สิทธิที่ไม่ได้ใช้ของ “เด็กพลัดถิ่น” ในศึกเลือกตั้งอบจ. - Decode
Reading Time: 3 minutes

“กลับบ้านไปเลือกตั้งไหม”
“เลือกตั้งอะไรวะ”

บทสนทนาในวงดื่มกินของบรรดาเฟิร์สจ็อบเบอร์ ต่างไปจากทุกครั้ง เพราะค่ำคืนสุดสัปดาห์โดยปกติมักถูกจับจองไปด้วยเรื่องเล่าจากชีวิตการทำงาน ไปจนถึงเรื่องราวชีวิตรัก แต่ค่ำคืนนี้ “การเมืองท้องถิ่น” กลับคืบคลานเข้ายึดครองวงสนทนา

20 ธันวาคม 2563 เป็นอีกวันหนึ่งที่คนไทยจะได้ร่วมกันใช้สิทธิการเป็นเจ้าของประเทศ ผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) หรือคุ้นชินกันว่า ส.จ. และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ในบางพื้นที่ยาวนานกว่านั้น หลังการยึดอำนาจคสช. ทำให้เจ้าหน้าที่ยังคงรักษาการต่อเนื่องตามคำสั่ง จนเกษียณอายุการทำงานกันคาเก้าอี้ก็หลายคน

Decode จะพาทุกคนไปฟังเสียง “เด็กพลัดถิ่น” หรือผู้ที่เข้ามาหาโอกาสในเมืองหลวง ว่าสิทธิบนพื้นที่ใดที่พวกเขาควรถือครองเพื่อกำหนดชะตาชีวิต ระหว่างสิทธิตามถิ่นฐานบ้านเกิด หรือสิทธิตามพื้นที่อาศัย ผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ และร่วมออกแบบการเลือกตั้งในอนาคตโดยไม่ทิ้งคนไกลบ้าน

คนมีสิทธิที่ไม่มีสิทธิ

สาวเมืองพระธาตุเด่น ลำไยดัง ในวัย 24 ปี อย่าง พิมพ์-พิมพ์พ์นารา อินต๊ะประเสริฐ ผู้จัดการฝ่ายองค์ความรู้ โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคนหนึ่งที่ “ควรจะมีสิทธิ” ในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกของชีวิต แต่กลับไม่ได้รับโอกาสนั้น เนื่องจากเพิ่งจะย้ายชื่อตามทะเบียนบ้านกลับภูมิลำเนา หลังสำเร็จการศึกษา

“เขาประกาศเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว แต่ว่ามันจำเป็นจริง ๆ เพราะเราต้องย้ายเพื่อทำเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน เพื่อความง่ายเราควรมีชื่อในทะเบียนบ้าน ย้ายกลับเดือนตุลาเพิ่งไม่นานนี้เอง ถ้าถามว่ารู้ก่อนจะย้ายไหม ก็จำเป็นต้องย้ายอยู่ดี”

ย้อนกลับไปพิมพ์เกิดและเติบโตในจังหวัดที่ได้ชื่อว่าเล็กที่สุดในภาคเหนือ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์อย่าง จ.ลำพูน ตลอดช่วงชีวิตมัธยม พิมพ์ทำกิจกรรมทั้งในและนอกโรงเรียนมากมาย จนเป็นที่มาให้เธอได้เข้าศึกษาในรั้วเหลืองแดง ผ่านโครงการนักเรียนจิตอาสาและประชาธิปไตยที่สนับสนุนและเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กที่ทำกิจกรรมครั้งสมัยเรียน ได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา

นั่นจึงเป็นที่มาให้เธอต้องย้ายชื่อตามทะเบียนบ้านจากจังหวัดบ้านเกิดมาสู่ จ.ปทุมธานี เพื่อสิทธิในการอยู่อาศัยในรั้วมหาวิทยาลัย และทำให้มีโอกาสในการใช้สิทธิในการเลือกตั้งระดับชาติ อย่างส.ส. เป็นครั้งแรกในชีวิตในเขตพื้นที่ดังกล่าว

เชื่อว่าพิมพ์เป็นคนในจำนวนไม่มากที่ไปตรวจสอบสิทธิการเลือกตั้งตั้งแต่เนิ่น ๆ ที่มีการประกาศ ก่อนจะพบว่าตัวเองไม่มีชื่อปรากฏทั้งในบัญชีของภูมิลำเนาที่ย้ายไปและในพื้นที่เดิม

“เราเข้าไปเช็ค เพราะอยากรู้ว่าชื่อเรายังอยู่เขตเดิมไหม คือปทุมธานี เดิมเราเป็นคนลำพูน…มันก็เด้งว่าไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ตอนแรกก็งง ๆ ก็เลยลองไปเปิดดูคุณสมบัติผู้ใช้สิทธิ์ดูของไอลอว์ก็เด้งขึ้นมาว่า ถ้าเราย้ายทะเบียนบ้านต่างจังหวัดยังไม่ถึง 1 ปี จะไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง”

แม้จะเป็นนักเรียนกฎหมายในรั้วมหาวิทยาลัย แต่นี่ก็นับเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าใกล้กฎหมายท้องถิ่นมากที่สุด จนได้พบว่ารายละเอียดของการเมืองระดับชาติ และการเมืองท้องถิ่นมีข้อแตกต่างที่เธอไม่เคยรู้มาก่อน

“เลือกตั้งทั่วไปสิทธิมันก็จะอยู่ที่เดิม แล้วเราก็รู้สึกว่าทำไมวะ นั่งคิดแป๊ปนึงนะว่าข้อกฎหมายข้อนี้มีขึ้นเพราะอะไร”

โดยข้อกฎหมายนี้ ระบุว่า หากเป็นการย้ายทะเบียนบ้านข้ามจังหวัดเป็นเวลาติดต่อกันน้อยกว่า 1 ปี กรณีนี้จะถือว่าไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง เนื่องจากไม่มีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งในเขตเลือกตั้งจังหวัดเดิมและจังหวัดใหม่ที่ย้ายไป แต่ก็ยังนับเป็นสิ่งที่คนร่างกฎหมายคิดมาแล้ว หรือจะเป็น “โชคดี” ของพิมพ์ก็สุดแล้วแต่

เมื่อมีการระบุรายละเอียดตอนท้าย ใจความว่า “การไม่ได้ไปเลือกตั้งด้วยเหตุนี้จะไม่ถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา 42 ในกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฯ เพราะถือว่าไม่มีสิทธิมาแต่แรกอยู่แล้ว แต่กรณีคนที่ไม่มีสิทธิไปเลือกตั้งเพราะย้ายทะเบียนบ้าน จะไม่ตัดสิทธิตามมาตรา 42 ตามที่ระบุไว้ เพราะถือว่าเราไม่มีสิทธิ์มาตั้งแต่ต้น”

เด็กพลัดถิ่น

หากใครเป็นเพื่อนกับพิมพ์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอ จะไม่มีใครสงสัยในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพิมพ์เลย เพราะเธอเป็นคนหนึ่งที่ติดตาม แบ่งปัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอยู่ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งการเมืองในบ้านเกิด ซึ่งนั่นเป็นข้อยืนยันของคำพูดที่ว่า

“เราอาจจะห่างในเรื่องระยะทาง แต่ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งต่อบ้านไม่ได้หายไป”

เธอมองว่าการเคลื่อนย้ายของคนไทยส่วนใหญ่นั้น เกิดจากความจำเป็นในการทำงานมากกว่าต้องการปักหลักสร้างถิ่นฐานใหม่ด้วยความตั้งใจแต่ต้น ซึ่งนั่นมีผลให้ความสนใจที่มีต่อท้องถิ่นไม่ได้หายไปเสียทั้งหมด อาจขาดหายไปบ้างก็เป็นเรื่องปกติ

“เรารู้สึกเหมือนเราอยู่ในพื้นที่แบบ กลับตัวก็ไม่ได้ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง” เมื่อสิ้นสุดประโยคเสียงหัวเราะขบขันก็ดังขึ้นทันที พร้อมกับการตั้งคำถามที่ชวนคิดตาม

เธอเข้าใจในเหตุผลที่เธอไม่มีสิทธิในครั้งนี้ว่าอาจมาจากหลายเหตุปัจจัย เช่น ระยะเวลาที่น้อยอาจทำไม่รู้ข้อมูลเชิงพื้นที่ครบถ้วน หรือป้องกันเหตุของการไหลเข้าของคนเพื่อหาประโยชน์จากการลงคะแนน แต่เธอไม่สามารถหาเหตุผลอันสมควรได้ว่าเหตุใดเธอถึงไม่มีสิทธิในพื้นที่ตามทะเบียนบ้านเดิม

“สี่ห้าปีที่เราอยู่ที่เดิมมันไม่พอใช่ไหมในการที่จะนับว่าเราเข้าใจเห็นปัญหา หรือคุณมองว่าเดี๋ยวเธอจะไปใช้สิทธิในที่ใหม่แล้ว เธอก็ไม่ควรลงคะแนนเพื่อกำหนดชะตาที่เก่าอย่างนั้นเหรอ…ตกลงอะไรคือความสำคัญในการเลือกตั้งกันแน่ ระหว่างทำให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสใช้สิทธิกับคนทุกคนที่จะมีสิทธิกำหนดกติกาจะต้องมีความชอบธรรมในพื้นที่นั้น ๆ”

ด้วยทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มา ที่ทำให้พิมพ์ค่อนข้างสนับสนุนการใช้สิทธิตามที่อยู่อาศัยจริง แม้จะเห็นจุดอ่อนที่อาจสูญเสียความรู้สึกร่วมทางใจในฐานะบ้านเกิดก็ตาม

ตอกย้ำไปอีกกับคำถามที่พิมพ์และเพื่อนต่างสงสัยเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นไปได้หรือที่การเลือกตั้งจะจัดขึ้นในช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องเดินทางกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งในต่างจังหวัด โดยเฉพาะกับกำหนดการครั้งนี้ที่ทั้งก่อนและหลังวันเลือกตั้ง กลับมีวันหยุดที่เป็นปัจจัยในการวางแผนเดินทางทั้งสิ้น

“เป็นไปได้ที่สุดคือ เหมือนจัดเลือกตั้งทั่วไป คือการจัดให้มีการเลือกตั้งนอกเขตได้ มันอาจใช้ทรัพยากรสูง แต่คุ้มถ้านับเรื่องความโปร่งใส่ ง่าย เพราะคนก็ไม่ได้มีความสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี หรือตื่นตัวที่จะไปใช้สิทธิสูงมากขนาดนั้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อาจจะไม่ได้มีทุกเขต หรือใหญ่มากเหมือนทั่วไป แต่อย่างน้อยแต่ละจังหวัดอาจจะมีสักจุดนึงที่ทำให้คนใช้สิทธิล่วงหน้าได้ เราว่าอันนี้มันจะกระตุ้นให้คนกลับไปใช้สิทธิมากขึ้นกว่าเดิมอีก”

แง่หนึ่งพิมพ์ก็ตีความส่วนตัวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องการให้คนในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ใช้ทรัพยากรที่แท้จริง เป็นผู้กำหนดนโยบายและตัดสินใจ แต่ความจริงวิธีการนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมผู้ใช้ทรัพยากรที่แท้จริงเสียด้วยซ้ำไป เป็นเพียงวิธีการง่ายที่สุดบนพื้นฐานชุดข้อมูลที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น

พิมพ์ ยกตัวอย่างในต่างประเทศ หากใครก็ตามย้ายไปอาศัยในพื้นที่อื่นแม้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็จำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าท้องถิ่น ซึ่งนั่นจะทำให้ทราบการเคลื่อนย้ายของผู้คน แต่ประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายที่รองรับในส่วนนี้

นั่นจึงเป็นที่มาที่เธอมองว่า กลยุทธ์การหาเสียงของผู้สมัครในพื้นที่จังหวัดของเธอนั้น “ประสบความสำเร็จ” เพราะให้ความสำคัญกับพื้นที่ออฟไลน์ ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ที่มีโอกาสไปใช้สิทธิมากกว่า แต่อีกปัจจัยหนึ่งคือความพร้อมและความเชี่ยวชาญของผู้สมัครที่จะมาโลดแล่นในพื้นที่ออนไลน์ก็ไม่เท่ากัน

คนรุ่นใหม่กับกำแพง“คนนอก”

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ การพาตัวเองออกมาจากพื้นที่ ทำให้ความรู้สึกผูกผันหรือเป็นส่วนหนึ่งของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนตัว

นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามแรกที่พิมพ์ยกตัวอย่างว่าคนรุ่นใหม่ร้อยทั้งร้อยต้องต่อสู้ที่ว่า “ก็ไม่เห็นอยู่ในพื้นที่แล้วจะมารู้ดีอะไรกว่าคนอยู่”

พิมพ์เล่าว่า ต้นทุนที่ต้องจ่ายลำดับแรก ๆ คือการพิสูจน์ตนเองว่า ความคิดเห็นและการวิพากษ์ปัญหาต่าง ๆ ของเรานั้นมาจากการเป็นคนบ้านเดียวกัน และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล เพื่อลบสายตาที่มองมาว่าเป็นเพียงคนนอกออกไปให้ได้

“แทนที่จะบอกได้เลยว่าบ้านไม่ดียังไง มีปัญหาอย่างไร เราต้องแก้ต่างให้ได้ก่อนว่า เราอยู่ด้านนอกเราสนใจแบบไหน ถึงจะพูดได้…เหมือนเขาปิดประตูไปขั้นนึงแล้ว แล้วเราก็ต้องพยามไขก่อน ด้วยการบอกว่า เห้ยเธอแต่เราติดตามข่าวนะ เรากลับบ้านปีละกี่ครั้ง เราเจอคนนั้นคนนี้บ่อยมาก คำถามคือการที่เราจะวิพากษ์พื้นที่นึงที่เราเกิดมา เราต้องผ่านด่านนี้ก่อนใช่ไหมเราถึงทำได้”

โดยเธอมองว่า การนำพาตนเองออกไปหาความรู้ก็เป็นต้นทุนหนึ่งตั้งแต่ต้น และเมื่อตั้งใจจะกลับมาพัฒนาท้องถิ่นแล้วสิ่งแรกที่ต้องปรับตัวคือการสื่อสารอย่างเรียบง่าย เข้าถึงได้ ไม่เช่นนั้นก็จะถูกมองเป็นเพียง “เด็กจบใหม่เรียนสูง ร้อนวิชา ความเป็นจริงทำไม่ได้หรอก”

“เราไม่เคยมีแผนที่จะอยู่กรุงเทพฯถาวร”

นี่เป็นคำตอบสั้น ๆ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยน้ำเสียงหนักแน่น เมื่อถูกถามถึงแผนการในอนาคตว่าเธอต้องการลงหลักปักฐานที่ใด พิมพ์ยืนยันว่า บ้านเกิดยังคงเป็นเป้าหมายชีวิตที่เธออยากลงหลักปักฐาน แต่ก็ใช่ว่าใครจะรู้อนาคตได้ ด้วยข้อจำกัดในปัจจุบัน เมืองหลวงยังคงให้โอกาสในการทำงานและพัฒนาตนเอง เธอจึงต้องไขว่คว้าโอกาสในครั้งนี้ไว้ก่อน

เมื่อเจาะลึกข้อมูลในพื้นที่พิมพ์เล่าว่า การแข่งขันในพื้นที่ จ.ลำพูน ปีนี้ถือว่าสูงมาก เพราะนายกฯ อบจ.คนเดิมอยู่ในตำแหน่งมาหลายสมัยมากแล้ว แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ยังเป็นภาพการเมืองเจ้าพ่อเช่นเดิม ด้วยบริบทท้องที่เช่นนี้เอง จึงยิ่งทำให้คนไกลบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมได้น้อย ไม่เว้นแม้แต่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย

อย่างไรก็ตามไม่ว่าผลจะออกมาในรูปแบบไหน พิมพ์ชี้ว่าสิ่งแรกที่เจ้าหน้าที่กกต.ประจำจังหวัดต้องตั้งคำถามกับตนเองอย่างหนัก คือ การประชาสัมพันธ์ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จหรือไม่ เหตุใดตัวละครสมทบอย่างบรรดาภาคประชาสังคมถึงมีบทบาทเป็นผู้เล่นขนาดนั้น

“ทำไมเราถึงเข้าใจเรื่องสิทธิการเลือกตั้งจากไอลอว์ แทนที่จะมาจากข่าวของรัฐโดยตรง กติกามันมีความเข้าใจยากในตัว ก็แปลกมากที่ทำไมหน่วยงานรัฐกลับไม่สามารถทำให้เข้าใจได้ง่าย หรือจริง ๆ แล้วเราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนตื่นตัวกับเรื่องการเลือกตั้งขนาดนั้นรึเปล่า” พิมพ์ตั้งคำถามทิ้งท้าย

สิทธิที่ไม่ได้ใช้ของลูกบ้านหัวคะแนน

โอ้ต-คชากร พาหุรัตน์ หนุ่มเมืองลุง วัย 24 ปี ที่ปักหลักสร้างชีวิตด้วยการประกอบอาชีพ content creator และอาจารย์พิเศษ ในกรุงเทพฯ เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่สามารถกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้งอบจ.ที่จังหวัดบ้านเกิดได้ ด้วยข้อจำกัดในการทำงาน

โอ้ตเล่าว่า เมื่อมีประกาศการเลือกตั้ง เขาก็เข้าไปเช็กชื่อของตนเองตามระบบทั้งที่รู้ว่าจะไม่สามารถเดินทางกลับไปเลือกตั้งล่วงหน้าได้ และเมื่อหาข้อมูลเพื่อดำเนินแจ้งความจำเป็นที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ ก็ยอมรับว่าค่อนข้างยุ่งยากตามความเข้าใจ

สำหรับการแจ้งว่าไม่สามารถไปใช้สิทธิ เพื่อป้องกันการจำกัดสิทธิบางประการนั้น ทำได้โดยแจ้งตรงต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้แงถิ่นที่มีชื่อ ทำหนังสือแจ้งตามที่กำหนด โดยสามารถแจ้งด้วยตนเอง มอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งไปรษณีย์ลงทะเบียน

นอกเหนือไปจากภูมิหลังว่าโอ้ตเป็นเด็กคนหนึ่งที่โตมาจากจ.พัทลุงแล้ว ในสมัยเรียนมัธยมจะว่าเขามีชื่อเสียงพอตัวก็คงได้ด้วยความเป็นเมืองขนาดไม่ใหญ่มากที่มีรร.มัธยมขนาดใหญ่ในตัวจังหวัดเพียงไม่กี่แห่ง ประกอบกับการได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการนักเรียน นั่นจึงเป็นโอกาสให้เขาได้ทำงานกับบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ ทั้งในระดับเทศบาลอบจ. และเริ่มสัมผัสระบบราชการด้วยตนเอง

นี่จึงเป็นตะกอนความรู้และความสนใจ ที่มีต่อระบบราชการท้องถิ่น ซึ่งยังคงตกผลึกอยู่ในตัว

แม้ครั้งนี้เขาอาจไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ แต่ด้วยบริบทครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่มีบทบาทเป็น “หัวคะแนน” ของผู้สมัครในพื้นที่ นั่นจึงทำให้เขาไม่สามารถเพิกเฉยต่อข้อมูลที่มักแล่นผ่านสัญญาณโทรศัพท์ในทุกครั้งที่มีโอกาสได้สนทนากับครอบครัว

“พ่อเป็นหัวคะแนนเบอร์นึง แม่อีกเบอร์ ไม่ได้ตีกันนะ แต่เขาสนิทคนละคนกัน เราเลยไม่อยากเข้าไปยุ่งมากเพราะรู้สึกว่าการเมืองท้องถิ่นมันเข้าใกล้ตัวมาก เหมือนเราไปทำงานกับใครก็คือถือข้างฝั่งนั้นเลย”

โอ้ตเล่าว่า พ่อและแม่ของเขามีส่วนในการร่วมหาเสียงมาตั้งแต่ครั้งการเลือกตั้งส.ส.ก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงการเลือกตั้งในอดีตก็เช่นกัน ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงหล่อหลอมให้เขาสนใจการเมืองท้องถิ่นมาโดยตลอด จนครั้งสมัยเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้รับการชักชวนให้ไปทำงานประชาสัมพันธ์ให้กับผู้สมัคร ซึ่งในการเลือกตั้งอบจ.ครั้งนี้ก็ได้รับการทาบทามเช่นกัน

นอกจากการรับรู้จากครอบครัว เฟซบุ๊กของบรรดาผู้สมัครก็เป็นช่องทางหนึ่งให้เขาติดตาม โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัด ที่ผู้สมัครต่างก็แย่งพื้นที่ทำคะแนนกันเต็มกำลัง

ในฐานะผู้ที่ติดตามเขามองว่า การแข่งขันในพัทลุงปีนี้ร้อนแรงมากพอ ๆ กับการเมืองระดับชาติ ด้วยบรรดาพรรคการเมืองต่างเปิดหน้าสนับสนุนอย่างเต็มที่ ถึงขนาดที่แม่ทัพใหญ่ของพรรคการเมืองที่ได้เสียงส่วนใหญ่ของจังหวัดลงพื้นที่ช่วยหาเสียงด้วยตัวเอง

“มีทีมสามเบอร์ เบอร์ที่สามลงบ่อยก็ไม่ได้หาเสียงอะไรมากมาย การแข่งขันก็อยู่แค่เบอร์หนึ่งกับสอง เบอร์หนึ่งมีพรรคการเมืองใหญ่สนับสนุน ที่ปรึกษาก็เป็นอดีตนายกอบจ.คนก่อน เบอร์สองเป็นนายกอยู่ตอนนี้ 8 ปีแล้ว เป็นน้าชายของส.ส.ปชป.ที่แพ้…”

เขายังแสดงความรู้สึกส่วนตัวที่แอบเบื่อหน่ายการเมืองในบ้านเกิดอยู่ไม่น้อย เพราะหากใครติดตามอยู่บ้างจะเห็นว่า พัทลุงเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการร้องเรียนเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งส.ส. และยังไม่สิ้นสุดการตัดสินความผิด เมื่อเริ่มปรากฏทิศทางภาพการหาเสียงในการเลือกตั้งอบจ.ครั้งนี้ โอ้ตจึงออกปากว่า “ดูไม่ได้ต่างกัน”

เรื่องเล่าที่โอ้ตถ่ายทอดออกมาก นอกจากข้อมูลที่ได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นคือ เขาไม่ได้ออกห่างจากบ้านจริง ๆ ด้วย

“คนที่ทำทีมเลือกตั้งอาจจะรู้สึกว่าการที่จะซื้อใจเด็กรุ่นใหม่มันไม่ง่ายขนาดนั้น เรารู้สึกว่าคนที่มองการเลือกตั้งในมุมใหม่เขาอยู่ต่างถิ่นเยอะมาก พื้นที่ทางการศึกษามีส่วน อย่างคนที่เรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้านเขาก็จะมองไม่ต่างกับคนในพื้นที่ การโน้มน้าวอาจง่ายกว่า เขาอาจรู้สึกว่าแม่เลือกอะไรพ่อลือกอะไร เลือกอันนั้นก็ได้”

นี่จึงเป็นเหตุที่โอ้ตเห็นว่า ผู้สมัครในพัทลุงใช้กลยุทธ์ตรงกับเป้าหมายที่ต้องการเสียงจากคนในพื้นที่เป็นหลัก

ทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อผลลัพธ์ใหม่ ๆ

“…”

โอ้ตเงียบไปอึดใจหนึ่ง เมื่อถูกถามว่าเขาจะแสดงความคิดเห็นได้เต็มปากได้อย่างไร หากในครั้งนี้ไม่ได้ไปใช้สิทธิ ทั้งที่เขาเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันมาตลอดว่าทุกเสียงมีค่า

“ถ้าพูดแบบนี้ว่าอยากให้เปลี่ยนแต่เด็กรุ่นใหม่แค่ไปใช้สิทธิยังไม่ทำ จะมองด้านเดียวไม่ได้ การที่จะให้คนไปออกเสียง ระบบต้องเอื้อส่วนหนึ่งด้วย ไม่ใช่ให้เราดิ้นรนอยู่คนเดียว อยากให้ดีขึ้นก็ไปทำสิ ทั้งที่ในชีวิตคนเรามันมีข้อจำกัด ถ้าอยากเลือกฉันต้องบินไปแล้วบินกลับมาทำงานเหรอ ต้นทุนตรงนี้มันเสียไปเท่าไหร่ เรายอมรับว่าเราอาจไม่ได้ใช้ความพยายามมากพอเพื่อไปใช้สิทธิตัวเอง แต่มันก็เกินควรที่เราจะแลก”

เขาตั้งคำถามกลับว่า ทั้งที่ผู้จัดการเลือกตั้งสามารถคาดการได้อยู่แล้วว่า จะมีผู้ที่ไม่สามารถกลับไปใช้สิทธิมากจำนวนหนึ่ง เหตุใดจึงไม่ออกแบบระบบเพื่อลดการทิ้งคนไว้ข้างหลัง เช่นที่ทำได้ดีในการเลือกตั้งระดับชาติ แม้ว่ากติกาจะบิดเบี้ยวก็ตาม

“เลือกส.ส.แม้ว่ากติกามันจะอะไรยังไง แต่สำหรับการอำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมันโอเค มันอาจจะมีการยุ่งยากเรื่องการขนบัตร แต่รู้สึกว่าสิ่งแรกที่คุณควรจะจัดหาให้ในฐานะคนจัดการเลือกตั้ง คือ ทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้ง การที่จะไปใช้สิทธิมันควรมีมากว่าหนึ่งช่องทาง อบจ.มันมีแบบเดียวเลย”

เมื่อให้โอ้ตลองจินตนาการภาพว่าเลือกตั้งอบจ.แบบไหนที่อยากเห็นนั้น เขาแสดงความเห็นว่า คงจะดีมากหากพื้นที่ลานหน้าศาลากลางจังหวัด จะจัดเป็นเวทีดีเบตโดยกกต.จังหวัด ให้ผู้สมัครทุกคนมายืนบนเวทีเดียวกัน และสู้กันด้วยคำถามเดียวกัน เพื่อชูวิสัยทัศน์ 

“เพราะการที่คุณจะจูงใจ คุณจะจูงใจด้วยจุดเด่นและนโยบายของตัวเอง จุดแข่งของทีมดีกว่าเอาจุดอ่อน หรือข้อมูลที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงของอีกฝ่ายมาโจมตีกัน วิธีการหาเสียงสมัยใหม่มันควรเอาจุดแข่งของตัวเองมาแข่งกันให้คนตัดสิน ไม่ใช่นำเสนอแค่ข้อสองข้อ เวลาที่เหลือเอาไว้ด่า…สุดท้ายการเมืองมันจะดีขึ้น”

แม้บทเรียนอาจจะดูเป็นเรื่องซ้ำซาก แต่ก็เป็นช่องทางในการปรับปรุงในอนาคต เช่นที่เกิดกับภาพการเลือกตั้งอบจ.ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ซึ่งระบบการเลือกตั้งที่ขาดการเลือกตั้งล่วงหน้า และการกำหนดระยะเวลาที่ไม่สะดวกต่อการเดินทาง เป็นการผลักภาระให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างไม่ได้ตั้งใจ แล้วท้ายที่สุดจะไม่มีใครได้ประโยชน์

คนเลือก…เสียประโยชน์ที่จะได้ใช้สิทธิ
ผู้สมัคร… เสียประโยชน์ที่จะได้แสดงวิสัยทัศน์ และอุดมการณ์การพัฒนา
ประเทศ…เสียประโยชน์ที่จะได้การเมืองท้องถิ่นที่มีคุณภาพ

อย่างไรก็แล้วแต่ ท้ายที่สุดนอกจากจะยินดีกับหลาย ๆ คนที่ได้กลับบ้านไปทานอาหารรสบ้านแล้ว ก็ขอแสดงความยินดีกับคนที่มีโอกาสได้เดินทางกลับบ้านไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะการเลือกอบจ. มีความสำคัญไม่ได้ต่างกับการเลือกตั้งระดับชาติ ด้วยนายกฯ อบจ. ก็อยู่ในฐานะคล้ายกับเป็นนายก ฯ ของจังหวัดดี ๆ นี่เอง