ความงามเป็นสิ่งที่มนุษย์หลายคนใฝ่ฝัน บางคนเกิดมาพร้อมกับความงามตามอุดมคติของสังคม แต่บางคนก็ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความงามตามอุดมคติของสังคม มันก็เลยต้องหาตัวช่วยที่ทำให้พวกเขาสวยตามอุดมคติของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการศัลยกรรม หรือเครื่องสำอาง เครื่องสำอางเป็นสิ่งแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึงเมื่อต้องการที่จะเพิ่มความสวยของตัวเอง แต่เบื้องลึกเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นเครื่องสำอาง
De/code ได้คุยกับ ศาสตราจารย์ดร.ภญ.วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางและเภสัชภัณฑ์ทางผิวหนัง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้มีความรู้เกี่ยวกับการทดสอบเครื่องสำอางไม่ว่าจะในสัตว์หรือการทดสอบในเซลล์ เป็นต้น ในช่วงบ่าย ๆ วันนี้ท้องฟ้าครึ้มราวกับฝนจะตก เราได้พูดคุยกับอาจารย์เกี่ยวกับหนังสั้นเรื่อง Save Ralph และศูนย์วิจัยจำลองในจินตนาการของเรา
Save Ralph หนังสั้นที่สะท้อนถึงความโหดร้ายของการทดลองกับสัตว์
หนังสั้นเรื่อง “Save Ralph” เป็นเรื่องราวของราล์ฟ ซึ่งเป็นกระต่ายทดลอง ตาขวาบอด หูขวาแทบไม่ได้ยินอะไรเลย ได้ยินแต่เสียงอี๊ และหลังเขาก็เป็นแผลอักเสบ เนื้อเรื่องข้างไหนเต็มไปด้วยความโหดร้ายของการทดลองสัตว์อย่างกระต่าย มันเหมือนชีวิตในเรื่องราล์ฟ ครอบครัว และเพื่อนของเขา ต้องเจอแต่ความโหดร้ายนี้เพียงเพราะว่ามนุษย์สูงส่งกว่าพวกเขา
หลังจากอาจารย์ดูจบ อาจารย์ได้บอกถึงความรู้สึกหลังดูจบ “ก็รู้สึกว่า เรื่องของการใช้กระต่ายมาเป็นสัตว์ทดลองเป็นเรื่องถกเถียงกันมานานแล้ว มันไม่ใช่มาเริ่มตอนวิดีโออันนี้ แต่มีการพูดกันมาตั้งแต่ปีประมาณ 2000 ได้แล้วให้หาวิธีอื่นทดแทนการเอากระต่ายมาทำการทดลอง หลายประเทศเขาก็จะแบน โดยเฉพาะการทดลองสัตว์ทดลอง เช่น กระต่าย ดังนั้นเครื่องสำอางที่ส่งออกจะไม่มีการทดลองในสัตว์ทดลองเช่นกระต่าย หนังเรื่องนี้อาจสร้างให้มันดูดราม่านิด ๆ เพื่อแบบจุดประกายความตื่นตัวกับสังคม แต่ก็ยังมีบางประเทศที่ไม่ได้แบนเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด อย่างเช่นประเทศไทยเอง ก็ยังใช้การทดลองในสัตว์ทดลองกับเครื่องสำอาง เช่นการขอมาตรฐาน มอก.”
หอกาลเวลา
เมื่อเราดูหนังเรื่อง “Save Ralph” จบแล้ว เราก็ได้พาอาจารย์ไปที่หอกาลเวลาของศูนย์วิจัยของเรา หอกาลเวลานี้จะเต็มไปด้วยประวัติการทดสอบเครื่องสำอางไม่ว่าจะด้วยสัตว์หรือสิ่งอื่น ๆ ของศูนย์วิจัยของเรา โดยเริ่มจากปัจจุบัน อนาคต และอดีต
ปัจจุบัน
“ในทางยาเรายังมีการใช้สัตว์ทดลองอยู่ แต่อย่างในผลิตภัณฑ์ที่เราหลีกเลี่ยงได้ อย่างเช่น เครื่องสำอาง เราก็ใช้วิธีการอื่นมาทดแทน สารเคมีทางเครื่องสำอางที่ใช้เขารู้อยู่แล้วว่าไม่เกิดอันตรายต่อร่างกาย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะไปทำการทดสอบกับสัตว์ทดลอง ควรจะหาเอาวิธีการทดลองที่ไม่จำเป็นต้องใช้สัตว์มาทดลองก็ได้ เช่น มีคนเสนอว่าอาจทำการทดลองกับพวกเซลล์หรือว่าเนื้อเยื่อที่เลี้ยงขึ้นมา โดยเอาสารที่เราจะใช้ในการทดสอบนั้นใส่ลงไปในเซลล์ แล้วก็ดูว่า เซลล์นั้นยังสามารถดำรงชีวิตได้อยู่หรือเปล่า เช่น ถ้าคุณต้องการดูการระคายเคืองที่ตา เขาก็เอาเนื้อเยื่อของตาจากมนุษย์ หรือว่าเป็นเซลล์ตาจากกระต่ายที่เสียชีวิตแล้ว เอาเซลล์มาเลี้ยงได้ แล้วก็ลองทดสอบหยดสารที่มีความเข้มข้นสูงและต่ำลงไปแล้วดูว่าเซลล์ยังมีชีวิตอยู่ได้หรือเปล่า อันนี้ก็เป็นการทดสอบเบื้องต้น ซึ่งใช้อนุมานได้ เช่น ผลเป็นลบทั้งสองความเข้มข้น แสดงว่าไม่ระคายเคือง แล้วผลเป็นบวกทั้งสองความเข้มข้น แสดงว่าระคายเคือง เป็นต้น ซึ่งหลายคนก็ยอมรับ หลายคนก็ไม่ยอมรับ แต่วิธีมาตรฐานก็ยังทำการทดลองในกระต่ายอยู่”
อนาคต
“ในทางเครื่องสำอางถามว่าไม่จำเป็นเลยใช่ไหม ก็อาจจะไม่ 100% อาจมีเครื่องสำอางบางประเภท อาจจำเป็นต้องใช้สัตว์ทดลองบ้างในกรณีที่อาจจะเป็นเครื่องสำอางที่อาจเข้าไปในตาโดยตรงหรือบริเวณใกล้เคียง ที่จำเป็นต้องทำการทดสอบการระคายเคืองในตาของสัตว์ทดลอง โดยเฉพาะกระต่ายยังเป็นวิธีมาตรฐานอยู่ อย่างไรก็ตามหากจำเป็นต้องทดลองในสัตว์ วิธีการจะต้องไม่ทำให้สัตว์เกิดความทรมานในขณะทดลอง”
อดีต
“หากดูในข้อกำหนดของสำนักมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) วิธีการทดสอบการระคายเคืองเพื่อให้ได้ตราสัญลักษณ์ มอก. ก็ยังใช้กระต่ายอยู่ อย่างเช่น สบู่สมุนไพร หรือว่าครีมล้างหน้า เพราะฉะนั้นอาจจะมีบางคนที่ต้องการตรา มอก. ซึ่งจำเป็นต้องทดลองตามมาตรฐาน มอก. แต่การทดสอบแบบนี้ไม่สามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ เพราะหลายประเทศไม่ยอมรับเครื่องสำอางที่ทำการทดสอบในสัตว์ อย่างไรก็ตาม ทาง อย. หรือทาง FDA ไทย ส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนับสนุนเรื่องการใช้สัตว์ทดลอง เพราะฉะนั้นสองหน่วยงานนี้ก็อาจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง”
อนุสาวรีย์กระต่ายทดลองแห่งศูนย์วิจัย
เราได้เดินจากหอกาลเวลาเดินต่อไปที่อนุสาวรีย์กระต่ายทดลองของศูนย์วิจัย ตอนนี้เราก็เดินทางมาถึงแล้ว แต่ทำไมกระต่ายทดลองถึงได้เป็นอนุสาวรีย์ที่นี่ แต่เมื่อเราได้มองเห็นถึงห้องทดลองที่ใกล้กับอนุสาวรีย์ เราก็ไม่ค่อยพบกับสัตว์อื่นที่เขานำมาทดลอง มันมีความคิดในหัวเรามากมายว่า ทำไมกระต่ายถึงต้องมาเป็นเหยื่อทดลอง ทำไมต้องมาเป็นต้องยอมเสียสละเพื่อความงามของมนุษย์ และทำไมต้องเป็นกระต่ายที่ต้องโชคร้าย
“เครื่องสำอางส่วนใหญ่ไม่ได้ทดสอบประสิทธิภาพในสัตว์ทดลอง แต่ใช้สัตว์ทดลองเพื่อประเมินเรื่องการระคายเคืองเป็นหลัก สาเหตุที่เลือกกระต่าย เพราะเพาะพันธุ์ได้ง่าย โตไว สัตว์อื่น เช่น หนู ตัวเล็ก ๆ ก็เพาะพันธุ์ได้ง่ายเหมือนกัน แต่ไม่ใช้หนู เพราะหนูมีพื้นที่แผ่นหลังเล็ก เมื่อเทียบกับกระต่าย ซึ่งมีพื้นที่ใหญ่กว่า จึงสะดวกในการสังเกตผลได้ดีกว่า และก็ตาของกระต่ายเอง ก็มีขนาดโตกว่าสัตว์อื่น ๆ ดังนั้นมันก็จะเห็นผลได้ง่ายกว่า เพราะฉะนั้นการทำการทดสอบการระคายเคือง ก็เลยนิยมใช้กระต่ายเป็นสัตว์ทดลอง”
เมื่อความจริงปรากฏ
อี๊…..(เสียงเหมือนกับที่ราล์ฟได้ยินในหู)
เสียงดังไปทั่วศูนย์วิจัย ดูเหมือนลำโพงจะเสีย แต่เสียงที่จะเริ่มเปิดเผยความจริงที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ก็ดังขึ้นมา
ความจริงที่01: จะไม่ทดลองกับสัตว์หลายครั้ง
หลังจากที่เราได้ดูหนังเรื่อง Save Ralph ด้วยการบาดเจ็บจากการทดลองไม่ว่าจะเป็นตาขวาบอด หูไม่ค่อยได้ยินอะไร ได้ยินแต่เสียงอี๊ และแผ่นหลังที่โดนสารเคมีหยดจนเป็นแผลอักเสบ เราก็สงสัยว่าการทดลองมันโหดร้ายกับสัตว์เกินไปมั้ย แล้วในความจริงสัตว์ต้องโดนทดลองเยอะขนาดนี้เลยเหรอ แต่เราก็ได้พบความจริงว่า
“อันนี้จะอธิบายว่าวิธีทำการทดลองในสัตว์ทดลอง โดยปกติแล้วจะทดลองเมื่อมีความจำเป็น และมีการควบคุม โดยมีกรรมการที่เรียกว่า กรรมการจริยธรรมการวิจัยในสัตว์ทดลอง ซึ่งต้องประเมินก่อนว่า การทดลองนั้นปลอดภัยต่อสัตว์ทดลองมั้ย มีการทรมานสัตว์มั้ย ก่อนที่จะอนุญาตให้ทำการทดลองในสัตว์ได้ นอกจากนั้น ขณะทำการทดลอง หากสัตว์เกิดการทรมาน เจ็บปวดมาก ก็จะให้ยุติการทดลอง และโดยส่วนใหญ่จะไม่ใช้สัตว์ทดลองซ้ำ ๆ เนื่องจากสารหรือยาที่ทดลองครั้งแรกอาจเกิดยาที่ตกค้างอยู่มันอาจจะทำให้เราแปรผลผิดในการทดลองครั้งต่อไปก็ได้
อย่างไรก็ตามอาจมีการใช้สัตว์ทดลองซ้ำ ๆ บ้าง ในกรณีที่การทดลองนั้นไม่ได้เกิดอันตรายกับสัตว์เลย และสัตว์ทดลองไม่มีอันตรายอะไรเลย เขาจะอนุญาตนำสัตว์มาใช้ซ้ำได้อีก หรืออย่างในกรณีที่สารที่ใช้ในการทดลองมันไม่ได้เกิดการระคายเคืองต่อสัตว์ ไม่มีการสะสมในร่างกาย เขาก็จะปล่อยให้สัตว์อยู่ไปสักพัก เพื่อกำจัดพวกสารทดสอบต่าง ๆ ออกจากร่างกายสัตว์ก่อนแล้วจึงนำมาใช้อีกครั้งเพื่อเป็นการประหยัด คือ พูดง่าย ๆ มันจะไม่มีการทรมานสัตว์ทดลองเหมือนที่เห็นในหนัง”
ความจริงที่02: เป็นสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อการทดลองโดยเฉพาะเพื่อใช้ทำการทดสอบ
นอกจากนั้นยังมีฉากที่ราล์ฟบอกว่า “หากไม่นำเรามาทดลอง เราก็คงได้ไปวิ่งที่ทุ่งหญ้า” ประโยคนี้มันก็ทำให้เราสงสัยว่าสามารถนำสัตว์จากที่ไหนก็ได้มาทำการทดลองเลยเหรอ เราเลยได้รับความจริงว่า
“โดยทั่วไปสัตว์ที่เอามาใช้ทำการทดลองจะเป็นสัตว์ที่มีการเลี้ยงโดยเฉพาะ จากศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ทดลอง ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เราไปจับกระต่ายจากตรงนั้นตรงนี้มาใช้ เพราะว่ามันก็อาจจะแปรผลผิด”
ความจริงที่03: หากเป็นเอกชนอาจทำการทดลองได้เอง
จริง ๆ แล้วความสงสัยสุดท้ายของเราอาจไม่มีในหนังเรื่อง Save Ralph แต่ด้วยความสงสัยของเราที่ว่า ถ้าเป็นเอกชนจำเป็นต้องขออนุญาตในการใช้สัตว์ทดลองมั้ย หรือจะมีหน่วยงานไหนมาควบคุมมั้ย แต่เราก็ได้พบความจริงว่า
“เอกชนเขาดำเนินการเอง คือเรียกว่า In House Study อาจไม่ได้ขออนุญาตผ่านกรรมการสัตว์ทดลอง เพราะว่าไม่มีคนควบคุม หรือหน่วยงานไปควบคุมดูแลขั้นตอนการวิจัยของเขา”
ความจริงสุดท้าย: ศูนย์วิจัยนี้ไม่มีจริงอยู่บนโลก
ก่อนที่อาจารย์จะวางสาย อาจารย์ได้พูดทิ้งท้ายว่า “ในกรณีที่บริษัทเอกชนที่ต้องการทำการทดลองในเซลล์ แต่ไม่มีเซตอุปกรณ์เครื่องมือหรือห้องวิจัย ก็สามารถส่งผลิตภัณฑ์มาทดสอบที่ศูนย์ทดสอบเครื่องสำอางของคณะเภสัชฯ ม.มหิดลได้ เราก็จะบริการวิชาการทางและให้คำปรึกษาด้านนี้อยู่ และรับการทดสอบอยู่ด้วยราคาที่เป็นกันเอง”
หนังเรื่อง Save Ralph อาจไม่มีอยู่จริงอยู่บนโลกนี้ และบางส่วนที่อาจไม่เป็นความจริง แต่เนื้อหาใน Save Ralph อาจช่วยกระตุ้นเตือนการไม่นำสัตว์มาใช้เพื่อการทดลองที่ไม่จำเป็น เราก็เลยอยากให้ทุกคนลองมองไปในก้นบึ้งจิตใจของราล์ฟว่า ถ้าราล์ฟเป็นคนมันจะเป็นยังไง
เมื่อราล์ฟเปรียบเสมือนมนุษย์
ราล์ฟจะดูเป็นคนที่ไม่ค่อยอยากโต้แย้งเท่าไหร่ ลึก ๆ ในใจของราล์ฟอาจจะรู้สึกว่า สิ่งที่ทำอยู่มันก็ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องเปลี่ยนแปลง แต่จะเห็นได้ชัดว่ามีบางฉากที่ราล์ฟน้ำตาซึม แล้วพยายามไม่ร้องไห้ ตัวละครราล์ฟคล้ายกับคนที่ทำเหมือนทุกอย่างบนโลกโอเค แต่จริง ๆ แล้วมันอาจจะไม่ใช่ จะเห็นได้อีกฉากหนึ่งที่เพื่อนของราล์ฟขอความช่วยเหลือจากตากล้อง แต่ราล์ฟก็ได้ห้ามไว้ แล้วบอกว่า “ช่วยตัดฉากนี้ออกหน่อย” มันแสดงให้เห็นว่าราล์ฟพยายามลบสิ่งที่มันแย่ และนึกแต่สิ่งที่มันควรเป็น ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้มีความสุขและเก็บความรู้สึกไว้ในใจ ทำได้แค่เพียงรอวันที่เขาจะตายจากการทดลองอันแสนทารุณนี้
มีสัตว์มากมายที่ต้องตาย เพราะความต้องการที่จะสวยตามอุดมคติของมนุษย์ มนุษย์ได้เสพความสุขจากความงาม แต่สัตว์ที่ตายไปได้สูญเสียคุณค่าของชีวิต และถูกเลือนหายไปตามกาลเวลา เพียงเพราะว่าพวกเขาด้อยค่ากว่าในความคิดของมนุษย์