ใบปริญญาและคุณค่าในกรอบหลุยส์ - Decode
Reading Time: 2 minutes

กระแสไม่เข้ารับปริญญาได้รับการพูดถึงและปฏิบัติเป็นวงกว้างในช่วงเทศกาลรับปริญญาปีนี้ หลังมีนักศึกษาขึ้นปราศรัยเชิญชวนไม่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยนิยามความหมายของการกระทำนั้นคือ การประท้วงโดยชอบธรรมที่บัณฑิตสามารถทำได้ กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และสายลมของความเปลี่ยนแปลงในหมู่คนรุ่นใหม่ ในมุมผู้ปกครองที่ส่งเสียเลี้ยงดูจนจบการศึกษา หลายคนวาดหวังภาพรับปริญญาจากพระหัตถ์ไว้ติดฝาบ้าน เป็นรูปที่มีทุกบ้านแทนรางวัลการตรากตรำทำงานเพื่อความสำเร็จของบุตรอันเป็นที่รักค่านิยมของการรับปริญญา พิธีอันศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งที่ปุถุชนสามารถใกล้ชิดร่วมภาพถ่ายกับในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์

ใบปริญญายังสำคัญจริงหรือในสภาวการณ์ตกงานทั่วประเทศ เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่คนจนหายใจไม่ทั่วท้อง การศึกษาจะพาเราเลื่อนชนชั้นทางสังคมได้จริงอย่างที่เขาว่า หรือติดเพดานความเหลื่อมล้ำที่ถีบห่างถ่างกว้างจนเราปีนไม่ถึง Decode ร่วมถอดรหัสใจความสำคัญของการศึกษา ใบปริญญาที่คนไทยให้ค่าผ่านมุมมองของ ส. ศิวรักษ์ (สุลักษณ์ ศิวรักษ์) ปัญญาชนสยาม ผู้นิยามตนเป็นคนรักเจ้าที่วิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา และหวังให้สถาบันปรับตัว

ทำไมคนเริ่มไม่เห็นความสำคัญของการรับปริญญา เพราะคนไม่เชื่อในการศึกษา หรือไม่นิยมในสถาบันพระมหากษัตริย์

“ถ้าสมมติคนเข้ารับปริญญาน้อยลง ก็ต้องรู้ว่าสถาบันนี้มีความนิยมชมชอบน้อยลงต้องปรับปรุง ทุกอย่างปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้หมดครับ ถ้าเราใช้สติวิจารณญาณ”

คนส่วนใหญ่ไม่สนใจปริญญา เพราะปริญญาเคยสัญญาว่าจบแล้วจะได้งาน แต่คนส่วนใหญ่ก็ว่างงาน ปริญญาเป็นของปลอมของใครหลายคนไปแล้ว แต่ที่อันตรายไปยิ่งกว่านั้นคือมีมิติทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง เพราะผู้ที่ให้ปริญญาทุกมหาวิทยาลัยของรัฐ คือ เจ้านายในราชวงศ์  และตอนนี้ก็มีกระแสคนเริ่มเบื่อเจ้านาย เริ่มเบื่อสถาบันกษัตริย์เลยหาทางไม่รับปริญญาเป็นการประท้วง ซึ่งเขามีสิทธิ์ที่จะทำได้  ถ้าทางฝ่ายสถาบันกษัตริย์เข้าใจ ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขยังไงให้เขากลับมามีความภูมิใจในการเข้ารับปริญญา กลับมามีความภูมิใจให้การเข้าเฝ้า ซึ่งทำได้แต่ต้องใช้สติวิจารณญาณหันหน้าเขาหากัน แต่ต่างฝ่ายต่างถือดี มันก็นำไปสู่เส้นทางที่ไม่งดงามได้

ลูกหลานรับปริญญาทำไมทั้งบ้านต้องเล่นใหญ่

การรับปริญญาเป็นพิธีกรรมให้ดอกไม้ ให้อะไรต่างๆ พ่อแม่มาจากหัวบ้านหัวเมือง เช่ารถ เสียเงินกันเยอะแยะ เพราะมันเป็นประเพณี พิธีกรรมซึ่งทุกคนเชื่อมั่นว่ามันวิเศษมหัศจรรย์ โดยเฉพาะได้ถ่ายรูปกับในหลวงที่พระราชทานปริญญาติดไว้ตามบ้าน มันแสดงอัครฐาน (สถานะอันเป็นเลิศ ดีกว่า หรือเหนือกว่า) แต่ประเด็นเหล่านี้คนรุ่นใหม่เขาเริ่มไม่เชื่อตามที่เขาเชื่อกันมา  เราไปเชื่อว่าอย่างน้อยเราก็ได้ใกล้ชิดกับผู้ที่สูงสุดในบ้านเมือง อย่างน้อยครั้งนึงในชีวิตก็มีของที่น่าปลาบปลื้มยินดี ความเข้าใจนี้มันกระพือไปทั่ว อะไรก็ตามที่เราเข้าใจไม่ถูกต้อง ทีหลังก็ต้องเสื่อมสลายไป

การรับปริญญาจากราชวงค์ไม่ใช่พิธีกรรมเก่าแก่ตามที่หลงเชื่อกันมา อาจารย์สุลักษณ์เล่าว่าเดิมการรับปริญญาเป็นกิจกรรมที่มอบกันเองภายในมหาวิทยาลัยโดยอธิการบดีหรือผู้บริหารของสถานศึกษานั้น สมัยก่อน บัณฑิตผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีน้อย ใบปริญญาถูกม้วนและยื่นให้บัณฑิตแบบไม่มีพิธีรีตอง บ่อยครั้งมีการสลับชื่อกันบนเวที ก็รับกันไปก่อนค่อยมาสลับทีหลัง สะท้อนให้เห็นว่าพิธีกรรมการรับปริญญากับเจ้าที่เชื่อกันมาไม่ใช่ของเก่า แต่เป็นของใหม่ที่ประกอบสร้างและให้ความหมายทางสังคมกันเองในภายหลัง

เด็กสมัยนั้นมีจำนวนน้อย ปริญญาก็ม้วนๆ ให้
เด็กบอก เอ้ย! อันนี้ไม่ใช่ของผม
เออ รับไปก่อนๆ เขาไม่ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ภายหลังการรับปริญญาถือเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์เอาพระเจ้าแผ่นดินมาเกี่ยวข้อง เพราะตอนนั้นเราต้องการจะอุดหนุนให้สถาบันพระมหากษัตริย์เข้มแข็งมากขึ้น จึงเชิญเสด็จมาให้พระราชทานปริญญา ทีนี้อันตรายแล้ว ต่อมาเลยถวายปริญญาให้ในหลวง ในหลวงองค์ที่แล้วได้ปริญญาจากทุกมหาวิทยาลัย มันเกินไป ต้องทำอะไรที่พอสมพอควร

สถาบันพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับความสำเร็จทางการศึกษา และคุณค่าทางใจของคนไทยอย่างไร

มองในแง่ดีคือ อยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์ใกล้ชิดประชาชน แต่ก่อนคนดีใจที่มีรูปตัวติดกับในหลวงตอนรับปริญญา แต่ทีหลังมันมากเข้าในหลวงก็สู้ไม่ไหว การรับปริญญากับพระองค์ท่านสมัยก่อนต้องคุกเข่ารับ ต่อมาจึงเลิก ให้ยืนรับได้เพราะคนมากขึ้น ทีหลังพระองค์ท่านเองพระราชทานไม่ไหวก็ให้ลูกๆ ไปพระราชทานปริญญาเอง ตอนนี้เลยติดอยู่ในวงการเจ้านาย แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยเอกชนก็พยายามหาเจ้านายไปพระราชทานปริญญา แม้บางครั้งจะเสียเงินถวายเจ้านายองค์นั้นหลายล้านก็ตาม เพราะคนยังตื่นเจ้าตื่นนายอยู่ แต่ตอนนี้ผมว่าคนที่ตื่นเจ้าตื่นนายคงจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะตอนหลังเจ้านายบางองค์ก็ทำพระองค์ไม่ให้เป็นที่ชื่นชมเท่าไหร่ เขานึกว่าทุกคนจะต้องหมอบราบคาบแก้วกับพวกตัวไปตลอด อันนี้ก็ลืมตัวไป อ.สุลักษณ์กล่าว

ใบปริญญาคือเครื่องหมายของความสำเร็จ ความเพียรทางการศึกษา เป็นปลายทางสุดท้ายนับตั้งแต่วัยอนุบาลฝึกอ่านเขียน เข้าประถม มัธยมและอดทนเข้าสู่มหาวิทยาลัย ปริญญาคือใบเบิกทางที่หลายคนเชื่อมาตลอด พ่อแม่ผู้ส่งเสียเชื่อว่าการศึกษาคือสิ่งดีที่สุดที่มอบให้ลูก เพื่อโอกาสชีวิตที่ดีกว่าและหนทางเลื่อนสถานะทางสังคมของคนรุ่นหลัง  ฉันถามคำถามนี้กับชายชราตรงหน้าว่าจริงหรือที่การศึกษาคือ บันไดพาเราก้าวข้ามสถานะเดิมทางสังคม

อันนี้เป็นความเชื่อที่เราหลอกคน และคนถูกหลอกมาเรื่อยๆ จบประถมต้องไปเรียนมัธยม จบมัธยมต้องไปเรียนอุดมศึกษา อุดมศึกษาก็ต้องไปเรียนเมืองนอก ไม่เรียนเมืองไทย

มันถูกหลอกหลอนทั้งนั้น เป็นการหลอกลวงทั้งนั้นเลย

ผมมีเพื่อนปัญญาชนฝรั่ง เขาบอกว่าในตะวันตกสมัยหนึ่งเมื่อศาสนจักรเป็นใหญ่ คนต้องไปวัดอาทิตย์ละครั้ง ใครไม่ไปถือว่าบาป สมัยใหม่เราปล่อยให้ลูกไปวัดอาทิตย์ละ 5 ครั้ง 5 วันถูกสถาบันการศึกษาแบบใหม่ ซึ่งเป็นวัดแบบใหม่ล้างสมองให้จงรักภักดี ให้เชื่อชาติ ชาติพ้นภัย แล้วจะได้งานได้เงินดี เป็นเรื่องเลอะเทอะเหลวไหลทั้งนั้น แต่ก่อนเรียนรู้เพื่อฝึกตัวให้ฉลาดเฉลียวกว้างขวาง เรียกว่า Liberal Education ทีหลังไม่ใช่แล้ว เรียนเพื่อหาเงินกัน ที่ไหนสอนเรื่องเกี่ยวกับหาเงินหาทองได้ก็จะไปที่นั่นกันหมด มันเสียดายเพราะเราพลิกเป้าหมายการศึกษา

โอเค นัมเบอร์วัน ถ้าเราถูกหลอก และการศึกษาถูกทำให้เป็นสิ่งที่ทำตามกันมา เป็นเพียงเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ ทำเงินได้มากกว่าการขัดเกลาให้เป็นมนุษย์ที่สมดุลเฉลียวฉลาด ฉันถามปัญญาชนตรงหน้าต่อว่าเป็นไปได้ไหมที่คนรุ่นใหม่จะกลับไปหาแก่นแท้ของการศึกษา

เป็นไปได้ เป็นไปได้ อาจารย์กล่าวย้ำ 

ผมยกตัวอย่างของจริงเวลานี้ อย่างคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยหัวเมือง ตอนนี้คณะนิติศาสตร์ดังระเบิดเลย เพราะไผ่ ดาวดินก็มาจากคณะนิติศาสตร์ คณบดีเขาเป็นลูกศิษย์ผม เขาบอกไม่อยากสอนลูกศิษย์ให้ไปเป็นอัยการ เป็นผู้พิพากษา เขาสอนลูกศิษย์ให้รักความยุติธรรม ผมแนะว่าครูศิษย์ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ลูกศิษย์ต้องออกไปหาคนยากคนจน เรียนรู้จากคนยากคนจน  การศึกษาของคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่นเป็นการศึกษาที่ผมตื่นเต้นภูมิใจมาก เพราะเด็กที่นั่นรักความยุติธรรม ยอมติดคุกติดตารางเพื่อความถูกต้องดีงาม

ตอนนี้เราเริ่มเห็นความขัดแย้งในระบบการศึกษาโดยเฉพาะในโรงเรียนที่นักเรียนออกมาเรียกร้องความไม่ปกติของการใช้อำนาจ และตั้งคำถามต่อขนบการศึกษาแบบเดิมๆ มากขึ้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนอะไร

แสดงว่า เขามีความกล้าหาญมากขึ้น ครูอาจารย์หลายคนนึกว่าตัวเองรู้วิเศษไปหมดไม่ฟังคนรุ่นใหม่เลย อย่างพิธีไหว้ครูแบบโบราณ เอาดอกมะเขือ ดอกเข็มมาไหว้ครู แล้วบังคับให้นักเรียนคลานเข้ามากราบ มันหมดสมัยแล้วครับ สมัยโบราณครูเขาสอนให้เราฟรี เราเลยเคารพเขา ตอนนี้เขากินเงินเดือนไม่สนใจเด็ก ในระหว่างที่เด็กมากราบเรา ในใจมันด่าเราจะแย่อยู่แล้ว วิธีที่ดีที่สุดคือ ครูสอนให้เด็กมาด่าแม่ต่อหน้าเท่านั้นเอง อาจารย์สุลักษณ์กล่าว

สอนให้เด็กด่าต่อหน้าในความหมายนี้อาจหมายถึงการสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ เปิดโอกาสให้เด็กในฐานะผู้เรียนได้ถกเถียง แสดงออกทางความเห็นและเรียนรู้ร่วมกันกับครูผู้สอน แต่ด่ากันต่อหน้าอาจหมายความอีกแบบในโลกของครูผู้สอนโลกเก่าที่มองเด็กเป็นเด็กที่ต้องเชื่อฟัง เรียนรู้ในระบบที่ออกแบบไว้ไม่ให้ตั้งคำถามกับความล้าหลังละเลยแก่นของการศึกษา

จากการสอบถามบัณฑิตธรรมศาสตร์ คณะหนึ่งที่มีจำนวนบัณฑิตจบการศึกษา 260 คน ลงนามเข้ารับ 60 คน อีก 200 คนปฏิเสธเข้าร่วม เมื่อถามถึงเหตุผลของการเข้ารับและเหตุผลของการปฎิเสธ พบว่าส่วนของผู้เข้ารับต้องการทำให้พ่อแม่และครอบครัวภาคภูมิใจ เป็นรางวัลยืนยันว่าพวกเขาเรียนจบแล้วด้วยความพยายาม และรางวัลของพ่อแม่ผู้ส่งเสียเลี้ยงดู บ้างมองข้ามเรื่องลำดับขั้นตอนของการซักซ้อมพิธี มองผ่านมิติทางการเมืองและตัวบุคคลที่มอบ แต่เข้ารับเพราะคือภารกิจสุดท้ายเป็นรางวัลเฉลิมฉลองให้กับการเรียนจบ  ในขณะเดียวกันมีผู้เข้ารับที่จำยอม เพราะความต้องการของครอบครัว บางรายกลายเป็นความขัดแย้งในบ้าน จึงตัดสินใจเข้ารับตามความต้องการของคนรักรอบตัว

ถือว่าแม่ขอ
พ่อแม่รอวันนี้มาทั้งชีวิต
วันข้างหน้าจะเสียใจที่ตัดสินใจแบบนี้
ไม่คิดว่าลูกจะคิดเลวอย่างนี้

เหล่านี้คือตัวอย่างบทสนทนาต่อรองจากครอบครัวและคนรอบข้าง ด้านเหตุผลของบัณฑิตที่ปฎิเสธมีความคล้ายกันเป็นส่วนใหญ่ คือ เรื่องลำดับขั้นตอนที่ซับซ้อนของพิธี ข้อห้ามข้อจำกัดในเนื้อตัวร่างกายของบัณฑิตที่ไม่เห็นด้วย และไม่มีเหตุผลอธิบาย เช่น การห้ามใส่ชุดชั้นในมีโครงในผู้หญิง  แต่เหตุผลสำคัญที่เข้าไม่เข้ารับพูดตรงกัน คือ มุมมองต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และบทบาททางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และข้อเรียกร้อง 10 ประการ ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของราชวงศ์ 

งานรับปริญญาเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิต พอคนรุ่นใหม่ปฏิเสธเข้าร่วมทำให้ผู้ปกครองรู้สึกโกรธ รู้สึกแย่กับลูกตัวเอง บางรายนำไปสู่ความขัดแย้ง อาจารย์มีคำแนะนำต่อพ่อแม่ของเราไหม

แน่นอน อะไรที่มันแปลกใหม่คนก็ไม่เข้าใจ มันก็ต้องเปลี่ยนไปผมเตือนนะครับไม่รู้ว่าขาจะฟังผมไหม ผมก็เป็นตาแก่ เป็นผู้ปกครอง เราควรจะฟังคนรุ่นใหม่ แล้วอย่าไปเห็นว่าเราถูกฝ่ายเดียว เขาอาจจะถูกได้ ถึงแม้เขาผิด เขารับความเห็นที่แตกต่างกันได้ อันนี้จะช่วยให้บ้านไม่แตกสาแหรกไม่ขาด หัดฟังคนอื่นเขา เด็กมันจะหัวรุนแรงบ้าง สมัยเราเป็นเด็กเราก็เคยหัวรุนแรงมา ถ้าเข้าใจแล้วทุกอย่างก็จะแก้ไขไปในทางวัฒนะ ไม่ใช่หายนะ

บทสนทนาสุดท้ายเรื่องการศึกษาและใบปริญญาจบลงในช่วงบ่ายของการสัมภาษณ์ เราลาอาจารย์ส. ศิวรักษ์ ออกจากบ้านพร้อมเสียงดนตรีไทยจากเครื่องเล่นซีดีที่อาจารย์เปิดส่งเรากลับ ก่อนจากกันเราร่วมถ่ายภาพ กับปัญญาชนสยามวัยย่างเก้าสิบถือไม้ตะพดของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ที่มอบให้เป็นที่ระลึก บอกกับเราว่าหยิบไม้นี้มาเพราะเห็นว่า บทสนทนาของเราคือการศึกษาและประชาธิปไตย