ถึง...ความตายที่คลุมเครือจากบันทึก ‘ป้าทองศรี’ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ความรู้สึกของการสูญเสียคนรักที่ไม่ได้ร่ำลา สำหรับป้ามันตื้อตันไปหมด พูดก็ไม่ได้ เข้าไปเยี่ยมก็ไม่ได้ แค่มองเห็นกันในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตยังทำไม่ได้เลย วันเดียวที่ไปหา…วันสุดท้ายก่อนแกตาย เราทำได้เพียงแค่จับแขนบอกให้แกอดทนนะ ‘เดี๋ยวเธอก็ฟื้น’ ป้าพูดได้แค่นี้ จากวินาทีนั้นป้ากับลุงก็ไม่ได้พูดร่ำลาอะไรกันอีกเลย”

เรื่องราวการเสียชีวิตของทอง  รื่นเริง ที่เกิดขึ้นหลังจากการไปฉีดวัคซีน 4 วัน โดยแพทย์ลงความเห็นว่าเสียชีวิตจาก ‘สภาวะหัวใจล้มเหลว’ เรื่องราวความเป็นมาจะเป็นอย่างไร ชวนไปฟังจากถ้อยคำของทองศรี  พิกุล ภรรยาผู้อยู่เคียงข้างลุงทอง จนถึงก่อนวันสุดท้ายที่เขาสิ้นลมหายใจ

ก่อนการสูญเสีย

ทองศรี  พิกุล อายุ 62 ปี อาชีพแม่บ้านบริษัท ภูมิลำเนาเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ ย้ายเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยสาวๆ จนเมื่อราว 4-5 ปีที่ผ่านมา ทองศรีได้พบรักกับลุงทอง อาศัยอยู่ด้วยกันในบ้าน ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านมั่นคงสร้างสรรค์พัฒนา หลังที่ทำการเขตคลองเตย 

ชาย-หญิงคู่นี้กำลังวางแผนที่จดทะเบียนสมรสกัน แต่ฝันนั้นมลายหาย เมื่อลุงทองสิ้นลมหายใจไปอย่างปัจจุบันทันด่วน เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ใบมรณบัตรระบุสาเหตุการตายว่า “สภาวะหัวใจล้มเหลว”

ชีวิตของลุงทองก่อนการเสียชีวิตนั้น เดิมทีเขาเป็นพนักงานขับรถให้ผู้บริหาร ลุงทองอายุ 59 ปี มีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน ความดัน แต่ก่อนเสียชีวิตลุงทองยังคงทำงานปกติ ไม่มีวี่แววสัญญาณเตือนจากความตาย มาเคาะประตูบอกกล่าวล่วงหน้า

บ้านที่ทองศรีและลุงทองอาศัยอยู่นั้น มีน้องสาวของทองศรีและหลานชายของแกอาศัยอยู่ด้วยกัน ทั้ง 4 ชีวิตล้วนเป็นคนหาเช้ากินค่ำ แต่ปฏิบัติตัวดูแลตัวเองอย่างดี ไม่มีใครในบ้านติดเชื้อโควิด แม้พวกเขาจะอยู่ในพื้นที่สีแดง ส่วนเหตุผลในการเข้ารับการฉีดวัคซีน ทองศรีบอกกับเราว่า

“ได้รับข่าวประกาศการฉีดวัคซีนจากหัวหน้าชุมชน เขาบอกว่าใครอยากฉีดวัคซีน ก็ให้มาตรวจเชื้อโควิดก่อน พอผลตรวจออกมาไม่มีเชื้อ อีกหนึ่งสัปดาห์เราถึงได้ไปฉีด”

เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้น หลังจากที่ทั้ง 2 ตัดสินใจไปฉีดวัคซีน โดยยี่ห้อวัคซีนที่ทั้งคู่ได้รับนั้นคือ ซิโนแวค (Sinovac) ภายใต้ความสงสัยของทองศรีและญาติ ว่าการตายของลุงทอง มันเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนด้วยหรือไม่?

บันทึก-ช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย

“ป้านั่งแท็กซี่ไป เราไปฉีดกันที่วัดคลองเตยใน ป้าลงแท็กซี่แล้วเดินเข้าไป เจ้าหน้าที่เขาให้ลงชื่อ ข้างในที่ฉีดวัคซีนร้อนพอสมควร”

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 17 พ.ค. 64 ช่วงบ่าย เมื่อทองศรีกับลุงทองไปถึงสถานที่ฉีดวัคซีนแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ให้ทั้งสองนั่งรอประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงเรียกเข้าไป

“ก่อนฉีดเขาให้วัดความดัน เจ้าหน้าที่เขาถามลุงว่า ‘ทำไมชีพจรลุงเต้นเร็วจัง ลุงร้อนรึเปล่า’ ลุงตอบกลับไปว่า ‘นั่งแท็กซี่มา เดินเข้ามาข้างในนี้ก็ร้อนอยู่เหมือนกัน’ เขาเลยให้ลุงนั่งรอสักพัก”

ในตอนนั้นทองศรีเองไม่ได้รู้สึกว่าจะเกิดเรื่องร้ายอะไร เธอเชื่อในคำวินิจฉัยของหมอ ซึ่งทางลุงทองก็แจ้งโรคประจำตัวไปแล้ว เธอคิดว่าลุงทองน่าจะฉีดวัคซีนได้ไม่ติดขัดอะไร

“ตอนนั้นเจ้าหน้าที่เขาไม่มั่นใจ เลยให้ไปหาหมอใหญ่ หมอใหญ่เขานั่งอยู่อีกมุมหนึ่ง หมอใหญ่จับชีพจร เขาประเมินว่าฉีดได้ ลุงเลยได้ฉีดวัคซีน สักพักลุงก็เดินถือเอกสารกลับมาหาป้า”

ยารักษาโรคประจำตัวของลุงทอง (ทอง รื่นเริง)

หลังจากทั้งคู่ได้รับการฉีดวัคซีน ทางเจ้าหน้าที่ให้ทั้ง 2 นั่งพักอีกครึ่งชั่วโมงเพื่อดูอาการ ปรากฏว่าทั้งทองศรีและลุงทองไม่มีอาการผลข้างเคียง ทางเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ทั้ง 2 ว่า “ให้กินน้ำเยอะ ๆ พักผ่อนเยอะ ๆ”  จากนั้นทั้งคู่จึงนั่งรถแท็กซี่กลับบ้าน

“พอถึงบ้าน ลุงแกขอไปอาบน้ำ ป้าก็ถามว่า ‘ทำไมแกอาบน้ำไวจัง’ ลุงตอบกลับมาว่า ‘มันร้อน ร้อนมาก’ จากนั้นตัวแกเริ่มรุม ๆ เหงื่อเริ่มออก เรายังบอกแกต่อเลยว่า ‘ร้อนอะไร ตัวเย็นเฉียบขนาดนี้’” 

17 พ.ค. 64 ช่วงเวลาเย็น ในขณะที่ลุงทองมีอาการทรุดลงหลังฉีดวัคซีน แต่ทองศรีมีเพียงอาการปากแห้ง คอแห้ง น้ำลายเหนียวเท่านั้น

เมื่อราตรีกาลมาเยือนลุงทองนอนพักอยู่บริเวณชั้นล่างของบ้านกับทองศรี จากนั้นเริ่มมีอาการไข้หวัดและเริ่มไอ อาการไอดูเหมือนจะไม่หยุดลง  ลุงทองนอนพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านในวันที่ 18 พ.ค. จนกระทั่งเวลา 8.00 น. ของวันที่ 19 พ.ค.

“พอรุ่งเช้าแกไอหนักขึ้น มันเป็นเลือดติดออกมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีอาการแบบนี้ พอเราเห็นไอหนักขนาดนั้น เลยบอกเขาไปว่า ‘เธอไม่ไหวแล้วไปหาหมอดีกว่า’ ป้าก็พาลุงไปหาหมอ”

ณ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ที่ลุงทองมีสิทธิประกันสังคมอยู่ หมอได้ทำการตรวจและจ่ายยา แก้ไอ แก้ปวดเมื่อย แก้แพ้มาให้ หลังจากนั้นก็บอกให้ลุงกลับมาพักที่บ้าน

“ตอนที่ลุงเข้าไปหาหมอ ป้าไม่ได้เข้าไปด้วยนะ เลยไม่รู้ว่าลุงแกได้บอกหมอรึเปล่าว่าไปฉีดวัคซีนมา แต่ก่อนเข้าไปป้าบอกลุงว่า ต้องบอกหมอนะว่าเราไปฉีดวัคซีนมา”

ช่วงเวลาเที่ยงวันของวันที่ 19 พ.ค. 64 ณ บ้านของทองศรี ลุงทองกินยาตามที่หมอสั่ง แต่อาการดูเหมือนไม่ดีขึ้น ลุงทองยังคงตัวร้อนและไอออกมาเป็นเลือด เมื่อไอมากๆ ก็เริ่มเหนื่อย  ด้วยแกร้อนจึงไปอาบน้ำอีกรอบ พออาบน้ำเสร็จยังไม่ทันได้ใส่เสื้อผ้า ทองศรีเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า

“ลุงเขาเรียกป้า บอกให้มาช่วยกดอกให้หน่อย เหมือนมีอะไรสักอย่างมันดันหัวใจ ทำให้แกหายใจไม่ออก ตอนนั้นรีบเรียกมอเตอร์ไซต์ของเพื่อนบ้าน ช่วยกันเอาแกขึ้นคร่อมมอเตอร์ไซต์ ป้ารีบซ้อนมอเตอร์ไซต์ไปกับลุง”

ที่นอนของทองศรีและลุงทอง บริเวณติดกับประตูบ้าน

ช่วงบ่ายของวันที่ 19 พ.ค. ณ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท โรงพยาบาลแจ้งว่าลุงทอง มีอาการแทรกซ้อนของเบาหวาน ความดัน และสภาวะหัวใจล้มเหลว ณ ขณะนี้ลุงทองเริ่มไม่ได้สติแล้ว จึงต้องรีบนำตัวเข้าห้อง ICU

“เจ้าหน้าที่เข้ามาบอกว่า ‘เป็นญาติลุงทองใช่ไหม’ เราก็บอกว่า ‘ใช่’ เขาก็บอกต่อว่า ‘ลุงอาการแย่มากนะเข้าขั้นวิกฤต’”

จากนั้นหมอได้นำแผ่นเอกซเรย์ของลุงทองมาให้ทองศรีดู หมอบอกว่าอวัยวะข้างในของลุงเป็นฝ้าขาว ทองศรีเองไม่รู้ศัพท์ทางการแพทย์มากนัก รู้เพียงว่าหลังจากนั้น ลุงทองต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และพาลุงทองไปอยู่ในห้องชั้น 3 จนกระทั่งถึงเวลา 18.00 น. ทองศรีได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมลุงทอง

“พอเข้าไปถึงลุงสะกิดให้ป้าช่วยจับนู้นจับนี่ให้ แกคงรำคาญที่มีอะไรมาพันรอบตัว และเขาก็ยังผูกมือแกไว้ คงกลัวดึงเครื่องช่วยหายใจออก ตอนนั้นป้าปลอบใจลุงว่า ‘เธอต้องไม่เอาเครื่องออกนะ หมอเขากำลังช่วยให้เธอหายใจได้อยู่ เธอเอาออกไม่ได้นะ เดี๋ยวตาย!’ ป้าก็พูดแบบเด็กๆ บอกให้เขาใจเย็นๆ ปลอบใจเขา

เราได้แต่จับมือเขาไว้ ก่อนกลับป้าบอกลุงว่า ‘เดี๋ยวไปอาบน้ำก่อน แล้วจะกลับมาหา’ ”

“เดี๋ยวไปอาบน้ำก่อน แล้วจะกลับมาหานะ” คือคำร่ำลาสุดท้ายที่ทองศรีมีโอกาสบอกลุงทอง เพราะหลังจากก้าวขาออกจากประตูห้องของลุงทองครั้งนั้น ทองศรีไม่มีโอกาสได้ก้าวเข้าไปเพื่อบอกกล่าว คำร่ำลาอื่นๆ อีกเลย

“ตกดึกโรงพยาบาลโทรมาบอกว่า ลุงกำลังปั๊มหัวใจนะ เราคิดในใจฉิบหายเอ๊ย! ทำไมมันถึงต้องเป็นแบบนี้วะ”

วันรุ่งขึ้น (20 พ.ค. 64) ทองศรีโทรศัพท์ไปสอบถามทางโรงพยาบาลได้ความว่า ลุงทองยังไม่ฟื้น แต่ชีพจรเต้นขึ้นมาหลังปั๊มหัวใจ “เขาแจ้งว่าถ้ามีอะไรจะโทรไปหา พอช่วงเช้าของอีกวัน (21 พ.ค. 64) เขาก็โทรมาบอกว่าลุงไปแล้วนะ” วินาทีนั้นทองศรีไม่สามารถบรรยายถ้อยคำอะไรออกมาได้ 

พระเครื่องของลุงทอง ของดูต่างหน้าที่ทองศรียังคงเก็บรักษาไว้

(ทิ้ง)ใบนัดเข็มสอง “ไม่กล้าไปฉีดแล้ว”

“เราตั้งใจจะทำอะไรหลาย ๆ อย่างด้วยกัน สุดท้ายไม่ได้ทำด้วยกันเสียแล้ว ตอนที่โรงพยาบาลโทรมาแจ้งข่าวการจากไป ป้าไม่รู้นะมันคือความรู้สึกอะไร มันบอกไม่ถูก มันไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าเลย แทบไม่ได้ร่ำลากันเลย สิ่งที่ทำได้เพียงเข้าไปจับแขนลุงครั้งนั้นครั้งสุดท้าย”

ก่อนหน้านี้ทองศรีเน้นย้ำเสมอว่า ลุงทองเป็นคนแข็งแรงดี สามารถทำงานได้ปกติ  

“ใบนัดที่ให้เราไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ป้าคิดว่าไม่กล้าไปฉีดแล้ว ผัวตายไปแล้ว เรากลัวนะสามีเรามาตายแบบนี้ เราขาดความมั่นใจระแวงไปหมด”

หลังการตายศพของลุงทองถูกเคลื่อนย้ายเพื่อไปทำพิธีกรรมทางศาสนา ที่จังหวัดร้อยเอ็ดบ้านเกิดของลุงทอง  เราถามถึงเรื่องการชันสูตรหาสาเหตุการเสียชีวิตของลุงทอง ทองศรีบอกว่า

“เราอยากให้เขาชันสูตรศพ แต่เหมือนเขาโมโหเราแล้วบอกว่า ‘มันต้องยื่นเรื่อง 3 วัน รอตำรวจมาตรวจ มีหลายขั้นตอน’ เราเลยบอกญาติไปว่า ‘ช่างมันเถอะ ลุงก็ตายไปแล้ว’ เรารู้สึกน้อยใจ ไม่รู้จะทำอย่างไรนอกจากร้องไห้ออกมา”

ทองศรีเพิ่งกลับมาจากการจัดงานศพลุงทองวันที่ 28 พ.ค. ณ ตอนนี้เธอเฝ้ารอความช่วยเหลือจากรัฐที่ยังริบหรี่อยู่ ชีวิตของทองศรีต้องดำเนินต่อ แม้ในวันที่ไร้ลุงทองเคียงข้าง วันจันทร์ที่จะถึงนี้ทองศรีต้องกลับไปทำงานอีกครั้ง เพราะปากท้องไม่รอคอยคำว่ากำลังใจ และความพร้อมทางสภาพจิตใจของเธอ

“เราไม่ได้ติดใจสาเหตุการตายของลุงนะ แต่ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐมาช่วยเยียวยาบ้าง  เรื่องเงินชดเชยจากรัฐไม่รู้อะไรเลย เห็นมีคนโทรเข้ามาถามรายละเอียด แต่ไม่รู้ว่าจะช่วยได้แค่ไหน รออยู่ว่าจะได้รับการเยียวยาอย่างไร เรามันคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำ จะมีปัญญาไปยื่นร้องเรียนเอาอะไรกับเขา”

ทองศรี  พิกุล

สถานะบนความไม่แน่นอนของเงินเยียวยา

ในกรณีของลุงทอง โอกาสที่จะได้รับเงินเยียวยา ตามราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรื่อง เงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 400,000 บาท ของผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้น อยู่ในสถานะไม่แน่นอนว่าจะได้เงินเยียวยาหรือไม่

เหตุใดถึงไม่แน่นอน เราชวนตุ้ม – อินทิรา วิทยสมบูรณ์ จิตอาสาภาคประชาชน ตัวแทนกลุ่ม Covid19Matching ที่ทำงานในพื้นที่เขตคลองเตยช่วงโควิดระบาดระลอกนี้ โดยเป็นสื่อกลางช่วยประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย และผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ลุงทองเป็นหนึ่งในเคสที่อินทิรา อาสาเข้ามาช่วยประสานงานให้ 

“กรณีของลุงทอง มีการส่งเรื่องเข้ามาผ่านทางแกนนำชุมชน ตอนที่เรารู้เรื่องคือเขาเสียชีวิต มีการแจ้งว่ารพ. ออกใบมรณะบัตรเรียบร้อยแล้ว กระบวนการที่มาถึงเรามาถึงจุดที่ต้องเลือกว่าเราจะจัดการอย่างไรต่อ”

อินทิราอธิบายว่ากรณีของลุงทองนั้น เข้าถึงหน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือได้ล่าช้า จึงทำให้การจัดการศพไม่เป็นไปตามกระบวนการ

“หลังจากลุงทองเสียชีวิตทราบว่า ป้าทองศรีเองแจ้งทางเขตไปแล้ว แต่เหมือนจะติดช่วงวันหยุดจึงไม่ได้มีการดำเนินการต่อ เกิดช่องว่างของเวลา แกไม่รู้จะทำอย่างไรต่อเลยแจ้งกู้ภัยให้ช่วยขนย้ายศพ  และพาศพเดินทางจาก กทม. ไปร้อยเอ็ด 

“พอไปถึงร้อยเอ็ดมีการแจ้งท้องที่ให้ทราบ เข้าใจว่าท้องที่คงไม่ได้สืบสวนหรือว่าคุยลงลึก เขาคิดว่าเสียชีวิตจากใบมรณะบัตรว่าหัวใจล้มเหลว เลยอนุญาตให้มีการจัดพิธีศพได้ 

“จริง ๆ แล้วการเคลื่อนย้ายศพของลุงทองถือว่ามีความผิด โดยปกติการเคลื่อนย้ายศพ ในกรณีการเสียชีวิตที่เราสงสัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิดอยู่หรือไม่นั่น ไม่สามารถเคลื่อนย้ายศพเองได้ มันต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการ มีคนพาศพออกและเผาทันที” 

เหตุผลที่อินทิราบอกว่า มีความสงสัยติดเชื้อโควิดเพราะว่า มันมีหลายเคสในคลองเตยที่ตรวจรอบแรกไม่เจอว่าติดเชื้อ แต่มาตรวจซ้ำแล้วเจอว่ามีเชื้อ 

รวมทั้งหากเราย้อนไปถึงอาการก่อนเสียชีวิตของลุงทองที่มีไข้ ไอ และหายใจลำบาก ก็ถือว่าเข้าข่ายอาการของโควิด ดังนั้นกรณีของลุงทองจึงมีความคลุมเครือเรื่องสาเหตุการตายค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องโรคประจำตัว ผลข้างเคียงจากวัคซีน รวมทั้งการติดเชื้อโควิด แต่เมื่อทำการเผาศพไปแล้ว การหาข้อเท็จจริงมาพิสูจน์จึงทำได้ยากยิ่ง

“ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับลุงทอง ครอบครัวเลือกที่จะเผาศพไปแล้ว ทำให้เสียรูปคดีของการที่จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยา ในขณะเดียวกันเราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น เรามีการคุยกับทาง สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เพื่อจะบอกเขาว่าสถานการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้น

“คำถามสำคัญคือ ข้อมูลที่ทาง สปสช. ยืนยันมาไม่ว่าจะเป็น การเคลื่อนย้ายศพผิดกฎหมาย การที่จะต้องมีการสอบสวนโรคก่อนเยียวยา ถามว่าข้อมูลเหล่านี้ประชาชนรู้มากน้อยแค่ไหน มีกี่คนรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร”

สิ่งที่อินทิราพยายามจะอธิบายคือ การที่ภาครัฐออกนโยบายออกมา โดยไม่ได้คำนึงถึงว่านโยบาย มาตรการต่างๆ นั้น สามารถเข้าถึงคนได้ทุกคนจริงหรือไม่ ? เพราะอย่างในกรณีของลุงทอง เรื่องการเคลื่อนย้ายศพ หรือเงินเยียวยา ผู้นำชุมชนเองยังไม่ทราบข้อมูลเลย

“เท่ากับว่าจริง ๆ แล้ว สิ่งที่รัฐคาดหวังว่าประชาชนจะรู้ ประชาชนแทบไม่รู้เลย”

“มันเกิดจากช่องว่างที่รัฐทำให้มันเกิด และช่องว่างเหล่านี้มันทำให้คนเข้าไม่ถึงข้อมูล  ทั้งช่องทางของการเข้าใจข้อมูลก็ดี หรือมาตรการเยียวยาก็ดี  มันมีความผิดพลาดของระบบที่เราเห็น 

“ดังนั้นพอระบบมีปัญหา จึงไม่สามารถปฏิเสธการเยียวยาเคสนี้ได้ เพราะจริงๆแล้ว เขาควรต้องเข้าสู่กระบวนการเยียวยา เพียงแต่ว่าจะเยียวยาแบบไหนเป็นโจทย์ที่ สปสช. ต้องรับไปคุย”

เมื่อความผิดพลาดครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ในเคสของลุงทอง อินทิราช่วยประสานงานกับทาง สปสช. ให้กับทองศรีแล้ว ซึ่งตอนนี้ทางสปสช. ได้รับเอกสารหลักฐานต่างๆ แล้วเช่นกัน 

“แต่ถามว่าพอส่งให้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะเยียวยาหรือไม่เยียวยา มันจะต้องมีกระบวนการในการจัดการอีกหลายขั้นตอน  ซึ่งแน่นอนว่าการจัดการหนึ่งในนั้นที่มันหายไปแล้ว คือการจัดการผ่านศพ พอไม่สามารถจัดการผ่านศพได้ เราต้องไปจัดการผ่านทาง รพ.  

“ต้องเข้าใจอย่างนี้ รพ.หลายๆ แห่งพยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือคนไข้ แต่ตอนนี้ต้องบอกว่า รพ. ภาระหน้างานเขาเยอะมาก มันอาจไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้สมบูรณ์ ซึ่งอย่างกรณีนี้เป็น รพ.เอกชน เราไม่มั่นใจว่าเขาจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน”

หากการตายของลุงทอง คือปลายเหตุของเรื่องที่เกิดขึ้น เมื่อมองย้อนกลับไปที่ต้นเหตุ ลุงทองอาจไม่เสียชีวิต หากรู้ว่าตัวเองควรทำอย่างไรเมื่อเกิดอาการดังกล่าวหลังฉีดวัคซีน  และหลังจากการตาย ทองศรีคงไม่เคลื่อนย้ายศพโดยพลการ หากรู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรกับศพ ซึ่งปัญหาทั้ง 2 นี้ รัฐมีมาตรการออกมารองรับแล้ว เพียงแต่การสื่อสารเรื่องดังกล่าว เสียงมันไม่เคยไปถึงประชาชน มันเกิดช่องว่างระหว่างการสื่อสารของรัฐกับประชาชน ตามที่อินทิรากล่าว

“คุณต้องไปออกแบบการสื่อสารใหม่ ปัญหาระบบของรัฐคือมันไม่ได้เชื่อมโยง ไม่เชื่อมโยงกันและกันในหน่วยงานรัฐก็เรื่องหนึ่ง แต่ข้อมูลมันไม่ไหลเข้าหาผู้คนที่มีความหลากหลาย มันดันเลือกใช้วิธีการเข้าถึงข้อมูลเพียงไม่กี่แบบ และมันก็ exclude คนที่หลากหลายออก

รัฐต้องทำงานเชิงรุกกับท้องถิ่น กับแกนนำแต่ละพื้นที่ เพราะเขารู้จักคนในพื้นที่ดีที่สุด ให้เขาเป็นคนช่วยกระจายข่าวสารของรัฐ หรือแม้กระทั่งการมีเอกสารบางอย่างที่ไปติดจริง ๆ ในพื้นที่ รัฐอย่าคาดหวังว่าออนไลน์จะทำหน้าที่ทุกอย่างได้ “ดังนั้นเราคิดว่าทุกเคสที่เกิดขึ้น เราสามารถทำงานกับคนได้กลุ่มหนึ่ง แต่เราไม่สามารถช้อนคนทุกคนเข้ามาได้ ด้วยศักยภาพของเรา ตอนนี้ยังมีคนอีกมากมายที่ตกหล่น และถูกทอดทิ้งจากระบบ คนเหล่านี้มีโอกาสเหมือนเคสของลุงทองกับป้าทองศรี  ที่กำลังรอการเยียวยาอยู่แต่มันเข้าไม่ถึง”

สุดท้ายเรื่องราวของ ลุงทอง-ทองศรี ในฐานะประชาชนคนหนึ่งทองศรีก็อยากให้ภาครัฐ บริหารจัดการวิกฤตให้ดีขึ้นกว่านี้ “อย่ามาแลกชีวิตของคนด้วยวิธีแบบนี้” เธอกล่าวกับเราในฐานะผู้สูญเสียคนหนึ่ง ที่ไม่มีโอกาสแม้ได้ร่ำลากับคนรักของเธอ  

“ความรู้สึกของการสูญเสียคนรักที่ไม่ได้ร่ำลา สำหรับป้ามันตื้นตันไปหมด พูดก็ไม่ได้ เข้าไปเยี่ยมก็ไม่ได้ แค่มองเห็นกันในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตยังทำไม่ได้เลย วันเดียวที่ไปหาวันสุดท้ายก่อนแกตาย เราทำได้เพียงแค่จับแขนบอกให้แกอดทนนะ ‘เดี๋ยวเธอก็ฟื้น’ ป้าได้พูดแค่นี้ จากวินาทีนั้นป้ากับลุงไม่ได้พูดร่ำลาอะไรกันอีกเลย 

“ถ้าเรามีโอกาสได้คุยกับเขาครั้งสุดท้าย เราอยากบอกเขาว่า เธอไม่ต้องไปคิดว่าใครทำให้เธอตาย ให้คิดซะว่าเธอมีบุญแค่นี้แล้วกัน ขอให้ไปภพภูมิที่ดีไม่ต้องคิดอะไร อยากบอกเขาอย่างนี้ แต่คงบอกไม่ได้”