บอกลาความสูงส่ง - แตกต่าง เมื่อมนุษย์เป็นเพียงหุ่นฟาง จาก...อำลามนุษยนิยม - Decode
Reading Time: 2 minutes

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ
มีศีลธรรม คุณธรรม มีมโนธรรมสำนึก มีอำนาจในการเลือก ไปจนถึงมนุษย์มีเจตจำนงเสรี
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มนุษย์นั้นแตกต่างจากสัตว์

นั่นคือ สิ่งที่เหล่าทฤษฎีด้านเดียวพร่ำบอกเรามาตลอดเวลา
คือ สิ่งที่สนับสนุนประโยคหลอกลวงสั้นๆ ว่า “เราแตกต่างจากสัตว์”

บทวิคราะห์ในหนังสือ “อำลามนุษยนิยม”
กล่าวว่า ‘มนุษย์’ หรือสัตว์ตระกูลไพรเมตนี้ ไม่ได้แตกต่างไปจากสัตว์อื่น ๆ
มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ของโลก ของปรากฏการณ์
ที่ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไร เหมือนกับที่ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หนึ่งในผู้แปลหนังสือร่วมกับ ชยางกูร ธรรมอัน อธิบายเพิ่มเติมว่า

เนติวิทย์ : “อำลามนุษยนิยม” มาจากหนังสือภาษาอังกฤษชื่อว่า Straw dogs (สุนัขหุ่นฟาง) ในคัมภีร์เต้าเต๋อจิง หรือ เต๋า ที่บอกว่า… “ปราญช์นั้นไร้เมตตาปฏิบัติคล้ายผู้คนนั้นเป็นเพียงหุ่นฟาง”
ฟ้าและดิน ทำหน้าที่โดยไม่ได้แยแสมนุษย์ มองมนุษย์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ที่ไม่ได้รับความสนใจอะไร เสมือน ‘หุ่นฟาง’ ที่หลังจากถูกใช้ในการทำพิธีกรรมต่างๆ เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็จะถูกเผาทิ้ง

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เหล่าผู้เป็นมนุษย์อย่างเรา ๆ จะยอมรับ หรือเปิดรับด้วยความเต็มใจ กับบทความแกมกล่าวหาและโจมตีความเป็นมนุษย์ แต่ขอยอมรับกันตรง ๆ ว่า เราดันตกกระไดพลอยโจน กับประโยคหลังปกของ Don Cupitt ที่ว่า “ยิ่งคุณไม่เห็นด้วยกับข้อถกแถลงหลักของ จอห์น เกรย์ มากเท่าไร คุณก็จะยิ่งได้ความรู้จากเขามากเท่านั้น” กลิ่นของความท้าทายดลใจให้เราเลือกหยิบ “อำลามนุษยนิยม” ของ จอห์น เกรย์ นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษขึ้นมา เพื่อค้นหาความเป็นจริงของมนุษย์ และถือเป็นโอกาสที่เราจะหยิบกระจกส่องตัวเอง

ลัทธิมนุษยนิยมที่บอกว่า คุณค่าของมนุษย์ คือ การที่มนุษย์มีศีลธรรม ควบคู่ไปกับการบอกว่ามนุษย์นั้นมีเจตจำนงเสรี นั่นเป็นความย้อนแย้งที่สุดสำหรับหนังสือเล่มนี้ ที่มองว่าเมื่อมนุษย์ประกอบสร้างศีลธรรมขึ้นมา เจตจำนงเสรีนั่นก็จะถูกฟันจนขาดสะบั้นในทันที เพราะเหตุใดจึงคิดเช่นนั้น อาจจะต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ‘เจตจำนงเสรี’ ของมนุษย์ได้ถูกปลดปล่อยอย่างอิสระหรือเปล่า ?

เจตจำนงเสรีและศีลธรรม

การมีเจตจำนงเสรี พูดง่ายๆ ในความหมายของมนุษยนิยม
ก็คือ…การที่มนุษย์สามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้
ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ตั้งคำถามว่า มนุษย์นั้นสามารถลิขิตชีวิตตัวเองได้จริงหรือ ?
โดยที่ผู้เขียนอย่าง จอห์น เกรย์ ได้หยิบเรื่องราวที่เป็นตัวอย่าง
ของการที่มนุษย์นั้นไม่สามารถเลือกได้อย่างเสรี เรื่องราวที่มีชื่อว่า… การกระโดดของลอร์ดจิม

ลอร์ดจิม โจเซฟ ลูกชายของนักบวชชาวอังกฤษ ผู้หลงเสน่ห์การใช้ชีวิตแบบกลาสีเรือ เขาได้สมัครเป็นต้นหน ปัตนา เรือกลไฟลำหนึ่ง ที่บรรทุกผู้แสวงบุญกว่า 800 คนมุ่งหน้าสู่เมกกะ เรือปัตนามุ่นหน้าต่อก่อนที่จะชนเข้ากับสิ่งกีดขวาง และตั้งท่าจะอับปางกลางมหาสมุทร ขณะเดียวกันกับ กัปตันและเจ้าหน้าที่ประจำเรือทยอยกันลงเรือชูชีพ ทิ้งพวกแสวงบุญไว้ตามยถากรรมบนเรือปัตนา เสี้ยววิแรกจิมเพียงแค่มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะผู้ชมเท่านั้น ทว่าในที่สุดเขาก็กระโดดลงไป และพบตัวเองอยู่ในเรือชูชีพแล้ว

ท้ายที่สุดปรากฎว่าเรือไม่ได้อัปปาง ผู้โดยสารทุกคนถึงฝั่งอย่างปลอดภัย แต่ชีวิตของจิมนั้นเปลี่ยนไปตลอดกาล เหล่ากัปตันหายตัวไป มีเพียงจิมที่ถูกไต่สวนสาธารณะคนเดียวเท่านั้น และตัวเขาเองรู้สึกว่า ตนนั้นได้ทรยศต่อจริยธรรมของชาวเรือ

เรื่องราวของ ลอร์ด จิม ได้พิสูจน์ว่า มนุษย์ไม่อาจมีเจตจำนงเสรีได้
เพราะหากมนุษย์มีทางเลือกจริง การที่ ลอร์ด จิม จะรับผิดชอบต่อการกระโดดของเขา
เขาย่อมทำอย่างอื่นแทนการถูกไต่สวนสาธารณะได้
และจะไม่ถูกตีตราว่า เขาเป็นคนทรยศต่อจริยธรรมที่ชาวเรือควรมี

หนังสือเล่มนี้จึงแสดงทัศนะออกมาในเชิงที่ว่า การมีเจตจำนงเสรี ไม่สามารถมีได้พร้อม ๆ กับศีลธรรมที่มนุษย์ยึดให้เป็นตัวตัดสินถูกผิด ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ลอร์ด จิม ตกอยู่ภายใต้คำถามที่เขาเองก็ไม่อาจตอบได้ว่า เขากระโดดเองใช่หรือไม่ หรือเหตุการณ์ผลักเขาให้ทำแบบนั้น

หากหลักการมนุษยนิยมที่บอกว่า ‘การตัดสินใจของมนุษย์’ นั้น
มักต้องมาพร้อมกับสถานการณ์หนึ่ง ๆ เสมอ
นั่นหมายความว่าสิ่งที่มนุษย์ต้องทำก็คือ การทำตามความจำเป็น และข้อบังคับตามศีลธรรม
มนุษย์ไม่สามารถลิขิตการกระทำ หนึ่ง สอง สาม สี่ ในชีวิตได้เสมอไป
ถึงแม้จะมีความทะเยอทะยานให้ชีวิตสามารถลิขิตได้ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะลิขิตอย่างอื่นๆ ได้
ซึ่งอาจจะด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ อำลามนุษย์นิยม มองว่า ‘เราเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสรรพสิ่ง’ เท่านั้น

ซึ่งหนังสืออำลามนุษยนิยม บอกว่า มนุษย์ยังไม่ละความพยายามที่จะหาเหตุผล และสร้างสิ่งที่ทำให้ตนสามารถควบคุมอย่างอื่นได้ ความพยายามในแบบฉบับที่ให้ศูนย์กลางของความหมายและคุณค่ามาขึ้นตรงอยู่กับผู้เป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักปรัชญาด้านมนุษยนิยมเองก็รู้ดีว่าเป็นเช่นนั้น
ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นถึง ความทะเยอทะยานของมนุษย์ที่ได้ปรากฎเด่นชัดที่สุดผ่านความก้าวหน้าและวิทยาศาสตร์ ที่มนุษย์ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นความศรัทธาใหม่ หลังยุคเทวนิยม

หน้ากาก ‘ความก้าวหน้าและวิทยาศาสตร์’ แด่…การอยู่รอดของมนุษย์

หลักคิดของลัทธิสุญนิยม (nihilism) ที่ว่า…

ไม่มีสวรรค์-นรก คน-สัตว์เกิดตายแล้วสูญ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ถาวร
คุณธรรม ศีลธรรม ความดี ความงาม ความจริง หรือแม้กระทั่งคุณค่า
ล้วนไม่มีอยู่จริง ไม่มีแม้แต่ความหมายใดๆ ในตัวของมันเอง
ถ้าอิงตามหลักของลัทธินี้ ทุกสิ่งทุกอย่างต่างไร้ความหมาย ไม่มีอะไรที่คาดเดาได้
แม้แต่ความก้าวหน้าก็เป็นมายาคติ หลักคิดนี้ทำให้มนุษย์ดูไร้ความหวัง แต่มนุษยนิยม (Humanism) นั้นเชื่อในความก้าวหน้า การปฏิเสธหลักคิดสุญนิยมนั้นจึงทำได้ง่ายกว่า การยอมรับว่าไร้ความหวัง

มนุษยนิยมเชื่อว่าอำนาจใหม่ที่มาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ จะทำให้มนุษย์สามารถเป็นอิสระ
ไม่ถูกตีกรอบชีวิตเหมือนสัตว์อื่นๆ ไปจนถึงอภิสิทธิ์พิเศษในความต่าง
ความเชื่อเรื่องทางรอดและความสามารถในการกำหนดชะตาตัวเอง ถูกตั้งเป็น ‘ความหวัง’
และวิทยาศาสตร์ก็เสมือนใบเบิกทางหลีกหนีจากความไม่แน่นอน
เพราะถ้าไม่เห็นถึงอนาคตที่แน่นอนและดีกว่า
การดำรงอยู่ต่อของมนุษย์คงเป็นไปแบบ ‘ภาวะไร้ซึ่งความหวัง’
ดังนั้น ความก้าวหน้าจึงเป็นดั่งหน้ากากของความหวัง ที่จะดำรงรักษาไว้ซึ่งหนทางแห่งการอยู่รอด

แต่ว่าความก้าวหน้าที่พามนุษย์มาถึงจุดนี้ จุดที่ดีกว่าอดีตจริงหรือ?
จอห์น เกรย์บอกว่า

“ไม่มีอะไรน่าสิ้นหวังไปกว่าการมอบโลกทั้งใบให้อยู่ในน้ำมือของสัตว์สปีชีส์ทำลายล้าง”

นอกจากสั่งสมความรู้เพื่อความก้าวหน้า มนุษย์ที่วางตัวเป็นศูนย์กลาง
จัดวางทุกสิ่งอย่างนอกจากตนเองให้อยู่ชายขอบ
สัตว์ป่าต้องให้พื้นที่มนุษย์ ในการเพาะปลูกและอยู่อาศัย
เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างช้างป่ากับเกษตรกร
ที่หาจุดกึ่งกลางและกล่าวโทษไม่ได้ว่าใครผิด
เกิดเป็นการสูญพันธุ์ของเผ่าพันธุ์อื่น
ที่มีต้นตอจากความก้าวหน้าของสัตว์ตระกูลไพรเมต นักประดิษฐ์ประดอย

มนุษย์พยายามสร้างความรู้  สร้างสิ่งที่ทำให้สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้
อย่างเทคโนโลยี ที่ถูกสร้างขึ้นพร้อมๆ กับความหวังที่จะทำให้โลกดีขึ้น
แต่เทคโนโลยีก็อาจนำมาซึ่งการทำลายล้างสักวันหนึ่ง
สูตรสำเร็จรูปของขีปนาวุธที่ร้ายแรงที่สุดวันนี้ยังอยู่ในมือของผู้ประสงค์ดี
แต่ไม่มีอะไรสร้างความแน่นอนว่าผู้ก่อการร้ายจะไม่มีวันได้มันไป
เช่นเดียวกันกับไม่มีใบรับประกันวันหายนะที่แน่นอน

จำนวนประชากรโลกปัจจุบันที่มากกว่า 6 พันล้าน
และจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยที่สุดหนึ่งพันสองร้อยล้านคน ภายในปี 2050
มีคำทำนายว่า…

เมื่อเราถลุงทรัพยากร และขูดรีดจากสิ่งมีชีวิตอื่นจนหมด เราก็จะใช้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เปลี่ยนจากผืนดินที่เคยเป็นป่าฝนเป็นทะเลทรายสีเขียว ใช้พันธุวิศวกรรมที่ทำให้สามารถผลิตพืชผลได้มากขึ้นบนผืนดินที่มีสารอาหารร่อยหรอลง ยุคที่มนุษย์สร้างขึ้นมาใหม่เรียกว่า เอเรโมโซอิค (Eremozoic) หรือ ยุคแห่งความโดดเดี่ยว มนุษย์จะสร้างยุคทางธรณีวิทยาใหม่ขึ้นมาให้ตนเอง ยุคที่มีแต่มนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเทียมเท่านั้น

ภาพอนาคตถูกกลับหัว เมื่อหนังสือหักมุมด้วยการบอกว่า สิ่งที่เรากล่าวไปข้างต้นไม่อาจเกิดขึ้นได้
มนุษย์อาจไม่ได้ไปถึงยุคเอเรโมโซอิคบีเรโมโซอิค หรือซีเรโมโซอิค จำนวนมนุษย์อาจเพิ่มขึ้นช่วงหนึ่ง แต่หลังจากนั้นจะลดลง นั่นก็เพราะ กลไกควบคุมตัวเองของโลก

เห็นได้ชัดๆ จากเรื่องใกล้ตัว อย่าง ภาวะโลกร้อน
ที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่าเป็น ‘ปรากฏการณ์ธรรมชาติทวงคืน’
ผลข้างเคียงจากสภาพอากาศที่เหมาะสมน้อยลงต่อการดำรงชีวิต
โรคเกิดใหม่ สภาวะขาดแคลนอาหาร หรือแม้แต่ภัยจากสงคราม ที่จะเข้ามาหยุดโรคมนุษย์ระบาด
ไปจนถึงห้วงเวลาแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยกันเอง

ดั่งคำล้อเลียนของ เลนาร์ด ซี. ลูวิน ในศตวรรษที่ยี่สิบ ว่า:

         มนุษย์เหมือนสัตว์สปีชีส์อื่น คือ อยู่ภายใต้กระบวนการปรับตัวอย่างต่อเนื่องให้เข้ากับขีดจำกัดของสภาพแวดล้อม อย่างกลไกเลี่ยงภาวะขาดแคลนอาหารที่มนุษย์ยุคหลังนีโอลิธิคทำลายสมาชิกส่วนเกินของสปีชีส์พวกเขาด้วยการทำสงคราม

ในส่วนของบทวิเคราะห์ความก้าวหน้าของหนังสือเล่มนี้ อาจดูเหมือนว่าจะมาก่อนกาลสักหน่อย ซึ่งเราเอง (ผู้เขียนบทความนี้) ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า สุดท้ายแล้วมนุษย์จะดำรงอยู่ต่อในรูปแบบไหน คำตอบของธรรมชาติหรืออะไรก็ตามจะจัดสรรให้มนุษย์มีจุดจบอย่างไร หรือมนุษย์ท้ายที่สุดจะสามารถกำหนดชะตากรรมชีวิตของตนเองได้สำเร็จ

ไม่ว่าคำตอบสุดท้ายจะยืนอยู่ฝ่ายอำลาหรือสรรเสริญความเป็นมนุษย์ แต่ไม่มีถ้อยคำใดที่ผู้เขียนแสดงถึงการปิดกั้นความเชื่อของผู้อ่าน หรือบีบบังคับให้เห็นด้วย ซึ่งสำหรับเราหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนการย้อนดูตัวเรา แบบไม่เปิดโอกาสให้หลอกตัวเอง และสำหรับผู้แปลอย่างเนติวิทย์เอง ก็บอกว่า ไม่อยากด่วนสรุปว่าเห็นด้วยหรือไม่ แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี