เรา (กับเมียนมา) มีเขตแดนกว่า 2,000 กิโลเมตรที่ติดกัน
เราควรเป็นส่วนหนึ่งที่จะแก้ปัญหา
“เพราะพวกเขาคืออนาคต อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กจึงเกิดขึ้น”
การดูแลเด็กให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับการพัฒนาสังคมโลก โดยเฉพาะกรณีของเด็ก
ผู้ลี้ภัย ที่แน่นอนว่าการดำเนินชีวิตประจำวันย่อมไม่ปกตินัก การเติบโตท่ามกลางเสียงระเบิด หรือวิ่งเล่นท่ามกลางห่ากระสุนแทนที่จะเป็นห่าฝน การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก กระทั่งการเดินทางข้ามเส้นสมมุติที่กั้นระหว่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อเด็กลี้ภัยในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความต่อเนื่องทางการศึกษาเรียนรู้ พัฒนาการด้านความสัมพันธ์หรืออารมณ์ และอาจถูกทำลายสิ้นหากไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง
De/code จึงชวน พุทธณี กางกั้น – ผู้อำนวยการ The Fort พื้นที่เพื่อการเปลี่ยนแปลงในภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน Fortify Right ผู้คลุกคลีกับประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเด็กมากว่า 10 ปี มานั่งพูดคุยถึงปรากฎการณ์ไทยยืนหนึ่งในเรื่องที่ไม่ควรยืน สถานะของเด็กลี้ภัยในประเทศไทย ท่าทีของรัฐไทยต่อสังคมโลก รวมถึงสายตาที่รัฐและภาคประชาชนควรจะใช้มองผู้ลี้ภัย
“เด็กอายุ 18 ปีเขาควรจะจบ ม.6 แต่ถ้าเขาต้องเป็นผู้ลี้ภัย
และต้องหนีไปหนีมา อายุ 18 ปีเขาอาจได้เรียนแค่ชั้นประถม”
ในช่วงสองปีก่อนระหว่างทางรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมา มีผู้ลี้ภัยใหม่เข้าประเทศไทยกว่า 2 หมื่นราย ซึ่งยังไม่นับรวมกับผู้ที่เข้ามาในรูปแบบแรงงาน การล้นทะลักของผู้ลี้ภัยก็พาให้เกิดการจับกุมทั่วทุกสารทิศ เพราะในแง่กฎหมายแล้ว ผู้ลี้ภัยทุกรายที่เข้ามาในไทยนั้นผิดกฎหมายทั้งสิ้น แม้เขาเหล่านั้นจะต้องหนีจากภัยรัฐประหารก็ตาม
“ปีนี้คือปีสุดท้ายที่ผมจะได้เรียน ปีหน้าจะต้องออกเพราะเศรษฐกิจที่บ้าน มีงานอะไรก็ต้องทำไปก่อน” บะบา เด็กชายชาวเมียนมาวัย 16 ปี พูดถึงชีวิตปัจจุบันที่ตนและครอบครัวกำลังประสบ บะบาต้องหลบหนีจากภัยรัฐประหารที่ประเทศบ้านเกิด และต้องข้ามมาอาศัยที่ชายแดนแม่สอดพร้อมครอบครัวกว่า 9 คนได้ราวหนึ่งปีกว่า แม้จะมีศูนย์การเรียนในพื้นที่รับเขาเข้าไปเรียน แต่ปีนี้ก็เป็นปีสุดท้ายที่เขาจะได้ศึกษาต่อ เนื่องจากฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน และเขาเองก็ยังไม่มีบัตรยืนยันตัวตนว่าเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งก็แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความเสี่ยงในการใช้ชีวิต และความลำบากในการเข้าถึงการเยียวยาคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่มีประสิทธิภาพ
“จะบอกว่าผู้นำเราก็มี Political Will ที่ดีแล้วล่ะ
แต่มันก็จะมีปัญหาในเชิงปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพอยู่”
ร่มใหญ่ของการคุ้มครองผู้ลี้ภัยคือ อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ซึ่งความหมายของ “ผู้ลี้ภัย” ตามอนุสัญญาฯ ดังกล่าว คือ บุคคลที่จำเป็นต้องละทิ้งบ้านเกิด เนื่องจากความหวาดกลัวต่อการประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิต ซึ่งไทยนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกของอนุสัญญาฯ นี้ รวมถึงไม่มีหลักกฎหมายที่จะสามารถรองรับผู้ลี้ภัย ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ลี้ภัยเข้าไทยส่วนใหญ่นั้นผิดกฎหมายทันทีที่เหยียบพรมแดนไทย แม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.บ. คนเข้าเมืองที่ครอบคลุมการเข้าเมืองของผู้ลี้ภัย แต่นั่นก็ไม่ได้รับประกันว่าผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจะได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง
พุทธณีเล่าต่อว่ารัฐไทยมีความพยายามที่พัฒนา “ระเบียบคัดกรองผู้ขอการคุ้มครอง พ.ศ.2562” ขึ้นมา แม้จะไม่ใช้คำว่าผู้ลี้ภัยโดยตรง ระเบียบนี้ก็มีขึ้นเพื่อที่จะคัดกรองผู้ที่เข้าข่ายการเป็นผู้ลี้ภัย หรืออีกความพยายามหนึ่ง
คือการร่วมมือกันของหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงานที่ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) ที่จะดูแลและไม่กักเด็กไว้ในสถานกักคนเข้าเมืองในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งก็นับเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของรัฐไทย
แต่จนถึงปัจจุบันระเบียบคัดกรองผู้ขอการคุ้มครอง พ.ศ.2562 ก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ เพราะยังต้องพัฒนาระเบียบย่อยอีกหลายอย่าง ส่วนมาตรการดูแลและไม่กักเด็กก็ยังมีรายละเอียดบางอย่างที่เจือจาง อาทิ เด็กเหล่านี้จะอยู่ที่ไหนหากไม่ได้อยู่ในสถานกักตัว หน่วยงานใดที่ควรจะดูแลเด็กเหล่านี้ รวมถึงทรัพยากรที่น้อยเกินไปที่จะดูแลเด็กนอกสถานกักตัว
ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ยังคงตั้งข้อสงวนกับ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” ข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ร่วมลงนามกว่า 196 ประเทศภาคี โดยจะต้องให้ความคุ้มครองและการดูแลแก่ “เด็กทุกคน” อย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ ไม่คำนึงถึงต้นกำเนิดเชื้อชาติ สีผิว ภาษา กระทั่งความเห็นทางการเมือง
ซึ่ง “ประเทศไทย” เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีอนุสัญญาฯ นี้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2535
โดยส่วนที่ไทยตั้งข้อสงวนคือข้อที่ 22 ว่าด้วยเรื่องมาตรการที่เหมาะสมต่อเด็กที่ขอสถานะผู้ลี้ภัย ที่ไม่ว่าเด็กผู้นั้นจะมีบิดามารดาติดตามมาหรือไม่ จวบจนเด็กเหล่านั้นถูกพรากออกจากระบบครอบครัว รัฐควรให้ความร่วมมือ
การคุ้มครอง และการช่วยเหลือทั้งที่เป็นการถาวรหรือชั่วคราว แต่ปัจจุบันก็ยังมีเด็กลี้ภัยอีกมากที่ต้องหลบซ่อน เป็นคนไร้รัฐ และรัฐไทยก็ไร้ท่าทีที่จะยุติข้อสงวน รวมถึงเหตุผลเชิงประจักษ์ที่ยังคงข้อสงวนนี้ไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังยิ่งสำหรับไทยในบริบทโลก
“สิ่งที่หนูต้องเจอเวลาไปข้างนอก คือตำรวจขอตรวจเอกสารต่าง ๆ และก็โดนจับเพราะไม่มีบัตร”
เกซานีซอ เด็กสาวชาวเมียนมาวัย 18 ปี เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงแรก ๆ ที่เธอเข้ามาอาศัยอยู่ที่ไทย ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะปราบปรามแรงงานข้ามชาติในอดีต แม้จะไม่ได้เป็นการส่งเธอกลับ แต่เราก็ไม่เห็นถึงความคุ้มครองที่ควรจะเกิดขึ้นแม้แต่น้อย ซึ่งเธอกล่าวอย่างชัดเจนว่า “บัตรแสดงตัวตน จะทำให้เธอมีโอกาสและชีวิตที่ดีขึ้นกว่านี้ได้”
“ความมั่นคงของชาติ” วาทกรรมเลื่อนลอย
พุทธณีเล่าว่าในมุมมองของภาคประชาสังคม รัฐจะค่อนข้างกังวัลเกี่ยวกับ “ความมั่นคง” หรือความมั่นคงของชาติ (National Security) ความกังวลดังกล่าวทำให้การช่วยเหลือเยียวยา ผู้ลี้ภัยนั้นเต็มไปด้วยความระมัดระวัง ซึ่งส่งผลให้มาตรการช่วยเหลือนั้นล้าช้าและไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเธอชี้ให้เห็นว่าวิธีคิดนี้เป็นปัญหา เพราะเหตุผลง่าย ๆ ว่าใครกันที่อยากจะเป็นผู้ลี้ภัยสงครามโดยเฉพาะ “เด็ก” ที่เป็นไม่ได้เลยว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคง ซึ่งนี่ก็เป็นเพียงร่องรอยเดียวที่เราจะสามารถแกะรอยเหตุผลเชิงประจักษ์ที่รัฐมีต่อข้อสงวนนี้ได้
“เหตุผลหนึ่งที่เราได้ยินอยู่เนือง ๆ
คือรัฐไม่อยากสร้างเงื่อนไขที่เป็นปัจจัยดึงดูดให้พวกเขามาลี้ภัยที่ไทย”
โดยในปี พ.ศ. 2563 เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (the Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons หรือ CRSP) ได้ขอให้รัฐไทยเพิกถอนข้อสงวนที่มีต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อที่ 22 โดยมีเหตุผลสนับสนุน 8 ข้อ โดยข้อที่ 7 กล่าวไว้ว่า
“การถอนข้อสงวนข้อ 22 ไม่ได้สร้างหน้าที่เพิ่มเติมให้แก่ประเทศไทย
ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและตราสารระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่รัฐเป็นภาคี
ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีต้องดำเนินการตามตราสารระหว่างประเทศนั้น ๆ
และประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีก็สามารถให้ความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ
องค์กรสหประชาชาติ และองค์กรเอกชนต่าง ๆ ในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยได้”
ซึ่งความกังวลถึง “ภาระหน้าที่เพิ่มเติม” ก็อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้รัฐไทย
ยังไม่เพิกถอนข้อสงวนที่ 22 แม้รัฐไทยจะมีพันธกิจในการคุ้มครองเด็กทุกคนอยู่ก็ตาม
“เรา (กับเมียนมา) มีเขตแดนกว่า 2,000 กิโลเมตรที่ติดกัน
เราควรเป็นส่วนหนึ่งที่จะแก้ปัญหา หรือจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้อย่างไร
ถ้าเราทำดีมันก็ดีกับประเทศเรา ดีกับหน้าตาของสังคมเราต่อสังคมโลกด้วย”
แค่รับรู้ไม่พอแต่ต้อง Take Action!
“พี่คิดว่าการเทคแอคชั่นของไทยมันควรเป็นทั้งปัจจุบันและอนาคต”
พุทธณีกล่าวถึงท่าทีที่รัฐไทยควรจะเป็นในปัจจุบันว่ามาตรการระยะสั้นนั้นไม่เพียงพอ ที่จะรองรับกลุ่มผู้ลี้ภัยที่เข้าออกเมืองอย่างต่อเนื่องนี้ รัฐไทยต้องคิดมาตรการรองรับขึ้นมาหลายรูปแบบให้ได้ ทั้งการกระจายอำนาจ
การจัดสรรหน้าที่ให้ชัดเจน และมองเรื่องผู้ลี้ภัยให้เป็นประเด็นปัญหาที่ควรแก้ไข
แม้ตอนนี้เราจะเห็นแนวโน้มที่ดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จัดตั้งกองกำลังใหม่เพื่อการคัดกรองผู้ลี้ภัยขึ้นมา จากแต่เดิมที่จะให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เข้ามามีบทบาท แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติงานก็ยังมีปัญหาทั้งในเรื่องงบประมาณ บุคลากร กระทั่งวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในเรื่องสถานะผู้ลี้ภัยอยู่เช่นเดิม
ในขั้นแรก พุทธณีเสนอมาตรการที่อนุญาตผู้ลี้ภัยใหม่ให้สามารถอยู่อาศัยในไทยได้อย่างชั่วคราว เธอยกตัวอย่างว่าหากรัฐไทยสามารถลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ราวล้านคน การสร้างระบบลงทะเบียนเพื่อให้พวกเขามีบัตรผู้ลี้ภัยคงไม่ใช่เรื่องยากลำบาก รวมถึงกำหนดระยะเวลาการอยู่อาศัยของผู้ลี้ภัยเป็นเวลาชั่วคราว หากแต่เขาเหล่านั้นยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศแม่ได้ ก็สามารถอนุญาตให้เขาต่อระยะเวลาการอยู่อาศัย ทั้งนี้ยังรวมไปถึงการให้สิทธิ์การศึกษาแก่เด็ก สิทธิ์การทำงานของแรงงานอีกด้วย
และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียน ทั้งยังเป็นเหมือนรัฐพี่น้องกับเมียนมา รัฐไทยก็มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปพูดคุยกับรัฐเมียนมาเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในประเทศเมียนมาได้ด้วยเช่นกัน
ส่วนในภาคประชาสังคม การร่วมมือกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การผลักดันและส่งเสียงให้รัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยก็เป็นสิ่งที่ประชาชนพึงกระทำได้เช่นกัน อาทิ ขอให้รัฐไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางหากสงครามยังปะทุต่อเนื่อง กระทั่งการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังใกล้เข้ามา การเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตย หรือนโยบายช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างชัดเจน ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันได้
สังคมที่ไม่ชอบความเป็นอื่น ความเป็นมนุษย์ที่เลือนลาง
“ไม่ใช่แค่รัฐอย่างเดียว แต่รวมถึงสังคมไทยทั้งหมดเลย” พุทธณีฉายภาพว่าหลายคนในสังคมยังมีความรู้สึกไม่ชอบผู้ลี้ภัย ไม่ชอบความเป็นอื่น แม้สังคมไทยจะประกอบด้วยความเป็นอื่นมาตลอดอยู่แล้ว แต่จากการทำงานเรื่องนี้กว่าสิบปี ก็พอที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอยู่บ้าง อาทิ จากช่วงแรกที่มีการต่อต้านทันทีที่พูดเรื่องเมียนมา แต่ตอนนี้เริ่มมีคนฟังและคนพูดถึงมันมากขึ้น
หรือกระทั่งการชุมนุมใหญ่เมื่อครั้งปี พ.ศ. 2563 – 2565 ประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก อาจเพราะไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับเราโดยตรง หรืออาจมีเรื่องอื่นที่ร้อนกว่า แต่อย่างไรก็ดี เธอก็อยากให้เรื่องเหล่านี้ถูกคุยขึ้นมา ไม่ว่าจะอยู่ในกิจกรรมการเมือง การเสวนา หรือการประท้วง เพราะหากมองให้ลึกแล้ว เรื่องชาติพันธุ์นั้นเกี่ยวเนื่องกับเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ และการทำงานเชิงสังคมนั้นไม่จำเป็นต้องใช้คนจำนวนมากเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่าง หากแต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากคนจำนวนหนึ่งที่มีความตั้งใจจริงต่างหาก
“ความเข้าใจที่เรามีต่อเขามันควรจะเท่าเทียมกัน
เพราะฉะนั้นการเข้าใจเชิงชาติพันธุ์มันถึงสำคัญ”