ปากคำมนุษย์ ป.โท สายสังคมศาสตร์ กับความจำเป็นของ “สังคมศาสตร์” ในสังคมที่มองไม่เห็นความจำเป็น - Decode
Reading Time: 3 minutes

บ่อยครั้งคนที่เลือกเรียนสาย “สังคมศาสตร์” ในระดับมหาวิทยาลัย มักจะเจอคุณลุงคุณป้าคุณน้าคุณอาข้างบ้านถามคำถามที่ไม่ค่อยสบอารมณ์สักเท่าไรนักเช่นว่า เรียนจบไปทำอะไร? หรือไม่ก็ถามซอกแซกเสียยิ่งกว่าพ่อแม่ผู้ส่งเสียค่าเล่าเรียนว่า ได้เงินเดือนเท่าไร?

ต้นตอของคำถามแบบนี้ จะต้องมองให้ลึกลงไปกว่าเจตนาของคนถามว่า บริบทแบบไหนกันจึงเอื้อให้พวกเขาเอ่ยคำถามแบบนี้ออกมา

ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เริ่มจัดสายการเรียนให้กับนักเรียน สายวิทย์-คณิตฯ จะได้รับความนิยมมากที่สุด และถูกจัดให้อยู่ในห้องแรก ๆ ผิดกับสายสังคมฯ ที่ถูกผลักไปอยู่ห้องท้าย ๆ และมักเป็นสายการเรียนที่ไว้รองรับคนที่ไม่ตั้งใจเรียนในสายตาครู มีเกรดเฉลี่ยต่ำ รวมถึงคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองเหมาะสมกับการเรียนแบบใด

พอถึงระดับอุดมศึกษา มุมมองคู่ตรงข้ามระหว่างสายวิทย์-คณิตฯ กับสายสังคมฯ ยังปรากฏอยู่ และเผยให้เห็นถึงความต่างชั้นอย่างชัดเจนมากขึ้น เช่น เวลาแยกย้ายเข้าสู่ระบบการทำงานหลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวนเงินเดือนที่เริ่มต้นไม่เท่ากัน ทั้งที่มีวุฒิการศึกษาเท่ากันนั้น สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของสายการเรียนได้พอสมควร ตราบเท่าที่หายใจอยู่ในโลกทุนนิยมที่เงินเป็นตัวแปรสำคัญ

ทำไมปัญหาแบบนี้จึงเกิดขึ้นมา?

บ้างก็ว่าเป็นเพราะผู้เรียนสายสังคมฯ ไม่ได้มีทักษะที่หลากหลายมากพอที่จะขอเงินเดือนในจำนวนเท่ากับสาขาอื่น ๆ
บ้างก็ว่าผู้เรียนสายสังคมฯ เรียนอะไรที่มันเป็นนามธรรมเกินไป เอามาปรับใช้กับการทำงานได้ไม่ดีเท่าสายวิทย์-คณิตฯ

ถ้าเจอข้อครหาเหล่านี้ ผู้เรียนสายสังคมฯ อาจตอบกลับได้ว่า ความคิดเห็นเช่นนี้ก็นามธรรมเหมือนกัน ค่านิยมหลักของการเรียนเพื่อการทำงานในสังคมไทย เอาอะไรมาเป็นเกณฑ์วัดว่าทักษะแบบไหนทำงานได้หรือไม่ได้ ทักษะแบบไหนควรได้เงินมากหรือน้อยกว่ากัน?

เพื่อจะก้าวข้ามขีดจำกัดหลายอย่างของวุฒิ ป.ตรี ทำให้ผู้เรียนสายสังคมศาสตร์จำนวนหนึ่งจึงเลือกเรียนต่อ ป.โท ด้วยความหวังในโอกาสที่จะได้ความก้าวหน้าทางอาชีพและจำนวนเงินเดือนเพิ่มมากขึ้นตามมา

ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตขึ้นในสังคมเช่นนี้ De/code จึงชวน มนุษย์ ป.โท สายสังคมศาสตร์ มาร่วมสัมภาษณ์แลกเปลี่ยนมุมมอง 3 คน 3 สาขา 3 มหาวิทยาลัย เพื่อทำความเข้าใจตั้งแต่ความจำเป็นในการเรียนต่อปริญญาโท มุมมองต่อศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียน จนถึงปัญหาทางสังคมที่พวกเขาประสบพบเจอ

แรงจูงใจที่มากกว่าเรียนไปให้มันจบ ๆ

“อยากทำงานด้านประวัติศาสตร์ คิดว่าถ้าได้เรียนระดับ ป.โท จะได้องค์ความรู้ที่ลึกกว่าและกว้างกว่า การเรียนก็เข้มข้นกว่า ป.ตรี และถ้าได้วุฒิ ป.โท ไปสมัครงาน ก็จะได้ขยายฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้นด้วย”

คำตอบแบบกระชับแต่ครบถ้วนของ หมวย-จรัสศรี สมตน นิสิต ปริญญาโท สาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คงเหมือนกับเหตุผลของใครหลาย ๆ คนที่เลือกเรียนต่อปริญญาโท ซึ่งหมวยเลือกเรียนต่อใน “โครงการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาต่อเนื่องจากปริญญาตรี” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “โครงการ 4+1” โดยเป็นหลักสูตรเรียนควบ กล่าวคือ เริ่มเรียนปริญญาโท ปี 1 ในวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ยังเรียน ปริญญาตรี ปี 4 ที่สาขาและมหาวิทยาลัยเดียวกันในวันจันทร์-ศุกร์

ต่างจาก อาทวิทวัส อภิญ ที่หลังก้าวออกจากรั้ว มศว ด้วยวุฒิการศึกษา ปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ ก็เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริการการศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ทำงานได้เพียงหนึ่งปี อาทตัดสินใจลาออกแล้วเรียนต่อ ปริญญาโท ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกับที่ตนได้ทำงาน ซึ่งมีเหตุผลมาจากความสนใจด้านวิชาการสาขานี้อย่างจริงจัง

“เราสนใจประเทศไทยและเหตุการณ์ทั่วโลก คิดว่าสาขาที่เลือกเรียนมันตอบโจทย์ เพราะเราได้ใช้ความรู้ครบถ้วน และสนใจที่จะทำงานในด้านวิชาการต่อไป จึงคิดว่าสาขาที่เลือกเหมาะสม และยังได้แรงบันดาลใจมาจากงานวิชาการที่เคยอ่านด้วย”

อีกคนที่ให้สัมภาษณ์ คือ ป้อปพรรณนิภา น้อยพรรณ นักศึกษาปริญญาโท สาขานโยบายทางสังคม วิชาเอกนโยบายและการบริหารงานยุติธรรม คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนจบ ปริญญาตรี สาขาการวิจัยทางสังคม จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ปัจจุบันยังประกอบอาชีพครูควบคู่กับเรียนปริญญาโท ด้วยแรงจูงใจในการเรียนต่อของป้อปมาจากการเรียนวิชานโยบายสังคมในระดับปริญญาตรี ทำให้เลือกเรียนต่อในสาขาที่มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อให้การศึกษาในด้านนี้มีความถ่องแท้มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่ป้อปให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

“หากสังคมจะสงบสุขเป็นปกติสุขได้ กระบวนการยุติธรรมก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญด้วยเช่นกัน”

จากเหตุผลของทั้งสามคนในการเลือกเรียนต่อ ทำให้พอจะเข้าใจได้ว่า ประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนโยบายทางสังคม ที่เป็นศาสตร์ย่อยใน “สังคมศาสตร์” ล้วนแต่ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม

สาขาที่ป้อปเรียนอยู่นั้น ส่วนใหญ่เป็นรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสังคม กอปรกับทฤษฎีอาชญาวิทยา และรายวิชาเกี่ยวกับการบริหารงานยุติธรรม ซึ่งสาขานี้ “ถือว่ามีความสำคัญกับสังคมเป็นอย่างมาก การที่สังคมสงบสุขอยู่อย่างสันติ ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด ส่วนหนึ่งล้วนอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียม บนพื้นฐานของความดีงาม คุณธรรมและจริยธรรม”

เมื่อไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่อยู่บนบรรณพิภพนี้ สาขาที่อาทเรียนอยู่นั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะถึงแม้การเรียนจะเน้นหนักไปที่การต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ รวมถึงรัฐมหาอำนาจ แต่ไทยก็เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับเวทีโลกด้วย

“เราไม่สามารถแยกตัวออกจากประชาคมโลกแล้วอยู่โดด ๆ ได้ มองง่าย ๆ ปัจจุบันไทยพึ่งพาการส่งออกเกือบครึ่ง ยังไม่นับการหยิบยืมทางวัฒนธรรมกับทั้งประเทศใกล้บ้านและไกลบ้าน กระทั่งการก่อรูปของรัฐไทยก็ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากต่างประเทศ”

ส่วนความสำคัญของสาขาประวัติศาสตร์ที่หมวยเรียนอยู่ทำให้เข้าใจว่า การมองย้อนกลับไปในอดีต จะช่วยทำให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ดีขึ้น

“ในการมองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองหรือวัฒนธรรม ทำให้เรามองเห็นถึงประเด็นและความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาที่มีปัจจัยแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ซึ่งเรามองว่ามันทำให้เราเข้าใจในประเด็นหรือปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถเอามาถกเถียง แล้วก็นำมาสู่การสร้างทางออกที่ดีขึ้นได้”

ต้องรอด! ในสภาพเศรษฐกิจที่สาหัส

สภาพเศรษฐกิจที่ทรุดโทรมหนักแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ทำให้การเดินทางสู่เป้าหมายที่คาดหวังไว้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย จากปกติที่ต้องดั้นด้นทำงานไปเรียนไปอยู่แล้ว การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้การดำเนินชีวิตลำบากขึ้นไปอีก ส่วนโจทย์ท้าทายเรื่องการบริหารเวลาและการเงินที่มนุษย์ปริญญาโท ต้องเผชิญมาตลอดก็ทวีคูณเข้าไปตามจำนวนเงื่อนไขในชีวิตของแต่ละคน

แล้วทั้งสามคนประสบปัญหาที่ว่านี้ขนาดไหน?

ชีวิตของอาทสามารถบาลานซ์เวลางานและเวลาเรียนได้เป็นอย่างดี อาททำงานพาร์ทไทม์เป็นผู้ประสานงานโครงการวิจัยในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับระบบของสถาบันวิจัยในต่างประเทศ ทำให้มีผลกระทบกับการเรียนน้อยมาก อาทยอมรับว่าการที่มีประสบการณ์ทำงานประจำที่จุฬาฯ มาก่อน ทำให้ได้รับโอกาสในการทำงานนี้ ซึ่งนิสิตหลายคนไม่มีโอกาสได้ทำ นอกจากนี้ ทางครอบครัวที่สนับสนุนการเรียนอยู่ก็ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการลดค่าเทอมให้ 10%

ส่วนชีวิตของป้อปก็ไม่ได้มีผลกระทบทางการเรียนอะไรมากนัก แม้ต้องประกอบอาชีพครูควบคู่ไปด้วย แต่ป้อปสามารถนำสิ่งที่ศึกษาไปใช้กับการทำงานของตนได้เป็นอย่างดี ส่วนปัญหาทางเศรษฐกิจมีกระทบบ้าง ทำให้ป้อปต้องตัดสินใจให้ถี่ถ้วนก่อนจะเสียค่าใช้จ่ายลงทะเบียนรายวิชาในแต่ละหน่วยกิต ต้องมั่นใจจริง ๆ ว่าศักยภาพตนเองมีมากพอที่จะสอบผ่านในรายวิชานั้น ๆ ส่วนทางมหาวิทยาลัยก็มอบทุนการศึกษาให้อยู่ตลอด

แต่ชีวิตของหมวยได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เดิมทีหมวยต้องหารายได้ระหว่างเรียนจากการทำงานฟรีแลนซ์หลายอย่างที่ไม่ได้ตรงกับสาขาที่เรียน เช่น รับงานพิเศษที่มีบริษัทมาจ้างให้ช่วยจัดการประชุมหรือช่วยดูการประชุมผ่านแอปพลิเคชัน หรือไม่ก็รับจ้างแพ็คของ ซึ่งจำนวนวันของการทำงานก็แล้วแต่ผู้ว่าจ้าง

“ปกติงานจะมาไม่เลือกช่วงเวลา ถ้าจำเป็นจะต้องใช้เงินในช่วงนั้น เราก็ต้องเลือกงานไว้ก่อนเลือกเรียน ทำให้ไม่สามารถเขียน Thesis ช่วงนั้นได้ เพราะต้องออกไปทำงานแต่เช้ามืด กลับมาก็มืดค่ำแล้ว… พองานหมดหรืองานทิ้งช่วงก็ค่อยกลับมานั่งทำ Thesis ใหม่ สำหรับเรามันยาก ทำให้เขียนไม่ปะติดปะต่อ ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจใหม่ตลอด”

พอเกิดโควิด-19 งานฟรีแลนซ์ที่เคยทำก็ไม่มีเข้ามา รายได้จากตรงนั้นก็หาย แต่ยังโชคดีที่ทางครอบครัวพอสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้บ้างแม้จะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และทางมหาวิทยาลัยก็งดเก็บค่าเทอมตั้งแต่ซัมเมอร์ 2563 จนสิ้นสุดปีการศึกษา

แต่สิ่งที่หนักที่สุดสำหรับหมวยคงหนีไม่พ้นเรื่องการเรียนที่ไม่จบตามแผนของ “โครงการ 4+1” ซึ่งตามหลักสูตรต้องการให้เรียนจบภายใน 2 ปี ที่เป็นเช่นนี้ เพราะหอสมุดหรือหน่วยงานรัฐต่าง ๆ อาทิ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติและสำนักหอสมุดแห่งชาติ ที่จำเป็นต่อการหาหลักฐานมาเขียนปริญญานิพนธ์ ปิดทำการไปหลายเดือน ยังไม่รวมถึงระบบส่งเอกสารของบัณฑิตวิทยาลัย มศว ที่เปลี่ยนมาใช้ระบบออนไลน์ ซึ่งปกติการส่งเอกสารก็ใช้เวลาตรวจสอบนานอยู่แล้ว พอให้ส่งแบบออนไลน์ กลายเป็นว่าต้องมาใช้เวลากับการจัดการเอกสารเพิ่มขึ้นไปอีก แทนที่บัณฑิตวิทยาลัยจะช่วยให้เราจบเร็วขึ้น เราต้องเอาเวลาช่วงนี้มากังวลกับกระบวนการส่งเอกสาร ไม่ได้โฟกัสกับ Thesis เท่าที่ควร”

รัฐผูกขาดสังคมศาสตร์” ถูกบิดเบือน

หลังจากตั้งคำถามเกี่ยวกับแรงจูงใจส่วนตัวและปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบกับการเรียน ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่ได้ คือ คำตอบของทั้งสามคนจะเชื่อมโยงกลับมาสู่ประเด็นหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเสมอ

คำถามต่อแรงจูงใจส่วนตัว ต่างก็ให้คำตอบในมุมมองที่สาขาที่เรียนอยู่นั้นมีความเกี่ยวข้องกับสังคม ส่วนคำถามต่อปัญหาทางเศรษฐกิจ ต่างก็มีมุมมองที่จะชี้เห็นว่างานที่ทำอยู่เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับสาขาที่ตนเรียนอย่างไร ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อการเรียน

โจทย์คำถามที่ตั้งต่อไป จึงชวนทั้งสามคนมองไปยังบริบทภาพใหญ่เกี่ยวกับสถานะของ “สังคมศาสตร์” ในสังคมไทย ซึ่งรัฐไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญในแง่มุมของการเป็นศาสตร์ที่เปิดเสรีภาพทางความคิดให้เกิดการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อนำไปสู่ทางออกของปัญหาที่ดีกว่า ครั้นจะให้ความสำคัญขึ้นมา กลับกลายเป็นการผูกขาดความรู้ทาง “สังคมศาสตร์” ชุดเดียว อันเป็นชุดที่รับมรดกสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษที่ขีดเขียนไว้ เพื่อกล่อมเกลาให้ความคิดประชาชนอยู่ใต้บงการ

อาทให้ความเห็นในประเด็นข้างต้นว่า รัฐไทยจัดวางสถานะของ “สังคมศาสตร์” ให้เป็นสิ่งที่ต้องทำหน้าที่รับใช้รัฐซึ่งสัมพันธ์กับการสร้างแนวคิดชาตินิยมให้แก่คนในประเทศ

“ถ้าเราทำให้ผู้อยู่ใต้ปกครองศรัทธาสัญญะบางอย่างได้ มันก็ทำให้รัฐปกครองได้ง่ายขึ้น ความสงสัยที่มีต่อการใช้อำนาจก็น้อยลง ทั้งที่ความจริงเราควรต้องสงสัยต่ออำนาจอย่างถึงที่สุด เพราะมันส่งผลต่อเรา”

เช่นเดียวกับความเห็นของหมวยที่มองว่า “สังคมศาสตร์” ไม่ใช่ความรู้ที่จะมาผูกขาดเพียงชุดเดียว

“บ้านเราไม่ค่อยสนับสนุนเรื่องการถกเถียง อย่างเรื่องประวัติศาสตร์ มันกลับกลายเป็นว่ารัฐวางพล็อตแบบราชาชาตินิยมให้เราศึกษา ตามเรื่องที่เขาอยากให้เรารับรู้มาอยู่แล้ว”

Mindset ของรัฐที่ใช้ผูกขาดความรู้ทาง “สังคมศาสตร์” แบบนี้ ไม่ต่างอะไรจากการโฆษณาชวนเชื่อสมัยสงครามเย็น อย่างกรณีปฏิบัติการ IO (Information Operations) ที่เอามาใช้ตอบโต้คนรุ่นใหม่ในโลกออนไลน์ มันดูล้าสมัย สะท้อนว่ารัฐไม่เคยพยายามทำความเข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่เลย ทำให้ความรู้สึกของหมวยที่กำลังเร่งเขียน Thesis เกี่ยวกับการเมืองในการทหารช่วงสงครามเย็นอยู่นั้น เต็มไปด้วยความหงุดหงิด

“เวลาอ่านเจอหลักฐานในช่วงนั้น แล้วมองกลับมาในปัจจุบัน ทำให้รู้ว่าความคิดของเขาไม่ไปไหนจริง ๆ มันทำให้รู้สึกหงุดหงิด แล้วทำให้เรา… พูดตรง ๆ นะ ไม่อยากทำเลย รู้สึกว่าต้องมาเจอกับความคิดชุดเดิม ๆ เมื่อ 50-60 ปีก่อน มันน่าปวดหัวมากที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย”

มุมมองรัฐที่มุ่งจำกัดความรู้ทาง “สังคมศาสตร์” ให้คับแคบและปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ นำมาซึ่งการที่คนในสังคมจำนวนมากมองว่า “สังคมศาสตร์” เป็นศาสตร์ที่ศึกษาไว้เพื่อรับทราบและทำตามกรอบระเบียบของรัฐ หรือเพื่อซาบซึ้งต่อสัญญะบางอย่างที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ในแง่การประกอบอาชีพหรือแสวงหารายได้ หมวยค้านเสียงแข็งต่อมุมมองแบบนี้

“บ้านเราเขาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับศาสตร์ที่ไม่สามารถจับต้องได้ แต่ให้ความสำคัญกับศาสตร์ที่เป็นวิชาชีพ เช่น เรียนหมอจบมาเป็นหมอ เรียนพยาบาลจบมาเป็นพยาบาล สายสังคมศาสตร์เองไม่ได้เป็นรูปธรรมขนาดนั้น อาจจะบอกได้ว่าเราเรียนจบมาเราเป็นครูสอนประวัติศาสตร์ก็ได้ แต่ที่จริงมันเป็นได้มากกว่านั้น… อย่างหนังสือเกี่ยวกับการเมืองไทยที่ดังจนเป็นกระแสในปัจจุบัน เป็นตัวอย่างของความคิดที่เอาไปขายได้”

เพราะไม่เป็น “รูปธรรม” คนเลยมองว่าไม่เป็นวิชาชีพ

เพราะ “นามธรรม” เกินไปจึงควรจำกัดให้อยู่แค่ในพื้นที่วิชาการ แล้วให้คุณลุงคุณป้าคุณน้าคุณอาข้างบ้านที่ช่างสงสัยซักถามต่อไปเรื่อย ๆ ว่า เรียนอะไร? ทำงานอะไร? เงินเดือนเท่าไร? ตอบ ตอบ ตอบ!

อาทปฏิเสธทันควันเมื่อได้ฟังเรื่องความเป็นนามธรรมที่ไม่เข้าหูเขาสักเท่าไร

“ไม่จริงเลย ผมมองว่ามันอยู่ที่ความต้องการและเป้าหมายของเรามากกว่า เช่น ถ้าผมอยากเป็นนักประวัติศาสตร์ หรือนักเขียน ผมก็คงไม่ไปเรียนวิศวะหรือแพทย์ แน่นอนว่าเป้าหมายของสายวิทยาศาสตร์ ในทางเทคนิคแล้วเขามีเป้าหมายชัดเจนกว่า แต่มันไม่ได้ทำให้สายสังคมศาสตร์ด้อยค่าลง เพราะคุณค่าที่มนุษย์ยึดถือก็ไม่ได้มีแต่วัตถุที่เป็นรูปธรรม แต่ยังมีเรื่องศาสนา ลัทธิ อุดมการณ์อยู่ด้วย สายสังคมศาสตร์จึงทำหน้าที่ตรงนี้ไปพร้อม ๆ กับสายวิทยาศาสตร์”

ป้อปเองก็ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ทุกคนมีความเชี่ยวชาญ ความถนัดที่แตกต่างกัน หากแต่ล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือการช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นสาขาใด ๆ ก็ตาม สามารถช่วยเหลือสังคมได้เช่นเดียวกัน สามารถนำศาสตร์แขนงต่าง ๆ มาประยุกต์กับบริบทสังคมเพื่อช่วยเหลือ แก้ไข พัฒนาสังคมได้ เพียงแต่สายสังคมศาสตร์อาจจะต้องนำฐานความรู้มาวิเคราะห์กับศาสตร์อื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อเป็นการเน้นย้ำการเปิดมุมมองทางสังคมอย่างรอบด้าน”

การเมืองร้อนระอุ “สังคมศาสตร์” ถูกเร่งเครื่อง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชุมนุมและข้อเรียกร้องทะลุเพดานของกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กอปรกับกระแสการเมืองในโลกออนไลน์ ทำให้ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ (ทางความคิด) หันมาแสวงหาความรู้ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมถึงประวัติศาสตร์ใหม่ ๆ มาใช้ขบคิดเพื่อหาทางออกจากทางตันของระบบการเมืองที่เป็นอยู่อย่างจริงจัง องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เผยโฉมออกมาในช่วงเวลานี้ ล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับสังคมศาสตร์

หมวยมองว่าความรู้ทางสังคมศาสตร์ในปัจจุบัน แพร่หลายตามแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ จำนวนมาก จนความรู้บางอย่างก็นำไปสู่การติดแฮชแท็กร้อนแรง ปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นผลผลิตจากการที่คนเสพความรู้ เช่น การอ่านหนังสือหรือบทความ พออ่านจบแล้วก็รู้สึกอยากจะแชร์ในสิ่งที่รับรู้ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ จึงทำให้เกิดการถกเถียงขึ้นมา

“แต่ก็มีข้อเสียเหมือนกันว่า คนที่เข้าถึงได้เป็นวัยรุ่นถึงวัยทำงานตอนต้น ๆ พอเป็นช่วงวัยพ่อแม่เรา หรือวัยอาวุโส เขาก็เข้าถึง แต่ใช้แค่คุยกับเพื่อน ดูรายการอะไรที่ติดตามเป็นประจำ มากกว่าจะมานั่งถกเถียงกับเราอยู่แล้ว”

ในสายตาของป้อป มองว่าการที่คนให้ความสนใจ “สังคมศาสตร์” ในปัจจุบัน มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนโยบายและการบริหารงานยุติธรรม “ซึ่งกระบวนการยุติธรรมนั้นถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญต่อสังคมเช่นเดียวกัน”

แต่อาทมองปรากฏการณ์นี้ออกเป็นสองแง่มุมหนึ่ง มุมภายในประเทศ คนในสังคมเริ่มตระหนักแล้วว่า Social Norm แบบเดิมของไทยมันไม่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศในอนาคต เพราะมันไปกันไม่ได้กับความคิดของคนรุ่นใหม่ที่สัมพันธ์ไปพร้อม ๆ กับโลกแล้ว สอง มุมภายนอกประเทศตามแบบฉบับคนเรียน IR มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นไปตามแรงเหวี่ยงของโลก

“ไทยก็หนีไม่พ้นเพราะอยู่ในโลก ดูอย่างสหรัฐอเมริกาเขาก็มีวิกฤตตัวตน หรือประวัติศาสตร์ของชาติที่กลับมาหลอกหลอนเขา แต่มันก็สร้างความตื่นตัวให้กับคนรุ่นใหม่ที่ถอยหลังจาก Norm เดิมและรับเอาความหลากหลาย ตรงนี้แหละที่ผมมองว่าสังคมไทยก็อยู่ในแนวทางนี้ แต่เราต่างกับเขาตรงที่ว่าสังคมเราไม่ได้เปิดรับความหลากหลายได้ทั้งหมด เพียงแต่เปิดเป็นช่อง ๆ ให้คนในสังคมยังหายใจได้ แต่ความไม่พอใจมันก็มีและมากขึ้นเรื่อย ๆ ช่องที่เปิดให้หายใจก็ไม่พอแล้ว เพราะคนในสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อึดอัดกับช่องแคบ ๆ ที่เปิดไว้ด้วยความเมตตาของรัฐ

เสียงของทั้งสามคนที่ให้สัมภาษณ์… เป็นเพียงเศษเสี้ยวจากมนุษย์ ป.โท อีกหลายคนที่ไม่ได้เปล่งออกมา
เสียงของทั้งสามคน ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ถูกต้องไปเสียทั้งหมด และก็ใช่ว่าจะผิดไปเสียทีเดียว

พวกเขาเพียงแค่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึกเล็ก ๆ ให้ได้รับฟังกัน
โดยมีความหวัง ณ ปลายทางแห่งการรอคอยว่า ความรู้ทาง “สังคมศาสตร์” จะได้เติบโตและถูกเข้าใจใหม่ในแง่มุมที่มันควรจะเป็น