เป็นครั้งแรกที่ประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่านถูกท้าทายจาก “ขาสั้น คอซอง” และเป็นอีกครั้งที่เพื่อนนักเรียนปลุกกระแสรื้อระบบการศึกษา-โครงสร้างอำนาจ เพิ่มดีกรีความร้อนแรงมากขึ้นไปอีกจากกระแส แฮชแท็ก #เบญคอน เมื่อนักเรียนโดนเรียกผู้ปกครองเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือแม้แต่กรณีโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ที่เกิดปัญหาคุณครูทำร้ายเด็กอนุบาล
ต้องยอมรับโดยสัตย์จริงว่าสิ่งที่กำลังเป็นอยู่นี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วอย่างนานแสนนาน เพียงแต่ปัญหาทั้งหมดถูกซ่อนไว้ใต้พรมและไม่เคยหยิบยกขึ้นมาพูดอย่างเป็นจริงเป็นจัง จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากวันนี้เราจะเห็นนักเรียนกลุ่มหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง อย่าง กลุ่มนักเรียนเลว พวกเขาขอลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงของเพื่อนวัยมัธยมเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย และที่สำคัญต้องขอบอกว่าได้รับเสียงตอบรับจากนักเรียนไทยทั่วประเทศไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนผู้หญิงที่รอบนี้ขอออกมาเป็นแนวหน้าในการเรียกร้อง
แน่นอนว่า การแสดงออกของเหล่านักเรียนในเวลานี้ดูจะเป็นภาพที่ไม่น่ารักสำหรับผู้ใหญ่เอาเสียเลย บางคนบอกว่าเด็กเหล่านี้หยาบคายและเรียกร้องมากเกินไป แต่คุณไม่สงสัยเหมือนกับเราหรือ ว่าอะไรคือต้นเหตุของความโกรธเหล่านั้น เด็กนักเรียนไทยที่ขึ้นชื่อได้ว่าเติบโตมากับระบบอนุรักษ์นิยม การเทิดทูนพ่อแม่และครูบาอาจารย์เป็นสิ่งที่เราถูกสอนมาเป็นอย่างแรก พวกเขาต้องพบเจอกับสิ่งใดกัน ถึงทำให้กล้าลุกขึ้นมายืนท้าทาย norm ที่สั่งสมมาทั้งชีวิตของตัวเอง และการที่ผู้ใหญ่หลายคนเอ่ยบอกว่าพวกเขาเรียกร้องมากเกินไป เป็นเพราะเราเองที่คุ้นชินกับภาพที่พวกเขาสงบเสงียมเจียมตัวและไม่เคยเรียกร้องสิทธิ์ที่พึงมีของตัวเองรึเปล่า
หรือมันอาจจะถึงเวลาแล้วที่เราทั้งสังคมต้องตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ภายใต้ดีกรีความโกรธที่ทะลุปรอทแตกของนักเรียนไทย แท้จริงแล้วพวกเขากำลังเผชิญหน้ากับสิ่งใดในพื้นที่ที่ (เคย) ปลอดภัยอย่างโรงเรียนกันแน่
Decode เดินทางไปยัง โรงเรียนสตรีล้วนชื่อดังย่านเสาชิงช้า อย่าง โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อพูดคุยกับ เอ๋-วารุณี ทองอุ่น ผู้ก่อตั้งกลุ่ม บร.ไม่ง้อเผด็จการ หนึ่งในแนวร่วมกลุ่ม sisterhood กลุ่มแนวร่วมจาก 4 โรงเรียนหญิงล้วนในกรุงเทพฯ ที่ขับเคลื่อนประเด็นสิทธิเสรีภาพของนักเรียนหญิงและกลุ่ม LGBTQI เอ๋ย้อนให้เราฟังถึงอะไรคือสิ่งที่ ‘นักเรียนหญิงไทย’ รวมไปถึง ‘ลูกสาวไทย’ ในวันนี้ต้องเจอ และความโกรธจากการโดนละเมิดสิทธิ์ จุดประกายอะไรในตัวพวกเธอ พร้อมทั้งมองไปหาอนาคตที่รอบนี้พวกเธอขอเป็นคนกำหนดเองว่า
‘โรงเรียนในฝันของนักเรียนสมัยนี้ควรเป็นอย่างไร’
let’s talk about เอ๋ – ลูกสาว น้องสาว และนักเรียนหญิง
เราเลือกนัดเจอเอ๋หลังเลิกเรียน แรกเริ่มเดิมทีเรากะนัดเจอเธอที่ร้านกาแฟใกล้ ๆ โรงเรียน แต่ด้วยพิษโควิด-19 ทำให้ร้านกาแฟที่เราตั้งใจจะไปต้องปิดตัวลงไปชั่วคราว นักเรียนหญิงวัยมัธยมปลายเลยตัดสินใจพาเราไปร้านนมสดซึ่งเป็นร้านโปรดประจำแก๊งของเธอ เรียกได้ว่า มีประชุมเมื่อไหร่ ร้านนมสดแห่งนี้จะกลายเป็นวอร์รูม(ไม่)ลับเมื่อนั้น
“เมื่อก่อนหนูไม่ได้เป็นคนที่อินเรื่องพวกนี้เลย ตอนนั้นทั้งชีวิตอินแค่ตัวเอง ไปเรียน กลับบ้าน นอน มีแค่นี้ไม่ได้สนใจคนรอบข้างเลย”
“จนกระทั่งมันมีอยู่วันหนึ่ง หนูจำได้ติดตาเลยว่าเห็นเพื่อนโดนครูกระชากเสื้อนักเรียนเพราะต้องการตรวจทรงผม ในใจหนูคิดทันทีว่า มันแรงเกินไปหรือเปล่า หนูเลยพยายามจะพูดแต่เพื่อนห้ามไว้ อาจเพราะตอนนั้นหนูอยู่แค่ ม.3 ด้วย เพื่อนเลยเป็นห่วงว่า ถ้าหนูพูดเรื่องนี้ออกไปอาจจะทำให้ไม่ได้เรียนต่อม.ปลายที่นี่”
เอ๋พูดขึ้นมา เมื่อเราขอให้เธอย้อนไปถึงสาเหตุที่ทำให้เธอลุกขึ้นมาตั้งกลุ่ม บร.ไม่ง้อเผด็จการ กลุ่มนักเรียนที่รวมตัวกันเพื่อเป็นกระบอกเสียงในการให้ข้อมูลเรื่องความสำคัญของประชาธิปไตยและสร้างการตระหนักรู้เรื่องสิทธิของตนเองแก่เพื่อนนักเรียน
เอ๋เว้นวรรคไปช่วงหนึ่งราวกลับกำลังนึกอะไรบางอย่าง ก่อนจะพูดต่อขึ้นมา “พี่รู้ไหมว่าหนูเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาครูด้วยนะว่าเขาคิดยังไง ปรากฏว่าครูเริ่มเล่าเรื่องของตัวเองว่ามันมีหลายเรื่องมากที่ครูเองก็ไม่โอเค หนูรู้สึกเลยว่าถ้าหนูไม่โอเค ครูไม่โอเค แปลว่า มันต้องเปลี่ยนแปลงอะไรหรือเปล่า ซึ่งหนูอยากจะเปลี่ยนแปลงมันเพื่อครูและเพื่อตัวหนูด้วย พอคิดได้อย่างนั้นทันทีที่ขึ้น ม.4 หนูก็ไปเข้าร่วมกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทเลย”
กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท คือ กลุ่มนักเรียนที่รวมตัวกันเพื่อเป็นกระบอกเสียงและเป็นตัวแทนของนักเรียนไทยในการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมในโรงเรียน โดยมีผู้ก่อตั้งคือ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และมี มิน–ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ อดีตเลขาธิการรุ่นที่ 8 ซึ่งในปัจจุบันคือสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มนักเรียนเลว เอ๋เล่าให้ฟังว่า ตลอดการทำงานหนึ่งปีร่วมกับกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทในตำแหน่ง content creator
ทำให้เธอได้เปิดตาที่ 3 ได้รู้ว่าแท้จริงแล้วระบบการศึกษาไทยมีปัญหามากกว่าที่เธอคิดไว้เยอะมาก
“ตอนแรกเราคิดว่าสงสัยคงมีนักเรียนโดนแค่คนเดียว ปรากฏว่าเอ้า! ครูเองก็เจอปัญหาเรื่องการโดนอำนาจกดทับเหมือนกัน ซึ่งทั้งหมดมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง โครงสร้างการศึกษาที่เขาออกแบบมามันไม่ได้เอื้อต่อใครเลย เขาเขียนหลักสูตรโดยไม่ได้ถามว่าครูอยากสอนแบบไหน หรือ เด็กอยากเรียนยังไง ทั้งหมดเขานั่งเทียนขึ้นมาเองแล้วเอามาสอนเราเฉย”
เด็กสาวผมสั้นตรงหน้าเราหัวเราะเสียงใสทันทีที่พูดจบ แม้จะเป็นเวลาไม่นานแต่ประสบการณ์ที่เธอได้รับจากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทก็ทำให้เธออยากที่จะลุกขึ้นมาตั้งกลุ่มเป็นของตัวเอง ประจวบกับช่วงเวลาเดียวกันนี้ได้มีกลุ่มนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่าง ‘กลุ่มเยาวชนปลดแอก’ ภาพพลังนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องเพื่ออนาคตที่ดีของตัวเองได้กลายเป็นแรงผลักดันให้เอ๋ในวัย ม.5 สร้างกลุ่ม ‘บร.ไม่ง้อเผด็จการ’ ขึ้นมา
“เป้าหมายของกลุ่มเรา คือการปลุกให้นักเรียนสนใจเรื่องการเมืองมากขึ้น เราพยายามให้ความรู้เรื่องสิทธิ์ เรื่องประชาธิปไตย เราอยากให้เขาตระหนักรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตัวเอง พอเราเปิดกลุ่มขึ้นมามันเห็นเลยว่ายังมีเพื่อนอีกหลายคนที่ยังอยู่ในวังวน hate speech แบบด่าอย่างเดียวเลย ซึ่งหนูก็พยายามเข้าใจเขา เอาเข้าจริงหนูคิดว่าเขาด่าได้นะ เขามีสิทธิ์โกรธ เพราะเขาโดนลิดรอนสิทธิและเสรีภาพจริง ๆ แต่หนูคิดว่ามันจะดีกว่าไหม ถ้าเราเข้าใจปัญหาในเชิงโครงสร้างจริง ๆ ด้วย ไม่งั้นจะกลายเป็นว่า เราเอาแต่โมโหแต่ไม่รู้ว่าโมโหเรื่องอะไร ซึ่งอันนี้หนูว่าไม่ได้”
หลังจากการก่อตั้งกลุ่มได้ไม่นาน เอ๋และเพื่อนเริ่มมองเห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ใกล้ตัวพวกเธอแต่ไม่เคยได้สังเกตอย่างเป็นจริงเป็นจัง อย่างปัญหาการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของเหล่านักเรียนหญิง เธอพบว่ามีหลายเรื่องเหลือเกินที่ลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเธอ ไม่ว่าจะเป็นทั้งจากการกระทำหรือจากคำพูด โดนโดยตรงหรือโดนโดยอ้อม ซึ่งเอาเข้าจริงๆ สิ่งเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติโดยที่ไม่มีใครทันสังเกตว่านี่คือ สิ่งที่ผิดปกติและกำลังลดทอนคุณค่าใครสักคนอย่างไม่รู้ตัว
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาแม้กระทั่งกับตัวของนักเรียนหญิงไฟแรงตรงหน้าเราก็ตาม
“ตอนนั้นหนูเคยพูดเล่นๆ กับพ่อว่าอยากเปลี่ยนนามสกุลจังเลย พ่อก็บอกว่าเดี๋ยวก็ได้เปลี่ยน เพราะยังไงหนูแต่งงานไปก็ต้องเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามีอยู่แล้ว ทำไมอยู่ดี ๆ เราถึงกลายเป็นสินค้าที่ยกให้ใครก็ได้ หนูรู้สึกว่านี่มันไม่สมควรเลย”
หรือเรื่องเรียนขับรถก็เหมือนกัน พี่หนูที่เป็นผู้ชายได้เรียนขับรถตั้งแต่ 18 แต่หนูซึ่งเป็นผู้หญิง แม่กลับไม่เคยให้เราได้ลองเลย ทั้งๆ ที่เรามีศักยภาพไม่ต่างกัน แต่เพราะเราเป็นผู้หญิงและนั่นคือ หน้าที่ของผู้ชาย
ตลอดเวลาที่เด็กสาววัย 17 ปีเล่าเรื่องนี้ เราสัมผัสได้ถึงความไม่พอใจของเธอ และหากคุณคิดว่า ความโกรธของเธอกับเรื่องนี้ถึงขีดสุดแล้ว แต่มันยังสุดได้มากกว่านี้ค่ะคุณขา เมื่อเทียบกับความโกรธจากเรื่องราวมือสองที่เพื่อนหญิงพลังหญิงของเธอต้องเผชิญ
“ถ้าในโรงเรียนหนูไม่ค่อยโดนเท่าไหร่อาจจะเพราะหนูห้าว ๆ ด้วย แต่เพื่อนหนูที่ชอบแต่งหน้าแต่งตัวจะโดนกัน ครูที่หัวอนุรักษ์นิยมก็จะชอบพูดกับเพื่อนหนูว่า แต่งตัวแบบนี้จะไปหาผู้ชายเหรอ หรือพูดทำนองว่าเดี๋ยวก็ได้ท้องก่อนเรียนจบหรอก หนูก็คิดนะว่าทำไมการแต่งตัวที่ถือได้ว่า เป็นสิทธิเสรีภาพของเราต้องโดนใครมาตีตราด้วยว่ามันดีหรือไม่ดี หนูว่านี่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเลย”
ความขับข้องใจและการถูกกดทับที่เหล่านักเรียนหญิงต้องเผชิญตลอดมาทำให้เอ๋และเพื่อนๆ โรงเรียนหญิงล้วนอีก 3 โรงเรียนได้แก่ โรงเรียนสตรีวิทยา, โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ และ โรงเรียนชลกันยานุกูล รวมตัวกันเป็นแนวร่วม sisterhood เพื่อขับเคลื่อนประเด็นการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่ลิดรอดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนหญิงและนักเรียน LGBTQI โดยมีอีเวนต์ล่าสุดเป็นการปราศรัยในโรงเรียนถึง 4 หัวข้อ อย่างการเมือง การศึกษา สิทธิกลุ่ม LGBTQI และ รัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งมีการแปรอักษรเป็นรูป 3 นิ้วเพื่อเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์
“ถึงแม้แนวร่วม sisterhood จะเพิ่งตั้ง แต่หลังจากปราศรัยวันนั้นหนูเห็นเพื่อนหลายคนออกมาเล่าในสิ่งที่ตัวเองเคยโดนกันมากขึ้น เพื่อนบางคนเดินมาหาหนูแล้วพูดว่าตัวเองก็เคยโดนสิ่งนั้นเหมือนกัน หนูเลยคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงสอบเลยต้องขออ่านหนังสือก่อน (หัวเราะ) แต่หลังจากนี้โรงเรียนต่างๆ ในแนวร่วมก็จะจัดปราศรัยกัน ส่วนของหนูต้องรอกันต่อไป”
let’s talk about โรงเรียนในฝันของนักเรียนสมัยนี้
“โรงเรียนในฝันของเอ๋เป็นแบบไหน” เราถาม
“โรงเรียนที่เปิดเสรีทางด้านความคิด และ เมื่อเปิดเสรีแล้วก็ต้องปลอดภัยด้วย”
“ยังไง” เราถามต่อ
“อย่างเช่น บางครั้งเขาเปิดให้เสรีให้เราพูดจริงนะ แต่พอเราพูดออกไปแล้ว เขาไม่ได้ปกป้องเราเลย แถมปล่อยให้ใครจะมาโจมตีเราก็ได้อีก ถ้าเด็กกล้าพูดออกไปแล้ว หนูอยากให้ครูปกป้องไม่ให้ใครมาทำร้ายเราด้วย ซึ่งถ้าเด็กทำอะไรผิดไป หนูคิดว่าเราสามารถค่อยๆ สอนกันได้”
สิ่งที่เอ๋พูด ฟังดูง่ายแต่ทำยาก
สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ล้วนเป็นหลักฐานยืนยันในคำพูดข้างต้นได้เป็นอย่างดี มีโรงเรียนชื่อดังในกรุงเทพฯ หลายโรงเรียนที่เลือกจะประกาศปิดโรงเรียนและผลักให้นักเรียนของเขาออกมายืนปราศรัยอยู่ข้างถนนเพื่อป้องกันความวุ่นวาย (จากใคร ?) ที่อาจจะเกิดขึ้น หรือ แม้กระทั่งอยู่ดี ๆ จะมีการฉีดพ่นยุงซึ่งบังเอิญจัดตรงกับวันที่นักเรียนเลือกจัดปราศรัยพอดิบพอดี การกระทำเหล่านี้ล้วนควรถูกตั้งคำถามว่า ถ้าหากการกระทำในรูปแบบนี้ยังคงดำเนินต่อไป แล้วเราจะเดินหน้าไปด้วยกันอย่างไร ในเมื่อวันนี้ที่เด็กเลือกพูดความจริงแต่ครูกลับเลือกไม่ฟังเสียแล้ว
ย่อหน้าข้างต้นฟังดูเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนจะพังสิ้นสลายเสียแล้ว แต่เราอยากให้คุณย้อนกลับไปอ่านอีกหนึ่งประโยคก่อนหน้า ใช่! มันทำยาก แต่ไม่ได้แปลว่า มันทำไม่ได้ โรงเรียนของเอ๋ได้พิสูจน์แล้วว่า แม้จะยากมากแต่มันเปลี่ยนแปลงได้ ภายใต้การนำของผอ.คนใหม่ที่เอ๋แสนจะภูมิใจ
กับการที่โรงเรียนของเธอได้มีการทำ ‘ประชาพิจารณ์ทรงผม’
“หนูบอกเลย หนูภูมิใจในเรื่องนี้มาก ไม่คิดเลยว่าวันหนึ่งโรงเรียนของเราจะมาถึงจุดนี้ (หัวเราะ) จากเดิมที่โรงเรียนค่อนข้างอำนาจนิยมมากๆ มาวันนี้มันเปิดกว้างรับฟังทุกความคิดเห็น หนูว่านะสิ่งนี้มันพิสูจน์ให้เห็นเลยว่าปัญหาเรื่องทรงผมที่เกิดขึ้นตลอดมา มันเกิดขึ้นจากการที่ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ได้คุยกัน มันมีฝั่งหนึ่งที่เขียนขึ้นมาโดยไม่ได้ถามความสมัครใจของอีกฝ่ายเลยว่าเขาต้องการอะไร”
เส้นทางของการทำประชาพิจารณ์ทรงผมไม่ใช่เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เด็กสาวตรงหน้าเล่าให้ฟังว่าทันทีที่กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้นักเรียนชาย-หญิงไว้ผมสั้นหรือยาวได้ ก็มีเสียงตอบรับหลากหลายมากเพราะกฎหลายข้อของกระทรวงดันขัดกับกฎโรงเรียน ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างบรรทัดให้ครูกับนักเรียนต้องกระทบกระทั่งกันอยู่เป็นประจำ โรงเรียนหลายแห่งเลือกที่จะปล่อยเบลอ แต่ที่นี่กลับเลือกที่จะศึกษา ‘ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563’ และพบว่ามีอยู่หนึ่งข้อที่เปิดให้มีการมีส่วนร่วมของนักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้เองการทำประชาพิจารณ์ทรงผมกับทุกกลุ่มคนตั้งแต่นักเรียนยันผู้ปกครองจึงเกิดขึ้น
“ฟังดูเหมือนหนูมาอวยโรงเรียนเลยแต่หนูรู้สึกดีมากๆ ที่เห็นโรงเรียนเป็นแบบนี้ ตอนผอ.คนเก่า เนื่องจากเขาค่อนข้างเคร่งครัดในกฎระเบียบมากๆ สมัยนั้นแค่ยืนเข้าแถวไม่ตรงก็โดนด่าแล้ว เด็กไม่กล้าพูดอะไรออกมาเลย ทุกคนกลัวโดนไล่ออกหมด จนกระทั่งเปลี่ยนมาเป็นผอ.คนใหม่ เขารับฟังและค่อนข้างเข้าใจนักเรียน หนูว่าตอนนี้เพื่อน ๆ หนูมีความสุขมากขึ้นนะ ทุกคนดูมั่นใจเวลาไปโรงเรียน ไม่น่าเชื่อเนอะพี่จากเรื่องทรงผมเอง แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ”
ท้องฟ้าเปลี่ยนสี จากสีฟ้าอมเทากลายมาเป็นสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งอีกไม่นานคงเปลี่ยนสีเป็นสีดำมืดสนิท หลังจากฟังเรื่องราวทั้งหมดของเอ๋ โดยไม่ต้องเอ่ยอะไร เราทั้งคู่ต่างรู้ว่าการสัมภาษณ์กำลังดำเนินมาถึงช่วงท้าย
“ขอใช้แฮชแท็กฮิตสมัยนี้ ถ้าการเมืองดี เอ๋อยากเห็นระบบการศึกษาไทยเปลี่ยนแปลงไปแบบไหน”
“การศึกษาไทยต้องปฏิรูปใหม่ทั้งหมดเลย สำหรับเรื่องหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการจะต้องถามว่าครูอยากสอนอะไร เด็กอยากเรียนยังไง แล้วพี่รู้ไหมว่าปัจจุบันครูมีภาระงานเยอะมาก มีหลายหน้างาน โรงเรียนคุณภาพ โรงเรียนสีขาว โรงเรียนปลอดยาเสพติด บลา ๆ ทั้งหมดหนูว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน นอกจากภาระงานของครูจะเพิ่มขึ้น มันยังทำให้ครูไม่มีเวลาให้กับเด็ก และถ้าเรามาดูเรื่องเงินเดือนครูนะพี่ สิ่งที่ต้องทำกับรายได้มันสวนทางกันเลย ครูก็เป็นคนเหมือนกันนะ หนูว่ามันเกินไป”
ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่าแต่เรารู้สึกว่าสิ่งที่เอ๋พูดข้างต้นเป็นสำนึกร่วมของเด็กสมัยนี้ ไม่ใช่แค่ฉันแต่ต้องเป็นเรา เราทุกคนต้องได้รับสิทธิที่เท่าเทียม ไม่มีใครเอาเปรียบใคร ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ทุกคนต่างไม่สมควรที่จะถูกลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ไม่ว่าจะด้วยเพศ อายุ หรือ ศาสนา เพราะท้ายที่สุดแล้วเราทุกคนต่างเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อสีแดงไม่ต่างกัน
“เอ๋ถามจริงๆ เราเชื่อไหมว่าวันหนึ่งมันจะเปลี่ยนแปลงได้”
“เชื่อค่ะ เราก็ต้องอยู่อย่างมีความหวังเนอะพี่ (หัวเราะ)”
ก่อนจากกัน เราพาเอ๋ไปถ่ายรูปบริเวณเสาชิงช้า ขณะที่ถ่ายรูปแม้ท้องฟ้าจะไร้แสงสว่างเต็มที แต่รอยยิ้มและความกระตือรือร้นของเอ๋กลับเปล่งประกาย เพื่อนจากโรงเรียนเดียวกันเดินผ่านบริเวณที่เธอถ่ายรูปกันให้ขวักไขว่ หลายคนยิ้มให้ บางคนชูนิ้วโป้งที่แปลความได้ว่า ‘เอ๋แม่งสุดปังว่ะ’ อาจจะว่าเรากวีจ๋าก็ได้ แต่สิ่งที่ได้เห็นนั้นช่างแสนงดงามและมอบความหวังให้เราอย่างคาดไม่ถึง
ดูเหมือนว่าความโกรธเกรี้ยวได้กลายเป็นปุ๋ยชั้นดี
ที่ถึงแม้จะเป็นแค่ในซอกรอยแตกของกำแพงปูน แต่ไม่ว่าอย่างไรดอกไม้เหล่านี้จะหาทางเบ่งบานได้เสมอ
และการเบ่งบานในยุคนี้ ไม่ได้เบ่งบานเพื่อใคร แต่เพื่อวันพรุ่งที่สดใสของพวกเธอเอง
let’s talk about solution!
เมื่อเด็กไปไกลมาก แต่ครูยังย่ำอยู่ที่เดิม แล้วเราจะไปต่อกันอย่างไร
3 คำถามเรื่องสิทธิของนักเรียน กับ ดร. วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ในมุมมองของคุณ ประเมินเรื่องสิทธิในโรงเรียนของนักเรียนไทยสมัยนี้อย่างไร
เวลาเราพูดถึงเรื่องสิทธิของนักเรียน สิ่งแรกที่เราควรดูคือต้องมาดูว่า มีเรื่องไหนบ้างที่นักเรียนควรจะทำได้แต่ทำไม่ได้ เช่น พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นมีมากน้อยแค่ไหน หรือ ในโรงเรียนมีเสรีภาพในการแสดงออกที่เพียงพอหรือเปล่า ซึ่งก็ต้องบอกว่ากลไกในเชิงนโยบายที่กำหนดมาจากกระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ได้พูดหรือห้ามอะไรในประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจน ที่ผ่านมาจึงเป็นแนวปฏิบัติในโรงเรียนเสียมากกว่า ซึ่งถ้ามองลึกลงไปในระดับโรงเรียน อาจารย์คิดว่าสิทธิในการมีส่วนร่วม หรือ สิทธิในการตัดสินใจของนักเรียนไทยในวันนี้มีอยู่อย่างจำกัด
การมีส่วนร่วมของเด็กนักเรียนในวันนี้ล้วนเป็นการส่วนร่วมในเรื่องที่ไม่ได้สำคัญกับชีวิตของเขา โรงเรียนมักจะชอบบอกว่า งานกีฬาสีก็เปิดให้เด็กมีส่วนร่วม นักเรียนเป็นคนจัดงานกันเองทั้งหมด แต่ถามว่าในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาโดยตรงซึ่งโยงกับกฎระเบียบของโรงเรียน เช่น คุณภาพการเรียนการสอน วิธีปฏิบัติในโรงเรียน หรือ แม้แต่เรื่องการเข้าแถวในตอนเช้ามันมีความสำคัญแค่ไหนและควรมีรูปแบบเป็นอย่างไร เรื่องพวกนี้เราไม่ค่อยมีพื้นที่ให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจสักเท่าไหร่ เพราะกฎระเบียบเหล่านี้ถูกตั้งเอาไว้แล้ว แล้วก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีอยู่มาอย่างดั้งเดิม ไม่สามารถตั้งคำถามได้ คุณที่มาใหม่ก็ต้องปฏิบัติไป
และแน่นอนว่า ขณะที่นักเรียนทุกคนต่างอยู่ในระบบอำนาจนิยมของโรงเรียน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมชายเป็นใหญ่ได้ครอบคลุมอยู่ในทุกพื้นที่ของสังคมไทย โรงเรียนเองก็เช่นกัน ซึ่งจากวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ก็ส่งผลให้นักเรียนหญิงถูกกดทับมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมเนื้อตัวร่างกายไปจนถึงเรื่องของการคุกคามล่วงละเมิดทางเพศ เราจะสังเกตได้เลยว่ากฎข้อบังคับของนักเรียนหญิงจะมีรายละเอียดเยอะมากกว่ามาก เช่น เรื่องกฎระเบียบทรงผม เครื่องแต่งกาย ยันทัศนคติที่มีต่อผู้หญิง เช่น ถ้าผู้หญิงแต่งตัวไม่เรียบร้อย กระโปรงสั้น เสื้อตึงเปรี๊ยะ จะถูกมองว่าแต่งตัวแบบนี้จะต้องไปทำอะไรที่มันไม่ดีแน่นอน ซึ่งทั้งหมดมันแฝงให้เห็นอคติทางเพศที่ซ่อนอยู่
รากเหง้าของปัญหาการละเมิดสิทธินักเรียน แท้จริงแล้วมีต้นตอมาจากอะไร
ถ้าให้มองต้นตอของปัญหานี้ อาจารย์คิดว่ามันมาจาก 2 ประเด็นด้วยกัน หนึ่งคือ ความไม่ตระหนักรู้ และ สองคือ การไม่มีตัวช่วยให้เกิดการเรียนรู้
สำหรับประเด็นแรกมองว่า ผู้มีอำนาจ หรือ ครู ไม่ได้ตระหนักรู้ว่าสิ่งที่เขาทำหรือพูดออกไปเป็นการไปลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ซึ่งการปฏิบัติในรูปแบบนี้ก็มาจากวิธีคิดแบบผู้ใหญ่-ผู้น้อย เป็นวิธีคิดในลักษณะที่ไม่ได้เคารพซึ่งความเป็นมนุษย์ อาจารย์ยังมองในแง่ดีว่าไม่มีครูคนไหนที่อยากจะทำร้ายลูกศิษย์ในเชิงวาจา หรือ การกระทำหรอก แต่เขาคิดว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่เหมาะสมเพราะเคยเห็นมาแบบนี้ แล้วก็ถูกทำกันต่อๆ มา อย่างเช่นเรื่องการลงโทษ “ครูเองก็ได้ดีมาด้วยไม้เรียว ถ้าไม่ให้ตีแล้วจะให้ทำยังไง” เรามักจะได้ยินประโยคทำนองนี้บ่อยมาก ซึ่งเรื่องนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า ครูไม่รู้ว่าถ้าไม่ทำในรูปแบบนี้ แล้วเขาต้องทำในรูปแบบไหน ครูมองไม่เห็นตัวเลือก
นี่ก็นำไปสู่ประเด็นที่สอง อย่าง ‘การไม่มีตัวช่วยให้เกิดการเรียนรู้’ ครูดันไม่มีทางเลือกเลยว่าจะปฏิบัติกับนักเรียนอย่างไรที่จะไม่ไปลดทอนคุณค่าของเขา เพราะครูไม่เคยถูกสอนหรือถูกพูดถึงในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ครูหลายคนจะนึกไม่ออกว่าสิทธิ์ของนักเรียนคืออะไร ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ก็อาจจะส่งผลให้เรายังคงพบเห็นการละเมิดสิทธิ์หรือการลดทอนคุณค่าของนักเรียนอยู่ เพราะมันใช้วิธีคิดแบบเดิมและไม่เคยได้ถูกคลี่ออกมาเพื่อทำความเข้าใจ ครูเลยไม่เห็นว่าเขามีทางเลือกอะไรบ้าง
แต่ในขณะเดียวกันเด็กรุ่นใหม่กลับรู้สึกกับตรงนี้มากเพราะเขามีความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นตัวตน เรื่องอัตลักษณ์ เรื่องคุณค่าของตัวเอง มันถูกพูดและถูกทำให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น ต้องบอกว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาที่เราอยู่ในรัฐบาลทหาร เด็กสังเกต และ รับรู้อยู่จริงๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคม หรือ ถ้าเราจะลองเทียบกับเมื่อสัก 10 ปีก่อน อาจารย์คิดว่ามันมีเด็กที่ตั้งคำถามว่า เขามีสิทธิ์อะไรบ้าง หรือ เขาไม่มีสิทธิ์อะไรเลยเหรอ เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าจะพูดออกมาได้ไหม เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาคิดมันถูกไหม
แต่ว่าในตอนนี้มันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว เรามีช่องทางการสื่อสารที่กว้างขึ้น มีพื้นที่ให้คิด ให้แชร์ มันทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่า มีคนคิดแบบเดียวกันกับเราและมันก็เป็นเรื่องที่ชอบธรรมที่จะคิดและตั้งคำถามแบบนี้ เรื่องสิทธิ์มันก็เลยเบ่งบานขึ้นมา
ในขณะที่โรงเรียนส่วนใหญ่ยังคงความเป็นระบอบอำนาจนิยมไว้เต็มเปี่ยม แต่เด็กนักเรียนกลับก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องสิทธิของตัวเอง และ สิทธิของผู้อื่น ทั้ง 2 ฝั่งต่างอยู่กันคนละมุม แล้วเราจะไปต่อกันอย่างไร
ต้องยอมรับว่าช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียนตอนนี้ยังกว้างมากและหลายคนก็มองว่าเหตุการณ์ในตอนนี้เป็นวิกฤต แต่คิดว่าเราอาจจะต้องเปลี่ยนมามองให้มันเป็นโอกาสแทน เพราะตอนนี้คือจังหวะที่สำคัญที่จะพาคน 2 รุ่น ซึ่งอยู่กันคนละยุค อยู่กันคนละช่วงวัย และเติบโตมาในคนละระบบคุณค่า ให้ปรับตัวและจูนเข้าหากัน แน่นอนว่าสิ่งนี้ต้องอาศัยการเปิดใจของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งคนที่มีอำนาจมากกว่าก็ควรจะต้องทำงานมากกว่าในการเปิดใจ เพราะเดิมทีเรามีอำนาจอยู่ในมือ เด็กก็ได้แต่เรียกร้องและพยายามจะพูดให้ฟัง เราในฐานะเป็นผู้ใหญ่ก็จะต้องมีสปิริตที่จะรับฟัง ทำความเข้าใจ และหาพื้นที่ร่วมกัน เพื่อที่จะสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการเรียนรู้ ทำให้พื้นที่โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย
ถ้าครูเปิดใจเชื่อว่าจะได้เรียนรู้อะไรจากเด็กเยอะมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันแก้แค่ระบบโรงเรียนอย่างเดียวไม่ได้ เพราะโรงเรียนเองก็ถูกครอบด้วยระบบที่ใหญ่กว่าอย่างกระทรวงศึกษาศึกษาธิการ ฉะนั้นระบบการศึกษาไทยทั้งหมดจึงจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปด้วยเช่นกัน เพราะมันต้องแก้มาจากข้างบน เริ่มตั้งแต่หลักสูตรที่คุณต้องให้เด็กเรียนมีอะไรบ้าง และ ถ้าเด็กต้องเรียนเยอะขนาดนี้จะเหลือเวลาไปสร้างพื้นที่ที่จะเรียนรู้ร่วมกันเหรอ หรือ ถ้าในหนึ่งวันครูต้องทำเอกสารเยอะแยะมากมาย จะมีเวลามารับฟังปัญหาของเด็กๆ ไหม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้งหมดนี้มันเกี่ยวข้องกันไปหมด ดังนั้นมันจึงสำคัญมากที่เราจะต้องไปแก้ที่ระบบใหญ่ซึ่งกดทับระบบโรงเรียนไว้อีกทีด้วย
อาจารย์คิดว่ามีสิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรลืม คือเราถอยกลับไปอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว
เด็กๆ จะเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ มากขึ้นและจะก้าวไปข้างหน้าทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อมีพื้นที่แลกเปลี่ยนมากขึ้น เขาย่อมตกผลึกอะไรบางอย่าง ซึ่งมันอาจจะเป็นอะไรที่นอกเหนือจากสิ่งที่เราเคยคิดกันก็ได้ นี่จึงถือเป็นข้อท้าทาย ว่าถึงเวลาที่เราจะต้องมาเรียนรู้ร่วมกันจริงๆ ว่าเราจะก้าวต่อไปยังไงโดยที่ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมช่วยคิด ช่วยทำ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องหาทางกันต่อไป