ประกายไฟลามทุ่ง
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปลายปี 2020 ซีรีส์เกาหลีใต้เรื่อง Start Up เข้าฉายทางแพลตฟอร์มภาพยนตร์ออนไลน์ โดยระยะเวลาของเรื่องเริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2002 จนกระทั่งถึงปี 2020 ในปัจจุบัน เนื้อเรื่องพูดถึงเส้นทางการทำธุรกิจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นจากศูนย์จนประสบความสำเร็จ
แม้จะเป็นซีรีส์ที่ทำอย่างละเอียดและชวนติดตาม แต่ประเด็นสำคัญที่ชวนคิดถึงเส้นทางการประสบความสำเร็จในทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ในบริบทเอเชีย เป็นเรื่องที่ชวนตั้งคำถามว่าการวิ่งตามความฝันสามารถอาศัยแค่ความมุ่งมั่นและพยายามส่วนบุคคลได้จริงหรือ และประเด็นสำคัญเราสามารถปรารถนาให้ด้านสว่างของระบบทุนนิยมฉายมาที่เราทุกครั้งราวกับถูกรางวัลที่หนึ่งติดกันซ้ำแล้วซ้ำอีกได้หรือไม่ บทความนี้มุ่งนำผู้อ่านมองสังคมการแข่งขันแบบเอเชียผ่านการวิเคราะห์การตีความของซีรีส์ Start Up
ซีรีส์เริ่มอย่างน่าสนใจและฉีกแนวตัวดำเนินเรื่องของละครที่เกี่ยวกับธุรกิจโดยตัวละคร คือ ซอดัลมี เด็กผู้หญิงที่พ่อแม่แยกทางกันตอนอายุได้ 12 ปี ก่อนที่พ่อของเธอเสียชีวิตในเวลาต่อมา และเป็นย่า ที่เป็นคนขายฮ็อตด็อกรถเข็นเป็นคนเลี้ยงเธอมา เวลาผ่านไป 15 ปี ทุกอย่างเป็นไปตามแบบแผนที่ควรเป็นเด็กผู้หญิงที่พ่อตาย แม่ทิ้ง ย่าเลี้ยง ซอดัลมีไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย
ในวัย 27 ปี เธอทำงานเป็นพนักงานรายวันสัญญาจ้างของบริษัทแห่งหนึ่ง ไม่ว่าเธอจะทำงานหนัก และขยันขนาดไหน เธอก็ไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ เหมือนความโชคดีจะพัดผ่านเธอไปทุกครั้ง มีครั้งหนึ่งเธอแก้ปัญหาให้กับบริษัทได้ เอาเป็นว่าสามารถสร้างรายได้ให้บริษัทเป็นแสนบาทในวันเดียว ฟางเส้นสุดท้ายของเธอ คือผู้จัดการเรียกเธอไปรับคูปองกินอาหารมูลค่าประมาณ 500 บาทเป็นรางวัล และขอให้เธออดทนในการเป็นพนักงานอัตราจ้างต่อไป อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอคิดในการออกจากวังวนของการถูกกดขี่และสิ้นหวัง
ส่วนตัวละครสำคัญอีกสองตัวที่แวดล้อมซอดัลมี คือภาพฉายสองด้านของระบบทุนนิยม คนแรกคือ ฮันจีพยอง เด็กกำพร้าโดยกำเนิดที่ต่อสู้ดิ้นรนด้วยตัวเอง เขาเห็นด้านที่มืดและสิ้นหวังที่สุดของระบบทุนนิยม และพยายามเอาตัวรอดจากการมองหามูลค่าและกำไรต่าง ๆ เขาได้รับการอุปถัมภ์จากย่าของซอดัลมีเมื่อครั้งเขาออกจากบ้านเด็กกำพร้าและทำให้เขาเข้ามาในชีวิตซอดัลมีผ่านจดหมายที่ย่าซอดัลมีขอให้เขาช่วยเขียนปลอบประโลมซอดัลมีในวัยเด็ก
15 ปีผ่านไปในวัย 35 ปี ฮันจีพยองคือตัวแทนของระบบทุนนิยมสมบูรณ์แบบเขาประเมินทุกความเป็นไปได้จากตัวเลข สถิติ และความน่าจะเป็น งานของเขาคือการให้ทุนบริษัทเริ่มใหม่ขนาดเล็ก การมองหาศักยภาพในการทำกำไรของบริษัท และบ่อยครั้งความเห็นของเขาก็เป็นการทำลายความฝันของนักธุรกิจหน้าใหม่
ขณะที่ตัวละครอีกตัว-นัมโดซาน เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่พ่อเป็นหัวแผนกรักษาความปลอดภัย เขาประสบความสำเร็จในฐานะแชมป์คณิตศาสตร์โอลิมปิกที่อายุน้อยที่สุด ในวัย 12 ปี จนเป็นข่าวโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ทั่วไป ย่าของซอดัลมีเลือกให้ ฮันจีพยองใช้ชื่อของนัมโดซานเขียนจดหมายหาซอดัลมีในวัยเด็ก เพราะเชื่อว่าคือตัวแทนของคนวัยเดียวกันที่ “ฉลาด ประสบความสำเร็จ” และกลายเป็นเรื่องราวยุ่งเหยิง เมื่อ 15 ปีผ่านไป นัมโดซานสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ด้วยผลการเรียนกลาง ๆ เริ่มทำธุรกิจด้วยการลงทุนของพ่อ หลายปีผ่านเขากลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวของครอบครัวที่บริษัทไม่มีนักลงทุนสนใจและไม่มีวี่แววจะได้กำไร
เรื่องราวพูดถึงการทำธุรกิจร่วมกันระหว่าง ซอดัลมี ผู้หญิงในครอบครัวที่หย่าร้าง ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย และนัมโดซานวิศวกรคอมพิวเตอร์ผู้มีพรสวรรค์ด้านคอมพิวเตอร์แต่ไม่มีหัวด้านธุรกิจและความสัมพันธ์มนุษย์เลย ธุรกิจที่ ฮันจีพยอง บอกว่าไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะไม่มีแบบแผนการสร้างกำไร ไม่มีตัวแบบที่ดึงดูดนักลงทุน แต่อะไรที่ทำให้ ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จและเอาชนะอุปสรรคทุกอย่างได้ เรื่องน่าเศร้าที่ผู้เขียนบทน่าจะตั้งใจเย้ยหยันความเหลื่อมล้ำของระบบทุนนิยมในเกาหลีใต้ คือเห็นจะมีเหตุปัจจัยเดียวที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จคือ “โชค” เท่านั้น
“ทำไมฉันถึงใช้ชื่อนายเขียนจดหมายหาซอดัลมีเมื่อ 15 ปีก่อน” ฮันจีพยอง เอ่ยกับ นัมโดซานตอนหนึ่งในรักสามเส้าอันน่าอึดอัด “ไม่ใช่ว่านายดูฉลาด และจะประสบความสำเร็จเท่านั้นนะ แต่ตอนนั้นฉันรู้สึกว่า นายเป็นคนโชคดี โชคดีจริง ๆ”
การประสบความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กมีน้อยกว่าร้อยละ 1 ระหว่างทางนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ การขโมยเทคโนโลยี การซื้อตัวคนในทีม หลอกลวง การเทคโอเวอร์ หรือการใช้อำนาจของทุนใหญ่กลั่นแกล้ง และโอกาสที่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กจะพบกับนักลงทุนที่เห็นค่าก็น้อยกว่า 1 ในแสน หรือเกือบเท่าถูกล็อตเตอรีรางวัลที่ 1 ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของการประสบความสำเร็จผ่านความเป็นอัจฉริยะ ความใหม่ของเทคโนโลยี หรือเทคนิคการนำเสนอ แต่ทั้งหมดคือเรื่องของโชค เพราะโอกาสที่จะสำเร็จจากคนธรรมดามันน้อยนิดเหลือเกิน มันจึงเกิดขึ้นจริงได้เพียงแค่ในละคร
เช่นนั้นในโลกจริง ใครกันที่มีโอกาสในการประสบความสำเร็จ ?
โอกาสที่มนุษย์จะประสบความสำเร็จในธุรกิจ หรือเรื่องง่าย ๆ คือการเดินตามความฝันได้ มีการยืนยันในภาพใหญ่ว่าไม่ได้เกิดจากอัจฉริยะ หรือแม้แต่โชคชะตา แต่เกิดจาก “ลักษณะสวัสดิการ” โดยพื้นฐานของสังคมนั้น เพราะหากไม่มีปัจจัยเรื่องสวัสดิการมาเกี่ยวข้อง ก็เป็นเรื่องง่ายมากที่จะทำนายว่าใครจะประสบความสำเร็จ นั่นคือคนที่เกิดมารวยกว่า อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะและอภิสิทธิ์สูงกว่าก็สามารถส่งต่ออภิสิทธิ์นี้ได้ต่อไปอย่างเด่นชัดมากขึ้น แต่การมีสวัสดิการที่ดีย่อมทำให้เรื่องความเหลื่อมล้ำรุ่นพ่อแม่สามารถจบได้ที่รุ่นลูก
Evonomics ได้เผยแพร่บทความระบุว่า หนึ่งในประเทศที่คนรวยได้ง่ายที่สุดคือ “นอร์เวย์” ซึ่งขัดจากความเข้าใจทั่วไป เพราะนอร์เวย์ หรือประเทศกลุ่มนอร์ดิกขึ้นชื่อเรื่องการเก็บภาษีกลุ่มทุนที่สูงมาสร้างรัฐสวัสดิการ น่าจะเป็นประเทศที่มีเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อความรวย แต่คำอธิบายง่าย ๆ คือ ในเมื่อการศึกษาฟรี ประกันการว่างงานยาวนานร่วมปี บำนาญประชาชนเริ่มต้น 30,000 บาทต่อเดือน และรักษาพยาบาลไม่มีค่าใช้จ่าย ก็นับเป็นเหตุผลพอที่คนจะสามารถเริ่มทำธุรกิจได้ง่าย เปลี่ยนสายอาชีพ รวมถึงการมีแรงจูงใจใหม่ ๆ ในชีวิต เมื่อปราศจากความกลัวและข้อจำกัดของชีวิต
ขณะที่สหรัฐอเมริกาหรือเกาหลีใต้ประเทศที่ใช้ระบบสวัสดิการใกล้เคียงกัน และพูดถึงความสำคัญในวิ่งตามความฝัน (เหมือนกับเพลงประกอบ ซีรีส์ที่ชื่อ Follow your dream) กลับเป็นประเทศที่ดูห่างไกลจากการวิ่งตามความฝันที่สุดและผู้คนดูเหมือนจะถูกกักขังด้วยชาติกำเนิดอย่างเห็นได้ชัด และได้แต่หวังให้โชคชะตาที่จะเปลี่ยนโอกาสเหล่านั้น
อีกปัจจัยหนึ่งที่มักถูกมองข้าม กับการสร้างสรรค์นวัตกรรม และการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ คือ “การคุ้มครองแรงงาน” เรามักเข้าใจผิดว่า บรรยากาศการแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตายคือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจเติบโต แต่สิ่งนั้นคือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก เพราะความสร้างสรรค์และมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบนับรวมผู้คนเข้าไปมีความเกี่ยวพันกับความปลอดภัยในชีวิต ความมั่นคงในการทำงาน การไม่ถูกละเมิด การเคารพศักดิ์ศรีในที่ทำงาน รวมถึงประชาธิปไตยในองค์กร การรวมตัวเป็นสหภาพ แม้กระทั่งสิทธินัดหยุดงาน เมื่อแรงงานมีความมั่นคงค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ก็น้อยลง และทักษะความชำนาญที่รอบด้านที่สะสมเพิ่มมากขึ้นก็เป็นประโยชน์ต่อองค์กร
สิ่งที่ ซอดัลมี เผชิญในภาพยนตร์ก็เหมือนกับผู้หญิงไทยชนชั้นแรงงานเผชิญอยู่จำนวนมาก การเป็นพนักงานรายวัน การเหมาค่าแรง การขอให้ลูกจ้างเห็นใจนายจ้าง ดังเช่นการปฏิเสธ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไข พ.ศ.2563 โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 คือการยืนยันสถานะอันเปราะบางของชนชั้นแรงงานไทยที่ไม่จำเป็นต้องแก้ไขเช่นเดียวกัน
ในส่วนสุดท้าย ผมอยากชวนทุกท่านพิจารณาถึงประโยคสำคัญตอนเปิดเรื่องที่พ่อของ ซอดัลมี เอ่ยแก่นักลงทุนในการเสนอโปรเจ็กครั้งแล้วครั้งเล่าของเขาก่อนจะเสียชีวิต
“ถ้าพื้นข้างล่างมันเป็นพื้นทรายก็ดี เมื่อเราผิดพลาดก็จะได้ไม่เจ็บมาก ตอนนี้ข้างล่างเป็นพื้นซีเมนต์ เราล้มครั้งหนึ่งก็ตาย”
เรื่องเหล่านี้ชวนคิดว่าสุดท้ายแล้วก็ไม่มีการปรับพื้น เราได้แต่หวังว่าคนที่ร่วงลงพื้นคนถัดไปจะไม่ใช่เรา ได้แต่หวังโชคชะตาในสังคมไร้สวัสดิการ การต่อสู้ไม่ใช่เรื่องโรแมนติก และมีแค่การหวังพึ่งโชคชะตา เพราะไม่ว่าพยายามแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้เราเอาชนะได้
ผมมีโอกาสคุย ทำงาน หรือรู้จัก นักการเมืองที่มีความฝัน นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ หรือนักวิชาการที่มีชื่อเสียงทรงอิทธิพล ความลับอย่างหนึ่งที่ผมค้นพบแล้วอยากแบ่งปัน ไม่มีหรอกคนเก่ง คนฉลาด มีพรสวรรค์ หรืออัจฉริยะ
ความสำเร็จของพวกเขามีเงื่อนไขเดียวคือ “พวกเขาล้มเหลวได้” ถ้าคุณทำธุรกิจ 10 ล้านล้มเหลวได้ คุณจะรู้ว่าจะทำธุรกิจร้อยล้านอย่างไรให้ได้กำไร ถ้าคุณมีเวลาว่างเตรียมตัวสอบโดยไม่คิดอะไร 2-3 ปี คุณก็จะมีโอกาสสอบชิงทุนได้ทุกทุนในโลก ไปเรียนทุกที่จนจบปริญญาเอก ถ้าคุณสามารถเปลี่ยนงานสู่งานที่ชอบ ถนัดและเงินดี คุณก็จะสำเร็จในสายอาชีพ แต่คุณต้องรู้จักที่จะล้มเหลว หรือเจอว่านี่ไม่ใช่งานที่คุณชอบ
น่าเสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่ “ความล้มเหลว” กลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย เป็นเรื่องของคนรวยและว่าง เพราะภาระที่หนักอึ้ง แม้แต่การเถียงเจ้านายในแผนกถึงความคิดไม่ได้เรื่องของพวกเขา เรายังทำไม่ได้ แม้แต่ขึ้นรถเมล์ผิดสายยังไม่ได้
รัฐสวัสดิการ อาจไม่ได้เป็นตัวรับประกันว่า เราจะมีความสุข หรือมีชีวิตที่น่าพอใจ แต่เรื่องใหญ่ที่สุดมันทำให้เราล้มเหลวได้ พลาดได้ เริ่มใหม่ได้ ไม่มีใครตายจากการเลือกชีวิตของเรา และเป็นเรื่องของทุกคน