-เสียงจากคนข้างนอก- (คอมเมนต์จาก Facebook)
“ส่งกลับประเทศมันไปให้หมดพวกสร้างปัญหา”
“สร้างแต่ความฉิบหาย”
“ปัญหาเยอะก้อส่งแม่งกลับประเทศมันไปเลย”
“มึงจะมาอยู่บ้านเมืองกูทำไม ประเทศมึงเขาก็ไม่รับกลับ”
ในวันที่แรงงานข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้างต้องเผชิญกับการหลบอยู่ในแคมป์-รอดจากการอดตาย-ซ่อน-ย้ายจากมาตรการของรัฐ
พวกเขาคือแรงงานในระบบทุนนิยมระดับล่างสุด ค่าแรงขั้นต่ำรายวัน ที่อยู่อาศัยตามแต่นายจ้างจะจัดสรร ถูกคนในสังคมบางส่วนมองว่า เป็นงานกรรมกรไร้ฝีมือ บางคนถึงขั้นรังเกียจมิอยากเข้าใกล้
แต่สิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมานั้น ไม่มากก็น้อยพวกเราทุกคน ล้วนได้รับประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น รถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า ทางด่วน คอนโดมิเนียม พวกเราใช้ชีวิตสุขสบายบนหยาดเหงื่อแรงกายของพวกเขา ในช่วงเวลาปกติเขาคือกลุ่มคนไร้เสียง แทบไม่มีใครมาสนใจชีวิตสวัสดิการความเป็นอยู่
แต่ในห้วงเวลาวิกฤต สังคมก็กลับมาให้ความสนใจ แต่เป็นความสนใจในเชิงอคติ หรือไม่ก็เป็นความสนใจที่กลัวสิ่งที่เกิดขึ้นในแคมป์คนงานก่อสร้างนั้น จะส่งผลกระทบมาถึงตนเอง
การระบาดของโควิดในแคมป์คนงานก่อสร้าง ณ ขณะนี้ อาจถูกแทนที่ด้วยเรื่องอื่นในสังคม แต่วิกฤตยังไม่จบ ชีวิตของพวกเขาต้องดิ้นรนต่อไป เกิดอะไรขึ้นหลังกำแพงสังกะสีแคมป์ที่พักของพวกเขา ผมกำลังต่อสายสนทนาเพื่อพูดคุยกับซอมิน หนึ่งในแรงงานข้ามชาติแคมป์ก่อสร้าง ที่กำลังอยู่ในช่วงกักตัวรอผลตรวจโควิด
เสียงจากซอมิน-ในวันที่ต้องหลบ อยู่ในแคมป์ก่อสร้าง
“ตอนนี้เขาให้อยู่แต่ข้างในครับ เขาบอกออกมาข้างนอกไม่ได้”
คำกล่าวของซอมินอายุ 33 ปี เขาเดินทางมาจากเมืองเชียงตุงประเทศพม่า เข้ามาทำงานที่ประเทศไทยได้ 6 ปีแล้ว โดยปัจจุบันซอมินรับผิดชอบงานก่อสร้างห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งใน กทม. ที่คาดว่าจะสามารถเปิดทำการได้ปลายปีนี้ แคมป์คนงานที่ซอมินอยู่มีเพื่อนร่วมชายคาทั้งสิ้น 500 คน
“บางห้องก็นอน 2 คน บางห้องก็ได้นอนคนเดียว ผมก็ไม่รู้นะโควิดมันมาจากไหน ก็กลัวเหมือนกัน ที่นี่คนอยู่รวมกันเยอะ อาบน้ำใช้ห้องน้ำร่วมกัน กลัวมากแต่พยายามดูแลตัวเองให้ดีที่สุด”
ซอมินถือว่าเป็นแรงงานข้ามชาติที่พอสื่อสารภาษาไทยได้ เนื่องจากอาศัยช่วงเวลาวันหยุด ไปเรียนภาษาไทยที่วัดแห่งหนึ่งเปิดสอน ชีวิตประจำวันของซอมินเขาจะตื่นแต่เช้า เพื่อเดินไปทำงานตอนเวลา 8 โมง และเลิกงานอีกทีตอน 5 โมงเย็น โดยได้รับค่าแรงรายวันวันละ 300 บาท แต่ตอนนี้ซอมินไม่ได้ทำงานมา 1 สัปดาห์แล้ว เพราะในแคมป์มีผู้ติดเชื้อโควิด
“ไม่ได้ทำงานมา 4-5 วันแล้ว เขาปิดเพราะโควิดในแคมป์มีคนติดประมาณ 5 คน พาส่งไปโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว ยังดีเขาจ่ายค่าจ้างให้อยู่ 7 ชั่วโมงต่อวัน แต่เดี๋ยวพรุ่งนี้(23 พ.ค. 64) ก็รู้แล้วครับว่าใครติดใครไม่ติด เขาให้ผมตรวจแล้ว”
ในช่วงเวลากักตัว บริษัทจะมีมาม่าข้าวสารให้ รวมทั้งซอมินบอกว่าภายในแคมป์จะมีร้านอาหารไว้คอยให้บริการ ในส่วนของการดูแลตัวเอง และชีวิตในแคมป์ก่อสร้าง ซอมินก็บอกกับเราว่า
“ใส่แมสตลอดเวลา ต้องใส่ 2 ชั้นเลยครับเพราะผมกลัวมาก บริษัทก็บอกให้คนงานอยู่ข้างในห้องกันหมด ออกไปข้างนอกไม่ได้เลย ตอนนี้ข้างในเงียบมากเขาไม่ให้เสียงดัง ตอนกลางวันร้อนมาก ทนมาหนึ่งอาทิตย์แล้ว ช่วงกลางวันทนไม่ไหวก็เดินออกมา คุยกับเพื่อนๆ คนอื่นว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง”
เมื่อถามซอมินว่ารู้สึกอย่างไรที่ผลตรวจจะออกพรุ่งนี้แล้ว ซอมินตอบกลับมาว่า “ตื่นเต้นมาก ๆ ถ้าติดขึ้นมาก็ไม่รู้จะทำไง(หัวเราะ)จะทำไงได้ละครับ แต่ถ้าผลตรวจออกแล้วได้ออกไปข้างนอก ก็กลัวคนอื่นเขาจะรังเกียจเราเหมือนกัน”
“ถ้าผลตรวจออกมาแล้ว สิ่งที่อยากทำมากที่สุดตอนนี้คืออะไร” ผมถามซอมิน
“โทรหาที่บ้านครับ ลูกเมียผมอยู่ที่พม่าคิดถึงมากๆ คิดถึงตลอดเวลาเลย ทำได้แค่โทรหากันอาทิตย์ละครั้ง ตอนนี้ก็ห่วงครอบครัวที่พม่า โควิดที่นั่นก็ระบาดเหมือนกันครับ ยังไม่รู้ข่าวสารอะไรเลย ไม่มีโอกาสได้กลับ ถ้ากลับไปแล้วคราวนี้กลับมายากเลยครับ” เสียงจากซอมิน ในวันที่โควิด-19ทำให้เขาไม่สามารถโทรกลับไปหาลูก-เมียได้
เสียงจากเด็กในแคมป์-เมื่อพ่อแม่ติด แล้วเด็กจะรอดได้อย่างไร
ความกังวลของหลายฝ่ายตอนนี้ พุ่งเป้าไปที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในแคมป์คนงานก่อสร้าง การกักตัวผู้ติดเชื้อ การขาดรายได้ หรือหวั่นวิตกว่าแคมป์คนงานก่อสร้างจะแพร่กระจายเชื้อมาสู่ชุมชน ภายใต้ความโกลาหลนั้น หลังกำแพงของแคมป์ก่อสร้าง ยังมีเด็กอีกหลายชีวิตอาศัยอยู่ภายในนั้นร่วมกับพ่อแม่
ผมต่อสายสนทนากับ ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี แห่งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ผู้คลุกคลีทำงานกับเด็ก ในกลุ่มเปราะบางมาอย่างยาวนาน เด็กในแคมป์ก่อสร้างเป็นอีกกลุ่มที่ครูจิ๋วให้ความสำคัญ
ครูจิ๋วใช้โมเดล “โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่” ในการวิ่งไปตามแหล่งก่อสร้างทั้งหมด 16 แห่ง เข้าไปทำกิจกรรม สอนอ่าน เขียน เล่านิทาน รวมถึงการพูดคุยกับพ่อ แม่ ในการพาลูกของพวกเขาเข้าสู่ระบบการศึกษา แม้การระบาดของโควิด จะทำให้กิจกรรมภาคสนามของครูจิ๋วต้องหยุดลงไปบ้าง แต่เธอก็ยังคงทำงานช่วยเหลือเด็ก ๆ เหล่านี้ ในช่องทางอื่นอยู่ทุกวัน
“กิจกรรมตอนนี้ที่ทำได้คือ การนำกล่องเรียนมหัศจรรย์ ไปแจกให้เด็กบริเวณหน้าแคมป์ มีของเล่น มีขนม มีนมไปให้ ผลกระทบจากโควิดรอบนี้ส่งผลต่อเด็กอยู่ 3 ส่วน
“ส่วนที่ 1 กลุ่มเด็กที่ติดเชื้อ เราจะบอกให้นายจ้างที่ดูแลรีบส่งโรงพยาบาล เพราะเรามีประสบการณ์จากเด็กเร่ร่อน ที่มีสภาวะเชื้อลงปอด เราจะบอกเขาตลอดว่า ให้พยายามหาโรงพยาบาลสนามให้เด็กภายใน 3 วัน เพราะถ้าเชื้อไม่ลงปอด เวลาการรักษาตัวมันจะลดน้อยลงไปด้วย
“ส่วนที่ 2 กลุ่มเสี่ยงที่พ่อแม่รวมถึงเด็กถูกกักตัว ทำให้ขาดรายได้ เรื่องถุงยังชีพจึงสำคัญ เราพยายามประสานงาน หาถุงยังชีพไปให้เขา เพราะส่วนใหญ่นายจ้างจะให้ข้าวคนละกล่อง ซึ่งมันไม่พอกิน แต่หากเป็นข้าวสาร มาม่า ปลากระป๋อง เขาสามารถนำไปจัดการประกอบอาหารให้อิ่มท้องเขาได้มากกว่า
“ส่วนที่ 3 เรากังวลเรื่องพ่อแม่ติด แต่เด็กไม่ติด ซึ่งตอนนี้ยังไม่เจอกรณีแบบนี้ เพราะส่วนใหญ่ถ้าพ่อแม่ติด เด็กจะติดด้วย เราบอกกับนายจ้างไม่ว่าอย่างไร แม่กับเด็กต้องไปด้วยกัน อย่าแยกแม่แยกลูกโดยเด็ดขาด เรามีตัวอย่างจากกลุ่มเด็กและแม่เร่ร่อนที่เป็นคนต่างด้าว ถูกแยกออกจากกัน และพบว่ากระบวนการกลับมาเจอกันจะยิ่งซับซ้อนขึ้น
ในส่วนเรื่องของสภาพจิตใจเด็ก ครูจิ๋วบอกว่า เด็กยังรู้สึกเฉย ๆ เท่าที่ครูจิ๋วพูดคุยกับเขาว่า “กลัวไหม” “ไม่กลัวหรอกครู มันเป็นก็ต้องเป็นกันหมด” เด็กตอบครูจิ๋วมาแบบนี้ แต่สิ่งที่เด็ก ๆ ต้องการตอนนี้คือ การมีกิจกรรมให้เขาได้ทำบ้าง
“อย่างวันนี้เราเอาหนังสือเรียน สีระบาย ดินน้ำมัน ตัวต่อ ขนม เขาก็ตื่นเต้นกับสิ่งที่นำไปให้เขา มันเป็นโอกาสสำหรับพวกเขา” ครูจิ๋วกล่าวเสริม
และเมื่อเกิดเหตุการณ์โรคระบาดในแคมป์เช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาพร้อมๆ กันคือ คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กในแคมป์ก่อสร้าง หากไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กๆ ข้างในแคมป์ คงเป็นเรื่องหลบซ่อนอยู่หลังกำแพงของแคมป์ก่อสร้างต่อไป
ครูจิ๋วในฐานะที่ทำงานกับเด็กในแคมป์ก่อสร้างมาเกิน 10 ปี เรื่องการเข้าถึงการศึกษา และการรักษาพยาบาลเป็น 2 สิ่งสำคัญ ที่ครูจิ๋วอยากให้เด็กๆ ในแคมป์ก่อสร้าง สามารถเข้าถึงได้มากกว่าทุกวันนี้
“เด็กก่อสร้างส่วนหนี่ง เราเอาเข้ามติครม. ปี 2535 พยายามนำเด็กเข้าโรงเรียนให้มากที่สุด อย่างของครูมีเด็กที่เข้าโรงเรียน 222 คน ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นเด็กสัญชาติอื่น อีกครึ่งเป็นเด็กไทย
“แต่ตอนนี้เด็กก็ยังไม่สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ 100% แม้แต่เด็กติด G ซึ่งหมายถึงเด็กไม่ได้ถือสัญชาติไทยที่เข้าเรียนในโรงเรียนไทย แม้สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ แต่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขได้ ที่ทำได้ตอนนี้คือการซื้อประกันอุบัติเหตุให้เด็กๆ “
สิ่งที่ครูจิ๋วอยากฝากถึงภาครัฐ จากกรณีการระบาดของโควิดสู่คุณภาพชีวิตของเด็กที่อยู่ข้างใน คงเป็นเรื่องการศึกษาและการเข้าถึงสาธารณสุขเพราะ 2 สิ่งนี้คือ สิทธิขั้นพื้นฐานตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก
เพราะตอนนี้มีเด็กจำนวนหลักแสนคน จากแรงงานข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทย แต่โรงพยาบาลไม่ได้ให้ใบรับรองการเกิดมา และเมื่อไม่ได้ใบรับรอง ก็ไม่สามารถจะได้สิทธิการรักษาพยาบาล ครูจิ๋วทิ้งท้าย
แม้จะเป็นประเด็นไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิกฤตโควิดรอบนี้ แต่ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาถึงรัฐที่หันหลังให้กับเด็ก ๆ กลุ่มนี้
เสียงถึงรัฐ ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการซ่อน-ย้าย แรงงาน
ผมพูดคุยกับอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นของแรงงานข้ามชาติในแคมป์ก่อสร้าง ซึ่งสามารถแบ่งประเด็นต่าง ๆ ออกมาได้ดังนี้
ปัญหาที่ 1 คนหนึ่งอยากตรวจ อีกคนอยากจับ
“กระทรวงสาธารณสุขพยายามทำให้คนงานทุกคน เข้ามาสู่ระบบในการตรวจ แต่ว่ากระทรวงแรงงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มาไล่จับคนงานเพราะเรื่องการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ ไม่มีเอกสารแรงงาน มันทำให้เกิดปัญหาซ่อนตัวของแรงงาน
“เราเลยขอว่าอย่ายุ่งเรื่องอื่นได้ไหม ขอแค่เรื่องโรคระบาดก่อน ขอตรวจแบบไม่ระบุตัวตนได้ไหม ด้วยกลไกทางกฎหมายมันมีช่องทางให้ทำ”
การที่เอกสารของแรงงานข้ามชาติมีปัญหา ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่โควิดยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้แรงงานถูกเลิกจ้างไม่มีงาน และหากไม่มีนายจ้างก็ทำให้แรงงานเหล่านี้หลุดออกนอกระบบ ถึงแม้รัฐจะมีมาตรการเปิดให้จดทะเบียนใหม่ แต่ก็ยังคงมีอุปสรรคในการที่คนงาน ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการดังกล่าวได้อีกมาก
ปัญหาที่ 2 การเคลื่อนย้ายของแรงงานก่อสร้าง
“รัฐบาลประกาศไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมันไม่สอดคล้องกับการจ้างงาน เราต้องทำความเข้าใจไซต์งานก่อสร้างก่อนว่ามีแรงงาน 2 รูปแบบคือ บริษัทใหญ่ที่รับงานโครงการของรัฐเขาก็จะมีคนงาน 2 ส่วน คือคนงานโดยตรงของบริษัท กับอีกส่วนคือคนงานของผู้รับเหมา ที่รับช่วงต่อจากบริษัทอีกทอดหนึ่ง
“ซึ่งกลุ่มหลังจะมีการสับเปลี่ยน หมุนเวียน คนงานเพื่อไปทำงานไซต์งานอื่นๆ เพราะโดยทั่วไปผู้รับเหมาขนาดเล็กจะรับผิดชอบงานเฉพาะด้าน พองานด้านนี้เสร็จก็ย้ายไปที่อื่นต่อ แต่พอประกาศห้ามการเคลื่อนย้าย นายจ้างก็เลือกที่จะซ่อนคนงานแทน
“รัฐควรทำให้แรงงาน และนายจ้างมั่นใจที่จะอยู่กับที่ไม่เคลื่อนย้ายตัวเองไปไหน เพราะโจทย์หลักของแรงงานกลุ่มนี้ ถ้าเมื่อไหร่มีการเคลื่อนย้ายตัวเอง มาตรการเฝ้าระวังจะยิ่งยากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำในแง่ของการป้องกันคือ 1.ข้อมูลต้องเข้าถึงให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ 2.ความช่วยเหลือต้องเข้าถึง อาหาร ที่พัก เข้าถึงการตรวจรักษา 3.มีมาตรการชดเชยเมื่อมีการเลิกจ้างหรือหยุดงาน เพื่อให้แรงงานยังมีรายได้ และยังอยู่ในพื้นที่เดิม”
แล้วการหยุดงานก่อสร้างทั้งหมดจะช่วยให้การแพร่ระบาดลดลงได้หรือไม่ ?
อดิศรบอกว่า ภาครัฐไม่ต้องถึงขั้นหยุดโครงการ แต่ต้องมีมาตรการบริหารจัดการที่ดี การหยุดงานมันไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะเมื่อหยุดแล้วคนงานไม่มีรายได้ยิ่งลำบาก และจะยิ่งเกิดการกระจายตัว
“คือคุณก็ทำงานของคุณต่อไปมีกลไกในการเฝ้าระวังโรค มีการจัดที่พัก อาหารที่ไม่ไปปะปนอยู่กับชุมชน”
จากปัญหาทั้ง 2 ข้อที่อดิศรกล่าวมา ภาครัฐควรมีการใช้อำนาจ ในการสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติหน้าที่ไปในทิศทางเดียวกัน เพราะถ้ายังมีหน่วยงานจ้องเอาผิดนายจ้าง หรือตัวแรงงานเรื่องเอกสารการทำงาน ปัญหาการ ซ่อน-ย้าย คนงานจะไม่มีวันหมดในช่วงเวลาดังกล่าว
ในส่วนเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน รัฐก็ควรร่วมหารือกับฝั่งนายจ้าง หากมีการหารือเพื่อผ่อนปรนมาตรการเคลื่อนย้ายบางประการ ที่รัฐสามารถควบคุมได้ ให้นายจ้างมีโอกาสที่สามารถทำงานต่อไป ภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐ
อย่างพื้นที่ก่อสร้างแห่งหนึ่ง ณ ขณะนี้ เริ่มมีการกลับมาทำงานต่อแล้ว แต่จะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขต เข้ามาดูแลประจำพื้นที่ หากทิศทางการทำงานชัดเจน และเกิดการร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน อดิศรเองก็มองว่าการระบาดครั้งนี้สามารถควบคุมได้
“ส่วนตัวผมมองว่าไซต์งานก่อสร้างคุมง่ายกว่าพื้นที่ตลาดหรือชุมชน เพราะว่ามันมีรั้วรอบขอบชิด ที่ผ่านมาไม่ใช่ไซต์งานก่อสร้างเขาไม่ได้ทำอะไรเลยนะ ตั้งแต่ระลอกแรกผมคิดว่ามีความพยายามจัดการตัวเอง มีการตรวจคนก่อนเข้าไซต์งาน แต่การระบาดรอบนี้ เราต้องเข้าใจว่าคนงานไม่ได้อยู่แค่ที่ไซต์งาน เขาต้องไปซื้อข้าวของ เพราะฉะนั้นการติดเชื้อจากแหล่งอื่นมันจึงเกิดขึ้นได้”
เมื่อพูดถึงกรณีแรงงานข้ามชาติ สิ่งที่อดถามไม่ได้เกี่ยวกับ ‘อคติของสังคม’ ที่ยังคงอบอวลซ่อนอยู่ภายในจิตใจของผู้คน อาจลดน้อยลงไปบ้างตามยุคสมัย แต่ยังคงมิหมดไปจากหัวใจของทุกคน
“ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องของการพยายามหาคนผิดของการระบาด เป็นอคติของสังคมที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ เพราะว่าสังคมบางส่วนคิดว่า การแพร่ระบาดมันอยู่ที่การเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด และอคติที่เกิดขึ้นมันก็ส่งผลกระทบต่อการควบคุม ถ้ายังมีอคติอย่างนี้อยู่ ทำให้คนงานเองก็ไม่กล้าเปิดเผยตัว ผมคิดว่าจุดนี้เป็นปัญหาสำหรับอคติในการเลือกปฏิบัติ”
-เสียงตัวแทนจากคนข้างในถึงคนข้างนอก-
“เขาให้อยู่แต่ข้างในครับ เขาบอกออกมาข้างนอกไม่ได้ ตอนนี้อยากโทรหาที่บ้านครับ ลูกเมียผมอยู่ที่พม่าคิดถึงมาก ๆ คิดถึงตลอดเวลาเลย” ซอมิน แรงงานข้ามชาติ เสียงจากคนข้างใน ในวันที่ต้อง หลบ อยู่ในแคมป์ก่อสร้าง และหวาดกลัวโควิดไม่ต่างจากเรา
“เรื่องการกินเป็นอีกสิ่งที่ห่วงมาก เพราะข้าวกล่องที่ทางนายจ้างให้เขาไม่พอกินกัน” ครูจิ๋ว มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เสียงจากตัวแทนเด็ก ในวันที่ปากท้องต้องอยู่ รอด หากพ่อแม่ของเด็กในแคมป์ไม่รอด เด็ก ๆ จะรอดได้อย่างไร
“ขออย่ายุ่งเรื่องอื่นได้ไหม ขอแค่เรื่องโรคระบาดก่อน” อดิศร ผู้ประสานงานด้านประชากรข้ามชาติ เสียงจากคนทำงาน หากรัฐอยากให้ไม่เกิดการ ซ่อน-ย้าย รัฐต้องสร้างความมั่นใจและความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับนายจ้าง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด ในคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างไปด้วยกัน