ขยายประเด็น
นวลน้อย ธรรมเสถียร
ในช่วงทำข่าวที่สามจังหวัดภาคใต้ใหม่ ๆ ผู้เขียนเคยไปที่หมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดนราธิวาสเพื่อจะสัมภาษณ์ภรรยาของคนที่โดนอุ้มหายไป
บ้านของเธออยู่บนถนนกลางหมู่บ้าน มีความกว้างขนาดรถผ่านได้คันเดียว บ้านเป็นบ้านไม้เล็ก ๆ และอยู่ในแวดวงของชุมชนที่มีบ้านอยู่ติด ๆ กันและทุกคนน่าจะรู้จักกันดี รวมทั้งผู้อยู่อาศัยน่าจะรู้สึกปลอดภัยพอสมควรเพราะบ้านอยู่ติด ๆ กัน
ก่อนพบกับเจ้าตัว นักข่าวอย่างเราก็คุยกับเพื่อนบ้านในย่านนั้นก่อนว่าสิ่งที่พวกเขาได้รับรู้คืออะไร ได้ความว่ามีกลุ่มชายในชุดดำถืออาวุธครบมือเข้าไปเคาะประตูบ้านเรียกกลางดึก หลังจากนั้นก็เอาตัวผู้เป็นสามีไปโดยที่ไม่ได้บอกกล่าวอะไรแก่ภรรยาทั้งสิ้น ชายชุดดำไม่ประกาศตัวว่าเป็นใคร ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าด่านอยู่ทั้งหัวและท้ายซอยปฎิเสธไม่รู้และไม่มีส่วน ตลอดเวลาชาวบ้านบอกเล่าเรื่องราวอย่างเรียบ ๆ แต่นัยน์ตาของพวกเขาแฝงแววหวาดกลัว
เมื่อพบกับภรรยาผู้ถูกอุ้มหาย ผู้เขียนแนะนำตัวเองพร้อมแจ้งจุดประสงค์ เธอก็รับรู้และไม่ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ แต่เมื่อเริ่มป้อนคำถามอันเป็นคำถามแบบเบา ๆ ก็ไม่ได้คำตอบ เธอนั่งเงียบ สภาพการณ์เช่นนั้นไม่เหนือความคาดหมาย นักข่าวจึงนั่งรออย่างสงบ เวลาผ่านไปเนิ่นนาน แล้วในที่สุดเธอก็เริ่มร้องไห้และร้องต่อไปเรื่อย ๆ วันนั้นนักข่าวจึงจากมาโดยที่ไม่ได้สัมภาษณ์ แต่ก็เชื่อว่าที่ได้เห็นก็ถือว่าไม่น้อยแล้ว
หลังการกราดยิงประชาชนที่กำลังละหมาดในมัสยิดที่ไอร์ปาแย นราธิวาส ซึ่งทำให้คนตาย 10 คน ผู้เขียนกับเพื่อนนักวิจัยเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อพูดคุยกับชาวบ้านที่นั่น พวกเขาต้อนรับเราด้วยความดีใจ ชวนให้กินข้าวหลังงานทำบุญ แต่ไม่มีใครกล้าพูดกับนักข่าว พวกเขาทิ้งหน้าที่นี้ไว้ให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ให้สัมภาษณ์แทนทุกคน และสิ่งที่ผู้ใหญ่บ้านพูดก็เน้นหนทางปรองดองเป็นหลัก มีคำพูดเดียวที่บอกเล่าความรู้สึกของชาวบ้าน คือการยอมรับว่าพวกเขารู้สึก การที่ชาวบ้านปล่อยให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนพูดก็บ่งบอกหลายอย่าง สิ่งที่ผู้ใหญ่บ้านไม่ได้พูดดูจะมีมากมายกว่าที่พูด และแน่นอนว่าบอกเล่าอะไรอีกหลายอย่างเช่นกัน
เหยื่อความรุนแรงหรือผู้ที่ถูกกระทำหลายคนเป็นแบบนี้ แม้จะมีบางคนที่พูดกับสื่อ แต่หลายคนเงียบงันราวไม่รับรู้เรื่องอันใด ชุมชนก็เช่นกัน แน่นอนว่าเรื่องเช่นนี้มีหลายสาเหตุ ความไม่ไว้วางใจก็มีส่วนอย่างสำคัญ แต่สำหรับคนที่ไม่พูด สาเหตุไม่ใช่เพียงเพราะความกลัวหรือไม่ไว้ใจเท่านั้น แต่ความรุนแรงทำให้คนถอยหนีจากสังคมได้ คนใกล้ตัวของเหยื่อความรุนแรงหลายคน เพิ่งจะมาปลดล็อคตัวเองได้ เมื่อมีกลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคมและนักข่าว ร่วมมือกันจัดเวิร์กชอปช่วยเหลือพวกเขาเพื่อให้ได้เรียบเรียง และบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง กระบวนการบอกเล่านั้นก็คือการปลดปล่อยปมเงื่อนในใจ ด้วยวิธีนี้ทำให้มีหนังสือหลายเล่ม ได้รับการผลิตขึ้นจากการบอกเล่าประสบการณ์ตรงของคนเหล่านั้น สิ่งที่ชัดเจนคือวิธีปลดล็อคเหล่านั้นล้วนพึ่งพาการสื่อสาร และไม่ว่าจะมีใครอ่านหนังสือเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่พวกเขาได้บอกเล่าออกมา มันเป็นการกระทำที่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการเยียวยา
คนที่บอกเล่าเรื่องราวหรือให้สัมภาษณ์หลายคนจะบอกเราว่า เขาออกมาพูดเพราะไม่อยากให้มีเรื่องทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับคนอื่น อยากให้สังคมสรุปบทเรียน การให้เหตุผลกับตัวเองแบบนี้ เชื่อว่ามันทำให้พวกเขารู้สึกว่าง่ายขึ้นในการบอกเล่าความเจ็บปวดส่วนตัว แต่ก็เท่ากับว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง พวกเขายังหวังพึ่งพาสังคมให้ช่วยนำพากันไปสู่การแก้ปัญหาหรือป้องกันปัญหา แม้ว่าในกรณีของตัวเองจะทำอะไรไม่ได้แล้วก็ตาม นั่นหมายความว่า การเยียวยาความรุนแรงที่พวกเขาประสบ เริ่มต้นที่มีการรับฟังและการช่วยเหลือจากสังคม
ดังนั้นเราจะเห็นว่าเหยื่อความไม่เป็นธรรมหรือผู้ประสบปัญหาหลายคน เห็นนักข่าวเป็นช่องทางในการเปิดเรื่องราวของพวกเขาไปสู่โลกภายนอก ไม่ใช่เพราะต้องการโด่งดังเป็นข่าว แต่การมีคนร่วมรับรู้ปัญหาเท่ากับอาจจะมีคนช่วยหาทางออกให้ หากว่าชุมชนนั้นยัง “ทำงาน” อยู่ และแน่นอนว่าสำหรับพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ นักข่าวจำนวนหนึ่งมาจากส่วนกลาง พวกเขาถูกมองเป็นตัวแทนของสังคมไทย การให้ความสนใจกับเรื่องราวของคนในพื้นที่นี้มันจึงมีนัยบ่งบอกว่าสังคมไทยให้ความสนใจกับปัญหาของพวกเขา สำหรับคนที่รู้สึกว่าตัวความรุนแรงในพื้นที่ทำให้พวกเขาตกไปอยู่ชายขอบของความเป็นไทย การที่รู้สึกว่าสังคมยังสนใจพวกเขาถือเป็นการต้อนรับและยอมรับอย่างหนึ่ง
นักข่าวเป็นคนที่งานสอนให้พวกเขาต้องรับฟังอย่างจริงจังและโดยไม่ตอบโต้ แม้ว่าจะตั้งคำถามแต่ไม่บอกปัด นี่อาจเป็นจุดที่ทำให้การรับฟังของนักข่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ของผู้ได้รับผลกระทบ สิ่งนี้มันบอกเราว่า เมื่อมีผู้คนที่มีปัญหาและรู้สึกว่าตนเองหาทางออกไม่ได้ สิ่งที่สำคัญเป็นอันดับแรก ๆ ก็คือการรับฟัง ยิ่งการรับฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจยิ่งมีความสำคัญ ส่วนเรื่องความถูกต้องหรือไม่ ถือเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบกันในลำดับถัดไป ดังนั้นสิ่งแรก ๆ ที่ชุมชนหรือสังคมจะช่วยผู้ที่มีปัญหาได้ ก็คือการรับฟังการบอกเล่าอย่างจริงจังและจริงใจ แม้ว่าสิ่งที่พวกเขาบอกเล่าอาจดูขาด ๆ วิ่น ๆ ไปบ้าง แต่นั่นเป็นเรื่องธรรมดาของคนเดือดร้อน ที่ย่อมอยู่ในภาวะลำบากต่อการเรียบเรียงความคิด ซึ่งกำลังผสมผสานไปด้วยความรู้สึกและความสับสน มันจึงเป็นหน้าที่ของคนฟังที่จะทำความเข้าใจ และมองให้ทะลุภาษาที่โกรธเกรี้ยวหรือกระท่อนกระแท่น กับการบอกเล่าที่ไม่ลื่นไหลหรือเป็นระบบ เพื่อไปให้ถึงแก่นของเรื่องราว ไม่ใช่ไปจับผิด
Cheryl Richardson บอกไว้ว่า ผู้คนจะเริ่มรู้สึกว่าได้รับการเยียวยาเมื่อพวกเขารู้สึกว่ามีคนรับฟัง
ในขณะที่อีกด้าน เราได้ยินกันมานานแล้วว่า ความรุนแรงเป็นบ่อเกิดของความรุนแรง การใช้ความรุนแรงแต่ละครั้งไม่ว่าจากฝ่ายใดจะกระตุ้นให้มีกลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อหันไปใช้ความรุนแรงเช่นกัน ประเด็นน่าสนใจสำหรับสังคมไทยคือ การรับมือความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ กับการรับมือกับการประท้วงเรียกร้องทางการเมืองที่เกิดในช่วงนี้มีแพทเทิร์นบางอย่างที่กำลังซ้ำรอยตัวเองและมีโอกาสทำให้เราตกอยู่ในวังวนของความรุนแรง ซึ่งในหมู่ผู้ศึกษาเรื่องความขัดแย้ง ถือเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง และพวกเขาเรียกมันว่า เป็นภาษาอีกภาษาหนึ่ง
มีบทเรียนที่น่าใจจากแอฟริกาใต้ที่พูดถึงเรื่องภาษาของความรุนแรง จากบทความเรื่อง Violence as a form of communication โดย Hugo van Der Merwe ซึ่งมองความพยายามในการยุติความรุนแรงและสร้างสันติภาพที่เกิดขึ้นภายหลังการยุตินโยบายเหยียดผิว มีเนื้อหาที่อาจช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงที่กำลังอยู่กับสังคมไทยและมีแนวโน้มจะมากขึ้น
แอฟริกาใต้มีประวัติการใช้นโยบายเหยียดผิวอย่างเนิ่นนานโดยผู้ปกครองที่เป็นคนขาว ทำให้มีการต่อต้านอย่างรุนแรงจากกลุ่มประชากรผิวดำนำโดยกองกำลัง ANC ซึ่งในจังหวะหนึ่งอยู่ภายใต้การนำของเนลสัน แมนเดลา การต่อสู้กับลัทธิเหยียดผิวสร้างความเสียหายอย่างหนักให้ชุมชนทั้งสองฝ่ายและทำให้ในที่สุดต้องมีการหันหน้าประนีประนอมกันซึ่งก็คือเปิดพื้นที่ทางการเมืองหันไปใช้ภาษาของการต่อรองแทน มันทำให้แอฟริกาใต้ก้าวเข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ แต่ความรุนแรงนั้นกลับทิ้งรากเหง้าบางอย่างเอาไว้ นั่นก็คือการสืบทอดวัฒนธรรมของความรุนแรงหรือ culture of violence
ผู้เขียนบอกเราว่า กลุ่มบุคคลที่เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหามักมีสองแนวทางในการต่อสู้ให้เลือก นั่นคือการเจรจาต่อรอง กับการใช้ความรุนแรง ในพื้นที่ที่ผู้คนรู้สึกว่าขาดภาษาหรือเครื่องมือที่จะต่อรองเพราะเส้นทางของการสื่อสารเช่นนั้นถูกปิด พวกเขาจะหันไปใช้ความรุนแรง ความรุนแรงจึงเป็นผลโดยตรงจากการไม่สามารถสื่อสารในการต่อรองได้
เพราะเหตุใดสังคมจึงยอมรับการใช้ความรุนแรง ส่วนหนึ่งเพราะการอยู่กับความรุนแรงนาน ๆ ทำให้เกิดความคุ้นชิน มันทำให้สังคมยอมรับว่าความรุนแรงเป็นวิธีการที่ชอบธรรมอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหา สร้าง culture of violence ซึ่งหมายถึงว่า สังคมมองว่าความรุนแรงเป็นวิถีปกติ แทนที่จะเห็นเป็นข้อยกเว้น วิธีคิดนี้ทำให้เมื่อมีการใช้ความรุนแรงจะไม่ถูกตำหนิหรือประณาม และมันทำให้การตัดสินใจว่าจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามันชอบธรรมหรือสมเหตุสมผลหรือไม่ แต่ไปขึ้นอยู่กับว่าการใช้ความรุนแรงนั้นจะได้ผลไหม ประการที่สอง มันทำให้สังคมเห็นว่า ความรุนแรงมีหน้าที่เฉพาะของมัน นั่นคือมันส่งผลในทางบวกต่อชุมชนและกลายเป็นวิถีของการสื่อสารที่ได้รับการยอมรับ คนที่มีความสามารถในการใช้ความรุนแรงก็จะได้รับการยอมรับอย่างมาก
เนื่องจากความรุนแรงส่งผลกระทบทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ดังเช่นในกรณีชุมชนของภรรยาผู้ถูกอุ้มหายในนราธิวาส มันทำให้ชุมชนมักรู้สึกว่าต้องมีมาตรการป้องกันตัว ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงตอบโต้ และกล่าวสำหรับรัฐ มันกลายเป็นการสนับสนุนมาตรการของรัฐหลาย ๆ อย่างที่ก่อให้เกิดการละเมิดประชาชนตามมาเพราะสังคมเห็นว่าเป็นความจำเป็นและเพื่อปกป้องชุมชน สังคมจึงยอมรับการใช้ความรุนแรงอย่างเป็นระบบภายใต้ความต้องการเพื่อป้องกันตัวเอง ขณะที่ในทุกสังคมมีองค์ประกอบที่สนับสนุนในเรื่องสิทธิ การเจรจาต่อรองและการประท้วงอย่างสันติ มันทำให้แนวทางทั้งสองอย่างนี้ขับเคี่ยวกันตลอดเวลาในทุกสังคม
มาร์ติน ลูเธอร์ คิงพูดเอาไว้ว่า ความรุนแรงเป็นภาษาของคนที่ไม่มีเสียง Violence is the language of the unheard. ยิ่งปิดหนทางในการสื่อสารแบบปกติมากเท่าไหร่ ก็เท่ากับกระตุ้นให้มีการสื่อสารด้วยความรุนแรงโดยกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้นหากจะเปิดทางเลือกสำหรับการใช้สันติวิธี สิ่งที่ต้องทำคือการถอดรหัสการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงที่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ผู้เขียนบทความนี้บอกว่า ความรุนแรงแบบต่อต้านรัฐมักแสดงออกเป็นสัญญลักษณ์และมีลักษณะเป็นพิธีการ เขาแนะนำให้อ่านบทความของ Centre for the Study of Violence and Reconciliation (CSVR) ของแอฟริกาใต้ที่ออกรายงานเรื่อง The smoke that calls อธิบายพฤติกรรมของผู้ประท้วงแอฟริกาใต้ที่หันไปใช้ความรุนแรง โดยบอกว่าเป็นเพราะผู้นำเพิกเฉยกับข้อเรียกร้องของพวกเขา ขณะที่การใช้ความพยายามอย่างสันติครั้งแล้วครั้งเล่าไม่ได้ผล ผู้ประท้วงได้ข้อสรุปว่าการใช้ความรุนแรงเป็นหนทางที่ชอบธรรม
ที่จริงประชาชนในแอฟริกาใต้ไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากนักเพื่อให้ได้มาซึ่งความคิดนี้ เพราะพวกเขารับมรดกมาจากวิธีคิดในการต่อต้านรัฐบาลในยุคเหยียดผิวว่าความรุนแรงทำให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ และการใช้แนวทางสันติไม่ได้ผล การใช้ความรุนแรงอย่างน้อยบีบให้มีการเจรจา ดังนั้นผู้ประท้วงในแอฟริกาใต้หันไปใช้วิธีการเดียวกันกับที่เคยมีผู้ใช้ในยุคต่อต้านการเหยียดผิว คือทำลายทรัพย์สินของรัฐบาลเพราะมันเป็นสัญญักษณ์ของความเป็นรัฐ เป็นการจงใจสร้างอุปสรรคหรือความเสียหายให้กับรัฐบาล ส่วนรัฐบาลแอฟริกาใต้เองก็หันไปใช้ “ภาษาของความรุนแรง” เช่นกันด้วยการใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้
ในแง่ของการสื่อสาร ผู้ศึกษาเรื่องภาษาของความรุนแรงบอกว่า มันเท่ากับรัฐบาลกำลังบอกประชาชนว่า การประท้วงที่ใช้ความรุนแรงจะได้รับความสนใจจากรัฐบาลมากกว่าการประท้วงที่ใช้แนวทางสันติ และส่งสัญญานอีกว่า สำหรับรัฐบาลแล้ว ผู้ประท้วงนั้น ๆ เป็นผู้เดือดร้อนจริงก็ต่อเมื่อมีการใช้ความรุนแรง ในระหว่างรัฐกับประชากรที่สนุบสนุนวิธีใช้ความรุนแรงพูดจาภาษาเดียวกัน กดทับคนที่ไม่สนับสนุนให้ต้องตกอยู่ในสภาพไร้เสียง
สิ่งสำคัญในการรับมือปัญหาการเติบโตของการใช้ความรุนแรงในบริบทนี้ ผู้เขียนบอกว่า รัฐต้องพยายามหาทางทำความเข้าใจกับแก่นของปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชนที่ประท้วง ไม่ควรบอกปัดหรือตอบโต้ด้วยอารมณ์ ต้องเรียนรู้ที่จะมองการต่อต้านหรือประท้วงทุกรูปแบบอย่างจริงจัง ไม่ใช่แสดงความสนใจเฉพาะที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น กล่าวคือวิธีการที่จะทำให้การใช้ความรุนแรงลดลง คือการส่งเสริมวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรงให้เป็นไปได้
เมื่อหันกลับมามองสังคมไทย สามจังหวัดภาคใต้ย่ำอยู่กับความรุนแรงมาสิบหกปี แม้ในยามที่สงบก็มีการใช้ความรุนแรง การละเมิดประชาชนในนามของการปราบคอมมิวนิสต์และผู้ที่ต่อต้านรัฐดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งมาถึงความขัดแย้งในช่วงสิบหกปีนี้ มีการทำลายสัญญลักษณ์ที่เป็นของรัฐและสังคมไทย ในระยะหลังแม้จะมีการเปิดพื้นที่ให้มีการต่อรอง แต่ปรากฎการณ์นี้เป็นไปอย่างจำกัดและสำหรับหลายคนดูเหมือนเน้นรูปแบบและไม่รวมเอาผู้คนในวงกว้างในบริบทของการเจรจาต่อรองที่มากไปกว่าการต่อรองของผู้เล่นบางส่วน ในขณะที่ประสบการณ์ในอดีตบอกเราว่าตัวอย่างของการใช้แนวทางการเจรจาคลี่คลายความขัดแย้งมีน้อยจนมีผู้ตั้งคำถามว่ามีหรือไม่
ตัวอย่างการสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้งอย่างในสามจังหวัดภาคใต้ และเรื่องราวของภาษาของความรุนแรงมันบอกเราอย่างชัดเจนว่าควรรับมืออย่างไรกับความขัดแย้งทั้งในสามจังหวัดภาคใต้และการชุมนุมประท้วงทางการเมือง