กระบวนการทางการแพทย์มีการทำงานร่วมกันของทั้งสูตินารี เวชศาสตร์ครอบครัว และจิตแพทย์เด็ก แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของความเข้าใจและองค์ความรู้ที่มีต่อปัญหา ซึ่งควรมีในหน่วยงานอื่นๆเช่นเดียวกัน
- เข้าถึง และช่วยเหลือคุ้มครองทางด้านกฎหมาย จำนวนที่เพียงพอของพนักงานสอบสวนหญิงและนักสังคมสงเคราะห์คือความจำเป็น นอกจากนี้การให้ความช่วยเหลือและเป็นตัวกลางของสถานศึกษาระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวผู้ถูกกระทำ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในขั้นตอนนี้เช่นเดียวกัน
เราควรจะเรียงลำดับ จัดวางความสำคัญของขั้นตอนตามนี้ ไม่ใช่พอเกิดเหตุขึ้นก็รีบพาไปแจ้งความแต่ไม่ได้เก็บพยานหลักฐานอะไรเอาไว้ หรือรีบไปพบพนักงานสอบสวนก่อนโดยที่สภาพจิตใจยังไม่พร้อม ลำดับก่อนหลังของกระบวนการจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
ถอดรหัสระดับปัจเจก : ถ้าสังคมมองแต่ไม่เห็น ฟังแต่ไม่ได้ยิน
ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม
หลาย ๆ เคส หลาย ๆ ครั้งที่ผู้ร้องเรียนได้รับความเป็นธรรมอย่างรวดเร็ว ก็เพียงเพราะถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ กลายเป็นข่าว ไม่ใช่เพราะกระบวนการที่มีประสิทธิภาพแต่อย่างใด
แน่นอนว่าการออกมา CALL OUT หรือพูดถึงความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้น ไม่ใช่ และไม่เคยเป็นทางเลือกแรกของผู้ร้องเรียน หลายๆคนอดทนเข้าสู่กระบวนการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการยุติธรรม หรือกระบวนการภายในของมหาวิทยาลัย แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น (เช่นคณะกรรมการชุดนี้ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีเพียงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น)
กรณีตัวอย่างของผู้ร้องเรียนคนหนึ่ง ทันทีที่มีคนช่วยส่งเสียง มีคนพูดถึงในโลกออนไลน์ ทางคณะต้นสังกัดก็ออกแถลงการณ์พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันที การตอบสนองที่ ‘รวดเร็วฉับพลัน’ เช่นนี้สามารถเป็นข้อพิสูจน์ได้หรือไม่ ว่าความยุติธรรมนั้นสามารถมาถึงได้อย่างรวดเร็ว เพียงแต่เราต้อง ‘กระทุ้ง’ มันสักหน่อย
การออกมาสื่อสารบนโลกออนไลน์ ย่อมเป็นการสร้างบาดแผลและความเสียหายให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคน ทุกทาง มันไม่ควรมีเครื่องมือนี้เป็นหนึ่งในทางเลือกการแก้โจทย์ปัญหาเรื่องความรุนแรงทางเพศตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ
ความรวดเร็วของกระบวนการคือการเยียวยาที่ดีที่สุดให้กับผู้ถูกกระทำ อย่าลืมว่าเมื่อต้องใช้เวลาเป็นหลักปี สองปี มันคือครึ่งชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยของคนคนหนึ่ง วัยที่ควรจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตแต่กลับต้องมาติดอยู่ตรงนี้ คณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องต้องพึงระลึกเสมอว่า ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม
ลองนึกภาพของคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำ หรือนักศึกษาที่มีปัญหาสถานะทางเศรษฐกิจ การไปสถานีตำรวจครึ่งวัน หรือการตรวจร่างกายเต็มวัน ย่อมกระทบกับรายได้ของเขาหรือเธออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แล้วใครกันจะเลือกใช้เครื่องมือนี้ แล้วใครกันจะเข้าถึงความยุติธรรม
ถอดรหัสระดับสถาบัน : ความยุติธรรมถูกตัดตอนอำนาจนิยมใน “มหาลัย”
“สังคมพร้อมที่จะคุ้มครองผู้กระทำเสมอ” อ.เคทบอกกับทีมงานของ Decode
คนชอบตั้งคำถามว่าหากมีบทลงโทษกับผู้กระทำความผิด แล้วชีวิตที่เหลือของเขา หรือเธอ จะเป็นอย่างไร ก็อยากจะให้ตั้งคำถามกลับไปเช่นเดียวกันว่า หากไม่มีกระบวนการคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ถูกกระทำ ชีวิตที่เหลือของเขาหรือเธอ จะเป็นอย่างไร
อ.เคทชี้ให้เราเห็นว่า ความรุนแรงทางเพศนั้นมักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอำนาจ และเครือข่ายทางสังคมต่ำกว่าผู้กระทำอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งในแวดวงวิชาการ ไม่มีใครจะอยากเป็นกันชนให้ใครในเรื่องความขัดแย้งแบบนี้ สังคมเลือกอุ้มชูคนที่มีเครือข่ายสูงกว่าอยู่แล้ว
ผู้ใช้บริการรายหนึ่งให้ข้อมูลว่าความรุนแรงทางเพศอย่างการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ (Sexual Exploitation) นั้นมีรูปแบบ (Pattern) บางอย่าง ชัดเจน เกิดซ้ำ และรอดตัว ความรุนแรงในรูปแบบนี้จะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติของผู้ชาย ถูกบอกให้ปล่อยวาง ไม่อย่างนั้นปัญหามันก็ไม่จบสักที
ยิ่งถ้าเป็นในกรณีที่ผู้กระทำความรุนแรงเป็นอาจารย์ หน่วยงานจะพิจารณาหลักเกณฑ์ในการลงโทษว่า หากผู้ถูกร้องเคยทำคุณงามความดีในทางวิชาการให้แก่มหาวิทยาลัย ผู้ถูกร้องจะถูกลงโทษน้อยลงกว่าเดิม หรือไม่ถูกลงโทษเลยก็มี
เมื่อความรุนแรงทางเพศถูกผลักให้เป็นเรื่องส่วนตัว ในขณะที่วิธีการก่อความรุนแรงของผู้กระทำความผิดมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ การออกมาพูด หรือเข้าสู่กระบวนการร้องเรียน จึงไม่เพียงเป็นกระบวนการเยียวยาตนเองของผู้ถูกกระทำ แต่เป็นการยับยั้งป้องกันไม่ให้ผู้กระทำไปก่อความรุนแรงซ้ำขึ้นได้อีกด้วย
ถอดรหัสระดับสังคม : ความรุนแรงจากการเติบโตของสังคมวัฒนธรรมเดี่ยว
อ.เคทให้ความเห็นว่าสังคมไทยขาดความหลากหลายทางวัฒนธรรม เราเชื้อเชิญให้กระทำกับคนที่แตกต่างจากเราอยู่เสมอ และหลาย ๆ ครั้งคนที่เชื้อเชิญเหล่านั้น คือผู้มีอำนาจในสังคม อย่างในห้องเรียน คนที่สร้างวัฒนธรรมแบบนี้ให้เกิดขึ้นก็คือตัวของครูเอง พอเป็นเรื่องเพศที่เป็นประเด็นเรื่องการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย สังคมวัฒนธรรมเดี่ยวนี้ก็กระทำและให้น้ำหนักกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นแบบเดียวกัน
ยิ่งในสังคมนักวิชาการ หลาย ๆ ครั้ง หลาย ๆ คนขาดความเป็นมนุษย์ ในประเด็นอื่นสามารถหาหลักเกณฑ์ ตัวบทอ้างอิง ประกาศข้อบังคับมาใช้อธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆได้ แต่พอเป็นเรื่องเพศกลับไม่เข้าใจว่ามันเป็นความรุนแรงได้ยังไง กลับมองไม่เห็นปัญหาของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากันระหว่างคู่กรณี เราจึงต้อง FORCE ต้องกดดันให้มันมีระเบียบขึ้นมา ต้องสร้างให้เกิดกลไกภายใน ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาในสถานศึกษา ก็เพราะมุมมองต่อโลกของนักวิชาการเป็นแบบนี้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในต่างประเทศที่เคยพบเห็นมา มันมีกระบวนการแบบ BIO POWER อยู่ เราต้องสื่อสารเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับพฤติกรรมของคน เช่นนักศึกษาใหม่ต้องรู้ตั้งแต่วันปฐมนิเทศว่าหากเกิดความรุนแรงทางเพศขึ้น เขาหรือเธอจะต้องไปติดต่อหน่วยงานไหน ต้องทำอย่างไร จะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างสภามหาวิทยาลัยกับกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษา การประชาสัมพันธ์และจริงจังกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในประชาคมมหาวิทยาลัย มันไม่ได้ทำงานแค่คอยแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังทำงานในเชิงป้องกันอีกด้วย เหมือนการที่เราเห็นกล้อง CCTVแล้วไม่กล้าทำผิด
ถ้าเราสามารถสร้างความรู้สึกผิดบาปเวลาใช้แก้วพลาสติกหรือใช้หลอดได้ เราก็ต้องสร้างความรู้สึกแบบเดียวกันกับการล่วงละเมิดทางเพศคนอื่นได้เหมือนกัน
อ.เคทกล่าวว่า สังคมพร้อมจะมองผู้ที่ออกมาพูดในด้านลบเสมอ มายาคติที่มองว่าต้องมีอะไรสักอย่างของผู้ถูกกระทำที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงกับตัวเองขึ้น เป็นมายาคติที่อันตราย และเป็นการโทษว่าเป็นความผิดของเหยื่ออย่างไม่ควรมีขึ้นอีกในสังคมปัจจุบัน (Victim Blaming)
“เราต้องมองให้เห็นโครงสร้างของปัญหา เราต้องเข้าใจว่าตัวเราเองคือการผลิตซ้ำที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ เราถูกหล่อหลอมมาให้เป็นแบบนั้น แต่เธอมีทางเลือก เธอเลือกที่จะไม่ปฏิบัติกับคนอื่นแบบนั้นได้ ”