อุ่นแดดที่ตากใบ ความไม่บังเอิญบนเส้นทางสายใหม่ตากใบ-กลันตัน - Decode
Reading Time: 2 minutes

อุ่นแดด

1,171 กิโลเมตร จากกรุงเทพถึงตากใบ

เราถูกเชื้อเชิญมาที่นี่พร้อมความหวังของชาวบ้านที่ลุกโชนขึ้นกับการก่อรูปก่อร่างเส้นทางใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

จากตากใบ นราธิวาส ถึง กลันตัน มาเลเซีย…

6 โมง 10 นาที พระอาทิตย์โผล่พ้นผืนน้ำไม่ผิดเวลาจากที่ชาวบ้านบอกไว้แม้แต่นาทีเดียว เบื้องหน้าคือทะเลอ่าวไทยไกลสุดลูกหูลูกตา เบื้องหลังคือแม่น้ำตากใบที่ทอดตัวยาวมาจากแม่น้ำสุไหงโกลก สะพานไม้เก่าขนาบคู่สะพานคอนกรีตที่เพิ่งสร้างใหม่ ชาวบ้านที่นี่เรียกว่า ‘สะพานคอย 100 ปี’ สะพานที่ตัดขวางข้ามแม่น้ำตากใบมายัง “เกาะยาว​”  ที่เรายืนอยู่นี้ มันเชื่อมพี่น้องมุสลิมชาวเกาะยาวกับพี่น้องไทยพุทธบนแผ่นดินใหญ่มาเนิ่นนานนับร้อยปี ที่นี่ถูกปักหมุดไว้ให้เป็น 1 ในจุดหมายของเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงชุมชนที่ชาวบ้านกำลังสร้างขึ้นมา เพื่อหวังว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้จะกลายเป็นปลายทางหนึ่งของนักท่องที่ยวต่างชาติหรือภายในประเทศเอง

…แต่ดูเหมือนภาพความสวยงามเบื้องหน้ากลับขัดแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่

4 มกราคม 2547 หลังเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หลังกระสุนนัดแรกถูกลั่นไกออกไป ดูเมือนแรงสั่นสะเทือนของกระสุนนัดนั้นจะสร้างรอยปริแตกให้เกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่ชายแดนใต้

“หลังเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ความสัมพันธ์ของพวกเรา 2 ชุมชนก็เปลี่ยนไป จากเคยกินนอนด้วยกัน เดินไปโรงเรียนด้วยกัน ไปมาหาสู่กัน มันกลายเป็นความไม่สนิทใจ ความสงสัยที่เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรแต่มันรู้สึกแบบนั้น”

คำบอกเล่าของอาจารย์จักรคนในพื้นที่ชุมชนวัดชลธราสิงเห ย้อนให้เราฟังถึงความสัมพันธ์ในครั้งก่อน ครั้งที่ความต่างของศาสนา ความต่างของความเชื่อไม่มีค่าไปมากกว่าความเป็นพี่น้องและความเป็นหนึ่งเดียวกันของพี่น้องมุสลิมเกาะยาวและพี่น้องไทยพุทธชุมชนวัดชลธราสิงเห  แต่แล้วความเคลือบแคลงใจกลับก่อร่างกลายเป็นกำแพงหนา แม้สะพานยังทอดถึงกันแต่คน 2 ฝั่งกลับไม่เชื่อมต่อกันอีกแล้ว กำแพงที่หนาขึ้นกว้างใหญ่และลึกล้ำมากกว่าแม่น้ำตากใบที่ทอดยาวอยู่เบื้องหน้าเสียอีก

แต่อาหารเช้าของเรากลับเริ่มขึ้นที่นี่…

เพิงไม้ขนาดใหญ่ริมฝั่งชายหาดถูกสร้างเป็นร้านน้ำชา โต๊ะไม้วางกระจายอยู่ใต้ต้นมะพร้าวเกือบสิบโต๊ะ บังเจ้าของร้านกำลังขะมักเขม้นกับการตีแป้งโรตี แผ่นแล้วแผ่นเล่า ในขณะที่ผู้มาเยือนดูเหมือนจะไม่ลดจำนวนลงเลยแม้นี่จะเป็นเวลาเช้ามากก็ตาม

ซาเลาะลาดอ คืออาหารเช้าของวันนี้ หญิงมุสลิมอายุราวสามสิบปีเป็นผู้อำนวยความสะดวกสำหรับอาหารมื้อนี้ เธอบอกว่า ซาเลาะลาดอ เป็นเนื้อคลุกมะพร้าวสับแล้วนำไปยัดใส่พริกก่อนนำไปต้มกะทิจนแห้ง และมันเป็นอาหารพื้นถิ่นของคนตากใบเท่านั้น มื้ออาหารเช้าจบลงที่ชาร้อนและโรตีใส่ไข่ฝีมือบังเจ้าของร้าน พร้อมภาพของคนไทยพุทธจากฟากหนึ่งที่แวะเวียนเข้ามาที่ร้าน

มันทำให้แน่ใจว่าในวันนี้มีบางอย่างเปลี่ยนไปแล้ว…

หลังเวลาแห่งความเคลือบแคลงใจผ่านพ้นไปเพราะการท่องเที่ยวกลายเป็นเวทีให้คนหันหน้าเข้าหากัน จากความพยายามของนักวิจัยกลุ่มหนึ่งในพื้นที่โดยมีอาจารย์กรณ์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง มันเป็นจุดเชื่อมต่อคนปลายสะพาน 2 ฝั่งให้หันหน้าเข้าหากันอีกครั้ง

“กลายเป็นว่าตอนนี้นักท่องที่ยวสามารถมาเดินเล่น พูดคุย ทานอาหารเช้าที่นี่ได้ มันมีมูลค่ามากกว่าเศรษฐกิจ แต่มันมีมูลค่าด้านสังคม มันทำให้สังคมที่เคยมีความเคลือบแคลงใจ มานั่งคุยกันได้ โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการไปมาหาสู่กันได้”

แม้การทำการท่องเที่ยวมักถูกวัดด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนในพื้นที่นี้มันมีความลึกซึ้งมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจแต่มันคือนัยยะทางสังคม

เพราะเขาเชื่ออย่างแท้จริงว่า ความขัดแย้งไม่อาจคลี่คลายได้ด้วยปลายกระบอกปืน

เที่ยงระอุ

“เรามองว่าความรุนแรงไม่เคยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน การแก้ความขัดแย้งมันต้องมีเวทีพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ และเวทีการท่องเที่ยวก็เป็นเวทีหนึ่งที่จะได้พูดคุยกัน คือให้ชาวบ้านเลิกพูดเรื่องความรุนแรงแล้วมาพูดเรื่องการท่องเที่ยวแทน”

บทสนทนาของเราและอาจารย์กรณ์เกิดขึ้นในระหว่างมื้อเที่ยง แดดร้อนระอุจนเป็นไอแต่ผืนนาที่ไกลสุดลูกหูลูกตาก็ยังปรากฏให้เห็นเครื่องจักรไถอยู่ลิบๆ ดูราวกับว่าชาวนาและนกกระยางขาวจะไม่อาทรร้อนใจกับอากาศที่กำลังเผาไหม้อยู่ในตอนนี้ อาจารย์กรณ์ยกช้อนขึ้นส่งเส้นแป้งหนาๆ ที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นเส้นขนมจีนเข้าปาก ก่อนคำถามต่อไปจะเริ่มขึ้น 

“คนอื่นมักมองเรื่องความขัดแย้งว่าเป็นเรื่องความเชื่อ แต่ถ้าเราเอาเรื่องทรัพยากรที่เราเป็นเจ้าของร่วมกันมาพูด เราก็จะเป็นพวกเดียวกัน แล้วเราจะเห็นคุณค่าของชุมชนบ้านเรามากยิ่งขึ้น มันลดเรื่องความเป็นอันนี้ของฉัน อันนั้นของกู แต่ที่จริงมันคือสังคมเดียวกันเป็นทรัพยากรร่วมที่เราเป็นเจ้าของร่วมกัน”

เมืองที่น่าเที่ยวที่สุด คือเมืองที่ปลอดภัยที่สุด

นั่นคือแนวคิดหลักของการจัดการท่องเที่ยวเชิงชุมชน อาจารย์กรณ์บอกกับชาวบ้านและชุมชนเสมอว่า ถ้าบ้านเราไม่ปลอดภัยแล้วใครจะมาเที่ยว? การทำให้ ‘บ้านของเรา’ ตามนิยามของชาวบ้านกลายเป็นที่ที่ปลอดภัย จึงเป็นเป้าหมายร่วมที่พวกเขาต้องไปให้ถึง

แต่ดูเหมือนเป้าหมายนี้จะยังไกลอีกมาก เมื่อฝั่งนโยบายไม่ขานรับ

ภาพทหารแบกปืนตั้งด่านที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่กลับเป็นภาพที่ตัดกันอย่างเห็นได้ชัดกับความพยายามของชุมชนในการสร้างภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวให้เกิดขึ้น ความหวังจึงดูริบหรี่นักกับพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะ “ปืน” ไม่ต่างจากสัญลักษณ์ที่คอยตอกย้ำภาพความรุนแรงในพื้นที่ให้เข้มข้นกว่าเดิม

อาจารย์กรณ์บอกว่าคนทั่วไปมักมองพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้แบบเหมารวม ว่าในทุกๆ พื้นที่มันเต็มไปด้วยความรุนแรง ทั้งที่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ … นั่นยิ่งเป็นการส่งต่อวาทกรรมเก่าๆ ทั้งที่พี่น้องในพื้นที่กว่า 4 ล้านคนยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข มันก็เป็นเครื่องยืนยันอย่างหนึ่งว่าพื้นที่แห่งนี้มีมิติอื่นที่มากกว่าความรุนแรง

แต่ถึงแม้จะมีความพยายามจัดการท่องที่ยวแต่ถ้าปัญหาไม่ถูกแก้ ก็ยากที่จะไปได้ไกล

“ในระดับล่างเขาจับมือกันแล้ว อยู่ด้วยกันได้ พร้อมเดินไปด้วยกัน ภาคนโยบายก็ต้องเห็นความสำคัญของภาคประชาชนด้วย ต้องโซนนิ่งพื้นที่ให้ชัดเจนในแต่ละจังหวัด พื้นที่ไหนสามารถทำเรื่องท่องเที่ยวได้ ชุมชนอยู่ด้วยกันได้ นโยบายต้องยกเรื่องนี้มาคุยกันอย่างจริงจัง”

เย็นย่ำ

เย็นย่ำนี้เราถูกต้อนรับด้วยอาหารพื้นบ้านมากมาย ที่ขาดไม่ได้คือ ปลากุเลา คุณป้าแม่ครัวถึงขนาดออกปากว่า ถ้าไม่ได้กินปลากุเลาถือว่ามาไม่ถึงตากใบ เพราะปลากุเลาเป็นปลาที่หากินได้แค่ในพื้นที่แถวนี้เท่านั้น และนี่คือเหตุผลให้ปลากุเลามีราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 1,600 บาท! มันจึงเป็นของขึ้นชื่ออีกอย่างที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวสายกินให้ต้องมาลองถึงที่นี่

หลังมื้ออาหารผ่านพ้นไปการจับเข่าคุยก็เกิดขึ้น…

“เราก็พยายามกันมาตลอดกับการจัดการท่องเที่ยว เราก็ไม่รู้จะเป็นไปได้แค่ไหนแต่แค่รู้ว่ามีทัวร์ผ่านเข้ามา มีคนมาเยี่ยมชมบ้าง เราก็ดีใจแล้ว”

น้ำเสียงหนักแน่นแต่แววตาที่สั่นไหวน้อยๆ นั่นทำให้เรารับรู้ความรู้สึกลึกๆ ในใจของคนพูดได้ไม่ยาก เหมือนความหวังยังพอมีแม้จะน้อยนิดแต่ชาวบ้านที่นี่ก็หวังว่าสักวันแสงที่ริบหรี่จะลุกโชติช่วงขึ้นมาได้บ้าง แต่ดูเหมือนการล้อมวงพูดคุยกันในวันนี้ จะทำให้เรารับรู้ได้ว่าอุปสรรคอันใหญ่มันไกลเกินชาวบ้านในชุมชนจะทำได้

“ปัญหาใหญ่คือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ติด Warning ในต่างประเทศ ทำยังไงเขาก็ไม่มาเพราะเขากลัว ถ้าจะจัดการท่องเที่ยวจริง ๆ มันต้องให้รัฐปลดล็อกตรงนี้”

ชายร่างสูงมีหนวดตรงปลายคางท่าทางขึงขังคนหนึ่งพูดขึ้นกลางวง บอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในฐานะผู้ประกอบกิจการทัวร์ ปัญหาการติด Warning กลายเป็นข้อจำกัดอันใหญ่ในการที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ เพราะจะไม่มีพื้นที่นี้ขายในทัวร์ต่างประเทศแม้กระทั่งบริษัทประกันก็จะครอบคลุมพื้นที่นี้เช่นกัน นักท่องเที่ยวที่อยากเดินทางมาต้องติดต่อโดยตรงกับคนในพื้นที่ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก ดังนั้นในฐานะผู้ประกอบการจึงมองว่า ถ้ารัฐสามารถปลดล็อกได้จะเป็นใบเบิกทางสำคัญให้คนในพื้นที่ได้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง หรืออย่างดีที่สุดคือการโซนนิ่งพื้นที่ให้ชัดเจน ว่าพื้นที่ตรงไหนที่สามารถเข้ามาเที่ยวได้และขายความเป็นพหุวัฒนธรรมจึงจะสามารถสร้างความมั่นใจให้คนต่างชาติหรือแม้แต่คนไทยด้วยกันเองได้

“ครั้งหนึ่งเราเคยทำให้เส้นทางยะลา-เบตง กลายเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวหลักใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ นั่นก็เกิดจากการร่วมมือของชาวบ้านและนักวิจัยในพื้นที่ จนมันถูกมองเห็นและขานรับด้วยนโยบายจากข้างบน ในการทำงานมันมีหลายอย่างที่นักวิจัยและชาวบ้านไปไม่ถึง คงทำได้แค่ฝากสื่อมวลชนและสังคมเพื่อสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นไป” อาจารย์กรณ์พูดทิ้งท้ายก่อนจะแยกย้ายกันไป

จบวัน…เราบอกลาป้าแม่ครัวเจ้าของฝีมือการทำอาหารชั้นยอดและพี่สาวที่คอยดูแลตลอดการเดินทาง แม้การทำการท่องเที่ยวในพื้นที่ตากใบจะมองเห็นทางไม่ชัดนัก แต่ในการกล่าวลาครั้งนี้เราก็ยังเห็นประกายตาและรอยยิ้มกว้างที่ติดอยู่บนใบหน้าของพวกเขาอย่างชัดเจน