ผักกาดหอมหัวนี้ราคาเท่าไหร่ ?
คำตอบของคำถามนี้อาจเหมือนกันทั้งตลาด ราวกับว่าพ่อค้าแม่ค้าเนรมิตคิดราคา
ใครมีความต้องการซื้อก็เพียงแค่ควักเงินในกระเป๋าจ่าย
เรื่องราวในชีวิตประจำวันถูกหันมาตั้งคำถามในหนังสือเล่มนี้
ใคร ? เป็นผู้ปลูกผักกาดหอม
ใคร ? กำหนดราคาหัวผักกาดหอมเหล่านี้
ทำไม ? ผักกาดหอมถูกกว่ามะเขือเทศ
ทำไม ? ผักกาดหอมถึงมาวางขายบนแผงในตลาด
คำถามชวนคิดที่ เดวิด ฮาร์วี นักวิชาการผู้คร่ำหวอดในโลกการเมือง เศรษฐศาสตร์ พยายามทำความเข้าใจต้นตอของวิกฤตการณ์ในปัจจุบัน เพราะดูเหมือนว่าระบบทุนนิยมเริ่มส่งสัญญาณบางอย่างให้กับโลกมาสักพัก จึงลงมือเขียนหนังสือเล่มนี้
เดวิดพยายามล้วงลึกถึงเบื้องหลัง และชี้ให้เห็นความขัดแย้งที่สร้างปัญหารุมเร้าเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ที่ขับเคล่ือนระบบทุนนิยม โดยเขาอุปมาว่า โลกเศรษฐกิจ คือ เรือสำราญลำใหญ่ที่แล่นบนท้องมหาสมุทร ผู้คนบนเรือย่อมมีปฏิสัมพันธ์กัน บางครั้งก็เป็นมิตรและบางครั้งก็เป็นปฏิปักษ์กันอย่างรุนแรง ตั้งแต่ลูกจ้างในห้องเครื่องยนต์ไปจนถึงกัปตัน มีแบ่งลำดับชั้นผู้โดยสาร
ผู้ลากมากดีอาจแยกตัวอยู่ชั้นบนเล่มเกมวัดดวงเพื่อจัดสรรความรวยกัน
ในขณะที่ชั้นล่างอาจมีเรื่องพิพาทที่อาจนำไปสู่การปฏิวัติระหว่างชั้นต่าง ๆ บนเรือ
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนเรือลำนี้ ฝากชีวิตไว้กับเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องภายใต้ท้องเรือ เครื่องยนต์เศรษฐกิจส่งเสียงขลุกขลักในช่วงหลัง ถ้าเครื่องยนต์พังทลายลง เรือลอยไร้ทิศทางกลางมหาสมุทร เมื่อนั้นมนุษย์ทุกชนชั้นย่อมตกที่นั่งลำบาก
เครื่องยนต์ต้องได้รับการซ่อมหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องเก่า เอาเครื่องใหม่แทนที่
เกิดคำถามต่อมาว่าจะออกแบบอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่และระยะต่อไป
เพื่อสานต่อเครื่องยนต์ที่ยังใช้ได้ดี และไม่ผลิตซ้ำเครื่องยนต์ที่มีข้อบกพร่อง
Decode ชวนทำความเข้าใจแบบฉบับย่อ ๆ พอดีคำ จับสัญญาณความขัดแย้ง ที่ดังมาจากห้องเครื่องยนต์เศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนระบบทุนนิยม และมองเห็นว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เริ่มเห็นเค้าลางปลายทาง ว่าเครื่องยนต์เศรษฐกิจนี้อาจขับเคลื่อนระบบทุนนิยมไปต่อลำบาก จึงหยิบยกความขัดแย้งของทุนนิยมบางประการมาเล่าสู่กันฟัง
เนื่องจาก ‘มูลค่า’ มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ ‘เงิน’ เป็นมาตรวัดเพียงหนึ่งเดียว ที่ใช้วัดมูลค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าและบริการทุกอย่างในตลาด รวมทั้งเป็นวิธีเก็บรักษามูลค่า ‘มูลค่า’ จึงแปรเปลี่ยนให้มีตัวแทนเป็น ‘เงิน’ และเงินถูกขยายบทบาทมากในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าความต้องการเงินอย่างไม่มีที่สิ้นสุด คือพลังทำให้โลกเศรษฐกิจหมุนไปข้างหน้า ?
ความขัดแย้งบางประการของทุนสามารถยกระดับทำให้โลกเปลี่ยนไป ตัวอย่าง นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่งกู้เงินตามความฝัน หันมาสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อเก็งกำไร ผู้บริโภคใช้สินเชื่อจำนองเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้เงินที่เป็นสินเชื่อมีส่วนสร้างโลกที่ซับซ้อนซ่อนเร้น
เงินซึ่งเชื่อว่าใช้วัดมูลค่า จนตัวมันเองกลับกลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่งเรียกว่า ‘ทุนเงิน’ ที่ใช้เงินวกวนซ้ำไปมา หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘ทุนลวง’ โดยมูลค่าใช้สอยก็คือตัวแทนมูลค่าสิ่งของ และมูลค่าแลกเปลี่ยนก็คือดอกเบี้ย ซึ่งเท่ากับเติมมูลค่าให้กับสิ่งที่วัดมูลค่า ในขณะที่มาตรวัดอื่น เช่น นิ้ว กิโลกรัม หรือเมตร ไม่สามารถซื้อขายตัวเองได้
ช่องว่างนี้เอง ที่เป็นทั้งความแปลกประหลาดของเงิน ความพิเศษของผู้กุมเงิน และความขัดแย้งของสังคม
การเก็งกำไรมูลค่าที่อยู่อาศัยไม่ก่อให้เกิดผลผลิต ทุนลวงจำนวนมหาศาลไหลเข้าไปในตลาดอสังหาริมทรัพย์
จนกระทั่งปี 2007-2008 เหตุการณ์ที่ประเทศไทยเรียกว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เกิดการขอสินเชื่อง่าย เพราะราคาที่อยู่อาศัยพุ่งสูงขึ้นจากการซื้อบ้านเพื่อเก็งกำไร และอัตราหมุนเวียนพุ่งสูงตาม ซึ่งโอกาสความหวังการกอบโกยค่าธรรมเนียมและค่านายหน้าพุ่งสูงจากการซื้อขายที่อยู่อาศัย การมัดรวมหนี้จำนอง เป็นตราสารที่มีหนี้เป็นหลักประกัน ทำให้เกิดตราสารหนี้ ซึ่งสามารถนำไปขายในตลาดทั่วโลก
ข้อเท็จจริงนี้ที่ ‘เงิน’ เอื้อให้บุคคลเอกชนสามารถยึดอำนาจทางสังคมเพื่อตนเอง และเงินกลายเป็นศูนย์กลางของพฤติกรรมของคนบางกลุ่มที่มุ่งหวังเพียง ‘กำไร’ จนในที่สุดราคาบ้านสูงลิบลิ่ว จนไม่มีใครซื้อไหว ความต้องการก็จะลด สุดท้ายราคาที่อยู่อาศัยก็จะตกเหมือนฟองสบู่แตก แล้วคนที่ซื้อบ้านมาเก็งกำไรก็จะไม่มีเงินใช้หนี้ ธนาคารก็เกิดหนี้เสีย และทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ
ขณะที่แรงงานถูกปลดปล่อยจากการเข้าถึงที่ดินมากขึ้น ก็ยิ่งสร้างความสะดวกให้ทุน เพราะแรงงานไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขายกำลังของตนเพื่อดำรงชีพ ‘เสรีภาพกลายเป็นการครอบงำ ความเป็นทาสคือเสรีภาพ’
ตั้งแต่ 1970 เป็นต้นมา ระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่เฟื่องฟู เปลี่ยนทิศทางการพัฒนาของทุนไปสู่การแปรรูปและทำให้เป็นการค้ามากขึ้น ทำให้มูลค่าแลกเปลี่ยนถูกครอบงำมากขึ้น
ขบวนการต่อต้านเสรีนิมใหม่จึงชักนำเราไปสู่ทิศทางที่แตกต่าง โดยเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมแบบสันติและไม่รุนแรง เพราะขบวนการนี้ก้าวข้ามความอดทนที่เก็บกด สัญญาณความขัดแย้งนี้อาจชี้ให้รู้ว่าปลายทางมาถึงแล้ว
เดวิดยกข้อเสนอพื้นฐานบางประการมาพูดถึง เพื่อให้เห็นว่าเหตุใดจึงมีขบวนการต่อต้าน จากหนังสือ The Enigma of Capital ใจความว่า “ทุนนิยมไม่มีทางล่มสลายลงเองต้องมีคนผลักให้ล้ม การสะสมทุนจะไม่มีวันหยุดยั้ง ต้องมีคนหยุดยั้งมัน ชนชั้นนายทุนไม่มีทางยอมสละอำนาจด้วยความเต็มใจ ต้องมีคนพรากอำนาจไปจากพวกเขา”
และเดวิดบอกต่อว่า เราต้องพยายามเปลี่ยนโลกทีละน้อยอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยการให้ความสำคัญกับด้านใดด้านหนึ่งของความขัดแย้ง (เช่น มูลค่าใช้สอย) มากกว่าอีกด้านหนึ่ง (เช่น มูลค่าแลกเปลี่ยน)
แล้วความขัดแย้งที่เริ่มมีเค้าลางความไม่แน่นอนบนเรือลำนี้จะเดินหน้าอย่างไร ?
“ในสภาพของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่พร้อมจะเกิดวิกฤตการณ์ได้ตลอดเวลาจากปัญหาความขัดแย้งภายในระบบเอง ตัวเราในฐานะฟันเฟืองของระบบและได้รับผลกระทบ ควรจะคิดหาทางเลือกอื่นที่ก้าวพ้นระบบทุนนิยมหรือไม่” คำถามชวนคิดต่อจาก ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียน-นักแปลอิสระ ผู้แปลหนังสือเล่มนี้
ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระ
สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่กำลังต่อต้านเผด็จการ บางประการของความขัดแย้งในหนังสือเล่มนี้ก็กระจ่างชัดขึ้นอย่างความขัดแย้งประการที่ 4 การยึดครองส่วนบุคคลกับความมั่งคั่งส่วนรวม เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมากในเมืองไทยตอนนี้ ปัญหาของสถาบันรัฐต่าง ๆ ที่ดูดซับมูลค่าส่วนเกินไปใช้ในทางที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจ ความสุขสบายล้นเกินของคนส่วนน้อย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องอยู่อย่างยากลำบาก
และความขัดแย้งประการที่ 8 เทคโนโลยี งานและมนุษย์ใช้แล้วทิ้ง เป็นบทที่นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ควรได้อ่าน เพื่อรู้ว่าตัวเองจะต้องพบเจออะไรในตลาดแรงงานต่อไปข้างหน้า
แล้วเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนระบบทุนนิยมของเรือลำนี้จะมีจุดจบอย่างไร ?
“ในหนังสือเล่มมันไม่มีจุดจบของทุนนิยมในตัวมันเองหรอกค่ะ มันต้องอาศัยขบวนการประชาชนในการเปลี่ยนแปลงค่ะ” พี่ภัควดีกล่าวทิ้งท้าย
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ขึ้นไว้บนเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี