วันที่ 16 สิงหาคม 2563 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา 30 นาที
เวทีขนาดใหญ่และเครื่องเสียง (เบิ้มๆ) ถูกจัดตั้งบริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
การชุมนุมใหญ่ครั้งแรกของ ‘คณะประชาชนปลดแอก’ เริ่มต้นขึ้นพร้อม ๆ กับการเคลื่อนตัวของมวลชนขยับเข้าใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กระทั่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตขาดหาย
ประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดในวันนั้น ไล่เรียงตั้งแต่ประเด็นเรื่องการคุกคามภายในโรงเรียน สิทธิที่หายไปของสตรีและกลุ่ม LGBTQI ปัญหาปากท้องของแรงงานไปจนถึงปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภายใต้ที่ถูกปล่อยให้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ล้วนสัมพันธ์อยู่ภายใต้แฮชแท็กเดียวกันอย่างไม่ได้นัดหมาย #ถ้าการเมืองดี
ความเจ็บปวดที่หลากหลายจากผู้คนที่หลายหลาก ยิ่งตอกย้ำถึงความทุกข์ยากที่คนในสังคมต้องเผชิญ บาดแผลจากวันนั้นถูกหยิบขึ้นมาโชว์ให้เห็นผ่านเสียงปราศรัยที่ดังสนั่นไปทั่วอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แม้ไมค์ในมือของผู้ปราศรัยหลายคนจะสั่นไหว แต่แววตาของทุกคนไม่ปรากฏร่องรอยของความหวาดกลัว กับสิ่งที่จะตามมา ราวกับพวกเขาได้ตัดสินใจมาแล้วว่า
‘หากเราต้องการอิสรภาพ
เราจำเป็นต้องลุกขึ้นมาปลดเปลื้องแอกที่กดทับด้วยตนเอง’
Decode ขอพาคุณย้อนไปฟังบทสนทนาที่เราเคยได้มีโอกาสพูดคุยกับ 2 ตัวแทนจากคณะประชาชนปลดแอก อย่าง
ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลขาธิการคณะประชาชนปลดแอก และ เจมส์ – ภานุมาศ สิงห์พรม สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งคณะประชาชนปลดแอก ซึ่งชายหนุ่มตรงหน้าเรานี่เองคือคนที่คิดชื่อ ‘เยาวชนปลดแอก’ และ ‘คณะประชาชนปลดแอก’ ขึ้นมา
ถอดรหัสที่มาของคำว่า ‘ปลดแอก’ ในความหมายของกลุ่ม Free people ว่า สำหรับพวกเขาแล้ว ‘แอก’ นี้คืออะไร และนัยยะเบื้องหลังการก่อตั้งองค์กรใหม่อย่าง ‘คณะประชาชนปลดแอก’ ขึ้นมา มีจุดประสงค์อย่างไร ปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า เขามองเห็นชัยชนะจากการต่อสู้ในครั้งนี้แล้วหรือยัง นอกจากนี้เพื่อไม่ให้ดีกรีของบทความนี้ร้อนแรงจนเกินไป Decode เลยชวน ครูทอม คำไทย จักรกฤต โยมพยอม มาเล่าเชิงอรรถสนุกๆ ของ คำว่าปลดแอกว่า คำคำนี้ถูกใช้อยู่ในบริบทไหนบ้าง และ ในฐานะครูภาษาไทย เขาคิดเห็นอย่างที่ภาษาภายในม็อบทุกวันนี้ปังปุริเย่ขึ้นทุกวันจนหลายคนตามไม่ทัน
ก่อนจะไปถึงคำถามที่ว่า ‘เยาวชนปลดแอก’ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร อยากขอถามคุณว่าแรงจูงใจอะไรที่ผลักให้ลุกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้
เจมส์ : จริงๆ ผมมองเห็นปัญหาของสังคมไทยมาตั้งแต่เด็กแล้ว เราเรียนอยู่ในระบบการศึกษาที่ไม่ได้สอนให้ประชาชนคือประชาชน แต่สอนให้ประชาชนชนเป็นทาส ถ้าเราลองไปดูในหนังประวัติศาสตร์มันแทบไม่ใช่หนังสือประวัติศาสตร์เลย เพราะเขาสอนแค่เรื่องที่เขาอยากให้เรารู้ แต่เราไม่เคยรู้ประวัติศาสตร์จริงๆ ของประเทศไทยเลย เมื่อเราโตมาต่างหากถึงได้รู้ว่า 6 ตุลา เกิดขึ้นได้อย่างไร ความสูญเสียที่เกิดขึ้นร้ายแรงขนาดไหน แล้วใครเป็นคนทำ
เหมือนที่เอ่ยทิ้งไว้ในคำถามที่แล้ว เราอยากรู้ว่าตกลง ‘เยาวชนปลดแอก’ เริ่มขึ้นได้อย่างไร
เจมส์ : มันเริ่มต้นจากที่ผมและฟอร์ด ร่วมกันกับเพื่อนอีกไม่กี่คนรู้สึกว่า ในประเทศนี้มันไม่มีแพลตฟอร์มที่เป็นปากเสียงให้กับเยาวชนเลย ไม่มีองค์กรใดที่พูดถึงต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ด้วยความคิดนี้นี่เองเลยทำให้เราจัดตั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอกขึ้นมา
ได้ข่าวว่าคุณเป็นคิดชื่อ ‘เยาวชนปลดแอก’ ขอถามได้ไหมว่า ทำไมถึงเลือกใช้คำว่า ‘ปลดแอก’ มาเป็นชื่อกลุ่ม
เจมส์ : หลายๆ คนถามว่า ‘แอก’ ที่ว่านี้หมายถึงสิ่งของที่ติดอยู่บนหลังวัวควายหรือเปล่า จริงๆ ไม่ใช่นะครับ ผมตั้งใจให้มันเป็นการเปรียบเปรยกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ที่ว่าตอนนี้ประเทศของเรากำลังมีอะไรบางอย่างที่ฉุดรั้งการพัฒนา ฉุดรั้งอนาคตที่ดีของเยาวชน เราจึงจำเป็นต้องออกมาปลดมันเพื่อให้เรามีอนาคตที่ดีกว่านี้ เพราะเรามองไม่เห็นอนาคตที่ดีเลย หากประเทศยังคงมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่แบบนี้
เจมส์ : อาจจะพูดได้ว่า ‘แอก’ นั้นคือ ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ที่เราต้องช่วยกันปลดมันออกไป แล้วถ้าถามต่อไปอีกว่าทำไมต้องเป็น ‘เยาวชนปลดแอก’ ไม่ใช่ ‘ปลดแอกเยาวชน’ เพราะผมมองว่ารอบนี้เยาวชนต้องลุกขึ้นมาปลดแอกที่ฉุดรั้งเขาอยู่ด้วยตัวเอง และผมเชื่อว่าตอนนี้เยาวชนหลายๆ คนตื่นรู้แล้ว และเขาจะไม่ยอมทนเป็นทาสอีกต่อไป ไม่มีทางที่ชนชั้นนำจะเหนี่ยวรั้งพวกเรากลับไปสู่ยุคเดิมได้ ไม่มีทาง
แล้วมีชื่ออื่นเป็นแคนดิเดตร่วมอีกไหม
เจมส์ : เอาจริงมันมีไม่กี่ชื่อนะ มีชื่อที่ใช้อยู่นี่แหละ 1 ชื่อ ส่วนอีกชื่อ ผมจำไม่ได้แล้วว่าเป็นคำว่าอะไร (หัวเราะ)
คำว่า ‘ปลดแอก’ ฟังดูเป็นคำเก่า แต่คุณกลับเลือกใช้คำนี้มาเป็นชื่อเพื่อรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ พอได้ลองใช้จริง คิดว่ามันฟังก์ชันไหม
เจมส์ : ผมมองว่า มันฟังก์ชันนะ อย่างวันนั้น (18 ก.ค.63) แฮชแท็ก #เยาวชนปลดแอก ก็ขึ้นเทรนทวิตเตอร์มาเป็นอันดับ 1 มีคนทวิตในแฮชแท็กนี้มากกว่า 10 ล้านทวิต ผมว่าเยาวชนเขาก็เก็ตว่าคำว่า ปลดแอกแปลว่าอะไร ฉะนั้นผมคิดว่ามันก็ฟังก์ชันพอสมควร
จาก ‘เยาวชนปลดแอก’ สู่การเป็น ‘คณะประชาชนปลดแอก’ นัยยะเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คืออะไร
ฟอร์ด : ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของจิตวิทยา อย่างการที่เราใช้คำว่า เยาวชนปลดแอก ด้านหนึ่งมันดูเป็นการกันคนกลุ่มหนึ่งออกไป อย่างพี่ๆ ที่อายุประมาณ 30 ปีขึ้นไปอาจจะเกิดคำถามขึ้นมาได้ว่า เขาควรจะมาเข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งนี้หรือเปล่า การเปลี่ยนมาเป็น คณะประชาชนปลดแอก จึงเป็นเหมือนการถือธงนำไป ผมคิดว่ามันจะทำให้เราควบรวมความหลากหลายได้มากขึ้น ประชาชนคนไหนที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นเยาวชนแล้ว ก็ยังสามารถเข้ามาร่วมเคลื่อนไหวและเรียกร้องไปกับเราได้ ซึ่งรอบนี้ไม่ได้เป็นแค่กองเชียร์แล้ว แต่มาเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนไปด้วยกันเลย
เจมส์ : หลายคนบอกว่ารอบนี้ให้เยาวชนเขานำดีกว่า แต่พวกเรามองว่า ในเมื่อประเทศยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย ‘ประชา’ จำเป็นต้องมารวมกันก่อน ลำพังแค่เยาวชนมันไม่พอ เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องใช้คำว่า ‘คณะประชาชนปลดแอก’ เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามาร่วมกันเรียกร้องสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตย
หากให้คุณลองวิเคราะห์ ‘คณะประชาชนปลดแอก’ คิดว่าจุดแข็ง-จุดอ่อนคืออะไร
ฟอร์ด : จุดแข็งที่สำคัญเลยคือเรามีคนที่หลากหลายมากขึ้น มีแรงสนับสนุนจากหลายภาคส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดมันทำให้การเคลื่อนไหวของเรามันมีการจัดการที่ดีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เรื่องเวที เครื่องเสียง หรือ เรื่องความปลอดภัย เราไว้วางใจทุกอย่างได้ในระดับหนึ่งเลย
ฟอร์ด : ส่วนจุดอ่อน แน่นอนว่าเมื่อมีความหลากหลายมากขึ้น การเคลื่อนไหวหลายๆ อย่างก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้ผมมองว่ามันเป็นธรรมชาติของฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องมีการถกเถียงกัน เราก็ต้องพยายามสื่อสารว่า ณ เวลานี้ ที่สภาพบ้านเมืองเป็นแบบนี้ ที่ประเทศมีระบอบประชาธิปไตยซึ่งไม่ได้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ และ ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อประชาชน การจะผลักประเด็นต่างๆ นั้นเป็นเรื่องยาก ถึงเวลาที่เราจะต้องสงวนจุดต่างและหาจุดร่วม แน่นอนว่า จุดต่างมันยังเยอะอยู่แต่เราก็ต้องค่อยๆ ทำให้เขาเห็นจุดร่วมเดียวกัน
ในช่วงระยะที่ผ่านมาคลื่นการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์มาก มันเปิดเพดานอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่พอวันนี้ที่เรามารวมกัน มีหลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า มีใครอยู่เบื้องหลังม็อบครั้งนี้หรือเปล่า ซึ่งนี่ถือเป็นการกล่าวหาม็อบทุกยุคทุกสมัย คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้
เจมส์ : ถ้าเรามีเบื้องหลังจริง ป่านนี้เราจัดได้ดีกว่านี้เยอะ (หัวเราะ) ครั้งที่แล้วเราก็โดนกล่าวเยอะว่า เรามีเบื้องหลัง ต้องบอกว่า เบื้องหลังของเราคือประชาชนธรรมดา ไม่ใช่นายทุน ไม่ใช่บริษัทใหญ่ แต่คือ ประชาชนทุกคน
จาก ‘เยาวชนปลดแอก’ มาสู่ ‘คณะประชาชนปลดแอก’ เรามองว่าความตั้งใจของมันคือการลดช่องว่างของวัยและขยายกลุ่มผู้คนที่จะมาเข้าร่วม แต่มันก็มีข้อสังเกตว่ายังมีแนวร่วมหลายคนยังติดวาทกรรมเรื่องช่องว่างของวัย และใช้วาทกรรมนี้ในการวิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายตรงข้าม คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
เจมส์ : ต้องบอกก่อนว่าความพยายามในการ divide and rule (แบ่งแยกแล้วปกครอง) ในสังคมไทยมันเกิดขึ้นมาอย่างช้านาน เราถูกแบ่งด้วยเจเนอเรชันมาตลอด ความพยายามในการตั้งคณะประชาชนปลดแอก คือ ความพยายามในการลดการ divide and rule เหล่านั้น เรามองว่าทุกเจเนอเรชันต้องมาร่วมกัน มันไม่ใช่แค่เยาวชน ไม่ใช่แค่วัยกลางคน หรือ ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ แต่ต้องเป็นประชาชนทุกคน เราต้องรวมกันให้ได้มากที่สุด ถ้าเราต้องการสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย
นอกจากชื่อ อีกหนึ่งสิ่งที่เราสนใจคือ โลโก้ ไอเดียแบบไหนกันที่ทำให้เกิดโลโก้นี้ขึ้นมา
เจมส์ : โลโก้ของเราก็มาจากสัญลักษณ์ที่เกิดขึ้นในทุกม็อบอย่างการชู 3 นิ้ว นั่นแหละครับ ซึ่งอีกมุมหนึ่งมันก็หมายถึง 3 ข้อเรียกร้องที่เราได้เรียกร้องไปในวันที่ 18 ก.ค. ด้วยเหมือนกัน และถ้าเราสังเกตดีๆ สีที่ใช้ในโลโก้จะเป็นสีรุ้งซึ่งแสดงถึงความหลากหลาย ผมว่าเรื่องนี้ถือเป็นคุณค่าที่สำคัญของประชาธิปไตยเลยนะ
เจมส์ : ไม่ว่าคุณจะมีอุดมการณ์แบบไหน แต่ถ้าคุณยังอยู่บนพื้นฐานของหลักประชาธิปไตย เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ถ้าเมื่อใดที่คุณผลักคนที่มีแนวคิดแตกต่างออกไปจากคุณและกำจัดเขาด้วยวิธีการต่างๆ นานา แบบนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว
คำถามสุดท้ายก่อนจากกัน คิดว่าตอนนี้ชนะแล้วรึยัง ?
ฟอร์ด : ไม่รู้จะพูดขิงไปหน่อยหรือเปล่า แต่ผมมองว่าจริงๆ เราชนะแล้วครับ
ฟอร์ด : ถามว่าทำไมถึงชนะ ถ้าคุณลองมองออกไป ทุกวันนี้คนที่ออกมาเรียกร้อง ออกมาแสดงออก ไม่ได้มีแค่ผู้ใหญ่ หรือ นักศึกษา อีกต่อไป แต่ตอนนี้มันไปไกลถึงระดับมัธยม ต้นกล้าของประชาธิปไตยแพร่กระจายไปสู่คนทุกช่วงวัย และผมเชื่อว่าต่อไปน้องๆ ประถมหรือไปจนถึงอนุบาล ก็จะมีความคิดที่ก้าวหน้าแบบนี้ ผมเชื่อว่าด้วยเวลาที่ผ่านไปชัยชนะมันอยู่กับเรา
มีคำพูดหนึ่งของ โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวที่ฮ่องที่ผมชอบมาก เขาบอกว่า ‘เวลาอยู่ข้างเรา’
ฟอร์ด : แต่ถึงอย่างนั้น เราก็จะไม่อยู่เฉย เพราะถ้าเรายังอยู่เฉยๆ และปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ เราอาจจะต้องรอไปเรื่อยๆ เป็น สิบปี ยี่สิบปี ฉะนั้นสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้คือการเร่งปฏิกิริยาให้การเปลี่ยนแปลงมันเร็วยิ่งขึ้น เพราะเราอยากเห็นสังคมที่ดีกว่านี้ เราอยากลืมตาอ้าปากได้มากกว่านี้ เราอยากเติมเต็มความฝันของเราและอยากให้คนรุ่นต่อไปมีโอกาสได้เติมเต็มความฝันของเขาเช่นเดียวกัน นี่เลยเป็นเหตุผลให้เราต้องออกมาและคาดหวังให้มันเปลี่ยนแปลงโดยเร็วที่สุด
ปลดแอก
ก. ทำให้พ้นจากอำนาจหรือการกดขี่, ทำให้เป็นอิสระ.
ความหมายของคำว่า ‘ปลดแอก’
ถ้าให้อธิบายความหมายของคำว่าปลดแอก อันดับแรกเราต้องแยกสองคำนี้ออกจากกันก่อน เนื่องจากคำว่า ปลดแอกเป็นคำประสม เริ่มที่คำว่า ‘ปลด’ ซึ่งหมายถึง การเอาออกจากที่ใดที่หนึ่ง อย่างเช่น การปลดกระดุม หรือ ปลดออกจากตำแหน่ง ถัดมาคำว่า ‘แอก’ คำนี้เนี่ยหมายถึง อุปกรณ์อย่างหนึ่ง มีลักษณะโค้งงอน ซึ่งพาดอยู่บนหลังวัวควายเพื่อใช้ในการควบคุมหรือบังคับสัตว์เหล่านั้นให้ทำงานตามที่เราต้องการ
ทีนี้เราก็เลยหยิบคำนี้มาใช้ในการเปรียบเทียบถึงคนที่อยู่ในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ซึ่งถูกบังคับให้ทำอะไรสักอย่างที่เขาไม่อยากทำ ราวกับเป็นวัวควายที่ต้องแบกแอก ดังนั้นถ้าเขาอยากจะเป็นอิสระ ก็จำเป็นต้องปลดแอกนั่นเสีย หรือถ้ามองภาพกว้างขึ้นไปอีกก็อาจจะหมายถึง การที่ประชาชนอยู่ในประเทศที่มีลักษณะเป็นเผด็จการ ผู้มีอำนาจบังคับให้ประชาชนต้องทำนู่นนี่และออกกฎข้อห้ามต่างๆ ที่มันละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ในแง่นี้ก็เหมือนเรากำลังอยู่ในสังคมที่มีแอกมากดทับอยู่ด้านหลัง
ถ้าเชื่อมเข้ากับบริบทปัจจุบัน เราก็จะเห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เขาก็ใช้คำว่าปลดแอกที่ว่านี้ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบว่าเขาต้องการเป็นอิสระจากสิ่งที่ผูกมัดเขาอยู่
ตอนที่ได้ยินชื่อนี้ครั้งแรก ครูทอมรู้สึกอย่างไร และตกลงคำว่า ‘ปลดแอก’ เป็นคำเก่าหรือเปล่า
เอาจริงๆ ผมได้ยินคำนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว จึงไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร และถ้าถามว่าคำว่า ‘ปลดแอก’ เป็นคำเก่าหรือเปล่า ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่คำเก่านะ เป็นคำปัจจุบันนี่แหละ เพราะทุกวันนี้คนไทยก็ยังทำไร่ไถนากัน เพียงแต่เราอาจจะไม่ค่อยคุ้น เพราะจากที่เราเคยใช้วัวควายเทียมเกวียน มาวันนี้ก็เปลี่ยนมาเป็นควายเหล็กหมดแล้ว ซึ่งพอเราไม่คุ้น หรือ บางทีถึงขั้นไม่รู้จักวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งก็ทำให้เราไม่รู้จักภาษาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นด้วย อย่างในโซเชียลมีเดียของผมก็มีน้องๆ ส่งข้อความมาถามเยอะเหมือนกันว่าปลดแอกแปลว่าอะไร ผมก็อธิบายไป
ในมุมมองของครูภาษาไทย (สุดปัง) มองว่าชื่อ ‘เยาวชนปลดแอก’ มันฟังก์ชันไหม สำหรับการใช้เป็นชื่อเพื่อรวบรวมคนรุ่นใหม่
โดยส่วนตัวรู้สึกว่าคำว่า ปลดแอก ทำหน้าที่ของมันได้โดยสมบูรณ์ เพราะถ้าดูตามความหมาย มันหมายถึงการที่เราอยากมีอิสรภาพจากการถูกกดขี่ ซึ่งก็เห็นอยู่แล้วว่าสภาพสังคมการเมือง ณ ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร การที่กลุ่มเยาวชนออกมาเรียกร้องภายใต้ชื่อ ‘เยาวชนปลดแอก’ ก็ช่วยขับให้เนื้อหาที่ต้องการเรียกร้องส่งออกมาชัดเจนยิ่งขึ้น
ซึ่งถ้ามองต่อไปอีกว่า คำว่า ปลดแอกที่ฟังดูแล้วเป็นคำเก่า การใช้งานคำคำนี้อาจจะเป็นกระบวนการหนึ่งในการเชื่อมโยงคนทุกกลุ่ม ทุกวัย เข้าหากันหรือเปล่า การเลือกใช้คำนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนประมาณหนึ่งว่าต้องการดึงให้ผู้ใหญ่มาเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหว เพียงแต่ว่าพอมารวมกับคำว่าเยาวชนนี่แหละ ที่ฟังแล้วอาจจะทำให้ผู้ใหญ่บางคนรู้สึกว่าตัวเองถูกกันออกมา เพราะคำว่าเยาวชนก็ดูเป็นคำที่เฉพาะสำหรับช่วงวัยใดช่วงวัยหนึ่ง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะเรื่องการใช้ภาษาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ต้องคิดให้กว้าง คิดให้รอบ ว่ามันจะส่งผลอย่างไรต่อไป
ตอนนี้ภาษาภายในม็อบเรียกได้ว่า สุดครีเอท แสนปังปุริเย่แทบทุกป้าย ภาษาในโลกออนไลน์ได้ก้าวมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง ครูทอมมีความคิดอย่างไรกับการใช้ภาษาที่เปลี่ยนไป
ถ้าถามว่ารู้สึกอย่างไรกับภาษาที่เปลี่ยนไป เช่น ภาษาแปลกๆ ใหม่ๆ ภาษาวัยรุ่น หรือ คำแสลงต่างๆ เอาจริงๆ เรารู้สึกว่ามันเท่มากเลย ชอบจังเลย (หัวเราะ) ผมว่ามันแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของคนที่มาม็อบนะ เราไม่จำเป็นจะต้องใช้กลวิธีแบบเดียว หรือ ภาษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ในการลุกขึ้นมาแสดงออก แต่เราสามารถเลือกใช้ภาษาได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ส่งสารและผู้รับสารเราเป็นใคร
อย่างประเด็นนี้ ผู้ส่งสารก็คิดแล้วว่าเขาอยากจะส่งสารไปยังกลุ่มคนที่เล่นและเข้าใจโลกโซเชียล ซึ่งเราจะเห็นว่าภาษาภายในม็อบก็ไม่ได้มีแค่รูปแบบนี้แบบเดียว มันยังมีภาษาอีกหลายแบบเพื่อส่งสารไปให้ถึงคนทุกกลุ่ม ดังนั้นผมคิดว่าการใช้ภาษาที่แตกต่างกันไปนี่แหละครับคือ สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นได้เลยว่าการเมืองเกี่ยวข้องกับทุกคน คุณจะปฏิเสธเรื่องการเมืองไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วการเมืองส่งผลต่อชีวิตของคนทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม
แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนบางกลุ่มกลับมาเหมือนกันว่า การเมืองเป็นเรื่องจริงจังแต่ไฉนถึงกลับใช้ภาษาเด็ก ๆ มันเหมาะสมหรือเปล่าที่หยิบคำเหล่านี้มาใช้ในบริบทนี้
ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติของภาษามีหลายอย่างมาก อย่างหนึ่งเลยคือภาษาขึ้นอยู่กับผู้ใช้ อย่างในม็อบรอบนี้เราจะเห็นชัดเลยว่าภาษาที่ใช้ดูวัยรุ่นมาก เช่น ศัพท์ในโลกโซเชียล ศัพท์เฉพาะกลุ่ม LGBTQI ศัพท์จากมีม ผู้ใหญ่หลายคนมาอ่านก็บ่นว่าไม่เข้าใจ บางคนถึงขั้นแชร์ไปด่า ซึ่งผมคิดว่าการที่คุณไม่เข้าใจอาจจะแปลได้ว่าคุณไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเขา เขาไม่ได้จะสื่อสารถึงคุณ คุณเป็นคนนอกกลุ่มในภาษานี้ เขาใช้ภาษาวัยรุ่นเพื่อให้วัยรุ่นด้วยกันเข้าใจ ซึ่งถ้าคุณอยากเข้าใจคุณต้องมาเรียนรู้ภาษาของเขา
ซึ่งผมก็ไม่อยากให้คุณคิดว่าคุณถูกผลักออกจากกระบวนการนี้ เพราะในม็อบมันมีภาษาที่หลากหลายรูปแบบมาก ต้องมีสักภาษาหนึ่งที่เข้าถึงคุณ แต่อยากให้เปลี่ยนความคิดว่า การที่คุณไม่เข้าใจรูปแบบภาษาใดภาษาหนึ่ง ก็เพราะคุณไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายแค่นั้นเอง
เพราะภาษาคือ ‘การเรียนรู้’ และ ‘เปลี่ยนแปลง’ ไปตามบริบทของกาลเวลา
ภาษามันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันภาษาเปลี่ยนไปทุกยุค มีศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา มีคำบางคำหายไป หรือบางคำก็เปลี่ยนหน้าที่ของคำไปเลย ซึ่งทั้งหมดคือธรรมชาติของภาษา
อย่างล่าสุดศัพท์ใหม่ในม็อบก็จะเป็นคำว่า ละแมะ ละแมะ อะหรือ อะหรือว่า ซึ่งคำเหล่านี้ล้วนเป็นคำที่เพิ่งเกิดขึ้นมา หลายคนไม่เข้าใจว่าศัพท์พวกนี้แปลว่าอะไร แต่ถ้าเราติดตามการเปลี่ยนแปลงทางภาษา เราจะเข้าใจว่าคำคำนี้มันแปลว่าอะไรและมีที่มาอย่างไร เรื่องนี้มันก็ต่อเนื่องมาจากคำถามก่อนหน้านี้ ว่าคนแต่ละยุคก็ใช้ภาษาที่แตกต่างกัน ยิ่งห่างกันมากเท่าไหร่ ภาษาที่ใช้ก็ยิ่งต่างมากขึ้นไปเท่านั้น
ซึ่งผมมองว่าสิ่งที่จะเชื่อมโยงทุกภาษา หรือ ทุกช่วงวัย เข้าหากัน คือ ความพร้อมที่จะทำความเข้าใจกันและกัน เราอยู่คนละยุค ภาษาย่อมไม่มีทางเหมือนกัน จะบอกว่าให้มาใช้ภาษากลางมันก็จะยิ่งดูยิบย่อยไปอีก โดยส่วนตัวเลยรู้สึกว่า ความพร้อมที่จะเปิดใจเพื่อจะได้เข้าใจกันและกันนี่แหละ ที่จะส่งผลให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถ้าผู้ใหญ่อยากที่จะรู้จักเด็กมากขึ้น ผู้ใหญ่ก็ต้องมาเรียนรู้ภาษาของเด็ก กลับกันเด็กเองก็ต้องเรียนรู้ภาษาของผู้ใหญ่เหมือนกันเพื่อที่เราจะได้เข้าใจกันและกันมากขึ้น