ชายผ้าเหลืองเชื่อมชุมชนกับ “พระกฎษดา ขันติกโร” เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะสุดท้าย - Decode
Reading Time: 3 minutes

“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอถวายภัตตาหาร…” คำกล่าวถวายสังฆทานที่ไม่อาจรับรู้ได้จากการฟัง ด้วยเสียงนั้นถูกกล่าวโดยหญิงชราอ่อนแรงลงทุกขณะ ที่วาระสุดท้ายของชีวิตใกล้เข้ามาแล้ว หลังเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่นอนติดเตียงมานาน จนไม่มีโอกาสได้ทำบุญอย่างที่เคยปฏิบัติ “พระกฎษดา ขันติกโร” จึงรับนิมนต์ในครั้งนั้น ก่อนที่วันต่อมาคุณยายจะจากไปอย่างสงบ พร้อมความเชื่อของครอบครัวว่าท่านได้เกาะชายผ้าเหลืองพระไป

นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด “ชมรมชายผ้าเหลือง เพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้าย” ขึ้นในพื้นที่วัดห้วยยอด กลางชุมชนเทศบาลเมืองห้วยยอด จ.ตรัง โดยการนำของพระกฎษดา ซึ่งขณะนั้นนับเป็นพระหนุ่มในวัย 31 ปี ที่ตั้งใจจะดำเนินกิจกรรมดูแลผู้ป่วยอย่างจริงจัง

Decode พาทุกคนไปร่วมถอดรหัสสำคัญว่า เหตุใดผ้าเหลืองผืนนี้ถึงสามารถสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนจนเข้าสู่ปีที่ 4 อีกทั้งกำลังถอดสะพานให้คนสองวัยมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ และตอบโจทย์การแก้ปัญหาชุมชนด้วยคนในชุมชนอย่างแท้จริง

01- 365 วันกับการพิสูจน์ตัว

นับเป็นภาพแปลกตาไม่น้อย เมื่อพระหนุ่มที่เพิ่งเข้ามาจำวัดในชุมชนเพียงไม่นาน กลับปฏิเสธไม่รับนิมนต์ใดจากญาติโยม แต่หลังทำกิจของสงฆ์ช่วงเช้าเรียบร้อย พระกฎษดาเร่งมุ่งหน้าไปยังอโรคยาศาล ซึ่งเป็นศูนย์อภิบาลและฟื้นฟูผู้ป่วยเรื้อรัง ของโรงพยาบาลห้วยยอด เพื่อดูแลผู้ป่วยในกระบวณการที่จำเป็นต้องใช้ภิกษุร่วมปฏิบัติ

ย้อนกลับไปการใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นอย่างเกินคุ้มในเมืองใหญ่ กับการเป็นพนักงานโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยาของพระกฎษดา ท่านจึงได้พบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ประกอบความสนใจในการศึกษาธรรมะที่มีมาแต่เดิม ส่งผลให้ในวัย 30 ปีท่านตัดสินใจกลับบ้านเกิดใน จ. ตรัง เพื่อบวชเรียนและศึกษาพระไตรปิฎกควบคู่กับการเรียนบาลีอย่างจริงจัง

ด้วยยังคงเป็นพระหนุ่มจึงไม่ได้ห่างไกลจากสื่อออนไลน์มากนัก นี่เองจึงเป็นความบังเอิญให้พระกฎษดาได้รู้จักกับโครงการดูแลผู้ป่วยข้างเตียงและเผชิญความตายอย่างสงบ ของพระไพศาล วิสาโล ผ่านคลิปวิดีโอชิ้นหนึ่ง ทำให้ท่านได้เห็นบทบาทที่พระรูปหนึ่งจะสามารถทำได้นอกไปจากรั้วของวัด

“หากเพียงแค่คิดแต่ไม่ลงมือทำทุกอย่างคงไม่สัมฤทธิผล” พระกฏษดาเชื่อเช่นนั้น ท่านจึงก้าวเข้าไปติดต่อโรงพยาบาลในชุมชนด้วยต้นเอง เพื่อบอกเล่าความตั้งใจที่อยากจะร่วมดูแลผู้ป่วย และสอบถามถึงบทบาทที่พระอย่างท่านจะทำได้ แล้วความบังเอิญก็เหมือนพรหมลิขิตอย่างไม่รู้ตัว ด้วยโรงพยาบาลห้วยยอดซึ่งอยู่ในชุมชนไม่เพียงมีผู้ป่วยสูงอายุที่ต้องการการดูแล แต่ที่นี่กลับเป็นเพียงไม่กี่แห่งในประเทศที่มีศูนย์สำหรับดูแลผู้ป่วยเรื้อรังอย่างจริงจัง นี่จึงกลายเป็นต้นทุนในชุมชนอย่างแรกที่ทำให้พระมองว่า การดูแลผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่สามารถทำได้ต่อเนื่อง และพัฒนาต่อไปได้

ตลอดเวลากว่าหนึ่งปีนี้เองที่พระกฎษดา ได้ร่วมดูแลผู้ป่วยกับเจ้าหน้าที่พยาบาลในมิติด้านศาสนา ทั้งยังทำให้บรรดาพยาบาลต่างแปลกใจ ด้วยสามารถร่วมดูแลด้านกายภาพ และสัมผัสผู้ป่วยอย่างไม่มีความรังเกียจ แม้สภาพของผู้ป่วยบางรายจะเกินกว่าที่คนธรรมดารับไหว จนเป็นที่ไว้วางใจของบรรดาเจ้าหน้าที่ให้ร่วมไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายอีกหลายครั้ง 

“ปีนึงที่เราทำงานกับโรงพยาบาลโดยไม่ได้อิงกับชุมชนเลย สุดท้ายพบว่าผู้ป่วยระยะสุดท้ายยังไงก็จะถูกส่งตัวกลับไปสู่ชุมชน กลับไปที่บ้าน เพราะเขาอยากกลับไปหมดลมที่บ้าน เป็นเหตุผลที่ชุมชน และเพื่อนบ้านต้องเข้าไปมีส่วนร่วมดูแล เราเลยคิดว่าต้องมีกระบวณการที่ชุมชนต้องเข้าใจความป่วยไข้มากขึ้น และได้รับประโยชน์จากความป่วยไข้นั้นด้วย”

การกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านดูจะเป็นเรื่องปกติของคนป่วยป่วยทั่วไป แต่กลับไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง โดยเฉพาะในชนบทที่ครอบครัวต่างเป็นคนหาเช้ากินค่ำ การทุ่มเทเวลาให้กับเรื่องนี้จึงยากลำบาก แต่ท่ามกลางความยุ่งยากเช่นนี้ พระกฎษดากลับมองเห็นจุดแข็งที่กลายเป็นต้นทุนต่อมา คือ ความเป็นครอบครัวเดียวกันของสังคมต่างจังหวัด ที่ “ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติ” ซึ่งชุมชนชาวตรังมีสิ่งนี้เต็มเปี่ยม

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ข้อมูลจากสำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์ประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” (Aged Society) ในปี 2564 ซึ่งจะมีประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 15 หรือราว 10 ล้านคน ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการเตรียมความพร้อมของการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 95 มีภาวะป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง

“แล้วชุมชนบ้านเราทำอะไรแล้วบ้าง ถึงเวลาที่ชุมชนชนต้องดูแลชุมชนแล้วรึยัง”

ด้วยคำถามที่ผุดขึ้นมาเช่นนี้เอง พระกฎษดาจึงตัดสินใจเริ่มกิจกรรมของชมรมชายผ้าเหลืองเพื่อผู้ป่วยระยะท้าย โดยใช้การทำงานหนักอย่างต่อเนี่องของพระเป็นเครื่องมือซื้อใจชาวบ้าน ประกอบกับจุดแข็งของความเป็นภิกษุที่ได้รับ “ความไว้ใจ เชื่อใจ และให้เกียรติ” เป็นกลไกลขับเคลื่อนสำคัญในตอนต้น

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

02-ชายผ้าเหลืองเพื่อเพื่อนผู้ป่วย

การทำงานของชมรมในช่วงแรกนั้น พระกฎษดาเลือกที่จะเริ่มจากบรรดาผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาทำบุญที่วัดเป็นปกติก่อน ด้วยการชักชวนให้ไปร่วมกันเยี่ยมผู้ป่วยในชุมชนใกล้วัด แม้ทุกคนยังไม่มีความเข้าใจวิธีการดูแลผู้ป่วยมากนักในขณะนั้น แต่การสร้างความคุ้นชินเป็นกลวิธีแรกที่พระเลือกใช้ ก่อนที่การ “บิณฑบาตอุปกรณ์ทางการแพทย์” ทั้งนม ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ อาหารทางการแพทย์ จะเกิดขึ้นตามมาในเวลาไม่นาน จนเริ่มเห็นความเป็นไปได้ที่จะจุดประเด็นนี้อย่างจริงจัง

โดยตลอดระยะเวลาที่ดำเนินกิจกรรมชมรมนั้น ท่านเลือกที่จะเน้นย้ำกระบวณการดูแลผู้ป่วย และเข้าใจโรคตลอดการเทศนาให้กับคนในชุมชนเพื่อตอกย้ำให้คุ้นชิน ด้วยความเชื่อว่า “ธรรมะที่เหมาะกับแต่ละชุมชน แต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน จะไปสอนธรรมะแบบเดียวกับทุกคนทุกที่คงไม่ได้”

จวบจนถึงขณะนี้การถวายสังฆทานเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้กลายเป็นเรื่องปกติของวัดห้วยยอดไปแล้ว พระกฎษดา จึงขยับขยายต่อไปยังการจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ซึ่งไม่ได้ใช้วิทยากรคนไกลที่ไหน แต่เป็นบรรดาครอบครัวผู้ป่วยเรื้องรังในชุมชนเอง เพื่อหวังให้ทุกคนตระหนักว่าเรื่องความเจ็บป่วยใกล้ตัวกว่าที่คิด

โดยรูปแบบการดูแลผู้ป่วยของทางชมรมนั้น จะแยกออกเป็น 2 กรณี คือ หนึ่งการดูแลทางกายภาพ ซึ่งทำงานร่วมกับทีมแพทย์ พยาบาล และ อสม.ในท้องถิ่น และสองคือ ทางจิตวิญญาณ ที่ใช้กระบวณการทางศาสนาเข้าไปเกี่ยว อย่างการนั่งสมาธิ บรรยายธรรมะแบบเล็ก ๆ ให้ครอบครัวมีความเข้าใจในสภาวะของคนป่วย บรรดาอาสาเองก็ได้เข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติ และเตรียมความพร้อมหากวันหนึ่งเขาหรือคนใกล้ตัวอาจกลายเป็นผู้ป่วยขึ้นมาเสียเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้นการเข้าไปดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่พยาบาล รวมถึงครอบครัว บรรดาอาสาสมัครส่วนใหญ่จึงมีโอกาสดูแลผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุติดบ้านเป็นหลัก ซึ่งทั้งสองกลุ่มหลังนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชมรมกำลังขยายการดูแลให้ครอบคลุมขึ้น

จากทำงานกับชุมชนอย่างกว้างขวางขึ้นนี่เอง พระกฎษดาได้เล็งเห็นปัญหาที่แท้จริงของการดูแลผู้ป่วย นั่นคือ ความขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วย ทางชมรมจึงจัดตั้งศูนย์ให้หยิบยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ขึ้นภายในวัด ทั้งเตียงผู้ป่วย เครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องดูเสมหะ ถังออกซิเจน เป็นต้น

โดยเครื่องมือทั้งหมดก็มาจากการรับบริจาค กิจกรรมถวายสังฆทาน ตลอดจนจากโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดเมื่อมีการทำกิจกรรมในโรงเรียนก็เลือกที่จะทำบุญเป็นเครื่องมือการแพทย์พวกนี้มากขึ้น

“ตอนนี้มีผู้ป่วยที่ดูแลอยู่เกือบ 100 คน ทุกวันที่ 1-8 ของเดือน ก็จะมีครอบครัวผู้ป่วยมาเบิกอุปกรณ์ ทั้งนม แพมเพิส อย่างบ้านหนึ่งที่มีคนป่วยเราก็ให้แพมเพิส 30 ชิ้นต่อเดือน ต้องแบ่งกันไปเพราะตอนนี้มีที่มารับประจำเกือบ 20 บ้าน ทั้งทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนก็จะเยี่ยมผู้ป่วยเพื่อแจกจ่ายของด้วย”

การเปิดพื้นที่หยิบยืมเครื่องมือทางการแพทย์ในชุมชนเช่นนี้ นับเป็นทิศทางการเตรียมความพร้อมของการรองรับสังคมที่เปลี่ยนไป ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าชุมชนกับผู้สูงอายุเป็นของคู่กัน ชุมชนอื่น ๆ ก็สามารถนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ โดยอาจไม่ต้องเริ่มต้นจากกิจกรรมทางพุทธศาสนาเช่นนี้ แต่ตั้งต้นทุนของชุมชนที่เด่นชัด อย่างบางชุมชนอาจมีการจัดแข่งกีฬาประเพณี หรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สร้างรายได้ ก็สามารถประยุกต์เป็นทิศทางการดำเนินงานในพื้นที่ของตัวเองได้

03-สร้างการเรียนรู้มากกว่าสงเคราะห์

หากมองเพียงเผิน ๆ กิจกรรมที่พระกฎษดาทำอยู่นี้ อาจเป็นเหมือนการรับบริจาคแล้วแจกจ่าย ที่เมื่อหมดก็จบสิ้นโครงการกันไป แต่นั้นไม่ใช่ความตั้งใจของท่านแม้แต่น้อย เพราะเป้าหมายคือทุกกิจกรรมที่จัด คนในชุมชนต้องมีส่วนร่วมและเรียนรู้ให้มากที่สุด

“คนในชุมชนเวลาเขาจะทำบุญกับพระก็จะคิดว่าให้เงินแล้วก็จบ ไม่ได้เกิดการเรียนรู้ต่อ แต่พอเป็นแบบนี้เขาก็จะรู้ว่าผู้ป่วยคนหนึ่ง ๆ เขาใช้อะไรกันบ้าง นมประเภทไหนเหมาะสำหรับใคร เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน..เราไม่ได้แค่เยี่ยม เพราะหน่วยงานที่เยี่ยมมีเยอะ แต่เรามาเน้นที่การสร้างความตื่นตัวของชุมชน สร้างกระบวณการเรียนรู้ร่วมกันจากความป่วยไข้โดยใช้ธรรมะเป็นครูสอน”

จึงเป็นเหตุที่พระกฎษดา ไม่เลือกที่จะรับบริจาคเป็นเงินสดเลย แม้แต่บัญชีธนาคารของชมรมก็ไม่มี ซึ่งนับเป็นจุดแข็งของการดำเนินการชมรม ด้วยมองว่าการรับเงินแล้วจบไปไม่ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ใด ๆ ของชุมชน อีกทั้งยังยากต่อการบริหารจัดการด้วยชมรมดำเนินการด้วยพระเพียงรูปเดียว ซึ่งมีอาสาสมัครที่หมุนเวียนกันมาตามความสมัครใจ โดยไม่ได้มีตำแหน่งผูกมัดแต่อย่างใด

“ชมรมเราขับเคลื่อนด้วยจิตอาสา ใครพร้อมก็มา มันไม่ต้องครบตลอด เราไม่ได้มีเจ้าหน้าที่การเงิน เจ้าหน้าที่การตลาด ที่ต้องมานั่งทำเอกสาร ทำบัญชี ไม่ใช่ ใครพร้อมในหน้าที่ไหน ในกระบวณการไหน ในกิจการไหนก็มาช่วยเท่านั้นเอง ทุกคนรู้สึกว่าทำเสร็จจบกลับบ้าน ไม่ต้องมีพันธะผูกพันที่เป็นข้อผูกมัดเขา”

ด้วยรูปแบบการดำเนินงานเช่นนี้เอง พระกฎษดา จึงต้องให้ความสำคัญกับการวางรากฐานชมรมให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ในวันที่ไม่มีท่าน ไม่ว่าอาสาสมัครคนใดเข้ามาดำเนินงานก็จะเห็นภาพเดียวกัน และดำเนินงานได้ด้วยความสบายใจ “กลุ่มเยาวชน” จึงเป็นโอกาสการปลูกความรู้ที่พระกำลังให้ความสำคัญว่าจะมาเป็นกำลังหลักในอนาคต

04-เครือข่ายเยาวชน

เมื่อเล็งเห็นแล้วว่าการปลูกความรู้ให้กับเยาวชนคือโอกาสที่งอกงามที่สุด พระกฎษดาจึงต่อยอด “กิจกรรมเยี่ยมบ้าน 8 วัน 8 ชุมชน” โดยรวบรวมเด็กนักเรียนจาก 5 โรงเรียนในเขตเทศบาล ซึ่งเป็นเด็กที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้น ๆ อยู่แล้ว ร่วมกับเจ้าหน้าที่รพ.สต. และโรงพยาบาลเดินเท้าเยี่ยมคนป่วยในแต่ละชุมชน โดยเริ่มต้นที่วัดห้วยยอดเป็นเวลาติดต่อกัน 8 วัน

ซึ่งนับว่าได้รับการตอบรับดีเกินความคาดหมาย โดยแต่ละวันมีผู้เข้าร่วมโครงการนับร้อยคน พระจึงมีการจัดการแบ่งออกเป็นทีม ที่มีการผสมผสานทุกสหวิชาชีพซึ่งมีเด็ก ๆ เป็นกำลังสำคัญ ซึ่งสามารถเยียมผู้ป่วยได้กว่า 20 คนในแต่ละวัน ก่อนที่จะมีเวทีเสวนาสรุปงานในวันสุดท้าย สร้างความยินดีให้กับผู้ร่วมงาน อีกทั้งสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนทั่วไป นับเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลยทีเดียว

“ตอนนี้ทำให้เขาคุ้นชินกับการทำงานกับชุมชน ว่าอสม.คืออะไร ผู้ป่วยติดเตียงคืออะไร โดยที่เราไม่ได้เรียกเขามาอบรม แต่ใช้กิจกรรมทำให้เขาเรีนรู้ต่อ ไปบอกเล่าเพื่อน ๆ ในโรงเรียนต่อไปอีก”

แม้บรรดาเด็กเล็ก ๆ อาจจะยังไม่สามารถช่วยดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่ แต่การที่เข้าได้มีโอกาสพบปะผู้ป่วยสูงอายุ อย่างน้อยก็สร้างการปรับตัวที่บางคนอาจไม่ได้มีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเลยด้วยซ้ำ หรือต่อให้มีก็ไม่ทรายวิธีการเข้าหาอยากเหมาะสม ทั้งผู้สูงอายุเองก็ได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อเด็ก รวมถึงผู้ที่มาเยี่ยมเยือนคนอื่น สร้างทั้งขวัญกำลังใจ รวมถึงเป็นการชะลอความเจ็บป่วยในบางกรณีได้อีกด้วย

สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย พระกฎษดา ก็เลือกที่จะมอบหมายหน้าที่สำคัญที่เพิ่มขึ้นมา โดยเฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวณการจัดการ เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเด็ก ๆ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำกระบวนการในอนาคต ซึ่งขณะนี้บรรดาสภาเด็กและเยาวชนนับเป็นองค์กรสำคัญที่มีสมาชิกหันมาใช้เวลาว่างกับการเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จนสามารถจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ถึง 3 ปีติดต่อกัน

“เราไปร่วมกิจกรรมในแต่ละชุมชน ซึ่งมีจุดเด่นต่างกันออกไป ชุมชนนั้นอาจไม่ได้มีผู้ป่วย หรือมีน้อยมาก แต่มีสิ่งที่น่าสนใจกว่าผู้ป่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ คำว่าชุมชนเราเริ่มต้นจากผู้ป่วยก็จริง แต่มันเป็นแค่กระบวนการเบื้องต้นที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ได้”

ด้วยเป้าหมายที่ไม่ได้ต้องการเพียงนักดูแล แต่ต้องการสร้างเครือข่ายเยาวชนนี่เอง จึงได้เห็นบรรยากาศเด็ก ๆ อาสาสมัครของชมรมไปร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้าว และการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวที่จังหวัดตรังส่งเสริมการเรียนรู้ในกลุ่มเยาวชนอีกด้วย

แม้ตลอดการทำงานจะอดไม่ได้ที่จะสร้างความไม่พอใจหรือตั้งคำถามว่า จำเป็นหรือที่สงฆ์จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว พระกฎษดา มองว่า มิติทางศาสนาช่วยให้การดำเนินงานคล่องตัวในหลายปัจจัย อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็มีภาระงานและข้อกำหนดมากมาย หากทุกฝ่ายเข้าใจการทำงานของชมรมจะช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้เต็มประสิทธิภาพ โดยไม่ได้มีการก้าวล่วงขอบข่ายที่ทำได้แต่อย่างใด

ทั้งหมดนี้เองพระกฎษดา  จึงเห็นทิศทางโอกาสในการสร้าง “ชุมชนกรุณาห้วยยอดโมเดล” เพื่อให้เทศบาลห้วยยอดเป็นแหล่งเรียนรู้ในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในชุมชน โดยต้องตั้งคำถามถึง “ต้นทุนตั้งต้น” ที่แต่ละชุมชนมีเสียก่อน ด้วยแต่ละที่ปัญหาหรือวิธีหาทางออกอาจแตกต่างกัน หากแต่ความตั้งใจของคนในชุมชนช่วยเหลือชุมชนไม่ผิดแปลกจากกัน

“ถ้าทุกเคสคือโจทย์ มันก็มีคำตอบในตัวของมันทุกเคส ซึ่งคำตอบของมันก็ไม่ได้เหมือนกันทุกโจทย์ เพราะแต่ละเคสก็มีกระบวณการตอบโจทย์สุดท้ายของผู้ป่วยที่ต่างกันไป เราต้องหาวิธีการดูแลเขาในระยะสุดท้ายให้ดีที่สุด โดยต้องบรรลุเป้าหมายของเขาด้วย โดยที่เราไม่ได้เอาความคิดของเราไปใส่ แล้วเขาถึงจะจากไปอย่างสงบ”

ท้ายที่สุดแล้วทุกการลงทุนย่อมต้องมีเครื่องค้ำประกันที่ทุกคนยอมรับ การทำโครงการชายผ้าเหลืองเพื่อเพื่อนผู้ป่วยระยะท้ายก็เช่นกัน พระกฎษดาใช้ “เวลา” และ “ความตั้งใจ” ค้ำประกันไว้กับชาวบ้าน เพื่อแลกกับความร่วมของคนในชุมชน

นี่อาจเป็นไม้ตายที่ทำให้ชุมชนกรุณาห้วยยอดโมเดลสามารถเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปได้ในเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้