นอกจาก “ระเบิด” ยังนึกถึงอะไรอีกบ้างเมื่อพูดถึงสามจังหวัดชายแดนใต้?.ภาพจำความรุนแรงที่ถูกฉายซ้ำอาจกำลังเบี่ยงเบนสายตาคนนอกไม่ให้เห็น “ภาพจริง” อีกมากมายที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ หลายปัญหาจึงเรื้อรังและวนลูปไม่จบสิ้น คำถามต่อมาคือแล้ว “คนใน” จะเล่าเรื่องที่ไม่เคยถูกเล่าให้คนนอกฟังอย่างไรได้บ้าง
ถึงวันนี้คำตอบอาจหาได้จากโครงการ Deep South Young Filmmaker ที่ริเริ่มโดยคุณพิมพกา โตวิระ ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนในพื้นที่รวมทีมกันมาผลิตหนังสั้นสะท้อนบ้านเกิดของตนกว่า 10 เรื่อง ฉายแง่มุมที่แปลกใหม่และครอบคลุมทั้งประเด็นสังคม ศาสนา เพศไปจนถึงสิ่งแวดล้อม.De/code ชวนอ่านประเด็นสำคัญของบางหนังสั้นจากโครงการดังกล่าว ซึ่งถูกหยิบมาฉายและพูดคุยในงานศิลป์สโมสรเสวนา “หนังพาไป…เพื่อความเข้าใจสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 1 เมษายน 2563 ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
“…ไปทำธุระทีนึงถูกตรวจและค้นตัวบ่อยมาก แต่ถ้าวันไหนแต่งตัวด้วยชุดที่ไม่ใช่อัตลักษณ์มุสลิม การผ่านด่านตรวจก็ง่ายขึ้นมาก…”
ต่วนยัซดาน แซแร เด็กหนุ่มจากจังหวัดยะลาเล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำหนังเรื่อง “หยุดตรวจ” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวการตีตราแบ่งแยกกลุ่มคนด้วยอัตลักษณ์ภายนอก หนังของเขาหยิบเอา “ด่านตรวจ” มาเป็นเครื่องมือฉายความไม่เท่าเทียมทางอัตลักษณ์ ดำเนินเรื่องด้วยตัวละครชายมุสลิมขายน้ำบูดูที่หวาดระแวงว่าจะถูกตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่หรือไม่ แต่เพียงเปลี่ยนเครื่องห้อยหน้ารถที่สลักอักษรอาหรับไปเป็นพวงมาลัยปัญหากวนใจก็คลายลงได้อย่างง่ายดาย แม้ต่วนจะยอมรับว่าฉากดังกล่าวเป็นเพียงภาพจำลอง แต่เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าภาพเหล่านั้นเข้าใกล้กับภาพจริงในสังคมชายแดนใต้อยู่ไม่น้อย
ปัจจุบันการตั้งคำถามต่อด่านตรวจจากคนในพื้นที่ผุดขึ้นมากมาย อาทิ ด่านตรวจจำเป็นต้องมีอยู่ไหม และการมีอยู่ของมันสร้างความอุ่นใจหรือหวาดระแวงให้แก่ชาวบ้านมากกว่ากัน ด่านตรวจมีระบบคัดกรองที่มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน คุ้มค่ากับงบประมาณรึเปล่า และทำไมบางด่านจึงปล่อยร้างให้กลายเป็นเพียงเครื่องเกะกะทางสัญจร กระนั้นคำถามที่ดูจะสอดรับไปกับหนังของต่วนยัซดานได้เป็นอย่างดีคือท้ายที่สุดแล้วทำไมด่านตรวจจึงมีกลไกคัดแยกผู้บริสุทธิ์กับผู้ต้องสงสัยเพียงเพราะใช้อัตลักษณ์ทางศาสนา ชาติพันธุ์ หรือเครื่องแต่งกายภายนอกเป็นมาตรวัดได้
“…พอเด็กท้องก่อนวัยส่วนใหญ่คือจับแต่งงาน แต่ถ้าชายที่ทำให้ท้องไม่ยอมรับก็หาชายอื่นมาแต่งแทน…”
พิมพกา โตวิระ ประธานโครงการ Deep South Young Filmmaker เอ่ยถึงปัญหาท้องก่อนแต่งในวัยเรียนซึ่งเป็นประเด็นหลักของหนังเรื่อง End Game เธอตั้งข้อสังเกตว่า “การท้องในวัยเรียนนั้นอันที่จริงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ แต่ในสังคมชายแดนใต้ปัญหาดังกล่าวส่งผลเยอะมาก ไม่ใช่แค่แต่งงานหรือไม่แต่งนานนะ แต่ลูกที่เกิดมาจะต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง” ศาสนาอิสลามซึ่งยึดโยงอยู่กับวิถีชีวิตคนในพื้นที่กำหนดว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานเป็นบาปใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าจะสนับสนุนให้ตีตราเด็กว่าเป็นคนบาปอย่างไม่น่าให้อภัย ประเด็นคือคนในสังคมกลับโบยตีเด็กที่ท้องในวัยเรียนด้วยคำพูดเสียดสีเดียดฉันท์ จนครอบครัวและตัวเด็กกลัวปวดช้ำและต้องดิ้นรนหาหนทางหนีความอับอายให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญคือเด็กผู้ชายกลับเผชิญแรงกดดันน้อยกว่าเด็กผู้หญิง ซึ่งสะท้อนอยู่ในหนังเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน
หลักการศาสนาอิสลามที่ว่าหักห้ามการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานหรือที่เรียกว่า “ซีนา” นั้น เด็กจะได้รับการอบรมโดยครูสอนศาสนาหรือคนในครอบครัวมาตั้งแต่ประถมฯ แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลจาก สสส. กลับพบกับสิ่งที่น่าใจหาย นั่นคืออัตราการตั้งครรภ์ในวัยเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2562 ยังคงสูง โดยจังหวัดยะลาอยู่ที่ร้อยละ 28.5 ปัตตานี 23.5 ส่วนนราธิวาส 28.4 สะท้อนว่าสามจังหวัดชายแดนใต้ยังติดกับดักบางอย่างที่ทำให้ปัญหาท้องในวัยเรียนคงดำรงอยู่
ทั้งนี้โครงการวิจัยการรวมพลังของแม่วัยเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นำโดย ดร.นินาวัลย์ ปานากาเซ็ง ระบุว่าเด็กที่เผชิญกับปัญหานี้มักมาจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น ขณะที่ สสส. เผยว่าเกิดจากเด็กขาดความรู้เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ การเข้าไม่ถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด ความยากจน รวมถึงการขาดโอกาสทางการศึกษา จึงน่าสนใจว่าก้าวต่อไปของการแก้ปัญหาจะบูรณาการหลักศาสนา หลักกฎหมาย และความรู้ด้านสุขภาพมาใช้อย่างไร หรือสังคมชายแดนใต้จะยังคงแก้ปัญหาปลายเหตุด้วยการส่งเด็กที่ท้องไปแต่งงานกับชายที่เธออาจไม่ได้รักเช่นที่ผ่านมา?
“เมื่อก่อนจะไม่ใช้คำว่า “มลายู” ไม่พูดถึงชาติพันธุ์เลย แต่ตอนนี้เราเริ่มเห็นการปรากฏตัวคำว่ามลายูมุสลิมมากขึ้น การยอมรับในอัตลักษณ์ก็มากขึ้น”
อนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ สื่อมวลชนอาวุโสและรองผู้อำนวยการ ส.ส.ท กล่าวถึงคำเรียกคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยยุคสมัย พร้อมอธิบายอีกว่าสิ่งที่คนในพื้นที่ยังต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ ทำให้เราได้เห็นการปรากฏตัวของภาษายาวีหรือรูมีมากขึ้น เราเริ่มเห็นพื้นที่ของคนหนุ่มสาวพูดคุยทำเฟซบุ๊กเป็นภาษามลายู ซึ่งถ้าเป็นเมื่อยี่สิบปีก่อนคงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมาพูดภาษามลายูในสื่อ มันคล้าย ๆ กับที่รัฐกลัวคอมมิวนิสต์แล้วห้ามเรียน ห้ามใช้ภาษาจีนนั่นแหละ
สำหรับคำว่ามลายูหรือคนมลายูนั่นความจริงแล้วเป็นคำเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา จวบจนสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกประกาศว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 3 ให้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “ไทย” เรียกแทนชาวไทยทั้งหมดโดยไม่แบ่งแยก และเมื่อความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มมากขึ้นรัฐก็พยายามกลืนกลายความเป็นมลายูให้เป็นไทยเต็มร้อยผ่านคำเรียกว่า “ไทยมุสลิม” กระนั้นทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคำว่า “มลายูมุสลิม” และความเป็นมลายูได้กลับมามีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมจังหวัดชายแดนใต้อีกครั้ง ซึ่งนั่นนับเป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อยสำหรับประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างประเทศไทย
“…ถ้าเป็นไปได้พยายามนำหัวใจและกายไปสัมผัสถึงที่ เพื่อจะได้รู้สึกถึงความจริงและเห็นความจริงที่เกิดขึ้น…”
มูหามะซูเบร์ เด็ง เด็กหนุ่มจากจังหวัดนราธิวาส ผู้กำกับหนังสั้นเรื่องชีวิตในโลกใบเดียวกัน (The Life) กล่าวถึงความในใจเพื่อส่งสารและเชิญชวนคนนอกพื้นที่มาสัมผัสสามจังหวัดฯด้วยตัวเอง หนังสั้นของเขาฉายภาพความงามของชีวิตและธรรมชาติในจังหวัดชายแดนใต้ ผ่านการนำเสนอเรื่องราวครอบครัวของนกเงือกแห่งผืนป่าบาลาคู่ขนานไปกับการเล่าเรื่องครอบครัวคนในพื้นที่ซึ่งต่างห่วงแหนชีวิตเหมือนกัน นับว่าเป็นการสะท้อนถึงภาพความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าในพื้นที่ออกมาได้อย่างแยบยล และพาผู้ชมไปรู้จักจังหวัดชายแดนภาคใต้ไกลกว่าแค่ “ความรุนแรง”
ทั้งนี้ปัจจุบันผืนป่าบาลาซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอแว้งและสุคีริน จังหวัดนราธิวาส ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเยือน นอกจากความพิเศษที่มีนกเงือกมากที่สุดในประเทศไทยแล้ว ที่นี่ยังมีผืนป่าเขียวขจี น้ำตก และหมอกสวยให้สัมผัสอีกด้วย ถ้านำหัวใจและกายมาสัมผัสถึงที่อาจหลงรักสามจังหวัดชายแดนใต้มากขึ้นก็เป็นได้