140 = จำนวนเตียงที่จะนะมีก่อนจะทำโรงพยาบาลสนาม
540 = จำนวนเตียงที่จะนะมีหลังเกิดโรงพยาบาล 3 แห่ง
406 = จำนวนผู้ป่วยที่กำลังรักษาของจะนะวันนี้ (10 ก.ค. 2564)
134 = จำนวนเตียงที่เหลือของอำเภอจะนะวันนี้ (10 ก.ค. 2564)
ในวันที่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศมีผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น และเตียงเต็มจนวิกฤติ คนในกรุงเทพฯ ที่มีระบบสาธารณสุขดีที่สุดก็ไม่พ้นต้องนอนรอคอยเตียงด้วยโชคชะตา แต่ทำไมจะนะ อำเภอเล็ก ๆ ในจังหวัดสงขลาที่มีจำนวนผู้ป่วยสะสมกว่า 972 คน จึงยังมีเตียงเหลือพอที่จะต่อชีวิตชาวบ้านในชุมชนและผ่อนแรงหมอ พยาบาลด่านหน้าให้สามารถจัดการกับผู้ป่วยหนัก-เบา ได้อย่างเป็นระบบ คำถามสำคัญคือที่นี่มีระบบการจัดการเตียงแตกต่างไปจากที่อื่นอย่างไร? อะไรเป็นปัจจัยหนุนเสริม?
เพราะวันนี้ “เตียง” สำคัญไม่แพ้ “วัคซีนดี ๆ” De/code จึงชวนถอดสมการกู้วิกฤติเตียงเต็มของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งอาศัยความร่วมมือสามฝ่ายคือ บ้าน โรงเรียน และโรงพยาบาล ที่เมื่ออ่านจบแล้วอาจไม่สามารถคัดลอกไปใช้ได้ทั้งหมด แต่มีบางบทเรียนที่ถอดไปใช้กับชุมชนของตัวเองได้บ้าง
วิกฤติเตียงเต็มเรื่องด่วนต้องหาทางออก
“ตอนนี้จะนะมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นทุกวันราว ๆ 30 – 40 คน จนเตียงโรงพยาบาลจะนะเองไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมดแล้ว ถ้าไม่รีบแก้ ชาวบ้านก็จะเจ็บและตายเพิ่มขึ้น”
คือความกังวลเบื้องแรกของ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ที่สะท้อน ถึงภาวะวิกฤติระดับพื้นที่ซึ่งจำเป็นต้องหาทางออกอย่างเร่งด่วน หนทางที่ นพ.สุภัทร เห็นว่าจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาก็คือการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อระบายผู้ป่วยที่อาการทุเลาหรือรุนแรงไม่มากสู่ที่พักฟื้นอื่น และรับผู้ป่วยใหม่ที่อาการหนักเข้ามาแทน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำเช่นนั้นได้ เพราะจะนะไม่ได้มีค่ายทหาร โรงแรม หรือรีสอร์ตให้ใช้ปรับเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลสนามเหมือนพื้นที่อื่น ๆ การมองหาตัวเลือกที่เหมาะสม พร้อมใช้ และเพียงพอจึงเป็นโจทย์ให้ ผอ.โรงพยาบาลจะนะต้องค้นหาคำตอบ
เมื่อมองเห็นทุนทางสังคมและความพร้อมเชิงพื้นที่ ในเวลาไม่ช้า นพ.สุภัทร จึงได้คำตอบว่าตัวเลือกพร้อมใช้ของจะนะคือ “โรงเรียน” เพราะจะนะเป็นอำเภอที่มีโรงเรียนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาหรือที่เรียก “โรงเรียนปอเนาะ” เช่นที่ นพ.สุภัทร ให้ความเห็นว่า
“โรงเรียนเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพราะมีรั้วรอบขอบชิด มีห้องน้ำเพียงพอ มีพื้นที่กว้างขวางสำหรับเป็นที่พัก”
นับเป็นความน่ายินดีที่แนวคิดดังกล่าวพ้องต้องกันกับความตั้งใจของ ดร.มันซูร หมะเต๊ะ ผู้บริหารโรงเรียนสันติวิทย์ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวเเรงนำชาวบ้านในชุมชนเปลี่ยนโรงเรียนตาดีกาเป็นศูนย์กักชุมชน ศูนย์กักชุมชนแห่งแรกของอำเภอจะนะจึงเกิดขึ้นที่โรงเรียนตาดีกาท่าชะมวง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลสนามอีกแห่ง) ด้วยเงินทุนบริจาคของชาวบ้านและครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาที่เพียงพอต่อการซื้อเบาะนอนมาจัดเป็นเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดได้ถึง 80 เตียง ต่อมาศูนย์กักชุมชนแห่งที่ 2 เกิดขึ้นที่โรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา รับผู้ป่วยได้ 33 เตียง และตามมาด้วยโรงพยาบาลสนามแห่งแรกที่โรงเรียนจะนะวิทยา ซึ่งรองรับผู้ป่วยได้ 120 เตียง
ภาพจาก ริฟาอี บินหะยีคอเนาะ
แม้เมื่อรวมกับเตียงของโรงพยาบาลจะนะเองแล้ว อำเภอจะนะจะมีเตียงถึง 353 เตียง แต่นั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาโรงพยาบาลสนามแห่งที่สอง คือโรงเรียนศาสนบำรุง ที่รองรับผู้ป่วยได้ถึง 200 เตียง จึงเกิดขึ้นอีกแห่งด้วยแนวคิดพลิกวิกฤติเป็นโอกาสของ “บาบอฮุสณี บินหะยีคอเนาะ” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เปาะซู” เจ้าของโรงเรียนศาสนบำรุง
“ผมยื่นมือมาแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลเพราะเห็นโอกาสในวิกฤติ อาคารเรียนที่สละให้ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามขณะนี้นั้นจริง ๆ แล้วผมสร้างขึ้นมาบนความตั้งใจที่จะรับใช้สังคม แต่ที่ผ่านมาจะนะไม่ได้เผชิญกับวิกฤติหนัก ๆ ที่ถึงขึ้นต้องพึ่งพิงโรงเรียน อาคารเรียนดังกล่าวจึงไม่ถูกใช้สมกับที่ตั้งใจเสียที มาหนนี้โควิดมันเป็นวิกฤติจริง ๆ นี่จึงเป็นโอกาสที่จะได้ใช้มันเพื่อสังคมจริง ๆ”
คำกล่าวของบาบอฮุสณีสะท้อนถึงความเต็มใจของเอกชนที่จะยื่นมือมาร่วมกับโรงพยาบาลรัฐ เมื่อกำลังเสริมมีมากพอแล้ว ขั้นต่อไปคือระบบการจัดการโรงพยาบาลสนามที่ต้องทำออกมาให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาศัยการสื่อสารและจัดวางคนให้ถูกกับบทบาทเป็นสำคัญ
บ้าน+โรงเรียน+โรงพยาบาล = ผ่อนแรงหมอ ต่อชีวิตชุมชน
เช่นที่กล่าวไปแล้วว่าสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการหาที่ตั้งคือการวางระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ สำหรับพื้นที่อื่นอาจเห็นภาพการจัดการระหว่างรัฐกับชุมชน แต่สำหรับโรงพยาบาลสนามจะนะแล้วเป็นความร่วมมือแบบยกกำลังสาม ประกอบด้วยรัฐ ชุมชน และเอกชนที่จับมือทำกันไปพร้อม ๆ
รัฐที่ว่าก็คือโรงพยาบาล ซึ่ง นพ.สุภัทร ระบุว่าในระบบการจัดการ โรงพยาบาลจะนะมีบทบาทหลักในเรื่องของการจัดหาหยูกยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการเฝ้าตรวจอาการผู้ป่วย โดยจัดสรรแพทย์หนึ่งคนพร้อมกับพยาบาลหกคน ให้รับผิดชอบดูแลต่อหนึ่งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งพยาบาลเหล่านั้นจะทำหน้าที่เป็นข้อต่อในการประสานงานระหว่างโรงพยาบาลจะนะกับโรงพยาบาลสนาม สิ่งใดขาดเหลือหรือมีใครอาการหนักเบาก็จะส่งต่อข้อมูลให้ทราบกันตลอด
ภาพจาก รีฟาอี บินหะยีคอเนาะ
ภาพจาก รีฟาอี บินหะยีคอเนาะ
ด้านชุมชนซึ่งก็คือชาวบ้านอำเภอจะนะ จริง ๆ แล้วทำหน้าที่กันหลายบทบาทมาก ตั้งแต่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เป็นแหล่งทุนบริจาคสำหรับซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ไปจนถึงเป็นการสนับสนุนเรื่องอาหาร ซึ่งแต่ละวันจะสลับสับเปลี่ยนทำอาหารอร่อย ๆ มาให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม
“ทุก ๆ วันจะมีสิ่งของและอาหารบริจาคทั้งจากคนในอำเภอและคนพื้นที่อื่น บ้างก็ให้ตังค์ บ้างก็ทำขนมมาให้ บางวันคนจองคิวบริจาคมาเยอะจนเราต้องจำกัดเพราะของจะล้นและเหลือไม่อยากให้สูญเปล่า พักหลังมาก็ต้องจำกัดจำนวนในแต่ละวัน”
คือคำบอกเล่าจากพี่โยตัน หัวหน้า อสม. ประจำโรงพยาบาลสนามโรงเรียนศาสนบำรุง ซึ่งนอกจากช่วยดูแลและจัดเตรียมสิ่งของให้ผู้ป่วยแล้ว พี่โยตันยังบอกอีกว่าตนและเพื่อน ๆ อสม. จะเดินสำรวจความเสี่ยงของชาวบ้านในเขตของตนเกือบทุกวัน พร้อมกันก็จะมีคนที่คอยประจำเป็นเสมือน call center รับสายชาวบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น คนที่มีความเสี่ยงแต่ไร้ที่กัก ทีมพี่โยตันก็จะช่วยประสานงานหาที่ให้ได้กักตัว เมื่อถามว่าทำงานเชิงรุกและคลุกคลีกับผู้คนจำนวนมากแล้วไม่กลัวว่าตัวเองจะเสี่ยงบ้างหรือ พี่โยตันก็เผยว่า
“นาทีนี้ยังไงเราก็ต้องเป็นด่านหน้าคล้าย ๆ หน่วยกล้าตาย แต่ไม่ใช่ไม่ระวังตัวนะ อสม.ทุกคนระวังกันสุด ๆ เช็กตัวเองทุกวัน อะไรที่ป้องกันได้เราก็ไม่ทิ้ง เพราะคิดว่าถ้าทีม อสม. ป่วย กำลังที่จะช่วยต่อสู้กับโควิดก็จะหายไป”
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Sahroh Hajikonoh (ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนบำรุง)
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Sahroh Hajikonoh (ผู้อำนวยการโรงเรียนศาสนบำรุง)
ส่วนเอกชนก็คือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ทำหน้าที่สำคัญในการเอื้อเฟื้อสถานที่สำหรับตั้งโรงพยาบาลสนาม ช่วยอำนวยความสะดวกให้ อสม. และแพทย์ พยาบาล รวมไปถึงรักษาความปลอดภัยและจัดการเรื่องอาหารเช่นที่เปาะซูเล่าว่า
“เรื่องความปลอดภัยหายห่วงได้เพราะทางวิทยาลัยสันติวิทย์ส่งนักเรียนชายมาช่วยดูแลอยู่นอกรั้ว ส่วนเรื่องอาหารเราทำแบบยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือเราจะไม่ตั้งโรงครัวในโรงเรียน แต่จะติดต่อซื้ออาหารจากพ่อค้าแม่ขายในชุมชน ทำเช่นนี้เราได้ทั้งอาหารให้ผู้ป่วย และได้ช่วยคนในชุมชนให้มีรายได้ด้วย”
ผลจากความร่วมมือของบ้าน โรงเรียน และโรงพยาบาลดังกล่าว เป็นประโยชน์ต่อคนอย่างน้อยสามกลุ่ม หนึ่งคือช่วยคนที่ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงให้มีเตียงได้นอนพักฟื้น สอง ช่วยลดความเสี่ยงให้คนที่ยังไม่ติดเชื้อ เพราะเมื่อแยกปลาออกจากน้ำแล้ว ปลาที่เหลือก็จะปลอดภัยมากขึ้น สุดท้ายคือช่วยผ่อนแรงให้กับโรงพยาบาล
ฝ่าสามด่านด้วยการสื่อสารความจริง(ใจ)
อย่างไรก็ดีถ้ามองเพียงผิวเผินอาจดูเหมือนว่าความร่วมมือสามฝ่ายจะโรยด้วยกลีบกุหลาบไร้อุปสรรค แต่ความจริงแล้วกว่าจะตั้งโรงพยาบาลสนามสักแห่งขึ้นมาได้ก็มีด่านท้าทายให้หาทางฝ่าไปอยู่บ้าง ความท้าทายหลัก ๆ มีอยู่ 3 ด่าน ได้แก่ ความกลัวของชาวบ้าน เงื่อนไขที่ต้องเจรจา และการประสานความร่วมมือกับภาครัฐ
ด่านแรกคือความกังวลใจของชาวบ้าน บาบอฮุสณี เล่าว่าตอนจะเปลี่ยนโรงเรียนเป็นโรงพยาบาลสนาม ชาวบ้านในชุมชนก็คัดค้านเพราะต่างกังวลใจว่าเชื้อจะแพร่มาสู่พวกเขาได้ แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริง เพราะโรงพยาบาลสนามที่จะตั้งนั้นมีระบบการจัดการและควบคุมเชื้ออย่างดีเสมือนโรงพยาบาลจริง ๆ เชื้อจึงไม่มีทางแพร่ไปสู่คนรายรอบโรงเรียนแน่นอน โดยเปรียบให้เห็นว่าที่ผ่านมาไม่มีเลยว่าโรงพยาบาลไหนจะกลายเป็นคลัสเตอร์ คนป่วยโควิดจะแพร่เชื้อไปสู่ผู้ป่วยทั่วไปในอาคารหรือชั้นอื่น ซึ่งความเข้าใจที่ถูกต้องข้างต้น บาบอฮุสณีสื่อสารด้วยการพูดคุยกับคนในชุมชนผ่านทั้งการประชุมคล้าย ๆ ทำประชาคม พร้อมทั้งทำวิดีโอเผยแพร่บนยูทูบและเฟซบุ๊กด้วยอีกต่อหนึ่ง ผลคือชาวบ้านเข้าใจ วางใจ และร่วมใจให้เกิดโรงพยาบาลสนามขึ้นมา
นพ.สุภัทร เเละ บาบอฮุสณี (ภาพจาก ริฟาอี บินหะยีคอเนาะ)
ด่านที่สองคือเงื่อนไขของชาวบ้านและโรงเรียน แม้จะยอมให้ตั้งโรงพยาบาลสนามได้ แต่ชาวบ้านและโรงเรียนก็มีเงื่อนไขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวเอง อย่างโรงพยาบาลสนามโรงเรียนจะนะวิทยาซึ่งตั้งในตำบลสะกอม ชาวสะกอมก็เสนอว่าถ้าคนในตำบลติดเชื้อโควิด โรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะต้องมีเตียงให้นอน ขณะที่โรงพยาบาลสนามโรงเรียนศาสนบำรุง บาบอฮุสณีก็เสนอต่อ นพ.สุภัทร ว่าตนนั้นยินดีเปลี่ยนโรงเรียนเป็นโรงพยาบาลแต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น โรงเรียนอื่นเปิดทำการสอนได้ โรงเรียนศาสนบำรุงก็ต้องกลับมาสอนได้ทันอย่างปลอดภัย ต่อเงื่อนไขข้างต้น นพ.สุภัทร ระบุว่า ตนก็ใช้วิธีการพูดคุยกับอีกฝ่าย มีทั้งคุยแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการที่ใช้มิติความสัมพันธ์
หัวใจสำคัญอยู่ที่การพูดคุยกัน โดยเฉพาะพูดคุยแบบไม่เป็นทางการใช้มิติความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือความเห็นออกเห็นใจเข้าหา เพราะโรคโควิดใคร ๆ ก็กลัว ถ้าพ่นแต่ข้อมูลที่เป็นทางการให้ชาวบ้านฟัง อาจแข็งทื่อและชวนให้เขาหวาดระแวงมากขึ้นก็ได้
น่าสนใจว่าเมื่อมองพ้นไปยังสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่ความเป็นปัจเจกสูง การหันหน้าพูดคุยกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ อาจเป็นสิ่งที่ยังขาดอยู่ ซึ่งจำเป็นต้องทำให้มีมากขึ้น ประชาชนต้องไม่หยุดส่งเสียง ขณะเดียวกันฝ่ายอื่น ๆ ก็ต้องฟังและสื่อสารกับคนในพื้นที่อย่างจริงจังและจริงใจ
ภาพจาก ริฟาอี บินหะยีคอเนาะ
ด่านสุดท้ายคือการประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ด้วยระบบระเบียบของรัฐราชการไทยนั้นค่อนข้างจะยุ่งยากและล่าช้า การตั้งโรงพยาบาลสนามซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนจึงต้องวางระเบียบบางอย่างลงเพื่อให้การจัดการเป็นไปอย่างคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีความขัดแย้งที่ไม่ตั้งใจเกิดขึ้นระหว่างหน่วยงานปกครองกับโรงพยาบาลสนามโรงเรียนศาสนบำรุง ฝ่ายหลังระบุว่านายอำเภอไม่เซ็นรับรองการตั้งโรงเรียน ศาสนบำรุงเป็นโรงพยาบาลสนาม ทั้งที่ได้รับการรับรองจากสาธารณสุขจังหวัดมาก่อนหน้าแล้ว ต่อมาในภายหลังความขัดแย้งก็คลี่คลาย เมื่อต่างฝ่ายหันหน้ามาพูดคุยจนเกิดความเข้าใจกัน และนายอำเภอก็ได้ออกประกาศรับรองการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามโรงเรียนศาสนบำรุง ช่วยให้การดำเนินการต่าง ๆ มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
“ทุนทางสังคม” คำตอบของก้าวแรก
อาจพอเห็นภาพกันบ้างแล้วในเบื้องต้นว่าความสำเร็จในการแก้วิกฤติเตียงเต็มก้าวแรกของอำเภอจะนะนั้นอยู่ที่ความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เป็นหลัก แต่ถ้าพูดให้ชัดขึ้นอีกหน่อยว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จคืออะไร ก็คงต้องตอบว่า “ทุนทางสังคมที่พรั่งพร้อม” ซึ่งสั่งสมมาตั้งแต่อดีต
ทุนทางสังคมแรกคือพลังชาวบ้านที่รวมกันเข้มแข็งมาตั้งแต่ 20 ปีก่อน เพราะต้องต่อสู้เพื่อชุมชนกันมาหลายครั้งหลายหน ตั้งแต่การรวมกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างท่อก๊าซ ตามมาด้วยพลังคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ และปัจจุบันก็ยังเกาะกลุ่มกันต่อต้านโครงการนิคมอุตสาหกรรม ล้วนมีส่วนสร้างพลังแห่งความร่วมมือให้เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับภัยเดือดร้อน เสมือนว่าเป็นเมืองที่สร้างเม็ดเลือดขาวขึ้นมาดักจับและต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม ในวิกฤติโควิดจึงเห็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือของชาวจะนะโดยไม่ต้องบังคับฝืนใจให้ทำ
ทุนทางสังคมประการที่สองคือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เนื่องด้วยจะนะนั้นแต่เดิมเป็นเมืองแห่งการศึกษาทางศาสนามาก่อนซึ่งมรดกดังกล่าวตกทอดมาถึงปัจจุบันในนามของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลาซึ่งมีโรงเรียนเครือข่ายที่สังกัดร่วมถึง 85 โรงเรียน เฉพาะในอำเภอจะนะมีมากถึง 25 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในชุมชน ผูกพันกับชาวบ้าน เป็นทั้งที่พึ่งทางความรู้ จิตวิญญาณ และศูนย์กลางของความร่วมมือต่าง ๆ ในภาวะโควิดจึงเห็นว่าโรงเรียนเอกชนศาสนาทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางให้ชาวบ้านได้พึ่งพิงได้เป็นอย่างดี
ทุนทางสังคมอีกประการซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างหมอศาสนาหรือบาบอ โต๊ะครู กับหมอรักษาร่างกาย หรือบุคลากรทางการแพทย์ เพราะที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายต่างทำงานช่วยเหลือกันมาโดยตลอด เมื่อเจอภาวะวิกฤติแม้ต่างฝ่ายต่างสะดุดล้มแต่ก็ลุกขึ้นจับมือและพาชุมชนให้รอดไปด้วยกันได้
ภาพจาก ริฟาอี บินหะยีคอเนาะ
“งบและแรงจากรัฐ” อีกคำตอบที่ท้องถิ่นต้องการ
แม้ทุนทางสังคมจะมีสูงและเข้มแข็งแต่นั่นก็ช่วยได้ในการเริ่มต้นและการจัดการระยะแรก ๆ และถ้าดูสถานการณ์โรคโควิดจะเห็นว่ายังคงวิกฤติไปอีกสักระยะ โรงพยาบาลสนามจึงต้องพึ่งพางบและแรงหนุนจากภาครัฐมาหนุนหลัง เช่นที่อาจารย์อับดุลสุโกร์ ดินอะ รองประธานสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้ย้ำว่าเงินทุนจากชาวบ้านนั้นอาจช่วยได้ในระยะแรก ๆ แต่ในระยะยาวจำเป็นต้องพึ่งพางบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ
อับดุลสุโกร์ ดินอะ (ภาพจาก zin studio)
ทั้งนี้หากพลิกดูเอกสารแนวทางการดำเนินการและใช้จ่ายงบประมาณ กรณีการตั้งโรงพยาบาลสนามระดับพื้นที่ ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยแล้ว จะพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ต้องสนับสนุนการจัดตั้งและจัดการโรงพยาบาลสนามในสามเรื่องหลัก เรื่องแรกคือสถานที่ โดยให้จัดการตั้งแต่การหาสถานที่ ๆ เหมาะสมเพื่อดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลสนาม ถ้าสถานที่ของรัฐพร้อมก็ให้ใช้ของรัฐก่อน แต่ถ้าไม่มีก็ให้ประสานงานกับเอกชน เช่น โรงแรม โรงเรียน เพื่อขอใช้หรือขอเช่าเป็นโรงพยาบาลสนามได้ ส่วนค่าใช้จ่ายในการฆ่าเชื้อ ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ก็ให้รับผิดชอบด้วย เรื่องที่สองคืออุปกรณ์ โดยต้องจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการจัดการ เช่น เครื่องพ่นยา เวชภัณฑ์ เครื่องช่วยหายใจ ให้เพียงพอต่อโรงพยาบาลสนามนั้น ๆ สุดท้ายคือการอุดหนุนและดูแลเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล ต้องอุดหนุนตั้งแต่ค่าเดินทางในการไปปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนาม และค่าอาหารวันละ 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน 50 บาทต่อคน ซึ่งค่าอาหารนี้การอุดหนุนให้แก่ผู้ป่วยก็ให้ทำเช่นเดียวกัน
แน่นอนว่าการจัดการทั้งสามเรื่องดังกล่าวต้องพึ่งงบประมาณพอสมควร แต่นั่นก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำได้ โดยเบื้องแรกกำหนดให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลาง ประเภทสำรองจ่าย ถ้าไม่พอก็ให้ควักเงินสะสมมาใช้ และถ้าไม่พออีกก็ให้หันไปใช้เงินทุนสำรองเงินสะสมมาใช้
หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติตามแนวทางข้างต้นอย่างเคร่งครัด ก็จะสามารถจัดวางตัวเองอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของผู้หนุนหลังได้อย่างสมบูรณ์ เป็นเฟืองตัวสำคัญอีกตัวที่จะช่วยให้ทุนทางสังคมขยับต่อไปได้ ซึ่งส่งผลเป็นทอด ๆ ต่อการเคลื่อนที่แบบไม่ชะงักของระบบโรงพยาบาลสนามด้วยนั่นเอง
ภาพจาก ริฟาอี บินหะยีคอเนาะ
ท้ายที่สุดเสียงสะท้อนจากผู้ที่เข้าไปสัมผัสกับระบบการจัดการของโรงพยาบาลสนามโดยตรงนั้นคงเป็นเสียงที่ยืนยันถึงความสำเร็จก้าวแรกได้ดีที่สุด วิลดาน เจ๊ะจาโรจน์ ซึ่งติดเชื้อโควิดพร้อมกับคนในครอบครัว และเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามโรงเรียนจะนะวิทยาอยู่ขณะนี้กล่าวว่าตนเองรู้สึกขอบคุณพี่น้องชาวจะนะทุกภาคส่วนที่ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยให้มีเตียงเพียงพอ พร้อมทั้งชื่นชมว่าระบบการจัดการของโรงพยาบาลสนามนั้นดี ตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่า ติดเชื้อก็ได้ย้ายมานอนเตียงในโรงพยาบาล เรื่องอาหาร เรื่องความสะอาด ก็แทบไม่มีปัญหา ถึงตอนนี้กักตัวในโรงพยาบาลสนามมาเกือบ 21 วันแล้ว ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้คนป่วยใหม่ต้องรอเตียง เพราะจะนะยังมีเตียงพอ
เเม้กล่าวได้ไม่เต็มปากว่าจะนะนั้นชนะแล้วในการรักษาผู้ป่วยโควิด แต่คงกล่าวได้ว่าคนจะนะและภาคส่วนต่าง ๆ ในจะนะได้ขยับไปข้างหน้าแล้วอย่างน้อยหนึ่งก้าว พื้นที่อื่น ๆ อาจมีทุนทางสังคมที่แตกต่างออกไป แต่การนำทุนทางสังคมเชิงพื้นที่มาใช้พร้อม ๆ กับการพูดคุยกันอย่างเข้าอกเข้าใจคือบทเรียนของอำเภอจะนะที่คิดว่าพื้นที่ไหน ๆ ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ ตอนนี้การสู้ยิบตาคนเดียว กลุ่มเดียว อาจไม่สามารถต้านทานแรงกระทบจากโรคโควิด-19 ได้พอ เพราะแรงสะเทือนของมันขยายกว้าง จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน