เคยไหม…ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร อยากมีชีวิตแบบไหน
เคยไหม…ไม่ชอบชีวิตที่ใช้ ไม่เห็นเส้นทางอนาคต
เคยไหม…ปราศจากความหลงใหลใฝ่ฝัน ขาดแรงบันดาลใจ
เคยไหม…ไม่กล้าเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ ๆ
เคยไหม…ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ได้นาน ๆ
เคยไหม…รู้สึกเดียวดายท่ามกลางผู้คนนับร้อยนับพันที่เดินผ่านรายล้อมตัวเรา
…นั่นคือสิ่งที่ล้วนแล้วเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก
คำถามที่สร้างบรรยากาศความอ้างว้างในจิตใจอย่างบอกไม่ถูก ระหว่างการเวิร์กชอปสอนเขียนของพี่แหม่ม-วีรพร นิติประภา มนุษย์แม่ท่านหนึ่งผู้เป็นนักเขียนดับเบิลซีไรต์ ตั้งคำถามเพื่อให้ผู้ร่วมวงแต่ละคนบอกเล่าถึงสิ่งที่ ‘กัดกิน’ พวกเขา
บางสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวด – โศกเศร้าเคล้าน้ำตา
บางสิ่งที่ทำให้เขาทุกข์ใจ – ไร้หนทางแก้ปัญหา
บางสิ่งที่เป็นความขมขื่นของชีวิต
จนได้เห็นว่าคนแต่ละคนแบกความทุกข์ไว้ไม่รู้เท่าไหร่
มากกว่าครึ่งเล่าถึงพ่อแม่
‘โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก’ เป็นอีกหนึ่งผลงานของพี่แหม่ม ที่เราหยิบมาหาคำตอบจากคำถามในวงสนทนา เพื่อค้นหาเรื่องราวที่ถูก ‘กัดกิน’ ภายในใจมนุษย์ลูกอย่างเราและบอกต่อถึงมนุษย์พ่อแม่ และนี่ไม่ใช่หนังสือวิธีสอนเลี้ยงลูก แต่เป็นการเล่าแนวคิดการเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นมนุษย์ที่พร้อมเผชิญโลกที่กำลังจะท้าทายพวกเขาในวันข้างหน้า มากกว่าสอนการเลี้ยงเด็กหนึ่งคนให้เป็นลูกในอุดมคติ
พอลองย้อนกลับมาคิดดูแล้ว ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความจริงอยู่ไม่น้อยที่เรื่องราวระหว่างการเติบโต ‘กัดกิน’ ตัวผมเอง เพราะภาพของอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ตัดสลับทับซ้อนในหัวอยู่บ่อยครั้ง คิดมากจนเป็นงานอดิเรก โดยไม่ทันสังเกตเห็นความรู้สึกเปราะบางกระทั่งมีเรื่องร้ายแรงมากระทบ – ล้ม – ร่วง …มากไปกว่านั้น ความเศร้ากลายเป็นเพื่อนปลอบประโลมข้างกายและเริ่มสนิทมากขึ้นทุกวัน ยามตัวเองดำดิ่งในห้วงของความคิดที่มีความเดียวดายโอบกอด จนรู้สึกว่า…ความเงียบมันดังเหลือเกิน
ตลอด 25 หน้า ที่อ่านอย่างตั้งใจ สารจากมนุษย์แม่เล่าว่า ‘การเป็นพ่อแม่คือการเดินทางไกล เฉกเช่นการเดินทางไกลทั้งหลาย …คุณจะพบว่าตัวเองไม่ใช่คนเดิมเหมือนตอนเริ่มต้นเมื่อกลับมา และคุณจะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกเลย การเป็นลูกคือการเติบโตของเด็ก และการเป็นพ่อแม่ก็คือการเติบโตของคุณเช่นกัน’
และแน่นอน…การเติบโตระหว่างเราและพ่อแม่มักพร้อมกับความคาดหวังในบางอย่าง และทุกครั้งที่เกิดปัญหา คือความคาดหวังระหว่างเรามักไม่ตรงกัน โดยไม่เคยถามว่า…เราต้องการแบบนี้หรือเปล่า ?
ความห่างไกลในความใกล้ชิดของสายเลือดแบบนี้ อาจเป็นเพราะเราไม่เคยเอ่ยปากพูดคุยกัน
ถึงพูด…ก็ไม่ฟังกัน
ถึงฟัง…ก็ไม่เข้าใจกัน
เพราะเรา…ไม่เปิดใจให้กันตั้งแต่แรก
นี่คือต้นตอสำคัญที่ทำให้เราและเชื่อว่ามนุษย์ลูกอีกหลายคน
หลงทิศทางการดำเนินชีวิต ไม่รู้เป้าหมายต่อไป ไม่รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพมากแค่ไหนหรือใช้มันให้เป็น จนเก็บงำเอาไว้ส่วนลึกในใจ เพราะชีวิตเบื้องหน้ายังคงเดินต่อ
สิ่งที่มักได้ยินได้ฟังเสมอ…กว่าจะมาเป็นพ่อในวันนี้ กว่าจะเป็นแม่ในวันนี้คือ การถ่ายทอดทักษะผ่านเรื่องราวความสำเร็จของพวกเขา แต่สิ่งที่ปะปนลงมาด้วย กลับสร้างความลำบากและทุกข์ใจไม่น้อยให้มนุษย์ลูกคือ การรับรู้ปัญหาชีวิตคู่แบบโทษกันไปกันมา มากจนเกินไป…
106 หน้าที่ไล่เรียงอ่าน หนังสือตอบแทนใจเราว่า ‘มันเป็นเรื่องเจ็บปวดสำหรับลูกที่จะต้องเติบโตขึ้นท่ามกลางการเผชิญหน้าของคนสองคนที่เขารักมากที่สุดในโลก’
นั่นหมายถึง ถ้าคุณเป็นพ่อแม่อย่าเอาปัญหาชีวิตคู่ไปใส่ลูก อย่าให้…
เป็นเพราะเขา…ที่ทำให้คุณต้องทนทำงานที่ไม่ชอบ
เป็นเพราะเขา…ที่ทำให้คุณต้องทนความน่ารังเกียจของคนรอบข้างบางคน
เพราะคุณกำลังผลักลูกออกไปอยู่กับความเดียวดาย ที่ต้องคิดสงสัยว่าแท้จริงแล้วเขาคือ…ความรักหรือปัญหากันแน่
และพี่แหม่มอธิบายในหนังสือว่า ‘คุณมีทางเลือกเสมอว่าจะทนอยู่หรือเดินออกจากปัญหา และแม้ว่าลูกจะเป็นส่วนหนึ่งของทุกการตัดสินใจ แต่การตัดสินใจนั่นก็ยังเป็นของคุณอยู่ดีหรือมิใช่ อย่าทำให้เขารู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อปัญหาของคุณ และทางที่ดีที่สุด…คุณเองก็ไม่ควรปล่อยตัวเองจมปลักอยู่กับปัญหานานเกินไป แก้ได้ก็จงแก้ไข หากไม่ได้ก็เดินออกมา…หาทางไปต่อ
ยิ่งในภาวะโควิด-19 เข้ามาปกคลุมโลกใบนี้ เราเห็นปัญหาต่าง ๆ ประดังเข้ามาสร้างความเปราะบางให้มนุษย์ลูกอีกหลายคนมากกว่าเดิม ทั้งการศึกษาในรั้วโรงเรียนที่ลิดรอนความเป็นมนุษย์ ความสับสนชีวิตจากสองขั้วความคิดทางการเมือง และอาจเป็นผู้พ่ายแพ้บนลู่วิ่งในโลกของการทำงานแบบทุนนิยม
แต่ถึงกระนั้นเอง ชีวิตจะสอนให้มนุษย์ลูกปล่อยวางบ้าง “ถ้าเก็บเอาทุกเรื่องมาคิดก็ตายกันพอดี” – ความรู้สึกผ่านสีหน้าบนกระจกบอกผมเสมอ ถึงพูดง่าย-ทำยาก แต่เราก็ลองพยายามทำโน่นทำนี่เพื่อให้ตัวเองหลุดออกจากความคิดเสียบ้าง
ไม่เช่นนั้น… ‘ความเฉยชาต่อชีวิตเป็นเรื่องที่น่ากลัวที่สุดของการมีชีวิตอยู่ คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร อยากทำอะไร มีชีวิตอยู่แบบไหน เพราะสังคมเราพร่ำสอนคนแต่สิ่งที่ต้องทำ ควรทำ โดยมองข้ามความหลงใหลใฝ่ฝัน มองข้ามความชอบ ความสนุกสนาน ความถนัด และสีสันของชีวิตไป’
ถ้อยคำจากหนังสือ เตือนสติเราว่าเรื่องของพ่อแม่ก็คือเรื่องของพ่อแม่ อย่าเก็บเอามาเป็นความป่วยไข้ทางใจ เพราะเราเป็นคนกำหนดชีวิตทุกย่างก้าว เราเป็นคนกำหนดคุณค่าทุกลมหายใจเข้าออกให้มีความหมาย แต่นับวัน…เวลาระหว่างเราและพ่อแม่กำลังเดินสวนทางกัน ขณะที่เราเติบโต แต่พวกเขาโรยรา นี่ก็เป็นอีกข้อคิดสำคัญที่เราเริ่มมองข้ามบาดแผลของมนุษย์ลูกอย่างเราไป
‘ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า แค่ข้อนี้เพียงข้อเดียวก็เพียงพอแล้ว ที่จะทำให้เราหยิบยื่นทุกสิ่งอย่างที่เรามีแก่กัน นุ่มนวลและอ่อนโยนต่อกันอย่างถึงที่สุด แค่ความเปราะบางแสนสามัญของการเป็นมนุษย์ ช่วงชีวิตอันแสนสั้นที่เรามีสิทธิ์ใช้ ความไม่แน่นอนร้ายกาจของโลก เท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่เราจะลดความคาดหวังแก่กันลง หลีกเลี่ยงทุกอย่างที่อาจกดดันให้อึดอัด ระวังทุกถ้อยคำไม่ให้บาดระคายจิตใจ แม้เล็กน้อยเท่ารอยธุลี’
…หนังสือบอกเล่าส่งท้ายจากปกหลังอย่างน่าใจหาย (เออ…มันจริงว่ะ)
ขอขอบคุณหนังสือดี ๆ ที่เป็นความหวังเล็ก ๆ ว่าอาจช่วยให้พ่อแม่มองหาและมองเห็นบางรายละเอียดระหว่างเส้นทางการเลี้ยงดูลูก ยังมีอีกหลายข้อคิดรอการเปิดอ่านอยู่ในหนังสือเล่มนี้
…แล้วความสัมพันธ์ที่งดงามที่สุดเท่าที่มนุษย์จะมีได้ กลับกลายเป็นเรื่องโหดร้ายและเจ็บปวดขนาดนี้ได้อย่างไร
อะไรกันที่ทำให้คนที่รักกันได้อย่างที่สุด…พ่อ แม่ ลูก ต้องมาอยู่กันในสภาพนี้
คุณเองก็คงต้องเรียนรู้หาคำตอบในแบบของคุณ ไม่จำเป็นต้องเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด เพียงเรียนรู้จากลูกของคุณเพื่อให้เขาเติบโตมากกว่าการเป็นแค่ ‘ลูก’ แต่เติบโตไปเป็น ‘มนุษย์’ ที่พร้อมรับความเจ็บปวดในวันข้างหน้า และเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่าทุกลมหายใจ…ถ้าหากคุณเป็นพ่อแม่คนหรือกำลังจะเป็น พึงระลึกว่าคุณมีเวลาจำกัด และเมื่อเวลาของคุณหมดก็คือหมด
ลองนึกถึงวินาทีแรกที่มนุษย์เด็กคนหนึ่งลืมตา เปราะบาง เล็กจ้อย หัวล้าน ฟันหลอ และจะว่าไปค่อนข้างอัปลักษณ์ (ฮ่าฮ่าฮ่า…พี่แหม่มว่าอย่างนั้น) เมื่อเขาร้องไห้ประหนึ่งคนหัวใจสลายเพียงคุณลับหายไป ไม่ใช่เพราะเขาเอาใจยาก แต่เป็นเพราะว่าคุณคือโลกทั้งใบของเขา
“อย่าปล่อยให้ความเดียวดาย โอบกอดเหล่ามนุษย์ลูกนานเกินไป” – จากมนุษย์ลูกถึงมนุษย์พ่อมนุษย์แม่