“แล้วเขารู้รึยังว่าเราเจ็บปวดอยู่”
ประโยคคำถามเพียงสั้น ๆ ของชายวัยรุ่นคนหนึ่ง ด้วยชุดสบาย ๆ กับรองเท้าผ้าใบคู่ใจ พร้อมสีหน้ายิ้ม ๆ อย่างเป็นมิตร ที่ทำให้ฉันเผลอลืมไปชั่วขณะว่าฉันกำลังทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์อยู่
ในรอบปีนี้ที่การเรียกร้องทางการเมือง ได้ขุดปัญหาเชิงสังคมที่ซุกซ่อนอยู่ขึ้นมาพูดถึงมากมาย จึงเลี่ยงไม่ได้ที่คนต่างวัยกันอาจจะคิดเห็นไม่เหมือนกัน ในโลกออนไลน์จึงพบเห็นการแบ่งปันประสบการณ์การโต้เถียงในครอบครัวหนักเบาตามแต่ละคนพบเจอ กระแสจิตบำบัดออนไลน์จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่คนรุ่นใหม่เลือกใช้บริการ
ทุกครั้ง Decode มักจะพาทุกคนไป แต่วันนี้ “ฉัน” จะพาทุกคนไปร่วมพูดคุยเองกับ โดม-ธิติภัทร รวมทรัพย์ นักจิตบำบัด เจ้าของเพจ he, art, psychotherapy กับประเด็นที่ว่า จิตบำบัดจะช่วยจัดการสภาวะทางอารมณ์ของคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร ในสถานการณ์ที่ “การฟัง” ไม่ได้เกิดขึ้นในครอบครัว
โควิดทำเพจ
ในช่วงโรคระบาดที่ผ่านมา โควิดได้ทำพิษให้หลายธุรกิจปิดกิจการและตกงานกันไปตาม ๆ กัน แต่ไม่ใช่สำหรับเส้นทางสาย “นักจิตวิทยาการปรึกษา” เพราะยิ่งสภาพสังคมบอบช้ำมากเท่าไหร่ ยิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนทั่วไปจะบอบช้ำตามไปด้วย การไขว่คว้าหาทางออกของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไป
เมื่อโควิดไม่อาจทำพิษได้ โดมจึงใช้ช่วงเวลานี้ทำเพจซะเลย จึงเป็นที่มาของ “he, art, psychotherapy” ที่ต้องการขยับพื้นที่ของการปรึกษาให้เข้าสู่ชีวิตคนทั่วไปมากขึ้น โดยที่ผ่านมาเขายอมรับว่า “กลไกของโซเชียลมีเดีย” ได้ทำหน้าที่นี้ได้ดีมาโดยตลอด
“การพูดถึงกลุ่มอาการต่าง ๆ ที่เปิดมากขึ้น พอเรื่องเหล่านี้มาอยู่ในโซเชียลมิเดียที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เลยกลายเป็นเรื่องใกล้ตัว เราเห็นโรคซึมเศร้าบ่อยขึ้น เราเห็นว่าคนนี้ก็เป็น คนนั้นก็เป็น มันไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเลยหนิ”
จากจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเรียนสาขาจิตวิทยาคลินิก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเริ่มต้นทำงานในส่วนของจิตบำบัดกับเด็ก และเด็กพิเศษ จนเมื่อค้นพบว่าตนเองสนใจประเด็นวัยรุ่น และผู้ใหญ่ จึงตัดสินใจไปศึกษาต่อปริญญาโทเพิ่มเติมที่ประเทศอังกฤษ
แต่ด้วยปัญหาสุขภาพส่วนตัวที่ตัดสินใจกลับมาพักฟื้นระยะสั้นที่ไทย ผนวกกับการเรียนที่ปรับเปลี่ยนไปใช้รูปแบบออนไลน์ โดมจึงตัดสินใจพักการเรียนไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะเขามองว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการเรียนต่อครั้งนี้ คือ การฝึกฝนการให้คำปรึกษาภายใต้การดูแลของอาจารย์ ซึ่งโลกออนไลน์อาจไม่ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด
“ตอนเริ่มทำเพจคิดว่า คงจะกระจายแค่ในวงคนรู้จักนั้นแหละ เพราะผมเริ่มแชร์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ปรากฏว่าคนที่เข้ามาแทบจะทั้งหมดเป็นคนที่ไม่ใช่เฟรนด์เราเลย”
แม้เส้นทางการให้คำปรึกษาออนไลน์ของเขานับว่าไปได้สวย แต่โดมก็ยอมรับว่ามีข้อจำกัดเรื่องคุณภาพที่ต้องแลกมากับความสะดวกสบาย
“เทียบกับการไปคลินิก หรือโรงพยาบาลมันต้องเดินทางไปเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา และกว่าจะถึงกระบวนการที่จะได้นั่งปรึกษา นั่งบำบัดจริง ๆ มันผ่านขั้นตอนเยอะ มันกินเวลาและจำกัดกว่า”
เข้ารับการปรึกษา = ปกติ
โดมเริ่มต้นเปิดบทสนทนาด้วยการบอกว่า “การเป็นคนธรรมดาทุกคนย่อมมีปัญหา” แตกต่างกันเล็กน้อยเพียงว่าคุณจะจัดการปัญหานั้นได้ด้วยตัวเองหรือไม่เท่านั้น ซึ่งนักจิตวิทยาปรึกษาก็เป็นคนหนึ่งที่พร้อมเป็นทางเลือกเสมอ
“ถ้าใครที่ยังมีมุมมองว่าการเข้าหาบริการเหล่านี้ แปลว่าเป็นคนบ้า เป็นคนที่ไร้ศักยภาพจัดการตนเองไม่ได้ อันนี้ผมว่าเป็นมุมมองที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ต้องมีเรื่องอะไรเยอะ ไม่ต้องบ้า ไม่ต้องเป็นอะไรหนักก็มาหาได้ คนที่ไม่ได้มองว่าร้ายแรง ลองใช้ความกล้าเข้ามาพูดคุยดู”
เสียงเล็ก ๆ ดังแทรกเข้ามาในจิตใจของฉัน คือ “ใช่ ฉันเป็นคนนึงที่ยังไม่กล้าพอ”
เขาเล่าว่าตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัวยังคงเป็นประเด็นยอดนิยมของผู้เข้ารับคำปรึกษา รวมถึงปัญหาในที่ทำงาน และความสัมพันธ์คู่รัก
โดยจากประสบการณ์ของโดม ทุกกรณีมักมีจุดร่วมต่อประเด็นครอบครัวที่คล้ายกัน คือ “ขาดการสื่อสารกัน” หรือ “สื่อสารกันไม่ดีพอ” ทำให้ความตั้งใจที่เป็นแก่นแท้ของการสื่อสารนั้น ๆ ส่งไปไม่ถึง
เดี๋ยวนะ พ่อแม่เขามาปรึกษาอะไรแบบนี้กันด้วยเหรอ ทำไมฉันไม่เคยนึกถึงเลยนะ
เขาเล่าถึงครั้งหนึ่งที่มีคุณแม่เข้ามาปรึกษาว่าจะทำยังไงดีเมื่อลูกติดเล่นจนไม่สนใจทำการบ้าน สิ่งที่คุณแม่ท่านนั้นเลือกแสดงออกด้วยการดุด่า ซึ่งคล้ายกับจะไม่ได้ผล การพูดคุยเพื่อหาที่มาที่ไประหว่างการปรึกษาจึงเกิดขึ้น จนได้เห็นเป้าหมายจริง ๆ ของผู้เป็นแม่ คือ “ความเป็นห่วง”
ดูเหมือนลูกจะไม่ได้รับรู้เลยนะ
เมื่อขยับมาเป็นวัยรุ่น โดมเล่าว่าพวกเขามักจะเข้ามารับคำปรึกษา ด้วยคำถามว่าทำอย่างไรให้พ่อแม่เข้าใจ ขณะที่ผู้ปกครองก็นิยมเข้ารับการปรึกษาไม่ต่างกัน ด้วยข้อสงสัยว่า คุยกันวิธีไหนดี ไม่อยากทะเลาะกับลูก
“วัยรุ่นยังเป็นวัยที่มีความพลุ่งพล่าน ยังต้องการการรับฟังและการยอมรับ เขายังมีสิ่งที่ชอบ ไม่ชอบ และให้ความสำคัญ ซึ่งอาจต่างจากที่ผู้ใหญ่มองไว้ พอมาคุยก็จะไม่เข้าใจกัน”
ช่วงเวลาความเครียดหนึ่งที่เด็กหลายคนหนีไม่พ้น คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อคณะที่พ่อแม่แนะนำอาจไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่ลูกปรารถนา นี่เป็นปัญหาคลาสสิคในทุกยุคสมัย
รอยยิ้มเล็ก ๆ เกิดขึ้นในใจ โชคดีจังที่ฉันไม่ประสบปัญหานี้
ในช่วงประเด็นการเมืองร้อนแรงเช่นนี้ โดมเล่าว่า ความขัดแย้งในครอบครัวที่เกิดจากความคิดทางการเมืองที่ต่างกัน ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุ เพราะต่างฝ่ายมักมีความพยายามที่จะโน้มน้าวให้อีกฝ่ายเป็นพวกด้วยชุดข้อมูลที่ตนมี แทนที่จะเปิดพื้นที่การคุย หรือเปิดที่ว่างความเป็นส่วนตัวทางความเห็น
แล้วทำไมฉันที่ได้เจอเหตุการณ์นี้ทั้งที่ทุกคนดูจะพยายามพูดคุยโดยไม่ได้ตัดสินแล้วนะ หรือสีหน้า แววตา และน้ำเสียงมันมีความหมายของการดึงเขาเป็นพวกซ่อนอยู่นะ
ตั้งเป้าหมาย-สำรวจ-ยอมรับ
โดมเล่าว่า สิ่งเดียวที่จะวัดว่าการให้คำปรึกษานั้นสำเร็จหรือไม่ คือ “ความไว้ใจ” ที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้น นั่นจึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องใช้เวลาช่วงแรกไปกับการทำความรู้จักกันก่อน
ก่อนที่จะเปิดฉากการปรึกษา ด้วยการร่วมกัน “ตั้งเป้าหมาย” ให้กับการคุยที่จะเกิดขึ้นในครั้งนั้น
“เขาจะเข้ามาด้วยเรื่องอะไรก็ตาม จะมีการตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า โอเคเข้ามาคุยอยากให้ช่วยอะไรเรื่องอะไร ประเมินกันว่าจะเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน เช่น ตั้งว่าอยากให้ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ดีขึ้น”
ต่อด้วยการ “สำรวจ” ผ่านการโต้ตอบระหว่างกัน เพื่อจะดูว่าภายใต้ปัญหานั้น มีข้อจำกัด หรือเงื่อนไขใด ๆ ซ่อนอยู่บ้าง โดมยกตัวอย่างปัญหาลูกที่ขัดแย้งกับพ่อแม่ ที่หากสำรวจทุกเงื่อนไขแล้วพบว่า “ทำยังไงก็ดีได้เท่านี้”
หนทางต่อไป คือ การ “ยอมรับ” ด้วยการร่วมกันหาทางเลือกที่ดีขึ้น และดีขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อให้คนที่เข้ารับคำปรึกษายอมรับสถานการณ์นั้นให้ได้
ฉันอดที่จะสงสัยไม่ได้ ว่าฉันจะทำขั้นตอนพวกนี้ได้ด้วยตัวเองไหมนะ และอย่างกับผู้ชายที่นั่งอยู่ตรงข้ามคนนี้จะเดาใจฉันได้ เขาอธิบายว่า ขั้นตอนพวกนี้ใช้ในขั้นตอนของการปรึกษา คล้าย ๆ กับเวลาที่คนเราปรึกษาเพื่อน หรือญาติที่เราสนิทและไว้ใจ
ฟังอย่างตั้งใจบนเงื่อนไขที่จำกัด
เบื้องต้นโดมแนะนำในว่า ไม่ว่าปัญหาใดก็ตาม “การฟังอย่างตั้งใจ” เป็นกุญแจสำคัญเบื้องต้นที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้กับทุกกรณี ยิ่งเป็นปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวด้วยแล้ว
เขาเล่าว่าเกิดขึ้นบ่อยครั้งในกระบวนการปรึกษา ที่เมื่อร่วมกันสำรวจไปเรื่อย ๆ พบว่าสุดท้ายทำอะไรไม่ได้เลย ผู้รับคำปรึกษาพยายามที่จะสื่อสารแล้วหลายครั้ง กระทั่งให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพช่วยเป็นคนกลางก็ไม่เป็นผล นั่นจึงจำต้องยอมรับว่า “การเงียบ” จึงต้องถูกนำมาใช้ ถามว่าดีที่สุดไหมคงไม่ แต่ดีที่สุด ณ เงื่อนไขที่ดีที่สุดอยู่แล้ว”
“ผมสนับสนุนให้หาที่ปล่อยออก เพราะความรู้สึกทุกอย่างสมควรที่จะได้รับการระบาย แต่ถ้าความรู้สึกที่อยู่กับตัวเราแล้วเราจัดการมันได้ก็อาจไม่จำเป็น แต่ถ้ามันท่วมท้นการหานักจิตบำบัด หรือใครสักคนเล่าให้ฟังก็ช่วยได้”
เมื่อฉันลองถามว่า มีหรือไม่คนที่คุยเสร็จปุ๊บแล้วคิดว่าจะดีขึ้น เสียงแย้งจากโดมดังขึ้นมาทันควัน
“คนที่ตั้งใจมาแล้วคิดว่าคุยกันครั้งเดียวแล้วจบเลย มันเกิดขึ้นได้แล้วแต่ปัญหา หากไม่ซับซ้อนก็อาจจบได้ แต่ถ้าปัญหาครอบครัวมีปัญหากับพ่อแม่มาตั้งแต่วัยเด็ก มาหาเราตอนวัยรุ่น ปัญหามันกินเวลามากว่า 20 ปี จะมาใช้เวลาแก้ใน 1 ชั่วโมง คงเป็นไปได้ยาก”
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่บางกรณีต้องเขารับการปรึกษา และใช้เวลากันเป็นปี ๆ
พื้นที่สีเทา ๆ
ในขณะที่ชีวิตต้องทำงานคอยรับฟังปัญหาของคนอื่นมาตลอด วันนี้ฉันจึงได้มีโอกาสรับฟังปัญหาของนักจิตวิทยาปรึกษาอย่างไม่ได้ตั้งใจ ผ่านการสะท้อนปัญหาเชิงนโยบายของรัฐต่อคนทำงานแขนงนี้
โดมเล่าว่า ไทยมีการรับรองและจัดตั้งเป็นมาตรฐานวิชาชีพแล้วเฉพาะนักจิตวิทยาคลินิก ผ่านการให้ใบประกอบโรคศิลปะ แก่ผู้ที่จบปริญญาตรีสาขานี้ และผ่านวิชาฝึกงาน รวมถึงฝึกปฏิบัติงานจริงในองค์กรตามที่กำหนด ในขณะที่นักจิตวิทยาแขนงอื่นยังไม่มีการรับรอง
“พอไม่มีใบประกอบ เป็นพื้นที่เทา ๆ ใครบางที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นนักจิตวิทยาปรึกษาได้ ก็เลยต้องไปอิงกับต่างประเทศที่มีอิทธิพล คือ อเมริกา กับอังกฤษ ซึ่งเขามองว่าคนที่จะเป็นนักจิตวิทยาปรึกษาได้ คือ ต้องเรียนต่อ ป.โท”
ด้วยความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิชาชีพนี้ เขาจึงตั้งคำถามไปถึงสมาคมจิตวิทยาการปรึกษาว่า หากในอนาคตสมาคมตั้งเงื่อนไขโดยเทียบเคียงจากต่างประเทศ ว่าคนที่จะให้คำปรึกษาได้ต้องจบป.โท แล้วนั้น บุคลากรที่มีศักยภาพจะหายไปขนาดไหน
“ทุกวันนี้ปัญหาภาพใหญ่ของไทย คือเราขาดแคลนบุคลากรทางด้านสุขภาพจิต ทั้งนักสุขภาพจิต และหมอเองก็ตาม นักจิตวิทยาคลินิกที่ผ่านการรับรองทั้งประเทศมีอยู่ราว 800 คน ที่ต้องรองรับผู้ป่วยทั้งประเทศ ถ้ามีการกำหนดเงื่อนไขเหล่านี้ คนกลุ่มนี้ก็จะหายไป จำนวนบุคลากรยิ่งลดลงไปอีก อยากให้คำนึงถึงเงื่อนไขนี้ด้วย”
หนึ่งชั่วโมงของการสนทนาผ่านไปไวเหมือนโกหก ถ้าหากจำลองว่านี่คือการเข้ารับการปรึกษาครั้งหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดการปรึกษาจึงอาจไม่ได้สิ้นสุดในครั้งเดียว
สำรวจความรัก
จบงานแล้วแต่ทำไมนะ ฉันถึงไม่อยากลุกจากเก้าอี้เสียทีเดียว เสียงหนึ่งในใจดังแทรกขึ้นมาว่า “กล้า ๆ หน่อย ถ้าไม่ใช่ตอนนี้จะเป็นตอนไหน”
พี่โดมคะ…
เมื่อความกล้าได้ผลักประโยคแรกออกไปได้แล้ว คำถามที่ตาม ๆ มาจึงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ฉันเล่าถึงปัญหาส่วนตัวที่ฉันกำลังประสบและขอคำปรึกษากันโต้ง ๆ อย่างไม่คิดจะเอางานมาบังหน้าอีกต่อไป
เขาใช้เวลาสำรวจฉันสั้น ๆ ด้วยคำถามง่าย ๆ ที่ทำฉันชะงักไปชั่วขณะ “เคยคุยกับเขาไหม”
จริง ๆ ด้วยฉันยังไม่กล้าบอกความรู้สึกของฉันเลย
“เรามองเรื่องนี้ว่าเป็นปัญหา แต่เขาไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา เขาเลยไม่ได้มองว่ามีอะไรที่ต้องปรับต้องเปลี่ยน ถ้าเราอยากจะปรับ เราจะทำให้เขารับรู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นปัญหาได้ยังไง”
ฉันเล่าต่อแบบเขิน ๆ อย่างรวดเร็วในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่คิดว่าการหลีกเลี่ยงที่จะพูดน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมการเป็น “เด็กดี” ถึงได้เจ็บปวดแบบนี้
โดมอธิบายว่า ไม่มีอะไรยืนยันได้หรอกกว่าใครเจ็บปวดที่สุด แต่หากเป็นเช่นนั้นก็อาจเป็นจากเหตุของความไม่คุ้นชินกับการถูกปฏิเสธจากพ่อแม่ เพราะตลอดมารับบทผู้ฟังมาตลอด
เขาเล่าว่าเมื่อถกเถียงจนไปแตะ ประเด็นว่า “ไม่รักกัน” พร้อมยกตัวอย่างกรณีหนึ่งให้ฟังว่า เคยมีกรณีที่ทะเลาะกันจนต้องมาลองมานั่งสำรวจเหตุการณ์นี้แปลว่าไม่รักกันรึเปล่า คำตอบคือไม่ ยังรักกัน และยังทะเลาะกันต่อไป
ใช่เลย นักจิตบำบัดเขาต้องมีพลังวิเศษแน่ ๆ ฉันแอบขำในใจ เขามารู้ได้ยังไงว่าฉันมีคำถามว่า “เขารักฉันแค่ไหน” วนอยู่ในหัวตลอดเลย
“ถ้าอยากให้เขาปรับก็ต้องทำให้เขารู้โดยที่บอกว่า เราเป็นยังไง สภาวะเราตอนนี้เป็นปัญหายังไง ถ้าความสัมพันธ์เชิงครอบครัวเติบโตมาเข้มแข็ง การที่พ่อแม่รู้ว่าลูกมีปัญหา มีแนวโน้มที่เขาจะเห็นว่ามีปัญหาแล้วนะ แต่เขาต้องรู้ก่อน พ่อแม่เขาก็มีผิดพลาด เป็นคนธรรมดา ถ้าจะมองว่าเขาไม่รู้ก็ไม่ผิด”
เสียงสนทนาขอบคุณและล่ำลาดังขึ้นเป็นการส่งท้าย พร้อมตัวฉันที่ก้าวลุกขึ้นจากเก้าอี้ ได้อย่างเบา และสบายตัวขึ้นในกว่าหลาย ๆ วันที่ผ่านมา พร้อมการตัดสินใจที่ว่า…
ได้ ฉันจะลองบอกความรู้สึกของฉันให้กับที่บ้านดูสักตั้ง