ปรับทัศนคติก่อนอ่าน “เมื่อฉันถูกเรียกปรับทัศนคติ”
สถานการณ์ทางการเมืองในปี 2564 ภายใต้รัฐบาลสืบทอดอำนาจมาจากยุค คสช. ได้ทำการปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมือง สถิติในภาพรวมจากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 รวมเวลา 9 เดือนเศษ
มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 635 คน ในจำนวน 301 คดี เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ในยุคของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ย้อนกลับไปในปี 2557 ผมกำลังเข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ยังไร้เดียงสาเกินกว่าจะเข้าใจ เหตุการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ในความทรงจำรู้เพียงว่า “นักการเมืองแก่งแย่งผลประโยชน์กันไม่จบไม่สิ้น ทหารจึงต้องเข้ามาดูแลรักษาความสงบให้ประเทศ” ผมคิดเพียงแค่นั้น
22 พฤษภาคม 2557 เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ผมคิดต่อไปว่า “บ้านเมืองเราคงจะสงบสุขเสียที” มันเป็นความคิดที่ไร้เดียงสาอย่างวายร้าย จนเมื่อเริ่มเข้าใจอะไรมากขึ้นหรือที่คนในโซเชียลมีเดียบอกกันว่า “ตาสว่าง”
มันจึงทำให้ผมอยากรู้มากขึ้นว่าปีดังกล่าว ในขณะที่ม่านหมอกแห่งความสงบเรียบร้อยขมุกขมัว มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยถูกเรียกเข้าไปในกระบวนการ ‘ปรับทัศนคติ’ เพราะมีความคิดการเคลื่อนไหวที่ส่อแววทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง ตามคำกล่าวของ คสช. และเรื่องราวทุกอย่างได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือ “เมื่อฉันถูกเรียกไปปรับทัศนคติ” โดย iLaw
ปลายปากกา สะเทือนถึงปลายกระบอกปืน
ในช่วงต้นของหนังสือเป็นเรื่องราวของ คนในแวดวงสื่อมวลชนที่ถูกเรียกเข้าไปปรับทัศนคติ จากการนำเสนอข้อมูลที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของ คสช. จึงต้องทำการเรียกเข้าไปพูดคุยเจรจา ให้ยุติการสื่อสาร
ทวีพร ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไท ผู้เผยแพร่บทความชื่อ “สาระ+ภาพ: ทำอะไรแล้วผิด ม.112 ได้บ้าง” เธอถูกเจ้าหน้าที่ทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบ แวะ วนเวียน อยู่ในชีวิตของเธอทั้งที่บ้าน และสถานที่ทำงาน
หลังจากถูกเรียกเข้าพบเพื่อพูดคุยกับนายทหารระดับสูงนิรนาม ทวีพรจำเป็นต้องเซนเซอร์งานเก่าๆ ของเธอที่เขียนถึง ม.112 พร้อมทั้งยังทำให้เธอรู้สึกว่า ไม่สามารถทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป
จนสุดท้ายในปี 2559 ทวีพรยุติบทบาทของผู้สื่อข่าวประชาไท เพื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ถือเป็นความสำเร็จของการปรับทัศนคติหรือไม่? ที่ใช้ความกลัวมากดดันคนคนหนึ่ง เพียงแค่พูดหรือสื่อสารออกมาในสิ่งที่เป็นตัวเลือกทางความคิด
เรื่องราวต่อมาของศักดา แซ่เอียว นักวาดการ์ตูนล้อเลียนการเมือง ผลงานของเขามักปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหน้า 3 ก็ไม่รอดพ้นต่อการถูกเรียกปรับทัศนคติ จากการวาดการ์ตูนล้อเลียนการเมือง
หลังเหตุการณ์รัฐประหาร ศักดาถูกเรียกตัวเข้าพบที่หอประชุมกองทัพบก เพื่อชี้แจงให้รู้ว่า ผลงานการ์ตูนของเขานั้นมันไม่ถูกต้องอย่างไร หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ศักดาต้องใช้ความระมัดระวังในการทำงานมากขึ้น
เรื่องราวของศักดาคงเป็นเหมือนการใช้ปลายปากกา/ ดินสอ ขีดเส้นสายลงบนกระดาษหนังสือพิมพ์ ที่สั่นสะเทือนไปถึงปลายกระบอกปืนของผู้มีอำนาจ คงเป็นเพราะกระบอกปืนมันทำให้คนเงียบได้ แต่มันมิอาจเปลี่ยนแปลงความคิด ความเชื่อของผู้คน
คนตกขอบ
เรื่องราวของแต่ละบุคคล ที่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติในหนังสือเล่มนี้ ฉายภาพการเลือกปฏิบัติต่อผู้คนแต่ละกลุ่มชนชั้นทางสังคม ด้วยท่าทีและวิธีการที่แตกต่างกันออกไป คนที่มีต้นทุนทางสังคมสูงกว่า มักได้รับการดูแลที่ดีกว่า
เรื่องราวของแดน พนักงานร้านสะดวกซื้อที่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติในคุกทหารถึง 7 วัน “มันคือคุก พอผมรู้ว่ามันเป็นคุก ผมร้องไห้เลย เกิดมาไม่เคยเจออะไรแบบนี้ เลวร้ายที่สุดสำหรับชีวิตผมแล้ว” คำกล่าวส่วนหนึ่งของแดนผู้ก่อตั้งกลุ่ม “นนทบุรีปกป้องความเป็นธรรม” ที่ยกมาจากหนังสือในชื่อตอน ชีวิตชำรุด
หรืออย่างณัฐ อดีตนักโทษมาตรา 112 เขาถูกทหารเรียกไปปรับทัศนคติด้วยวิธีการพังประตูห้องพักในช่วงเวลาตี 1 โดยที่ทหารไม่ต้องมีหมายค้นใด ๆ นอกจากนี้ยังโดนถูกจับกดลงกับพื้นพร้อมใช้สาย เคเบิลไทร์มามัดมือ หลังจากพาไปที่ค่ายทหาร เขาถูกทหารยศนายพลคนหนึ่ง พูดจาในเชิงข่มขู่และหยาบคาย
ในขณะที่กระบวนการเรียกไปปรับทัศนคติของคนที่พอมีต้นทุนทางสังคม เช่น นักวิชาการ, นักการเมือง, สื่อมวลชน, ขั้นตอนส่วนใหญ่ในหนังสือพบว่าไม่ต่างกันนักคือ มีทหารหรือตำรวจไปเชิญตัวจาก ที่พักอาศัย, สถานที่ทำงาน จากนั้นก็พาขึ้นรถมายังค่ายทหาร ทำการค้นร่างกาย ยึดโทรศัพท์มือถืออุปกรณ์สื่อสาร ต่อด้วยการตรวจร่างกาย เพื่อดูว่าก่อนเข้ามามีบาดแผลตรงไหนมาก่อนบ้าง จากนั้นก็จะเชิญเข้าไปนั่งประชุม เพื่อคุยกับทหารในระดับผู้บังคับบัญชา แนวทางการพูดคุยส่วนใหญ่ ก็จะดำเนินไปในเชิงโน้มน้าวให้หยุดเคลื่อนไหว บางกรณีมีการข่มขู่ด้วยข้อกฎหมาย
มันเป็นกระบวนการปรับทัศนคติที่นุ่มนวล(สำหรับบางคน) แต่ก็แฝงไปด้วยนัยบางอย่างที่ทำให้มิอาจปฏิเสธได้ และที่สำคัญพวกเขาแต่ละคนถูกปฏิบัติไม่เหมือนกัน
ปรับอย่างไรทัศนคติก็ไม่เปลี่ยน แต่กลับมีบางคนชีวิตเปลี่ยน
หรือจริง ๆ แล้วกระบวนการปรับทัศนคติ ไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหวังการเปลี่ยนแปลงความคิดใคร แต่มุ่งหวังให้เกิดความเงียบ ความเงียบที่บ่มเพาะให้เกิดความกลัว ความกลัวจาก MOU ที่ถูกบังคับลงชื่อแลกกับการปล่อยตัว แต่มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ดั่งที่ในหนังสือบอกไว้ว่า
“การปรับทัศนคติของ คสช. สร้างภาวะความหวาดกลัวชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้พรากตัวตนหรือความกล้าหาญทางการเมืองไปอย่างถาวร”
เอกชัย หงส์กังวาน เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ไม่ว่าจะเอาเขา เข้าไปปรับทัศนคติอีกกี่รอบ ความคิด อุดมการณ์ของเขาก็ยังยึดมั่นคงเดิม เขาถูกจับไปปรับทัศนคติถึง 4 รอบ ในช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่พยายามขัดขวางการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา เอกชัยล้วนผ่านเหตุการณ์ที่เป็นผลกระทบจากการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่
- ถูกจำคุกในคดี ม.112 จากการเผยแพร่วีซีดีสารคดีเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย ซึ่งจัดทำและเผยแพร่โดยสถานีโทรทัศน์แห่งชาติออสเตรเลีย (ABC) พ้นโทษ ในปี 2558
- ถูกลอบทำร้ายหลายครั้งหลังแสดงออกทางการเมืองในช่วงปี 2561
เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเอกชัย ไม่ได้ทำให้เขาล้มเลิกอุดมการณ์ของตนเอง เพราะจนถึงในปัจจุบันปี 2564 เอกชัยยังคงเป็นนักเคลื่อนไหวฝั่งประชาธิปไตย และล่าสุดเขาโดนสั่งจำคุก 1 ปีไม่รอลงอาญาจาก คดีโพสต์เรื่องลามกในเรือนจำ ผิดพ.ร.บ.คอมฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (4)
พ่วงด้วยคดีติดตัว มาตรา 110 ประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท โดยมีโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 16 ปี ถึง 20 ปี จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า ขัดขวางขบวนเสด็จฯ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563
แต่เรื่องราวที่ผมรู้สึกสะเทือนใจมากที่สุด คงเป็นเรื่องราวของกัลยรักษ์ หรือดีเจนินจา ที่ถูกจับไปปรับทัศนคติจากคดี ‘ขอนแก่นโมเดล’ เธอโดนทั้งการเอาสายน้ำเกลือมารัดข้อมือ เอาปืนมาจ่อ ถูกปิดตา ส่วนคนอื่นที่อยู่สถานที่เดียวกับเธอนั้น ทุกคนถูกจับมัดมือไพล่หลังและถูกมัดขา
เธอโดนขังอยู่ในเรือนจำถึง 5 เดือนจากคดีขอนแก่นโมเดล หลังจากได้รับการประกันตัวออกมา เธอไม่กล้ากลับไปจัดรายการอีก หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นเธอสูญเสียพ่อเพราะเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตก ลูกคนโตเกือบเสียอนาคตเพราะเป็นซึมเศร้าไปพักใหญ่ ชีวิตของเธอนั้นยังต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเลี้ยงลูกอีก 3 คน แม่เธอเป็นโรคเบาหวานและความดัน เส้นเลือดในสมองแตกอัมพาตครึ่งซีก พี่สาวเธอเป็นโรคทางจิตไบโพลาร์
การปรับทัศนคติครั้งนี้ ไม่มั่นใจนักว่าสามารถเปลี่ยนทัศนคติของเธอได้หรือไม่ ? แต่ที่เปลี่ยนไปอย่างแน่นอนคือชีวิตของเธอที่ต้องยากลำบากมากขึ้นกว่าเดิม
ในหนังสือเล่มนี้ยังมีเรื่องราวของอีกหลายบุคคล ที่ถูกเรียกไปปรับทัศนคติเช่น กลุ่ม NGO ที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นบ้านเกิดของตนเอง แต่กลับถูกเรียกไปปรับทัศนคติ, ศรีสุวรรณ จรรยา นักร้อง(เรียน) ผู้ยื่นตรวจสอบรัฐบาล คสช., กลุ่มนักวิชาการจากการอ่านแถลงการณ์ ‘มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร, พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ออกมาวิจารณ์สภาพเศรษฐกิจ ในยุคการดำเนินงานของ คสช. ก็ล้วนถูกเรียกมาปรับทัศนคติทั้งสิ้น
ตั้งแต่เกิดการปรับทัศนคติในปี พ.ศ. 2557 เป็นเวลาล่วงเลยมากว่า 7 ปี ดูเหมือนว่าสิ่งที่รัฐทำกับประชาชนที่มีอุดมการณ์ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับตนไม่ต่างไปจากเดิม รังแต่จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากการจับกุมคนรุ่นใหม่ไม่เว้นวัน
ท้ายที่สุดสิ่งที่ผมรับรู้ได้จากการอ่านหนังสือ “เมื่อฉันถูกเรียกปรับทัศนคติ” จบลงคือ ความกลัวสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่มีมนุษย์คนใดจมอยู่กับความหวาดกลัวได้ตลอดชีวิต รัตติกาลย่อมสิ้นสุดเมื่อการมาถึงของดวงตะวัน ใครกันจะสามารถทัดทานความสว่างของแสงตะวัน ใครกันเล่าใครกัน…ไม่มี
ชื่อหนังสือ: เมื่อฉันถูกเรียกปรับทัศนคติ
ผู้เขียน: ทีมงาน iLaw
ผู้จัดพิมพ์: iLaw, 2020
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี